สุเจน กรรพฤทธิ์ : สัมภาษณ์ / บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช : ถ่ายภาพ

dullayapak01สี่ห้าปีที่ผ่านมาชื่อนักวิชาการหนุ่มไฟแรง “ดุลยภาค ปรีชารัชช” อาจารย์ประจำโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เริ่มปรากฏในหน้าสื่อ

หลายครั้งอาจารย์ดุลยภาคให้คำอธิบายที่น่าสนใจในฐานะผู้สนใจศึกษาสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศและความเป็นไปในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อุษาคเนย์) ที่สังคมไทยต้องการองค์ความรู้เพิ่มเติมเป็นอย่างยิ่งนับตั้งแต่มีกระแส “อาเซียนฟีเวอร์” และการเตรียมเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปลายปี ๒๕๕๘

อาจารย์ดุลยภาคบอกเราว่า เริ่มสนใจสถานการณ์ทางการเมืองระหว่างประเทศตั้งแต่ชั้นประถมฯ ซึ่งเป็นแรงผลักดันให้เขาเรียนต่อระดับปริญญาตรีด้านรัฐศาสตร์-ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก่อนเรียนต่อระดับปริญญาโทด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา (หลักสูตรนานาชาติ) ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยเลือกทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับเมืองหลวงใหม่ของพม่าคือ “Naypyidaw : The New Capital of Burma” ซึ่งต่อมาสำนักพิมพ์ White Lotus ได้ตีพิมพ์ในห้วงที่สื่อมวลชนสนใจปรากฏการณ์การย้ายเมืองหลวงของพม่า ด้วยเขาเป็นนักวิชาการที่เกาะติดประเด็นความมั่นคงอย่างจริงจัง จึงมีข้อมูลและบทวิเคราะห์ใหม่ ๆ มานำเสนอบ่อยครั้ง

หลังจบปริญญาโทอาจารย์ดุลยภาคเป็นอาจารย์ประจำวิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ก่อนย้ายมาประจำโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

งานสำคัญชิ้นหนึ่งของอาจารย์ดุลยภาคคือการเข้าร่วม “โครงการวิจัยเพื่อเขียนหนังสือชุดโครงการเขตแดนของเรา-เพื่อนบ้านอาเซียนของเรา” (Our Boundaries Our ASEAN Neighbors) ของกระทรวงการต่างประเทศในปี ๒๕๕๔ โดยรับหน้าที่สำรวจปัญหาเขตแดนไทย-พม่า ซึ่งทำให้เขาได้ออกเดินทางเลาะตะเข็บชายแดนกว่า ๒,๔๐๐ กิโลเมตรไปดู “จุดพิพาท” และวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อเตรียมรับมือปัญหาเขตแดนในอนาคตท่ามกลางกระแสความขัดแย้งเรื่องปราสาทพระวิหารอันร้อนระอุ นอกจากนี้ยังเป็นวิทยากรพิเศษด้านอาเซียนให้สื่อมวลชน กองทัพภาคที่ ๓ สภาความมั่นคงแห่งชาติ ฯลฯ เขียนบทความเผยแพร่และเป็นวิทยากรรับเชิญในสื่อออนไลน์

ปี ๒๕๕๖ อาจารย์ดุลยภาคไปศึกษาต่อระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยแห่งฮ่องกง (The University of Hong Kong) สาธารณรัฐประชาชนจีน ด้านการเมืองเปรียบเทียบ (comparative politics) จึงได้สัมผัสเหตุการณ์ “umbrella revolution” ช่วงปลายปี ๒๕๕๗ อย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ยังเปิดแฟนเพจเฟซบุ๊ก Dulyapak Preecharush วิเคราะห์สถานการณ์ระหว่างประเทศทั้งในอุษาคเนย์และเอเชีย รวมถึงเหตุการณ์สำคัญของโลกให้คนไทยอ่านผ่านโลกออนไลน์เป็นระยะ

ช่วงที่ผ่านมามีเหตุการณ์ที่น่าจับตามองเกิดขึ้นทั่วโลก ในอุษาคเนย์เราเห็นการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในพม่าและไทย การจากไปของรัฐบุรุษลีกวนยูและการเลือกตั้งทั่วไปในสิงคโปร์ คลื่นผู้อพยพชาวโรฮิงญา การประท้วงนายกรัฐมนตรีมาเลเซียของกลุ่ม Bersih ในระดับเอเชีย จีนท้าทายอำนาจของสหรัฐอเมริกา เกิดข้อพิพาทเรื่องเขตแดนในทะเลจีนใต้ระหว่างจีนกับชาติสมาชิกอาเซียน

ระหว่างอาจารย์ดุลยภาคกลับมาปฏิบัติภารกิจในเมืองไทยครั้งล่าสุด สารคดี ชวนอาจารย์วิเคราะห์ประเด็นเหล่านี้ แม้หลายเรื่องจะไกลตัว แต่เราก็จำเป็นต้องทำความเข้าใจในฐานะไทยเป็นส่วนหนึ่งของระบบการเมืองโลกอันซับซ้อนนั่นเอง

ช่วงนี้ดูเหมือนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เกิดเรื่องมากมายโดยเฉพาะความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เราได้เห็นการปฏิรูปการเมืองในพม่า รัฐประหารในไทย ฯลฯ
ถ้าจะวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในอุษาคเนย์ทางรัฐศาสตร์ คงต้องนำภูมิภาคนี้ไปวางในบริบท “คลื่นประชา-ธิปไตย” (democratic wave) ในประวัติศาสตร์โลก แซมมวล พี. ฮันทิงตัน (Samuel P. Huntington) นักรัฐศาสตร์ชาวอเมริกัน เคยกล่าวว่า โลกมี “คลื่นประชาธิปไตย” หลายระลอก คลื่นของประชาธิปไตยที่ใกล้คนรุ่นเราคือ “คลื่นประชาธิปไตยลูกที่ ๓” ที่เกิดในสมัยสงครามเย็น เมื่อสหภาพโซเวียตสลายตัว ระเบียบโลก (world order) ก็มุ่งไปสู่ประชาธิปไตยมากขึ้น เกิด “กระบวนการทำให้เป็นประชาธิปไตย” (democratization) ทั่วโลก รัฐบาลที่เป็น “อประชาธิปไตย” จึงล้มลงและอยู่ยากขึ้น

ปัจจุบันอุษาคเนย์อยู่ในคลื่นประชาธิปไตยลูกที่ ๔ ซึ่งเกิดหลังจากปรากฏการณ์อาหรับสปริง เราจะเห็นการเปลี่ยนแปลงเป็นประชาธิปไตยหลายระดับ รัฐบาลเผด็จการพยายามแฝงตัวหลังระบอบประชาธิปไตยโดยยอมให้เลือกตั้ง แต่ชนชั้นนำยังมีอิทธิพลเหนือคนส่วนมาก พม่าปรับตัวให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ที่ย้อนแย้งคือการฟื้นคืนชีพของระบอบทหารในไทย ส่วนสิงคโปร์ยังคงรักษาระบอบประชาธิปไตยอำนาจนิยมไว้ได้

พูดถึงเหตุการณ์สำคัญในอุษาคเนย์ เราคงละเว้นไม่กล่าวถึงพม่าไม่ได้เพราะเพิ่งจะมีการเลือกตั้งทั่วไป
การเปลี่ยนแปลงในพม่าน่าจับตามอง ชนชั้นนำพม่ามองว่าเมื่อโลกเปลี่ยน พม่าก็ต้องเปลี่ยน แต่กองทัพพม่าต้องคุมได้ คือยอมเป็นประชาธิปไตยพหุพรรค ทว่าสุดท้ายพรรคที่ทหารหนุนหลังคือ Union Solidarity and Development Party (USDP) ต้องได้ชัยชนะ ต่อให้หลังเลือกตั้งทั่วไปพรรคเอ็นแอลดี (NLD) ที่นำโดยนางอองซาน ซูจี จะชนะ ทหารพม่าก็ยังมีไพ่ใบอื่น เช่น มีที่นั่งในรัฐสภาร้อยละ ๒๕ ซูจียังไม่ได้เป็นประธานาธิบดีเพราะรัฐธรรมนูญห้ามไว้ สิ่งที่ต้องยอมรับคือเกิดความเปลี่ยนแปลงในพม่า เพียงแต่เป็นไปอย่างเชื่องช้า ถ้าใช้มาตรฐานคนพม่าที่เคลื่อนไหวทางการเมืองนอกประเทศ อย่างคนรุ่นประท้วง ค.ศ. ๑๙๘๘ การเปลี่ยนแปลงในพม่าไม่ได้นำไปสู่ประชาธิปไตย กระทั่ง “กึ่งประชาธิปไตย” ก็ไม่ใช่ เรียกว่าเปลี่ยนเป็นระบอบกึ่งอำนาจนิยมจะเหมาะกว่า สิ่งที่ทหารพม่าต้องการคือให้พม่าเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ มีศักดิ์ศรีในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ ซึ่งสิ่งเหล่านี้พม่าเคยมีนับแต่ได้รับเอกราชช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ แต่หายไปกว่าครึ่งศตวรรษเมื่อใช้ระบอบทหารปกครองประเทศ เขาจึงต้องการเรียกสิ่งเหล่านี้กลับมาและระบอบประชาธิปไตยเอื้อต่อการเติบโตแบบนี้ที่สุด

การเลือกตั้งในเงื่อนไขนี้จะมีความหมายสำหรับพม่าแค่ไหน
มีในแง่การเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยภายใต้การควบคุม ด้านการปฏิรูปการเมืองบางประเด็นถอยหลังแน่ ๆ แต่ที่เราเห็นแล้วคือมีเลือกตั้งทุก ๕ ปี มีเลือกตั้งซ่อม คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พม่าแม้มีประสบการณ์น้อยแต่ก็ทำงาน ไม่ยื้อเลือกตั้ง เปิดให้ชาติตะวันตกมาสังเกตการณ์ ที่น่าสนใจคือ ระบบเลือกตั้งพม่าเป็นแบบอังกฤษ “ผู้ชนะกินรวบ” (winner takes all) โดยแบ่งเป็นเขตตำบล (township) ซึ่งพรรคเอ็นแอลดีจะได้ประโยชน์จากระบบนี้ ขอเพียงคะแนนเหนือผู้สมัครพรรคอื่นก็จะได้ ส.ส. ในเขตนั้นทั้งหมด ก่อนหน้าการเลือกตั้งซ่อมปี ๒๕๕๕ พรรคยูเอสดีพีกินรวบเพราะเอ็นแอลดีบอยคอต เมื่อมีการเลือกตั้งซ่อม พรรคเอ็นแอลดีลงก็ได้ชัยชนะเป็นส่วนมาก ได้ ส.ส. จากเขตนั้นทั้งหมดแม้บางเขตคะแนนเหลื่อมกันนิดเดียว น่าสนใจว่าระบบเลือกตั้งของพม่านั้นนับแต่ได้รับเอกราชก็ใช้ระบบนับคะแนนแบบนี้มาตลอด มีกระแสเสนอให้ใช้ระบบเลือก ส.ส. แบบสัดส่วนเพื่อให้ตัวแทนจากพรรคเล็กหรือพรรคชนกลุ่มน้อยได้เข้ามาบ้าง แต่ซูจีไม่เอา ซึ่งก็เป็นเรื่องแปลกหากคำนึงถึงหลักการออกเสียง

ส่วนคำถามที่ว่าทำไมซูจียอมเล่นเกมนี้แม้จะเป็นประธานาธิบดีไม่ได้ ผมคิดว่าซูจีไม่มีทางเลือก อย่างน้อยร่วมด้วยดีกว่าโดนกันไว้นอกเวที สิ่งที่เธอทำแล้วคือสานสัมพันธ์กับคนหลายฝ่าย เช่น ฏู่ระฉ่วยมาง์ * (Shwe Mann) ประธานรัฐสภา ซูจียังเป็นประธานกรรมาธิการปฏิรูประบบธรรมาภิบาลรัฐสภา แต่วัฒนธรรมการเมืองพม่าคือกวาดล้างและจับกุมฉับพลัน ซึ่ง ฉ่วยมาง์ ถูกจัดการไปเมื่อไม่นานมานี้ เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ ปี ๒๕๔๗ พลเอก ขี่ง์ญุ่ง์ (Khin Nyunt) นายกรัฐมนตรีพม่าตอนนั้นถูกพลเอก ตานฉ่วย ปลด สิ่งที่เกิดขึ้นหมายถึงเมื่อ ฉ่วยมาง์ อยากสะสมแต้ม คุยกับฝ่ายค้านมากไป เขาก็ถูกจัดการ ซูจีอาจไม่แปลกใจ แต่เธอคงชะงักเพราะพันธมิตรที่เพิ่งได้ถูกเก็บ ผมคิดว่าเราต้องมองสถานการณ์ในพม่ากันยาว ๆ คงต้องดูหลังเลือกตั้งทั่วไปปลายปีนี้ในแง่การเลือกประธานาธิบดีคนใหม่ด้วย