เรื่อง : จักรสิน น้อยไร่ภูมิ
(http://malangphoo.com/)

ในทางสถาปัตยกรรม “สวนลอยฟ้า” (sky garden) เป็นคำใช้เรียกส่วนใดส่วนหนึ่งของอาคารสูงหรือสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ที่มีการปลูกต้นไม้จนเป็นเหมือนส่วนหนึ่งของอาคาร ซึ่งพบเห็นตั้งแต่สวนขนาดเล็กที่ประดับตามระเบียงหรือผนังอาคารขนาดใหญ่อย่างสวนที่แทรกระหว่างชั้นจนถึงพื้นที่ขนาดใหญ่อย่างสวนบนหลังคา หรือ “หลังคาเขียว” (green roof) พื้นที่สีเขียวเหล่านี้มีประโยชน์หลายด้าน ทั้งคุณสมบัติเป็นฉนวนกันความร้อนจากแสงอาทิตย์เข้าสู่อาคาร ช่วยดูดซับน้ำฝน และให้ความร่มรื่นแก่ผู้ใช้งานและผู้พบเห็น เสมือนเป็นการนำธรรมชาติมาไว้ใกล้ตัว รวมทั้งยังสร้างภาพลักษณ์ที่สื่อถึงธรรมชาติและความใส่ใจสิ่งแวดล้อม สวนลอยฟ้าและหลังคาเขียวจึงเป็นองค์ประกอบหลักที่ขาดไม่ได้สำหรับอาคารเขียวยุคใหม่ กระทั่งเกิดเป็นปรากฏการณ์สวนลอยฟ้าและหลังคาเขียวที่แพร่กระจายไปทั่วทุกมุมโลก

การนำธรรมชาติมาไว้ในสถาปัตยกรรมเป็นแนวคิดที่ได้รับการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง โดยสิ่งก่อสร้างแรกๆ ที่จำลองสภาพ แวดล้อมธรรมชาติไว้บนตัวอาคาร คือสวนลอยแห่งบาบิโลน (Hanging Gardens of Babylon) ซึ่งสร้างขึ้นเมื่อ ๗๐๐-๘๐๐ ปี ก่อนคริสตกาล ต่อมายุคสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ (Modern) ซึ่งมีการพัฒนาเทคโนโลยีการสร้างอาคารสูง ใน ค.ศ. ๑๙๒๒ สถาปนิกยอดเยี่ยมอย่าง เลอ คอร์บูซิเย (Le Corbusier) นำเสนอวิสัยทัศน์การสร้างสวนขนาดเล็กแทรกไว้ในแต่ละหน่วยพักอาศัยในอาคารสูง เพื่อให้ผู้อยู่อาศัยได้สัมผัสบรรยากาศของพื้นที่โล่งใกล้เคียงกับการอยู่อาศัยบนพื้นราบ โดยเปิดโอกาสให้สายลมและแสงธรรมชาติถ่ายเทผ่านสวนลอยอย่างเต็มที่ แม้จะมีการสร้างจริงจำนวนไม่มากในยุคนั้น แต่แนวคิดอันล้ำนำยุคสมัยเช่นนี้ก็กลายเป็นต้นแบบการสร้างพื้นที่สีเขียวในอาคารพักอาศัยจำนวนมากที่เกิดขึ้นภายหลัง

เทคโนโลยีการปลูกต้นไม้บนอาคารมีการพัฒนาอย่างจริงจังอีกครั้งในทวีปยุโรปช่วงทศวรรษ ๑๙๗๐ จากความตื่นตัวต่อกระแสการสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีให้เมือง หลังจากนั้นหลายเมืองในยุโรปได้ออกนโยบายส่งเสริมการเพิ่มพื้นที่ธรรมชาติภายในเมือง รวมทั้งการสร้างพื้นที่สีเขียวในอาคารสูงหลายแห่ง เช่นอาคารสำนักงานใหญ่ Commerzbank สูง ๕๖ ชั้น ในเมืองแฟรงก์เฟิร์ต เยอรมนี ที่วางแผนก่อสร้างตั้งแต่ต้นทศวรรษ ๑๙๗๐ แล้วเสร็จใน ค.ศ. ๑๙๙๗ ซึ่งบริษัท Foster + Partners ออกแบบอาคารให้มีสวนลอยฟ้าขนาดใหญ่แทรกระหว่างชั้น และนอกเหนือจากสวนลอยฟ้ายังนำเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาประยุกต์ใช้เพื่อลดการใช้พลังงานในอาคาร

ช่วงเวลาใกล้เคียงกันนั้น บนแผ่นดินโลกใหม่อย่างทวีปอเมริกาก็พัฒนาเทคโนโลยีการปลูกต้นไม้บนอาคารเช่นกัน อันเนื่องมาจาก “วิกฤตการณ์น้ำมัน” (oil crisis) ในทศวรรษ ๑๙๗๐ ซึ่งกลุ่มประเทศอาหรับปฏิเสธจะส่งออกน้ำมัน สหรัฐอเมริกาจึงคิดค้นเทคโนโลยีเพื่อการประหยัดพลังงานในอาคารและสิ่งก่อสร้าง และหนึ่งในนั้นคือเทคโนโลยีการปลูกต้นไม้บนอาคารเพื่อช่วยลดความร้อนจากภายนอก อาคารที่สร้างในยุคนี้ เช่น Bateson ออกแบบโดย ซิม ฟาน เดอ ริน (Sim Van der Ryn)
และ ปีเตอร์ คาลทอร์ป (Peter Calthorpe) อาคาร Lincoln Center ออกแบบโดย เลน แบล็กฟอร์ด (Len Blackford) ทั้งสองถือเป็นอาคารใหญ่หลังแรกๆ ในอเมริกาที่ปลูกพืชพรรณธรรมชาติไว้ตามระเบียงชั้นต่างๆ จึงมีผู้เรียกอาคารทั้งสองหลังอย่างไม่เป็นทางการว่า “สวนลอยแห่งแซคราเมนโต” (Hanging Garden of Sacramento)

อาคารสำนักงานใหญ่ Commerzbank สูง ๕๖ ชั้น มีสวนแทรกตามชั้นต่าง ๆ

สวนลอยฟ้าภายในอาคารสำนักงานใหญ่ Commerzbank สร้างบรรยากาศร่มรื่นเป็นอย่างดี

อาคาร Lincoln Center ปลูกต้นไม้บนอาคารเพื่อช่วยลดความร้อนจากภายนอกเข้าสู่ภายในตัวอาคาร

Kandalama Hotel โรงแรมท่ามกลางธรรมชาติที่ปลูกพืชพรรณไม้บนหลังคาทั้งมีม่านไม้เลื้อยช่วยกรองแสงและความร้อน (by Jaksin Noyraiphoom)

สวนบนหลังคาอาคาร ACROS นอกจากจะสร้างบรรยากาศที่เป็นธรรมชาติ ยังช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้เมือง

ในทวีปเอเชีย ค.ศ. ๑๙๙๔ เจฟฟรีย์ บาวา (Geoffrey Bawa) กูรูสถาปนิกแห่งศรีลังกา ได้ให้กำเนิด Kandalama Hotel สถาปัตยกรรมสำคัญที่ผสมผสานความเป็นสมัยใหม่กับความเป็นธรรมชาติ ตลอดอาคารโรงแรมที่ทอดยาวไปตามแนวเขานั้นปลูกพืชพรรณไม้บนหลังคาช่วยลดความร้อนที่จะเข้าสู่ตัวอาคารจากด้านบน ผสานกับการติดแผงกรองแสงที่เป็นม่านไม้เลื้อย ช่วยกรองแสงและความร้อนจากด้านข้าง ทั้งยังสร้างสุนทรียะทางธรรมชาติ เช่นเดียวกับอาคาร ACROS แห่งเมืองฟุกุโอะกะ ญี่ปุ่น ที่มีสัณฐานคล้ายภูเขาขนาดใหญ่สูงกว่า ๖๐ เมตร โดยมีผนังด้านหน้าที่ลดหลั่นเป็นชั้นระเบียงและปกคลุมด้วยพืชพรรณนานาชนิด คล้ายระบบนิเวศขนาดย่อมๆ ที่เชื่อมโยงกับสวนด้านหน้าอาคาร ซึ่งเป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้เมืองด้วย

ปรากฏการณ์สวนลอยฟ้าและหลังคาเขียวที่เกิดขึ้นทั่วโลกนี้สะท้อนว่า แม้จะไม่ได้อยู่ใกล้ชิดธรรมชาติเช่นในอดีต แต่มนุษย์ก็ยังคงมีความต้องการและโหยหาธรรมชาติอยู่เสมอ พื้นที่สีเขียวเหล่านี้ล้วนมีบทบาทสำคัญในการดึงความเป็นธรรมชาติเข้าสู่เมืองใหญ่ ช่วยให้มนุษย์ในเมืองที่ปรกติมักห่างเหิน ได้ใกล้ชิดธรรมชาติมากขึ้น พร้อมทั้งเตือนสติให้พึงระลึกอยู่เสมอว่า เราเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติและไม่อาจจะแยกออกจากกันได้ •

แหล่งข้อมูล

  • กำธร กุลชล. การออกแบบชุมชนเมืองคืออะไร การติดตามหาคำตอบในรอบ ๔๐ ปี. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๔๕.
  • Tan Puay Yok. Vertical Garden City : Singapore. Singapore : Straits Times Press, 2014.
  • http://www.tenshadesofgreen.org/commerz.html
  • http://www.architectural-review.com/essays/hanging-gardens-of-sacramento/8641934.article
  • http://archnet.org/collections/10/sites/3041
  • http://www.greenroofs.com/projects/pview.php?id=476