เรื่อง : วีระศักร จันทร์ส่งแสง
ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์
กษิดิศ อนันทนาธร เป็นเด็กหนุ่มจากพิจิตร เรียนมัธยมฯ ปลายที่เชียงใหม่ สอบเข้าเรียนคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทันทีที่เรียนจบเขาก็สมัครใจที่จะเป็นคนทำ สารป๋วย นิตยสารรายเดือนในโครงการ ๑๐๐ ปีชาตกาล ศ. ดร. ป๋วย อึ๊งภากรณ์
บรรณาธิการหนุ่มเล่าว่า เขารู้จักชื่อ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ตอนเรียนอยู่ชั้นมัธยมฯ ปลาย ในช่วงไล่เลี่ยกับที่ได้รู้จักชื่อ ปรีดี พนมยงค์ ไอดอลที่ทำให้เขาเบนเข็มจากการเรียนแพทย์มาเรียนนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ช่วงเรียนมหาวิทยาลัยเขาสนใจเข้าร่วมกิจกรรมของโครงการเตรียมงานรำลึก ๑๐๐ ปีชาตกาล ที่นำโดย ส. ศิวรักษ์ อยู่บ่อยครั้ง และได้รับการชักชวนให้ร่วมทำโน่นนี่อยู่เรื่อยมา เช่นให้เป็นผู้ดูแลป๋วยเสวนาคารที่วัดปทุมคงคา
กระทั่งปีที่เขาเรียนจบเป็นช่วงที่มูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป ผู้ริเริ่มสารป๋วย ส่งมอบนิตยสารให้มาอยู่ภายใต้การดำเนินงานของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กษิดิศจึงได้มารับหน้าที่เป็นบรรณาธิการตั้งแต่ฉบับเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๘
จากความสนใจเรื่องประวัติบุคคลและการได้รู้จักจากการอ่าน เมื่อมาเป็นคนทำหนังสือ กษิดิศก็ได้รู้จักป๋วยในแง่มุมที่หลากหลายขึ้น “จากการที่ต้องไปสัมภาษณ์คนที่รู้จักอาจารย์ป๋วย การได้อยู่กับต้นฉบับงานเขียนของอาจารย์ป๋วยเยอะมาก (จากการเป็นบรรณาธิการหนังสือชุด Complete work ของอาจารย์ป๋วย) ทำให้รู้สึกว่าท่านยังไม่ตายไปจากเรา งานหลายอย่างยังตอบโจทย์เรา สิ่งที่ท่านทิ้งไว้ยังเป็นหลักเป็นแนวทางให้เราเดินตามได้”
เขายกตัวอย่างลงรายละเอียดไปทีละเรื่อง
“ชีวิตท่านหลากหลายมาก ทำงานเยอะแยะไปหมดอย่างไม่น่าเชื่อว่าคนคนหนึ่งจะทำอะไรได้มากมายขนาดนั้น เวลาทำงานเราคิดว่าเหนื่อยแทบตายแล้ว พอมองอาจารย์ป๋วย ก็รู้สึกว่าทำมาได้อย่างไร” บก. สารป๋วย กล่าวเกริ่น แล้วแจกแจงถึงมิติอันหลากหลายในชีวิตของ ศ. ดร. ป๋วย “เป็นคนที่มีสีสันในชีวิต เป็นตัวอย่างของมนุษย์ที่ดี สังคมเราถ้ามีคนแบบนี้มากๆ ผมว่าเป็นเรื่องที่ดี คือท่านเป็นคนที่รู้รอบและมีความสามารถ เป็นผู้บริหาร เป็นนักเศรษฐศาสตร์ เล่นดนตรี เขียนหนังสือ เป็นนักปฏิบัติ นักพัฒนาชนบท ลงพื้นที่ด้วย ไม่ใช่เอาแต่อยู่บนหอคอยงาช้าง มีความสุขกับชีวิต ลูกน้องรักใคร่ เกิดมาเป็นคนทำได้อย่างนี้มันก็เป็นชีวิตที่ดี
“ท่านเสนอในหลายวาระว่า คนเราต้องมีความดี ความจริง และความงาม เป็นหลักใหญ่ในการดำเนินชีวิต สังคมในอุดมคติของท่านขอให้มีหลักสี่ประการ คือ (๑) สมรรถภาพ (๒) เสรีภาพ (๓) ความยุติธรรม (๔) ความเมตตากรุณา ที่สำคัญคือท่านไม่ได้เรียกร้องผ่านคำพูดและข้อเขียนเพียงอย่างเดียว ยังลงมือทำให้ความฝันของท่านเป็นจริงด้วย”
หรืออย่างเช่น “ท่านพูดถึงเรื่องสันติประชาธรรม สิ่งที่ท่านปรารถนาคือหลักการที่เรียกว่า ประชาธรรม เพราะเห็นว่า ประชาธิปไตย ใช้กันจนเฝือแล้ว และประชาธรรม นั้นเรียกร้องสองข้อหลัก คือ (๑) สิทธิเสรีภาพแบบธรรมดา ๆ และ (๒) การมีส่วนร่วมในการกำหนดชะตากรรมของสังคม”
เขากล่าวต่อไปว่า “ท่านยังให้เกียรติคนอื่นเป็นอย่างมากด้วย เช่นในบทความต่าง ๆ ท่านจะบอกเลยว่าใครช่วยเตรียมบ้าง บางเล่มเพื่อนร่วมงานที่มาช่วยปรับปรุงแก้ไข อย่างคุณหญิงสุภาพ ยศสุนทร ท่านก็ให้เกียรติเป็นผู้เขียนร่วมกันเลยทีเดียว”
ส่วนในหมู่คนรุ่นใหม่เช่นตัวเขาเองนั้น กษิดิศยืนยันว่าลูกแม่โดมทุกคนที่เรียนธรรมศาสตร์ รังสิต จะรู้จักป๋วย “ห้องสมุด รูปปั้น ถนน ชื่อป๋วยเต็มไปหมด ก็รู้จักผ่านสิ่งเหล่านี้ รู้จักหอสมุดมหาวิทยาลัยที่เรียกกันว่า หอป๋วย ใครเดินผ่านหน้าอาคารเรียนรวมก็จะเห็นรูปปั้นที่มีโคลงบัณฑิตผู้ทรงธรรม์ จากอนุสรณ์เศรษฐศาสตรบัณฑิตปี ๒๕๐๙ กับวาทะสำคัญของท่านอยู่ด้านข้างและประวัติย่ออยู่ด้านหลัง ถ้าถามว่าเป็นใคร ก็คงพอตอบได้ว่าเป็นอดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้ว่าการแบงก์ชาติ เพราะวันแรกที่เข้ามาก็มีวิดีโอประวัติมหาวิทยาลัยฉายให้ดู แต่ลึก ๆ ไปอาจรู้จักไม่มาก”
แล้วรูปปั้นของท่านได้รับการบูชาในฐานะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ไหม ?
“นี่เป็นเรื่องน่าเศร้า ท่านต่อต้านเรื่องนี้มาตลอด และหน้ารูปปั้นไม่มีแท่นให้วางพวงมาลัย ไม่มีกระถางธูป แต่ถึงช่วงสอบเข้ามหาวิทยาลัย สอบปลายภาค ก็มีคนมาปักธูปในสนามหญ้า มีดอกไม้ หมาก-พลู น้ำแดง ไข่ต้ม มาวาง มีคนมาวิ่งแก้บน”
ก็ได้แต่คาดหวังว่าเนื้อหาสาระที่สื่อผ่านสารป๋วย ที่เผยแพร่ฉบับละ ๗,๐๐๐ เล่ม จะช่วยเหนี่ยวนำคนอ่านร่วมสมัยให้กลับมาสู่แก่นสารทางปัญญา ที่เป็นสารัตถะอันแท้จริงแห่งชีวิตของลูกผู้ชายธรรมดาที่ชื่อ ป๋วย อึ๊งภากรณ์