ไกรวุฒิ จุลพงศธร
teandyou@hotmail.com
“ภาพยนตร์” ฉบับนี้ขอต้อนรับการเข้าสู่ตลาดไทย (และตลาดโลก) ของเน็ตฟลิกซ์ (Netflix) บริการเช่าหนังด้วยระบบสตรีมมิงผ่านโทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ และโทรศัพท์มือถือ ก่อนหน้านี้เน็ตฟลิกซ์ปักหลักให้บริการที่บางประเทศ ปัจจุบันขยายกิจการเป็นการบริการระดับโลก จนเป็นที่น่าจับตาอย่างยิ่งว่าจะทำให้รูปแบบการรับชมสื่อในประเทศไทยเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ นอกจากทำหน้าที่คล้ายๆ ชั้นวางสินค้าที่ฉายภาพยนตร์และซีรีส์ซึ่งสร้างโดยบริษัทอื่นๆ จุดเด่นของเน็ตฟลิกซ์คือการลงทุนจัดจำหน่ายภาพยนตร์และสร้างซีรีส์เองด้วย ที่โด่งดังก็มี อย่างซีรีส์การเมือง House of Cards และซีรีส์แอ็กชัน Jessica Jones ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงจนกลายเป็นกระแสฮือฮาทั่วอเมริกาในช่วง ๓ เดือนที่ผ่านมา คือ Making a Murderer สารคดีความยาว ๑๐ ชั่วโมง ฉายครั้งแรกวันที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๕๘ หลังจากนั้นไม่ถึง ๓๐ วันก็เกิดกระแสท่วมท้นจนมีผู้ลงชื่อมากกว่า ๑ แสนคน เรียกร้องให้ประธานาธิบดีโอบามาใช้อำนาจเพื่อให้มีการอภัยโทษแก่นักโทษสองคนซึ่งเป็นตัวเอกของสารคดี
ตัวเลขดังกล่าวสะท้อนรูปแบบการดูสื่อแบบใหม่ๆ รวมทั้งก่อให้เกิดความตื่นตาตื่นใจของสาธารณะ (public spectacle) รูปแบบใหม่ๆ กล่าวคือ ในขณะที่ซีรีส์แบบเดิมๆ ฉายเพียงสัปดาห์ละตอน แต่เน็ตฟลิกซ์ปล่อยให้โหลดดูได้ทันทีทั้งฤดูกาล จุดแข็งนี้คือการเข้าใจธรรมชาติของคนดูซีรีส์ว่าต้องการกำหนดเวลาด้วยตัวเอง เมื่อซีรีส์ออกฉายหลายคนติดงอมแงมไล่ดูจนจบทีเดียว ๑๐ ตอนรวดภายในวันสองวันเท่านั้น การ “เร่ง” ตะลุยดูซีรีส์หลายชั่วโมงภายในระยะเวลาอันสั้นนี่เองที่สะท้อนถึง “ความรวดเร็วและอัดแน่น” จนแปรรูปเป็นพลังที่ทำให้คนล่าชื่อเป็นแสนคนได้ภายในระยะเวลาสั้นๆ
Making a Murderer คือรายการสารคดีแนวอาชญากรรม (หรือที่เรียกว่า true crime) โดยสองผู้กำกับ ลอรา ริซซีอาร์ดี (Laura Ricciardi) และ มอยรา เดมอส (Moira Demos) ได้ตามเก็บฟุตเทจคดีของ สตีเวน เอเวอรี (Steven Avery) เป็นเวลา ๑๐ ปีเต็ม เนื้อเรื่องเล่าย้อนไปตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๘๕ เอเวอรีชายหนุ่มชนชั้นกรรมาชีพในรัฐวิสคอนซินถูกจับข้อหาข่มขืนและต้องโทษจำคุก จนกระทั่งมีการค้นพบหลักฐานทางดีเอ็นเอว่าเขาไม่ได้เป็นคนผิด เขาจึง “ติดคุกฟรี” ถึง ๑๘ ปีเต็ม เมื่อได้รับการปล่อยตัว เอเวอรีก็กลายเป็นบุคคลผู้มีชื่อเสียงประจำรัฐเนื่องจากฟ้องร้องทางการและเจ้าหน้าที่รัฐหลายคนโดยเรียกร้องค่าเสียหายถึง ๓๖ ล้านดอลลาร์สหรัฐ
แต่ระหว่างที่ฟ้องร้องนั่นเอง เอเวอรีถูกตำรวจจับข้อหาฆ่าคนตาย เนื่องด้วย เทเรซา ฮัลบาค (Teresa Halbach) หายสาบสูญ และเอเวอรีเป็นบุคคลสุดท้ายที่พบเธอในเขตอู่ซ่อมรถของเขา ต่อมามีการค้นพบหลักฐานมัดตัวเอเวอรี ทั้งรถและกระดูกของฮัลบาคในพื้นที่อู่ซ่อมรถ รวมถึงเลือดและดีเอ็นเอของเอเวอรีในรถของเหยื่อ มากไปกว่านั้นยังมีคำสารภาพจาก เบรนแดน แดสซีย์ (Brendan Dassey) หลานชายของเอเวอรี ซึ่งเล่าว่าตนมีส่วนร่วมในการข่มขืนและฆ่าฮัลบาค สิ่งที่น่าตื่นเต้นคือหนังสารคดีนำเสนอมุมมองของทนายจำเลย โดยเปิดเผยให้เห็นความเป็นไปได้ต่างๆ ว่าเอเวอรีนั้นถูกตำรวจและอัยการยัดข้อหา เพราะอัยการที่มาทำคดีนี้และแม้กระทั่งตำรวจผู้พบหลักฐานที่บ้านของจำเลย ก็คือกลุ่มคนที่เอเวอรีเคยฟ้องร้องในคดีเก่านั่นแหละ นี่นำไปสู่การตั้งข้อสงสัยถึงการเล่นสกปรกต่างๆ ของตำรวจและอัยการ ซึ่งรวมทั้งการที่ตำรวจบังคับขู่เข็ญให้แดสซีย์หลานชายผู้มีไอคิวต่ำและพัฒนาการทางสมองช้า สร้างเรื่องราวมากมายจนกลายเป็นคำสารภาพ นอกจากนี้ยังมีพิรุธอีกมากมายตั้งแต่หลักฐานไปจนถึงคณะลูกขุน
จุดเด่นของ Making a Murderer คือการประกอบสร้างฟุตเทจที่ได้มาจากสารพัดแหล่ง ตั้งแต่การตั้งกล้องถ่ายในศาล การสัมภาษณ์ครอบครัวเอเวอรี คลิปวิดีโอจากสำนักข่าวท้องถิ่นต่างๆ ที่สำคัญคือคลิปจากกล้องวงจรปิดของตำรวจ รวมถึงเทปบันทึกการโทรศัพท์ของจำเลยและหลานชายในขณะที่พวกเขาติดคุก หนังเรื่องนี้สร้างขึ้นมาได้ก็เพราะรัฐวิสคอนซินอนุญาตให้คนทำหนังเข้าถึงหลักฐานเหล่านี้ ซึ่งแตกต่างจากบางรัฐ บางประเทศ ที่แค่การตั้งกล้องบันทึกในศาลก็ทำไม่ได้แล้ว ข้อมูลในฟุตเทจเหล่านี้เรียบเรียงอย่างหนักแน่น คนทำหนังมิได้พากย์เสียงบรรยายใดๆ เลย เมื่อผู้ชมได้รับชมหลักฐานต่างๆ ที่มีการร้อยเรียงเพื่อสนับสนุนความ (น่าจะ) บริสุทธิ์ของเอเวอรีและหลานชาย ก็นำไปสู่อารมณ์โกรธ-ที่ระบบยุติธรรมมีช่องว่างอย่างน่ารังเกียจ และความกลัว-ว่าวันหนึ่งเหตุการณ์แบบนี้จะเกิดขึ้นกับตนเอง
อย่างไรก็ดีแม้จะมีกระแสเรียกร้องให้เอเวอรีและหลานชายได้รับการพิจารณาคดีใหม่ ก็ยังมีกระแสโต้กลับที่โจมตีว่าสารคดีชุดนี้ลำเอียงอย่างเห็นได้ชัด รวมทั้งไม่เปิดเผยข้อมูลบางส่วนที่แสดงว่าเอเวอรีคือผู้ผิด สิ่งเหล่านี้เป็นเหตุให้บุคคลจริงหลายฝ่ายในสารคดีนี้ต่างให้ข้อมูลเพิ่มและโต้ตอบกันไปมาทั้งทางสื่อมวลชนและสื่อออนไลน์ ความก้ำกึ่งว่าเอเวอรีผิดหรือไม่ผิดนั้นกลายเป็นความบันเทิงระดับประเทศ ก่อให้เกิดบทสนทนาไม่รู้จบที่เกิดขึ้นตั้งแต่บนโต๊ะกินข้าวกับเพื่อนร่วมงาน ไปจนถึงรายการโทรทัศน์ดังๆ เปิดเวทีเพื่อถกเถียงเนื้อหาของคดี รวมทั้งเกิดกระแสในอินเทอร์เน็ต เช่น ผู้คนหันมาสนใจกระบวนการยุติธรรมอย่างเข้มข้น ผู้มีความรู้ทางนิติวิทยาศาสตร์ให้ความรู้ถึงกระบวนการที่ผิดพลาดในคดีนี้ หรือการล้อเลียนอย่างร้ายกาจผ่านทวิตเตอร์และเฟซบุ๊ก ทนายจำเลยที่ปรากฏตัวในสารคดีนี้กลายเป็นฮีโร่ที่มีแฟนคลับ และเป็นแรงบันดาลใจให้เยาวชนสนใจกระบวนการทางศาล ขณะเดียวกันบุคคลที่หนังให้ภาพว่าเป็นตัวร้ายก็ถูกทำภาพล้อเลียนและบุกรุกพื้นที่ออนไลน์ส่วนตัว บทสนทนาต่างๆ หลั่งไหลอย่างไม่รู้จบชนิดที่ว่าขณะผู้เขียนเขียนบทความนี้ก็ยังมีข้อมูลใหม่ๆ คำถามใหม่ๆ เกี่ยวกับคดีผ่านเวทีสื่อมวลชนทุกวัน สิ่งที่น่าเศร้าในแก่นกลางของความตื่นตาตื่นใจสาธารณะนี้ คือหญิงสาวคนหนึ่งถูกคร่าชีวิตโดยยังไม่มีคำตอบสุดท้ายว่าใครเป็นคนฆ่าเธอ
จุดแข็งของ Making a Murderer คือการก้าวข้ามเส้นแบ่งของโลกหนังกับโลกจริง หลายคนเย้ยหยันคนที่หมกมุ่นกับสารคดีนี้จนนำไปสู่การเรียกร้องในชีวิตจริง ทั้งที่ได้เห็นเนื้อหาของคดีแค่จากการคัดกรองของคนทำสารคดีเท่านั้น แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีมนุษย์จริงๆ ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้และเขาอาจได้รับการช่วยเหลือจากพลังของปรากฏการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น แน่นอนว่าสารคดีนี้ไม่ได้เป็นจุดจบ แต่เป็นเพียงการโยนคำถามก้อนใหญ่ไปยังสังคม นอกจากนี้ยังแสดงถึงพลังของสื่อมวลชนในการสำรวจและตั้งคำถามต่อระบบยุติธรรมที่มีปัญหาจริงๆ รวมไปถึงความบ้าคลั่งของสื่อฯ ในการไล่ตามความฉูดฉาด
สิ่งเสียดเย้ยที่สุดก็คือ คนที่กลายเป็น “ดาว” ที่คนทั่วอเมริกากำลังพูดถึงอยู่ตอนนี้กลับไม่ได้ดูสารคดีชุดนี้เสียเอง เพราะ สตีเวน เอเวอรี และ เบรนแดน แดสซีย์ ยังอยู่ในคุก และแม้จะยื่นเรื่องขออนุญาต ทางเรือนจำก็ยังไม่ให้พวกเขาดูอยู่ดี !