ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล
“ถ่านหินไม่เพียงปล่อยมลพิษในอากาศ ยังแย่งชิงน้ำซึ่งเป็นทรัพยากรที่มีค่าที่สุดของเรา” แฮร์รี ลัมมี (Harri Lammi) นักรณรงค์อาวุโสด้านถ่านหิน กรีนพีซเอเชียตะวันออกกล่าว
จากการศึกษาพบว่า โรงไฟฟ้าถ่านหิน ๘,๓๕๙ แห่งทั่วโลกใช้น้ำเท่ากับความต้องการขั้นพื้นฐานของคน ๑ พันล้านคน หนึ่งในสี่ของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่ตั้งอยู่ในพื้นที่ขาดแคลนน้ำ เรียกว่าพื้นที่บัญชีแดง เกือบครึ่งหนึ่งของโรงไฟฟ้าถ่านหินจีนอยู่ในบัญชีแดง ขณะที่อินเดียและตุรกีอยู่ในบัญชีแดงร้อยละ ๑๓
ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงผลิตกระแสไฟฟ้าซึ่งใช้น้ำมากที่สุด องค์การพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency – IEA) ระบุว่า ในอีก ๒๐ ปีข้างหน้าการใช้น้ำทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ ๕๐ เพื่อผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน หากมีโรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่การใช้น้ำจะสูงขึ้นถึงร้อยละ ๙๐
ข้อเสนอเพื่อกู้วิกฤตน้ำ คือยุติโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินในภูมิภาคที่เกิดวิกฤตขาดแคลนน้ำ แทนที่ด้วยระบบไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเช่นลมหรือแสงอาทิตย์ ซึ่งจะหลีกเลี่ยงการใช้น้ำได้ ๑.๘ พันล้านลูกบาศก์เมตรต่อปีในจีน และ ๑.๒ พันล้านลูกบาศก์เมตรต่อปีในอินเดีย
นอกจากนี้ยังเสนอปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ใช้งานมานานกว่า ๔๐ ปี ทั้งนี้สหรัฐอเมริกาจะประหยัดน้ำได้ถึง ๙ พันล้านลูกบาศก์เมตรหลังปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินที่มีอายุยาวนาน
ภาพประกอบจาก : http://energydesk.greenpeace.org/wp-content/uploads/2014/12/10-490A6162.jpg