มิติคู่ขนาน – นักวิทย์…ในความคิดของเยาวชน
บัญชา ธนบุญสมบัติ

buncha2509@gmail.com, www.facebook.com/buncha2509

มิติคู่ขนาน - นักวิทย์…ในความคิดของเยาวชน

ภาพนักวิทย์ในมุมมองของชลันธร ท่าหลวง

เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑๔ มิถุนายน ๒๕๕๘ ผมไปเป็นวิทยากรในกิจกรรม “นักวิทยาศาสตร์พบเยาวชน” ซึ่งจัดขึ้นที่โรงเรียนบุรีรัมย์-พิทยาคม เยาวชนที่เข้าร่วมจำนวนราว ๔๐๐ คนเป็นนักเรียนชั้น ม. ๔ ทั้งหมดจากสี่จังหวัด ได้แก่ บุรีรัมย์ สุรินทร์ ชัยภูมิ และนครราชสีมา ก่อนกิจกรรมดังกล่าวผมได้ขอให้นักเรียนทำ “การบ้าน” โดยตอบคำถามว่า “นักวิทยาศาสตร์ในความคิดของนักเรียนเป็นอย่างไร ?” การตอบจะเขียนอธิบาย วาดภาพ หรือทั้งสองอย่างประกอบกันก็ได้

ตอนนี้ได้รับข้อมูลทั้งหมดด้วยความช่วยเหลือจากอาจารย์สุปราณี มงคลล้ำ แห่งโรงเรียนบุรีรัมย์พิทยาคม ผมขอขอบคุณอาจารย์ไว้ ณ ที่นี้

เมื่อได้ชมภาพและอ่านคำตอบจากเยาวชนจำนวนมากแล้ว ผมคิดว่าน่าจะสรุปและบันทึกไว้เป็นความรู้สาธารณะ เพราะข้อมูลนี้ช่วยให้เข้าใจว่าเยาวชนเหล่านี้คิดอะไร และหากสืบค้นให้ลึกลงไปเราก็น่าจะทราบว่าเหตุใดพวกเขาจึงคิดเช่นนั้น

ผมขอสรุปเป็นประเด็นหลักสี่แง่มุม ดังนี้

หนึ่ง สิ่งที่เยาวชนส่วนใหญ่นำเสนอตรงกัน ได้แก่ พฤติกรรมแง่บวกของนักวิทยาศาสตร์ คือ นักวิทยาศาสตร์ (ที่ดีต้อง) เป็นคนช่างสังเกต อยากรู้อยากเห็น ชอบใช้เหตุผล ขยันหาความรู้ มีความคิดสร้างสรรค์ ชอบพิสูจน์ และเพียรพยายามหาคำตอบอย่างอดทน (คำตอบเหล่านี้เดาได้ไม่ยาก)

เยาวชนจำนวนหนึ่งเขียนว่านักวิทยาศาสตร์ต้องชอบหรือมีใจรักวิทยาศาสตร์ มิฉะนั้นทำอาชีพนี้ไปก็ฝืนตัวเองเปล่าๆ (ประเด็นนี้ฟังเผินๆ หลายคนอาจพูดเบาๆ ว่า “ก็แหงอยู่แล้ว” แต่ขอบอกว่าในความเป็นจริงมีเหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นแล้ว)

บางคนเขียนชัดเลยว่า “จิตใจแข็งแกร่ง อดทนเพื่อพิสูจน์เหตุและผลต่างๆ นานัปการ รวมถึงอุปสรรคในการทดลองอีกนับครั้งไม่ได้”

บางคนตั้งข้อสังเกตน่าสนใจว่า “แค่รายละเอียดเล็กๆ ก็นำมาเป็นประเด็นได้” (คนนี้ดูท่าจะรู้จริง !)

บางคนไปไกลถึงกับระบุว่า “นักวิทยาศาสตร์เป็นคนฉลาดล้ำ จนแทบใกล้เคียงกับคนบ้า ดังคำกล่าวที่ว่า “อัจฉริยะกับคนบ้ามีเส้นบางๆ กั้นอยู่” (โห…)

สอง สิ่งที่เยาวชนคิดเห็นไม่ตรงกันหรืออาจตรงกันข้ามในบางกรณี ได้แก่ ภาพลักษณ์ภายนอกของนักวิทยาศาสตร์ เช่น เยาวชนคนหนึ่งบอกว่า นักวิทย์ต้อง “หัวฟู หนวดยาว จมูกโต ตัวอ้วนๆ” อีกคนบอกว่า “ใส่แว่นหนาเตอะ เนื้อตัวสกปรก มนุษยสัมพันธ์ไม่ค่อยดี” อีกคนว่า “ทรงผมยุ่งเหยิง น้ำไม่อาบ คิดอะไรใหม่ๆ จนไม่มีเวลาที่จะมีครอบครัวเป็นของตัวเอง” อีกคนก็ว่า “ดูติ๊งต๊องหน่อยๆ ชอบทำอะไรบ้าๆ สงสัยไปซะทุกอย่าง” และอีก (สัก) คนก็ว่า “ต้องเป็นคนที่ใส่แว่นตาหนาๆ ในห้องมีแต่อุปกรณ์ทดลอง มีหนังสือเล่มหนาๆ เต็มห้อง หัวฟูๆ ตัวแห้งๆ ไม่ค่อยมีคนอยากคุยด้วย คุยกับคนอื่นไม่รู้เรื่อง” (พอแค่นี้ก่อนดีกว่า…แหะแหะ)

แต่ถึงกระนั้นก็มีเยาวชนหญิงคนหนึ่งระบุสเปกไว้ชัดเลยว่า นักวิทย์ในความคิดของเธอนั้น “เป็นผู้หญิง หุ่นดี ผิวขาว ตาโต ผมยาว ส่วนสูง ๑๖๘-๑๗๔ เซนติเมตร ใส่เสื้อกาวน์ ช่างสังเกต และกระตือรือร้นตลอดเวลา” (ถ้าอ่านแค่ช่วงแรกอาจคิดว่าเป็นอาชีพอื่นๆ เช่นพริตตี้ก็เป็นได้…อิอิ)

ส่วนบางคนก็ว่า “ไม่ต้องหน้าตาดี บุคลิกดี หรือเพอร์เฟกต์ทุกอย่างก็ได้ แค่แก้ไขปัญหาที่สงสัยและสรุปผลได้ถูกต้องก็พอ”

สาม มีแง่มุมบางอย่างที่ได้รับการกล่าวถึงบ้าง แต่ไม่มากอย่างที่น่าจะเป็น เช่น นักวิทยาศาสตร์ต้องคิดถึงส่วนรวมหรือ “มีจิตสาธารณะ” รวมทั้งซื่อสัตย์ต่อวิชาชีพ ไม่ลอกผลงานของคนอื่น (กรณีที่เขียนว่า “ไม่ลอกผลงานของคนอื่น” ผมอ่านพบแค่คนเดียวทั้งๆ ที่เรื่องนี้เป็นประเด็นใหญ่มากในวงการวิทยาศาสตร์)

มีข้อสังเกตสำคัญด้วยว่า เยาวชนจำนวนไม่น้อยนึกภาพนักวิทยาศาสตร์ว่าสวมเสื้อกาวน์ หมกมุ่นทำงานอยู่ในห้องทดลอง (โดยลักษณะการเขียนคล้ายๆ จะบอกว่ามักอยู่คนเดียว ยกเว้น
บางคนระบุว่าอาจมีผู้ช่วยสองสามคน) โดยเฉพาะภาพวาดการ์ตูนจำนวนมากจะแสดงว่านักวิทยาศาสตร์ถือหลอดแก้วไว้ในมือ

ประเด็นนี้น่าสนใจในแง่ที่ว่า เหตุใดภาพของนักธรรมชาติวิทยา หรือนักวิทยาศาสตร์ที่ “ออกทำงานภาพสนาม” เช่น ขุดชั้นหิน ขุดหาฟอสซิล หรือแม้แต่นักดาราศาสตร์ที่ส่องกล้องอยู่ในหอดูดาว ฯลฯ จึงไม่ “ติด” อยู่ในความทรงจำของเยาวชนมากนัก

ยังดีที่มีคนหนึ่งเขียนว่า “นักวิทยาศาสตร์เป็นคนรักธรรมชาติ ชอบสังเกต หรือสำรวจอะไรแปลกๆ อยู่ตลอดเวลา ชอบการผจญภัย หรือไปในสถานที่ใหม่ๆ ชอบค้นหาคำตอบหรือข้อมูลที่ทำให้ตนเองรู้สึกสนใจอยู่”

นอกจากนี้ยังมีแง่มุมอื่นๆ ที่ไม่ค่อยได้รับการกล่าวถึง เช่น ความสามารถในการสื่อสารเรื่องราวทางวิชาการ มีเยาวชนบางคนเท่านั้นที่เขียนว่า นักวิทยาศาสตร์ต้อง “เผยแพร่ความรู้อย่างถูกต้อง” และ “มีความสามารถในการสื่อสาร”

ส่วนเรื่องที่แทบไม่มีใครพูดถึงเลยคือ นักวิทยาศาสตร์ควรมีความสามารถด้านการบริหารจัดการ (management) และอาจมี
หัวทางธุรกิจ แปรสิ่งที่คิดค้นขึ้นให้เป็นเงินเป็นทองได้ นั่นคือความเป็นผู้ประกอบการ (entrepreneurship)

ภาพนักวิทย์ในมุมมองของ ประณยา อรรคมุต

ภาพนักวิทย์ในมุมมองของเด็กนักเรียน ผลงาน (จากซ้าย) ของ ณัฏฐ์ชุดา ภิญโญพานิชย์ ปาจรีย์ ชวลิตศิริเศรษฐ์ ธัญญธร บุญต่อ

สี่ ประเด็นเล็กๆ สุดท้ายคือ ในกรณีที่เยาวชนเขียนภาพการ์ตูนประกอบ มีข้อสังเกตว่าแทบทั้งหมดได้รับอิทธิพลจากภาพในอินเทอร์เน็ต (ผลคือมีบางภาพคล้ายกันมาก) หรือหากเยาวชนวาดเองก็เป็นการ์ตูนสไตล์ญี่ปุ่นซึ่งบางภาพวาดได้งดงามประณีตอย่างยิ่ง

ที่เล่ามาเป็นข้อสังเกตเบื้องต้นจากข้อมูลที่ได้รับ คุณผู้อ่าน (โดยเฉพาะที่เป็นครู หรือผู้ปกครองเด็กและเยาวชน) อาจลองสอบถาม “คนใกล้ตัว” เพื่อรับฟังความคิดที่แท้ของพวกเขาด้วยตัวท่านเอง J

ประตูทะลุมิติ

  • คุณผู้อ่านที่สนใจประเด็นต่างๆ ในบทความนี้ อาจแวะมาคุยกับผมที่ www.facebook.com/buncha2509