ผลงานจากค่ายสารคดี ครั้งที่ 11 งานภาพดีเด่น
นักเขียน : สุภาวดี เจ๊ะหมวก
ช่างภาพ : ศุภสิน พูนธนาทรัพย์

ไอซ์ : ผมมองไม่เห็น  และ (กำลัง) จะเป็น “ครู”

ถ้าคุณมีความบกพร่องในชีวิต เกิดมาผิดแผก แตกต่างจากคนอื่น คุณลืมตา…แล้วก็พบว่าโลกใบนี้ไม่มีสิ่งอื่นใด นอกจากความมืดที่แผ่คลุมทุกสรรพสิ่ง แต่ทันทีที่ได้ยินเสียงจากตรงไหนสักแห่ง มันทำให้คุณรู้สึกปลอดภัยและไม่โดดเดี่ยว คุณพยายามไขว่คว้าหาเจ้าของเสียง บางครั้งคุณรู้สึกว่ามันดังอยู่ใกล้ ๆ บางครั้งเหมือนจะอยู่ไกลออกไป จนคุณสงสัย…ความมืดนั้นมีเสียงและเคลื่อนไหวได้ด้วยหรือ

เมื่อโตขึ้น คุณเรียนรู้จากการได้ยิน สัมผัส และดมกลิ่น แล้วคุณก็ทราบจากคนอื่นว่า คุณสูญเสียบางอย่าง…บางอย่างที่เรียกว่า “การมองเห็น” แต่คุณยังไม่รู้จักว่าการมองเห็นนั้นเป็นเช่นไร คุณจะเสียดายบางอย่างที่คนอื่นบอกว่าคุณไม่มีไหม ? ถ้าคุณไม่เห็นหน้าแม่ แต่คุณรู้จัก คุณจะรักเขาน้อยลงไหม ?

คำถามทั้งหมดเกิดขึ้น เมื่อฉันได้รู้จักกับ “เขา” ในฐานะที่เราเรียนอยู่คณะเดียวกัน

เขาเข้าเรียนที่นั่นก่อนฉันหนึ่งปี เพราะฉะนั้น ฉันจึงเรียกเขาว่า “พี่ไอซ์”

มีคนกล่าวว่า “ดวงตาเป็นหน้าต่างของหัวใจ” หากคำพูดนั้นเป็นจริง คนที่มองไม่เห็น หรือมีดวงตาไว้เพียงประดับบนใบหน้า ไม่อาจทำประโยชน์อื่นใดได้ ในสายตาของคนทั่วไปก็คงไม่แคล้ว ต้องกลายเป็นคนที่ยากจะเข้าถึงตัวตนและความรู้สึกภายในของพวกเขาได้เลย

ตรงกันข้าม, หากว่าหัวใจดวงนั้นไร้หน้าต่าง ลองหาบานประตูดูไหม บางทีอาจเห็นอะไรชัดกว่า เพียงคุณผลักแล้วลองเดินเข้าไป ไม่แน่…อาจจะพบอะไรดี ๆ เหมือนที่ฉันเจอ

เขา…มองไม่เห็น

ตอนเป็นเด็ก เรามักฝันกันไว้หลายอย่าง เป็นอย่างคนนั้นน่าจะดี เป็นแบบคนนี้น่าจะเท่ เวลาที่ฉันเห็นพยาบาลใส่ชุดขาวราวกับนางฟ้า ทำให้คิดไปว่า “อยากเป็นพยาบาล” ต่อมาเมื่อเห็นตำรวจติดยศประดับดาว พกปืนแล้วดูโก้ ฉันจะคุยโม้ว่าอยากเป็นตำรวจหญิงวิ่งจับผู้ร้าย เหตุที่ทำให้ฉันอยากเป็น เพราะฉัน “เห็น” แล้วรู้สึกว่ามัน “ดูดี” แต่สำหรับ “เขา” ที่ไม่ “เห็น” อาชีพในฝันเหล่านั้น “เขาฝันอยากเป็นอะไร ?” นั่นคือคำถามแรกที่ฉันเปิดบทสนทนา

เขาครุ่นคิดครู่หนึ่งแล้วตอบว่า “ตอนเด็ก ๆ ขึ้นรถเมล์บ่อย ก็เลยอยากเป็นกระเป๋ารถเมล์ ชอบที่ได้ฉีกตั๋ว เสียงดังแควก แล้วก็ชอบเสียงเหรียญกระทบกันดังแก๊ก ๆ ฟังดูน่าสนุกดี” พูดเสร็จเขาก็หัวเราะ

“เขา” ในการรับรู้ของฉัน เป็นหนึ่งในผู้ที่บกพร่องทางการมองเห็น แต่มีความรู้ความสามารถเทียบเท่าคนปกติ ในทางการแพทย์ “คนที่บกพร่องทางการมองเห็น” จะหมายถึง ผู้ที่มองไม่เห็น หรือ พอเห็นแสง เห็นเลือนราง และมีความบกพร่องทางสายตาทั้งสองข้าง โดยมีความสามารถในการมองเห็นหลังจากที่ได้รับการรักษาและแก้ไขทางการแพทย์แล้วได้ไม่ถึง 1ใน 10 ของคนปกติ ความบกพร่องชนิดนี้ยังแบ่งย่อยได้อีก 2 ประเภท คือ ตาบอดสนิท และตาบอดไม่สนิทหรือบอดเพียงบางส่วน

“ความอยากเป็นครู” จึงไม่ได้เกิดจากการมองเห็น แต่เป็นการรับรู้และเข้าใจ ไม่แปลกที่ฉันกับเขา แม้เราจะมีความสามารถในการรับรู้กันคนละอย่าง แต่กลับมีความฝันอยากเป็นครูเหมือนกัน เขาเล่าให้ฉันฟังว่ามันเริ่มต้นขึ้นเมื่อตอน ม.3

“เคยมีเพื่อนในห้องสูบบุหรี่ ถ้าเป็นครูคนอื่นเขาคงจะบอกหัวหน้าระดับไปแล้ว แต่ครูคนนี้เขาเลือกทำโทษเอง เพราะถ้าไปบอกหัวหน้าระดับ จะกลายเป็นเรื่องใหญ่ขึ้นมาทันที ยิ่งช่วงนั้นเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ เด็กอาจจะโดนพักการเรียน จนไม่กลับมาเรียนเลยก็ได้” เหตุการณ์ดังกล่าวได้กลายมาเป็นจุดเริ่มที่เขาเลือกมาเรียน “ครู”

พี่ไอซ์เริ่มสอนครั้งแรกให้กับเพื่อนร่วมชั้นที่มองไม่เห็นเหมือนกัน “ถ้าเขาไม่รู้อะไร เราก็จะคอยบอกคอยสอน บางทีเป็นการบ้าน บางทีก็เป็นเรื่องทั่ว ๆ ไป” แล้วก็ขยับมาสอนเด็กปกติ ซึ่งเป็นหลานของตัวเอง เมื่อมาเรียนในมหาวิทยาลัย เขามีโอกาสได้เข้าร่วมจัดค่ายสำหรับแนะแนวน้องมัธยม ทำให้มีรุ่นน้องบางคนสนใจขอให้ช่วยสอนวิชาภาษาอังกฤษที่เขาถนัดให้บ้างเป็นบางครั้ง และติวข้อสอบเพื่อสอบเข้าเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัย

การสอนที่ผ่านมามอบความสุขให้เขาเสมอ “เวลาเราอธิบายอะไรแล้วคนอื่นเข้าใจ จะมีความสุขมาก ก็เลยอยากเป็นครู” น้ำเสียงของพี่ไอซ์แฝงความประทับใจ

ช่วงเข้ามหาวิทยาลัยใหม่ ๆ เป็นช่วงที่พี่ไอซ์รู้สึกว่ามีปัญหามากที่สุด “ตอนนั้นยังไม่รู้จักใคร ก็เลยไม่มีใครคอยช่วยเหลือ ไม่มีคนคอยดูเรื่องอักษรเบรลล์ เวลาจะไปไหน จะทำอะไรก็ดูยากดูลำบากไปเกือบทุกเรื่อง” แม้จะดูเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่เขาย้ำว่าจำได้ไม่เคยลืม

ก่อนเข้ามหาวิทยาลัย พี่ไอซ์เคยเป็นนักเรียนในโรงเรียนซึ่งมีการจัดการเรียนร่วมระหว่างเด็กปกติและเด็กที่บกพร่อง ที่นั่นครูและเพื่อนจะเข้าใจ รอเรียนไปพร้อม ๆ กัน แต่เมื่อเรียนมหาวิทยาลัยที่ส่วนใหญ่เป็นเด็กปกติ ทำให้ต้องปรับตัว “บางอย่างที่ไม่ทันเพื่อนจริง ๆ ก็ต้องปล่อยบ้าง ได้แค่ไหน เอาแค่นั้น มันคงไม่สมบูรณ์หรอก แต่ดีกว่าไม่มีอะไรเลย” เขาพูดปลอบใจตัวเอง ถึงแม้บางอย่างจะปล่อยผ่าน แต่ก็ถือเป็นส่วนน้อย เพราะส่วนใหญ่เขาจะขอหนังสือและไฟล์จากเพื่อนหรือไม่ก็อาจารย์ แล้วนำไปแสกนลงเครื่องคอมพิวเตอร์ จากนั้นก็ใช้โปรแกรม ABBYY Fine Reader เพื่อเปลี่ยนไฟล์ภาพที่เป็นข้อความให้กลายเป็นไฟล์เสียง

ปีสุดท้ายของการเรียนมหาวิทยาลัย “พี่ไอซ์” หรือ นายดำเกิง มุ่งธัญญา นิสิตครุศาสตร์ ชั้นปีที่ 5 เลือกมาฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูในเทอมต้นที่โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม ซึ่งเป็นหนึ่งในโรงเรียนที่ขึ้นชื่อเรื่องความเข้มงวดและกวดขันสำหรับการฝึกสอน แต่เขาก็ไม่ได้รู้สึกกดดันหรือกลัวว่าภาระงานจะหนักแต่อย่างใด และเขาก็มั่นใจว่ามันจะผ่านไปได้ด้วยดี

ไอซ์ : ผมมองไม่เห็น  และ (กำลัง) จะเป็น “ครู”

เขา…กำลังจะเป็นครู

“เขา” กำลังจะกลายเป็น “ครูไอซ์” หรือที่เด็กนักเรียนสาธิตจุฬา ฯ เรียกกันติดปากว่า “อาจารย์ดำเกิง” วันนี้ฐานะของเขาอาจจะยังไม่ใช่ครูจริง ๆ หากแต่เป็นนิสิตฝึกสอนในชั้นปีสุดท้าย และอีกไม่กี่ปีข้างหน้า คงจะได้เห็นครูดำเกิง มุ่งธัญญา มาพร้อมกับอาวุธประจำกายที่ไม่ใช่ “ไม้เรียว” หากแต่เป็น “ไม้เท้าขาว” ที่จะใช้นำทางครูคนนี้ไปหาบรรดาเด็กนักเรียน

บนถนนพญาไท ทางที่ตรงไปอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ หากเลี้ยวซ้ายเข้ามาในถนนที่ตัดผ่านระหว่างคณะครุศาสตร์และนิติศาสตร์ ด้านซ้ายมือจะเป็นที่ตั้งของโรงเรียนสาธิตจุฬา ฯ ฝ่ายมัธยม โรงเรียนตั้งอยู่ในพื้นที่ของมหาวิทยาลัย สังกัดคณะครุศาสตร์ ก่อตั้งขึ้นโดยมีจุดมุ่งหมายหลักเพื่อใช้เป็นโรงเรียนสำหรับฝึกหัดครูขั้นปริญญา นิสิตครูชั้นปีที่ 5 หลายคนจะถูกส่งตัวมาฝึกสอนที่นี่ในปีสุดท้ายก่อนจบ

ฉันผ่านรั้วประตูเหล็กเข้ามาในโรงเรียนเล็ก ๆ ใจกลางเมือง พื้นที่ภายในได้ถูกแบ่งสันปันส่วนอย่างลงตัว ทั้งตึกเรียนและสนามกีฬากลางแจ้ง หมดพักเที่ยงเสียงนักเรียนดังแข่งกับเสียงนักการที่คงกำลังล้างจานอยู่ วันนี้ฉันมารอดูครูไอซ์ที่จะสอนในตอนบ่าย

เวลาบ่ายโมงห้าสิบนาทีเป็นเวลาเริ่มเรียนวิชาภาษาอังกฤษของห้อง ม.1/3 ฉันแฝงตัวในหมู่นักเรียนแอบอยู่หลังห้อง นอกนั้นมีอาจารย์วิไลพรรณ สุคนธทรัพย์และอาจารย์ณัฐมน ศรีสุข อาจารย์นิเทศก์ที่มีหน้าที่ประเมินผลการฝึกสอนเป็นประจำทุกคาบร่วมด้วย

เสียงไม้เท้าขาวดังกระทบพื้นเป็นสัญญาณให้นักเรียนรู้ว่าครูกำลังมา “อาจารย์ดำเกิงมาแล้ว ๆ ” เด็กชายคนหนึ่งตะโกนเสียงดังไปทั่วห้อง นักเรียนคนอื่น ๆ ต่างสนใจมองและกล่าวทักทาย

ภายในห้องสี่เหลี่ยมมีนักเรียนประมาณยี่สิบกว่าคน โต๊ะเก้าอี้ส่วนใหญ่มีเด็กนั่ง เหลือเพียงไม่กี่ตัวตัวที่เว้นว่าง ครูไอซ์กำลังติดตั้งอุปกรณ์และเครื่องเสียงที่จะใช้สอน เด็กบางคนเดินไปเดินมา บางคนตะโกนเรียกเพื่อนที่กำลังเดินผ่านห้อง

เป็นธรรมดาของเด็กวัยนี้ที่มักสนใจสิ่งรอบตัว สมาธิไม่นิ่ง ยิ่งเป็นเรื่องการเรียน ยิ่งยากที่จะทำให้พวกเขาหันมาสนใจ ประจวบกับการต่อเครื่องไม้เครื่องมือของครูที่ยังขลุกขลัก กว่าจะเริ่มการเรียนการสอนได้ จึงเสียเวลาไปกว่า 15 นาที แต่ครูไอซ์บอกฉันไว้ก่อนหน้าว่าเขาเห็นน้ำใจของเด็กในเวลานี้นี่แหละ “นักเรียน พอเห็นเราดูเงอะ ๆ งะ ๆทำอะไรไม่ถูก เขาก็จะมาช่วย ช่วยต่อคอมฯ ต่อไมโครโฟน เวลาเลิกเรียน เขาก็มาช่วยถือของ ถ้าหาของอะไรไม่เจอ เขาก็อาสาช่วยหาให้ เราเห็นความมีน่ารัก ความมีน้ำใจตอนเวลาติดขัดนั่นแหละ” เขาเล่าอย่างอารมณ์ดี

ครูไอซ์เริ่มต้นคาบด้วยประโยคทักทายอย่างง่าย “Good afternoon, students” เด็ก ๆ ตอบอย่างพร้อมเพรียง ตามด้วยประโยคสนทนาอีก 2-3 ประโยค รูปแบบบทสนทนาที่น่าจะคล้ายกันเกือบทุกโรงเรียน ยิ่งได้ฟัง ยิ่งทำให้ฉันรู้สึกเหมือนได้กลับไปเป็นนักเรียนอีกครั้ง

“Are you ready to listen?” ครูกล่าวนำเข้าสู่บทเรียน ภาพจากคอมพิวเตอร์ได้ปรากฏอยู่บนจอโทรทัศน์เครื่องใหญ่ติดผนังตรงกลางห้อง เขาใช้เครื่องมือเหมือนคนปกติทั่วไป พร้อมกับอธิบายเนื้อหาในหนึ่งหน้าไสลด์อย่างแคล่วคล่อง ตัวช่วยที่ทำให้ครูอธิบายอย่างราบรื่นน่าจะเป็นสิ่งที่อยู่ในมือ เขากำลังสัมผัส “มัน” พร้อมกับขยับปาก กระดาษแผ่นนั้นบันทึกเป็นอักษรเบรลล์สั้น ๆ ไว้กันลืม

ความบกพร่องทำให้เขาเป็นจุดสนใจของทุกคน ขณะเดียวกันก็อาจเป็นช่องว่างให้นักเรียนบางคนแสดงพฤติกรรมอันไม่พึงประสงค์ออกมาตามประสาของเด็กวัยกำลังซน เด็กหญิงคนหนึ่งฟุบหลับ อีกคนหยิบโทรศัพท์มากดเล่น เด็กชายที่นั่งแถวหลังหยิบแบบฝึกหัดวิชาอื่นขึ้นมาทำ ครูหนุ่มรู้ว่าต้องเกิดปัญหาแบบนี้ เขาแก้ไขโดยแกล้งเรียกชื่อนักเรียนแถวหลังให้ลุกตอบ แต่ส่วนใหญ่จะให้ทำกิจกรรมกลุ่ม เพื่อให้เด็ก ๆ ทุกคนในห้องได้มีส่วนร่วม

ครูไอซ์เลือกใช้วิธีการเสริมแรงทางบวก เช่น ให้คำชม ให้ขนมเป็นรางวัล และเลี่ยงวิธีการเสริมแรงทางลบ อย่างการตำหนิ หรือทำโทษ ในกระเป๋าเสื้อของครูจึงเต็มไปด้วยลูกอมหลากสีหลากรส และในเป้ใบโตก็ยังมีขนมห่อใหญ่ เอาไว้สำหรับเด็กที่ตั้งใจเรียน

คาบนี้ครูไอซ์สอนโดยการบรรยายแล้วให้เล่นเกม เป็นเกมบันไดงู ตัวกระดานทำจากกระดาษขนาดใหญ่พิเศษ ตารางแต่ละช่องระบุคำถามเป็นภาษาอังกฤษ พร้อมด้วยลูกเต๋ายักษ์สีชมพู ครูหนุ่มกำหนดกติกา นักเรียนแต่ละกลุ่มส่งตัวแทนมาทอยลูกเต๋า ได้แต้มเท่าไหร่ให้ตอบคำถามที่อยู่ในช่องนั้น ตอบถูกอาจได้อยู่หรือเดินหน้าขึ้นอยู่กับคำสั่ง ตอบผิดต้องถอยกลับไปที่เดิม

เด็ก ๆ สนุกกับการเล่นเกม พวกเขาชอบที่ได้ลุกเดินไปมามากกว่านั่งติดเก้าอี้ตลอดคาบ และมันก็ทำให้เหล่านักเรียนเผลอสนุกจนส่งเสียงดังเกินไป ครูไอซ์ดุด้วยวิธีหยุดนิ่งและเงียบ นักเรียนทุกคนเมื่อรับรู้ถึงความไม่พอใจ จะเริ่มกลับมาสนใจครู “ครูเคยบอกแล้วว่า ถ้าเสียงดังก็จะเลิกเล่นแล้วเรียนต่อ” ครูพูดหลังเสียงเงียบ เด็ก ๆ ทำหน้างอ เพราะความเสียดาย เขาเองก็คงรู้สึกไม่ดีหากกลายเป็นคนทำลายความสุขของเด็ก ๆ ก่อนเล่นอีกครั้ง เขาจึงให้นักเรียนรับปากว่าจะไม่ส่งเสียงดังจนกระทั่งหมดเวลา

บททดสอบ…ก่อนเป็น คน…สอนคน

หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ไม่ได้เรียนครู แต่อยากทำอาชีพครู อย่างหนึ่งที่ต้องรู้จัก คือ แผนการเรียนการสอน ซึ่งแผนการสอนถือเป็นเครื่องมือสำคัญ คอยกำหนดแนวทางหรือกรอบการสอนของครู คล้าย ๆ กับเรือที่ต้องมีหางเสือบังคับทิศทาง และโจทย์ที่ท้าทายสำหรับครูยุคนี้ คือ การคิดและออกแบบกิจกรรมซึ่งเป็นขั้นตอนสำคัญที่จะกระตุ้นผู้เรียนให้เกิดการเรียนรู้และเป็นส่วนหนึ่งของการเขียนแผนด้วย

ครูไอซ์หยิบแผนการเรียนการสอนที่มีเนื้อความเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมดมาให้ดู “เรื่องเขียนแผน ไม่ค่อยมีปัญหา แต่จะคิดกิจกรรมไม่ค่อยออก เพราะส่วนใหญ่เราจะเจอครูที่สอนให้ท่อง ให้จำ ไม่ก็เปิดหนังสือแล้วสอน มันทำให้เราคิดกิจกรรมไม่ออก เพราะตอนเรียนไม่ค่อยได้ทำกิจกรรม แต่โชคดีครูพี่เลี้ยงเขาจะช่วยคิดกิจกรรมให้และใส่ใจตลอด ถ้าออกแบบกิจกรรมดี แทบไม่ต้องเอาแผนกลับไปแก้ใหม่เลย” ฉันรู้ดีว่าเขาไม่ได้คุยโม้แต่อย่างใด เพราะอาจารย์วิไลพรรณ สุคนธทรัพย์ ที่คอยดูแลเรื่องการฝึกสอนก็ได้กล่าวชื่มชมว่า “สำหรับครูไอซ์ ปัญหาเรื่องการเขียนแผนไม่ได้หรือเขียนไม่เป็นนั้นไม่มี จะมีก็แต่เรื่องการตั้งค่าหน้ากระดาษ การจัดวางหัวข้อและเนื้อหา และขั้นตอนการคิดกิจกรรม”

ในอดีตสังคมไทยยึดตำรามากกว่าผู้เรียน เกือบทุกสถานศึกษาจึงพบปัญหาว่ามีครูบางคนสอนนักเรียนโดยให้ท่องตามหนังสือ หรือให้จำเนื้อหาเป็นสิบหน้ากระดาษ แต่เมื่อมีการเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนโดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ บทบาทและหน้าที่ของครูจึงไม่ใช่แค่คนที่สอนตามตำราอีกต่อไป

อีกปัญหาที่ครูส่วนใหญ่พบไม่เว้นแม้แต่ครูไอซ์ คือ ปัญหาเรื่องการคุมชั้นเรียน โดยเฉพาะเมื่อให้นักเรียนเข้ากลุ่มทำกิจกรรม ค่อนข้างจะก่อความวุ่นวาย จนอาจารย์นิเทศก์ที่ร่วมประเมินการฝึกสอนต้องเข้ามาช่วยจัดการ แต่ครูหนุ่มคนนี้พยายามมองว่าไม่ใช่ปัญหา และคิดว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่ครูทุกคนต้องเจอ

สำหรับครูคนนี้ ปัญหาที่แตกต่างไปจากครูคนอื่น คือ การทำสื่อการเรียนการสอน และการใช้สื่อในคาบเรียน “เวลาทำสื่อ จะให้คนที่บ้านช่วย แต่พ่อกับแม่เขาก็ไม่รู้ว่าที่เราต้องการนั้นเป็นสื่อแบบไหน ขนาดเท่าไหร่ แล้วพอเอาสื่อมาใช้ ก็ไม่รู้ว่าจะดำเนินการยังไง เด็กจะต้องยืนตรงไหน นั่งตรงไหน บางทีอาจารย์นิเทศก์เขาก็จะแนะนำให้ลองทำอย่างนั้น อย่างนี้ หลัง ๆ เราก็พอจับทางได้บ้างว่าควรทำอย่างไร”

การฝึกสอนในชั้นปีสุดท้ายไม่ใช่จุดสิ้นสุดของการเรียนครู หากแต่เป็นบททดสอบแรกบนถนน “สายครู” เส้นทางของมันยังทอดยาวไปอีกไกล ต้องอาศัยความมานะและอดทน เหมือนถนนพญาไทที่ฉันเพิ่งผ่านมา พบว่าบางช่วงเวลาจะมีปัญหารถติด กว่ารถแต่ละคันจะขยับได้สักนิด…ต้องใจเย็น ๆ

เป็นครู ไม่สำคัญเท่า…ความเป็นครู

ประโยคที่ว่า “ครู คือ ใคร” เป็นประโยคคำถามที่มีหลากหลายคำตอบ ในความเป็นจริงผู้ที่กล่าวประโยคนี้ อาจไม่ได้มุ่งหวังจะได้คำตอบที่ถูกต้องตายตัว หากแต่ต้องการให้ฉุกคิดและระลึกถึงความสำคัญของ “ครู”

ในทางวิชาการได้ระบุความหมายที่ชัดเจนไว้ว่า ครู คือ บุคลากรวิชาชีพซึ่งทำหน้าที่หลักทางด้านการเรียนการสอนและการส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้เรียนด้วยวิธีการต่างๆ ในสถานศึกษาทั้งของรัฐและเอกชน

นอกจากครูจะมีความหมายที่แน่นอนตายตัวแล้ว ก็มีคำเปรียบเปรยที่ยกย่องพระคุณของครูและทำให้เห็นภาพความเป็นครูชัดขึ้น ที่ฉันมักได้ยินบ่อย ๆ คือการเปรียบครูเป็น “เรือจ้าง” นักเรียนเปรียบคนโดยสาร เรือจ้างลำน้อย ๆ จึงต้องทำทุกวิถีทางเพื่อพาผู้โดยสารไปส่งยังฝั่ง แม้ว่าระหว่างทางจะเจอกับปัญหาใด ๆ อาจจะเป็นพายุ คลื่นลม หรือสัตว์ร้ายในน้ำ ก็ต้องข้ามไปให้ได้

นอกจาก “เรือจ้าง” บ้างก็ว่า ครูเหมือน “แสงเทียน” คอยให้แสงสว่างและนำไปสู่ทางที่ดี บ้างว่า “ครูคือพู่กัน” แต่งแต้มสีสันบนกระดาษขาวบริสุทธิ์ แม้แรกเริ่มจะไร้ค่าไร้ราคา แต่พู่กันดีได้เติมสีที่ดีลงไป และวาดด้วยความใส่ใจ ภาพที่ได้ก็จะเป็นภาพที่สวยงาม มีราคา แต่ถ้าพู่กันไม่ทีคุณภาพและยังไปจุ่มลงในสีที่ไม่ดี ภาพที่ได้คงไร้ราคาและความงดงาม กระดาษแผ่นหนึ่งจะมีคุณค่ามากน้อยเพียงใด ก็ขึ้นอยู่กับพู่กันและสีที่วาดลงไป นักเรียนจะได้ดีมากน้อยเพียงใด จึงขึ้นอยู่กับครู

คำเปรียบเปรยเหล่านั้นได้มีมาช้านาน ในอดีตครูไม่ได้เป็นเพียงแค่ “อาชีพ” แต่มีฐานะเป็นบุคคลที่น่าเคารพและยำเกรงยิ่งกว่าพ่อแม่ แต่ปัจจุบันฐานะและภาพลักษณ์ของครูได้เปลี่ยนแปลงไป “ครู” กลายเป็นเพียงอาชีพหนึ่งที่ดูเหนื่อย ไม่สบาย เงินเดือนน้อยเมื่อเทียบกับภาระและความรับผิดชอบต่ออนาคตของเด็ก จึงมีหลายคนที่เรียนครูแต่กลับไม่ได้ประกอบอาชีพเป็นครูสอนนักเรียน

ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าประเทศต้องการครูจำนวนมากมาทดแทนครูเก่า ๆ ที่กำลังจะเกษียณ การขาดแคลนบุคลากรครูได้กลายเป็นปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งของระบบการศึกษาไทยในโรงเรียน ครูไอซ์บอกกับฉันว่าเขาเข้าใจที่หลายคนเมื่อมาฝึกสอนแล้วรู้สึกว่าการเป็นครูนั้นน่าเบื่อ กฎระเบียบเยอะ และความรับผิดชอบที่มากเสียจนวุ่นวายชีวิตส่วนตัว ซึ่งก็ไม่ผิดหากพวกเขาจะเลือกเบนเข็มตัวเองไปทำอาชีพอย่างอื่น ทั้งที่อุตส่าห์ร่ำเรียนมาเป็นเวลา 5 ปี

ขณะที่ฉันและใครต่อใครอีกหลายคนยังคงตั้งคำถามว่า เมื่อเรียนจบแล้วจะเป็นครูดีไหม “เป็นครูหรือไม่ได้เป็นครูนั้นไม่สำคัญ สำคัญที่ว่าเมื่อเราช่วยคนแล้วรู้สึกอย่างไร อย่างน้อยถ้าไม่ได้เป็นครู แต่รู้สึกดีที่ได้ช่วยคนอื่น ไม่ได้เป็นครู ก็ไม่เห็นจะเป็นอะไร” ประโยคเมื่อครู่ ทำให้ฉันรู้สึกว่าปมบางอย่างที่ผูกอยู่ในใจ…เริ่มคลายลง

ครูไอซ์มองว่า “การเป็นครู” ไม่สำคัญเท่ากับ “ความเป็นครู” คนอื่นที่ไม่ทำอาชีพครูแต่มีความเป็นครู ดูน่ายกย่องกว่า “ครู” ที่ไม่มีความเป็นครู “บางคนที่เขาไม่ได้เป็นครู แต่แสดงพฤติกรรมและการกระทำที่น่านับถือ น่าเอาเป็นแบบอย่าง เราถือว่าเขามีความเป็นครู”

ในชีวิตของครูคนนี้ มีหลายคนที่เขานับว่าเป็นครู พ่อกับแม่ คือ ครูสองคนแรกที่สอนให้รู้จักช่วยเหลือตัวเอง “เขาเลี้ยงเราแบบเด็กปกติทั่วไป พาไปดูหนัง ไปเที่ยวห้าง ไม่เคยทิ้งเอาไว้ที่บ้านหรือมองว่าเราเป็นภาระแต่อย่างใด” ส่วนคนที่มีอาชีพเป็นครูจริง ๆ นั้น เริ่มจากครูที่โรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ “เขาสอนเราหลายอย่าง ทั้งอักษรเบรลล์ วิธีใช้ไม้เท้าขาว และการใช้ชีวิตทั่วไป ถ้าไม่ได้ครูที่นั่น ก็ไม่รู้ว่าตอนนี้จะเป็นอย่างไร”

เมื่อย้ายมาเรียนร่วมกับเด็กปกติที่โรงเรียนเซนต์คาเบรียล ก็ยิ่งทำให้เขายอมรับที่จะอยู่ร่วมกับคนปกติมากขึ้น “ใครก็ตามที่ผ่านเข้ามา แล้วสอนให้เราเข้าใจชีวิตและใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างปกติสุขล้วนคือ ‘ครู’ ” เขากล่าวสรุป

สิ้นการฝึกสอนในภาคการศึกษานี้ ครูไอซ์กำลังได้รับการเสนอชื่อให้เป็นนิสิตฝึกสอนดีเด่น ที่ผ่านมาเขาเองได้รับการเชิดชูจากสถาบันอื่น ๆ มากมาย บางครั้งรางวัลเหล่านั้นกลับยิ่งทำให้เขารู้สึกกดดัน เพราะรับรู้ถึงความคาดหวังจากคนรอบข้าง ตอนนี้เขาจึงบอกเพียงว่า “ขอเป็นครูธรรมดา อยู่เบื้องหลังเด็ก ๆ ไม่ต้องมีรางวัลมาเชิดชูมากกมาย ชื่อเสียงและเกียรติคงไม่มีความหมายถ้าไม่ได้ช่วยใครเลย”

แค่ให้กำลังใจตัวเอง…อาจไม่พอ

คนเราอยู่ได้ด้วยกำลังใจ ครูไอซ์ก็เช่นกัน “แรก ๆ ทุกคนสงสัยว่าเราจะสอนยังไง จะสอนได้จริงเหรอ เด็กจะฟังเรามั้ย บางครั้งมันทำให้กลัวและรู้สึกท้อ” ในวันที่เขารู้สึกแบบนี้ โชคดีที่เขารู้จัก “ถอย” ไม่ใช่ถอยหนี หากแต่ถอยกลับไปที่คณะฯ กลับไปเจอรุ่นน้อง ได้นั่งพูดคุยไต่ถามทุกข์สุข ซึ่งทำให้เขาที่กำลังจะเป็นครูคนนี้ระลึกอยู่เสมอว่า ครั้งหนึ่งเขาเคยผ่านอะไรหลายอย่างในช่วงเวลายาก ๆ มาได้ และมันก็ทำให้เขามีกำลังใจอยากจะผ่านเรื่องร้าย ๆ ของวันนี้ให้ได้เหมือนกับวันนั้น “อาจ
จะฟังดูอุดมการณ์ แต่มันต้องเตือนใจตัวเองอย่างนี้ ไม่อย่างนั้นก็ไม่มีกำลังใจ แล้วบางทีเราให้กำลังใจตัวเองคนเดียวไม่พอ ต้องมีคนมาคอยเสริม คอยกระตุ้นบ้าง มันจะมีมากขึ้น”

นอกจากรุ่นน้อง ยังมีกำลังใจจากเด็ก ๆ โดยเฉพาะนักเรียนห้อง ม.3/5 ซึ่งเขาได้รับหน้าที่เป็นครูประจำชั้นในเทอมนี้ ด.ญ.ณัฐวรา ศิริทองถาวร ได้กล่าวถึงครูของเธอว่า “อาจารย์ดำเกิงเตรียมการสอนมาดี มีกิจกรรมเยอะ ตอนแรกเข้าใจว่าอาจารย์เป็นคนปกติเสียด้วยซ้ำ”

ตอนเย็นครูไอซ์มีหน้าที่อย่างหนึ่งต้องทำก่อนกลับบ้าน คือ การอยู่ดูแลเด็กประจำชั้นทำเวร เวลานั้นจึงเป็นเวลาที่เด็ก ๆ ได้พูดคุยหยอกล้อกับครูคนนี้ เพราะอยู่นอกเหนือเวลาที่ต้องตั้งใจเรียน ด.ช. เกริกกาญจน์ จารุรัตนา หนึ่งในเป็นเวรประจำวันและขณะเดียวกันก็เป็นจอมแสบประจำห้อง ได้เล่าความประทับใจต่อครูคนนี้ว่า “อาจารย์ดำเกิงใจดี สอนสนุก ผมเข้าใจในสิ่งที่เขาพยายามอธิบาย ผมนับถือเขา ถึงแม้อาจารย์จะมองไม่เห็น แต่ก็มาสอนด้วยใจ ผมว่าเขามีกำลังใจดีมาก”

จากที่นักเรียนหลายคนต่างตั้งคำถามว่าครูคนที่ยืนอยู่หน้าห้องตรงนั้น จะสอนพวกเขาได้อย่างไร ในเมื่อมองไม่เห็นอะไรเลย จนกระทั่งวันนี้ ครูไอซ์ทำให้ฉันและเด็ก ๆ เห็นว่าไม่มีอุปสรรคใดจะขวางกั้นความตั้งใจของครูคนนี้ที่จะมอบให้นักเรียนได้ ขณะเดียวกันความบกพร่องของเขาก็ได้รับการเติมเต็ม

เรื่องราวเหล่านี้ได้เกิดขึ้นกับครูไอซ์ในรั้วโรงเรียน แม้แต่เวลาที่เขากำลังเดินอยู่ข้างนอก ก็ยังเจอลูกศิษย์กล่าวทักทายเป็นประจำ “อาจารย์ดำเกิง อาจารย์จะไปไหน” เสียงเล็ก ๆ เหล่านั้นพลันทำให้ “เขา” ที่กำลังจะเป็น “ครู” รู้สึกว่าอาการหัวใจกำลังพองโตไม่ใช่แค่คำคุยโม้ แต่มันเกิดขึ้นได้จริง ๆ

คนเรามักเลือกจะจดจำสิ่งดี ๆ เรื่องราวดี ๆ ไว้เป็นกำลังใจให้ตัวเอง คนทั่วไปมีสิ่งเหล่านั้นเป็น “ภาพจำ” ติดตาติดใจในความทรงจำ แต่สำหรับครูไอซ์ ฉันขอเรียกมันว่า “เสียงจำ” ที่คงดังก้องอยู่ในหัวใจ เช่นตอนนี้ที่เขากำลังเล่าให้ฟังว่าเคยมีเด็กนักเรียนคนหนึ่งถามเขาด้วยความอยากรู้อยากเห็น “อาจารย์ลองมองในกระจกสิค่ะ อาจารย์เห็นหน้าตัวเองรึป่าว” เขาเลียนเสียงเด็กผู้หญิงคนนั้น พร้อมทำท่าทางที่ดูน่ารักไม่หยอก ใบหน้าฉายยิ้มขณะพูด แม้แต่ดวงตาที่ไร้การรับรู้คู่นั้น…ฉันก็เห็นว่ามันกำลังยิ้ม

บุญเรือน มุ่งธัญญา ครูคนแรกของไอซ์

“หลังจากที่หมอนำลูกเราออกจากตู้อบ เขาก็บอกกับเราว่าเส้นประสาทตาลูกของคุณหลุดลอก มีความเสี่ยงมากที่ตาจะบอด ความรู้สึกแรกที่ได้ฟัง รู้สึกเหมือนทุกสิ่งในชีวิตได้พังลงต่อหน้า ชีวิตที่เคยเบิกบานกลับจมดิ่งลงก้นเหวทันที หมอยังบอกอีกว่าคงยากหากจะรักษาให้ตากลับมาปกติ แต่เราเองก็พยายามพาเขาไปเกือบทุกโรงพยาบาลที่ดูแลเกี่ยวกับตา ใครว่าที่ไหนดี พาไปหมดเกือบทุกที่ สุดท้ายทำได้แค่ผ่าตัดให้ความเย็น เพื่อหยุดเลือดที่จะไปเลี้ยงเส้นประสาทตา ชะลอการหลุดลอกให้ช้าลง

“พอไอซ์อายุ 10 เดือน มีหมอแนะนำให้พาเขาไปที่ศูนย์ EI {ศูนย์การศึกษาพิเศษ สำหรับให้บริการช่วยเหลือระยะแรกเริ่มเด็กพิการและครอบครัว (Early Intervention Center) } แต่ก่อนเราไม่เคยรับรู้ถึงการใช้ชีวิตของเด็กกลุ่มนี้ เมื่อไปถึง จึงได้เจอเด็ก ๆ หลายคนที่น่าสงสารกว่าลูกเรามาก บางคนไม่ได้พิการแค่สายตาแต่ยังพิการส่วนอื่น ๆ ของร่างกายด้วย เลยทำให้คิดได้ว่าอย่างน้อย ๆ เรากับลูกยังโชคดีกว่าแม่ลูกคู่อื่น ๆ มาก

“เราพาลูกไปที่ศูนย์แค่อาทิตย์ละครั้ง ที่เหลือก็ฝึกเองที่บ้าน ที่นั่นทำให้รู้ว่าการสอนเด็กที่พิการควรจะสอนอย่างไร หรือต้องปรับตัวเข้าหาด้วยวิธีไหน แล้วก็ได้รู้เพิ่มอีกด้วยว่า จุดเด่นของเด็กที่มีความบกพร่อง คือการใช้งานอวัยวะอื่น ๆ จะดีกว่าคนทั่วไป โดยเฉพาะด้านความจำ เขาจึงเรียนรู้สิ่งต่างโดยเริ่มจากการจำได้ อย่างในบ้าน ก็ต้องกำหนดตำแหน่งที่แน่นอนของสิ่งต่าง ๆ เพื่อให้เขารู้ว่า ตรงนี้ คือ โต๊ะกินข้าว ตรงนั้นห้องน้ำ ส่วนในห้องนอน เราก็ต้องจัดวางของให้เป็นชั้น ๆ เสื้อผ้านักเรียน เสื้อผ้าธรรมดา หรือถุงเท้า ต้องแยกชั้นให้ชัดเจน เพื่อที่ว่าเขาจะได้หยิบจับของและแต่งตัวเองได้

“ตอนไอซ์เด็ก ๆ เราชอบสอนภาษาอังกฤษ อยากให้เขาเก่งภาษา เพราะคิดว่าน่าจะมีประโยชน์ในอนาคต เวลาไปเที่ยวข้างนอก ถ้าไปเจออะไร ก็จะบอกว่าอันนั้นภาษาอังกฤษเรียกแบบนี้ ที่สำคัญจะหมั่นให้เขาฝึกท่องศัพท์บ่อย ๆ แต่ถ้าเป็นวัตถุสิ่งของที่เขาไม่เคยรู้จักมาก่อน จะให้เขาสัมผัส อย่างเวลาสอนคณิตศาสตร์ มีเรื่องสามเหลี่ยมสี่เหลี่ยม ก็ต้องหาวัตถุจริงมาให้เขาลองจับหรือสัมผัส เขาก็จะจำได้

“เราพยายามเลี้ยงเขาแบบเด็กปกติ เสาร์อาทิตย์ ก็มอบหมายหน้าที่ให้เขาทำ คือ ล้างจานและกรอกน้ำใส่ตู้เย็น เขาก็ทำได้เหมือนคนปกติทั่วไป และทำอย่างสม่ำเสมอด้วย

“ในชีวิตของคนเป็นแม่ เราแค่หวังให้ลูกของเราช่วยเหลือตัวเองได้ อยู่ร่วมกับคนอื่นในสังคมได้ ทุกวันนี้เป็นห่วงอย่างเดียว คือ เรื่องการเดินทาง เพราะต้องอาศัยเวลาและความเคยชิน ฉะนั้นจะมีปัญหาถ้าสถานที่แห่งนั้นเป็นที่ใหม่หรือเป็นที่ ๆ เคยไปครั้งแรก”

ขอบคุณ

  • อาจารย์วิไลพรรณ สุคนธทรัพย์ ครูผู้สอนครู
  • คุณแม่บุญเรือน มุ่งธัญญา แม่ผู้ให้ชีวิตแก่ครู
  • นายดำเกิง มุ่งธัญญา ผู้ที่ยังไม่ทอดทิ้งความฝันและเด็ก ๆ
  • เด็กหญิงณัฐวรา ศิริทองถาวร นักเรียนผู้เป็นกำลังใจให้กับครู
  • เด็กชายเกริกกาญจน์ จารุรัตนา นักเรียนผู้เป็นกำลังใจให้กับครู

เอกสารประกอบการเขียน

  • พรบ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๕ และ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๓
  • บทความ “โลกของคนตาบอด” ของ ษาธิยาภรณ์ เอียดทอง, เข้าถึงได้จาก http://istu501.blogspot.com/2014/02/blog-post_551.html