ผลงานจากค่ายสารคดีครั้งที่ 12
งานเขียนสารคดีดีเด่น
เรื่อง : นิราวัฒน์ นารอด

ภาพ : พงศกร สุภาพรรณ

ปากประตูสุดแดนพระนครใต้ ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เส้นทางสำคัญในการสัญจรค้าขายและนำความเจริญมาสู่ย่านบางรักที่ซึ่งในอดีตเรือส่งสินค้าจะมาจอดเทียบท่า ณ ที่แห่งนี้

วันหนึ่งกลางฤดูร้อน กระแสลมตะวันออกได้พัดใบเรือลำหนึ่งแล่นตรงมาจากเกาะฮ่องกง ผ่านป้อมปากแม่น้ำเจ้าพระยา ชาวสยามสมัยนั้นต่างมองกำปั่นใบลำนี้ด้วยสายตาชาชิน ด้วยทุก ๆ วันจะมีเรือสินค้าเข้ามา และออกไปเป็นปกติ แต่กระแสลมที่พาเอาเรือลำนี้มานั้นกำลังจะพัดพาม่านหมอกที่ปกคลุมสยามเก่า ให้กลายเป็นเมืองแห่งการเปลี่ยนแปลง หรืออาจจะเรียกได้ว่าสยามได้เปลี่ยนไปแล้วตั้งแต่เรือลำนี้แล่นมาถึง

“การค้าจะเปลี่ยนสยามจากป่าให้กลายเป็นสวน” ผ่านไปนับร้อยปี กาลเวลาได้พิสูจน์ว่าถ้อยคำที่ออกจากปากของ เซอร์จอห์น เบาว์ริง ชายที่เดินทางมากับเรือลำนั้น ในวันลงนามในสนธิสัญญาเมื่อ 18 เมษายน 2398 ได้เปลี่ยนสยามให้กลายเป็นเมืองที่ศิวิไลซ์ อีกทั้งสนธิสัญญาที่ถูกเรียกว่า “สนธิสัญญาเสียเปรียบ” จะทำให้สยามได้เปรียบในการรักษาเอกราช อังกฤษทำทุกวิถีทางในการปกป้องผลประโยชน์ของตน รวมถึงรักษาผลประโยชน์ในสยามจากการรุกรานของฝรั่งเศสด้วย
ใครจะรู้ว่ากระแสลมฤดูร้อนในปีนั้นจะยังคงพัดเรื่อยมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน

เป็นครั้งแรกที่ผมได้มายืนอยู่บนถนนเจริญกรุง มองดูร่องรอยที่หลงเหลือของอดีตผ่านกาลเวลา ตลอดความยาวของถนนเรียงรายไปด้วยร้านรวงต่าง ๆ ผู้คนต่างเดินสวนกันไปมา เป็นความไร้ระเบียบที่มีแบบแผน เป็นความวุ่นวายที่นำความคึกคักมาสู่ย่านเศรษฐกิจแห่งนี้

เรายังคงเห็นอาคารเก่า ๆ ที่มีมานานนับร้อยปี ร้านค้าบางร้านขายมาตั้งแต่เริ่มสร้างถนนใหม่ ๆ หากแต่ถัดไปเป็นตึกสูงเสียดฟ้า ความใหญ่โตของมันราวกับยักษ์ปักหลั่นที่ยืนค้ำร่างของหญิงชราตัวเล็ก ความแตกต่างบนทวิภาคนี้ขับให้เจริญกรุงซ่อนเร้นเรื่องราวแห่งความรุ่งเรืองในอดีตเอาไว้ เหมือนกับหญิงชราที่อายเกินกว่าจะเล่าอดีตของตัวเอง

วูบหนึ่งของความคิด หากผมสามารถเดินทางย้อนเวลากลับไปได้ และสามารถเฝ้าดูเจริญกรุงในครั้งอดีตเติบโตผ่านวันและเวลา จากเด็กกลายเป็นสาว จากสาวร่วงโรยแก่ชรา ผมจะได้ข้อคิดอะไรจากการเฝ้าดูนั้นเพื่อมาบอกผู้คนในปัจจุบัน ผู้ที่เป็นหัวใจของเจริญกรุง

เสียงความคิดในหัวของผม เราจะบอกอะไร กังวานกลบเสียงรอบข้างเสียสิ้น พลันภาพต่าง ๆ จากอดีตก็หวนกลับมาให้ได้เฝ้ามอง เสียงแตรรถเมล์ค่อย ๆ จางหายไปกลายเป็นเสียงระฆังที่ดัง แก๊ง แก๊ง… ของรถรางสายสีเหลืองแถบน้ำตาลแดงที่กำลังแล่นผ่านไป รถเจ๊กหลายคันที่ชายชาวจีนสวมงอบทรงแหลมวิ่งลากส่งคนสวนกันไปมาบนถนนใหม่ ที่ชาวบ้านกล่าวขานว่า กว้างเสียจนช้างสองเชือกเดินสวนกันท้องไม่เสียดกัน เสาไม้สูงที่มีสายสีดำระโยงตั้งอยู่ข้างทาง คงเป็นสายโทรเลขที่คนกรุงเมื่อก่อนเรียกว่า ตะแล๊ปแก๊ป อีกฝั่งถนนเป็นเสาไม้ลักษณะคล้ายกัน มีดวงเทียนต่อกับสายไฟที่จะเปิดให้แสงสว่างยามค่ำคืน แต่ที่เสาไฟก็ยังเห็นโคมกระจกใส ภายในมีตะเกียงคงใช้จุดแทนยามที่ไฟดับ เจริญกรุงสมัยนั้นคงจะเจริญที่สุดในเวลานั้น สมชื่อพระราชทานที่หมายถึง ความเจริญรุ่งเรืองของบ้านเมือง

ถนนเจริญกรุงถูกสร้างขนานไปกับแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำสายหลักที่นำความมั่งคั่งจากโพ้นทะเลมาสู่บางกอก และดูเหมือนเจริญกรุงจะได้รับอานิสงนี้เมื่อมีการก่อสร้างด่านศุลกากรขึ้นเพิ่มเติมจากด่านกุฎีจีน ที่สร้างตามสนธิสัญญาเบาว์ริง ด่านศุลกากรนี้เรียกว่า ศุลกสถาน (Customs-house) เป็นที่สำหรับเรือสินค้าต่างชาติมาจอดเทียบท่าเพื่อจ่ายภาษีที่ชาวบ้านสมัยนั้นเรียกว่า ภาษีร้อยชักสาม ตามที่คุณลุงนที เจ้าของร้าน หว่าโถว หรือที่ชาวบางรักรู้จักในนาม ร้านน้ำขมบางรัก เล่าว่าสมัยยังเด็กคุณพ่อกับคุณปู่ สั่งยาจีนและสมุนไพรจีนต่าง ๆ ล่องเรือมาจากฮ่องกง เมื่อจ่ายร้อยชักสามแล้วก็จะจ้างรถเจ๊กลากมาส่งที่บ้าน

บางรักสมัยนั้นผู้คนเริ่มเยอะขึ้น เนื่องจากเป็นทำเลทองเหมาะแก่การค้าเพราะอยู่ใกล้แม่น้ำและท่าเรือ ชาวจีนที่ช่ำชองเรื่องการค้าขายเริ่มจับจองพื้นที่ ภายหลังที่ทางราชการได้สร้างห้องแถวที่สองฝั่งถนนเจริญกรุงเพื่อให้เช่า ก็มีชนชาติต่าง ๆ มาเช่าเพื่อทำการค้าขาย ชาวจีนเห็นจะมีมากสุด คุณลุงนทียังเล่าอีกว่าตอนยังเด็ก และพอจะจำความได้ คนจีนแถบเจริญกรุงสมัยนั้นส่วนใหญ่ก็เป็นเพียงรุ่นที่ 2 หลังจากโดยสารมากับเรือสำเภา และเริ่มที่จะทำงานใช้หนี้ค่าเรือสำเภากันหมดแล้วจึงพอตั้งตัวได้ มีเงินมาเช่าห้องแถวของหลวงค้าขายสินค้าที่คนจีนต้องการ ดั่งเช่นคุณปู่กับคุณพ่อที่ขายน้ำขมที่คนจีนชอบ นอกจากจะเป็นยาแล้วยังช่วยให้ชุ่มคอดับกระหาย คุณประวิทย์ทายาทของคุณลุงนทีถึงกับเอ่ยปากว่าน้ำขมสมัยก่อนนั้นขมจริง ๆ ขมจนต้องปรับให้น้อยลงมาเพื่อให้สามารถขายให้คนอื่นดื่มได้ด้วย ซึ่งแม้จะปรับลงมาแล้วมันก็ยังขมมากสำหรับผมอยู่ดี

และด้วยเหตุที่ว่าคนจีนช่ำชองเรื่องการค้าขายนั้น คงจะรวมไปถึงหัวคิดในการพลิกแพลงสินค้าให้เข้ากับความต้องการ อย่างเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ประเทศไทยเวลานั้นมีเครื่องปรุงรสที่มีรากฐานมาจากสภาพภูมิประเทศเป็นหลัก รสหวานที่ได้จากน้ำตาลโตนดจากหัวเมืองเพชรบุรี เกลือและน้ำปลาจากเมืองสองสมุทร (สมุทรสาครและสมุทรสงคราม) ซึ่ง ไม่ถูกลิ้น คนจีน จึงเริ่มมีการหมักซอสถั่วเหลืองเพื่อขายให้กับคนจีนเกิดขึ้น

การเกิดขึ้นของซอสถั่วเหลืองราวกับจะทำให้คนจีนเริ่มปรุงอาหารจีนกันอย่างแพร่หลาย และหลากหลายมากขึ้น หนึ่งในนั้นคืออาหารที่คนไทยเรารู้จักเป็นอย่างดีนั่นคือ “ข้าวขาหมู” สมัยก่อนนั้นคนจีนจะหาบข้าวขาหมูขายเรื่อยไปตามถนนเจริญกรุง ซึ่งปัจจุบันหากถามชาวบางรักถึงขาหมูที่อร่อยที่สุดเราคงได้มาหยุดอยู่ในตรอกซุง หน้าร้าน “ข้าวขาหมูตรอกซุง”

คุณจิรวรรณเจ้าของร้านเล่าให้ฟังว่า ก่อนจะมีร้านดั่งเช่นปัจจุบันนี้ รุ่นคุณพ่อคุณแม่ก็จะหาบมาขายที่ตลาดบางรักเก่า ขายวันหนึ่ง 4-5 ขาก็ถือว่ามากแล้วในสมัยนั้น อีกทั้งหากเราได้ลิ้มรสข้าวขาหมูเมื่อ 50-60 ปีก่อนจะแตกต่างจากปัจจุบันมาก เพราะสมัยนั้นขายแต่คนจีนซึ่งชอบกินมันและเค็ม ร้านข้าวขาหมูเมื่อก่อนที่ปรุงได้มันเยิ้มและเค็มจะถือว่าเป็น เจ้าอร่อย และมักจะขายหมด ก่อนรถรางเที่ยวสุดท้าย เสมอ

ยามบ่ายของเจริญกรุง พระอาทิตย์คล้อยไปทางแม่น้ำเจ้าพระยา ลับเหลี่ยมหลังคาห้างร้านและตึกสูงที่เติบโตจากเม็ดเงิน ได้รับสารอาหารจากผลกำไร ผลิดอกออกใบเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก และดูเหมือนว่าตึกสูงเหล่านี้กำลังงอกงามอย่างต่อเนื่อง นานแค่ไหนแล้วที่ชาวเจริญกรุงไม่ได้เห็นพระอาทิตย์ลับแนวยอดไม้ หรือจ้องมองแสงสุดท้ายของวันส่องผ่านยอดเจดีย์วัดอรุณฯ ที่ตั้งอยู่สุดสายตาทางตะวันตกเฉียงเหนือของแม่น้ำ

ยามบ่ายเช่นนี้ ร้านบางแห่งกำลังเก็บของหลังจากที่นั่งขายมาตั้งแต่เช้า รอยยิ้มปรากฎบนใบหน้าของคุณยายขายผลไม้ถึงผลประกอบการที่ขายได้เกลี้ยงแผง ร้านรถเข็นที่ขายอาหารสารพัดอย่างกำลังเข็นจากไป ในขณะที่บางร้านกำลังติดตั้งไฟเพื่อรอการค้าที่จะเกิดขึ้นในตอนเย็นและค่ำคืน

คุณยายวิมลรัตน์ (ซึ่งผมตีสนิทเรียกว่าอาม่า) เล่าถึงความหลังเมื่อครั้งที่อายุราว ๆ 10 ขวบว่าสมัยนั้นยังมีตลาดบางรักถือว่าเป็นตลาดที่คึกคักที่สุดแห่งหนึ่งในฝั่งพระนคร ผู้คนจากทั่วสารทิศต่างเดินทางมาจับจ่ายใช้สอย บ้างก็ขับรถยนต์ หรือจับรถเจ๊กมา พอรถรางเกิดขึ้นคนจีนแถบเยาวราชก็หอบข้าวของใส่หาบนั่งรถรางมาขายถึงตลาดบางรัก อาม่ายังเล่าติดตลกว่าคนทั่วไปถ้ารีบเค้าไม่นั่งรถรางกันหรอก มีแต่พ่อค้าแม่ค้าที่เอาของมาขายจึงจะนั่งเพราะมันวิ่งช้า แล้วยังมาเป็นรอบเวลาซึ่งการเดินทางตามรอบเวลาอย่างตะวันตกคนไทยสมัยนั้นยังไม่คุ้นเคย จะไปไหนมาไหนถือฤกษ์สะดวกเรียกรถเจ๊กไปไวกว่า เพราะเรียกเมื่อไหร่ก็มาไม่ต้องรอรถราง

คุณลุงทวีร้านน้ำขมบางรักบอกว่าเคยช่วยคุณพ่อเอายาสมุนไพรขึ้น เตี่ยงเชีย ไปขายแถวเยาวราชสมัยหนุ่ม ๆ คงเป็นเพราะบางรักอยู่ติดท่าเรือ ร้านยาจีนสมัยนั้นยังคงมีน้อย เมื่อเรือสินค้ามาขึ้นที่บางรักก็หอบเอายาจีนเข้าไปขายในตัวเมือง พอได้เข้าเมืองคุณลุงก็มักจะถือโอกาสไปเที่ยวตามประสา คนไกลหอกลอง ตกบ่ายก็ขึ้นรถรางหรือที่คนจีนเรียกว่า “เตี่ยงเชีย” กลับบางรัก

ทั้งสามท่านที่ผมได้มีโอกาสเข้าไปพูดคุยบอกเหมือนกัน ความครึกครื้นของบางรักแสดงออกมาอย่างเต็มเปี่ยมผ่านคำบอกเล่า และดวงตาที่มีความสุขทุกครั้งที่เอ่ยถึง แม้ว่าปัจจุบันรถราต่าง ๆ ที่เข้ามาแทนที่รถรางและรถเจ๊กจะมากมายกว่าอดีตหลายเท่า ผู้คนที่เพิ่มมากขึ้นเดินขวักไขว่ไปมาก็ไม่อาจเรียก ความครึกครื้น ของบางรักในสมัยก่อนกลับมาได้

เมฆเริ่มก่อตัวบดบังแสงที่ส่องผ่านช่องว่างของตึกสูง ผู้คนเริ่มเดินเร็วขึ้นเพื่อหนีให้ทันฝน เสียงแตรรถยนต์ดังถี่ขึ้นเป็นปกติเมื่อฝนใกล้ตก ถนนเจริญกรุงตกอยู่ในเงามืดของเมฆครึ้มเหนือหัว เงามืดทอทาบให้ทุกอย่างดูทึมเทาและน่าอึดอัด อะไรที่ทำให้ความครึกครื้นของเจริญกรุงเริ่มหายไป

 

ปากประตูสุดแดนพระนครใต้ ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เส้นทางสำคัญในการสัญจรค้าขายและนำความเจริญมาสู่ย่านบางรักที่ซึ่งในอดีตเรือส่งสินค้าจะมาจอดเทียบท่า ณ ที่แห่งนี้

แยกถนนตัดระหว่างสีลมและเจริญกรุงที่มีผู้คนมากมาย บางคนหยุดเพื่อรอ บางคนเดินสวนทางกันไปตามแต่ละเป้าหมายของตนเอง

ศุลกสถาน สถาปัตยกรรมเก่าแก่ที่อยู่คู่บางรักมาเป็นเวลากว่า 120ปี ซึ่งในอดีตใช้เป็นที่เก็บภาษีขาเข้าและตรวจตราเรือสินค้าจากประเทศต่างๆ ปัจจุบันรู้จักกันในชื่อ “สถานีดับเพลิงบางรัก”

ความครึกครื้นในย่านบางรัก ร้านค้าแผงลอยเรียงรายและอีกฟากของถนนก็เป็นร้านค้าเก่าแก่ที่อยู่มาตั้งแต่อดีตกาลจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตของคนที่นี่ไปแล้ว

บรรยากาศภายในร้าน หว่าโถ่ว ร้านที่อยู่คู่บางรักมาอย่างยาวนาน รอยยิ้มพิมพ์ใจระหว่างการพูดคุยทำให้รู้สึกอุบอุ่นไม่น้อย

คุณลุงนที เจ้าของร้านหว่าโถ่ว ผู้เผยแพร่ให้ความรู้เรื่องราวการค้าขายในอดีตของบางรัก

ผู้คนที่จับจ่ายใช้สอย แสดงให้เห็นถึงความคึกคักและความอุดมสมบูรณ์ของการค้าขาย

 

 

เสียงดนตรีแสนไพเราะที่บรรเลงจากปากผ่านเครื่องดนตรีของชายพิการผู้หนึ่ง ทำให้รู้สึกราวกับถูกย้อนไปในอดีตของที่แห่งนี้อีกครั้ง

สายตาของหญิงชราทอดยาวออกไปไกลถึงอดีต ผมถามอาม่าถึงการเปลี่ยนแปลงนี้ อะไรที่เปลี่ยนรูปโฉมของเจริญกรุงไปตลอดกาล

ทุกอย่างมันก็เปลี่ยนไปตามกาลเวลา คล้ายอาม่าพูดกับความคิดของตัวเองมากกว่าบอกเด็กน้อยอย่างผมที่นั่งอยู่ตรงหน้า กาลเวลาที่ล่วงเลยมาหลายสิบปีทำให้เด็กหญิงคนหนึ่งเติบโตขึ้นเป็นสาว ก่อนจะผ่านวันเวลาล่วงเลยกระทั่งมานั่งเล่าความหลังให้เราได้ฟังตรงนี้ ผลึกตะกอนที่เต็มไปด้วยความเข้าใจชีวิตถ่ายทอดออกมาผ่านดวงตาที่มีความสุข

อาม่าบอกว่าสมัยก่อนบนถนนเจริญกรุงมีห้างเซ็นทรัล ตั้งอยู่แถว ๆ ปากซอยโรงแรมโอเรียนเต็ล เปิดมาตั้งแต่ปลายรัชกาลที่ 6 อีกทั้งสมัยสาว ๆ แถวสี่แยกราชวงศ์มีห้างใต้ฟ้าซึ่งโด่งดังและมีชื่อเสียงกว่าห้างเซ็นทรัลมาก หากผู้ใหญ่บอกว่าจะพาไปห้างใต้ฟ้า และห้างแมวดำแถวเยาวราช เด็ก ๆ จะตื่นเต้นดีใจมาก ต่อมาเมื่อราว ๆ 30 ปีก่อนห้างโรบินสันก็ได้มาสร้างบริเวณตลาดบางรักเก่า ทำให้ตลาดต้องถูกปิดตามไปด้วย

คุณลุงทวีบอกว่าสมัยโรบินสันเปิดแรก ๆ ก็กลัวจะขายของไม่ได้ กลัวว่าห้างจะมาแย่งตลาดไป ซึ่งช่วงแรก ๆ ก็ขายได้น้อยลงจริง ๆ แต่ผ่านมาสักระยะคนก็กลับมาซื้อของร้านโชห่วยตามปกติ อาจจะเนื่องจากได้ของราคาถูกกว่า หลากหลายกว่า และสดใหม่กว่า ซึ่งอาม่าก็บอกเช่นกันว่าแม้กระทั่งมีห้างมาตั้งแล้ว ก็ยังขายได้เรื่อย ๆ เหมือนปกติ ไม่ค่อยส่งผลต่อร้านห้องแถวมากนัก จะมีก็แต่แม่ค้าหาบเร่ที่ต้องอาศัยตลาดบางรักค้าขายก็ต้องไปขายที่อื่น

แต่ทุกอย่างมันก็เปลี่ยนไปตามกาลเวลา เป็นกฎที่เจริญกรุงกำลังเผชิญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ร้านค้าหลายร้านขายห้องแถวที่ตั้งอยู่บนทำเลที่อยู่เหนือกาลเวลาแห่งนี้ทิ้งไป ไม่ใช่เพราะสภาพเศรษฐกิจย่ำแย่ ไม่ใช่เพราะไม่มีลูกค้า แต่เป็นเพราะขาดคนรุ่นใหม่ในการสืบทอดกิจการ

อาม่าเปิดร้านขายไก่บ้านมานานกว่า 40 ปีแล้ว สมัยก่อนนั้นชุมชนชาวจีนจะมีร้านขายไก่ให้เห็นอยู่มาก ในตรอกซุงเองก็มีอยู่ถึง 5-6 ร้าน ยังมีพ่อค้าหาบไก่เป็นจากสาธุประดิษฐ์มาขายอีกมากมาย ไม่รวมถึงชุมชนชาวจีนที่เยาวราช อาม่าเองก็รับช่วงต่อมาจากคุณพ่อ ทำตามความประสงค์ของผู้ใหญ่ ตามที่อาม่าได้บอกเรา ปัจจุบันร้านขายไก่บ้านเหลืออยู่เพียง 2 ร้านในบางรัก และอีก 2-3 ร้านที่เยาวราช และเหตุที่ร้านขายไก่นี้ลดลงเพราะ ไม่มีคนมาทำต่อ

สมัยก่อนลูกหลานชาวจีนที่เกิดบนแผ่นดินไทยก็ได้รับการศึกษาเช่นเดียวกับเด็กไทย เมื่อจบการศึกษาก็ไปทำงานตามสายอาชีพที่ตนจบมา จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เราจะเข้าร้านค้าของคนจีนแล้วพบว่าเจ้าของร้านส่วนใหญ่นั้นอายุมากแล้ว ซึ่งอาม่าเองก็เปรยว่าหากจะต้องปิดก็ต้องปิด ไม่ได้โทษลูกหลานหรือโทษใครเพียงแต่ยุคสมัยมันเปลี่ยนไป การค้าขายแบบเดิมมันก็ต้องเปลี่ยนตาม

เมฆฝนผ่านไปแล้ว แสงสุดท้ายของวันถูกทดแทนด้วยแสงสียามค่ำคืน กรุงเทพฯ ไม่เคยมืดมิด คงจะเป็นจริงดั่งที่มีคนกล่าวเอาไว้ เด็กนักเรียนทั้งหญิงชายต่างเดินกลับบ้านเมื่อโรงเรียนเลิก ภายในกระเป๋าเป้ที่สะพายบนไหล่คงจะมีอนาคตที่ตนนั้นแบกไว้อย่างไม่รู้ตัว เป็นอนาคตที่จะพาเด็กเหล่านี้ไปข้างหน้า และเป็นอนาคตที่จะพลิกโฉมเจริญกรุงไปสู่บทใหม่ของถนนสายนี้
หากผมสามารถบอกบางอย่างถึงคนปัจจุบันผ่านภาพในอดีตที่ผมมีโอกาสผ่านไปเห็นมาด้วยคำบอกเล่า ผมคงจะบอกว่าบรรพบุรุษเราทำดีที่สุดแล้วในอดีต เรารอดพ้นวิกฤตการณ์ต่าง ๆ มาได้ด้วยการเรียนรู้ที่จะปรับตัว ส่วนอนาคตของเจริญกรุงนั้นหากจะต้องเปลี่ยนแปลง มันก็ต้องเปลี่ยนไปตามกาลเวลา

ความเจริญรุ่งเรืองของบ้านเมือง คงไม่ได้วัดที่อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเสมอไป บางครั้งความเจริญที่แท้จริงต้องเกิดจากความเข้าใจอดีต ปัจจุบันคือมิตรแท้ของอดีต อนาคตคือผลผลิตของปัจจุบัน การเติบโตบนพื้นฐานของความเข้าใจย่อมนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่เป็นธรรม

banner-camp-12-for-web