เรื่อง : นลิน สินธุประมา
ภาพ : พานิตา ขุนฤทธิ์
ผลงานจากค่ายสารคดี ครั้งที่ 11
(งานเขียน และงานภาพดีเด่น)

[Best_Wordpress_Gallery id=”6″ gal_title=”YeeSan”]

คุณเป็นหนึ่งในบรรพบุรุษที่รอนแรมหาทำเลลงหลักปักฐาน คุณเพิ่งออกมาจากถ้ำ เคยเร่ร่อนต้อนสัตว์ไปทั่วผืนแผ่นดิน มีอาหารที่ไหนก็หยุดที่นั่น พออาหารหมดก็ย้ายถิ่นฐานกันใหม่ แต่พอถึงจุดหนึ่งที่คุณต้องการความมั่นคงให้ตัวเองและลูกหลาน คุณเริ่มมองหาทำเลเหมาะๆ เช่น แหล่งน้ำจืดขนาดใหญ่ และพื้นดินที่อุดมสมบูรณ์ เพาะปลูกอะไรก็เติบโตงอกงาม

หากคุณเป็นบรรพบุรุษที่กำลังมองหาที่ลงหลักปักฐาน คุณควรมองข้ามภูเขาหินปูนลูกเล็กๆ ริมคลองน้ำกร่อยลูกนั้น เพราะเนื่องจากจากดินที่นี่จะเค็มจนปลูกอะไรไม่ขึ้น มีแต่ป่าชายเลนที่ขึ้นตามธรรมชาติและวัชพืชสารพัดอย่าง แล้วที่นี่ยังขาดองค์ประกอบสำคัญที่สุดในการดำรงชีวิตของผู้คนในดินแดนแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นั่นก็คือ “น้ำจืด”

ภูเขาหินปูนลูกนั้นชื่อ “ยี่สาร” ตั้งอยู่ห่างจากทะเลราว 5-6 กิโลเมตร มีคลองขุดยี่สารเป็นทางเชื่อมจากยี่สารออกสู่อ่าวไทย ด้วยความที่ไม่ได้อยู่ห่างจากทะเลนักน้ำทะเลตีกลับขึ้นมาในลำคลอง ไม่ว่าจะเป็นคลองสายหลักหรือสายย่อยจึงมีสภาพเป็นน้ำกร่อยทั้งสิ้น และพลอยพาพื้นดินแถวนั้นให้กลายเป็นดินเค็มไปด้วย หากมองจากแผนที่ในปัจจุบันก็จะพบตำบลยี่สารอยู่ที่สุดเขตอำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ชุมชนของชาวยี่สารอยู่ไกลจากตลาดน้ำอัมพวามาทางทิศใต้ ห่างจากถนนใหญ่เกือบสิบกิโลเมตร โดดเดี่ยวออกมาจากตัวเมือง

“ก็ยี่สารเป็นลูกเมียน้อยคนที่เจ็ด”

ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงครามคนหนึ่งพูดกลั้วหัวเราะเมื่อครั้งมาเยี่ยมเยียนตำบลยี่สารและพูดคุยเรื่องความยากแค้นของยี่สารกับ ผศ.สิริอาภา รัชตะหิรัญ ชาวยี่สารโดยกำเนิดผู้ผันตัวไปเป็นอาจารย์อยู่ที่มหาวิทยาลัยศิลปากรและเป็นประธานพิพิธภัณฑ์บ้านเขายี่สารมาตั้งแต่เริ่มตั้งพิพิธภัณฑ์

ท่านผู้ว่าฯ อาจไม่ได้พูดเกินจริง ตำบลยี่สารไม่ใช่แค่ลูกเมียน้อยธรรมดา แต่เป็นลูกของเมียน้อยคนที่เจ็ดเลยทีเดียว  ไม่ว่าปัจจุบันหรืออดีต ที่ตั้งของยี่สารก็ดูเป็นที่ที่ไม่น่าจะมีใครอยากเข้าไปอยู่ แต่หลักฐานทางโบราณคดีและตำนานที่เล่าสืบต่อกันมาเป็นเครื่องยืนยันที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าบริเวณเขายี่สารเคยเป็นชุมชนการค้าขนาดใหญ่ หลังเขายี่สารเคยมีผู้คนอาศัยอยู่กันหนาแน่นชนิดไก่บินไม่ตกหลังคาเรือน

ผู้มาเยือนยี่สารจึงได้แต่ยืนฉงนอยู่หน้าภูเขาลูกเตี้ย นึกอยากย้อนเวลากลับไปสัมภาษณ์จีนขาน ผู้ก่อตั้งชุมชนยี่สารในตำนานที่เล่าสืบต่อกันมาว่าชายจีนผู้นี้ล่องเรือสำเภามากับพี่ชายและน้องชายอีกสองคน แล้วบังเอิญโชคร้ายเรือแล่นเข้ามาชนภูเขาจนเรือแตก ทำให้พี่น้องสามคนต้องแยกย้ายกันไปตั้งหลักปักฐานอยู่ที่ต่างๆ จีนเครา พี่คนโตไปอยู่ที่เขาตะเครา จีนกู่น้องคนเล็กไปอยู่ที่เขาอีโก้ ส่วนจีนขานพี่คนกลางก็ตัดสินใจลงหลักที่ยี่สาร ก่อนจะกลายมาเป็นคุณปู่ศรีราชาผู้นำทางจิตวิญญาณของคนในชุมชนและเป็นที่ยึดเหนี่ยวของชาวยี่สารมาจนถึงทุกวันนี้ คงจะดีไม่น้อยหากเราย้อนกลับไปถามจีนขานได้ว่าอะไรที่ดลใจให้เขาตัดสินใจตั้งรกรากอยู่ในสภาพภูมิศาสตร์ที่ขาดแคลนทั้งน้ำจืดและผลผลิตทางการเกษตรเช่นนี้
ลูกเมียน้อยคนนี้มีดีอะไรซ่อนอยู่หนอ?

ลองจินตนาการถึงโลกยุคสมัยที่ยังไม่มีเครื่องบิน ประเทศไทยก่อนจะตัดถนนเพชรเกษม สยามก่อนจะมีทางรถไฟสายแรก ไม่ต้องย้อนไปไกลถึงสมัยที่มนุษย์ยังอยู่ตามถ้ำหรือป่าเขา ย้อนกลับไปสัก 600-700 ปีที่แล้ว ในยุคสมัยที่กรุงศรีอยุธยาเป็นเพียงอาณาจักรน้องใหม่ของดินแดนสุวรรณภูมิ แล้วจินตนาการต่อไปว่าหากคุณอยากจะเดินทางจากอยุธยาไปค้าขายที่เมืองพริบพรี เมืองมะริด เมืองตะนาวศรี หรือประดาเมืองท่าสำคัญที่อยู่ตอนใต้ลงไป คุณจะเดินทางไปอย่างไร?

การเดินเรือไปตามแม่น้ำลำคลองเป็นหนทางที่สะดวกที่สุด ไม่ว่าคำบอกเล่าเกี่ยวกับต้นกำเนิดของยี่สารจะจริงเท็จแค่ไหน จีนขานและคุณปู่ศรีราชามีตัวตนจริงหรือไม่ ตำนานดังกล่าวก็พอจะให้ร่องรอยแกเราได้ว่าเมืองยี่สารเป็นหมุดหมายสำคัญจุดหนึ่งของบรรดาพ่อค้าคนจีน เพราะยี่สารตั้งอยู่ระหว่างอยุธยากับเพชรบุรี จะลงไปเพชรบุรีก็ต้องผ่านที่นี่ หากไปแง้มหน้าดูแผนที่ก็อาจสงสัยว่าทำไมคนสมัยก่อนจึงไม่ล่องเรือลัดอ่าวไทยไปเลย

“แต่ก่อนเขาไม่ออกทะเลกันหรอก ลมมันแรง มันอันตราย เพราะเราไม่มีเรือชักใบใหญ่ๆ ไม่มีเรือกลไฟ” อาจารย์วลัยลักษณ์ ทรงศิริ หนึ่งในทีมนักวิชาการของมูนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ที่ลงไปเก็บข้อมูลที่ยี่สารเมื่อเกือบยี่สิบปีที่แล้วให้คำอธิบาย พร้อมทั้งชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของยี่สารเพิ่มเติม “พวกเมืองแม่กลอง เมืองสมุทรสาคร สมุทรสงครามก็เพิ่งมาตั้งเมื่อปลายสมัยอยุธยา เพราะฉะนั้นยี่สารมันเก่ากว่า ยี่สารเป็นเมืองท่าภายในประเทศ และอยู่ต่อเนื่องมาตลอด ยี่สารจึงเป็นจุดที่ไม่ตาย เพราะไม่มีการคมนาคมทางบก และไม่มีเรือเดินสมุทรในทะเล คนต้องผ่านตรงนั้นตลอด”

ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น เขายี่สารเป็นจุดที่พ่อค้าและนักเดินทางทุกคนต้องนั่งเรือผ่านเพื่อเดินทางไปยังเพชรบุรีซึ่งเป็นหัวเมืองที่คอยคุมเมืองมะริดและตะนาวศรีอันเป็นเมืองท่าสำคัญในยุคสมัยนั้น  แม้แต่กวีเอกอย่างสุนทรภู่ก็ต้องเดินทางผ่านยี่สารเมื่อครั้งที่จะเดินทางไปเพชรบุรี และเดินเรือไปติดน้ำลงอยู่ที่ยี่สารหนึ่งคืน ถึงจะรอให้น้ำขึ้นและออกเดินทางต่อไปได้

เราก็พอจะสังเกตเห็นความสำคัญของยี่สารได้จากแผนที่ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น เพราะเมืองทางผ่านแห่งนี้ได้รับเกียรติให้ปารากฎอยู่ทั้งในแผนที่สยามในหนังสือ Description du Royaume Thai ou Siam ของบาทหลวงปาลเลอกัวซ์ มิชชันนารีคนสำคัญที่เข้ามาเผยแพร่ศาสนาในไทยและแผนที่จากบันทึกของทูตอังกฤษชื่อจอห์น คอร์ฟอร์ด ปรากฏอยู่ในหนังสือ Journal of an Embassy from the Governor-General of India to the Courts of Siam and Cochin-China แม้แผนที่ทั้งสองฉบับจะสะกดชื่อยี่สารไว้ไม่ตรงกัน (ฉบับปาลเลอกัวซ์สะกดว่า Isan ส่วนฉบับคอร์ฟอร์ดสะกดว่า Yisan) แต่ตำแหน่งบนแผนที่ก็ถูกต้องตรงกันว่าเป็นเมืองยี่สารที่เราเห็นกันทุกวันนี้

นอกจากนี้เส้นทางดังกล่าวยังเป็นอีกหนึ่งเส้นทางสำหรับเดินทางข้ามคาบสมุทรจากอ่าวไทยไปอ่าวเบงกอล แทนที่จะต้องนั่งเรืออ้อมลงไปถึงช่องแคบมลายู นั่นหมายความว่ายี่สารมิใช่เพียงทางผ่านของเส้นทางคมนาคมภายในประเทศเท่านั้น แต่ยังเป็นทางผ่านของประตูสู่โลกภายนอกอย่างอินเดีย ตะวันออกกลาง และโลกตะวันตกด้วย

นั่นอาจเป็นเหตุผลที่ทำให้ลูกเมียน้อยคนที่เจ็ดคนนี้กลายเป็นชุมทางการค้า และกลายมาเป็นชุมชนที่มีพื้นฐานเศรษฐกิจตั้งอยู่บนการค้าในที่สุด รวมถึงเป็นที่มาของชื่อ “ยี่สาร” ที่อาจารย์ล้อม เพ็งแก้ว ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษา วรรณคดีไทย และวัฒนธรรมพื้นบ้านของเพชรบุรีสันนิษฐานว่ามาจากคำภาษาเปอร์เซียว่า “บาซาร์” ที่แปลว่าตลาด เพี้ยนมาเป็นคำว่า “ปสาน” ก่อนจะเพี้ยนมาเป็น “ยี่สาร” ในที่สุด แต่สุจิตต์ วงษ์เทศไม่สู้เห็นด้วยกับข้อสันนิษฐานนี้ แต่เชื่อว่าคำว่า “ยี่สาร” น่าจะมาจาก Yī shān (一 山) ที่แปลว่า ภูเขาลูกหนึ่งมากกว่า สอดคล้องกับความเป็นไปได้ที่พ่อค้าคนจีนในอดีตจะล่องเรือมาและมองหาเขายี่สารซึ่งเป็นเขาหินปูนเพรยงลูกเดียวในจังหวัดสมุทรสงครามเป็นจุดสังเกต

แต่ไม่ว่าที่มาของชื่อที่แท้จริงจะเป็นอย่างไร ชื่อของยี่สารล้วนมีที่มาที่โยงใยเกี่ยวกับการค้าและพ่อค้า เหตุผลในการที่มีคนมาตั้งรกรากอยู่ที่ยี่สารจึงต่างไปจากกลุ่มคนที่เลือกตั้งถิ่นฐานกันริมลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาหรือบริเวณริมแม่น้ำจืดที่มีดินอุดมสมบูรณ์ เพราะพื้นฐานของชุมชนยี่สารไม่ใช่สังคมเกษตรแบบชุมชนอื่นๆที่เราคุ้นเคย แต่เป็นชุมชนที่อยู่ได้ด้วยการค้าอันมีชีวิตชีวาอยู่ได้ก็เพราะยุทธศาสตร์ที่ตั้งเป็นสำคัญ ขณะเดียวกันก็ต้องเผชิญหน้ากับตลกร้ายว่าจุดยุทธศาสตร์ที่ว่านี้มีสภาพภูมิศาสตร์ที่ไม่เหมาะแก่การดำรงชีวิตเอาเสียเลย

อย่างไรก็ดี แม้ยี่สารจะไม่มีน้ำจืดและไม่สามารถปลูกข้าวเองได้ ชาวยี่สารก็มีอาหารในน้ำกร่อยอุดมสมบูรณ์ อาหารทะลในปัจจุบันราคาแพงอย่างไร อาหารทะเลในอดีตก็แพงไม่ต่างกัน ชาวยี่สารยังรู้จักแปรรูปอาหารให้เก็บไว้ได้นานและขายได้ราคาดี ไม่ว่าจะเป็นกะปิ น้ำปลา ปูเค็ม ปลาแห้ง ปลาคุเราเค็ม และอื่นๆ อีกมากมาย

ยี่สารในอดีตจึงไม่มีอะไรใกล้เคียงกับลูกเมียน้อยคนที่เจ็ดเลยแม้แต่น้อย เธอควรจะเป็นลูกสาวเถ้าแก่ที่ร่ำรวยที่สุดในเมืองต่างหาก

“สมัยเราเด็กๆ เวลาเราวิ่งไปหลังบ้านจะเจอพวกเศษกระเบื้องเต็มไปหมดเลย จะปลูกต้นไม้ทีหนึ่งก็ต้องขุดลงไป เจอเศษเปลือกหอย กระเบื้องเคลือบ กระเบื้องดินเผาเต็มไปหมด ก็สงสัยมาตลอดว่าบ้านเรานี่มันเป็นอะไรนะ ทำไมมีของพวกนี้เยอะขนาดนี้”

คำบอกเล่าถึงความทรงจำวัยเด็กของอาจารย์สิริอาภาช่วยยืนยันสถานะอันมั่งคั่งของยี่สาร โชคดีที่อาจารย์ได้มีโอกาสไปเป็นอาจารย์คณะศึกษาศาสตร์มหาวิทยาลัยศิลปากร วันหนึ่งความสงสัยในวัยเด็กจึงได้รับการไขปริศนา เมื่อชาวยี่สารเริ่มนำข้าวของเครื่องใช้โบราณมารวมกันและคิดริเริ่มจะเปิดพิพิธภัณฑ์ของชุมชน อาจารย์จึงไปติดต่อกับ รศ. ศรีศักร วัลลิโภดม อาจารย์ประจำคณะโบราณคดีในขณะนั้น และได้มูลนิธิเล็ก-ประไพวิริยะพันธุ์ซึ่งทำงานเกี่ยวกับการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นโดยตรงเข้ามาช่วยศึกษาเจ้ากระเบื้องชิ้นเล็กชิ้นน้อยที่ยี่สาร ก่อนจะค้นพบว่ายี่สารเป็นแหล่งโบราณคดีที่น่าทึ่ง

ในหลุมขนาดสามคูณสามเมตร ทีมของมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์พบโบราณวัตถุตั้งแต่ยุครัตนโกสินทร์ย้อนไปจนถึงสมัยอยุธยาตอนต้น หรือราวพุทธศตวรรษที่ 19-20 ภาชนะดินเผาชนิดต่างๆ นั้นเดินทางมาจากทั่วสารทิศ ทั้งจากเวียดนาม ญี่ปุ่น ศรีสัชนาลัย สุโขทัย เชียงใหม่ สุพรรณบุรี และที่พบมากกว่าใครอื่นก็คือเครื่องถ้วยจากจีน ภาชนะเหล่านี้เป็นเครื่องยืนยันอย่างดีว่าเคยมีคนอาศัยอยู่ที่นี่ เพราะภาชนะส่วนใหญ่เป็นอุปกรณ์ไว้ใช้ในครัว เช่น หม้อทะนน หม้อก้นกลมที่ใช้ไม้ตีลายประทับรอยไว้รอบๆภาชนะ ชิ้นส่วนของเตาเชิงกราน  ถ้วยชามกระเบื้องเคลือบ และไหขนาดต่างๆ สำหรับบรรจุน้ำ

“ที่น่าสนใจที่สุดคือ โอ่ง” อาจารย์วลัยลักษณ์เล่าให้ฟังถึงความสำคัญและความหมายที่เราสืบเสาะได้จากชิ้นส่วนกระเบื้องและดินเผาเหล่านี้ โดยเฉพาะโอ่งขนาดใหญ่หรือที่ชาวบ้านนิยมเรียกกันว่า “โพล่” ซึ่งสันนิษฐานว่าผลิตขึ้นที่สุพรรณบุรีตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 19-20 หากใครไปเยี่ยมเยียนยี่สารวันนี้ ก็จะเห็นว่า โพล่ไม่ได้พบเจอแค่ในพิพิธภัณฑ์เท่านั้น แต่ไม่ว่าจะเดินผ่านบ้านหลังไหนในยี่สารก็จะเห็นโพล่เรียงรายเป็นแถว “โอ่งอันนั้นน่ะเป็นสัญลักษณ์ของยี่สาร เพราะมันอยู่มาอย่างยาวนานต่อเนื่อง และเคยใช้เป็นภาชนะในการใส่น้ำจืด ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้คนยี่สารอยู่ได้”

มิใช่เพียงเครื่องถ้วยและภาชนะดินเผาหลากสัญชาติที่เป็นเครื่องยืนยันความสำคัญในฐานะเมืองการค้าของยี่สาร แต่วัดโบราณซ่อนตัวอยู่ในภูเขารกครึ้มริมฝั่งคลองยี่สารที่มาบรรจบกันเป็นสามแยก ก็สะท้อนอดีตอันมั่งคั่งของยี่สารออกมาได้ไม่ต่างกัน ความยิ่งใหญ่ของวัดเขายี่สารในอดีตทิ้งร่องรอยไว้ในนิราศยี่สารของ ก.ศ.ร กุหลาบที่พาลูกๆ เดินทางไปนมัสการพระพุทธบาทที่วัดเขายี่สาร นับเป็นความนิยมที่ได้รับอิทธิพลจากสังคมตะวันตกของคนในสมัยนั้นที่ชนชั้นกระฏุมพีจะต้องไปตากอากาศที่ต่างจังหวัด ก่อนจะแวะไปนมัสการพระบาท ก.ศ.ร กุหลาบกล่าวถึงวัดเขายี่สารไว้ดังนี้

                                                  นึกศรัทธาจะพาซึ่งบุตรี    ไปทั้งสี่ไหว้พระบนยอดเขา
                                           ที่ยี่สารช้านานมาไม่เบา        คนเก่าเล่าว่าวัดนี้มีอัศจรรย์
                                           รูปพระยืนกลืนคนพ้นจะเชื่อ    ประหลาดเหลือที่จะรู้ดูขันขัน
                                           มีชื่อว่าวัดแก้วฟ้ามาทุกวัน    จึงมีหรรษาใจไปนมัสการ

“วัดเขายี่สารจริงๆ แล้วมันเป็นของคนที่ต้องมีบุญหนักศักดิ์ใหญ่ ต้องมีบุญบารมี มีสตางค์ถึงจะสร้างเขายี่สารได้ เพราะวัดเขายี่สารนี่มีทุกสิ่งทุกอย่างครบถ้วนกระบวนความ ศิลปะเป็นชุดเดียวกันหมดเลย ตกแต่งเขาทั้งเขาด้วยหินเป็นก้อนๆ เป็นชั้นๆ ชั้นห้าเป็นชั้นบนสุดเป็นวิหาร มีพระพุทธบาทอยู่ ชั้นที่สี่เป็นลานทำบุญ ชั้นที่สามเป็นโบสถ์ ชั้นที่ห้าเป็นเสนาสนะ คือที่อยู่สงฆ์ ชั้นล่างก็เป็นของประชาชน มีศาลาการเปรียญ ศาลาพระปาเลไลก์ ศาลาธรรมสังเวชเอาไว้เผาศพ ศาลานั่งพักผ่อน ศาลาท่าน้ำ”  อาจารย์สิริอาภาเล่าถึงวัดโบราณที่สืบได้ว่าสร้างขึ้นในรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าเสือ กษัตริย์องค์หนึ่งในสมัยอยุธยา เมื่อราว พ.ศ.2246 และได้รับการบูรณะใหญ่อีกครั้งเมื่อปลายรัชกาลที่ 4 ขึ้นรัชกาลที่ห้า ในช่วงปี พ.ศ.2448 เหตุผลของอาจารย์น่าฟัง ลองนึกภาพว่าเราต้องการสร้างบ้านเดี่ยวสักหลังแต่มีงบประมาณจำกัดจำเขี่ย อาจจะสร้างได้แต่ตัวบ้านก่อน แล้วจึงมาต่อครัวทีหลัง แน่นอนว่าเราอาจจะเผชิญปัญหาว่าการออกแบบของบ้านกับครัวไม่เข้ากัน อาจะด้วยกระเบื้องหมด หรือเฉดเดียวกันหมด กลายเป็นบ้านและครัวที่มีสถาปัตยกรรมหน้าตาประดักประเดิดไป แต่วัดเขายี่สารนั้นเป็นตัวอย่างที่ดีของเศรษฐีเงินหนาผู้ทุ่มทุนสร้างวัด เพราะทั้งพระวิหาร ทั้งพระอุโบสถ และบรรดาเจดีย์ที่รายรอบวัดอยู่นั้นล้วยมีสถาปัตยกรรมไปในทางเดียวกันทั้งสิ้น

“วัดรอบๆแถวนั้น มันได้อย่างวัดยี่สารไหม มันเหลือศิลปกรรมชั้นครู มันเหลือหลักฐานของวัดที่ใหญ่โตขนาดนั้นไหม ถ้าไม่ได้เป็นวัดหลวงอุปถัมป์ แล้วมันเป็นวัดราษฏร์ แล้วราษฎรเอาเงินท่ไหนมาทำ? ในที่กันดารห่างไกลขนาดนั้น น้ำก็ไม่มี อะไรก็ไม่มี?

ลองตั้งคำถามแล้วจะพบว่ามันเกี่ยวกับระบบทุนโดยตรง”  อาจารย์วลัยลักษณ์ชี้ประเด็น

เมื่อมองโบราณสถานและโบราณวัตถุตรงหน้าให้ลึกลงไป เราจะพบว่าวัดโบราณ เครื่องปั้นดินเผาและกระเบื้องเคลือบเหล่านี้ไม่เพียงเป็นร่องรอยทางประวัติศาสตร์ แต่สะท้อนให้เห็นความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจของคนในอดีต และเห็นความใจสู้ของคนยี่สารที่ยืนหยัดอยู่ท่ามกลางธรรมชาติอันไม่เอื้อต่อการดำรงชีวิต แต่ภูมิปัญญาชาวบ้านของคนยี่สารที่สืบต่อกันมาตั้งแต่อดีตก็ทำให้ชุมชนหลังเขายี่สารอาศัยสืบต่อกันมายาวนานกว่า 600 ปีโดยที่ชุมชนไม่เคยถูกทิ้งร้างเลย
ถึงกระนั้นก็ยังน่าสงสัย

แม้ไม่เคยถูกทิ้งร้าง แต่เหตุใดลูกสาวเถ้าแก่จึงกลายมาเป็นลูกเมียน้อยผู้ไม่ได้รับการเหลียวแลเช่นในปัจจุบัน?

ยี่สารอยู่ได้ก็เพราะตั้งอยู่บนฐานเศรษฐกิจของประเทศ เมื่อเศรษฐกิจภายในประเทศเปลี่ยนรูปแบบ เส้นทางคมนาคมก็เปลี่ยน จุดที่เคยเป็นจุดยุทธศาสตร์ก็ไม่ได้มีความสลักสำคัญอีกต่อไป อาจารย์สิริอาภากล่าวว่าความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นล้วนเป็นเรื่องธรรมดา “คนก็ย้ายตลาดไปอยู่ที่อื่นที่กว้างกว่า สะดวกกว่า เช่นที่ ปากแม่น้ำแม่กลอง บางตะบูน ฯลฯ ยี่สารก็ค่อยๆ ร้างผู้คนไป การที่ตลาดย้ายไปที่อื่นนี่เป็นเรื่องปกติมาก เหมือนที่ตอนเด็กๆ เราเคยต้องไปซื้อของที่ตลาดบางลำพู แต่เดี๋ยวนี้ต้องไปห้างสรรพสินค้าแทน”

หลังจากเสียกรุงศรีอยุธยา ครั้งที่ 2 ก็มีการเปลี่ยนเส้นทางการค้าข้ามคาบสมุทรและการค้าสำเภาเลียบชายฝั่ง เมืองเพชรบุรีหมดค่อยๆ หมดความสำคัญในฐานะเมืองที่จะเชื่อมสู่มะริดและตะนาวศรี กลายเป็นเพียงสถานที่ตากอากาศของเจ้านายเท่านั้น ทำให้ชุมชนการค้าอันคึกคักที่ยี่สารค่อยๆ เงียบเหงาตามไปด้วย ผนวกกับสนธิสัญญาเบาว์ริ่งในมัยรัชกาลที่ 3 ทำให้การค้าและการผลิตในสยามกลายเป็นการผลิตแบบส่งออก โดยไปผลิตกันอยู่ที่หัวเมืองแถบตะวันตก เช่น เพชรบุรี ราชบุรี กาญจนบุรี และสุพรรณบุรี ผลผลิตแต่ละอย่างก็เป็นผลิตภัณฑ์ประเภทที่ยี่สารปลูกไม่ได้ เช่น อ้อย ยาสูบ ข้าว ฯลฯ ยี่สารซึ่งอยู่ในด้วยการเป็นตลาดแลกเปลี่ยนสินค้าภายในประเทศและแปรรูปอาหารทะเลเท่าที่มีอยู่ในพื้นที่จึงทำได้เพียงนั่งมองตลาดที่ค่อยๆ ว่างเปล่าตาปริบๆ

ปลายสมัยรัชกาลที่ 4 ขึ้นรัชกาลที่ 5 มีการขุดคลองภาษีเจริญและคลองดำเนินสะดวก ในช่วงปี 2409 – 2415  และคลองทั้งสองกลายเป็นเส้นทางขนภายในที่ตัดตรงกว่าทางเดิมที่ต้องผ่านยี่สาร ทั้งยังเป็นคลองที่ผ่านเมืองที่เริ่มมีความสำคัญขึ้นมาจากการปลูกอ้อยอย่างเมืองนครไชยศรี ถึงตอนนี้ยี่สารคงเริ่มรู้สึกเหมือนลูกเมียน้อยที่ต้องคอยแย่งชิงความรักกับลูกคนอื่นๆ แม้ในเวลาใกล้เคียงกัน คือเมื่อปี 2412 จะมีการขุดคลองบางลี่และคลองลัดยี่สารเพื่อให้ความสะดวกในการส่งออกสินค้าจากเมืองเพชรบุรี แต่ไม่ช้าไม่นานหลังจากนั้น ทางรถไปสายกรุงเทพฯ-เพชรบุรีซึ่งสร้างเสร็จในปี 2446 ก็เข้ามามีบทบาทแทน และคลองยี่สารก็ลดหน้าที่เหลือเพียงเส้นทางคมนาคมของชาวบ้านเท่านั้น มิใช่เส้นทางสำหรับพ่อค้าผู้มั่งคั่งดังเก่าก่อน

“ความว่าปากน้ำยี่สานนี้ ไม่ใคร่จะมีเรือเดินไปมาแล้ว และบ้านเรือนก็ย้ายไปบางตะบูนโดยมากเพราะเดิมพระขุดลัด แต่ลำน้ำยี่สารไปออกบางตะบูน น้ำเดินทางนั้นแรก กัดกว้างเป็นทางน้ำใหญ่” สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เล่าถึงยี่สารเมื่อครั้งเสด็จตรวจราชการหัวเมืองในปี 2442 เราก็พอจะเห็นภาพประวัติศาสตร์ที่ค่อยๆเดินทางมาบรรจบกับยี่สารในปัจจุบัน พอจะทำให้เราเห็นภาพความซบเซาของอดีตตลาดกลางป่าชายเลนแห่งนี้

ทว่าคนยี่สารไม่เคยยอมแพ้ ในตอนแรกเริ่มที่ตั้งถิ่นฐาน แม้จะตัดสินใจปักหลักที่นีเพราะเป็นพื้นที่เศรษฐกิจอันคึกคัก แต่คนยี่สารก็พร้อมจะรับมือกับความลำบากยากแค้นที่ไม่มีน้ำใช้ ด้วยการรองนำฝนและออกเรือไป “ล่มน้ำ” หรือไปหาน้ำจืดบรรจุใส่เรือกลับมาจากแม่น้ำเพชรบุรี แม้ที่ดินในยี่สารจะไม่สามารถเพาะพืชพันธุ์ได้มากนัก แต่คนยี่สารก็รู้จักประยุกต์เอาวัชพืชริมทางชื่อ ชะคราม มาประกอบอาหารจนกลายมาเป็นของขึ้นชื่อของยี่สารในภายหลัง ขณะเดียวกันก็ใช้ประโยชน์จากสิ่งที่พอจะปลูกได้ในผืนดินของตัวเองโดยการปลูกป่าโกงกาง ในตอนแรกก็เพียงตัดเป็นฟืนไปส่งขายที่เมืองหลวงเท่านั้น แต่ต่อก็ได้รับความช่วยเหลือจากชาวจีนอำเภอกันตัง จังหวัดตรัง ผู้เข้ามายี่สารในปี 2480 พร้อมความรู้ในการสร้างเตาเผาถ่าน และเปลี่ยนไม้โกงกางให้เป็นถ่านชั้นเลิศ จนปัจจุบันถ่านของยี่สารกลายเป็นสินค้าส่งออกที่ส่งขายทั้งจีน ญี่ปุ่น เกาหลี มาเลเซีย ฯลฯ

ไม่ว่าจะเป็นใคร เป็นคน สัตว์ สิ่งของ หรือสถานที่ ก็ล้วนแล้วแต่มีโอกาสทีจะผงาดขึ้นไปรุ่งเรืองถึงขีดสุด และเมื่อเรืองรองอยู่จนถึงสภาวะอิ่มตัวก็ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ความเจริญงอกงามเหล่านั้นจะค่อยๆ ถดถอยไปตามกาลเวลาเช่นกัน ยี่สารเป็นหนึ่งในตัวอย่างที่ดีของเมืองที่เริ่มต้นจากศูนย์ จากพื้นที่ที่ไม่เหมาะต่อการทำกินโดยสิ้นเชิง ก้าวไปสู้เมืองสำคัญทางเศรษฐกิจ แต่แล้ววันหนึ่งลมหายใจก็ค่อยๆ ถูกริดไปอย่างช่วยอะไรไม่ได้ ทุกอย่างล้วนเป็นไปเช่นนั้น

แต่เราจะปล่อยให้ร่องรอยประวัติศาสตร์ล้ำค่าเลือนหายไปจากความทรงจำและการรับรู้ของคนรุ่นหลังจริงหรือ วัชพืชน้อยใหญ่ค่อยชำแรกตัวผ่านก้อนอิฐ ชูหน้าอยู่เหนือเจดีย์เก่าทึมแต่ล้ำค่า ช่อเฟื่องฟ้าโค้มลงมากอดซุ้มประตูอันสลักเสลาไว้ ข้าวของในพิพิธภัณฑ์บ้านยี่สารที่ครั้งหนึ่งได้ช่วยชุบชีวิตและความทรงจำเกี่ยวกับความเป็นตลาดอันคึกคักของยี่สารขึ้นมา บัดนี้ค่อยๆ ซีดจางเพราะไอแดดและสายลม
แต่จะจางเท่าความทรงจำของคนที่มีต่อยี่สารหรือ?