banner-camp-12-for-web-logo

เรื่อง : ปวีณา ห้อยกรุด
ภาพ : วิศรุต แสนคำ
ผลงานจากค่ายสารคดี ครั้งที่ 11
(งานเขียนและงานภาพดีเด่น)

ชายชราชาว...นาร้อยไร่ ‘พ่อใหญ่หลอ’

ตะลึง! กองขยะตกค้าง 8 แสนตันในขอนแก่น

ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์ 22 มกราคม 2558

แดดจัดเที่ยงวัน ณ หมู่บ้านคำบอน ร้อนระอุราวกับกองเพลิง เสียงหัวเราะดังขึ้นทำลายความเงียบ หลังจากชายชราผมสีดอกเลา เนื้อตัวมอมแมม อ้าปากเห็นฟันหลอตะโกนร้องเพลงที่แต่งขึ้นเองสดๆร้อนๆ ด้วยสำเนียงโคราช

“อยู่เพื่อชีวิต อยู่ไปวันๆ นักสู้ผู้ยิ่งใหญ่”

เนื้อเพลงท่อนสั้นๆเปี่ยมความหมายนี้ สร้างชีวิตชีวาให้แก่กลุ่มคนบนพื้นที่กว่าหนึ่งร้อยไร่ ซึ่งเต็มไปด้วยสิ่งปฏิกูลเล็กๆกองทับถมกันเป็นเนินขนาดมหึมา ฝูงแมลงวันหัวเขียว บินฉวัดเฉวียนเสียงดังหึ่งๆ บางตัวบินขึ้นๆลงๆตอมสุนัขจรจัดตัวอ้วนพีที่หมอบแอบอยู่ใต้รถแบ็คโฮ ข้างๆมีหนอนแมลงวันจำนวนนับไม่ถ้วนไต่ยุบยับยั้วเยี้ยไปตามเศษผักผลไม้เน่า กลิ่นหมักหมมอบอวลที่ลอยคลุ้งในอากาศ ติดจมูกทุกครั้งยามหายใจเข้า

ร่างรายงานสถานการณ์มลพิษของประเทศไทย พ. ศ. 2557 โดยกรมควบคุมมลพิษ ระบุว่าจังหวัดขอนแก่นมีวิกฤตปัญหาขยะมูลฝอยตกค้างสะสมมากเป็นอันดับ 5 ของประเทศ และพื้นที่กว่าหนึ่งร้อยไร่ที่สะสมขยะจำนวนประมาณแปดแสนตัน คือ ‘สถานีกำจัดขยะ เทศบาลนครขอนแก่น’ หรือ ‘กองขยะบ้านคำบอน’ ตั้งอยู่ที่หมู่บ้านคำบอน ตำบลโนนท่อน อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น โดยเริ่มใช้งานมาตั้งแต่ ปี พ.ศ.2511

ระยะเวลา 47 ปีที่ผ่านมา ชาวบ้านในชุมชน และละแวกใกล้เคียงต่างขนานนามสารพัดชื่อแสนไพเราะ ไม่ว่าจะเป็น โคก,นาร้อยไร่ หรือแม้แต่ภูดอกฝ้าย เพื่อแทนคำธรรมดาๆอย่าง ‘กองขยะ’ จนคำเหล่านั้นถูกเรียกขานกันปากต่อปากมาถึงทุกวันนี้
พี่ปืน นายบุญมั่น ฮอกระวัด พนักงานสาธารณสุข โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลโนนท่อนขยายความให้ฟังว่า“ฉายากองขยะที่นั่น คนหมู่บ้านอื่นเขาเรียกกันว่า ภูดอกฝ้าย เพราะมองจากไกลๆเห็นเป็นภูเขาลูกขาวโพลน สวยเหมือนดอกฝ้ายบาน ”

พ่อใหญ่(ฟัน)หลอ แห่งบ้านคำบอน

“หม่องนี่ละ เรียกนาร้อยไร่ ย่างดูดีๆ ระวังเหยียบเด้อ มีแต่เงินทองทั้งนั้น” ลุงเปี๊ยก หรือนายสมบูรณ์ พิเศษสุด วัย 59 ปี เจ้าของฉายา ‘พ่อใหญ่หลอ’ ชี้ให้ดูเศษขยะทั้งแห้งและเปียกที่เกลื่อนกลาดเกรอะกรังบนพื้น ก่อนจะเดินไปนั่งพักกินข้าวเที่ยงใต้ซากรถแบ็คโฮเก่าๆ

“ข้อยบ่มีเพิงพักเหมือนผู้อื่นเขา มีแล้วมันขี้คร้าน อยากสิเข้าฮ่ม”ชายชรายิ้มตาหยีพลางปั้นข้าวเหนียว จิ้มแจ่วแล้วรีบเอาเข้าปากที่ไม่มีฟันเหลือสักซี่ แกเล่าต่อว่าเมื่อก่อนแมลงวันเยอะจนต้องกางมุ้งกินข้าว แต่เดี๋ยวนี้แมลงวันน้อยลงเพราะเทศบาลนครขอนแก่นมาฉีดยากำจัดกลิ่น

ด้านล่างมีถนนคอนกรีตแคบๆเป็นเส้นทางให้รถบรรทุกของเทศบาลฯลำเลียงขยะมาเท อีกทั้งยังเป็นถนนชุมชน ซึ่งคั่นระหว่างภูเขาขยะกับบ้านเรือนที่เรียงราย หนึ่งในนั้นคือบ้านของพ่อใหญ่หลอ ชายชราอารมณ์ดีผู้มีดนตรีในหัวใจ ขวัญใจชาวบ้านคำบอนน้อย

“เมื่อก่อนข้อยเป็นผู้ซายกะล่อน มักฮ้องเพลงแซวผู้สาว เดี๋ยวนี้ก็ยังฮ้องเพลงคือเก่าสิได้บ่เครียด บ่ให้เศร้าให้โศกละน่า”

“พ่อใหญ่แกอารมณ์ดี โอ้ย ฮ้องเพลงเหมิดมื้อ ทุกคนซี้กับแกเหมิด แกเว้าเล่น เว้าตลก เว้าไปเรื่อย”พี่หน่อง พงศ์ศักดิ์ สุนารัตน์ นักล่าขยะหนุ่มรุ่นกระทง รูปร่างสัดทัดเล่า

แม้พ่อใหญ่หลอไม่ใช่คนบ้านคำบอนโดยกำเนิด ทว่าอาศัยอยู่ที่นี่มานานกว่าครึ่งชีวิต แกเป็นชาวโคราชที่เกิดในครอบครัว ‘นักล่าขยะ’แต่ไม่ได้ทำอาชีพนี้ตั้งแต่แรก แกเล่าว่า

“ยายพาหากินจังสี้ แต่ก่อนเคยหาเก็บหม่องอื่นอยู่แล้ว รถขยะไปเทอยู่ไหนก็ตามไป พอรถมาเทรวมจุดเดียว ก็เลยตามมาอยู่หม่องนี่เลย ยายบ่เคยสอนดอก แต่พาขึ้นไปเก็บ ให้เบิ่งเอา…อยู่หม่องนี่สบายกว่า ไปหากินหาเก็บข้างนอกย่านถืกรถชน แถมยังมีพวกซาเล้ง เจ้าถิ่นอีก”

“สมัยหนุ่มๆเพิ่นรับจ้างทุกอย่าง ขับรถสิบล้อส่งของไปกรุงเทพฯ เป็นกรรมกร แบกข้าวสาร อยู่สถานีรถไฟ ขอนแก่น เฮ็ดทุกอย่างที่ได้เงิน แต่ยามนี้แก่แล้ว สายตาบ่ดี…เพิ่นเคยมีเมียเป็นคนขอนแก่น ครึ่งแขกครึ่งลาว เมียเพิ่นกินเหล้าเลยอยู่กันบ่ยาว”ป้าแขก อรุณี เจริญศรีธงไชย หญิงวัยกลางคนผิวเข้ม น้องสาวต่างพ่อวัย 53 ปีของพ่อใหญ่หลอเล่าให้ฟัง ขณะที่พ่อใหญ่หลอจุดบุหรี่มวนแล้วมวนเล่าขึ้นสูบพลางพ่นควันไล่แมลงวัน ก่อนจะเล่าต่อ

“สมัยขับรถบรรทุกข้อยเองก็กินยาบ้า กินเหล้า กินแล้วพาลหาตีนคน ผ่านหน้าบ้านใครบ่ได้ อาละวาดทุกหลังนั่นละ เคยเฮ็ดบาปกับแม่ เมาบ่ได้สติแล้วยันแม่ลงจากเฮือน—ช่วงหลังเลยไปบวชอยู่โคราช บวชเลิกเหล้า เลิกเด็ดขาด พอเลิกเหล้าก็เลิกกับเมียนำ—ข้อยมีลูกสาวบุญธรรมหนึ่งคน เป็นลูกติดของเมีย ยามนี้เพิ่นมีครอบครัวแล้วไปอยู่กรุงเทพฯ…เพิ่นบ่มาพ้อหน้าก็ดีแล้ว ถ้ามาเดี๋ยวแม่มันสิมาอีกคน ลูกสาวสิจะให้ไปเจอแม่มัน แต่บ่ไปดอก ย่านอย่างเดียวสู้มันบ่ได้ มันตีแฮง ขี้เมาคือเก่านำ ได้ยินข่าวมาแล้ว(หัวเราะ)

ยามนี้ข้อยอายุ 59 ปี แข็งแรงดี มีกำลัง เหล้าบ่ได้กิน ยาบ้าก็บ่ได้เล่น เฮาสูบแค่ยา(บุหรี่)อย่างเดียว ดูดมาตั้งแต่อายุ12-13 ทุกวันนี้ครึ่งซองอยู่ได้ประมาณมื้อนึง…พวกกินเหล้ากินยาหายใจก็บ่อิ่ม เป็นลมเป็นแล้งกันอยู่นี่ มันสิตายแน่บ่ตายแน่ เหมิดสภาพ”

“เดี๋ยวนี้แกเงียบๆไม่กินเหล้า ถ้ากินเหล้านะบ้านแตกสาแหรกขาด โดนเอาไปทำปุ๋ยแล้วป่านนี้ ไม่อยู่มาถึงทุกวันนี้หรอก”ลุงเบี้ยว มานพ เมืองอินทร์ น้องเขยวัย 52 ปี หนึ่งในสมาชิกของบ้านพูดเสริม พาทุกคนหัวเราะก๊าก

ปริศนา’นาร้อยไร่’

ที่ดินทั้งหมดในบริเวณนี้เดิมเป็นของชาวบ้านคำบอนใหญ่(บ้านใหญ่) เนื่องจากเทศบาลนครขอนแก่นมาขอซื้อนากว่าร้อยไร่จากชาวบ้านคำบอนใหญ่เพื่อทำสถานีกำจัดขยะแบบฝังกลบ หลังจากนั้นไม่นานนักล่าขยะชาวต่างถิ่นทั้งหลายก็ทยอยอพยพมาตั้งถิ่นฐาน ซื้อที่ดินและรวมตัวกันเป็นหมู่บ้านคำบอนน้อย

“สมัยยังไม่มีกองขยะ พื้นที่แถวนี้เป็นป่า ทุ่งนา ไม่มีบ้านคนหรอก ขยะก็ถูกเอาไปทิ้งในป่า แล้วเผา…ผมเป็นรุ่นบุกเบิก มาก่อนลุงเปี๊ยกอีก แต่มาได้กับน้องสาวเขา”ลุงเบี้ยวหัวเราะก่อนจะเล่าต่อ

“ตอนผมมาอยู่แรกๆก็อาศัยที่ของเทศบาลฯ ถางหญ้าปลูกกระต๊อบน้อยอยู่ตรงโรงเผาขยะตรงโน้น(ชี้ให้ดู) 30กว่าปีแล้วนะ สมัยนั้นที่นี่ไฟฟ้ายังไม่เข้า ต้องจุดตะเกียง อยู่มาได้เกือบสิบกว่าปีเทศบาลฯขอพื้นที่คืน พวกผมเลยขอซื้อที่ข้างกองขยะ เขาแบ่งขายให้อยู่อาศัย เราก็ทยอยผ่อนให้เขา…สมัยก่อนกองขยะเตี้ยกว่านี้นะ แต่พอเทขยะทับถมไปเรื่อยๆ ก็สูงขึ้นกลายเป็นภูเขาขยะ—ต่อให้มีที่กี่ร้อยไร่ก็ไม่พอ เดี๋ยวนี้เขาคาเอามาเทกองไว้ ขยะมันไม่ได้ถูกทำลายไปไหนหรอก แค่ใช้รถแบ็คโฮตักขึ้นไปสุม แล้วก็บดๆเหยียบๆ”

พ่อใหญ่หลอเล่าต่อว่า หลายปีมาแล้ว ตอนยังไม่มีเตาเผาขยะติดเชื้อ แกเคยเจอเด็กทารกยี่สิบศพที่ถูกห่อใส่กระดาษหนังสือพิมพ์มาทิ้ง ปะปนกับขยะอื่นๆ มีเงิน ตุ๊กตา และขวดนมห่อมาด้วย แกเดาว่าน่าจะมาจากคลีนิครับทำแท้งหรือแถวหอพักหญิง
“แก้ห่อเบิ่งใจหายเลย ศพเด็กน้อย ตัวใหญ่เด้ มือไม้ครบเหมิ้ด เราก็โกยขยะเฮ็ดหลุมฝังเรียงๆกันไว้ บ่ได้บอกตำรวจ ย่านสิยุ่งยาก ลำบากเฮาต้องไปเป็นพยาน…เดี๋ยวนี้บ่เจอ เพราะเทศบาลสร้างเตาเผา แยกขยะติดเชื้อกับขยะปกติ”

แม้นาร้อยไร่เป็นภูเขาขยะที่อยู่ห่างจากหมู่บ้านคำบอนน้อยเพียงข้ามถนน และถึงชาวบ้านจะต้องขึ้นไปที่นั่นทุกวัน พวกเขาก็ไม่อาจนำขยะในครัวเรือนขึ้นไปทิ้งได้ตามอำเภอใจ เพราะต้องจ่ายเงินค่าจำกัดขยะให้แก่เทศบาลฯจำนวนเดือนละยี่สิบบาท

ตามนโยบายของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ส่งเสริมและสนับสนุนการบริหารจัดการขยะมูลฝอยแบบผสมผสาน เน้นการนำขยะมาใช้ประโยชน์ ทำให้เกิด‘โครงการบริหารจัดการและกำจัดขยะมูลฝอย ด้วยวิธีการแปรรูปขยะมูลฝอยเป็นไฟฟ้า’โดยเน้นความสอดคล้องกับนโยบายรัฐ และการส่งเสริมให้เอกชนที่มีความเชี่ยวชาญเข้ามาบริหารจัดการ

ปัจจุบันโครงการนี้ดำเนินงานโดยบริษัทอัลไลแอนซ์ คลีน เพาเวอร์ จำกัด บนเนื้อที่กว่า 24 ไร่ ภายในระยะเวลาดำเนินการทั้งสิ้น 20 ปี ซึ่งตามแผนการดำเนินการก่อสร้างตอนนี้อยู่ในขั้นตอนงานทดสอบเดินเครื่อง(Test run) และบริษัทฯคาดการณ์ว่าภายใน 7-10 ปี ขยะเก่าที่ตกค้างอยู่จะหมดไป

“ล่าสุดเทศบาลให้สัมปทานบริษัทต่างชาติสร้างโรงไฟฟ้าจากขยะ เริ่มตั้งเสาแล้ว—ถ้าทำเสร็จก็ยังต้องให้พวกผมขึ้นไปเพราะผมมาอยู่ก่อน ถ้าห้ามขึ้นไปเขี่ยพวกผมก็ไม่ยอม กฎหมายก็บอกอยู่ว่าต้องอยู่ห่างจากหมู่บ้าน ชุมชนกี่กิโลเมตร ถ้าจำไม่ผิด 15 กิโลฯ เพราะว่ามันอันตราย ที่จริงถ้าชาวบ้านไม่ยินยอมหรือโวยวายคุณก็ตั้งไม่ได้…แต่ผมว่าเขาอาจผูกขาดเป็นของเอกชนแบบครบวงจร—เขี่ยได้มาปุ๊ปต้องขายให้เขาเลย”ลุงเบี้ยว ผู้เคยไปรับจ้างทำงานให้เทศบาลฯเล่า

“ไปโคกบ่ ?”

“พวกนี้มันขึ้นไปตั้งแต่เมื่อคืน ข้อยบ่ไปเขี่ยยามกลางคืนเด้ ย่านผี” พ่อใหญ่หลอพูดพลางชี้ให้ดูคนหนุ่มทั้งหลายทยอยเดินลงจากภูเขาขยะหรือ ‘โคก’คำติดปากของชาวบ้านคำบอนน้อย

เช้านี้ชายชราจะเดินแบกอุปกรณ์ทำมาหากิน ทั้งคราดสองซี่และเข่ง แกเดินยิ้มแฉ่งไปโคกก่อนคนอื่น ชุดของแกไม่ต่างจากชาวไร่ชาวนาผู้กรำงานกลางแจ้งที่ต้องปกป้องร่างกายจากความร้อนระอุ แกใส่ผ้าคลุมหน้า สวมหมวก เสื้อแขนยาว กางแกงขายาว และรองเท้าบู้ต

“ไปโคกบ่ ไปโคกบ่ ?”แกร้องถามทุกครั้งที่เดินผ่านเพื่อนบ้าน

บรรยากาศและกลิ่นยามเช้าตรู่บนภูเขาขยะยังเหมือนเดิม สิ่งที่เพิ่มมาชั่วคราวคือ สายลมพัดเอื่อยและอากาศเย็นสบายจนเผลออยากสูดหายใจเข้าลึกๆ ไม่กี่ชั่วโมงต่อมา เมื่อพระอาทิตย์เริ่มหมดความอดทน อุณหภูมิก็สูงขึ้น ตอนนี้นักล่าขยะทั้งหลายทยอยขึ้นมาคุ้ยเขี่ยหาขยะไปแยกขาย อาทิ กระป๋อง ขวดแก้ว ขวดน้ำพลาสติก ถุงพลาสติก ฯลฯ ซึ่งรถขยะสีสดหลายสิบคันตระเวนเก็บจากทั่วจังหวัดขอนแก่น ก่อนนำมาเทกองไว้ให้เจ้าหน้าที่จากเทศบาลฯขับรถแบ็คโฮ บด เกลี่ย โกยขึ้นไป

ปี้น ปี้น ปี้นนนนน…

เสียงแตรรถสิบล้อแว่วมาจากถนนด้านล่าง นักล่าขยะต่างหันมองหาต้นเสียง เมื่อเห็นว่าเป็นรถบรรทุกเหล็ก ทุกคนตื่นเต้นดีใจและรีบวางมือจากงานที่ทำอยู่ พวกเขามายืนออรอต้อนรับเศษเหล็กกองใหญ่จากโรงงาน ครู่เดียวรถก็มาจอดเปิดท้ายเทเศษเหล็กลงบนกองขยะ พวกเขาวิ่งเข้าไปยื้อแย่งเขี่ยคุ้ยผงดินสีดำจนฝุ่นฟุ้ง พ่อใหญ่หลอยืนนิ่ง มอง แล้วเดินหนีไปเขี่ยขยะบริเวณอื่นต่อ

“เพิ่นตื่นเต้นเพราะนานๆสิมีรถเหล็กมาจักเทือ ครั้นได้ทองแดง สิขายได้ราคาแพง…ข้อยบ่อยากไปแย่งกับเขา ย่าน เห็นผู้หญิงบ่—มันโก้งโค้งใส่หน้าเฮา เฮาบ่อยากเข้าไป ย่านมันปล่อยลมออกมา ดังแป้ด(หัวเราะ)กลัวอีหลี มันกลิ่นแฮงหลายเด้ ลมออกดาก…บางครั้งก็ถืกเหล็ก ถือแก้วบาดมือ เฮ็ดงานบ่ได้หลายมื้อ มันบ่คุ้มค่าเลยเด้—สิใส่ถุงมือมันก็บ่ถนัด”

หลังเก็บเกี่ยว

“มื้อนี้ได้สามเข่งแล้ว ครั้นขยันเขี่ยก็ได้หลาย ถ้าขี้คร้านก็เข่งเดียว…ทุกวันนี้มีอิสระ บ่ต้องลงทุน แต่ไปเก็บเกี่ยวเอาเรื่อยๆ เมื่อยก็เซา”พ่อใหญ่หลอพูดพลางใช้คราดเขี่ยกองถุงพลาสติกเปียกออก เผยให้เห็นขวดหลายใบ แกก้มเก็บใส่เข่งที่สี่ เตรียมแบกไปเท

“รายได้ไม่แน่นอน แต่ถ้าขั้นต่ำจะได้วันละ 300 ส่วนมากเก็บไว้ขายเป็นสัปดาห์—อยากได้เงินก้อน แต่เงินมันต้องใช้ทุกวัน…ลุงเปี๊ยกแกเป็นนักสะสม สองสามเดือนเอาออกมาขายที แกจะเก็บไว้ตรงใต้ซากรถโน่น(ชี้ให้ดู)จนกองเท่าบ้าน(หัวเราะ) โดนลักหายไปทีละนิดละหน่อย แกไม่รู้ตัวหรอก เดี๋ยวนี้แกหาถุงไปใส่ ไม่กองไว้เฉยๆแล้ว แต่ก็ไม่วายโดนเจาะ” ลุงเบี้ยวเล่าเสริม

ในหมู่บ้านคำบอนมีร้านรับซื้อของเก่ารายย่อยจำนวนสี่ร้าน ทุกวัน แต่ละร้านจะนำรถซาเล้งหรือรถกระบะขึ้นมารับซื้อผลผลิตจากบรรดานักล่าขยะ ป้าหนูเพียร วงศาเทียม หญิงอวบเจ้าของร้านอโศกรับซื้อถุงพลาสติกเล่าว่า

“บางครั้งเขาก็เอาไปขายที่ร้าน ก็รับซื้อรวมๆกิโลกรัมละสามบาท มันสกปรกมากๆเหม็นด้วย มาถึงก็ลงล้างน้ำยาล้างถุงโดยเฉพาะ ใส่คลอรีน โซดาไฟ แล้วเข้าเรื่องสลัด เข้ากรงปั่นให้แห้ง แล้วค่อยคัดแยกตามประเภทของพลาสติก จากนั้นก็อัดเป็นก้อนประมาณก้อนละ50-80กิโลกรัม แล้วส่งขายต่อ…ที่จริงราคาขยะก็มีขึ้นมีลงเหมือนสินค้าอื่นๆนั่นแหละ”

ความสุขของคนชอบเขี่ย

“พ้อแล้วมักหลายก็เงินไง ครั้นบ่พ้อเงินพ้อขยะก็ได้ เปลี่ยนเป็นเงินทองได้คือกัน” พ่อใหญ่หลอตอบพร้อมรอยยิ้มเอกลักษณ์

นอกจากการทำมาหากินเพื่อเลี้ยงปากท้อง การพักผ่อนด้วยกิจกรรมหรืองานอดิเรกที่สนใจ คือยาบำรุงกำลังชั้นดี

“ข้อยหยุดวันอาทิตย์วันเดียว หยุดมื้อเดียวแต่กำลังสิมาหลาย หน้าตานี่แจ่มใส มีราศี บ่เครียด…ข้อยมักมวย วันอาทิตย์มีนัดกันตอนเที่ยงครึ่ง แถวบ้านเฮานี่ละ เขาเปิดมวยในทีวี ช่องเจ็ดสี ช่องเก้า…เบิ่งอยู่บ้านผู้เดียวมันบ่เร้าใจ บ่มันส์ เบิ่งนำกับหมู่มันม่วนหลาย ได้เอาเงินเขา มื้อละสี่ร้อยห้าร้อย เฮาเล่นมวยอย่างเดียว คู่ละร้อยสองร้อย มีได้มีเสียสนุกๆ หวยนี่นานๆจักเทือ ครั้นบ่มักเลขก็บ่เล่น—หวยพอแทงผิดเลขก็เครียด แต่มวยมันยังดียังได้ลุ้นได้เชียร์

มักเบิ่งมวยมาตั้งแต่หนุ่มๆแล้ว บ่เคยต่อย แต่ก่อนเคยไปเดินสายตีมวยกับน้า ไปเป็นพี่เลี้ยงเขาคอยบีบนั่นบีบนี่ มันกินม้ากันแรงมันหลาย ตีกันตุ๊บตับๆ” พ่อใหญ่หลอเล่าด้วยสายตาเป็นประกาย พลางทำท่าฮุกหมัดซ้ายขวา

แม้ชายชราจะมีความสุขง่ายๆตามอัตภาพ แต่หากไม่นับรายได้และความคุ้นเคย มนุษย์คนใดเล่าจะมีแต่ความสุขกับสิ่งปฏิกูลทั้งหลายอยู่ตลอดเวลา

“ทุกอย่างก็บ่มักทั้งนั้นแหละ ก็บ่ได้อยากพ้อ—สำหรับข้อยเจอขี้บ่เท่าใด มันล้างออก แต่เจอโกเต๊กมันล้างบ่ออก เวลากินข้าวมันยังติดตา…ที่จริงมันก็มีเชื้อโรค แต่ถ้าเราไปกองขยะแล้วกลับมาอาบน้ำให้สะอาด มันก็ปลอดภัย ข้อยแข็งแรง บ่เจ็บบ่ไข้ หากินมานาน ครั้นสิเป็นมันเป็นไปนานแล้ว”

“ผมเป็นพนักงานสาธารณสุขอยู่ที่นี่มาหกปีแล้ว ประมาณสามสี่ปีที่แล้ว เคยลงพื้นที่ไปควบคุมโรค ช่วงนั้นไข้เลือดออกระบาดที่หมู่บ้านคำบอน มีผู้เสียชีวิต 1 คน…ช่วงนี้ทางบ้านน้อยเงียบๆไป ผู้ป่วยเป็นโรค Diarrhea(ท้องร่วง)ก็ไม่ค่อยมี ผมเองก็แปลกใจไม่ค่อยเห็นชาวบ้านมาหาหมอ” พี่ปืน หรือนายบุญมั่น ฮอกระวัด แห่งโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลโนนท่อนเล่า

……………………………………………………………………..

สถานที่กําจัดขยะมูลฝอยแบบเทกอง(Open Dump)ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างกองขยะกับวิถีชีวิตคนในชุมชน ‘บ้านคำบอนน้อย’กลายเป็นหนึ่งเดียว และแนบแน่นจนแยกยาก เพราะเมื่อพวกเขามองเห็นความงามของสิ่งไม่น่าอภิรมย์ทั้งหลาย กองขยะอันเคยเป็นสถานที่รวบรวมสิ่งซึ่งไม่มีใครต้องการ ที่ก็กลายเป็นแหล่งทำมาหากิน อันนำไปสู่อาชีพและรายได้ ดังคำกล่าวของพ่อใหญ่หลอ

“มักที่มีเฮือนอยู่หม่องนี้ มันหากินง่าย อยู่ซื่อๆมันรำคาญ บ่ขึ้นไปก็บ่มีอิหยังกิน ไปหาเซ็นเขาก็บ่ให้เซ็นกิน อยู่ซื่อๆบ่มีอิหยังเฮ็ดกว่าสิมืดค่ำนี่มันรำคาญนะ…เฮาก็สู้ไปเรื่อยๆจนกว่าสิเหมิดกำลัง จนกว่าสิเข้าโลงนั่นละ”

พ่อใหญ่หลอและชาวบ้านอาจไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่า พวกเขาเหล่านี้เป็นกำลังสำคัญในกระบวนการชุบชีวิตทรัพยากรเพื่อให้ถูกนำไปแปรรูปและเวียนกลับมาใช้ได้อีกครั้ง การสร้างมูลค่าจากสิ่งไร้คุณค่า หรืออาชีพที่พวกเขาคิดว่าเป็นการเก็บเกี่ยวโดยไม่ต้องหว่านนั้น นอกจากรายได้เลี้ยงปากท้องของตัวเอง ยังช่วยทำประโยชน์แก่ท้องถิ่นและคนส่วนใหญ่ หากไม่มีพวกเขา ภูดอกฝ้ายบนนาร้อยไร่นี้คงสูงตระหง่านขึ้นไปเร็ววันเร็วคืน

แม้แดดจัดของวันต่อๆไปจะยังคงแผดเผา แต่ชาวนาร้อยไร่แห่งบ้านคำบอนน้อยก็ยังคงตั้งหน้าตั้งตาเก็บเกี่ยวผลผลิตอันไม่รู้จักหมดสิ้นต่อไป

________________________________________________________________

แหล่งอ้างอิง
กรมควบคุมมลพิษกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม.(2558).ข้อมูลการสำรวจขยะมูลฝอย(First Draft) 77
จังหวัด ปี 2557.วันที่ค้นข้อมูล 1 กรกฎาคม 2558,เข้าถึงได้จากhttp://www.pcd.go.th/info_serv/roadmapWaste.html
กรมควบคุมมลพิษกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม.(2558).(ร่าง)รายงานสถานการณ์มลพิษของประเทศไทย ปี 2557.
วันที่ค้นข้อมูล 1 กรกฎาคม 2558,เข้าถึงได้จากhttp://www.pcd.go.th/info_serv/recent.cfm
ไทยรัฐออนไลน์.(2558).ตะลึง! กองขยะตกค้าง 8 แสนตันในขอนแก่น.วันที่ค้นข้อมูล 1 กรกฎาคม 2558,เข้าถึงได้จาก
http://www.thairath.co.th/content/418138
ศูนย์ข้อมูลข่าวสาร เทศบาลนครขอนแก่น.(2555).โครงการบริหารจัดการและกำจัดขยะมูลฝอย เทศบาลนครขอนแก่น.วันที่ค้น
ข้อมูล 1 กรกฎาคม 2558,เข้าถึงได้จาก http://reo10.mnre.go.th/ewt_dl_link.php?nid=517

สัมภาษณ์(ขอขอบคุณ)

  • คุณชาญชนะ ชนะสิมา.2558.ให้สัมภาษณ์ 17 มิถุนายน.
  • คุณบุญมั่น ฮอกระวัด.2558.ให้สัมภาษณ์ 17 มิถุนายน.
  • คุณบุญสี ศรีจันทึก.2558.ให้สัมภาษณ์ 16 มิถุนายน.
  • คุณประมวล พรหมเสนา.2558.ให้สัมภาษณ์ 16 มิถุนายน.
  • คุณพงษ์ศักดิ์ สุนารัตน์.2558.ให้สัมภาษณ์ 17 มิถุนายน.
  • คุณมานพ เมืองอินทร์.2558.ให้สัมภาษณ์ 16 มิถุนายน.
  • คุณสมบูรณ์ พิเศษสุด.2558.ให้สัมภาษณ์ 16 มิถุนายน.
  • คุณสุภีรา มูลชา.2558.ให้สัมภาษณ์ 16 มิถุนายน.
  • คุณหนูเพียร วงศาเทียม.2558.ให้สัมภาษณ์ 17 มิถุนายน.
  • คุณอรุณี เจริญศรีธงไชย.2558.ให้สัมภาษณ์ 16 มิถุนายน.
  • และชาวหมู่บ้านคำบอนทุกท่าน