ไกรวุฒิ จุลพงศธร
teandyou@hotmail.com
บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาของหนัง…ซึ่งก็เป็นหนังที่อาจไม่ได้ฉายอยู่แล้ว
“ห้ามฉายในราชอาณาจักรไทยเนื่องจาก ‘มีเนื้อหาขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน’ ของ ‘ประชาชน’ แน่หรือ…หรือของพวกคุณกันแน่ ? ทำไมไม่ให้เรา-ประชาชน-ได้มีโอกาสตัดสินเอง ?”
“ภาพยนตร์เพียงเรื่องเดียวไม่สามารถทำให้เด็กลุกขึ้นมาขายตัว ไม่สามารถทำให้คนหันมาร่วมเพศกันทางทวารหนัก และไม่สามารถยุแยงให้ครอบครัวของใครล่มสลายได้ เพราะทั้งหมดนั้นมันคือธรรมชาติอันหลากหลายในความเป็นมนุษย์ และใครบางคนก็กำลังพยายามจะทำให้มนุษย์กลายเป็นพระเจ้าด้วยการหลอกตัวเองไป วัน ๆ ภายใต้ระบบและกรอบความคิดอันคับแคบ โดยไม่สนใจความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในสังคม”
“Insects In The Backyard โดนแบน ในขณะที่หนังรถไฟวิปโยคอย่าง Unstoppable ได้เรต ‘ทั่วไป’-นี่คือเป็นห่วงเยาวชนหรอกรึ ?”
“เราไม่ได้ให้เรตห้ามฉาย แต่เราไม่อนุญาตให้ฉายหนังเรื่องนี้–นี่ฉันโง่หรือไรจึงไม่เข้าใจประโยคนี้”
“WE’RE INSECTS IN YOUR BACKYARD”
ข้อความข้างต้นมาจากเฟซบุ๊กของมิตรสหายและคนรู้จักบนเครือข่ายสังคมนามว่า เฟซบุ๊ก เป็นเพียงส่วนหนึ่งของความเห็นมากมายหลังจากที่คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์ และวีดิทัศน์มีมติไม่อนุญาตให้ฉายหนังอิสระเรื่อง Insects In The Backyard ของผู้กำกับ ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์
การห้ามฉายหนังไม่ใช่เรื่องใหม่นักในสังคมไทย แต่กับกรณีนี้มัน “ใหม่” มาก ๆ เพราะว่านี่เป็นหนังในยุคหลังจากที่ประเทศไทยมี พ.ร.บ. ภาพยนตร์ฯ ฉบับใหม่ที่ภูมิใจกันนักหนาว่าเมืองไทยมีระบบเรตติ้งใช้เสียที แต่ปรากฏว่าคณะกรรมการฯ ได้มีมติแล้วว่าหนังเรื่องนี้ไม่ควรจะได้รับเรต ฉ-๒๐ (หมายถึงคนดูจะต้องอายุมากกว่า ๒๐ ปีถึงจะดูได้) แต่ควรจะถูกห้ามฉายไปเลย ผู้เขียนโชคดีที่ได้ดูหนังเรื่องนี้ไปก่อนหน้าแล้ว จึงสงสัยเหลือเกินว่าอะไรที่คนอายุมากกว่า ๒๐ ปีดูไม่ได้ เพราะผู้เขียนเชื่อและพูดได้เต็มปากว่าคนอายุเกิน ๒๐ ปีสามารถรับมือกับหนังเรื่องนี้ได้
ก็ถ้าเขาสามารถเลือกตั้งได้ แต่งงานได้ มีลูกได้ หาเลี้ยงชีพได้ ฯลฯ แล้วเหตุใดรัฐจึงไม่ยอมให้เขาใช้วิจารณญาณของเขาเองในการดูหนัง เหตุใดรัฐจึงเชื่อว่าคนอายุดังกล่าวมีสิทธิทางการเมืองแต่ไม่มีสิทธิในการ เลือกชมภาพยนตร์ เหตุใดรัฐจึงไม่เชื่อว่าคนอายุเกิน ๒๐ ปี (ซึ่งก็น่าจะเป็นท่านทั้งหลายที่อ่านบทความชิ้นนี้) ไม่สามารถรับมือกับหนังเกี่ยวกับกะเทยที่เลี้ยงลูกอย่างบกพร่องจนครอบครัว ล่มสลาย หรือไม่สามารถใช้วิจารณญาณกับหนังว่าด้วยนักศึกษาขายตัว ซึ่งแม้ว่าหนังจะสำรวจเรื่องเพศอย่างหนักหน่วงแต่ก็ไม่ได้เป็นหนังโป๊ มีฉากสอดใส่โจ่งแจ้งอะไรเช่นนั้น (และต่อให้มีฉากดังกล่าวก็ไม่ควรโดนแบน) และฉากเดียวที่โป๊จนเห็นอวัยวะเพศก็ถ่ายภาพในระยะไกล โผล่มาไม่กี่วินาที และไม่ได้มีเพื่อกระตุ้นอารมณ์ใด ๆ…ตรงกันข้าม มันกลับทำให้รู้สึกเศร้าสร้อยเสียอีก
บางเสียงที่เล็ดลอดออกมาบอกว่า อาจเป็นเพราะฉากที่ลูกชายจินตนาการว่าฆ่าพ่อตัวเอง (แต่สุดท้ายเขาก็ไม่ได้ทำ เป็นเพียงจินตนาการล้วน ๆ) ซึ่งเหตุผลนี้น่าจะตกไป เพราะปมฆ่าพ่อนั้นเป็นพื้นฐานของมนุษย์ดังที่ ซิกมุนด์ ฟรอยด์ วิเคราะห์ไว้ในเรื่องปมอีดีปุส และศิลปะภาพยนตร์ก็เล่นกับปมนี้จนเป็นเรื่องสามัญ (ถ้าเราไม่ควรดูหนังเกี่ยวกับการฆ่าพ่อ แล้วอย่างนี้เรายังจะดู Star Wars ได้ไหม)
บางเสียงบอกว่าเพราะหนังเรื่องนี้ไม่มีตอนจบที่ให้ทางออก ทว่าตั้งแต่เมื่อไรกันที่หนังต้องให้ทางออกกับคนดู หลักของหนังอิตาเลียนนีโอเรียลลิสม์(ต้นธารของกระแสหนังสมจริงและหนังสะท้อน สังคม) มีขนบด้วยซ้ำว่าต้องมีตอนจบแบบปลายเปิด คือไม่มีการเฉลยเรื่องชัด ๆ แต่ปล่อยให้คนดูได้คิดเอง เพราะคนทำหนังกลุ่มดังกล่าวเชื่อว่า หากสังคมยังไม่มีทางออก หนังก็ไม่ควรเสนอทางออก เพราะทางออกที่เสกสรรปั้นแต่งขึ้นมาถือเป็นการโกหกพกลม และไม่เปิดโอกาสให้คนดูได้ใช้สมองเพื่อช่วยกันคิดหาทางออก “ในชีวิตจริง”
และที่สำคัญ การให้เรตติ้งมันไปเกี่ยวกับทางออกของคนดูตั้งแต่เมื่อไร
ความรู้เหนือความดี
ภาพยนตร์เป็นเรื่องของพื้นที่และเวลา มิใช่แค่ในจอหนัง แต่ยังรวมไปถึงพื้นที่และเวลาของสังคมอีกด้วย อันที่จริงเรื่องที่เกิดขึ้นกับ Insects In The Backyard ก็ไม่ได้เป็นสิ่งที่เกินความคาดคิดสำหรับคนมองโลกในแง่ร้าย เพราะหนังเรื่องนี้มาถึงสังคมไทยในโมงยามที่การคลั่งความดี คลั่งคนดีระบาดหนัก*
กรอบของพื้นที่และเวลาไม่ได้มีแค่กรอบเดียว อีกกรอบที่เหลื่อมเข้ามาคือความจริงว่าปีนี้เป็นปีทองของหนังอิสระไทย เพราะหนังเรื่อง ลุงบุญมีระลึกชาติ ของ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล คว้ารางวัลปาล์มทองคำซึ่งถือเป็นหนึ่งในรางวัลสูงสุดของวงการภาพยนตร์ศิลปะ อภิชาติพงศ์นอกจากมีศักดิ์เป็นทั้งนักทำหนังอิสระรุ่นพี่และเป็นคนอีสานรุ่น พี่ของ ธัญญ์วารินแล้ว หนังเรื่อง แสงศตวรรษ ของอภิชาติพงศ์เองก็โดนเซ็นเซอร์มาก่อน เช่นเดียวกับ แมลงในสวนหลังบ้าน ของธัญญ์วาริน ด้วยข้อหาเดียวกันคือเสื่อมเสียศีลธรรมอันดี
ทีนี้ถ้าเกิดโยนความดี (อันเป็นเรื่องอัตวิสัย) ทิ้งไป แล้วมาคุยเรื่องความรู้ ผู้เขียนก็ขออธิบายว่า การสั่งห้ามฉายหนังเรื่องนี้ทำให้สังคมไทยขาดโอกาสที่จะพูดคุยและสร้างความ รู้อะไรต่อไปบ้าง
ผู้เขียนคิดว่า Insects In The Backyard เป็นหนังไทยที่พูดเรื่องเพศสภาพได้ใหม่ที่สุดในบรรดาหนังไทยด้วยกันก็ว่าได้ เพราะผู้เขียนเองก็ยังไม่เคยเห็นหนังไทย (ขนาดยาว) เรื่องไหนสำรวจ “การเลื่อนไหลของเพศสภาพ” (The Fluidity of Sexuality) ได้เป็นเรื่องเป็นราวขนาดนี้ (และหวังว่าในอนาคตจะมีคนเดินรอยตามและสำรวจลึกขึ้นไปอีก) การเลื่อนไหลของเพศสภาพเป็นแนวคิดในแวดวงวิชาการมานานแล้ว อธิบายแบบหยาบ ๆ ว่าเพศสภาพเป็นเรื่องที่เปลี่ยนแปลงกันไปได้เรื่อย ๆ มนุษย์คนหนึ่งเกิดมาอาจเริ่มต้นจากการเป็นผู้ชาย ต่อมาไปฉีดหน้าอกแล้วแต่งหญิง แต่เวลามีเพศสัมพันธ์ก็ยังชอบเป็นฝ่ายสอดใส่ ต่อมาเขาก็ไปรักผู้ชายคนหนึ่งมาก ๆ จนไปแปลงเพศ แล้วต่อมาเขาก็ไปรักกับผู้หญิงด้วยกันเอง ลงท้ายด้วยการกลับไปเป็นผู้ชายอีกรอบหนึ่ง เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นมากมายในโลกปัจจุบัน และ “หนังเกย์” ระดับนานาชาติก็เล่นกับเรื่องราวนี้อย่างเป็นเรื่องปรกติ เช่นในหนังของ เปโดร อัลโมโดบาร์ (All About My Mother, ๑๙๙๙ Bad Education, ๒๐๐๔) จอห์น คาเมรอน มิตเชลล์ (Hedwig and the Angry Inch, ๒๐๐๑ Shortbus,๒๐๐๖) เป็นต้น
โดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม Insects In The Backyard เล่นกับแนวคิดนี้อย่างหนักหน่วง หนังเล่าเรื่องของธัญญ่า (รับบทโดยผู้กำกับธัญญ์วารินเอง) กะเทยแต่งหญิงที่หาเลี้ยงชีพด้วยการเป็นนักเขียน เธอมีลูก ๒ คน คือเจนนี่และจอนนี่ แต่ทั้งสองรับไม่ได้ที่มีพ่อเป็นกะเทยแต่งหญิง ดังนั้นครอบครัวจึงตกลงกันให้เรียกธัญญ่าว่า “พี่สาว” แทน ไม่ต้องอะไรมาก เนื้อเรื่องแค่นี้ก็พลิกภาพเกย์ในหนังไทยไปหลายชั้นแล้ว ตั้งแต่เกย์ในเรื่องนี้ไม่ใช่เกย์ตัวตลก เกย์ตัวประกอบ เกย์เพื่อนนางเอก แต่เป็นตัวละครหลักในหนังชีวิต ! และเขามีลูก ใช่ เขาเป็นกะเทยแต่งหญิง แต่ครั้งหนึ่งเขาเคยอยู่กินกับผู้หญิงคนหนึ่งจนมีลูกด้วยกัน ๒ คน สิ่งที่น่าสนใจมาก ๆ ก็คือในฉากจินตนาการที่ภรรยาของธัญญ่ากลับมา การสวมกอดของทั้งคู่นั้นทำให้กรอบเพศสภาพแบบเดิม ๆ ขาดสะบั้น ราวกับบอกว่าสุดท้ายจะเพศอะไรก็เป็นเรื่องภายนอกเหมือนเสื้อผ้าที่เปลี่ยนไป แต่ที่สำคัญและแท้จริงยิ่งกว่าเพศก็คือความรัก ความผูกพันที่มนุษย์สองคนมีให้กัน
มากไปกว่านั้น มิใช่แค่ตัวละครกะเทยแต่งหญิงเท่านั้นที่มีความเลื่อนไหลทางเพศ แต่ตัวละครลูกชายและลูกสาวของเขาก็มีเช่นกัน เมื่อธัญญ่าไม่สามารถเติมเต็มความรักแก่ลูกทั้งสองได้ ทั้งคู่จึงตัดสินใจออกไปหาเลี้ยงชีพด้วยการขายบริการแทน จอนนี่ยังเป็นเด็กมัธยม ลูกค้าประจำของเขาส่วนใหญ่เป็นเกย์และกะเทยแปลงเพศ ซึ่งเขาก็เริ่มต้นจากการดูถูกคนเหล่านั้น แต่เมื่อถึงฉากสำคัญฉากหนึ่ง เขากลับเรียกร้องความอบอุ่น การสวมกอดจากคนเหล่านั้น จอนนี่ยังมีเพื่อนสนิทเพศชายที่ดูแมนทั้งแท่ง แต่หนังก็ให้นัยว่าเขาอาจแอบชอบจอนนี่อยู่ ภาพตอนจบของจอนนี่นั้นน่าสนใจมาก เขานั่งอยู่หน้าร้านเกม ข้างหนึ่งเป็นเด็กสาววัยรุ่นที่เขาดูมีท่าทีสนใจ แต่อีกข้างหนึ่งก็เป็นเด็กผู้ชายวัยรุ่นที่มีท่าทีสนใจเขาเช่นกัน ถึงหนังจะทำให้คิดว่าจอนนี่คงมีแนวโน้มจะไปชอบเด็กสาวข้าง ๆ แต่ในโลกของหนังเรื่องนี้ที่เพศสภาพหมุนเวียนเปลี่ยนผ่าน ก็ไม่มีเพศสภาพใดที่แน่นอนเสมอไป
แต่ตัวละครสำคัญที่สุดในประเด็นดังกล่าวได้แก่เจนนี่ ลูกสาวของธัญญ่าที่เรียนอยู่ระดับมหาวิทยาลัย เธอหนีออกจากบ้านไปอยู่กับชายหนุ่มคนหนึ่ง เขาเป็นคนแสนดีแต่เพราะปัญหาครอบครัวทำให้เขาไปขายตัว ว่าแล้วเพื่อพิสูจน์ความรัก เจนนี่จึงตัดสินใจไปขายตัวกับแฟนหนุ่มด้วย เธอทำลงไปด้วยความเต็มใจ เธอเจอกับลูกค้าหลากหลายประเภท และในฉากหนึ่งที่ “ก้าวหน้า” ที่สุดเมื่อพูดถึงประวัติศาสตร์เพศสภาพในหนังไทย คือฉากที่กะเทยคนหนึ่งซื้อบริการจากทั้งเจนนี่และแฟนของเธอ โดยให้ทั้งสองร่วมรักกันให้เขาดู แต่การร่วมรักนั้นเจนนี่จะต้องเป็นฝ่าย “กระทำ” และแฟนหนุ่มของเธอต้องเป็นฝ่าย “ถูกกระทำ” แน่นอนว่ามือใหม่อย่างเจนนี่นั้นทำทุกอย่างลงไปด้วยความกระอักกระอ่วน จนเมื่อกลับบ้านเธอก็นั่งจับเข่าคุยกับแฟนหนุ่มว่า คนแมน ๆ อย่างเขาชอบเป็นฝ่ายถูกกระทำอย่างนั้นหรือ เขาตอบแบ่งรับแบ่งสู้ แต่ไม่ว่าเขาจะตอบแบบไหนเจนนี่ก็ไม่แคร์
มันเป็นฉากน่าประทับใจในแบบไม่ธรรมดาเลย ที่เจนนี่ผู้หนีออกจากบ้านเพราะเกลียดพ่อ กลับได้รับรู้ถึงรสชาติแรกของความรักบริสุทธิ์เหมือนที่พ่อกับแม่ของเธอมี ให้กัน มันเป็นความรักที่เธอไม่กังวลอีกแล้วว่าคนรักของเธอจะเป็นเพศไหน เขาจะชอบทำอะไรในการร่วมเพศ เพราะไม่ว่าเขาจะเป็นอย่างไร เธอก็ยอมรับในความเป็นเขา และเธอก็รักเขา
หลังจากที่ดูหนังเรื่องนี้ [ฉาย ๒ รอบในเทศกาลภาพยนตร์โลก กรุงเทพฯ ครั้งที่ ๘ (the 8th World Film Festival of Bangkok)] ผู้เขียนได้พบนักศึกษาปริญญาเอก ๓ คน ๒ ใน ๓ เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย และทั้งหมดพูดกับผู้เขียนในแบบที่ตรงกับใจผู้เขียนก็คือ เราอยากให้นักศึกษาของเราได้มาดูหนังเรื่องนี้ เราอยากให้คนในสังคมได้ดูหนังเรื่องนี้ เพราะหนังเรื่องนี้ดูง่าย (แตกต่างจากหนังอิสระเรื่องอื่น ๆ ที่หนักหน่วงทางสุนทรียะ) และมันพูดเรื่องของวัยรุ่นในสังคมตอนนี้ มันจะนำเราไปสู่การพูดคุยและการไหลเวียนของความรู้อีกมากมาย การเลื่อนไหลของเพศสภาพมิได้เป็นเพียงประเด็นเดียวเท่านั้น มันยังมีแง่มุมอีกมากมายที่สังคมจะสามารถ “ต่อยอด” ได้ ไม่ว่าจะประเด็นนักศึกษาขายตัว สิทธิ เสรีภาพ และการนำเสนอภาพเกย์ในสังคมไทย ครอบครัวในโลกโลกาภิวัตน์ พัฒนาการของวงการหนังอิสระไทยจุดร่วมจุดต่างของวัยรุ่นในหนังเอเชียตะวันออก เฉียงใต้ ฯลฯ
แต่เราจะไม่ได้ทำ สังคมจะไม่ได้ดู ไม่ได้พูดคุย ไม่ได้ความรู้เหล่านี้ เพราะรัฐไม่ให้ฉาย
มันช่างเสียดเย้ยเหลือเกิน (ข้อ ๑) ในขณะที่สังคมไทยชอบวาดฝันให้หนังไทยเป็นอย่างหนังฮอลลีวูด แต่ในตอนนี้หนังที่ชาวฮอลลีวูดชื่นชมกันมากที่สุดเรื่องหนึ่งก็คือ The Kids Are All Right (๒๐๑๐) ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับคู่เลสเบียนเลี้ยงลูกและพวกเขาก็เติบโตเป็นคนปรกติ เสียงชื่นชมกันว่านี่คือนิมิตหมายใหม่ของหนังเกย์ ชาวฮอลลีวูดเบื่อเหลือเกินแล้วกับบรรดาหนังเกย์ที่ต้องจบด้วยการให้เกย์ไป ตายหรือไม่มีความสุข-ซึ่งนี่ก็อาจเป็นจุดอ่อนใหญ่ ๆ ของ Insects In The Backyard ละครับ คือมันเป็นหนังเกย์ ค.ศ. ๒๐๑๐ ที่ยังมากับโลกทัศน์อนุรักษนิยมซึ่งย้ำภาพว่าชีวิตเกย์ต้องไม่มีความสุข เกย์ต้องเลี้ยงลูกแล้วไม่ได้ดี และครอบครัวแบบที่ดีที่สุดคือต้องมีพ่อแม่ลูกอยู่ด้วยกันพร้อมหน้าสถาน เดียว–แม้ขนาดว่าหนังจะมีแก่น “อนุรักษนิยม” และ “อุ้มชูสถาบันครอบครัวแบบเดิม ๆ” เช่นนี้ หนังก็ยังถูกรัฐปฏิเสธ
มันช่างเสียดเย้ยเหลือเกิน (ข้อ ๒) เพราะเหตุการณ์นี้ทำให้ผมนึกถึง I’m Fine สบายดีค่ะ หนังสั้นเรื่องดังของธัญญ์วารินเอง หนังเรื่องนี้ทั้งชนะเลิศเวทีประกวดของมูลนิธิหนังไทย ทั้งได้ฉายทางโทรทัศน์ทั่วประเทศ และหาดูได้ในเว็บไซต์ YouTube(ด้วยการพิมพ์ว่า I’m Fine ฉันสบายดี) หนังสั้นมากและดูง่ายมาก ธัญญ์วารินกำกับและนำแสดงเอง โดยแต่งตัวเป็นหญิงสาวสวมชุดไทยนั่งอยู่ในกรงที่ตั้งอยู่บริเวณอนุสาวรีย์ ประชาธิปไตย เวลาหนังถ่ายภาพเธอก็จะเห็นทั้งเธอและอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยติดอยู่ในกรง มีคนมาถ่ายรูปเธอมากมาย มีนักข่าวมาสัมภาษณ์เธอว่าเธอจะออกจากกรงไหม (ทั้ง ๆ ที่กุญแจอยู่แค่เอื้อม) แต่เธอบอกว่าเธอจะไม่ออกจากกรง เธอไม่ร้อน (ทั้งที่เหงื่อออก) เธอยินดีที่จะถูกขังอยู่ในกรง เพราะเธอเป็นคนไทย !
ผู้เขียนอยากจะเพิ่มบทพูดของเธอให้มากขึ้นอีกนิด อยากให้ตัวละครของเธอพูดว่า “I’m Fine สบายดีค่ะ ดิฉันเป็นคนไทยค่ะ ดิฉันเลยชอบอยู่ในกรง ดิฉันไม่ชอบสิทธิเสรีภาพ ดิฉันอยู่ในเมืองไทยอันแสนงดงาม ประเทศนี้ไม่มีกะเทย ถ้ามีก็ไม่มีการร่วมเพศ ไม่มีชีวิตจิตใจ ยกเว้นแต่ในละครและหนังที่ให้ดิฉันออกมาทำตัวตลก ๆ และบ้าผู้ชาย ประเทศนี้ไม่มีนักศึกษาขายตัวเลยค่ะ ประเทศนี้ไม่มีการทำแท้ง ซ่อนไว้เถิดค่ะ เก็บมันไว้ใต้พรมนะคะ เก็บแมลงเหล่านี้ไว้ในสวนหลังบ้าน อยู่ในสวนหลังบ้านยังไม่พอ ต้องหายาฆ่าแมลงมาฉีดด้วยนะคะ แต่เอ๊ะ ทำไมยิ่งฉีดเท่าไร แมลงในสวนหลังบ้านก็ไม่ตาย มีแต่เพิ่มภูมิต้านทาน และดูเหมือนว่ามันกำลังขนขบวน…ออกมาหน้าบ้าน !”
หมายเหตุ : ขณะเขียนบทความชิ้นนี้ หนังเรื่อง Insects In The Backyard กำลังเข้าสู่กระบวนการอุทธรณ์ ซึ่งผลจะเป็นอย่างไรน่าจะรับทราบกันในเวลาไล่เลี่ยกับที่นิตยสาร สารคดี ฉบับนี้วางแผง
* อ่านเพิ่มเติมใน วันรัก สุวรรณวัฒนา, “ ‘คำพิพากษา’ กรณีฟิล์ม-แอนนี่ : ‘ฮิสทีเรียทางศีลธรรม’ ที่ฝังรากลึกในสังคมไทย” ในเว็บประชาไท (http://www.prachatai.com/journal/2010/09/31269)