ภัควดี วีระภาสพงษ์

ตลอด ๑๐๐ กว่าปีที่ผ่านมานับตั้งแต่ยาเสพติดเป็นสิ่งผิดกฎหมาย เกือบทั่วโลกต่างปักใจเชื่อว่า การติดยาเสพติดเกิดจากสารเคมีในตัวยาเหล่านั้น ซึ่งเมื่อมนุษย์เสพติดต่อกันระยะหนึ่ง ร่างกายจะเรียกร้องต้องการสารเคมีนั้นอย่างควบคุมตัวเองไม่ได้

ความเชื่อข้างต้นไม่ได้เกิดขึ้นโดยไม่มีที่มาที่ไป แต่มีพื้นฐานการทดลองทางวิทยาศาสตร์รองรับระดับหนึ่ง นั่นคือการทดลองกับหนู นักวิทยาศาสตร์จับหนูตัวหนึ่งขังในกรงตามลำพังพร้อมขวดน้ำสองขวด ขวดหนึ่งเป็นน้ำเปล่า อีกขวดเป็นน้ำผสมสารเสพติด การทดลองได้ผลตรงกันเสมอคือ หนูในกรงจะดื่มแต่น้ำที่ผสมยาเสพติดและดื่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนตาย

โลกใบใหม่ - การแก้ปัญหายาเสพติด : การทดลองที่โปรตุเกสทว่าช่วงทศวรรษที่ ๑๙๗๐ บรูซ อเล็กซานเดอร์ (Bruce K. Alexander) ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาในแคนาดา สังเกตเห็นความบกพร่องบางอย่างของการทดลองนี้ กล่าวคือการทดลองข้างต้นขังหนูไว้ในกรงตัวเดียว ศาสตราจารย์เริ่มสงสัยว่าอะไรจะเกิดขึ้นถ้าเราทำการทดลองที่ต่างจากเดิม ?

นั่นคือที่มาของการทดลองที่เขาตั้งชื่อว่า “Rat Park” ศาสตราจารย์สร้างกรงขนาดใหญ่ สภาพแวดล้อมเพียบพร้อมทั้งอาหาร กิจกรรม และสังคม รวมถึงมีน้ำสองขวดซึ่งขวดหนึ่งผสมยาเสพติด เขาจับหนูเข้ากรงนี้ด้วยจำนวนที่เหมาะสม หนูทุกตัวในกรงดื่มน้ำทั้งสองขวด แต่ปรากฏการณ์ที่น่าสนใจคือ หนูที่มีความสัมพันธ์ทางสังคมดีจะไม่ชอบดื่มน้ำผสมยาเสพติด มันจะดื่มน้อยลงๆ จนในที่สุดก็เลิกดื่มโดยสิ้นเชิง ขณะหนูที่ค่อนข้างโดดเดี่ยวและไม่มีความสุขจะดื่มน้ำผสมยาเสพติดมากกว่า แต่กระนั้นก็ไม่ได้ดื่มจนตาย

น่าเสียดายที่การวิจัยนี้ถูกโจมตีในแง่ลบจากสื่อมวลชนกระแสหลักและวารสารต่างๆ จนหายสาบสูญไปจากการรับรู้ของผู้คน กระทั่งได้รับการรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่ในช่วง ๑๐ กว่าปีมานี้

ปัจจุบันผลการวิจัยของศาสตราจารย์อเล็กซานเดอร์ได้รับความสนใจและมีการอ้างถึงอย่างกว้างขวาง อีกทั้งมีกรณีที่เกิดขึ้นจริงสนับสนุนด้วย ตัวอย่างเช่น ทหารอเมริกันในสงครามเวียดนามใช้เฮโรอีน “เป็นเรื่องปรกติธรรมดาราวกับเคี้ยวหมากฝรั่ง” และมีหลักฐานชัดเจนว่าทหารประมาณร้อยละ ๒๐ ถึงขั้นเสพติด แต่ร้อยละ ๙๕ ของทหารที่ติดเฮโรอีนนั้นเมื่อได้กลับบ้านในสหรัฐอเมริกา แทบทุกคนก็เลิกเสพ มีจำนวนน้อยที่ต้องบำบัดรักษา

ในทำนองเดียวกันคนไข้จำนวนไม่น้อยก็ต้องใช้มอร์ฟีนระงับอาการเจ็บปวดอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานเมื่ออยู่ในโรงพยาบาล แต่เมื่อหายจากอาการเจ็บป่วยและกลับบ้าน คนไข้เหล่านี้ส่วนใหญ่ไม่มีอาการติดยาเสพติดเลย

ข้อสรุปงานวิจัยของศาสตราจารย์อเล็กซานเดอร์คือ ผลกระทบที่สารเคมีมีต่อร่างกายเป็นเพียงส่วนเสี้ยวเล็กน้อยของปัญหาทั้งหมด การติดยาเสพติดเป็นปัญหาสังคมมากกว่าส่วนบุคคล และมักเกิดขึ้นในสังคมที่มีลักษณะต่างคนต่างอยู่ การลงโทษผู้ใช้ยาโดยจำคุกหรือมาตรการรุนแรงอื่นๆ จึงเป็นการซ้ำเติมปัญหามากกว่าแก้ปัญหา

 

ห้องทดลองโปรตุเกส

เมื่อประมาณ ๑๕ ปีก่อน โปรตุเกสมีปัญหายาเสพติดรุนแรงที่สุดประเทศหนึ่งในยุโรป ประชากรร้อยละ ๑ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเยาวชนเสพติดเฮโรอีนที่หลั่งไหลมาจากอัฟกานิสถานและปากีสถาน รัฐบาลพยายามแก้ไขปัญหาด้วยการทำสงครามยาเสพติด แต่ไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้น มิหนำซ้ำทุกอย่างกลับยิ่งเลวร้ายลง เพราะการใช้เข็มฉีดยาทำให้ปัญหาการระบาดของเชื้อเอชไอวี/เอดส์พุ่งสูงขึ้น

ชวง โกเลา

 

ชวง โกเลา (João Goulão) นายแพทย์สาขาเวชศาสตร์ครอบครัว ผู้เชี่ยวชาญการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด และผู้อำนวยการเครือข่ายศูนย์บำบัดผู้ติดยาในโปรตุเกส ปี ๒๕๔๑ รัฐบาลแต่งตั้งให้เขาเป็น ๑ ใน ๑๑ คณะกรรมการแก้ไขปัญหายาเสพติด รายงานและข้อเสนอของคณะกรรมการชุดนี้อาจขัดต่อความเชื่อฝังหัวของคนทั่วไป ด้วยข้อเสนอสำคัญของคณะกรรมการคือนโยบายลดทอนความผิดทางอาญา (decriminalization) ของยาเสพติด

รายงานฉบับนี้กลายเป็นพื้นฐานการออกกฎหมายที่เรียกว่า กฎหมาย ๓๐/๒๐๐๐ ซึ่งเริ่มบังคับใช้ในปี ๒๕๔๔ การลดทอนความผิดทางอาญาไม่ใช่การทำให้ถูกกฎหมาย (legalization) การครอบครองยาเสพติดยังคงมีความผิดในโปรตุเกส แต่หากไม่เกินปริมาณที่กำหนด ความผิดของผู้ครอบครองก็เป็นโทษสถานเบาไม่ต่างจากการจอดรถในที่ห้ามจอด แนวคิดนี้มาจากแนวคิดพื้นฐานของโกเลาที่มองว่า “ผู้ใช้ยาเสพติดไม่ใช่อาชญากร เขาเป็นแค่ผู้ป่วย”

ปริมาณที่กำหนดไว้ตามกฎหมายนั้นต่างกันตามชนิดของยาเสพติด เช่น เฮโรอีน ๑ กรัม โคเคน ๒ กรัม ใบกัญชา ๒๕ กรัม เห็ดเมา ๕ กรัม ฯลฯ ตัวเลขเหล่านี้มาจากการประเมินปริมาณ
ยาเสพติดที่ใช้ในเวลา ๑๐ วัน เมื่อถามว่าทำไมถึงกำหนด ๑๐ วัน โกเลาตอบว่า นี่เป็นการทดลองกำหนดขึ้นเองเพราะตอนออกกฎหมายยังไม่มีข้อมูลที่ใช้อ้างอิงได้

เมื่อพบยาเสพติดหลังตรวจค้นตัวผู้ต้องสงสัย ตำรวจจะชั่งปริมาณยา หากเกินกว่าที่กำหนด ผู้ครอบครองจะถูกตั้งข้อหาผู้ค้ายาและส่งฟ้องศาล ส่วนคนที่ครอบครองน้อยกว่าปริมาณที่กำหนดจะได้รับโทษสถานเบาแค่รายงานตัวต่อคณะกรรมการยาเสพติดภายใน ๗๒ ชั่วโมง

มาตรการนี้ไม่ต้องการให้ผู้ใช้ยาหวาดกลัวหรือถูกมองเป็นอาชญากร เมื่อเขาไปรายงานตัว นักสังคมสงเคราะห์จะสัมภาษณ์เพื่อประเมินความเสี่ยงต่างๆ หลังจากนั้นนักจิตวิทยาและนักกฎหมายจะรับหน้าที่ต่อ กรณีผู้ใช้ยาเป็นเยาวชน เจ้าหน้าที่จะพยายามพูดคุยให้เขาตระหนักถึงผลร้ายของการติดยา เมื่อการสัมภาษณ์เสร็จสิ้น ผู้ใช้ยาจะได้รับการปล่อยตัว ถ้าไม่ถูกจับซ้ำอีกภายใน ๓ เดือนก็เป็นอันปิดคดี ไม่มีการลงบันทึกหรือทำประวัติอาชญากรรม แต่ถ้าเขาทำผิดซ้ำก็อาจมีค่าปรับ หรือลงโทษให้บำเพ็ญประโยชน์ รวมทั้งเกลี้ยกล่อมให้เข้าสถานบำบัด

drug-portugal03

๑๔ ปีของการทดลอง

การลดโทษลงไม่ได้ทำให้คดียาเสพติดเพิ่มขึ้น ซึ่งตรงกันข้ามกับความเชื่อของคนทั่วไป ในกรุงลิสบอน ตำรวจจะส่งผู้กระทำความผิดไปยังคณะกรรมการฯ ประมาณ ๑,๕๐๐ รายต่อปี หรือเฉลี่ยน้อยกว่า ๕ รายต่อวัน ร้อยละ ๗๐ ของคดีทั้งหมดคือกัญชาซึ่งไม่ใช่ยาเสพติดร้ายแรงและไม่ใช่สิ่งผิดกฎหมายในหลายประเทศ

หลังจากผ่านไป ๑๔ ปี โปรตุเกสกลายเป็นประเทศแนวหน้าในยุโรปที่แก้ปัญหายาเสพติดได้อย่างน่าพึงพอใจ ระดับการใช้ยาเสพติดต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในยุโรป การใช้ยาเสพติดลดลงในกลุ่มเยาวชนอายุ ๑๕-๒๔ ปี ซึ่งเป็นวัยที่เสี่ยงต่อการติดยามากที่สุด อัตราการใช้ยาเสพติดร้ายแรงและการใช้เข็มฉีดยาลดลง ซึ่งทำให้อัตราผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ลดลงตามไปด้วย อัตราการใช้ยาเสพติดอย่างต่อเนื่องก็ลดลงเช่นกัน

หากมองโปรตุเกสเป็นห้องทดลองขนาดใหญ่ อาจกล่าวได้ว่าผลการทดลองนโยบายนี้ไม่ได้ทำให้อัตราการใช้ยาเสพติดเพิ่มขึ้น แต่ลดลงด้วยซ้ำ ผลดีที่ตามมาอีกประการคือรัฐประหยัดเงินและเวลามากมายมหาศาล ทั้งด้านงบประมาณ ภาระหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ จำนวนผู้ต้องโทษในเรือนจำ การดำเนินคดีในชั้นศาล รวมทั้งลดปัญหาด้านสาธารณสุขด้วย

ปัจจุบันนายแพทย์ชวง โกเลา ได้รับแต่งตั้งเป็นประธานศูนย์ติดตามตรวจสอบปัญหายาเสพติดและการติดยาเสพติดแห่งยุโรป (European Monitoring Centre for Drugs and Drug Addiction – EMCDDA) และเป็นผู้แทนคนหนึ่งในคณะกรรมาธิการยาเสพติดประจำสหประชาชาติ