งานจากค่ายสารคดีครั้งที่ 12
งานเขียนดีเด่น
เรื่อง : กรรทิชา เหลืองสอาด
ภาพ : โศภิษาฐ์ สู่ทรัพย์
พวงมาลัยหลายพวงแขวนบนเตาอบขนมขนาดใหญ่ ตั้งเรียงรายกันอยู่ในครัวที่มีกลิ่นอายร้านเบเกอรี homemade เก่าแก่ราว ๕๐-๖๐ ปีก่อน
นี่คือเบื้องหลังของร้านปั้นลี่เบเกอรี่ ร้านเบเกอรีชื่อดังย่านเจริญกรุง เขตบางรัก ที่หน้าร้านจัดแต่งแบบร่วมสมัย คือจุดกำเนิดกลิ่นหอมอบอวลของเนย น้ำตาล แป้งทำขนม และอื่นๆ ที่แพร่ลอยวนในอากาศ ทุกสิ่งส่งต่อมาจากในครัว
สมุดรายการอาหารของร้านบอกเล่าความเป็นมาของร้านปั้นลี่เบเกอรี่สี่รุ่น ตั้งแต่รุ่นคุณปู่คุณย่ามากว่า ๖๐ ปี พอจะไขข้อสงสัยได้บ้างว่าทำไมครัวของร้านจึงคงความดั้งเดิมแฝงความเป็น homemade แบบจีนๆ อย่างตี่จู้เอี้ย และยันต์สีแดงลงลายอักษรจีนติดบนผนัง
ชินภัทร วัฒนเตพงศ์ หรือคุณอู๋ เจ้าของร้านปั้นลี่เบเกอรี่ ยังคงมีความเชื่อเรื่องเทพเจ้าต่างๆ อยู่หรือ
การไหว้เทพเจ้าแห่งเตาด้วยพวงมาลัยนั่น เขาเชื่อจริงหรือไม่
หรือเทพเจ้าคือผู้ช่วยให้ร้านเบเกอรีนี้ยั่งยืนสืบต่อจากรุ่นสู่รุ่นมากว่า ๖๐ ปี
หรือนี่คือเคล็ดลับเบื้องหลังแห่งความสำเร็จอันยาวนาน
เทพเจ้าแห่งเตา
ชาวจีนมีความเชื่อความศรัทธาในเทพเจ้าและการเคารพนับถือบรรพบุรุษ ให้ความสำคัญกับการแสดงความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ และเชื่อว่าทุกสิ่งที่มีส่วนช่วยให้ประสบความสำเร็จล้วนเป็นสิ่งที่พึงนับถือ ไม่ต่างจากคติความเชื่อของคนไทยนัก
เทพเจ้าแห่งเตาเป็นเทพองค์หนึ่งตามความเชื่อของชาวจีนที่อาศัยอยู่ในเตาฟืน
แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไป ครัวของหลายบ้านเปลี่ยนแปลงไปตามเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เริ่มเข้ามา จากก่อฟืนเปลี่ยนเป็นไฟฟ้า จากเตาฟืนเปลี่ยนเป็นเตาอบ จากที่ไหว้เตาฟืนจึงเปลี่ยนมาไหว้เตาอบแทน คุณอู๋เล่าว่า
”บางบ้านจะไหว้เฉพาะวันสำคัญของจีน แต่ร้านของเราใช้เตาทำมาหากินทุกวัน เราจึงไหว้ทุกวัน”
คุณอู๋เล่าถึงจุดกำเนิดของความเชื่อที่ส่งต่อมาจากบรรพบุรุษ
“รุ่นคุณปู่คุณย่าเป็นคนจีนที่มาจากเมืองจีนเลย ตอนนั้นท่านคงไม่ได้คิดอะไร นอกจากการหาสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ และสิ่งใกล้ตัวที่สุดตอนนั้นก็คือเตา ท่านก็ไหว้ทั้งบรรพบุรุษ ไหว้เทพเจ้าบนสวรรค์ แล้วก็เทพเจ้าเตาด้วย เพราะเตาเป็นเครื่องมือทำมาหากิน”
การไหว้เทพเจ้าแห่งเตาของร้านปั้นลี่เบเกอรี่อาจคล้ายคลึงกับความเชื่อของไทย ชาวประมงจะไหว้แม่ย่านางเรือ ชาวนาไหว้แม่โพสพ เป็นการไหว้สิ่งสำคัญหรือเครื่องมือประกอบอาชีพและทำมาหากิน
แม้ว่าบางวันคุณอู๋จะไม่ได้ไหว้ด้วยตัวเอง แต่ก็มอบหมายหน้าที่ไว้กับพนักงานในร้านปั้นลี่ให้ซื้อของและพวงมาลัยมาไหว้อยู่เสมอ
“พนักงานที่นี่หลายคนทำงานมาเป็นสิบๆ ปี เป็นพนักงานรุ่นเก่ารุ่นแก่ หลายคนรู้วิธีไหว้”
คุณลุงพนักงานบอกว่า “พวกหนูเป็นคนรุ่นใหม่ คงไม่เชื่อเรื่องเทพเจ้าหรอก แต่ความเชื่อใครความเชื่อมัน อย่าลบหลู่กันนะ บางอย่างพิสูจน์ไม่ได้ก็ใช่ว่าจะไม่มีจริง”
กรรมวิธีการทำขนมอาจไม่ใช่เพียงการนวดแป้ง การตั้งเวลา การปรับอุณหภูมิแล้วใส่แป้งเข้าไปในเตาอบ จากนั้นรอให้เตาร้องเสียงดัง “ติ๊ง” แล้วก็ยกขนมปังหอมๆ ออกมาจากเตา
แต่คือกรรมวิธีแห่งความเชื่อและความศรัทธา
หลายครั้งที่คนเราทำสิ่งต่างๆ ขึ้นมาแล้วประสบความสำเร็จโดยมีจุดเริ่มต้นมาจากความเชื่อ
เชื่อว่าคนเราจะบินได้ เชื่อว่าโลกไม่ได้แบนจึงกล้าล่องเรือไปค้นพบทวีปใหม่
เชื่อว่าวันหนึ่งเท้าเล็กๆ ของมนุษย์จะไปเหยียบพื้นผิวของดวงจันทร์ในสักวัน
คำบอกเล่าจากรุ่นที่สาม
คุณพ่อและคุณแม่ของคุณอู๋คือผู้ดูแลกิจการร้านปั้นลี่รุ่นที่ ๓
วรยุทธิ์ วัฒนเตพงศ์ คุณพ่อของคุณอู๋เผยถึงเรื่องที่ว่าคนรุ่นเก่าใช้วิธีใดสอนคนรุ่นใหม่ให้ปฏิบัติตามความเชื่อความศรัทธา และทำตามที่บรรพบุรุษเคยทำมา
“ลูกจะไม่เชื่อก็ไม่เป็นไร เรามีหน้าที่แค่ทำให้เห็นก็พอ เราไม่ต้องไปสอนว่าให้เขาทำอย่างนั้นอย่างนี้หรอก ทำไปทุกวันเขาก็จะเห็นเอง”
คุณอู๋เสริมว่า “ไม่ใช่แค่เรื่องความเชื่อการไหว้เทพเจ้านะ แต่รวมถึงการทำกิจการเบเกอรีนี้ด้วย เขาไม่ได้มาบอกเราว่าให้เราขยัน แต่เราเองเห็นเขาทำงานทุกวัน ปีหนึ่งก็ทำ ๓๖๕ วันเลย เขาไม่เคยหยุดทำงาน เขาตื่นแต่เช้าเสมอ ไม่ใช่แค่ความเชื่อความศรัทธา แต่คือทุกอย่างที่เขาทำให้เราเห็นทุกวันมันจึงส่งต่อมาถึงเราในตอนนี้”
สูดกลิ่นหอมของสังขยาสีเขียวอ่อน หมูหย็อง และหมูแดง ที่ซ่อนตัวในขนมปังเนื้อนุ่มแล้วคงรู้สึกเสียดายถ้าวันนี้เราจะไม่มีโอกาสได้ลองชิมถ้าปั้นลี่สิ้นสุดกิจการตั้งแต่รุ่นที่ ๑ รุ่นที่ ๒ หรือรุ่นที่ ๓ โชคดีที่ร้านนี้สืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน เพราะการที่คนคนหนึ่งจะมาดูแลกิจการของครอบครัวเป็นสิ่งที่บังคับจิตใจกันไม่ได้จริงๆ
คุณพ่อวรยุทธิ์บอกเราว่า “ลูกเราเขาจะทำต่อหรือไม่ทำต่อมันเป็นเรื่องของจังหวะและช่วงชีวิตของคน เราจะไปบังคับเขาให้มาทำต่อมันไม่ได้ ถ้าเขาจะไม่ทำเราก็ไม่ว่า แต่ที่เขาเห็นเราทำแล้วเขาอยากทำต่อเราก็ดีใจ”
ปัจจุบันหน้าร้านทาด้วยสีแดง โลโก้ร้านรูปอาหมวยผูกผมจุกสองข้าง ภายในร้านมีรูปถ่ายบันทึกเรื่องราวในอดีต เก็บภาพแห่งความทรงจำ ครั้งหนึ่งของบางสิ่ง ที่มาของบางอย่าง
ทุกอย่างเดินทางผ่านกาลเวลามาหลายสิบปี ป้ายชื่อร้านเก่ายังคงแขวนไว้เสมือนอนุสรณ์ระลึกความหลังสำหรับลูกค้าที่อาจเคยถูกแม่จูงมือเข้าร้านตอนเด็กๆ สำหรับคุณอู๋เจ้าของกิจการรุ่นที่ ๔ สำหรับใครสักคนที่เป็นส่วนหนึ่งในห้วงเวลานั้น
ตัวร้านขยายกว้างขึ้นจากห้องหนึ่งคูหาเป็นสองคูหา ขนมปังใส่โหลใหญ่ๆ เปลี่ยนเป็นขนมปังและเบเกอรีหลากหลายแยกชิ้นห่อบรรจุภัณฑ์ทันสมัย
บางอย่างเปลี่ยนแปลงไปตามความเหมาะสม แต่บางอย่างก็ต้องคงอยู่
สืบทอดความศรัทธา
ความเชื่อและความศรัทธาต่อเทพเจ้าคือสิ่งหนึ่งที่ยังคงอยู่
“เราใช้เหตุและผลว่าสิ่งไหนควรเปลี่ยน สิ่งไหนยังคงต้องมีอยู่ ครัวหลังร้านเราไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรมาก สิ่งที่ใช้ได้ก็ใช้ต่อไปจนกว่าจะพัง อย่างเตาอบเราก็ใช้อย่างคุ้มค่า แต่หน้าร้านเราเพิ่มมุมกาแฟเข้าไป มีเบเกอรีมีกาแฟด้วย ติดเครื่องปรับอากาศให้คนเข้ามานั่ง เพราะคนรุ่นใหม่ชอบนั่งร้านกาแฟ ใช้เหตุผลลองคุยกับคุณพ่อคุณแม่ว่าถ้าเปลี่ยนสิ่งนี้จะดีอย่างไร แล้วก็ใช้เวลาพิสูจน์ให้เขาเห็นว่ามันดีจริง”
ส่วนเหตุผลของการไหว้เทพเจ้าแห่งเตาที่คุณอู๋ยังคงปฏิบัติมาจนถึงทุกวันนี้ คุณอู๋บอกว่า
“เราเห็นมาว่าบรรพบุรุษเราทำมาตลอดทุกวัน คนรุ่นใหม่บางคนพอรู้เรื่องความเชื่อแบบนี้ก็จะบอกว่าไม่เห็นว่าการไหว้เจ้าจะดียังไง แต่อยากบอกว่าจนถึงทุกวันนี้…ก็ยังไม่เห็นว่าการไม่ไหว้เจ้าจะดียังไง ในเมื่อตอนนี้เราไหว้ก็ดีอยู่แล้ว ไม่ได้เดือดร้อนอะไร ก็ไม่มีเหตุผลที่จะต้องเลิก อาจจะพิสูจน์ไม่ได้ว่าไหว้แล้วดีจริงๆ แต่ก็ยังพิสูจน์ไม่ได้เหมือนกันว่าถ้าไม่ไหว้แล้วจะดี”
หากการเปลี่ยนแปลงดำเนินไปด้วยเหตุและผล สิ่งใดควรอยู่ สิ่งใดควรเปลี่ยน ทายาทรุ่นต่อๆ ไปของร้านปั้นลี่เบเกอรี่แห่งนี้จะยังคงใช้เหตุผลเช่นเดียวกับทายาทรุ่นก่อนหรือไม่
“ความเชื่อและความศรัทธาต่อเทพเจ้าหรือสิ่งต่างๆ เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจให้เรามั่นใจที่จะทำสิ่งต่างๆ มากขึ้น”
พวกเขาจะเชื่อเช่นนี้ตลอดไปหรือไม่ พวงมาลัยที่เตาจะยังคงสดเพราะเปลี่ยนพวงใหม่อยู่เสมอ หรืออาจหลงเหลือเพียงรูปถ่ายไว้ให้เห็นภายในร้าน ว่าครั้งหนึ่งเคยมีพวงมาลัยพวงนั้นแขวนอยู่
“เราคงทำแบบเดียวกับที่รุ่นพ่อแม่ของเราทำ คือทำให้เขาเห็น ถ้าวันหนึ่งรุ่นต่อไปจะไม่ทำหรือไม่เชื่อในแบบที่เราเชื่อก็ไม่เป็นไร เครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของเขาอาจเปลี่ยนรูปแบบไป อาจไม่เหมือนเรา แค่ขอให้เขามีสักอย่างไว้ยึดเหนี่ยวจิตใจก็พอ”
ร้านเบเกอรีนับพันนับหมื่นร้านทั่วประเทศทั้งเก่าและใหม่ต่างแข่งขันกันเปิดกิจการ เพิ่มจำนวนขึ้นทุกวัน
สิ่งใดทำให้ร้านสองคูหาแห่งนี้คงอยู่มานานกว่า ๖๐ ปี มีเหตุผลหลายประการ
ทั้งความซื่อสัตย์ต่อลูกค้า ที่คุณอู๋กล่าวว่า “ขายแบบที่เราอยู่ได้ แล้วลูกค้าก็ต้องอยู่ได้ด้วย”
ความคิดสร้างสรรค์ที่ต้องมีเพื่อนำมาพัฒนาร้าน ตามให้ทันเทคโนโลยีสมัยใหม่ “เรามีช่องทางโซเชียลฯ ให้ลูกค้าติดต่อ ทำให้เรามีช่องทางกว้างขึ้น เมื่อก่อนกว่าคนจะกินแล้วรู้สึกว่าอร่อยไปบอกต่อคนหนึ่งคน คนหนึ่งคนตัดสินใจมาซื้อแล้วไปบอกต่อคนต่อไป ตอนนี้ถ้าคนมากินขนมร้านเราแล้วชอบ โซเชียลฯ จะขยายข่าวสารนี้ไปอย่างรวดเร็ว แต่เราก็ต้องระวังข้อผิดพลาด เพราะถ้าผิดพลาดก็จะมีอีกหลายคนรับรู้ ทำให้เราต้องรอบคอบมากขึ้นด้วย”
และความพยายามในการรักษาราคาสินค้าให้คนทุกระดับสามารถซื้อได้ ไม่แพงจนเกินไป
………….
ไม่มีใครรู้ว่าเทพเจ้าแห่งเตามีจริงหรือไม่
แต่สิ่งที่มีอยู่จริงคือความสำเร็จอันเกิดจากความเชื่อเหล่านี้ ความสำเร็จที่ส่งต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น ความสำเร็จที่อยู่ในทุกอณูของเนื้อขนมปัง
ความสำเร็จที่ลูกค้าคนหนึ่งจับต้องได้ ผ่านปลายลิ้นที่รับรสหวานๆ และจมูกรับกลิ่นหอมๆ