375special1
มหาสมุทรสุดปลายฝัน

เป็นสารคดีเบื้องหลังการเดินทางถ่ายภาพใต้น้ำรอบโลกของ นัท สุมนเตมีย์ ช่างภาพใต้น้ำฝีมือดีที่สุดคนหนึ่งของเมืองไทย

จากแนวปะการังเกรตแบร์ ริเออร์รีฟอันยิ่งใหญ่ทางตอนเหนือของทวีปออสเตรเลีย สู่เกาะเล็ก ๆ กลางมหาสมุทรแปซิฟิกอันกว้างใหญ่ ข้ามทวีปอเมริกาสู่ชายฝั่งในอ่าวเม็กซิโกและเกาะกลางมหาสมุทรแอตแลนติก ไปจนถึงชายฝั่งแอฟริกาใต้ มหาสมุทรอินเดีย และท้องทะเลของหมู่เกาะต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งทะเลอันดามันของไทย

ผลงานจากการเดินทางในช่วงเวลากว่า ๒๐ ปีของชีวิตการถ่ายภาพใต้น้ำของเขาได้รับการรวบรวมและจัดพิมพ์เป็นหนังสือ โอเคียนอส ซึ่งมีที่มาจากชื่อของเทพกรีก Okeanos หรือ Oceanus อันเป็นรากศัพท์ของ ocean ในภาษาอังกฤษ

ฝูงโลมา ฝูงฉลามหัวค้อน ครอบครัววาฬหลังค่อม และบรรดาสรรพชีวิตใต้ห้วงทะเลลึก ได้รับการบันทึกภาพไว้อย่างพิถีพิถันท่ามกลางความปั่นป่วนของธรรมชาติซึ่งมิอาจคาดเดา อันเป็นผลจากความมุ่งมั่นของช่างภาพที่มักกล่าวถ่อมตัวว่า “ผมไม่อาจเรียกตัวเองว่าเป็นนักอนุรักษ์หรือผู้พิทักษ์โลก”

ทว่าความงดงามของภาพถ่ายและเรื่องราวในสารคดีพิเศษเรื่องนี้อาจช่วยให้เราหลงรักและอยากพิทักษ์ทะเลให้คงความอุดมสมบูรณ์ตลอดไป มิใช่แค่ความฝัน

375special2

เทรลรันนิง ผจญภัยในโลกแห่งการวิ่งวิบาก

การวิ่งเทรล หรือ “เทรลรันนิง” (trail running) หมายถึงการวิ่งผจญภัย

หลายคนนิยามการวิ่งที่ดูล้ำหน้าไปไกลกว่าการวิ่งมาราธอนชนิดนี้ว่าเป็นการวิ่งวิบากกลางป่าดง ทางเดินเล็ก ๆ ในธรรมชาติของสัตว์และคน ท้องไร่ชายนา หากนึกไม่ออกอาจจินตนาการถึงเส้นทางของลูกเสือ-เนตรนารีในกิจกรรมเดินทางไกล

ขณะที่การวิ่งตระกูลมาราธอนกำหนดระยะทางสูงสุดไว้ที่ ๔๒.๑๙๕ กิโลเมตร นักวิ่งเทรลต้องพิชิตระยะทาง ๒๐, ๓๐, ๕๐, ๑๐๐ กิโลเมตร, ๑๐๐ ไมล์ (ประมาณ ๑๖๐ กิโลเมตร) หรือมากกว่า  บ่อยครั้งต้องวิ่งข้ามวันข้ามคืน สัมภาระติดตัวจึงต้องครบถ้วน ไม่ว่าไฟฉายสวมศีรษะ เจลให้พลังงาน เป้หลังบรรจุน้ำ

ทุกวันนี้ผู้รู้จักและร่วมวิ่งผจญภัยวิบากกำลังขยายกลุ่มก้อน จากไม่กี่สิบคนกลายเป็นหลายร้อยหลายพัน ส่วนใหญ่อยู่ในวัยทำงานซึ่งรักสุขภาพและต้องการทดสอบสมรรถนะของตน

นักเขียนและช่างภาพสารคดี ลงพื้นที่ภาคสนาม ทั้งเขาไม้แก้ว จังหวัดชลบุรี อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา และไร่บุญรอด จังหวัดเชียงราย เพื่อนำเรื่องราวอันน่าตื่นตาตื่นใจของคนรักการวิ่งมานำเสนอ

375special3

มาผลิบานในบ้านเพื่อน - สำรวจโลกตะปุ่มตะป่ำของนักเรียนเมียนมาแห่งตลาดไท

ผลงานนักเขียนและช่างภาพรุ่นใหม่จากค่ายสารคดีครั้งที่ ๑๑ พาผู้อ่านไปสำรวจโลกใบเล็กของเหล่าเด็ก ๆ ลูกหลานแรงงานเพื่อนบ้านในตลาดไท

โรงเรียนที่สอนอ่านเขียนกันหลากหลายภาษา ไทย อังกฤษ พม่า ราวกับเป็นโรงเรียนนานาชาติ แต่ศูนย์การเรียนรู้ดันยาเลเป็นสถานศึกษาขั้นประถมฯ และปฐมวัยที่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องสัญชาติ เชื้อชาติ ศูนย์การเรียนรู้นอกระบบแห่งนี้จึงเป็นที่รวมของเด็ก ๆ หลากชาติพันธุ์ ทั้งพม่า กะเหรี่ยง มอญ และม้ง ซึ่งภาพของการอยู่ร่วมเรียนรู้และความเป็นไป ได้รับการนำเสนอไว้อย่างแจ่มชัดแล้วในสารคดีเรื่องนี้