เรื่อง : มนัสชนก แดงนิเวศน์
ภาพ : นิธิภัทร์ พิพัฒน์ประเทือง
ผลงานจากค่ายสารคดี ครั้งที่ 11
(งานเขียนดีเด่น)

เมื่อรุ่งอรุณของเช้าวันทำงานมาถึง ผู้คนทั่วไปต้องตื่นมาทำธุระส่วนตัวอย่างเร่งรีบ เพื่อไปทำงานให้ทันเวลา   แต่สำหรับฉันและแม่  ในตอนเช้าหลังตื่นนอน เราจะไปเก็บผัก และรดน้ำต้นไม้ด้วยกันที่ดาดฟ้าของบ้าน  เราใช้เวลาไม่นานนักสำรวจดูผัก และดอกไม้ ที่ช่วยกันปลูก แม่จะเก็บดอกไม้สวยๆ ลงมาไหว้พระเป็นประจำ ในวันไหนที่ผักโตจนพอกินได้ แม่ก็จะเก็บลงมาทำเป็นอาหาร  พอทานข้าวด้วยกันเสร็จ แม่ออกจากบ้านไปทำงาน ฉันก็ออกจากบ้านเพื่อไปเรียน

ระหว่างที่เดินออกจากหมู่บ้านในตอนเช้าก็มักจะได้พบเห็น ลุงป้าน้าอา ออกมารดน้ำต้นไม้ที่หน้าบ้าน ต้นไม้ที่ได้รับน้ำ มีหยดน้ำเกาะอยู่ตามดอก ใบ ได้กลิ่นหอมๆของดอกไม้ และไอกลิ่นดินที่ให้ความรู้สึกสดชื่น  ระหว่างรอรถโดยสาร ฉันนั่งอยู่ที่ป้ายรถเมล์ ด้านข้างของป้ายรถเมล์ จะมีผนังไม้ไว้แขวนต้นไม้เล็กๆลงมาตามแนวตั้ง ต้นไม้เล็กๆหลากสีสัน ช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย ยามที่รอรถเมล์เป็นเวลานาน ระหว่างที่นั่งรถหากรู้สึกเบื่อยามรถติด ก็ลองมองไปที่ต้นไม้ใหญ่ข้างทาง พุ่มไม้ และไม้ดัด ที่เกาะกลางถนน ช่วยให้รู้สึกเพลิน ฉันคิดว่าถ้าหากมีเวลาว่าง อยากจะไปผักผ่อนที่สวนสาธารณะบ้าง ได้ไปนั่งใต้ต้นไม้ใหญ่ พื้นหญ้าสีเขียว สูดอากาศสดชื่น คงช่วยให้รู้สึกสบายใจ และผ่อนคลายจากความเครียดได้บ้าง

สวนสาธารณะของกรุงเทพมหานคร มีอยู่มากมายหลายแห่ง แต่สวนสาธารณะแห่งแรกของเมืองไทย คือ สวนลุมพินี ตั้งอยู่ที่แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร  ซึ่งเริ่มก่อสร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4   แต่เดิมทรงพระราชทานที่ดินสำหรับสร้าง สยามรัฐพิพิธภัณฑ์ ไว้เพื่อแสดงสินค้าของไทย ทรงมีพระราชดำริว่า เมื่อเลิกจัดงานควรใช้สถานที่นี้เพื่อเป็น สวนสาธารณะ สำหรับประชาชน พร้อมทั้งพระราชทานนามว่า สวนลุมพินี  แต่ยังไม่แล้วเสร็จในรัชกาลของพระองค์   จึงได้มีการปรับปรุงพัฒนาเพิ่มเติม  ในสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ 7

ในปัจจุบันสวนลุมฯ  มีลักษณะเป็นสวนอเนกประสงค์  มีสถานที่กว้างขวาง เพื่อทำกิจกรรมทั้งทางบกและทางน้ำ  เป็นที่ตั้งของศูนย์นันทนาการ และชมรมต่างๆ เป็นสถานที่นัดพบปะ พูดคุยกัน ของกลุ่มคนหลากหลายวัย  มีพื้นที่ให้ออกกำลังกาย เดิน วิ่ง ปั่นจักรยาน และยังมีลานกิจกรรม ที่ออกแบบมาเพื่อคนพิการอีกด้วย นอกจากจะมีพื้นที่ไว้ทำกิจกรรมต่างๆ ก็ยังเป็นสถานที่สำหรับพักผ่อนหย่อนใจของประชาชน เพราะ มีทั้งความร่มรื่นของต้นไม้ใหญ่ ที่ให้ร่มเงาจำนวนมาก สนามหญ้าสีเขียว  มีไม้ดอก ไม้ประดับหลากหลายสีสัน ทำให้รู้สึกสดชื่น และผ่อนคลายเมื่อได้มาพักผ่อน

ปัจจุบัน ณ ใจกลางเมืองหลวงอย่างกรุงเทพมหานคร เมืองแห่งความเจริญรุ่งเรือง ในหลากหลายด้าน  เนื่องจากความเจริญก้าวหน้าที่พัฒนาไป การอยู่อาศัยที่เพิ่มขึ้น ผู้คนมีพื้นที่สีเขียวในบ้านตนเองน้อยลง ไม่เหมือนกับในอดีต   ดังนั้นสวนสาธารณะในเมือง ถือเป็นพื้นที่สีเขียวที่สำคัญกับคนเมือง

ในเช้าวันเสาร์   ฉันตั้งใจรีบออกจากบ้าน เพื่อเดินทางไปสำนักงานเขตหลักสี่   เกษตรดาดฟ้า ห้องเรียนธรรมชาติเกษตรอินทรีย์  ที่มีทั้งการปลูกพืชผักสวนครัว ผลไม้ ไม้ดอก ไม้ประดับ เพาะถั่วงอก      เลี้ยงไส้เดือน ทำปุ๋ยหมักชีวภาพ  และอีกมากมาย ศูนย์ฯแห่งนี้สร้างวงจรการหมุนเวียนสวนเกษตรอินทรีย์ บนพื้นที่ดาดฟ้าสำนักงานเขต   ที่มีแต่พื้นปูนซีเมนต์ สิ่งนี้ทำให้ฉันสงสัยและอยากรู้ ว่าที่นี่ทำได้อย่างไร

วันนี้มีฝนตกปรอยๆในตอนเช้า เมฆครึ้มเป็นบางส่วน ทำให้อากาศเย็นสบาย ไม่ร้อนอบอ้าวเหมือนหลายๆวันในช่วงนี้ ระหว่างเดินเข้าซอยมาที่สำนักงานเขตฯ ก็สังเกตเห็นบริเวณอาคาร ที่มีดอกไม้ ปลูกอยู่ที่ริมระเบียงแทบทุกชั้น ด้านล่างมีเก้าอี้ให้ประชาชนนั่งพักผ่อนในสวนหย่อม เมื่อเข้าไปถึง ฉันกดลิฟต์ขึ้นไปที่ชั้นแปด แล้วจึงเดินขึ้นบันได้อีกชั้น เพื่อมาถึงบริเวณดาดฟ้า พื้นที่ปลูกพืชชั้นบนสุดแห่งนี้ ในอดีต เคยเป็นเพียงสถานที่เก็บอุปกรณ์ที่ชำรุด  จากจุดเริ่มต้นเล็กๆของสวนดาดฟ้า เริ่มขึ้นเมื่อน้าแหม่ม คุณเพ็ญศรี โตสะอาด  และเพื่อนร่วมงาน ได้เข้าไปปรับปรุงภูมิทัศน์ บริเวณที่รกร้างของเอกชนด้านข้างสำนักงานเขตฯ น้าแหม่ม ปลูกพืชผัก ต้นไม้ และดอกไม้   จนเมื่อปลายปี 2544  ทางเอกชนได้มาขอพื้นที่คืน ด้วยความที่น้าแหม่ม เสียดายพืชผักที่ปลูกไว้สวยงาม จึงได้ปรึกษากับผู้บังคับบัญชา หาพื้นที่เพื่อย้ายต้นไม้เหล่านั้น   พบว่ามีดาดฟ้าเหมาะสมที่สุด  จากการเริ่มต้นในวันนั้น   การศึกษาและค้นคว้าทดลอง ของน้าแหม่ม เพื่อพัฒนาความรู้อย่างต่อเนื่อง ทำให้ดาดฟ้าของอาคารสำนักงานเขตฯ   กลายเป็นเกษตรดาดฟ้า ห้องเรียนธรรมชาติเกษตรอินทรีย์สำหรับ นักเรียน  นักศึกษา  ประชาชน มาจนถึงทุกวันนี้

“ ถึงแม้เราจะมีพื้นที่ปลูก แต่ตอนนั้นเรายังขาดประสบการณ์ การจะเริ่มปลูกพืช แค่มีพื้นที่ยังไม่เพียงพอ ต้องมีเวลา ความรู้ และความรักด้วย ” คำพูดของน้าแหม่มที่เล่าไปขำไปพลาง น้าแหม่มเล่าว่า พอย้ายต้นไม้ขึ้นมาดาดฟ้า ซึ่งโดนแดดตรงๆเกือบเต็มวัน ต้นไม้เหี่ยวง่ายมาก แม้ว่าจะรดน้ำเยอะแค่ไหน น้าแหม่มจึงทดลองเปลี่ยนอัตราส่วนดิน ชนิดกระถาง จนได้รู้ว่า ปลูกต้นไม้ดาดฟ้าควรใช้กาบมะพร้าวรองในกระถางและให้ดินอยู่ชั้นบนสุด ในอัตราส่วน 2 ต่อ 1 เพื่อจะได้ช่วยเก็บความชื้นให้รากต้นไม้ และช่วยลดความหนักของดิน ซึ่งมีผลต่อโครงสร้างอาคารด้วย ต่อมาน้าแหม่มก็คิดหาวิธีช่วยลดปริมาณแสงที่มีมาก โดยลองใช้ผ้าใบ แต่ก็ไม่สามารถต้านทานแรงลมได้ จึงนำต้นไม้ที่มีขนาดใหญ่ย้ายกระถางไปวางไว้ตรงขอบดาดฟ้า เพิ่มแผงสวนผักแนวตั้ง และทำโครงรูปโค้ง ให้ไม้เถาเลื้อยขึ้นไป เพื่อจะได้ช่วยลดปริมาณแสง และ ลดทอนความแรงของลมไปในตัว โดยหลักการของน้าแหม่มนำมาจากหลักการต้นอ้อ ต้นไทร ปล่อยให้ลมได้พัดเข้ามาบ้าง แล้วก็ออกไป ไม่ปิดทางลมจนหมด

หลังจากปลูกพืชกระถางไว้หลากหลายชนิดแล้ว น้าแหม่มก็คิดขึ้นว่า อยากจะทำแปลงผักขึ้นมา แต่การเริ่มต้นทำแปลงผัก นั้นไม่ง่ายเหมือนปลูกด้วยกระถาง “ ตอนน้าเริ่มก็คิดง่ายๆ เอากิ่งไม้จากต้นไม้ใหญ่ที่ปลูกใกล้ๆเสาไฟมาทำ เพราะที่เขต มีหน่วยตัดต้นไม้อยู่แล้ว แต่หลังจากนำมาใช้ได้แค่ครึ่งปี แปลงพังหมด โดนแดด โดนน้ำมาก  เลยมาคิดถึงพลาสติก ช่วงนั้นหาเสียงเลือกตั้งพอดี เลยรีบไปเก็บฟิวเจอร์บอร์ดหาเสียง มาทำแปลง ค้นพบว่ามีประสิทธิภาพดีขึ้น แต่ว่าก็ยังมีปัญหาน้ำไหลออก ทำให้เศษดินไหลออกมาด้วย จึงใช้แผ่นกระสอบมารองลงไปอีกชั้น  กว่าจะค้นพบวิธีที่ดีและเหมาะสมที่สุด ก็ลองผิดลองถูกมาเยอะ ”

ฉันได้ถามน้าแหม่มว่า เพราะเหตุใดน้าแหม่มจึงได้คิด ที่จะปลูกต้นไม้ในพื้นที่รกร้างตรงนั้น และได้พัฒนาสวนพืชผักอย่างต่อเนื่อง จนกลายมาเป็นศูนย์เรียนรู้ในวันนี้ น้าแหม่มเล่าให้ฟังว่า “ บ้านน้าอยู่ต่างจังหวัด มีพื้นที่ ทุกบ้านปลูกผักสวนครัว คุณตาเป็นเกษตรอำเภอ พอท่านเกษียณก็กลับมาเริ่มปลูกต้นไม้ที่บ้านอย่างจริงจัง  ตั้งใจว่าจะทำสวนรุกขชาติ พอท่านเริ่มลงมือ ท่านปลูกต้นไม้ ผลไม้ทุกอย่าง ปนกัน      พอโต ออกดอก ออกผล  เวลาเดินเข้าสวน รู้สึกเย็นสบาย  มองไปทางไหนก็เห็นผลไม้เต็มต้น น้ารู้สึกชอบมาก ”

“ตอนแรกที่ปลูกน้าหวังแค่ อยากให้ความสวยงามสดชื่น ปลูกดอกไม้เป็นหลัก ต่อมาก็เริ่มปลูกผัก สวนครัว พอโตได้อายุก็เอามากิน ถ้ามีเยอะก็ขายราคาย่อมเยา ปลูกเอง ไม่ใช้ยาฆ่าแมลง ไม่ใช้ปุ๋ยเคมี  เพาะกล้าก่อนลงแปลงปลูก แมลงมากินไม่ทัน   ปุ๋ยอินทรีย์ ฮอร์โมนที่เราทำเอง ช่วยให้พืชผักเจริญเติบโต  เวลามีงานสำคัญก็เอาผักไปจัดกระเช้าให้ผู้หลักผู้ใหญ่ ไม่ต้องเสียเงินซื้อของราคาแพง  มีโซนสมุนไพร   ที่นี่ถือเป็นตู้ยาสมุนไพรขนาดเล็กของสำนักงานเขต   ถ้าไม่สบาย มาขอสมุนไพร  ใครรู้สึกเครียดจากงานขึ้นมาเดินเล่น ชมสวน   เป็นการคลายเครียด   ตอนนี้นอกจากที่ศูนย์ฯ จะสอนการปลูกผัก ทำปุ๋ย ยังมีเพาะเห็ด เลี้ยงไส้เดือน ทำน้ำยาอเนกประสงค์ และอีกหลายอย่าง ใครอยากจะเริ่มทำสวนเกษตรอินทรีย์ มาเรียนรู้ได้เลย เราลองผิดลองถูกและคิดให้หมดแล้ว ถ้าคุณพร้อมจะทำ มาศึกษาแล้วลงมือได้ทันที ” น้าแหม่มเล่าเรื่องราวต่างๆให้ฉันฟัง ด้วยความสนุกสนาน

คำบอกเล่าของน้าแหม่ม ทำให้ฉันรู้สึกได้ถึงความมุ่งมั่น อยากจะให้ความรู้กับคนที่มาเรียนรู้ที่ศูนย์ฯ น้าแหม่มไม่ได้แค่ลองผิดลองถูกมาด้วยตัวเอง แต่ยังได้ไปศึกษาหาความรู้ เข้าร่วมอบรมจากที่ต่างๆ จนได้ทั้งความรู้ และประสบการณ์ เพื่อมาสอนและบอกเล่าให้ผู้อื่นต่อ แต่สิ่งสำคัญที่ทำให้น้าแหม่มสร้างสวนเกษตรดาดฟ้าแห่งนี้ได้สำเร็จ   มาจากความร่วมมือของเพื่อนร่วมงาน และผู้บังคับบัญชาที่สนับสนุน รวมไปถึงผู้ที่ได้มาศึกษาหาความรู้ แล้วนำสิ่งที่ดี มีประโยชน์ไปบอกต่อ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเล็กๆ ขึ้นในสังคมได้ ครอบครัวช่วยกันปลูกผัก มีการแบ่งปัน แลกเปลี่ยน ซื้อขายในชุมชน เสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีให้ชุมชน ช่วยส่งเสริมสุขภาพ ลดรายจ่าย และ เพิ่มรายได้ในอีกทางหนึ่งด้วย

แม้ว่าจะมีการพัฒนาเมืองให้ก้าวไกล ตามเทคโนโลยีสมัยใหม่ในหลากหลายด้าน แต่ก็ยังมีชุมชนที่อยู่แบบพึ่งตนเอง มีพื้นที่เล็กๆสำหรับสวนของครอบครัว และพื้นที่ส่วนรวมสำหรับอยู่ร่วมกับผู้อื่นในชุมชน เช่นชุมชนร่วมรัฐสามัคคี (ชุมชนดอนกระต่าย) แขวงทุ่งครุ เขตทุ่งครุ กรุงเทพมหานคร

“ คนที่นี่เค้าก็ปลูกพืชกินได้ กับ พวกสมุนไพรไว้ในบ้าน กันแทบจะทุกบ้านแหละหนู ” เสียงของคุณยายประมวล สุรเสน ที่เล่าให้ฉันฟังอย่างมีชีวิตชีวา ยายมวลขณะนี้อายุ 70  ปีแล้ว แต่ท่านยังกระฉับกระเฉงและดูแข็งแรงกว่าเพื่อนๆที่อายุเท่ากันอีกหลายคน ในบ้านของยายมวล แม้มีพื้นที่ไม่มาก แต่ บริเวณสวนนั้น เต็มไปด้วยพืชพรรณมากมาย ปลูกต้นไม้จนเลยรั้วออกไปที่หน้าบ้านซึ่งติดกับถนน ทั้งผัก ผลไม้ มีอ่างน้ำปลูกพืชน้ำ   มีถังทำน้ำหมักชีวภาพใช้เอง บนโต๊ะของยายมีตะกร้าใบเล็กๆใส่ดอกอัญชัญสีม่วงบางส่วนก็แห้งเหี่ยวไปบ้าง บางส่วนก็ยังดูสดใหม่เหมือนพึ่งเก็บมาไม่นาน ยายมวลบอกว่าเก็บสะสมไว้ ทำชาอัญชัญ  เพราะทุกวันจะทำน้ำสมุนไพรใส่บาตร

“ ยายทำน้ำสมุนไพรหลายชนิด น้ำตะไคร้ น้ำลูกยอ ฯลฯ ถ้ามีมากก็เอาไปแบ่งเพื่อนบ้าน ทำวันต่อละแวกนี้ ยายรู้จักแทบทุกคน อยู่ที่นี่มา 40 ปีแล้ว ”     ขณะนี้ยายทำงานเป็นอาสาสมัครสาธารณะสุขชุมชน เข้าไปพูดคุยไปเยี่ยมคนป่วย คนสูงอายุ    เวลาว่างยายมวลก็ปลูกต้นไม้ ดูแลสวน ถักผ้า ไปทำงานฝีมือกับกลุ่มแม่บ้านบ้าง แต่ในอีกบทบาทหนึ่งของยายก็คือเป็นหมอยาสมุนไพรของชุมชน

“ ที่บ้านยายปลูกผักและสมุนไพรไว้เยอะ ตรงริมกำแพงก็ปลูกผลไม้บ้าง ตามแต่พื้นที่จะอำนวย อันดับแรกเลยนะ ยายมองว่าจะถ้าปลูก ต้องปลูกพืชกินได้ก่อน ต่อมาเมื่อเจ็บป่วย ค่อยมองเข้าไปถึงสรรพคุณความเป็นยาของมัน พื้นที่ยายน้อย  แต่ยายพยายามปลูกให้หลากหลายชนิดมากที่สุด ” ยายมวลเล่าว่าคุณตาของยายเป็นหมอยาประจำบ้าน ใช้ยาห่อเดียวแต่รักษาได้ทุกโรค ใช้การฝนยาสมุนไพรต่างๆรักษาโรค ด้วยความที่ยายอยากได้ค่าครูเลยไปช่วยสะพายย่าม แต่ก็ได้เห็นคุณตาเอาสมุนไพรมารักษา จึงจำไว้ว่าคุณตาเอาสมุนไพรตัวไหนมารักษาโรคอะไร ได้ความรู้ด้านสมุนไพรมาไว้ติดตัว พอมาแต่งงานย้ายอยู่ที่นี่เลยเริ่มปลูกผักไว้กิน เวลาเดินทางไปไหนมาไหน พอเห็นต้นไม้ ดอกไม้ สมุนไพรขึ้นตามข้างทาง ยายก็เก็บกลับมาปลูกไว้ เพราะรู้ว่าเป็นสมุนไพรที่ทำยาได้ ”

“ ที่จริงแล้วพืชทุกชนิดเป็นยาได้หมด แต่ว่าเรายังค้นหาและนำเอามันออกมาใช้ได้ไม่ครบ เราก็ใช้ตัวที่เรารู้จัก และเหมาะสมกับโรคนี่แหละรักษา ยายอยู่บ้านตลอด ใครมีปัญหาเจ็บป่วยนิดๆหน่อยๆก็มาหา บ้านยายมีผัก เพื่อนบ้านแวะมาเก็บผักที่บ้านยายไปกินด้วยกัน เวลาเพื่อนบ้านไปต่างจังหวัด ก็เอาต้นไม้ ผลไม้ และสมุนไพรมาฝาก ยายก็ปลูกไว้ที่บ้าน ” จากการพูดคุยกันกับยายมวล ยายบอกว่าอยากให้คนหันมากินผัก กินอาหารที่ดีมีประโยชน์ ดีกว่ารอป่วยค่อยมาหายารักษา

“ ถึงแม้ยายจะปลูกต้นไม้เยอะ แต่ก็ยังมีไม่ครบที่อยากจะปลูก ยายเลือกปลูกที่ใช้ง่าย ได้ใช้บ่อย บ้านอื่นปลูกต้นที่ยายไม่มี ยายก็ปลูกที่เขาไม่มีเหมือนกัน ก็จะได้แบ่งๆกันใช้ ” ยายพูดไปเดินลัดเลาะไปตามทาง ผ่านมาหลายบ้าน ฉันสังเกตเห็นว่าทุกบ้านที่เดินผ่านมามีต้นไม้อยู่ในบ้าน จริงอย่างที่ยายบอกไว้ตอนแรก ระหว่างเดิน ยายก็ทักทายพูดคุยกับเพื่อนบ้านอย่างสนุกสนาน บางคนนั่งอ่านหนังสือ บางคนรดน้ำต้นไม้ ปลูกผักทำสวน เดินมาไม่นานก็ถึงที่หมาย    บ้านของคุณยายผ่องศรี ปลอดโปร่ง ที่ของบ้านยายผ่อง มีต้นไม้ใหญ่อยู่หลายต้นสูงถึงหลังคาบ้านชั้นสอง บริเวณรอบบ้านมีต้นไม้ ทั้งไม้ดอก ไม้ประดับ สมุนไพร ผักต่างๆ และผลไม้ จำนวนมาก ยายมวลแวะเข้าไปพูดคุยกับยายอยู่ซักพักแล้วจึงกลับออกมา ก่อนกลับยายผ่องก็บอกให้เอาเมล็ดมะกล่ำต้น กลับมาปลูกด้วย เพราะมีเยอะมากแล้ว ยายมวลเลยเอากลับมาสองฝัก เมื่อแกะเข้าไปข้างในจะเจอเมล็ดกลมสีแดงผิวมันเงา ฉันเลยเอากลับบ้านมาหนึ่งเมล็ด ไว้เมื่อได้กลับบ้านสวนจึงจะเอาไปปลูกบ้าง

“ ที่จริงถ้าอยากจะปลูก มันเป็นเรื่องง่ายๆ แค่เริ่มต้นก็พอ เช่นต้นหอมเอาจิ้มลงดิน ก็ได้กินใบหอม ผักบุ้งติดราก ก็เอาปักดิน มันก็ออกต้นใบให้ได้กินเพิ่ม สาระแหน่  กระเพรา อีกเยอะแยะเลย เริ่มปลูกจากผักที่เรากินทุกวัน เอาให้พอกินในครอบครัวก่อน แล้วแบ่งปันต่อไปถึงชุมชน สังคม ” คำพูดของยายมวล ยังก้องอยู่ในห้วงความคิดของฉัน ว่าแท้จริงการจะเริ่มปลูกอะไรซักอย่าง มันง่ายกว่าที่คิด แต่ส่วนที่ยากที่สุด คือการเริ่มต้นปลูกต้นแรก

นอกจากศูนย์การเรียนรู้เกษตรดาดฟ้า ห้องเรียนธรรมชาติเกษตรอินทรีย์แล้ว อีกสถานที่หนึ่งที่มีการปลูกผัก เพื่อทำเป็นสวนผักกลางเมือง คือบ้านของ คุณนคร  ลิมปคุปตถาวร อยู่ที่ลาดพร้าว 71 กรุงเทพฯพี่ปริ๊นซ์เป็นผู้ริเริ่ม โครงการสวนผักคนเมือง ร่วมกับมูลนิธิเกษตรยั่งยืน ประเทศไทย

จุดเริ่มต้นคือพี่ปริ๊นซ์ เข้าศึกษาที่คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ “ ตอนเรียนคณะนี้ ก็จะได้เรียนการเกษตรตามระบบทั่วไป อายุผักเท่านี้ต้องใส่ปุ๋ยชนิดนี้ตามจำนวนที่เหมาะสม เมื่อมีแมลงหรือมีโรค ต้องใส่ยาฆ่าแมลงชนิดไหน ต่อมาได้เรียนวิชาบังคับ ชื่อวิชาเกษตรยั่งยืน เมื่อได้มาเรียนจึงเริ่มเกิดคำถามว่า แล้ววิชาเกษตรทั่วๆไปที่เรียนมา มันไม่ยั่งยืนเหรอ ความยั่งยืนมันเป็นเช่นไร การเรียนและดูงานครั้งแรก ได้ไปเดินป่าห้วยขาแข้ง ทำให้เราได้รู้ว่าสถานที่ของเกษตรยั่งยืนคือป่า เพราะจะมีที่ไหนที่ไม่ต้องปลูกพืช ไม่ต้องรดน้ำ ต้นไม้ก็เติบโตงอกงามได้”

พี่ปริ๊นซ์เล่าว่าเมื่อได้มาเรียนมหาวิทยาลัย จึงเริ่มมาปลูกผัก เมื่อได้ทดลองปลูกพืชเอง ตามวิชาความรู้ที่เรียนมา ใส่ปุ๋ยเคมีต่างๆตามอายุ แต่พบว่าต้นไม้ ไม่เจริญเติบโตดีเท่าที่ควร นึกถึงคำพูดของอาจารย์ที่สอนวิชาเกษตรยั่งยืนว่า “วิชาความรู้ที่ได้เรียนมาทำไมจึงไม่นำมาใช้” ได้นำปุ๋ยหมักธรรมชาติมาใส่ให้ต้นไม้ แทนการใช้ปุ๋ยเคมี เพียงไม่กี่วันต้นไม้ก็เจริญเติบโต ทำให้รู้สึกว่าเกษตรยั่งยืน เป็นสิ่งที่เห็นผลได้จริง

เมื่อเรียนปริญญาโทต่อในสาขาวิชาเกษตรยั่งยืน พี่ปริ๊นซ์ได้ไปดูงาน และฝึกงานตามสถานที่ต่างๆทั้งในและต่างประเทศ ได้พบเห็นสวน ฟาร์ม ชุมชนต่างๆมากมาย จากประสบการณ์จริง ทำให้เกิดแรงบันดาลใจ ว่า เกษตรยั่งยืนและเกษตรอินทรีย์ มีประโยชน์มากมาย  หลักการเกษตรอินทรีย์ เริ่มจากพื้นดินดี สิ่งแวดล้อมดี ต้นไม้ดี คนจึงจะมีสุขภาพดี

ขณะศึกษาต่อได้ทำงานวิจัย สำรวจคนที่ทำเกษตรอินทรีย์ และการไปเป็นอาสาสมัครร่วมทำงานตามองค์กรต่างๆ ทำให้ได้พูดคุย แลกเปลี่ยนประสบการณ์ กับกลุ่มคนที่มีความสนใจในแบบเดียวกัน เช่นเครือข่ายตลาดสีเขียว เครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืน

หลังจากเรียนจบ พี่ปริ๊นซ์ได้ลองทำสวนผักอินทรีย์ขึ้นมาเองในบ้าน “ พี่เริ่มจากเรื่องง่ายๆที่พอจะทำได้ เอาพื้นที่ประมาณ 30 กว่าตารางเมตรข้างโรงรถ มาปลูกผักสวนครัว รู้สึกสนุก และอยากจะทุ่มเทให้กับมันอย่างจริงจัง เพราะได้ทำในสิ่งที่ชอบ หลังจากปลูกแค่พื้นที่ข้างโรงรถ เพื่อนๆก็เอาเรื่องสวนของพี่ไปลงในหนังสือและนิตยสาร มีคนที่สนใจเข้ามาถาม และพูดคุยเพิ่มมากขึ้น จนเมื่อต้นปีพ.ศ. 2552 ได้คุยกันกับกลุ่มเพื่อนที่มีแนวคิดเดียวกัน ว่าน่าจะสร้างสวนผักนี้แห่งเป็นศูนย์เรียนรู้ เพราะอยากจะส่งเสริมให้คนเมือง หันมาปลูกผักมากขึ้น จึงได้ซื้อที่ฝั่งตรงข้ามบ้านไว้ทำศูนย์การเรียนรู้อย่างจริงจัง ”

เมื่อมีพื้นที่เพิ่มขึ้นพี่ปริ๊นซ์จึงปลูกผักหลากหลายชนิดมากขึ้น ปลูกผลไม้ เพาะเห็ด ทำปุ๋ยหมัก    ตามวิถีเกษตรยั่งยืนแท้จริง พี่ปริ๊นซ์ต้องการที่จะให้คนเมืองได้เรียนรู้ที่จะพึ่งพาตนเองได้ ทำงานกับธรรมชาติ โดยเริ่มต้นง่ายๆด้วยเรื่องอาหารและสุขภาพ ต่อมาก็จะเชื่อมโยงกับผู้อื่นได้ กลายเป็นสังคมแห่งการเกื้อกูลกัน ได้เข้าใจธรรมชาติและผู้อื่นมากขึ้น “ สวนในบ้าน มันเหมือนเป็นการสร้างจุดสมดุลของชีวิต สวนในเมือง ก็เป็นการสร้างจุดสมดุลของชุมชน และขยายขึ้นเป็นความสมดุลของสังคมต่อไป ”

ฉันรู้สึกเห็นด้วย กับคำพูดของพี่ปริ๊นซ์ ในเมืองที่เปลี่ยนแปลงไป จะทำเช่นไรให้รักษาความสมดุลของต้นไม้กับเมืองไว้ให้ได้ต่อไป

เนื่องจากหน้าที่การงานในเมืองกรุงฯ จากการอาศัยอยู่บ้านเดี่ยวที่ต่างจังหวัด ต้องมาซื้อคอนโดเพื่ออยู่อาศัย  จากที่เคยมีพื้นที่รอบบริเวณบ้าน ก็เหลือพื้นที่แค่พอสำหรับประโยชน์ใช้สอย การปลูกพืชในคอนโด อาจดูเป็นเรื่องยากเพราะมีแค่ริมระเบียงเล็กๆ แต่นั่นไม่ใช่ปัญหา สำหรับป้าเก๋ คุณเกษร ขวัญแก้ว พนักงานบริษัท อายุ 56 ปี  หน้าตายิ้มแย้ม ที่อาศัยอยู่ในคอนโดมิเนียม ย่านพระรามสาม ห้องนี้เพียงคนเดียว

ป้าเก๋เล่าให้ฟังว่า “ ตอนนี้ป้าเก๋ ปลูกมะนาวอยู่ 4 ต้น พึ่งได้มาจากเพื่อนที่คุยกันในชมรมเกษตรทางเฟสบุ๊ค   เป็นกลุ่มที่พูดคุยแบ่งปันกันเกี่ยวกับเรื่องสวนและต้นไม้  โดยเพื่อนส่งต้นไม้มาให้ทางไปรษณีย์ ตอนนี้พึ่งซื้อหน่อมะพร้าวมาใหม่ 1 หน่อ  มีต้นมะม่วงพึ่งซื้ออีก 2 ต้น   แล้วก็มีขมิ้นชันได้มาจกเพื่อนที่ทำงาน กำลังจะย้ายไปฝากไว้ที่ระเบียงรวมชั้น 6 เร็วๆนี้ ”     บริเวณชั้น 6 ซึ่งมีโซนออกกำลังกาย ภายนอกห้องจะมีพื้นที่ริมระเบียง มีความกว้างพอสมควร ป้าเก๋จึงนำต้นไม้ที่ปลูกไปฝากไว้ นอกจากต้นไม้ของป้าเก๋แล้ว พื้นที่ตรงนี้ยังเป็นที่ฝาก  ผักสวนครัว  กระถางต้นไม้ ดอกไม้ของอีกหลายคน ในตึกนี้อีกด้วย

นอกจากการปลูกต้นไม้ริมระเบียง แต่ป้าเก๋ยังปลูกเห็ดกินเองอีกด้วย ป้าเก๋เล่าให้ฟังว่า เอาเชื้อเห็ดมาจากสวนที่ นครศรีธรรมราชบ้านเกิด โดยญาติเป็นผู้ให้มาทดลองปลูกที่คอนโด   “  ทีแรก ก็คิดอยู่พักใหญ่ว่าจะหาที่ชื้นๆตรงไหน อีกอย่างพื้นที่ในห้องก็แคบ เลยมาลงตัวที่ห้องน้ำ    เห็ดอยู่ได้  และไม่ได้รบกวนการใช้งานของห้องน้ำ   ระหว่างรอเห็ดเกิดใช้เวลาพอสมควร แต่พอเห็ดเกิด  รู้สึกภูมิใจที่ได้กินเห็ดที่ปลูกเอง มั่นใจว่าสะอาดปลอดภัย  สดใหม่ทุกวัน ” ป้าเก๋พูดไปยิ้มไป ฉันสัมผัสได้ถึงความสุข

นอกจากห้องของป้าเก๋แล้ว ยังมีอีกหลายห้องที่พยายามปลูกพืชผัก ไว้ที่ริมระเบียง สังเกตได้จากตอนที่เดินเข้าสู่อาคาร เมื่อมองขึ้นไปด้านบนตึก จะเห็นสีเขียวๆของต้นไม้ โผล่ออกมารับแสงแดดของพระอาทิตย์ ทำให้อาคารที่ดูเรียบๆ มีสีสัน และความสดชื่นเพิ่มมากขึ้น

บางบ้านอาจปลูกดอกไม้ไว้ในบ้าน โดยดูที่ลักษณะความสวยงาม และกลิ่นหอมเป็นหลัก แต่บ้านของป้านา คุณรัตนา ไชยเสน อายุ 62 ปี หมู่บ้านศรีปราโมทย์ แขวงช่องนนทรี เขตยานนาวา กรุงเทพฯ ที่บ้านป้านา  ปลูกไม้มงคล แม้พื้นที่ไม่มากก็มีไม้มงคลหลากหลายชนิด “ ป้าเป็นครอบครัวคนจีน จึงปลูกไม้มงคลไว้ทุกบ้าน จะมากจะน้อยก็ต้องปลูก  เช่นกวนอิม  โป๊ยเซียน  ทับทิม  เข็มขาว  เข็มแดง  วาสนา  จำปี สมุนไพรก็มี   แปะตำปึง   ว่านหางจระเข้   ไม้มงคลพวกนี้อายุยาว ปลูกง่าย ”
ป้านาเล่าว่าการปลูกต้นไม้มงคลนั้น ปลูกตามความเชื่อของแต่ละบุคคล  โป๊ยเซียนช่วยป้องกันภัยอันตราย  ต้นไม้มงคลแบบไทยเช่นต้นจำปี ป้านาก็นำมาปลูก เมื่อถึงฤดูออกดอก ก็จะส่งกลิ่นหอมหวนเข้าไปในบ้าน ป้านาบอกว่า แม้จะมีต้นไม้แค่ไม่กี่ต้น แต่ก็ถือเป็นมุมสีเขียวอีกมุมหนึ่งของครอบครัว

 

ที่ดาดฟ้าบ้านฉัน  สาธุประดิษฐ์ กรุงเทพฯ ปลูกไม้ดอก ไม้ประดับ  ผักสวนครัว สมุนไพร  อะไรที่ได้กินและได้ใช้เราจะนำมาปลูก เพราะมีพื้นที่น้อย จึงต้องปลูกผักให้หลากหลาย แต่ปริมาณไม่มาก สร้างความยั่งยืนทางอาหารให้ครอบครัวเล็กๆ ของเราเอง ทำให้เราพึ่งตนเองได้ ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง แม่ไม่ใช้ปุ๋ยเคมี มาใส่พืชผัก ทำปุ๋ยหมักจากเศษอาหาร และเศษใบไม้ อาศัยการทำงานของธรรมชาติ ปล่อยให้เป็นไปตามวิถีของมันเอง ไม่ต้องลงทุน แต่ได้ความปลอดภัยของอาหารเป็นกำไรกลับมา นอกจากแม่จะเก็บผักผลไม้ที่เหลือจากการใช้มาทำปุ๋ยแล้ว เพื่อนที่ทำงานก็ช่วยกัน เก็บเศษอาหารและคัดแยกไว้ให้ เป็นการสนับสนุนสวนดาดฟ้าของแม่อีกทางหนึ่ง

ดาดฟ้าบ้านฉันไม่ได้เป็นเพียงสวนผักของครอบครัว แต่ยังเป็นสวนผักไว้แบ่งปันสำหรับเพื่อนบ้านและเพื่อนที่ทำงานของแม่อีกด้วย การสร้างความสัมพันธ์อันดีกับครอบครัว และสังคม เริ่มขึ้นได้ ด้วยการแบ่งปัน สิ่งที่ได้รับหลังจากแบ่งปัน คือความสุขใจและภูมิใจ ว่าสิ่งที่ทำนอกจากจะมีประโยชน์ต่อตนเองแล้ว ยังมีประโยชน์ต่อผู้อื่นด้วย “ นี่คือสวนผักดาดฟ้าเล็กๆ กับความภูมิใจ และมิตรภาพอันยิ่งใหญ่ของแม่ ”

การอยู่ร่วมกันได้ของต้นไม้กับเมืองใหญ่ คือสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยง และการเกื้อหนุนดูแลกันของมนุษย์ เพราะต้นไม้ทำให้เกิดการแบ่งปันของผู้คนในเมือง ส่งต่อสายสัมพันธ์แห่งมิตรภาพ แม้เป็นเมืองใหญ่ที่เต็มไปด้วยอาคารบ้านเรือน แต่ก็ยังมีพื้นที่เล็กๆให้ต้นไม้ได้เติบโตงอกงาม ตั้งแต่พื้นที่เล็กๆในบ้าน พื้นที่ส่วนรวมของชุมชน ไปจนถึงพื้นที่สวนสาธารณะ ที่กว้างขวางของคนเมือง

ในบ้านหนึ่งหลังเปรียบเสมือนเมืองใหญ่ สวนต่างๆเปรียบเสมือนห้องแต่ละห้อง ที่แตกต่างกันไป เป็นเหมือนห้องครัว ให้ผู้คนได้สรรหา และปรุงแต่งอาหาร  เป็นเหมือนห้องสมุดแห่งการเรียนรู้ ให้คนในบ้าน ได้เข้าใจถึงแก่นแท้ของธรรมชาติ  เป็นเหมือนห้องพักผ่อนให้ได้ผ่อนคลายสบายใจ เพียงแวะเข้ามาเติมเต็มความสุขจากห้องนี้   หากขาดห้องเหล่านี้ไป ผู้คนในบ้านหลังนี้คงอยู่ไม่ได้

สำหรับฉันแล้ว ไม่ว่าจะสวนแห่งไหน จะเป็นสวนในบ้าน สวนส่วนรวมของผู้คน หรือต้นไม้น้อยใหญ่ริมทาง เราก็สามารถรับความสุขจากมันได้ ความสดชื่น ยามมองต้นไม้ผลิใบ  ความสดใส ยามเห็นดอกไม้เบ่งบาน  ความงดงามของการอยู่ร่วมกัน ทั้งมนุษย์และต้นไม้ คือสิ่งที่ได้รับกลับมาจากการอยู่ร่วมกันได้อย่างสมดุล ของสวนเล็กในเมืองใหญ่