ผลงานจากค่ายสารคดีครั้งที่ 12
งานเขียนสารคดีดีเด่น
เรื่อง : พรรณผกา แก้วติน
ภาพ : ปัณณ์ บุญชู
เราย่ำเท้าเข้าเขตชุมชมมัสยิดฮารูณทางซอยเจริญกรุง ๓๔ หรือซอยวัดม่วงแค ทางคับแคบของซอยทำให้เรามองเข้าไปในตัวบ้านและแอบเห็นภาพชีวิตที่กำลังดำเนินอยู่อย่างง่ายดาย สีสันของกำแพงทำให้บ้านหลายหลังแปลกไม่เหมือนใคร เมื่อเลี้ยวขวาเพื่อตรงไปมัสยิดฮารูณจะเห็นร้านโรตีตั้งโต๊ะอยู่หน้าบ้าน ตัวร้านสีส้มสดใสโดดเด่น หญิงมุสลิมกำลังส่งเสียงทักทายคนที่ผ่านไปมาอย่างอารมณ์ดี
“อัสลามูอาลัยกุม”
ท่ามกลางเสียงฝนกระทบหลังคา “ไหม” หรือเจ้าของร้านโรตีคุณไหมพูดก่อนยื่นถุงใส่โรตีให้ลูกค้า หมายถึงขอความสันติสุขจงมีแด่ท่าน ลูกค้าผู้หญิงก็ตอบกลับ “วาอาลัยกุมมุสลาม” หมายถึงขอความสันติสุขจงมีแด่ท่านเช่นกัน
เจ้าของร้านโรตีละสายตาจากลูกค้าพร้อมวาดแขนฟาดแป้งเป็นจังหวะ เสียงแป้งกระทบโต๊ะตัดกับเสียงฝนที่เริ่มหล่นปะทะหลังคาช้าลงเป็นระยะๆ
ภาพตรงหน้าเหมือนบรรทัดแรกของหนังสือที่ทำให้เราตื่นเต้นจนอยากเปิดหน้าถัดไป ค้นหาว่า…โรตีคุณไหมจะเป็นอย่างไรหนอ…
ไหม-จิราภรณ์ ชูสิน เป็นคนพัทลุงโดยกำเนิด แต่เดิมทำอาชีพครู สอนชั้นประถมศึกษาอยู่ที่ปาดังเบซาร์ จังหวัดสงขลา เป็นโรงเรียนในพื้นที่ชายแดนติดมาเลเซีย หากแต่ ๑๓ ปีก่อนเธอเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในฐานะลูกสะใภ้ของครอบครัวชูสิน ซึ่งมีกิจการขายโรตีมากว่า ๔๐ ปี ณ ชุมชนมัสยิดฮารูณ
กิจการครอบครัวเริ่มต้นจากคุณแม่นิภา ชูสิน ที่ได้เรียนรู้การทำโรตีจากป้าที่รู้จักกัน ต่อมาด้วยปัญหาด้านสุขภาพ คุณแม่นิภาจึงยกกิจการโรตีให้ไหมดูแลทั้งหมด รับช่วงต่อกิจการเป็นรุ่นที่ ๒
บลัชออนสีชมพูกระจายตัวบางๆ ทั่วผิวแก้ม ฮิญาบสีฟ้าสดใสทำให้ไหมดูโดดเด่นเมื่อยืนอยู่หน้าร้านที่ฉาบผนังด้วยสีส้มอิฐ ตรงผนังมีป้ายชื่อร้านห้อยลงมา มุมขวาล่างของป้ายมีสัญลักษณ์ฮาลาลบอกว่าร้านนี้ชาวมุสลิมบริโภคได้ เพราะไม่มีสิ่งเจือปนผิดข้อบัญญัติศาสนา
ถัดจากป้ายลงมาคราบน้ำมันกระเซ็นจากการทำโรตีเป็นจุดสีดำที่ผนังประปราย ทำให้เราเข้าไปอยู่ในบรรยากาศของร้านโรตีที่มีกลิ่นโรตีลอยอบอวลอย่างน่าอภิรมย์
“ทำแล้วก็ชอบ สนุกด้วย ได้เจอผู้คน ตอนแรกก็ไม่ได้สนิทกับคนในชุมชน พอขายของก็รู้จักกันไปหมด”
ไหมพูดขึ้นขณะที่มือและสายตายังคงจดจ่ออยู่กับโรตีตรงหน้า
การได้รับฟังประสบการณ์จากผู้ใหญ่ในชุมชนที่มักมานั่งคุยทำให้เธอได้เรียนรู้การใช้ชีวิตมากขึ้น
การย้ายถิ่นฐานมาอยู่กับสามีทำให้ไหมต้องปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อม ทั้งการเปลี่ยนอาชีพจากการสอนหนังสือกลายมาเป็นแม่ค้า และเข้าสู่หัวหน้าครอบครัวอย่างเต็มตัวเมื่อสามีของเธอลาออกจากงานออฟฟิศเนื่องจากปัญหาสุขภาพที่ต้องฟอกไตอยู่บ่อยครั้ง
การรับภาระทุกอย่างทำให้ไหมต้องดูแลเรื่องการเงิน ลูกน้อง งานบ้าน เธอต้องคิดหนักกว่าเดิม
“ถ้าเป็นครูก็มีหน้าที่แค่สอน แต่ตอนนี้ต้องดูว่าจะทำยังไงให้ลูกค้าชอบ”
ไหมเล่าว่าช่วงแรกๆ คุณแม่นิภาจะคอยสอนแบบไม่กดดัน
“แม่บอกเสมอว่าทำอะไรก็ต้องทำให้ดีที่สุด ก็เหมือนกับอาหารที่เราทำกินเอง เรายังอยากกินของที่อร่อย ก็ต้องทำมันให้อร่อยด้วย”
แต่ทุกสิ่งทุกอย่างคือการฝึกฝน การทำแป้งโรตีถือเป็นขั้นตอนที่ยากที่สุด
“ไม่ซีเรียสนะ พี่ทำสุดใจ ตอนแรกๆ ก็ไม่เหมือนแม่ แป้งไม่สวย ไม่ยืด ไม่นิ่ม ก็พยายามให้มันเหมือน”
ส่วนการฟาดแป้ง เธอแนะนำว่าขึ้นอยู่กับความชำนาญและประสบการณ์ของแต่ละคน ต้องคิดเทคนิคของเราขึ้นมาเอง
การต้องรับผิดชอบทุกอย่างในครอบครัวเป็นความเหนื่อยหนัก แต่ไหมก็ไม่ย่อท้อ ยังคงมีรอยยิ้มทุกวัน
หลังจากปิดร้านแล้วเธอจะทำความสะอาดบ้าน เตรียมเสื้อผ้าให้ลูกชาย เธอยึดหลักใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย
“พอเลี้ยงครอบครัวได้ กินใช้เราก็ประหยัด ไม่ต้องหรูหราเกินตัวมาก เท่านี้ก็อยู่ได้แล้ว”
ในแง่งามของความรู้สึก ไหมบอกคติในการใช้ชีวิตกับเราว่า
“ทำวันนี้ให้ดีที่สุด แล้วเราจะสุขใจในทุกวัน”
โรตีคุณไหม : อย่างไรคือยอดฮิต
เมนูยอดฮิตของร้านโรตีคุณไหม คือ โรตีมะตะบะและโรตีนมน้ำตาล มีนมและโหลน้ำตาลเตรียมให้เติมไม่อั้น เสิร์ฟพร้อมชาร้อนที่ซื้อมาจากมาเลเซีย ใส่นมที่ต้มไว้ร้อนๆ หลังร้าน และมีอาจาดเป็นเครื่องเคียง ช่วยตัดเลี่ยนจากกลิ่นเครื่องเทศ
ถ้ามีแกงอย่างแกงกะหรี่ไก่ลูกค้าก็จะชอบสั่งมาจิ้มแกง
เมนูอาหารเช้าอีกอย่างหนึ่งคือโรตีไข่ดาว พร้อมตะกร้าใส่เครื่องปรุงอย่างซอสและเกลือครบครัน รสชาติเหมือนรับประทานเมนูอาหารฝรั่งตอนเช้า แต่เปลี่ยนจากขนมปังมาเป็นแป้งโรตีหอมๆ แทน
ความพิเศษของโรตีคุณไหมคือแป้งหนานุ่ม ทุกเช้าไหมจะผสมแป้งสาลีปั้นเป็นก้อนกลมๆ ก้อนละ 100 กรัม จากนั้นทาน้ำมันเคลือบไว้ให้ง่ายต่อการหยิบ
การทำโรตีเริ่มจากการบี้กับโต๊ะ จากนั้นฟาดแป้งยิ่งบางยิ่งดี เสร็จแล้วต้องยกขึ้นมาม้วนให้ขดเป็นวงกลมคล้ายหอย ทำแบบนี้แป้งโรตีจะมีลักษณะเป็นชั้นๆ ให้รสชาติต่างจากการตัดเป็นชิ้นๆ
เทคนิคสำคัญในการทอดโรตีคือกระทะจะต้องร้อนจัด ถ้าไม่ร้อนแป้งจะกระด้างไม่ขึ้นฟู หลายคนอาจเคยชินกับร้านโรตีที่ใช้เนยทอด แต่ร้านโรตีคุณไหมใส่เนยลงไปในแป้งเรียบร้อยแล้ว จึงไม่ต้องใช้เนยทอดอีก
ส่วนมะตะบะใช้ไข่หนึ่งฟองใส่ทั้งฟอง เพื่อให้ลูกค้าได้รับประทานอย่างเต็มที่ ส่วนไส้มะตะบะจะผัดไว้แล้ว มีทั้งมะตะบะเนื้อและมะตะบะไก่ แล้วแต่ลูกค้าจะชอบ ไส้มะตะบะประกอบด้วยหอมหัวใหญ่ ผักชี เนื้อ และไข่
กลิ่นเครื่องเทศที่ไม่ฉุนมากลอยขึ้นมาก่อนโรตีชิ้นสี่เหลี่ยมจะสัมผัสกับลิ้น
“คนมุสลิมจะกินโรตีเป็นอาหารหลัก ก็เหมือนคนไทยกินข้าวกับแกงนั่นแหละ”
ฐานลูกค้านอกจากคนในชุมชนแล้วยังมีคนต่างถิ่นที่แวะเวียนมาละหมาดแล้วมักซื้อโรตีด้วย มาร้านนี้ก็อาจเห็นลูกค้ามุสลิมจากประเทศต่างๆ เป็นต้นว่าบังกลาเทศ อินเดีย มานั่งรับประทานกันเป็นกลุ่มๆ ช้อนส้อมไม่จำเป็นเพราะมีอาวุธอยู่ที่มือเปล่า
ลุงสมชาย ตั้งสมสุขยิ่ง ลูกค้าขาจรชาวไทยเชื้อสายจีนแท้ๆ ที่มาซื้อโรตีตอนเช้าเพราะเคยเห็นร้านนี้จากเว็บไซต์
“โรตีสมัยนี้ชิ้นเล็กๆ ของคุณไหมเขาหนานุ่ม ซื้อแล้วนึกถึงสมัย ๓๐ ปีก่อน”
เราเห็นด้วยกับลุงสมชาย เพราะโรตีสมัยนี้ให้ค่าความรู้สึกที่ต่างจากอดีตอยู่โข
ปัจจุบันไหมมีร้านโรตีอีกหนึ่งร้านอยู่ที่ถนนสีลม ซอย ๑๐ ทุกวันเธอจะปั้นแป้ง ๑๐ กิโลกรัมไว้ให้ลูกน้องที่เป็นคนพม่านำไปขาย ดังนั้นทุกเช้าไหมจะต้องขายโรตีที่หน้าบ้านประมาณ ๓ กิโลกรัม และวิ่งกลับไปปั้นแป้งก่อนที่ลูกน้องจะมารับไปขายในตอนบ่าย
ครอบครัวชูสินยังมีลูกสะใภ้คนเล็กที่แยกตัวไปทำกิจการ “โรตีนี่” เป็นแบรนด์โรตีแช่แข็งที่ได้รับการการันตีเป็นโอทอปของเขตบางรัก ไหมบอกว่าโรตีนี่เน้นลูกค้ารายใหญ่และส่งขายปริมาณมาก ส่วนเธอทำโรตีแช่แข็งส่งร้านอาหารที่อยู่ซอยถัดไป
วิธีทำโรตีแช่แข็งคือต้องทอดให้แป้งสุก ๘๐% พอให้เหลือง จากนั้นพักไว้ รอเก็บเข้าช่องฟรีซ ตัวบรรจุภัณฑ์ก็ทำอย่างเรียบง่าย คือห่อโรตีด้วยกระดาษสีน้ำตาล แพ็กใส่ถุงพลาสติกสีขุ่น ติดสติกเกอร์ตราสัญลักษณ์ไว้ตรงกลาง ไหมทิ้งท้ายด้วยสีหน้ายิ้มๆ ว่า “พี่ทำง่ายๆ เราไม่เน้นหวือหวา ตามกำลังของเรา”
โรตีไหม : สายใยชุมชน
ร้านโรตีคุณไหมเริ่มเปิดร้านประมาณ ๖ โมงเช้า และเก็บร้านประมาณ ๑๑ โมงถึงเที่ยง ไหมเล่าว่าแต่ก่อนเมื่อคนลงจากสุเหร่าจะแวะมาที่ร้านนั่งรับประทานโรตีและชาร้อน ถือเป็นแหล่งรวมพลพี่น้องชาวมุสลิมเลยก็ว่าได้ แต่ปัจจุบันชาวมุสลิมเริ่มไปละหมาดที่สุเหร่าน้อยลง คล้ายกับวัยรุ่นไทยไม่ค่อยเข้าวัด ไม่สวดมนต์
สำหรับวันศุกร์คนจะเยอะขึ้นเพราะเป็นวันละหมาดใหญ่ ชาวมุสลิมเรียกว่าละหมาดยุมอะฮฺ คนที่นับถือศาสนาอิสลามจะมารวมตัวกันที่นี่ทั้งคนในประเทศและต่างประเทศ เพราะมัสยิดฮารูณมีชื่อเสียงมาก ร้านคุณไหมจะเพิ่มเมนูพายไก่และข้าวหมกไก่สามสี ตรงหน้าร้านก็จะตั้งกล่องอินทผลัมเรียงกันตามราคาต่างๆ แล้วแต่ลูกค้าต้องการคุณภาพขั้นไหน
ผู้คนทั้งบ้านใกล้เรือนเคียงออกมาซื้ออาหาร บางคนหยิบจานมาจากบ้าน บางคนตะโกนสั่งโรตีมาแต่ไกลเพราะกลัวจะหมดเสียก่อน เราได้ยินแต่เสียงหัวเราะ เสียงพูดคุย และรอยยิ้ม ความคิดหนึ่งแวบว่า หากเป็นอย่างนี้ทุกวันๆ คนในชุมชนคงสุขใจเป็นแน่แท้
“เราอยู่กันเหมือนพี่น้อง”
หากไร้โรตี
พูดถึงโรตีเราจะนึกถึงอะไร อาจเป็นข้อเท็จจริงที่ดูน่าขัน แต่ในความทรงจำแล้วโรตีเป็นอาหารหวานที่มาพร้อมกับรถเข็น…
รถเข็นโรตีปรากฏตัวพร้อมกับคนขายที่คนไทยมักชอบล้อเลียนว่าอาบังขายโรตี
มีเรื่องตลกว่าถ้าคนขายเป็นผู้ชายจะไม่ค่อยมีคนซื้อ เพราะไม่รู้ว่าเวลาปวดเบาเขาจะล้างมือกันหรือเปล่า
แต่จากประสบการณ์ของไหม เธอเห็นว่าจริงๆ แล้วผู้ชายไม่ค่อยอยากทำโรตีเพราะเป็นงานจุกจิกและละเอียดหลายขั้นตอนกว่าจะเป็นโรตีสักแผ่น
แล้วโรตีในอนาคตอีก ๒๐-๓๐ ปีล่ะ
เธอนิ่งคิดไปครู่หนึ่งก่อนตอบเราว่า
“ในอนาคตไม่รู้ว่าลูกจะทำต่อหรือเปล่า” ไหมหันไปมองโต๊ะว่างเปล่า หัวเราะเบาๆ
“อาจเหลือแต่แช่แข็ง แต่เราจะไม่ได้บรรยากาศคนในชุมชนมานั่งกินโรตีดื่มชา เพราะสมัยก่อนก็นัดเจอกันร้านโรตี”
กิจการโรตีคุณไหม ธุรกิจครอบครัวที่แม้จะเป็นร้านเล็กๆ แต่อยู่ได้มากว่า ๔๐ ปี ก็เพราะความชอบของคนทำ
“รู้สึกว่าทำให้คนกินแล้วมีความสุข มันควรจะเก็บไว้”
ความใส่ใจด้วยรอยยิ้มของไหมคือเสน่ห์ที่ทำให้โรตีเต็มไปด้วยกลิ่นของความอร่อยผสมความจริงใจ
ถึงตรงนี้อาจจะไม่ใช่บรรทัดสุดท้ายของหน้าหนังสือ
เพราะเรื่องราวของโรตีที่มาพร้อมรอยยิ้มคงเดินทางต่อไป หากใครได้ลอง…แล้วคุณจะต้องยิ้มตามเรา