เรื่อง : วีระศักร จันทร์ส่งแสง
ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์

sanun

คงด้วยบทบาทนักพัฒนาที่ทำงานชุมชนมาร่วม ๓๐ ปีนั่นเองที่ทำให้ สนั่น ชูสกุล ได้รับรางวัลสันติประชาธรรม ประจำปี ๒๕๕๘

พื้นเพเดิมของสนั่นเป็นชาวท่าศาลา นครศรีธรรมราช  จบการศึกษารัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แล้วไปทำงานอยู่ในหมู่บ้านแถวชายแดน ๒ ปี  ใช้ชีวิตเร่ร่อนอยู่ช่วงหนึ่งก่อนเข้าทำงานชุมชนในพื้นที่สุรินทร์มาจนปัจจุบัน ในบทบาทนักพัฒนาเอกชนที่ทำงานร่วมกับชุมชน

ในแง่มุมที่เกี่ยวข้องกับอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ นั้นสนั่นเล่าว่า

“ผมเข้าเรียนธรรมศาสตร์ปี ๒๕๒๑ ไม่เจอท่าน  แต่เข้าไปก็ยังเห็นรอยเท้าของอาจารย์ เจอศิษย์ที่ท่านสร้างไว้ สำนักบัณฑิตอาสาฯ  หลักสูตรการเรียนที่ก้าวหน้า  ได้ยินกิตติศัพท์ของท่านว่าเป็นคนตรง แต่มีศิลปะระดับสูงในการอยู่ร่วมและเสนอสิ่งที่ตัวเองเชื่อหลาย ๆ เรื่องต่อผู้ปกครองที่ใช้อำนาจ เจ้ายศเจ้าอย่าง  ท่านรู้จักแข็งรู้จักอ่อน เป็นคนติดดิน เรียบง่าย อย่างที่มีเรื่องเล่าว่า มีคนมาหาที่บ้าน เห็นชายคนหนึ่งกำลังดายหญ้ากวาดขยะอยู่ ก็บอกว่ามาพบอาจารย์ป๋วย  ชายนั้นทำงานต่อไปจนเสร็จ ล้างมือ แล้วมาบอกว่าผมนี่แหละอาจารย์ป๋วย”

ในแง่แนวคิดสนั่นเห็นว่า

“อาจารย์มีความลึกในเรื่องที่คนยุคนั้นยังไม่ทันคิดถึง แต่ท่านได้คิดไปก่อนแล้ว อย่างเรื่องการพัฒนาชนบทที่ท่านให้เริ่มจากภูมิปัญญาชาวบ้าน ให้ไปเรียนรู้จากชาวบ้าน ร่วมคิดร่วมวิเคราะห์ร่วมแก้ปัญหากับชาวบ้าน พูดแบบกลาง ๆ ว่าเป็นการพัฒนาแบบมีส่วนร่วม  แม้เราจะมีคำตอบอยู่แล้ว แต่บางทีก็อาจใช้ไม่ได้กับทุกพื้นที่ เพราะการพัฒนาไม่มีสูตรสำเร็จ ปัจจัยสำคัญที่สุดของการพัฒนาคือคนต้องลุกขึ้นมาเรียนรู้ด้วยตัวเอง วิเคราะห์ปัญหา แสวงหาทางออก ตัดสินใจและลงมือปฏิบัติด้วยตัวเองได้  ไม่ใช่มีคนคิดมาแล้วเรียกชาวบ้านมาทำ จะไม่เกิดการเรียนรู้ที่ลึกซึ้งและการปฏิบัติเองจนชำนิชำนาญในการแก้ปัญหา  มีบทเรียนการพัฒนาที่ล้มเหลวอยู่มาก วงการรัฐบาลก็ยังอยู่ในลักษณะแบบนี้ ในขบวนการสังคมนิยมยุคนั้นมีคำว่าจัดตั้ง ก็คือการลงไปชี้นำชาวบ้าน แต่กระบวนการพัฒนาศักยภาพชาวบ้านในแบบที่จะให้ลุกขึ้นมาแก้ปัญหาด้วยตัวเองไม่มี  อาจารย์ป๋วยได้วางพื้นฐานเรื่องนี้มาอย่างดี”

เมื่อมาทำงานชุมชนเขาเองก็อิงตามแนวคิดดังกล่าว

“เราก็มีร่องของเราอยู่นะ แต่สิ่งที่เราเรียนรู้จากอาจารย์ป๋วยก็เป็นแนวนี้ละ  ท่านสอนนักพัฒนารุ่นก่อนไว้ แล้วเราได้รับการถ่ายทอดต่อ  พี่บำรุง บุญปัญญา บอกว่า อาจารย์ป๋วยสอนไว้สามข้อ หนึ่ง-ลงจากหอคอยงาช้าง มาเจอความจริง มาอยู่กับชาวบ้านให้เห็นของจริง  สอง-กัดไม่ปล่อย ทำอะไรทำให้จริงและต่อเนื่อง  สาม-ให้มีอุดมคติอยู่ในใจเสมอ  นี่เป็นข้อคิดคำสอนที่คมคายมากสำหรับคนที่ยืนอยู่ในจุดแบบที่เรายืนอยู่”

เรื่องรางวัลเกียรติยศสันติประชาธรรม (พิเศษ)

“เขาคงมองเราในฐานะคนที่ทำงานเพื่อสังคมตามแนวทางอาจารย์ป๋วย โดยเฉพาะการทำงานชุมชนด้วยความเชื่อเรื่องการพัฒนาจากฐานราก ซึ่งเราทำงานด้วยความเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงสังคมต้องเปลี่ยนจากระดับล่างเป็นสำคัญ  คณะกรรมการคัดเลือกเขาอาจมองว่าเราอยู่ในบทบาทเหล่านี้และอยู่ในพื้นที่มาต่อเนื่องยาวนาน  ผมทำงานพัฒนาแบบนี้มา ๓๔ ปีแล้วในหลายบทบาท แต่ยังอยู่บนฐานชุมชนและชาวบ้านคนธรรมดา  แน่นอนว่าในสังคมหนึ่ง ๆ คนคิดได้ไม่เท่ากัน นั่นเป็นศักยภาพของแต่ละคน แต่การที่เขาสร้างบ้านแปงเมืองมาได้ก็แสดงว่าต้องมีดีของเขาอยู่ มีผู้นำที่มีบารมี มีคนเก่งในการประสาน ไกล่เกลี่ยความขัดแย้ง จัดการปัญหาที่เกิดขึ้นหลากหลาย ทำให้คนมาอยู่ใต้กฎกติกาเดียวกันได้ มีช่าง ศิลปิน และอื่น ๆ ประกอบกันขึ้นเป็นชุมชน  หากนักพัฒนามองไม่เห็นจุดนี้ เห็นตัวเองดีเด่อยู่คนเดียว คิดไปเสร็จสรรพแล้วสั่งการ ก็อาจเป็นสิ่งแปลกปลอม  ผมเองก็เคยทำอะไรเป็นสิ่งแปลกปลอมของชาวบ้านหลายอย่างในชีวิตการทำงานของตัวเอง เราก็เรียนรู้มาเรื่อย ๆ  แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าชาวบ้านเก่งให้เขาทำไปสิ สำหรับผมจุดสมดุลคือ คนนอก-คนในเรียนรู้ร่วมกัน ชาวบ้านอาจเก่งอยู่ในขอบเขตของเขา เรื่องภายนอกไม่เท่าทัน จึงต้องมีปัญญาชนท้องถิ่น ปัญญาชนสาธารณะ ที่จะเป็นปัจจัยในการเปลี่ยนแปลงจากการพัฒนา  ในประวัติศาสตร์ยังไม่เคยมีที่ไหนที่ชาวนารบกับรัฐแล้วจะชนะหากไม่ได้รับความร่วมมือจากชนชั้นอื่นด้วย ทุกยุคสมัยมาเลย ต้องมีคนนอกร่วมด้วย เป็นความจำเป็นของการเปลี่ยนแปลงที่คนใน-คนนอกต้องร่วมมือกัน กับการบริหารจัดการที่ดีจะเป็นพลังในการเปลี่ยนแปลง  เราเคยมีคำเท่ ๆ ว่า-คำตอบอยู่ที่หมู่บ้าน มายาวนาน ที่จริงอาจไม่ใช่ คำตอบอยู่ในทุกที่”

ในวาระ ๑๐๐ ปีชาตกาล ศ. ดร. ป๋วย อึ๊งภากรณ์ สนั่นเห็นคล้ายทายาทของท่าน ที่บอกว่าอย่าทำให้อาจารย์ป๋วยเป็นเทวดา ท่านก็คนธรรมดาที่มีข้อดีข้อเสีย

แต่เขาเห็นว่าแนวคิดประสบการณ์การพัฒนาเป็นสาระที่ต้องเชิดชูให้ยืนยาวกว่าอายุคน

“มีคนไม่มากนักที่จะเป็นหลักจำของผู้คนได้ในระดับอาจารย์ป๋วย จึงน่าจะทำให้ทั้งประวัติ ผลงาน แนวคิดของท่านเด่นชัดขึ้นมา  ให้มองเห็นอาจารย์ป๋วยในมิติมนุษย์ธรรมดาที่มีความพิเศษ  และไม่ว่าจะอย่างไรในที่สุดแล้วสิ่งที่เหลืออยู่อย่างยิ่งใหญ่คือ สังคมที่เปลี่ยนแปลงไปด้วยแนวคิดแนวปฏิบัติของท่าน ที่คนอื่นสามารถเอาเป็นเยี่ยงอย่างได้ นี่เป็นเรื่องสากล”