ผลงานจากค่ายสารคดี ครั้งที่ 11 งานเขียนดีเด่น
เรื่อง : ชัชวาล สุวรรณสวัสดิ์
ภาพ : นราธิป เผือกผ่องใส

ความเชื่อระดับพิมพ์เขียว : ตี่จู้เอี๊ยะ

“อย่าเอาเท้าไปเตะโดนท่าน เดี๋ยวบาปจะติดตัว”

“เดี๋ยวท่านจะไม่อวยพรเราหรอก ถ้าโดนท่านบ่อยๆ ”

“โดนอีกแล้วนะ มาให้ตีเดี๋ยวนี้ ! ”

แม่มักจะบอกผมเสมอ เมื่อเวลาผมทำอะไรไม่ดี ไปรบกวน ”ตี่จู้เอี๊ยะ” ภายในบ้าน

โดยปกติผมเป็นเด็กที่แสนดี ไม่ค่อยมีเรื่องให้พ่อแม่ต้องจับมาเฆี่ยนตี แต่การที่ผมเผอิญไปโจมตีท่านตี่จู้เอี๊ยะบางครั้ง (หรือบ่อยครั้งไม่แน่ใจ) มักทำให้ผมกลายเป็นเด็กไม่ดีเสมอๆ ความทรงจำในวัยเด็กของผมถูกบันทึกไว้แบบนั้น

บ้านที่ผมอาศัยอยู่ตั้งแต่เด็ก เป็นบ้านพักตึกแถว ๑ คูหาเล็กๆ มีหน้ากว้างพียง ๔ เมตร พื้นที่ในบ้านไม่ได้มีขนาดใหญ่เพียงพอ ที่จะเป็นสนามเด็กเล่นของผม ในวัยที่กำลังวิ่งพล่าน ซึ่งตอนนั้น ผมมักจะโดนแม่เอาไม้หวายฝากรอยแถบสีแดงนวลๆ ประทับไว้ที่ก้นอยู่บ่อยครั้ง ยามเวลาผมวิ่งเล่นและเท้าเหวี่ยงไปโดนศาลเจ้า “ตี่จู้เอี๊ยะ” หลังน้อยในบ้าน หรือไม่บางทีก็พลาด ทำลูกฟุตบอลหย่อนใส่เครื่องถ้วยน้ำชาบนหน้าศาลเจ้า นั่นก็เป็นเหตุสมควรนัก ที่จะถูกทำโทษเพราะความซนของผมเอง บางทีก็ไม่รู้ว่า ผิดที่บ้านผมเล็กไป หรือตี่จู้เอี๊ยะใหญ่ไป ที่ทำให้ศาลเจ้ามักเป็นกลายเป็นประตูชั้นดีสำหรับลูกฟุตบอลของผมเสมอ

ตี่จู้เอี๊ยะ อยู่คู่กับบ้านของผมตั้งแต่ยังเล็ก จนตอนนี้ก็ล่วงเลยมาเป็นเวลายี่สิบกว่าปี นั่นทำให้ ตี่จู้เอี๊ยะ กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของผมไปโดยปริยาย จริงๆ แล้ว ผมอาจจะหมายความว่า ได้เห็นศาลเจ้าผ่านตา ในบ้านทุกวันเป็นประจำ เหตุเพราะเป็นคนสมัยใหม่ ที่มักจะขี้เกียจพยุงสองมือพนมไหว้กับทุกสิ่ง นั่นทำให้ตี่จู้เอี๊ยะในบ้าน จะมีเพียงพ่อและแม่เท่านั้น ที่ตื่นเช้ามาจุดธูปกราบไหว้สม่ำเสมอ

ไม่นานมานี้ พ่อและแม่ ได้มีภารกิจอันใหญ่หลวง ที่อาจจะเรียกว่าเป็น ”วาระแห่งชาติ” เลยก็ว่าได้ นั่นก็คือการเปลี่ยนศาลเจ้า ตี่จู้เอี๊ยะหลังใหม่ ซึ่งสองท่านก็จัดการเดินทางตามหาซื้อกันเองอย่างขะมักเขม้น รวมใช้เวลาหลายวันเลยทีเดียว ไอ้เราก็ไม่ได้สนใจอะไร เพราะไม่ได้มีอารมณ์ร่วมด้วยขนาดนั้น ได้แต่รอดูว่าตี่จู้เอี๊ยะหลังใหม่จะหน้าตาเป็นแบบไหน

ในที่สุด ตี่จู้เอี๊ยะหลังใหม่ ที่มีหน้าตาไม่ต่างจากหลังก่อนหน้านี้นัก ก็ได้ถูกนำมาตั้งในตำแหน่งเดิมของบ้าน เป็นศาลเจ้าจีนสีแดงทั่วๆไป พ่อรีบเรียกผมที่เรียนจบสายออกแบบ มาร่วมชื่นชมความสวยงามของศาลเจ้าหลังใหม่ทันทีเมื่อศาลเจ้าวางเข้าที่ และพ่อก็ได้ยืนภาคภูมิใจตี่จู้เอี๊ยะหลังใหม่ทั้งวัน

เช้าหลังจากนั้น พ่อและแม่ได้ทำพิธีอัญเชิญเทพเจ้าตี่จู้เอี๊ยะมาอยู่ในบ้านหลังใหม่ และบังคับให้ผมที่เพิ่งตื่นแต่เช้า มาร่วมในพิธีอัญเชิญนี้ด้วย ผมเริ่มอัญเชิญวิญญาณตนเองเข้าร่าง ทันทีเมื่อจุดธูปในมือ จู่ๆ คำถามในวัยเด็กที่ไม่เคยได้ถาม เริ่มผุดประกายขึ้นมาหลายเรื่อง และมันเกี่ยวเนื่องกับสิ่งที่ผมกำลังไหว้อยู่ต่อหน้า

“ตี่จู้เอี๊ยะ คืออะไรหรือครับ ป๊า”

“ตี่จู้เอี๊ยะ ก็คือเจ้าที่เฝ้าบ้านยังไงล่ะ”

“ทำไมต้องตั้งที่พื้น แล้วทำไมต้องตั้งตรงนี้ด้วยล่ะ มันเกะกะทางเดินด้วยนะป๊า รู้ไหมมันไม่สวยถ้าอยู่ตรงนี้”

พ่อเริ่มตอบคำถามอย่างไม่มั่นใจ แต่พอจับใจความว่า “ตี่จู้เอี๊ยะ” เป็นเจ้าที่คอยเฝ้าบ้านให้เรา มักจะตั้งติดที่พื้น และหันหน้าประจันกับประตูเข้าบ้าน ท่านจะคอยสอดส่องดูแลคนในบ้านเราให้มีความผาสุก ส่วนเรื่องพิธีการไหว้ต่างๆ ก็ทำตามกันมาอย่างนี้แหละ

คำตอบของพ่อ บนโต๊ะอาหาร สิ้นสุดพร้อมกับข้าวคำสุดท้ายมื้อเช้า แสงไฟโคมสีแดงร้อนเรืองๆ สว่างไสวเปล่งจากเรือนไม้น้อยๆ ของตี่จู้เอี๊ยะหลังใหม่ กระทบกับใจที่ร้อนรนในความขี้สงสัยของผม

แล้วการเดินทางหาคำตอบ จากคำถามที่คาใจก็เริ่มต้นขึ้น…

เชื่อเพราะ “อากู๋” บอกมา

ตี่ หมายถึง ดิน
จู้ หมายถึง เจ้า
ตี่จู้เอี๊ยะ จึงหมายถึง “เจ้าที่” นั่นเอง

ตี่จู้เอี๊ยะที่คนไทยนิยมนำมาบูชา มักเป็นลักษณะบ้านสถาปัตยกรรมจีนขนาดเล็ก หลังสีแดง ซึ่งเราสามารถพบได้ตามบ้านคนไทยเชื้อสายจีนทั่วไป โดยส่วนมากมักทำมาจากวัสดุไม้ แต่ปัจจุบันอาจจะเริ่มทำมาจากหินอ่อนให้เห็นได้บ้าง

ตามความเชื่อของจีน ตี่จู้เอี๊ยะ คือเทพที่ทำหน้าที่ดูแลปกปักรักษาผู้อยู่อาศัยในบ้าน และใกล้ชิดมนุษย์มากที่สุด ดังนั้นการที่เจ้าของบ้านจัดสถานที่อยู่อาศัยให้แก่เทพที่คุ้มครองเรา จึงนำมาซึ่งความสมบูรณ์พูนสุขของผู้อยู่อาศัยภายในบ้าน

ข้างต้นเป็นคำข้อมูลจากเว็บไซต์จาก kapook.com ที่กล่าวถึงความหมายของ ตี่จู้เอี๊ยะ

เมื่อเราต้องการรู้อะไรที่เราอยากจะรู้ สิ่งแรกที่เราจะวิ่งเข้าไปหาก็คือ “ อากู๋” กูเกิล ของเรานั่นเอง อาจเพราะพวกเราถูกสอนให้มีความเชื่อตั้งแต่ตอนเรียนมหาวิทยาลัยว่า ถามอะไรในกูเกิลแล้วมักจะเจอคำตอบ

ผลการค้นหาประมาณ ๒๖๙,๐๐๐ รายการ (๐.๕๑ วินาที) เป็นสิ่งที่การันตี สามารถของกูเกิลในการหาข้อมูล ทันใดที่เราพิมพ์คำว่า “ตี่จู้เอี๊ยะ” ลงในแถบค้นหา

ตี่จู้เอี๊ยะ ตามตำนานเล่าขานกันว่า เมื่อสองพันปีที่แล้ว มีชายคนหนึ่งชื่อว่า “เตียเม่งเต็ก” เป็นคนรับใช้คหบดีคนหนึ่งในสมัยนั้น ท่านคหบดีได้เดินทางไปทำธุระที่แดนไกล และได้สั่งเตียเม่งเต็กช่วยนำพาบุตรีทวัยเยาว์ของท่านไปพบตนเอง ในระหว่างการเดินทาง เกิดพายุหิมะตกหนัก ทำให้เตียเม่งเต็กเห็นบุตรีของท่านคหบดีว่าร่างกายไม่สามารถต่อต้านกับอากาศอันหนาวเย็นไหว จึงได้สละเสื้อผ้าของตนออกมาคลุมสวมใส่ให้บุตรีของท่านคหบดี จนตัวเตียเม่งเต็กเองทนความหนาวไม่ไหว และได้เสียชีวิตลง

เมื่อท่านคหบดีได้ทราบถึงความซื่อสัตย์และความเสียสละของเตียเม่งเต็ก จึงได้สร้างศาลเจ้าให้เตียเม่งเต็กเป็นการตอบแทนพระคุณ ต่อมาจึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเทพโท่วตี่กงซึ่งถูกเรียกกันภายหลังว่า ‘ตี่จู้เอี๊ยะ’ นั่นเอง

ต่อมาเมื่อตี่จู้เอี๊ยะเข้ามาในไทย ทำให้ได้รับอิทธิพลมาจากการสืบทอดความเลื่อมใสมาจากพระพุทธศาสนาพร้อมกับวัฒนธรรมจีน จึงอาจจะไม่ต่างจากความเชื่อในศาลพระภูมิไทยมากนัก นั่นทำให้เราอาจจะเคยเห็นบ้านบางหลัง มีทั้งศาลเจ้าไทยและศาลเจ้าจีนนั่นเอง

ส่วนเรื่องหลักการที่จะตั้งตี่จู้เอี๊ยะในบ้าน พื้นฐานง่ายๆ เหมือนที่พ่อผมกล่าวไว้ นั่นคือต้องตั้งให้หน้าศาลประจันกับทางเข้าประตูหน้าบ้าน ข้างหลังของศาลไม่ติดบันไดหรือแหล่งน้ำ ตำแหน่งตั้งไม่อยู่ใต้คาน และมีพื้นที่หน้าศาลโล่งๆ เอาไว้กราบไหว้ และภายในศาลเจ้า มักจะมีรูปวาดหรือทำเป็นรูปลักษณ์ของตี่จู้เอี๊ยะ เป็นชายมีอายุ หนวดเครา เผ้าผมขาวเป็นสีเงินยวง หน้าตาอิ่มเอิบท่าทางใจดี บางครั้งมักจะถูกเรียกว่า “แป๊ะกง”

แต่หลังจากที่ผมยิ่งค้นหาบทความอ่านต่อ จากข้อมูล๒๖๙,๐๐๐ รายการ ยิ่งทำให้ผมยิ่งสับสนงงงวยเข้าไปมากกว่าเดิม เมื่อพบว่าหลายๆ เว็บไซต์มีการให้ข้อมูลทางความเชื่อของตี่จู้เอี๊ยะที่แตกต่างกัน และไม่มีการอ้างอิงที่มาอย่างชัดเจน นั่นทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนของที่มาและความเชื่อของ ตี่จู้เอี๊ยะ มากมาย

ตัวอย่างเช่น บางข้อมูลเชื่อว่าตี่จู้เอี๊ยะวางได้เฉพาะที่บ้านชั้น ๑ เท่านั้น เพราะถือว่าเป็นเทพเจ้าที่ดิน แต่อีกฝั่งข้อมูล ก็แย้งต่างว่า ตี่จู้สามารถตั้งอยู่ชั้นที่สูงกว่าระดับพื้นดินได้ ยกตัวอย่างเช่นคอนโดมิเนียม เจ้าของห้องสามารถนำมาตั้งในห้องที่อยู่ชั้นสูงได้ เพราะจะได้มีเจ้าที่คอยเฝ้าห้องให้เรา

และในเว็บไซต์ pantip.com มีหลากหลายกระทู้ ที่เข้ามาถามการเลือกซื้อตัวศาลตี่จู้เอี๊ยะ ว่าควรจะซื้อแบบไม้ หรือแบบหินอ่อนดีกว่ากัน ผลลัพธ์ที่ได้ก็คือ สงครามอุ่นๆ ระหว่างเสียง ๒ ฝั่ง

โดยฝั่งแรกจะบอกว่า ตี่จู้เอี๊ยะที่ทำมาจากไม้ นั้นมีความหมายเหมือนความเจริญรุ่งเรือง มีการต่อยอดความก้าวหน้าออกไป เสมือนกิ่งก้านสาขาของต้นไม้ ส่วนถ้าทำจากหิน ก็จะคล้ายสุสานคนตาย เป็นฮวงซุ้ยของบรรพบุรุษคนจีน ส่วนอีกฝั่งก็ขึ้นมาขัดแย้งกับฝั่งแรกว่า หิน เป็น ธาตุที่ใกล้ชิดกับพื้นดินมากที่สุด จึงมีพลังส่งเสริม ให้เจ้าที่มีอำนาจและพลังมากขึ้น และเปรียบเทียบกับ หน้าศาลเจ้าจีน มักมีรูปปั้นสัตว์มงคลที่ทำมาจากหินมากมาย

ผมได้มารู้ภายหลังอีกทีว่า การที่เกิดเสียง ๒ ฝั่งแบบนี้นั้น เกิดการที่เจ้าของกิจการตี่จู้เอี๊ยะของทั้ง ๒ ประเภท ได้เข้ามาอวยเรื่องศาลตี่จู้ของตัวเอง เพื่อเป็นการสร้างฐานลูกค้า และตัดกำลังฝ่ายตรงข้าม

สุดท้ายนั่นเป็นเหตุที่ผมต้องยอมพ่ายแพ้ต่อ “อากู๋” ที่ให้ข้อมูลหลากหลาย เกินกว่าจะจับประเด็นเชื่อได้ลง

แม้เทคโนโลยีจะสามารถค้นหาข้อมูลได้กว้างไกล และเจาะลึกได้เพียงใด แต่ก็ไม่สามารถสร้างฐานความเชื่อจริงแท้ของตี่จู้เอี๊ยะให้กับผมได้เลย เสมือนอยู่ในป่าที่อุดมสมบูรณ์ แต่บางทีก็ไม่มีผลไม้ที่เราต้องการจะกิน

ดังนั้นผมจำต้องรีบถอดสายปลั้กโน้ตบุ๊ค และเดินออกไปหาคำตอบผ่านสายตาของตนจริงๆ

เชื่อแล้วว่า “อาม่า” ต้องไม่ยอมเล่า

กรุงเทพมหานคร เวลาเราขับรถไปในเมือง บางทีเราก็มักจะเห็น ตึกแถวเดิมๆ ที่มีแสงสุกไสว ด้วยสีแดงของศาลเจ้าตี่จู้เอี๊ยะ ที่มีจำนวนมากมายจนกองพะเนิน คล้ายถูกเทกระจาดไปตามพื้นฟุตปาธริมถนน ภาพเหล่านี้ผ่านตาของผมบ่อยครั้ง แล้วก็ผ่านไป ไม่ได้เก็บมาสนใจอะไร

ร้านขายตี่จูเอี๊ยะพวกนั้นอยู่ที่ไหนกันแน่

จากการสืบหาข้อมูล พบว่าแหล่งที่คนจีนรุ่นพ่อของเรานิยมหาซื้อ ตี่จู้เอี๊ยะ นั่นได้แก่ แถวตลาดสามย่าน แถวตลาดพลู ตรงข้ามสถานีดับเพลิงบางยี่เรือ และที่สุดท้ายคือ แถวถนนพลับพลาไชย ติดกับมูลนิธิปอเต็กตึ๊ง ในเขตเยาวราช

แต่เพื่อความง่ายจะใกล้ชิดคนที่ใช้ชีวิตกับ ตี่จู้เอี๊ยะ โดยตรง ผมเลือกที่จะเดินทางตามรอย ที่พ่อของผมได้เดินทางมาก่อนหน้านี้ แต่พ่อผมไม่แนะนำร้านที่แกเพิ่งได้ซื้อมา เพราะได้ทำการแขวนป้ายเป็นศัตรูกัน หลังจากที่ควักเงินเสียให้ไป

“ร้านเด่นเจริญ” เป็นร้านขายตี่จู้เอี๊ยะ ที่ตั้งอยู่ริมถนนเอกชัย ในย่านเขตจอมทอง พ่อแนะนำให้ผมมาสัมภาษณ์เจ้าของร้าน เพราะพ่อได้เคยขับรถมาต่อรองราคากับร้านนี้ และพบอัธยาศัยที่ดี ของเจ้าของร้าน ถึงแม้ว่าพ่อจะไม่ได้เสียสตางค์ให้

พี่อรพรรณ เตชูปกรณ์ หญิงวัยกลางคนที่ดูอารมณ์ร่าเริง เดินออกมาต้อนรับผมอย่างเต็มที่ และเมื่อทราบว่าผมมาเก็บข้อมูลที่ร้านตี่จู้ของแก แกจึงได้พาผมเดินไปเข้าไปชมการทำงาน ข้างหลังของร้านตี่จู้ตึกแถว ๒ คูหา

สิ่งที่ผมพบข้างหลังร้านขายตี่จู้เอี๊ยะที่หน้าตาธรรมดาสามารถพบเห็นได้ทั่วไปนั้นเป็นโกดังขนาดย่อม ที่มีส่วนประกอบต่างๆ ของตี่จู้เอี๊ยะ กองเป็นชั้นคอนโดเรียงในแนวตั้ง คล้ายถาดอาหารในร้านสุกี้ ส่วนกองชิ้นส่วนนั้น มีความสูงเกือบๆ เท่าตัวคน

สีแดงบนส่วนต่างๆ ของตี่จู้เอี๊ยะ สร้างความแสบตาไปทั่วโกดัง เป็นผลเนื่องจากแสงไฟนีออนบนเพดาน ช่างทุกคนในโกดังกำลังขะมักเขม้นในการทำงานกันสุดฤทธิ์ ทั้งประกอบชิ้นส่วน ทั้งกำลังลงสีทอง บนส่วนประดับของศาลตี่จู้เอี๊ยะ
“ร้านเราที่นี่ มีหน้าที่เป็นเพียงโรงงานประกอบตี่จู้เล็กๆ ไม้ของเราก็สั่งมาจากโรงไม้ที่ชลบุรี เขาก็ตัดชิ้นส่วนและทาสีแดงมาให้เราเสร็จแล้วนะ เราแค่มาประกอบและลงสีทอง ตรงนี้เป็นหน้าร้านเล็กๆ ให้คนแวะมาดู มาซื้อ” พี่อรพรรณเล่าเส้นทางของอุตสาหกรรมตี่จู้เอี๊ยะคร่าวๆ ให้ผมฟังอย่างกันเอง

หลังจากที่คุยกันไปสักพัก ก็พบว่าแกไม่ใช่เจ้าของกิจการ แกเป็นเพียงแค่หัวหน้าลูกจ้าง ที่ประจำร้านอยู่สาขานี้เท่านั้น ไม่สามารถเล่าที่มาที่ไป อะไรได้

พี่อรพรรณจึงแนะนำให้ผมไปหา อาม่าอิศรา เจ้าของร้านตัวจริง ที่ประจำร้านสาขาใหญ่ ร้านอยู่ตรงข้ามตลาดสดสำเหร่ เขตธนบุรี

ก่อนที่ผมจะเดินทางไปหาอาม่า พี่อรพรรณบอกทิ้งท้ายกับผมว่า ปกติอาม่าแกใจดีมาก แต่ไม่รู้ว่าจะยอมเล่าเรื่องตี่จู้ให้ฟังหรือเปล่านะ

ระหว่างเดินทาง ผมก็ได้แต่อิ่มอกอิ่มใจไว้ก่อนว่า หากอาม่าใจดี ต้องเล่าเรื่องให้ฟังทุกเรื่องแน่ๆ

และแล้วเมื่อมาถึงร้านเด่นเจริญสาขาใหญ่ พอผมเพียงเอ่ยคำว่าขอสัมภาษณ์สั้นๆ เท่านั้น อาม่าอิศรา ก็ไล่ผมตะเพิด ออกมาอย่างไม่มีใยดี

“เป็นความลับของร้าน คนจีนไม่มีใครเขาเล่าให้ฟังหรอกไอ้ตี๋”

คำพูดของอาม่า ทำเอาความหวังที่นำมาจากร้านก่อนหน้าของผมพังทลายไปในทันที

นั่นทำให้ผมนึกถึงคำของพี่อรพรรณที่เตือนไว้ตั้งแต่ต้นทาง ว่าการหอบความเชื่อมาเต็มกระเป๋ามากไป บางทีอาจทำให้ตัวหนักจนลื่นล้มหัวแตกได้นะไอ้ตี๋…

เชื่อเพราะว่าเป็น “เจ้าแรก”

“รู้สึกดีนะ ทำบ้านให้เจ้าที่อยู่ คล้ายๆ ว่าทำแล้วก็จะมีบุญนะ”

เป็นคำกล่าวแบบเขินๆ จาก ลุงเรืองศักดิ์ สรรค์ธีรภาพ เจ้าของร้าน ”จิบฮั้ว” ร้านขายตี่จู้เอี๊ยะย่านถนนพลับพลาไชย เขตเยาวราช ลุงแอบกระซิบยืนยันกับผมเองเลยว่า ร้านแกเป็นเจ้าแรกของเมืองไทยที่ทำตี่จู้เอี๊ยะขาย ปีนี้แกมีอายุถึง ๗๕ ปี ขัดแย้งกับความกระฉับกระเฉงของเจ้าตัวที่ผมได้เห็น

หลังจากที่อกหักจากอาม่า ที่ร้านเด่นเจริญย่านสำเหร่ ผมก็เดินทางไปยัง ร้านขายตี่จู้เอี๊ยะที่ย่านตลาดพลู แล้วก็อกหักอีกซ้ำสอง

สุดท้าย ผมก็มาพบกับร้านจิบฮั้ว โดยการสุ่มกระโจนเข้าไปขอสัมภาษณ์แบบแมนๆ ใส่ร้านขายตี่จู้เอี๊ยะในย่านนั้น นั่นทำให้ได้ทำความรู้จักกับลุงเรืองศักดิ์

“สมัยก่อน ปู่ ย่า ตา ยาย ของผมเป็นพวกช่างไม้ ทำพวกตู้ โต๊ะ อะไรพวกนี้ จนมารุ่นพ่อของผม เมื่อ ๗๐ ปีที่แล้ว พอดีมีคนมาสั่งทำเจ้าที่ พอทำให้เสร็จ พ่อผมก็เห็นว่า เมืองไทยเราตอนนี้ คนจีนก็เยอะ เลยทำขึ้นมาทยอยตั้งโชว์ขายเสียเลย”

เรื่องเล่าจากลุงเรืองศักดิ์ ถึงจุดกำเนิดของศาลเจ้าตี่จู้เอี๊ยะในเมืองไทย ทำให้เข้าใจได้ว่า การมีอยู่ของบ้านจีนหลังเล็กๆ สีแดงๆ แบบที่เราเห็นในปัจจุบันนี้ ได้ประจักษ์ให้คนไทยได้กราบไหว้ครั้งแรก เมื่อประมาณ ๗๐ ปีที่แล้ว (พ.ศ. ๒๔๘๘)

“รุ่นโบราณๆ ตั้งแต่สมัยผมเด็กๆ เขาจะนำลังไม้ ที่เอาไว้ใส่นมกระป๋อง มาจับพิงกับผนัง แล้วก็เอากระดาษสีแดงๆ มาปิดไว้ข้างใน หลังจากนั้นก็จะเขียนคำว่า ‘ตี่จู้’ ซึ่งแปลว่าเจ้าที่ลงไป คนโบราณเขาทำแบบนี้นะ บางคนก็ไม่เอาลังไม้ แต่ไปเอาฝาบ้านมาปิดกระดาษแดง แล้วก็เขียนคำคำเดียวกัน”

ลุงเรืองศักดิ์ยังเสริมด้วยว่า กระถางธูปที่เอาไว้ไหว้ตอนนั้น จึงทำมาจากกระป๋องนมจากลังไม้ แล้วห่อกระดาษแดง คนโบราณเชื่อว่าเทพตี่จู้จริงๆ จะอยู่ในกระถางธูป เพราะเราจะเอากระถางธูปเดิม ผงขี้เถ้าเดิม ไปตั้งไหว้บนศาลที่ถูกเปลี่ยนใหม่
สมัยก่อน คนจีนในเมืองไทยมีฐานะไม่ได้ร่ำรวยนัก ทำให้หน้าตาของศาลเจ้าตี่จู้เอี๊ยะก็จึงปรับเปลี่ยนตามทุนทรัพย์ด้วยนั่นเอง

ในความสุดแสนดั้งเดิมและทรงเสน่ห์ไม่เหมือนใคร ของ ร้านจิบฮั้ว นั่นก็คือ การที่มีหน้าร้านเป็นโรงไม้เล็กๆ ที่เอาไว้ทำศาลเจ้าตี่จู้ โดยมีการจัดเรียงส่วนประกอบของชิ้นส่วนไม้เล็กๆ บนชั้นอย่างเป็นระเบียบ และที่เด็ดที่สุดภายในร้าน นั่นก็คือ ม้านั่งกึ่งโต๊ะ ที่เอาไว้ตัดไม้และไสไม้แบบโบราณดั้งเดิม ซึ่งม้านั่งนี้ทำมาจากท่อนไม้หนา มีความยาวประมาณเกือบ ๒ ช่วงตัว เวลาจะทำงานลุงแกก็จะกระโดดขึ้นไปนั่งคร่อมม้านั่งตัวนี้

“เวลาจะทำที ก็จะไปซื้อไม้แถวกรุงเกษม โดยรุ่นโบราณจะทำด้วยไม้สัก สมัยโบราณไม้สักไม่แพงนะ ตี่จู้จะเป็นหลังไม้ธรรมดาๆ ล้วนๆ ทาด้วยสีแดงอย่างเดียว อาจมีลงทองบ้างแต่น้อย แล้วก็พัฒนามาเรื่อยๆ ส่วนพวกพลาสติกก็เป็นส่วนประดับ ตั้งแต่มังกร เชิงชายพวกนี้ แต่สมัยโบราณยังไม่มีพลาสติกนะ ใช้การแกะสลักมือกันล้วนๆ ”

วัสดุในการสร้างตี่จู้เอี๊ยะแต่ละหลัง ก็พัฒนาไปตามยุคสมัย ไม่ต่างกับการสร้างบ้านให้คนจริงๆ สมัยก่อนเป็นบ้านไม้ทั้งหลัง ประดับไปด้วยงานแกะสลักไม้ตกแต่ง แต่เดี๋ยวนี้ต้องก่ออิฐถือปูนหยาบๆ ขึ้นมาแทน

ถึงแม้หน้าตาศาลเจ้าตี่จู้เอี๊ยะของร้านจิบฮั้ว ไม่ได้มีหน้าตาผิดแปลกจากที่เราเห็นทั่วไปมากนัก ที่ร้านจิบฮั้วมีศาลเจ้าให้เลือกซื้อ อยู่ที่ขนาดหน้ากว้าง ๑๒ นิ้ว, ๑๖ นิ้ว, ๑๘ นิ้ว รุ่นใหญ่ก็จะเป็น ๒๔ นิ้ว ซึ่งราคาก็จะขยับตามขนาดไปด้วย

ลุงเรืองศักดิ์ได้เผยว่าขนาดเหล่านี้มีความหมาย เพียงแอบซ่อนอยู่ในระดับของตารางนิ้ว ว่าแล้วแกก็กางตลับเมตรส่วนตัวของแก ออกมาอย่างคล่องแคล่วคล้ายพยายามจะอวดผม และกล่าวว่า “ลูกค้าหลายคน เขากลับมาหาเรานะ เพราะเราวัดตามหลักฮวงจุ้ย เรามีสายวัดจีนตามหลักฮวงจุ้ย”

เมื่อสายวัดถูกดึงแถบวัดออกมา ลุงชี้ให้ดู ว่านอกจากจะมีค่าการวัดแบบระบบเมตริกทั่วไป สายวัดนี้ยังมีแถบตัวอักษรจีน ที่อยู่ในช่องสีแดง และดำสลับไล่กันไป ที่จริงแล้ว นี่คือศาสตร์การวัดของจีน ที่เรียกว่า “หลูปัง”

“หลูปัง” เป็นมรดกทางปัญญาด้านหนึ่งของวิชาฮวงจุ้ย คิดค้นโดยท่านปรมาจารย์หลู่ปัง ซึ่งถือว่าเป็นเทพเจ้าแห่งงานช่างของจีน โดยถูกคิดเพื่อใช้ในงานอาคารสถาปัตย์ก่อสร้างของคนจีนสมัยก่อน ดังนั้นหลูปัง จึงเป็นศาสตร์ที่มีไว้กำหนดขนาดที่เป็นมงคล และใช้ตรวจสอบขนาดที่เป็นอัปมงคลของวัตถุสิ่งของต่างๆ ตามหลักฮวงจุ้ย

แถบวัดของหลูปังจะมี ๒ ส่วน ๒ สี ส่วนที่ ๑ จะมีอักษรสีแดง (เป็นมงคล) ใช้กับ “คนเป็น” ส่วนที่ ๒ จะเป็นสีดำ (ไม่เป็นมงคล) ใช้กับ “คนตาย”

ทั้งนี้ความหมายของหลูปัง อาจเป็นเพียงนัยยะ เพื่อแยกแยะการให้คุณและโทษลักษณะต่างๆ ของงานช่างในสมัยก่อน ซึ่งก็ยังคงเป็นปริศนาสำหรับผมอยู่ดี

หลังจากที่แนะนำสายวัดฮวงจุ้ยกันเสร็จเรียบร้อย ลุงเรืองศักดิ์จึงนำแถบสายวัด ไปทาบลงบนศาลเจ้าของแกเอง เพื่อแสดงให้เห็นว่า ผลงานของแกนั้นเฮงจริงๆ แน่นอนว่าทุกหลังลงด้วยแถบสีแดงทั้งสิ้น

ลูกค้าปกติจะมาเลือกแบบจากที่ร้านของแกไปเองเลย ส่วนมากขนาดที่เลือกซื้อ ก็ขึ้นอยู่กับขนาดที่พักอาศัยของลูกค้านั่นเอง แกยังกล่าวเสริมด้วยว่า

“เราทำตี่จู้เอี๊ยะ ก็เหมือนทำบ้านเปล่าๆ รอเทพเจ้ามาอยู่อาศัยนี่แหละ เราทำเป็นโชว์รูมให้ลูกค้ามาเลือก ส่วนที่เหลือ เดี๋ยวเขาไปจัดการเอง เพราะลูกค้าทำการบ้านมาแล้ว”

ส่วนเรื่องการแนะนำลูกค้า เจ้าตัวบอกว่าไม่ต้องทำอะไรมาก เพราะทุกคนล้วนมีความเชื่อตามบรรพบุรุษของตนเอง แกได้เพียงสร้างบ้านสวยๆ รอให้กับเทพเจ้านั่นเอง

“บางคนนำตี่จู้เก่ามาขายให้เรา เราก็ไม่ซื้อนะ เพราะเรื่องเจ้าที่นี่ซี้ซั้วไม่ได้ เพราะเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์”

แน่นอนว่า เมื่อศาลเจ้าตี่จู้เอี๊ยะมีสร้าง ก็มีพัง หลังจากที่พังแล้ว ปกติทางความเชื่อแล้ว คนไทยก็จะนำไปไว้ใต้ต้นไม้ตามวัด โดยเลียนแบบความเชื่อของพุทธ ว่าเจ้าที่ตรงต้นไม้จะได้สามารถแวะมาอาศัยอยู่ได้ ถึงแม้ว่าศาลจะพังแล้วก็ตาม

แต่ก็ยังเป็นความเชื่อส่วนบุคคลว่า ตี่จู้เอี๊ยะที่เราเห็นถูกทิ้งไว้ตามวัดนั้น ข้างในยังมีเจ้าของอยู่หรือเปล่า

อย่างไรก็ตามด้วยความที่ ร้านจิบฮั้ว เป็นออริจินอลเจ้าแรกของเมืองไทย ผมก็เลยอดไม่ได้ที่จะถามว่า ทายาทของลุงจะเอายังไงต่อกับกิจการนี้

“ลูกหลานผม ไปทำอย่างอื่นหมดแล้ว ทำพวกเครื่องจักรตัดเลเซอร์ พอหมดรุ่นเราไปก็คงไม่มีใครจะทำต่อ เราไม่ได้บังคับ และก็ไม่ได้เสียดายนะ แล้วแต่ลูกหลาน” ลุงตอบผมด้วยเสียงแผ่วๆ

ความเชื่อในการทำสิ่งบางอย่างมาตั้งแต่อดีต บางทีก็ไม่สามารถถูกส่งต่อไปในอนาคตได้ แม้จะเป็นสายเลือดเดียวกันก็ตาม คนเราก็มีคนละความเชื่อกันอยู่ดี

แต่หากตี่จู้เอี๊ยะยังมี ให้คนได้กราบไหว้อยู่ในปัจจุบัน แล้วคนปัจจุบันพวกนั้น เขาเชื่ออะไรกัน

เชื่อเพราะ “รีเสิร์ช” มามาก

ในโรงเรียนสถาปัตยกรรม เราไม่เคยถูกสอนว่าเวลาเราออกแบบบ้านให้ใครนั้น ต้องนึกถึงตี่จู้เอี๊ยะ ว่าต้องตั้งอยู่ตรงไหนในบ้าน และรวมถึงการออกแบบเรื่องฮวงจุ้ย

นั่นทำให้เกิดคำตลกสุดคลาสสิคว่า

“แม้จะออกแบบบ้านสวยแค่ไหน ก็ตายเพราะตี่จู้เอี๊ยะ กับซินแสอยู่ดี”

ปัญหาตรงนี้ไม่เคยมีใครมานั่งถกกันอย่างจริงจัง แม้จะเป็นปัญหาระดับชาติเลยก็ว่าได้

แต่มีดีไซเนอร์รุ่นใหม่สองราย มีนามว่า สันติ โล่ห์พัฒนานนท์ หรือพี่เจ และ สมุทรขจี เกตุบรรลุ หรือพี่อ้อ คู่สามีภรรยา เจ้าของธุรกิจศาลเจ้ายุคสมัยใหม่ “ภวน” ทั้งสองมองว่าการมี ตี่จู้เอี๊ยะ ในปัจจุบัน ว่าเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง

“ถ้าคุณเห็นตี่จู้เอี๊ยะในตอนนี้ เราก็จะสามารถจินตนาการว่าบ้านคนจีนสมัยก่อน หน้าตาคงคล้ายๆ แบบนี้แหละ มีเสา มีหลังคาเหมือนในหนังจีนกำลังภายใน”

พี่เจเริ่มชวนผม ให้มองตัวศาลตี่จู้เอี๊ยะในมุมที่แตกต่าง และยังกล่าวเสริมต่อไปว่า

“ตี่จู้เอี๊ยะมาจากเมืองจีน เป็นรูปแบบหน้าบ้านของคนจีนสมัยนั้น ย่อส่วนให้เล็กลงมา แล้วเชิญเทพลงมาอยู่ เพื่อกราบไหว้บูชา

“มังกร และภาษาจีนเยอะๆ มันเป็นเพียงคำกลอนมงคล ที่อวยพร ให้สุขภาพดี ร่ำรวยเงินทอง เป็นสิริมงคลที่คนค่อยๆ เติมเสริมเข้าไป นั่นทำให้หน้าตาตี่จู้เลยค่อยๆ เปลี่ยนไป จนเป็นอย่างที่เราเห็นกัน

“ถ้าสมัยก่อนหน้าตาไม่ใช่แบบนี้ ทำไมคนรุ่นนี้ ยังนึกว่า ถ้าซื้อบ้านแล้วทำไมจึงต้องซื้อตี่จู้เอี๊ยะแบบเดิม

“ส่วนตัวผมนะ ผมเชื่อว่าในตอนนี้ท่านก็คงอยากอยู่ในบ้านแบบสมัยใหม่ ด้วยแหละ”

เสียงหัวเราะของพี่เจ หลังจากพูดเรื่องความคิดที่แตกต่างของตนเองจบ ทำให้ผมเข้าใจได้ว่า พี่เจแกก็เคยมีคำถามเกี่ยวกับตี่จู้เอี๊ยะเหมือนกัน

จริงๆ แล้วที่ พี่เจสามารถพูดประโยคนี้ได้อย่างมั่นใจ เพราะแกได้ทำการบ้าน และได้เดินทางดูงานออกแบบตี่จู้เอี๊ยะจากหลากหลายที่ รวมถึงต่างประเทศ อีกทั้งมีประสบการณ์กับกิจการของตนเอง ทำให้ได้เห็นวิธีคิดมากมาย จนตกผลึก

พี่เจกับพี่อ้อ ทั้งคู่ทำงานตกแต่งภายใน ให้กับลูกค้าหลายเจ้า และสิ่งที่มักจะพบหลังการออกแบบเสร็จ ก็คือเวลาที่ต้องถ่ายรูปเก็บผลงานตัวเอง มักจะต้องบังมุมไม่ให้เห็นตี่จู้เอี๊ยะ เพราะทำให้รูปถ่ายดูไม่ดี

นั่นทำให้ทั้งสองตั้งคำถามว่า ทำไมไม่มีใครกล้าจะดีไซน์ตี่จู้เอี๊ยะ ให้ไปด้วยกันกับดีไซน์ปัจจุบันได้เลย

“เวลาเห็นตี่จูเอี๊ยะตั้งอยู่ในบ้าน ที่ดูสมัยใหม่ ทำให้เรารู้สึก ‘สะดุด’ ทุกที

“โดยปกติตามที่เรารู้กันนะ ตี่จู้มักจะต้องตั้งให้ตรงกับประตูทางเข้าบ้าน ซึ่งก็มักจะเตะตาทุกที เมื่อเข้ามาในบ้าน และอีกอย่างคือคนรุ่นปัจจุบันมักจะอยู่อาศัยในคอนโด อพาร์ทเม้นท์ ซึ่งพื้นที่มักจะแคบ ก็เลยเป็นปัญหาต่อเนื่องกันมา”

พี่อ้อ สถาปนิกหญิง ผู้เป็นภรรยาของพี่เจ เริ่มพูดถึงปัญหาที่มักพบเสมอเวลาทำงาน และมักไม่คลี่คลายลงได้ง่ายๆ

“เราเคยถามลูกค้าวัยรุ่น เขาก็บอกว่าไม่อยากจะตั้งนะ แต่พ่อแม่ที่บ้านบังคับให้ตั้งให้ได้”

นั่นทำให้เกิดปัญหาไม่พอใจของเจ้าของบ้านเองด้วย ทั้งคู่จึงพยายามจะแก้ปัญหาเรื่องนี้ และสุดท้ายจึงทำให้ทั้งคู่ ได้มาออกแบบตี่จู้เอี๊ยะ ที่มีหน้าตาสมัยใหม่ที่กลมกลืนไปกับบ้านของลูกค้านั่นเอง

“หลังคาหลายๆ ชั้น มีคำกลอน มีมังกร ไอ้พวกนี้แหละแหละ เป็นสิ่งที่เราไม่ต้องการ เราเลยอยากจะตัดถอนลายละเอียดให้เยอะที่สุด เอาเฉพาะส่วนที่จำเป็น”

เนื่องจากเป็นนักออกแบบยุคสมัยใหม่ ที่มักนิยมการออกแบบที่เรียบๆ เท่ๆ แบบโมเดิร์น เน้นฟังก์ชันการใช้งาน พี่เจและพี่อ้อจึงออกแบบตี่จู้เอี๊ยะของทั้งคู่ ให้ดูเรียบและดูดีที่สุด โดยมีลักษณะคล้ายป้ายจีนตามศาลเจ้า ตรงกลางป้ายมีคำว่า “ตี่จู้เอี๊ยะ” ตามแบบดั้งเดิม ซึ่งมีทั้งสีแดง และสีขาว หรือตามแต่ลูกค้าจะสั่ง

การออกแบบของทั้งคู่ เน้นความเรียบและความคมของเส้นโครงสร้างของศาลเจ้าเป็นหลัก เพื่อที่จะสามารถกลมกลืนไปกับบ้านยุคสมัยใหม่ เพิ่มเติมด้วยฐานที่ทำจากกระจกเอาไว้วางกระถางธูปเทียน ซึ่งเมื่อขี้ธูปหรือน้ำตาเทียนหยดใส่กระจก ก็จะทำความสะอาดได้ง่าย หรือมีลูกเล่นลิ้นชักเอาไว้ใส่เครื่องถ้วยชาก็เก๋ดี

อีกทั้งลูกค้าสามารถสั่งตี่จู้เอี๊ยะ เฉพาะแบบของตนได้อีกด้วย ทำให้ลูกค้าสมัยใหม่นิยมมาหาพี่เจกันมาก

“ผมเคยเอาตี่จู้ของผมขึ้นรถ แล้วขับไปเสนอแถวสามย่าน ที่เป็นแหล่งขายตี่จู้เอี๊ยะเยอะๆ นะ พอเจ้าของร้านเห็น ก็รีบกางตลับเมตรของแกมาวัดดูทันที ว่าถูกต้องไหม

“แล้วพอผมถามว่าสวยไหม พวกเค้าก็ชอบกันนะ เพราะแปลกดี เขาไม่เถียง และบอกว่าดูโมเดิร์นดี แต่ติดตรงราคาค่อนข้างสูง เพราะเราผลิตเอง ไม่ใช่ทำจากโรงงาน”

นั่นทำให้ พี่เจและพี่อ้อ จึงมาทำเป็นธุรกิจของตนเองเสียเลย โดยช่องทางการขาย ก็ไม่ได้มีหน้าร้านเหมือนทั่วไป จะขายจากในอินเทอร์เน็ตแทน ซึ่งตอบโจทย์คนยุคปัจจุบันสุดๆ

ทั้งคู่ยังมองว่าการออกแบบของตน ยังสามารถต่อยอดและปรับเปลี่ยนรูปทรงได้เสมอ เพราะลูกค้ามีความเชื่อที่แตกต่างกันไป

“ศาสตร์ฮวงจุ้ยมีค่อนข้างเยอะนะ อาจารย์บางท่านก็บอก ให้ลงเลขมงคลก็พอ หน้าตาเป็นยังไงก็ได้ บางคนก็ไม่สนใจเลขนะ สนใจแค่เรื่องตั้งให้ถูกที่ก็พอ บางคนซีเรียสมากๆ ว่าต้องเป็นแบบเก่าเท่านั้น” พี่เจพูดถึงประสบการณ์ที่เคยคุยกับซินแสหลายๆ ท่าน

อย่างไรก็ตาม พี่เจก็เล่าให้ฟังถึงประสบการณ์ครั้งหนึ่งที่ทำให้ตนเองรู้สึกคลี่คลายกับเรื่องพวกนี้

“มีลูกค้ามีอายุท่านหนึ่ง เขาให้ผมทำตี่จู้หลังสีทอง ผมถามให้แน่ใจว่าจะทำสีทองจริงๆ แน่นะครับ แกก็ตอบกลับมาว่า ถ้าแกกราบไหว้ท่านดี ท่านก็จะอวยพรแก ผมฟังแค่นี้ จึงเข้าใจว่าของพวกนี้เป็นเรื่องความเชื่อส่วนบุคคลล้วนๆ”

“แล้วงั้น พวกพี่ทั้งสองเชื่ออะไรกันครับ” ผมถาม

“ความเชื่อของเรา คงมาจากการ ‘รีเสิร์ช’ เพราะพอเราได้ค้นลงไปว่า ตี่จู้เอี๊ยะเป็นมาอย่างไร นั่นทำให้เราเชื่อและทำให้มั่นใจได้ว่า สิ่งที่เราทำนั้นถูกต้องแล้ว“

เชื่อเพราะมี “หลักฮวงจุ้ย”

คราวนี้ผมมาพบ ซินแส อาจารย์พัดทอง ภูกาญจน์ เพื่อมาขอความรู้เรื่องฮวงจุ้ย สิ่งแรกที่ซินแสกล่าวกับผมเมื่อพูดถึงตี่จู้เอี๊ยะก็คือ

“ตี่จู้ต้องไปว่าด้วยเรื่อง ประเพณี และ วัฒนธรรมในสังคม ต่างหาก”

อาจารย์พัดทอง เป็นเจ้าของ “ศูนย์ฮวงจุ้ยพลังธรรมชาติ” ซึ่งเป็นศาสตร์ฮวงจุ้ยที่เน้นการจัดการสนามพลังของสิ่งแวดล้อม เพื่อเสริมพลังให้กับคน

ผมได้รู้จักกับอาจารย์ ผ่านเพื่อนคนหนึ่งที่เคยไปเรียนเรื่องฮวงจุ้ยกับแก เพื่อนของผมยังแนะนำว่าแกเป็นซินแสสมัยใหม่ที่มีหลักวิเคราะห์ที่มีหลักการ

ที่น่าสนใจขึ้นไปอีกคือ อาจารย์พัดทอง เคยเป็นวิศวกรโยธา แต่กลับสนใจเรื่องฮวงจุ้ยมากๆ ทำให้ได้ไปศึกษากับอาจารย์ต่างๆ ทั้งไทยและต่างประเทศนับสิบปี จนมีความรู้แตกฉาน

“บางคนก็ไม่เข้าใจเหตุผลว่า มีเพื่ออะไร มีแล้วเป็นยังไงกัน ถ้าคนยุคปัจจุบันไม่เข้าใจ สิ่งนี้ก็อาจจะหายไปจากสังคมก็ได้” อาจารย์พัดทอง กล่าวอย่างจริงใจ

“สโลแกนของการมีตี่จู้เนี่ย คนจีนโบราณเพียงอยากให้บุตรหลาน เกรงกลัวต่อความผิด นั่นคือทำไมต้องตั้งประจันกับหน้าบ้าน เพราะเวลาถ้าคุณหนีเที่ยว กลับบ้านมาเปิดประตูแล้วก็จะต้องเจอตี่จู้เอี๊ยะก่อน

“เทวดาท่านเห็นอยู่นะ เจ้าที่เห็นอยู่นะ กลับมาทำอะไรไม่ดีท่านรู้นะ”

หากนี่เป็นกุศโลบายของการตั้งตี่จู้เอี๊ยะของคนจีนโบราณ ก็ถือว่าทำได้แนบเนียนมากๆ จนกลายเป็นประเพณีวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน

แต่สำหรับศาสตร์ฮวงจุ้ยของอาจารย์พัดทอง ตี่จู้เอี๊ยะเป็นเพียงกลไกเล็กๆ ที่ช่วยให้ชีวิตมีสิริมงคล

อาจต้องกล่าวย้อน ไปทำความเข้าใจถึงความหมายของคำว่า “ฮวงจุ้ย” เสียก่อน

ฮวง แปลว่า ลม
จุ้ย แปลว่า น้ำ

ลมและน้ำเป็นตัวแทนของพลังงานความเคลื่อนไหว และความหยุดนิ่ง ฮวงจุ้ยเป็นศาสตร์ที่นักปราชญ์จีนโบราณ ศึกษาเก็บข้อมูลมานับพันๆ ปี เพื่อที่จะปรับตัวให้สอดคล้องกับพลังงานของสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดความอยู่รอดและความเจริญรุ่งเรือง

สำหรับฮวงจุ้ยพื้นฐานกับการใช้อยู่อาศัยภายในบ้านนั้น มีการแยกองค์ประกอบเป็น ๓ ส่วน ๑. “กลไกของเวลา” นั่นก็คือสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไปตลอด ซึ่งหมายถึงการโคจรของดวงอาทิตย์ ทำให้มีแสง มีลมผ่านเข้ามาในที่อยู่อาศัย ๒. “สถานที่” หมายถึงตำแหน่งที่ตั้งของพื้นที่บ้าน ที่ควรสอดรับกับกลไกเวลา ๓. “พลังงาน” ก็คือวิญญาณหรือระดับจิตใจของคนที่อาศัยอยู่ในบ้าน

องค์ประกอบทั้ง ๓ สิ่งของฮวยจุ้ย จะทำให้การใช้ชีวิตในบ้านมีสิริมงคล มีความมั่งคั่ง เจริญรุ่งเรือง ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น ถ้าบ้านตั้งอยู่บนเชิงเขาที่สวยงาม ก็จะมีความจรรโลงใจยิ่ง หรือตั้งอยู่ในภูมิประเทศที่มีแดดและฝนทั้งปี ก็จะมีผลผลิตให้กินตลอดทั้งปี หรือคนที่อยู่อาศัยในบ้านก็ต้องจิตใจแจ่มใส ทำมาหากิน และร่างกายแข็งแรง

ศาลเจ้าตี่จู้เอี๊ยะซึ่งมีสีแดง เพราะเป็นสีแห่งความเป็นมงคลในความเชื่อของคนจีน จึงถ่ายทอดพลังงานออกเป็นความหมายของ “ธาตุไฟ” ตามสมดุลของธาตุในจักรวาล ๕ ธาตุ

ในจักรวาลนี้ เราสามารถถอดสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิต ให้อยู่ในกลุ่มได้ ๕ ธาตุ ได้แก่ ดิน น้ำ ไม้ ทอง ไฟ

ซึ่งทิศภายในบ้านก็จะสามารถถอดธาตุได้เช่นกัน จากพลังงานการโคจรของดวงอาทิตย์ ดังนี้

ทิศเหนือ คือ ธาตุน้ำ
ทิศตะวันออก คือ ธาตุไม้
ทิศใต้ คือ ธาตุไฟ
ทิศตะวันตก คือ ธาตุทอง
ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ, ตะวันตกเฉียงใต้ คือ ธาตุดิน

ถ้าตี่จู้เอี๊ยะคือไฟ ก็ควรอยู่ในทิศธาตุไม้ เพื่อให้ไฟลุกโชติช่วง เป็นแสงสว่างภายในบ้าน หากนำไฟไปอยู่ในทิศธาตุทอง ทองก็จะละลายหายไป ซึ่งถ้าหากเป็นตี่จู้หินอ่อนก็จะถูกตีความพลังงานเป็นธาตุอื่นไป

กล่าวง่ายๆ ว่าที่จริง ตี่จู้เอี๊ยะก็คือแสงสว่างภายในบ้าน ที่หากมีคนทุกข์ร้อนใจก็จะเข้าไปรับพลังงาน หรือไม่ก็ทำให้บ้านดูปลอดภัยในยามค่ำคืน

หลักของธาตุ แม้อาจจะดูเข้าใจยาก แต่จากการคุยกับอาจารย์พัดทอง ก็ทำให้ฮวงจุ้ยมีเหตุผลและมีหลักการให้จับต้องได้มากขึ้น

“ตี่จู้เอี๊ยะ ไม่ใช่คำตอบของความสมบูรณ์ของชีวิต ส่วนตัวผมแล้ว มี หรือไม่มี ไม่ได้ต่างกัน ถ้ามีแล้วตั้งอยู่ผิดที่ผิดทาง ก็จะให้ผลร้าย หากอยู่ถูกที่ก็จะให้ผลที่ดี เป็นเพียงเครื่องมือเล็กๆ ตัวหนึ่งเท่านั้น” อาจารย์พัดทองพูดสรุปไว้

มีสิ่งอื่นที่สำคัญในชีวิต มากกว่าจะมาพะวงเรื่องการตั้งตี่จู้ในบ้าน และนั่นอาจทำให้เราเสียโอกาสในการทำสิ่งมงคลอย่างอื่นในชีวิตไป

สุดท้ายผมจึงได้ถามสิ่งที่ ซินแสหนุ่มไม่ได้กล่าวถึงตั้งแต่แรกเลย ว่าเทพเจ้าตี่จู้เอี๊ยะนั่นอยู่ในศาลเจ้าจริงหรือเปล่า

“มุมมองคนไทยเชื่อว่า ทุกที่มีเจ้าของ ก่อนที่คุณจะเกิดมาอยู่ในบ้าน รู้ได้ยังไงว่าที่ตรงนี้ไม่มีเจ้าของ ถ้ามีคนตายที่ตรงนี้ หากไม่หมดกรรมก็จะเป็นวิญญาณอยู่ตรงนี้แหละ

“เพียงแต่ว่าคุณเชื่อในระดับไหนล่ะ”

สุดท้าย “เรา” เชื่ออะไร

“จะขออะไร ก็รีบๆ ขอนะ”
“ขอเสร็จแล้วครับ”
“ขอเร็วไปไหมลูก”

บทสนทนาล่าสุดไม่นานมานี้ ในจังหวะที่ผมกำลังจับกลอนประตูเพื่อจะออกจากบ้านไปทำธุระสำคัญ แม่ก็ทักท้วงให้กลับมาไหว้ ตี่จู้เอี๊ยะเสียก่อน ผมกลับมานั่งคุกเข่าลงกับพื้น พนมมือขึ้นมาไหว้ต่อศาลเจ้าจีนสีแดงที่อยู่ตรงหน้า

อันที่จริงผมไม่ได้ขอพรอย่างที่แม่เข้าใจ เพียงแต่ผมเลือกที่จะภาวนาจิตให้มีสติ ต่อหน้าผู้ใหญ่ใจดีที่เคารพในศาลเจ้าเสียแทน ตอนนี้ผมเชื่อว่าท่านตี่จู้เอี๊ยะเป็นคนในครอบครัวของผม

ก่อนหน้านี้ผมมักเลือกที่จะเก็บชุด “ความเชื่อ” เก็บใส่ลิ้นชักเอาไว้เสียก่อน แล้วมักพยายามมองแต่ “ความเป็นจริง” มาตลอด โดยไม่รู้ว่าอะไรคือความเป็นจริง

หลังจากที่ผมได้เดินทางตามหาคำตอบ จากความสงสัยเกี่ยวกับศาลเจ้าจีนที่ตั้งอยู่ในบ้าน ทำให้ผมเริ่มเพ่งมองเรื่องราวเกี่ยวกับ “ตี่จู้เอี๊ยะ” อีกรอบ

ผมพบว่า “ตี่จู้เอี๊ยะ” เป็นหนึ่งในตัวแทน ของประเพณีและวัฒนธรรมของสังคมไทยเรา มาอย่างช้านาน

ตี่จู้เอี๊ยะอาจเสมือนผู้ใหญ่คนหนึ่งในครอบครัว ทำหน้าที่สานสัมพันธ์มาตั้งแต่โบราณ ท่านคอยชักชวนคนในบ้าน ให้ออกมาทำสิ่ง เดียวกัน ได้มีกิจกรรมร่วมกัน

ปัจจุบันเราทุกคนต่างก้มหน้าเล่นมือถือ และนั่งกินข้าวจานเดี่ยวกันบ่อยขึ้น ทำให้ขาดความเชื่อมโยงของคนใกล้ตัวไป ผมเคยแอบถามตัวเองเหมือนกันว่า สิ่งใดที่สามารถทำร่วมกับพ่อแม่ได้ทุกวันอย่างสม่ำเสมอ

บางทีเพียงแค่จุดธูปไหว้ตี่จู้เอี๊ยะด้วยกัน ตอนเช้าอาจจะเป็นคำตอบง่ายๆ ของคำถามยากๆ นั่นเอง

แต่สำหรับ “ความเชื่อ” เกี่ยวกับตี่จู้เอี๊ยะ ที่ผมได้พบระหว่างการเดินทาง กลับเหมือนตลกร้ายที่หลากหลายไม่มีวันสิ้นสุด ทำให้ผมนึกถึงวิชาเขียนแบบบนพิมพ์เขียว ตอนสมัยเรียนมหาวิทยาลัย

อาจารย์สอนไว้ว่า หากเราขยายแบบพิมพ์เขียวขึ้นไปเรื่อยๆ เราก็ต้องเขียนรายละเอียดของแบบไปอย่างไม่รู้จบ ไม่ก่อประโยชน์ใดๆ ทำให้เราจำเป็นต้องคิดเสมอว่า พิมพ์เขียวขนาดใดจึงจะพอเหมาะสมกับงานชิ้นนั้น

สุดท้ายผมอาจเพียงแค่ เลือกที่จะเขียนความเชื่อลงบนพิมพ์เขียวของผม ในขนาดที่พอเหมาะ ก่อนที่จะก้าวพ้นจากประตูบ้าน และออกไปเผชิญกับ โลกความจริงที่มีความเชื่ออันหลากหลาย…

สุดท้ายผมอาจเพียงแค่ เลือกที่จะเขียนความเชื่อลงบนพิมพ์เขียวของผม ในขนาดที่พอเหมาะ ก่อนที่จะก้าวพ้นจากประตูบ้าน และออกไปเผชิญกับ โลกความจริงที่มีความเชื่ออันหลากหลาย…