100th Puey birthday – ๑๐๐ ปีชาตกาล ป๋วย อึ๊งภากรณ์
ในวาระ ๑๐๐ ปีชาตกาลของบุคคลสำคัญอย่างอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นปรกติที่ สารคดี จะชวนผู้อ่านเรียนรู้ผ่านเรื่องราวแนวชีวประวัติบุคคล
แต่ครั้งนี้นอกจากจะนำเสนอสารคดีแบบสั้นกระชับใน “๙ เหตุการณ์สำคัญในชีวิตป๋วย” แล้ว เรายังชวนผู้อ่านร่วม “วิพากษ์ป๋วย” โดยการทบทวนบทบาทของท่านในแง่มุมต่าง ๆ ในช่วงที่ท่านยังมีชีวิต ดังเช่นคำกล่าวหาที่ว่า ป๋วยรับใช้เผด็จการ
หรือมีอะไรที่ป๋วยทำแล้วล้มเหลว รวมไปถึงเรื่องราวของป๋วยในมุมที่คนไม่ค่อยเห็นใน “ลึกและลับของป๋วย” “ใคร ๆ ก็อ้างป๋วย” และ “ของขวัญจากป๋วย” ซึ่งก็คือมรดกทางความคิดและโครงการหลายอย่างที่ท่านฝากไว้ให้แก่สังคมไทย ปิดท้ายด้วยการสำรวจมุมมองของคนรุ่นนี้ว่าป๋วยยังมีความหมายต่อสังคมไทยอย่างไร
เพราะอาจารย์ป๋วยเป็นมนุษย์ เป็นสามัญชนผู้ยิ่งใหญ่ การเคารพนับถือคงมิใช่เพียงการกราบไหว้ แต่คือการหมั่นตั้งคำถาม หมั่นตีความงานและสิ่งที่ท่านทำไว้ แล้วนำไปต่อยอด
ด้วยหวังว่าจะเป็นการบูชาครูที่ดีที่สุดอย่างหนึ่งที่คนในรุ่นเรากระทำได้ เพื่อให้สังคมอุดมคติที่อาจารย์ป๋วยฝันถึง…อยู่ไม่ห่างไกลไปนัก
ถนนกีบหมู : ละครชีวิตแรงงานอิสระ
ถนนกีบหมู
เคยได้ยินชื่อถนนสายนี้ไหม ?
ถนนชื่อแปลก ๆ ในถิ่นคนมุสลิมย่านคลองสามวา แต่ชื่อเสียงที่กล่าวขานมาจากการที่ถนนสายนี้คือ ตลาดนัดแรงงานแหล่งใหญ่ของเมืองหลวง
ใครต้องการคนงานหรือใครต้องการขายแรงงานก็มาเจอกันที่ถนนสายนี้ ตกลงต่อรองราคากันได้เหมือนสินค้าอื่นทั่วไป
ความอยากรู้ให้ลึกและอยากบันทึกสีสันความเคลื่อนไหวบนถนนสายนี้เอาไว้ วรรณิดา อาทิตยพงศ์ กับ จุฑารัตน์ ภิญโญดุลยเจต พากันไปใช้เวลาในพื้นที่และเก็บเรื่องราวมาเล่าต่อ
เป็นบทบันทึกแง่มุมหนึ่งของสังคมเมืองแห่งยุคสมัย โดยนักสารคดีมือใหม่จากค่ายสารคดี–ค่ายสร้างคนบันทึกสังคม
“บ้านห้วยต้า” ชุมชนเหนือน้ำที่ต้องจดจำ
ครั้งแรก ! ที่รายการ “เนวิเกเตอร์” จับมือกับนิตยสารสารคดี
เดินทางสู่ “บ้านห้วยต้า” ชุมชนขนาดเล็กเหนือเขื่อนใหญ่ในอำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์
เพื่อร่วมกันบันทึกเรื่องราวเชิงอนุรักษ์และความเป็นไปของชุมชนที่ก่อร่างภาพชีวิต
พวกเขาผ่านทุกข์-สุข ดูแลตนเองมาอย่างไรเกือบครึ่งศตวรรษ นับแต่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนใหญ่ เมื่อครั้งมวลน้ำมหาศาลท่วมทับถิ่นฐานเดิม ให้จำต้องอพยพหนีขึ้นไปตั้งรกรากใหม่บนภูเขา แม้จะเป็น “พื้นที่ปิด” ในวงล้อมของทิวเขาและผืนน้ำ ไม่มีถนนหลวง ไม่มีรถไฟ หนทางเดียวที่จะเข้าถึงคือเรือเท่านั้น
ชาวชุมชนอาสาพาพวกเราไปสัมผัสวิถีวัฒนธรรมท้องถิ่นและทรัพยากรธรรมชาติอันอุดม
นี่คือหมู่บ้านที่ผู้มาเยือน “ต้องจดจำ” หลังจากใช้ความมุ่งมั่นกว่าจะไปถึง