ทำไมกาฬโรคจึงได้ฉายาว่า มรณะดำ ?
(ผาสุก วิทยากำจร / กรุงเทพฯ)
ช่วงระหว่างยุคกลางโรคระบาดร้ายแรงลุกลามไปทั่วทวีปยุโรป ครั้งร้ายแรงที่สุดเกิดขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๔ ฆ่าผู้คนตายไปเป็นจำนวนมหาศาลถึง ๒๕ ล้านคน โรคร้ายแรงนี้เรียกกันว่า มรณะดำ หรือ “The Black Death” เนื่องจากผู้ป่วยด้วยโรคนี้ตัวจะดำคล้ำ ชื่ออื่นของโรคนี้คือ กาฬโรค (bubonic plague) และโรคระบาดตะวันออก (oriental plague) เพราะเชื้อโรคแพร่มาจากทวีปเอเชีย โดยมากับเรือที่วิ่งล่องจากทะเลดำมายังทะเลเมดิเตอร์เรเนียน
โรคร้ายนี้แพร่เชื้อติดต่อกันอย่างรวดเร็วจนคนตายกันทั้งหมู่บ้าน บางข้อมูลชี้ว่า หนึ่งในสามของประชากรชาวอังกฤษตายด้วยโรคนี้ภายในช่วงเวลาเพียง ๒ ปี (ในสมัยนั้นประเทศอังกฤษมีประชากรประมาณ ๓ ล้านคน) ประชากรกว่าครึ่งหนึ่งของทวีปเอเชียและยุโรปพากันล้มตายลงด้วยโรคมรณะดำนี้ เช่นกัน
ในยุคนั้นถนนหนทางและบ้านเรือนไม่ถูกสุขอนามัย ไม่มีระบบระบายน้ำและของเสีย แม้ว่าโรคระบาดเคยเกิดขึ้นอยู่เนือง ๆ แต่ มรณะดำ เป็นโรคระบาดที่ร้ายแรงรุนแรงที่สุดเท่าที่เคยมีมา โรคเริ่มต้นจากหนูซึ่งติดเชื้อแล้วหมัดจากหนูไปกัดหนูตัวอื่นและกัดคนด้วย เป็นผลให้เชื้อโรคแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว นักเขียนในสมัยนั้นเขียนเล่าไว้ว่า ฝูงวัวเดินเร่ร่อนไปทั่วโดยไม่มีเจ้าของดูแล พืชผลเน่าเสียคาไร่นาไม่มีใครเก็บเกี่ยว และพระที่เหลือรอดชีวิตอยู่มีน้อยจนกระทั่งพระสันตะปาปาต้องประทานอนุญาตให้ ฆราวาสสามารถประกอบพิธีกรรมทางศาสนาให้แก่ผู้ตายได้
ในช่วงเวลา ๓๐๐ ปีต่อมาโรคระบาดเกิดขึ้นเป็นช่วง ๆ แต่ไม่เคยร้ายแรงรุนแรงเท่าโรคระบาด มรณะดำ อีกเลย เมื่อบ้านเมืองสะอาดมีสุขอนามัยเพิ่มขึ้นและมีการจำกัดการแพร่พันธุ์ของหนู โรคระบาดก็ค่อย ๆ หมดไปจากยุโรปเมื่อช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๗