วีระศักร จันทร์ส่งแสง : เรื่อง
วิจิตต์ แซ่เฮ้ง : ภาพ

plara01
รางวัลอาจไม่ใช่สิ่งยืนยันคุณภาพทั้งหมด แต่รางวัลทั้งหมดที่ได้มาจนแน่นเต็มตู้โชว์ในห้องสำนักงานกลุ่มอาชีพสหกรณ์วัดลาดปลาเค้า คงไม่ใช่เรื่องธรรมดาหรือความบังเอิญของชาวสุพรรณบุรีกลุ่มเล็กๆ ที่นำอาหารคู่ครัวชาวบ้านแต่ดั้งเดิมมาผลิตติดแบรนด์ ออกร้านวางขายสู่ลูกค้าในวงกว้างหลายจังหวัดจนถึงในเมืองหลวง

“ก่อนปี ๒๕๔๐ ผมก็เป็นพนักงานบริษัท  พอเกิดยุคฟองสบู่แตกผมออกมาทำนู่นนี่อยู่ ๔-๕ ปี ก็ไม่ได้เรื่องได้ราว” สมพงษ์ ศรีศักดา เล่าเรื่องของตัวเองซึ่งเกี่ยวโยงกับการเกิดขึ้นของกลุ่ม

ศรีประจันต์ สุพรรณบุรี เป็นเมืองริมแม่น้ำท่าจีน ปลาน้ำจืดชุกชุม เห็นเพื่อนบ้านญาติมิตรค้าปลาเค็มปลาแดดเดียวมีรายได้ดี เขาก็อยากมองหางานสักอย่างเกี่ยวกับปลา

“เมื่อก่อนชาวบ้านก็ทำกินกันอยู่แล้ว เดิมเราอยู่ในตัวอำเภอศรีประจันต์ ริมแม่น้ำท่าจีน พ่อของสมพงษ์มาเป็นครูใหญ่ที่นี่ ก็เลยย้ายครอบครัวมาอยู่ด้วยกัน” คุณแม่ของสมพงษ์เล่าถึงการเดินทางของครอบครัว จากในตลาดมาสู่ท้องทุ่งลาดปลาเค้า  “หน้าน้ำทุ่งนี้เป็นเวิ้งน้ำทั้งหมด บ้านอยู่กลางน้ำ ยืนบนระเบียงบ้านหย่อนเบ็ดลงไปก็ได้กินปลาเลย”

ปลาชุกชุมหาได้ง่ายจนเหลือกินได้แปรรูป ทำปลาร้าเก็บไว้กินได้ทั้งปี

และสูตรเด็ดสำหรับการปรุงปลาร้าเป็นอาหารประจำบ้านก็คือ ปลาร้าสับทรงเครื่อง

“มาเริ่มทำปลาร้าสับจริงจังเมื่อปี ๒๕๔๖ ตอนแรกไม่มีโรงเรือน ไม่มีชื่อแบรนด์อะไรหรอก”

จุดเริ่มต้นที่สมพงษ์เริ่มนำอาหารจากครัวพื้นบ้านออกไปสู่ตลาด และเขาก็พบปัญหาแรก

“ปลาบ้านเราไม่พอกินแล้ว เพราะเกษตรกรใช้ยาฆ่าหญ้ายาฆ่าแมลงกันมากเหลือเกิน ปลาในนาหายหมด  ทุ่งนาเจอสารเคมีเข้าไปจะไปเหลืออะไร เดี๋ยวนี้ปลาซิวปลาสร้อยยังไม่มี”

เขาหาทางออกด้วยการออกไปต่างอำเภอ

“ใช้เครือข่ายญาติพี่น้องแถบอำเภอสองพี่น้องที่ไว้ใจได้ เพราะปลาร้าที่นำมาใช้เป็นวัตถุดิบต้องหมักได้ที่  กลุ่มที่เขาทำปลาร้าขายส่งเดี๋ยวนี้ต้องสั่งปลาสดมาจากทางเขมรเที่ยวละเป็นสิบๆ ตัน  ปลาน้ำจืดบ้านเราไม่พอกินแล้ว สารเคมีทำให้ปลาน้ำจืดสูญหายหมด”

plara02

ปลาร้าที่ว่าดีนั้นต้องหมักครบปีและด้วยกรรมวิธีที่ถูกต้อง รุ่งทิพย์ ศรีศักดา คู่ชีวิตของสมพงษ์ซึ่งทำหน้าที่ฝ่ายการเงินของกลุ่ม ให้รายละเอี ยดว่า

“ต้องหมักครบ ๑๒ เดือนเต็ม เนื้อปลาร้าจะเป็นสีขาวสวย ถ้าสีออกดำๆ หม่นๆ นั่นคือยังไม่ได้ที่ และต้องหมักในโอ่งดินเท่านั้น ไม่ใช้ถังพลาสติก  เราต้องทำสัญญากับคนทำปลาร้าเลย เพราะถ้าได้ปลาร้าไม่ดีมาจะทำให้เสียชื่อ”

เมื่อนำมาทำปลาร้าสับทรงเครื่องก็ไม่มีการเติมสารปรุงแต่งรส จึงไม่มีสารพิษที่เป็นภัยต่อสุขภาพ

“น้ำปลาไม่ได้ใส่เพราะปลาร้ามีความเค็มอยู่แล้ว น้ำตาลก็ไม่ใส่ อาศัยเครื่องเทศพวกหอมแดงช่วยให้ความหวานกลมกล่อม”

“ผงชูรสใส่ไหม ?”

“ไม่ใส่ ลองชิมดูได้ สารกันบูดก็ไม่ได้ใช้ เพราะตัวปลาร้าวางไว้ได้เป็นปีไม่เสีย  แต่ตอนทำทรงเครื่องเราเติมผัก ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด กระชาย พริกป่น หอมแดง อาจเป็นตัวทำให้บูด จึงต้องเก็บในตู้เย็น”

สมาชิกกลุ่ม ๓๐ คน ผลิตปลาร้าทรงเครื่องได้เดือนละเป็นตัน กระจายกันออกร้านตามงานแสดงสินค้า วางขายตามตลาดนัดท่องเที่ยว อย่างตลาด ๑๐๐ ปีสามชุก ตลาดดอนหวาย ตลาดอโยธยา จนถึงในกรุงเทพฯ อย่างตลาด อตก. ตลาด ม.เกษตร ฯลฯ ในราคากิโลกรัมละ ๑๖๐ บาท หรือเป็นกระปุกขนาดย่อมย่อยตามความสะดวกของลูกค้า

“ตอนแรกก็ไม่ได้คิดเรื่องจดทะเบียนอะไร แต่ทำไปทำมามีการเลียนแบบกันมาก จึงจดทะเบียนกับกระทรวงพาณิชย์ในตรา ลุงพงษ์ลงพุง”

นอกจากขายดีเป็นที่ถูกปากคนทั่วไป ปลาร้าสับทรงเครื่องของกลุ่มฯ วัดลาดปลาเค้ายังคว้ารางวัลมามากมาย

ประกวดแผนธุรกิจดีเด่นระดับประเทศ โดยกรมพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ได้รางวัลชนะเลิศ

รางวัลโครงการคัดสรรสุดยอดหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ไทย (OTOP) ๕ ดาว ๓ ปีซ้อน

รางวัลที่ ๑ “ของดีบ้านฉัน” จังหวัดสุพรรณบุรี ประจำปี ๒๕๕๗

ฯลฯ

ส่งเสริมกำลังใจและสร้างความมั่นใจให้คนทำ ส่งผลถึงความมั่นคงด้านรายได้ในการดำรงชีพ และสานความเป็นปึกแผ่นในชุมชน

plara03“เราเรียนจบแล้วมาทำอาชีพนี้เหมือนไม่คุ้มค่า แต่เราก็ส่งลูกจนเรียนจบปริญญาโทได้ มีหน้าที่การงานทำกันหมดแล้ว”

ไม่เฉพาะในครอบครัวตัวเอง แต่ยังกระจายไปถึงชุมชนด้วย

“เศรษฐกิจดีขึ้น กระจายรายได้สู่ชุมชน ส่งเสริมให้คนในหมู่บ้านมีอาชีพ สร้างรายได้ให้ชุมชน  กลุ่มของเรามี ๓๓ คน แต่เดิมทำนา มารับจ้างรายวันเป็นอาชีพเสริมวันละ ๓๐๐ บาท รับเหมาทำปลาร้าสับปี๊บละ ๓๕๐ บาท วันหนึ่งทำได้ห้าหกปี๊บ ก็เอาค่าแรงมาหารกัน  เดี๋ยวนี้พอเห็นว่าออกไปขายเองดีกว่าก็ออกขายของ ซึ่งต้องมีทีมงานอย่างน้อยสองคน ก็ใช้คนในหมู่บ้าน รวม ๑๐ กว่าชุดแล้วที่สามารถซื้อรถยนต์ออกมาขับได้ทุกคน เอาสินค้าออกไปขาย  เราได้เรื่องชุมชนเข้มแข็งด้วยค่ะ”

และคนในชุมชนอีกส่วนมีรายได้จากการส่งเครื่องเทศเครื่องปรุง พริก ตะไคร้ ใบมะกรูด ให้กลุ่มสัปดาห์ละเป็นตัน

ปลาร้าสับทรงเครื่องของกลุ่มอาชีพสหกรณ์วัดลาดปลาเค้า จึงถือเป็นอาหารพื้นบ้านที่ทำจากชาวบ้านและวัตถุดิบในชุมชน ที่ไม่มีสารเคมีปรุงแต่งเป็นส่วนผสม

ให้ทุกคนกินได้อย่างสบายใจ

เมื่อถามว่าซื้อไปแล้วเก็บไว้กินได้นานเท่าใด

“แช่ตู้เย็นอยู่ได้เป็นเดือน ถ้าไม่แช่ก็ ๒ วัน” เจ้าของแบรนด์ลุงพงษ์ลงพุงรับประกัน และกระเซ้าเล่นกับลูกค้าว่า “ก็ให้เอาไปกิน ไม่ได้ให้เอาไปเก็บ” •