ธัชชัย วงศ์กิจรุ่งเรือง
อุปกรณ์แปลงพลังงานแสงอาทิตย์เป็นพลังงานไฟฟ้า ที่นิยมมีสองรูปแบบ คือระบบการใช้เซลล์แสงอาทิตย์ (photovoltaic cell – PV) กับระบบสร้างพลังงานความร้อนโดยโฟกัสให้แสงไปตกที่จุดใดจุดหนึ่งบนแผง (concentrated solar power – CSP) ในปี ๒๕๕๔ มีการประเมินว่าธุรกิจเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์มีมูลค่าในตลาดถึง ๓๖,๖๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ
- ปี ๒๕๕๔ การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ทั่วโลกอยู่ที่ ๔๐.๗ กิกะวัตต์
- พลังงานแสงอาทิตย์ได้รับยกย่องเป็นพลังงานสะอาด แต่ก็ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่าพลังงานทางเลือกอื่นๆ อย่างพลังงานลม น้ำ และความร้อนจากใต้โลก เนื่องจากการผลิตโซลาร์เซลล์ยังต้องใช้ไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้า
- รายงานปี ๒๕๕๗ ของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) เปิดเผยว่า เทคโนโลยีไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์โดยแผงโซลาร์-เซลล์แบบ PV จะปล่อยก๊าซเรือนกระจก ๒๖-๖๐ กรัมต่อไฟฟ้า ๑ กิโลวัตต์-ชั่วโมง แบบ CSP จะปล่อยก๊าซ ๘.๘-๖๓ กรัมต่อไฟฟ้า ๑ กิโลวัตต์-ชั่วโมง
- กระบวนการผลิตเซลล์แสงอาทิตย์ยังใช้สารกึ่งตัวนำ เช่น แร่ซิลิคอน ตะกั่ว ปรอท และแคดเมียม ซึ่งก่อให้เกิดมลภาวะและอาจปนเปื้อนสู่ภายนอก
- ปริมาณก๊าซเรือนกระจกขึ้นอยู่กับอุปกรณ์โซลาร์เซลล์ซึ่งในอนาคตจะมีการพัฒนามากขึ้นจนอาจปล่อยก๊าซน้อยลง และได้พลังงานไฟฟ้าคืนทุนเร็วยิ่งขึ้นด้วยเมื่อเทียบกับพลังงานในการผลิต
- อย่างไรก็ตามการผลิตกระแสไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ก็ปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่าการผลิตด้วยถ่านหินถึง ๒๐-๓๐ เท่า ในระยะยาวการพัฒนาพลังงานทางเลือกอย่างแสงอาทิตย์ให้ใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นเป็นสิ่งจำเป็น และมีแนวโน้มที่ประเทศต่างๆ จะลงทุนในธุรกิจนี้เพิ่มขึ้นทุกปี •
ที่มา :
- mitigation2014.org / energy.gov / livescience.com / ecn.nl / marketsandmarkets.com