ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล : สัมภาษณ์
บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช : ถ่ายภาพ
หลายปีที่ผ่านมา ชื่อ ดร. เดชรัต สุขกำเนิด หัวหน้าภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นที่รู้จักในหมู่นักเคลื่อนไหวภาคประชาสังคม ว่ามีความรู้เรื่องการปฏิรูปพลังงานทางเลือกรวมถึงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะอันดับต้น ๆ ของเมืองไทย
นอกจากงานสอนในมหาวิทยาลัยซึ่งเขานิยามความหมายว่าเป็น “ศาสตร์การรักษาและเพิ่มพูนคุณค่าและมูลค่าของภาคเกษตรกรและแผ่นดินไทย” นักวิชาการผู้นี้ยังสนใจด้านการพัฒนาเครือข่ายชุมชน การประเมินผลกระทบทางสุขภาพและสิ่งแวดล้อม กระบวนการประชาธิปไตย โดยเป็นที่ปรึกษาให้กลุ่มเกษตรกรในชนบทที่ได้รับผลกระทบจากโครงการของรัฐ
ภายหลังการทำรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อปี ๒๕๕๗ ดร. เดชรัตเคยได้รับการเสนอเป็นสภาปฏิรูปแห่งชาติ แต่ไม่ติดโผ ๒๕๐ คนสุดท้ายผู้จะมีส่วนสำคัญในการกำหนดทิศทางประเทศ อย่างไรก็ตามเขายังมีชื่ออยู่ในคณะกรรมการอำนวยการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล คณะกรรมการศึกษาการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน จังหวัดกระบี่
หลายเดือนที่ผ่านมาเมื่อทิศทางการบริหารประเทศของรัฐบาล คสช. โดยเฉพาะด้านการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุน ทำท่าว่าจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมอย่างรุนแรง มีการประกาศพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ ๑๐ จังหวัด อาศัยอำนาจตามมาตรา ๔๔ ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. ๒๕๕๗ ออกประกาศฉบับที่ ๓ ฉบับที่ ๔ และฉบับที่ ๙ ให้มีการยกเว้นผังเมืองในบางพื้นที่ ยกเว้นให้โครงการของรัฐบางประเภทสามารถหาเอกชนมาดำเนินการได้ก่อนรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอจะเสร็จสิ้น รวมถึงเปิดช่อง
ให้เอกชนเช่าที่ดินเพื่อลงทุนนานถึง ๙๙ ปี ชายผู้นี้ได้วิพากษ์วิจารณ์นโยบายอย่างตรงไปตรงมาผ่านเวทีเสวนาและสื่อออนไลน์
เมื่อภาครัฐโหมประชาสัมพันธ์นโยบาย “ประชารัฐ” ที่ต้องการสื่อว่าให้ภาคประชาชนกับภาครัฐร่วมมือกันขับเคลื่อนประเทศ ดร. เดชรัตเป็นคนแรก ๆ ที่ให้ความเห็นว่า นี่น่าจะเป็นแนวทาง “ธนรัฐ” มากกว่า อันหมายถึงกลุ่มทุนกับภาครัฐจับมือกัน โดยไม่สนใจผลกระทบของผู้คนที่ได้รับความเดือดร้อน
ครั้งหนึ่งเมื่อถูกถามว่า “จิ๊กซอว์” ตัวใดของฝ่ายธนรัฐที่สังคมไทยน่าปฏิเสธที่สุดและเร็วที่สุด อาจารย์เดชรัตให้คำตอบว่า “เราควรปฏิเสธคนวางจิ๊กซอว์ทั้งหมดนี้ได้แล้ว”
ต่อจากนี้คือความเห็นเกี่ยวกับการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนของรัฐบาล รวมถึงประเด็นด้านการเมือง แนวทางเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของนักวิชาการที่เชื่อมโยงประเด็นด้านเศรษฐศาสตร์ สังคม และสิ่งแวดล้อมได้ดีที่สุดคนหนึ่ง
ความหมายของ “ธนรัฐ” คืออะไร
ธนรัฐเป็นระบบที่รัฐกับนายทุนร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดในการกำหนดกติกาหรือทิศทางการพัฒนาประเทศ โดยอาจลืมภาคประชาสังคมหรือประชาชน จริง ๆ คำว่าธนรัฐอาจเกิดมานานแล้ว เพียงแต่ในการปกครองระบอบประชาธิปไตยมีเวลาที่รัฐต้องกลับไปหาประชาชน แตกต่างจากระบอบเผด็จการที่ไม่จำเป็นต้องกลับ การกลับไปหาประชาชนไม่ได้หมายถึงการเลือกตั้งเท่านั้น แต่หมายความว่าเมื่อบ้านเมืองมีกฎหมายแล้วเราคิดจะเปลี่ยนแปลงกฎหมายนั้น อย่างน้อยต้องกลับไปที่รัฐสภา แม้รัฐสภาจะไม่ใช่ประชาชนโดยตรง แต่ประชาชนก็สามารถอ้างถึงความเป็นตัวแทนในระบอบรัฐสภาได้ ขณะที่ระบอบเผด็จการไม่จำเป็น แม้แต่สภานิติบัญญัติแห่งชาติที่ไม่ใช่ตัวแทนประชาชนก็ยังไม่ต้องกลับไปหา แต่สามารถแก้ไขหรือยกเว้นกฎหมายเองได้เลย
ก่อนนี้รัฐบาลเคยประกาศแนวทาง “ประชารัฐ”
คำว่าประชารัฐที่นายกรัฐมนตรี หรือ คสช. อ้างถึงบ่อย ๆ เป็นยุทธศาสตร์หรือนโยบายที่ต้องการให้รัฐกับประชาชนทำงานร่วมกัน แต่ความเป็นจริงไม่เป็นอย่างนั้น เพราะรัฐให้ภาคเอกชนเป็นตัวนำ การใช้รัฐธรรมนูญมาตรา ๔๔ ระยะหลังก็ไม่ได้เป็นไปเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในสังคม แต่เอื้อประโยชน์ให้การลงทุนของคนบางกลุ่มมากกว่า ยกตัวอย่างประกาศ คสช. ฉบับที่ ๓/๒๕๕๙ และ ๔/๒๕๕๙ ยกเว้นการใช้ผังเมือง ฉบับที่ ๙/๒๕๕๙ ยกเว้นให้โครงการของรัฐบางประเภทจัดหาเอกชนมาดำเนินการได้ก่อนอีไอเอผ่าน
การนำคำว่าประชารัฐมากลบเกลื่อนจึงไม่ถูกต้อง ยังไม่ต้องพูดว่าการตอบโจทย์นักลงทุนก็เป็นเรื่องที่อาจจะถูกหรือไม่ถูกอยู่แล้ว ความจริงถ้าเราย้อนกลับไปดูในเพลงชาติไทย ประชารัฐไม่ได้หมายถึงรัฐกับประชาชนร่วมมือกัน หากหมายถึงความเป็นรัฐของประชาชน
การปล่อยให้คำว่าประชารัฐลวงตาประชาชนจึงไม่เป็นธรรม ต้องคิดคำใหม่ที่ทำให้ประชาชนเข้าใจถึงพฤติกรรม ไม่จำเป็นต้องเชื่อว่านี่เป็นธนรัฐ แต่ให้ลองชั่งน้ำหนัก แล้วตั้งคำถามว่าสิ่งที่รัฐบาลทำคืออะไรกันแน่
การบริหารประเทศที่รัฐบาลแสดงออกอย่างชัดเจนว่าทำตามแนวทางธนรัฐมีอะไรบ้าง
แนวคิดเรื่องธนรัฐคือรัฐกับนายทุนเป็นผู้ผลักดันประเทศน่าจะมีมาตั้งแต่วันแรกที่ทำรัฐประหาร หรืออาจจะก่อนหน้านั้นด้วยซ้ำไป แต่วันนี้เขาแสดงออกอย่างชัดเจนขึ้นว่า อะไรก็ตามที่ภาคประชาชนไม่เห็นด้วย อ้างถึงกลไกเดิมที่เคยมีตามกฎหมาย เช่น กฎหมายผังเมือง หรืออีไอเอ ฝ่ายธนรัฐพร้อมที่จะยกเว้นและละทิ้งกลไกเหล่านั้นเพื่อนายทุน
ภายใต้แนวคิดธนรัฐ รัฐบาลต้องการกระตุ้นการลงทุนของเอกชนเป็นพิเศษเพราะติดลบมา ๒ ปีตั้งแต่ยึดอำนาจ ผมยกตัวอย่างจิ๊กซอว์สี่ตัวของฝ่ายธนรัฐ ตัวแรกคือการกำหนดเขตเศรษฐกิจพิเศษใน ๑๐ จังหวัดชายแดนของไทย พื้นที่เหล่านี้ส่วนใหญ่เคยเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ของชาวบ้าน แล้ว คสช. ก็ยึดกลับไปเป็นที่ราชพัสดุ เปิดให้เอกชนเช่าและให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี เช่นลดภาษีเงินได้ แต่ถึงแม้จะลดแลกแจกแถมแล้วการลงทุนก็ยังไม่เกิด รัฐบาลจึงคิดถึงจิ๊กซอว์ตัวต่อไป คือการอนุญาตให้เอกชนเช่าที่ดินได้นานถึง ๙๙ ปี ไม่เว้นนักลงทุนจากต่างชาติ ให้เข้ามาลงทุนทำนิคมอุตสาหกรรม ตั้งโรงงาน แต่การที่นักลงทุนต่างชาติจะเกิดความมั่นใจ นอกจากสัญญาเช่าระยะยาวยังต้องการปลดล็อกเรื่องกฎระเบียบต่าง ๆ โดยเฉพาะการควบคุมอาคารตามกฎหมายผังเมือง รัฐบาลจึงคิดจิ๊กซอว์ตัวที่ ๓ เพื่อตอบสนองนักลงทุนเพิ่ม คือการประกาศยกเว้นการบังคับใช้ผังเมืองและกฎหมายควบคุมอาคาร หรือยกเลิกผังเมือง อย่างไรก็ตามถึงรัฐบาลจะวางจิ๊กซอว์ถึงสามตัว ตามมาตรา ๖๗ ของรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. ๒๕๕๐ ประชาชนก็ยังมีสิทธิ์ที่จะฟ้องรัฐหากละเลยเรื่องการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ละเลยต่อการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เหมือนที่เคยฟ้องร้องคดีมาบตาพุดเมื่อปี ๒๕๕๒ เพื่อปิดช่องทาง ฝ่ายธนรัฐโดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญจึงออกจิ๊กซอว์ตัวที่ ๔ ด้วยการหาทางลบหมวดสิทธิชุมชนที่เคยมีในรัฐธรรมนูญฉบับเดิมทิ้งไป สิ่งที่หายไปในร่างรัฐธรรมนูญร่างแรกของคุณมีชัย (มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ) คือสิทธิของชุมชนและบุคคลที่จะร่วมรักษาสภาพแวดล้อมซึ่งเอื้อต่อการดำรงชีวิต พร้อม ๆ กับสิทธิ์ในการฟ้องร้องหน่วยงานรัฐที่เคยมีอยู่ในรัฐธรรมนูญก็หายไปด้วย
เมื่อจิ๊กซอว์ทั้งสี่ตัวทำงานประสานกัน จะกลายเป็นกลไกที่ประกันความมั่นใจให้นักลงทุนว่าจะได้ลงทุนในที่ดินที่มีต้นทุนต่ำ อยู่ในสัญญาเช่าระยะยาวเป็นชั่วโคตร ในพื้นที่ที่ไม่ต้องกังวลเรื่องผังเมืองและกฎหมายควบคุมอาคาร ไม่ต้องกังวลเรื่องการถูกฟ้องร้องเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิชุมชน พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษของไทยจึงกำลังจะกลายเป็นสวรรค์สำหรับนักลงทุนสมกับคำว่าธนรัฐ
การกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนตามแนวทางธนรัฐอันตรายอย่างไร
ขั้นแรกคือการดำเนินการหลายอย่างจะสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ชุมชน และสังคม คำอธิบายในระดับต่อมาคือ กฎ กติกาที่เคยทำหน้าที่คุ้มครองประชาชน ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าอาจจะยังคุ้มครองได้ไม่ดีนัก ไม่ว่าเรื่องผังเมืองหรืออีไอเอ แต่เรายังจะไปยกเว้นมันอีก ปัญหาของการยกเว้นเรื่องนี้มีหลายประเด็น
สมมุติว่าเราจะยกเลิกผังเมืองโดยแก้พระราชบัญญัติ ตามปรกติต้องมีผู้รับผิดชอบซึ่งเป็นคนแก้กฎหมาย แต่การออกคำสั่งโดย คสช. นั้นเรียกร้องความรับผิดชอบจากใครไม่ได้ เพราะตัวรัฐธรรมนูญชั่วคราวบอกอยู่แล้วว่าสิ่งใดก็ตามที่ประกาศตามมาตรา ๔๔ เอาผิดไม่ได้และถือเป็นสิ้นสุด ปัญหาที่ตามมาคือกิจกรรมต่าง ๆ อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น กฎกติกาจะอ่อนลง และสิ่งที่เกิดขึ้นไม่มีใครรับผิดชอบ
สมมุติโรงงานขยะหรือโรงงานอะไรก็ตามจะมาสร้างใกล้บ้านคุณ จากเมื่อก่อนสร้างไม่ได้เพราะผังเมืองเป็นสีเหลืองหรือสีเขียว ตอนนี้สร้างได้ แล้วคุณจะฟ้องร้องใคร ถ้าไปฟ้องเทศบาล เขาก็บอกว่านี่เป็นประกาศ คสช. ถ้าฟ้องผู้ออกประกาศ คสช. ก็บอกว่าถูกต้องชอบธรรม
ตอนนี้เราอาจจะยังไม่เห็นปัญหาเพราะกลุ่มนายทุนระวัง เห็นว่าเป็นเรื่องใหม่ รู้แล้วว่ากฎหมายเปิดช่องไว้ แต่ยังไม่รีบใช้เร็วนัก เขากำลังรอจังหวะซึ่งผมคิดว่าอีกระยะหนึ่งการใช้สิทธิ์ตามสิ่งที่ คสช.ประกาศไว้จะเกิดขึ้นทั่ว ยิ่งนานก็ยิ่งมีปัญหา และไม่ได้มีปัญหาแค่สิ่งแวดล้อม กรณีที่มีผู้เดือดร้อนแล้วเอาผิดใครไม่ได้จะมากขึ้นเรื่อย ๆ
เหตุที่รัฐบาลต้องเอาใจกลุ่มทุนเป็นพิเศษเพราะไม่มีทางเลือกอื่นอีกแล้วในการกระตุ้นเศรษฐกิจ
ความเชื่อว่ารัฐร่วมมือกับนายทุนกระตุ้นเศรษฐกิจน่าจะไปได้ดีนั้นน่าจะมีมาตั้งแต่ต้น แต่เมื่อลองดูแล้วก็ยังไม่เห็นผลเท่าไร ถึงอย่างไร คสช. คงรู้สึกว่าไม่มีทางเลือกอื่น มีทางเดียวคือให้กลุ่มทุนกระตุ้นการลงทุนให้รัฐ นายทุนอาศัยจังหวะนี้พูดสิ่งที่เคยเป็นอุปสรรคหรือสิ่งที่ตัวเองต้องการ เขาอาจจะพูดด้วยจิตใจบริสุทธิ์ที่คิดว่าเป็นการช่วยรัฐจริง ๆ หรือมีเจตนาอื่นแอบแฝง แต่โดยสรุปแล้วก็กลายเป็นทางเลือกที่ยิ่งแคบเข้า ๆ เมื่อรัฐเห็นว่ายังไม่เกิดการลงทุน ก็ต้องจัดออปชันพิเศษ เริ่มจากวิธีถนัดคือการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี รัฐบาลลดภาษีให้อย่างเต็มที่ แต่ยังไม่มีใครเข้ามา ถามกลุ่มทุนก็ได้รับคำตอบว่ายังไม่มีที่ดิน ถ้าอย่างนั้นรัฐจะช่วยหาที่ดินให้
ความจริงเรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษนี้รวมเรื่องที่รัฐบาลไม่มีงบประมาณจะซื้อที่ดินด้วย จึงต้องใช้วิธีเปลี่ยนที่สาธารณประโยชน์เป็นที่ราชพัสดุ จากนั้นก็เปลี่ยนให้คนเช่า จะเวนคืนที่ดินชาวบ้านก็ไม่ได้ เพราะตามกฎหมายการเวนคืนที่ดิน ห้ามเวนคืนที่เพื่อให้เอกชนเช่า รัฐจึงต้องใช้ที่สาธารณประโยชน์ เมื่อได้ที่ดินแล้วเอกชนก็บอกอีกว่าต้องอนุญาตให้เช่าหลายปี จากตอนแรก คสช. ประกาศว่า ๕๐ ปี แต่เมื่อเห็นว่ายังไม่มีใครมาก็ขยายเวลาออกไป ซึ่งขั้นต่อมาติดขัดที่กฎหมายผังเมือง
การยกเว้นผังเมืองในพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษเป็นอีกเรื่องที่เขาไม่ได้คิดให้รอบคอบ บางพื้นที่ประกาศเฉพาะจุด แต่บางพื้นที่ออกประกาศครอบไว้หมดทั้งอำเภอ สมมุติพื้นที่ประกาศเขตเศรษฐกิจพิเศษทั้งหมดเป็นโต๊ะ พื้นที่จะสร้างนิคมหรือโรงงานแค่กองหนังสือ แล้วจะยกเลิกผังเมืองทั้งหมดได้อย่างไร
ตอนนี้คนอยู่ตลาดเชียงของเดือดร้อนกันหมด เพราะโรงงานอะไรจะไปตั้งก็ได้ เหมือนการยกเลิกผังเมืองเพื่อให้โรงไฟฟ้าเข้ามาตั้งได้โดยไม่แยกประเภทโรงไฟฟ้า ถ้าคิดว่าโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาดควรได้รับการยกเว้นก็ต้องแยกออกมา ให้เห็นว่าเพื่อตั้งโรงไฟฟ้าสะอาด แต่กลับประกาศว่าโรงงานประเภทที่ ๘๘ ยกเว้นหมด โรงงานขยะหรือบ่อขยะก็ยกเว้น จะเห็นว่าความละเอียดลออในการออกกฎกติกาอยู่ในระดับที่ไม่ดีเอามาก ๆ
สิทธิพิเศษในการเช่าที่ดินหรือลดภาษี เป็นไปตามหลักการส่งเสริมการลงทุน
มันเป็นหลักการทั่วไปของการทำอย่างไรจะเสียเงินน้อยที่สุด หลายประเทศก็ทำแบบนี้ คือลดหย่อนภาษี แต่ต้องตั้งคำถามว่าลดหย่อนแล้วเราได้อะไรกลับมา ถ้าเป็นประเทศที่มีความสามารถในการแข่งขันดีเป็นพื้นฐาน ไม่ต้องลดหย่อนภาษีให้ เขาก็เข้ามาลงทุนเพราะได้ประโยชน์จากความสามารถในการแข่งขันที่ดีของเรา แล้วเราก็เก็บภาษีเพื่อนำมาบำรุงความสามารถในการแข่งขัน เขาใช้ทุนคือทรัพยากรของเรา บวกกับความสามารถในการแข่งขันที่เรามี ทำให้เขาแข่งขันได้ดียิ่งขึ้น ฉะนั้นเขาต้องให้อะไรเรากลับคืนมา ความจริงควรจะเป็นแบบนั้น แต่ตอนนี้สิ่งที่รัฐบาลทำคือทำให้เกิดการลงทุนให้ได้ แม้จะเสียโอกาสหารายได้จากภาษี หรือเสียโอกาสใช้ที่ดินไปแค่ไหน แทนที่จะให้เช่าแค่ ๓๐ หรือ ๕๐ ปี นี่ต้องให้เช่าถึง ๙๙ ปี เสียโอกาสจากการเกิดผลกระทบแก่คนข้างเคียงในพื้นที่ ซึ่งรัฐบาลไม่ได้ให้ความสำคัญเท่ากับจะทำให้เกิดการลงทุนให้ได้
เป็นโจทย์ที่ต้องคุยว่าการลงทุนจากต่างประเทศความจริงแล้วคุ้มค่าแค่ไหน เคยมีการศึกษาของธนาคารโลก บอกว่าการจ้างงานหนึ่งตำแหน่งโดยยอมให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี ได้ผลไม่คุ้มค่า หมายความว่าสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่เราเสียไปมากกว่ารายได้ที่ได้รับจากแรงงานหลายเท่า
ใน ๑๐ จังหวัดที่มีการประกาศเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษก็น่าจะมีทั้งพื้นที่ที่เกิดผลดีและได้รับผลกระทบ
ทั้ง ๑๐ พื้นที่เรียกว่ามีความท้าทาย ถ้าดูภาพรวมจะเห็นว่าหลายพื้นที่มีรายได้เฉลี่ยของประชากรต่ำกว่ารายได้ทั้งประเทศ ความหมายคือเป็นพื้นที่ที่น่าส่งเสริมให้มีการพัฒนา แต่เมื่อโจทย์ของการพัฒนาไม่ได้มาจากความเป็นจังหวัด กลับกำหนดจากนักลงทุนที่ต้องการเข้าไปลงทุนตรงจุดนั้นเพื่อมองหาแรงงานราคาถูกจากประเทศเพื่อนบ้าน ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านก็ทำเขตเศรษฐกิจของตัวเอง วิธีคิดเลยกลายเป็นว่าเรากำลังจะแย่งการลงทุน โดยเฉพาะการลงทุนที่ใช้แรงงานราคาถูก เขตเศรษฐกิจทั้ง ๑๐ พื้นที่ตอบโจทย์แบบนี้ นอกจากนี้เรายังพูดถึงเขตเศรษฐกิจพิเศษในความหมายอื่นได้ ยกตัวอย่างถ้ารู้ว่าจังหวัดสระแก้วมีอ้อยกับมันสำปะหลังมาก พัฒนาเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษพลังงานหมุนเวียนเพื่อตอบโจทย์ของจังหวัดสระแก้วได้มั้ย หรือถ้าดูจำนวนประชากรต่อแพทย์หนึ่งคนของจังหวัดสระแก้วแล้วเยอะ รัฐบาลเคยบอกหรือเปล่าว่าจะสร้างโรงพยาบาลในเขตเศรษฐกิจพิเศษสระแก้ว โจทย์แบบนี้ไม่เคยถูกตั้ง เพราะพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษไม่ได้มองความเป็นจังหวัดสระแก้ว แค่เป็นพื้นที่ชายแดนของสระแก้วเพื่อหาแรงงานราคาถูกจากกัมพูชา เขตเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดกาญจนบุรีก็เป็นโจทย์ของพื้นที่ชายแดนเพื่อจะเชื่อมต่อไปยังทวาย แต่นั่นยังไม่เป็นปัญหาใหญ่เท่าการเอาโจทย์เรื่องการลงทุนอย่างเดียวเป็นตัวตั้ง
หรือยกตัวอย่างสมมุติเรารู้ว่าจังหวัดนครพนมมีปัญหาด้านการศึกษา เขตเศรษฐกิจพิเศษนครพนมจะช่วยให้ลงทุนด้านการศึกษาเป็นพิเศษแก่จังหวัดนครพนมได้มั้ย ชาวนครพนมจะได้เรียนวิชาที่เกี่ยวกับอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้น หรือแม้แต่อิเล็กทรอนิกส์ก็ไม่ได้เรียน รัฐบาลไม่สนใจตอบประเด็นนี้ เขาสนใจแค่เพียงว่าอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อยากไปตั้งโรงงานที่นครพนม
สุดท้ายจะเห็นว่าการประกาศเขตเศรษฐกิจพิเศษเป็นเพียงแค่การขายหรือเช่าที่ดิน ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี สิทธิประโยชน์อื่น แล้วก็อาจจะออกกฎหมายอื่นซึ่งยังไม่รู้ว่าเป็นอะไร อาจเป็นไปได้ว่าไม่ต้องปฏิบัติตามค่าแรงขั้นต่ำของประเทศไทย หมายความว่าสามารถจ้างแรงงานต่างด้าวในราคาต่ำกว่า ๓๐๐ บาทต่อวัน ซึ่งไม่ได้ทำเพื่อแก้ปัญหาจังหวัดที่เป็นที่ตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ
จิ๊กซอว์ทั้งสี่ที่ยกมาจะทำให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจของฝ่ายธนรัฐเป็นจริงแค่ไหน
บางทีอาจมีจิ๊กซอว์ตัวที่ ๕ เข้ามาก็ได้ เช่นการร่างรัฐธรรมนูญโดยกำหนดให้มีการตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ ไม่ต้องมีสภาและไม่ต้องมีฝ่ายบริหารที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน
อย่างไรก็ตามผมคิดว่าตอนนี้รัฐบาลกำลังมีปัญหา ปัญหาแรกคือไม่มีคนมาลงทุน ถึงรัฐบาลจะพยายามทำทุกวิถีทางแล้ว แต่การลงทุนยังไม่เห็นผล ส่วนหนึ่งเป็นเพราะภาวะทางเศรษฐกิจ ซึ่งผมคิดว่าถ้าภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกดีขึ้น ก็น่าจะมีคนเข้ามาลงทุน แต่อาจจะไม่เต็มรูปแบบตามที่รัฐบาลคิดไว้ ถึงอย่างไรการละเว้นข้อกฎหมายนั้นจะกลายเป็นปัญหา ความเละเทะของนโยบายที่ว่าด้วยเขตเศรษฐกิจพิเศษจะตามมาเพราะการประกาศยกเว้นผังเมือง ตอนนี้โรงงานโรงไฟฟ้าหรือโรงกำจัดขยะเข้ามาตั้งอยู่ตรงไหนก็ได้ ไม่เกี่ยวว่าจะเป็นการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษหรือไม่ แต่คนจะอาศัยช่องว่างทางกฎหมายที่ละเว้นไว้เข้าไปลงทุน ภายใน ๑๐ ปี เราอาจจะยังไม่เห็นเขตเศรษฐกิจพิเศษเชียงแสนหรือเชียงของ แต่ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมจะเกิดขึ้นเพราะยกเว้นข้อกฎหมายไปแล้ว
สมมุติโครงการรถไฟความเร็วปานกลางหรือความเร็วสูงยกเว้นการทำอีไอเอ แล้วลงมือถมที่สร้างทางผ่านพื้นที่ชุ่มน้ำ เกิดความเสียหายทั้งที่ความจริงหลีกเลี่ยงได้ และคนก็ไม่ได้ค้านโครงการ ปัญหาลักษณะนี้จึงไม่ได้เกิดเพราะตัวโครงการ แต่เพราะละเว้นกติกาอย่างไม่ระมัดระวัง
ฉะนั้นปัญหาที่จะเกิดขึ้นข้อแรกคือปัญหาจริง ๆ ที่มาจากตัวโครงการขนาดใหญ่ กับปัญหาจากการละเว้นกติกา ปัญหาที่จะตามมาอีกคือมีคนคัดค้านโครงการมากขึ้นเรื่อย ๆ เพียงแต่ด้วยลักษณะของสังคมไทย เราก็ไม่รู้ว่าวันไหนจะเป็นจุดพลิก วันไหนที่ความรู้สึกทนไม่ได้แล้วของประชาชนจะแสดงออกมาอย่างเห็นชัด
สิ่งที่รัฐบาลชุดนี้กำลังทำเป็นสิ่งที่รัฐบาลจากการเลือกตั้งก็ต้องการเหมือนกันหรือเปล่า
มีความเป็นไปได้ว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก็อยากทำ แต่การละเว้นกติกาถ้าเป็นรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยต้องการเสียงสนับสนุนจำนวนมาก ถึงจะคานเสียงค้านได้ ที่สำคัญเสียงค้านถ้าอยู่ในช่วงประชาธิปไตยมันจะเป็นเสียงที่ใหญ่และทำได้หลายรูปแบบ ไม่เหมือนรัฐบาลเผด็จการ การยกเว้นกฎหมายบางมาตราจึงเกิดขึ้นยากมากในรัฐบาลประชาธิปไตย แต่เกิดขึ้นเหมือนจะเป็นปรกติในสมัยรัฐบาลทหาร
ขณะเดียวกันฝ่ายนักลงทุนก็คงอยากได้จิ๊กซอว์สี่ห้าตัวนี้มานาน แต่ไม่ได้ มาสบโอกาสช่วงรัฐบาลที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จ
ประเทศที่เป็นทุนนิยมเสรี ยกตัวอย่างสหรัฐอเมริกา มีแนวโน้มว่าจะเห็นด้วยกับการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนตามแนวทางธนรัฐหรือไม่
บางกลุ่มอาจเห็นด้วย แต่บางกลุ่มจะบอกว่าวิธีแบบนี้ง่ายเกินไป อันที่จริงแม้แต่คุณสมคิด (สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ หัวหน้าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล) ก็น่าจะเข้าใจว่ารูปแบบเขตเศรษฐกิจพิเศษ ๑๐ แห่งนี้ไม่ใช่สิ่งที่เป็นที่สุด สิ่งที่เป็นที่สุดคือ “ซูเปอร์คลัสเตอร์” หมายถึงการต่อยอดและเชื่อมโยงอุตสาหกรรมที่ต่อเนื่องกัน เพื่อให้เสริมหนุนความสามารถในการแข่งขันซึ่งกันและกัน แต่คุณสมคิดอาจมองไปที่ซูเปอร์คลัสเตอร์ปิโตรเคมีหรือซูเปอร์คลัสเตอร์ยานยนต์ ส่วนผมคิดว่าอาจหมายถึงซูเปอร์คลัสเตอร์ด้านการท่องเที่ยวเชิงนิเวศวัฒนธรรม ยกตัวอย่างแนวทาง “สามสวรรค์ สามน้ำ สามสมุทร” เชื่อมโยงทั้งบางกะเจ้า สมุทรปราการ บ้านแพ้ว สมุทรสาคร และบางคนที สมุทรสงคราม หรือซูเปอร์คลัสเตอร์โฮมสเตย์ที่ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพรอยากจะพัฒนาให้เกิดขึ้น
หรือในแง่เกษตร ผมก็เคยพูดถึงคลัสเตอร์เขตเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำสี่จังหวัด คือ ชลบุรี นครนายก ฉะเชิงเทรา และปราจีนบุรี พื้นที่บริเวณนี้เลี้ยงสัตว์น้ำจืดประมาณครึ่งหนึ่งของประเทศ จะเชื่อมให้เป็นคลัสเตอร์ได้อย่างไร ถ้าทำได้ตรงนี้จะเป็น the wealthy water หรือสินในน้ำแน่นอน
ดังนั้นถ้าถามผมว่าทุนนิยมสุดขั้วจะเห็นด้วยกับสิ่งที่รัฐบาลทำหรือไม่ ผมเชื่อว่าสิ่งที่รัฐบาลทำค่อนข้างล้าสมัย เป็นทุนนิยมที่ไม่ประณีต ทุนนิยมประณีตเป็นเรื่องของ “เศรษฐกิจสร้างสรรค์” ที่ต้องใช้ทุนทางปัญญาหรือทุนทางวัฒนธรรมต่อยอดทั้งในการผลิต การออกแบบ หรือการเพิ่มเติมเรื่องราวต่าง ๆ เพื่อตอบโจทย์ ยกตัวอย่างว่าวันนี้เกษตรกรขายปลานิลได้กิโลกรัมละ ๔๐ บาท จะขายอย่างไรให้ได้กิโลกรัมละ ๒๐๐ บาท เหมือนปลาแซลมอน หรือปลาดอรีซึ่งที่จริงคือปลาสวาย
มีแรงผลักดันอะไรให้ต้องเดินไปในแนวทางธนรัฐ
รัฐบาลหาตัวช่วยที่รวดเร็วไม่ได้ การกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากไม่รู้ว่าจะตอบโจทย์เมื่อไร คราวนี้นักลงทุนรายใหญ่ก็เข้ามาแนะนำว่าถ้าทำตามแผนของเขาเศรษฐกิจจะโตไว
ปัญหาของรัฐบาลที่มาจากรัฐประหารคือเขาต้องการตอบโจทย์ให้ไว เพื่อบอกว่าของฉันดีกว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ผลปรากฏว่าไม่ได้เป็นอย่างนั้น แล้วพอไม่มีตัวเลือกอื่นจะฟัง ก็เลยกลายเป็นว่าฟังนายทุนข้างเดียว
ถ้านี่คือสิ่งที่กลุ่มทุนต้องการ รัฐบาลชุดต่อไปก็มีโอกาสที่จะไม่ยกเลิกนโยบายที่รัฐบาลทหารทำมาก่อน
มีแนวโน้มมากว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะวางเฉย ปล่อยให้จิ๊กซอว์ตัวต่าง ๆ ของรัฐบาล คสช. ทำงานของมัน เหมือนกับหลายสิบรัฐบาลปล่อยให้ประกาศคณะปฏิวัติสมัยจอมพลสฤษดิ์ยังทำงานอยู่กว่าครึ่งศตวรรษมาจนปัจจุบันนี้ ยิ่งถ้าร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่กำหนดให้ ส.ว. ทั้งหมดมาจากการสรรหา แล้วมีคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติควบคุมการทำงานของ ส.ว. หรือ ส.ส. อีกที มันก็เป็นเหตุผลที่ง่ายที่รัฐบาลชุดใหม่จะบอกว่า ขอคงแบบนี้ไว้ก่อน อย่าเพิ่งยกเลิก เดี๋ยวพวกผมโดนเล่นงาน
ประชาชนจะแสดงออกเพื่อปฏิเสธธนรัฐได้อย่างไร
เราจำเป็นต้องใช้อำนาจเท่าที่มีปฏิเสธจิ๊กซอว์ทีละตัว จะเริ่มที่ตัวไหนก่อนก็ได้ ไม่ว่าคัดค้านการให้เอกชนและต่างชาติเช่าที่ดิน ๙๙ ปี คัดค้านการยกเว้นผังเมืองซึ่งเป็นบรรทัดฐานของสังคมอารยะ นอกจากนี้คงไม่ลืมว่าในร่างรัฐธรรมนูญยังต้องผ่านการลงประชามติ เราจึงมีอำนาจปฏิเสธจิ๊กซอว์ตัวนี้ของฝ่ายธนรัฐด้วย
นอกเหนือจากการใช้อำนาจที่เราพอมีในการปฏิเสธจิ๊กซอว์เหล่านี้ เราควรสร้างจินตนาการใหม่ในการพัฒนาที่จะเป็นประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างทั่วถึงและยั่งยืนกว่าการเร่นำที่ดินของชาวบ้านไปให้เอกชนและต่างชาติเช่าเป็นเวลา ๑ ชั่วโคตรแบบที่ฝ่ายธนรัฐคิด ตัวอย่างของจินตนาการใหม่ ๆ ที่สร้างการเติบโตอย่างทั่วถึง เช่น การสร้างการลงทุนโดยตรงในชุมชน เพื่อช่วยเพิ่มและรักษาคุณค่าและมูลค่าของผลผลิต รวมถึงพื้นที่การเกษตรหรือพื้นที่สีเขียวอย่างบางกะเจ้า หรือการต่อยอดการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในจังหวัดฉะเชิงเทรา นครนายก ปราจีนบุรี และชลบุรี ไปสู่การแปรรูปผลิตภัณฑ์และการท่องเที่ยวต่อไป
มีความเห็นอย่างไรกับการใช้อำนาจมาตรา ๔๔
ไม่ว่าด้วยเหตุผลใด ๆ มันไม่ควรใช้มาตั้งแต่แรก หลักการของผมง่ายนิดเดียวคือการใช้อำนาจรัฐทุกเรื่องต้องฟ้องร้องเอาผิดได้ อะไรก็ตามที่ฟ้องร้องเอาผิดไม่ได้ เราจะรู้ได้อย่างไรว่าการใช้อำนาจนั้นเป็นธรรมหรือไม่เป็นธรรม
การใช้ ม. ๔๔ ระยะหลังก็ไม่ได้เป็นเรื่องความมั่นคง เขาใช้เรื่องการสืบสวนสอบสวน การโยกย้ายนายตำรวจ ซึ่งถ้าผมถูกโยกย้าย ผมมีสิทธิ์เรียกร้องมั้ย ถ้าโรงงานมาตั้งใกล้บ้านผมจะทำยังไง การใช้อำนาจรัฐคือการที่ผู้เข้ามาสู่อำนาจรู้ว่าตนเข้ามาเพื่อดูแลประโยชน์สุขของสังคม ซึ่งการใช้อำนาจเพื่อการนี้ต้องมีอย่างน้อยหนึ่งช่องทางที่ให้สังคมบอกว่าการใช้อำนาจของเขาถูกต้องหรือไม่ เขาจะมั่นใจในตัวเองอย่างเดียวไม่ได้
ที่ผ่านมา คสช. ได้ปฏิรูปอะไรไปแล้วบ้าง
ถ้าพูดกันแบบแฟร์ ๆ ก็อาจจะบอกได้ว่าเหตุการณ์ที่วุ่นวายก่อนหน้านั้นสงบลงชั่วคราว ไม่ได้หมายความว่าหายไป คนที่ไม่พอใจรัฐบาลยังมีอยู่ คนที่ไม่พอใจคนอีกฝ่ายก็ยังมีอยู่ การปฏิรูปที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตอนนี้ยังไม่เห็นผลเป็นรูปธรรม อาจจะมีการจัดระเบียบพื้นที่หัวหิน อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิบ้าง แต่การปฏิรูปทั้งประเทศไม่มี ขณะที่บางเรื่องอาจจะถอยหลังด้วยซ้ำไป เช่นการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ใครเคยเป็นนายก อปท. ก็ให้เป็นนายกฯ ต่อไป ไม่มีเลือกตั้ง เรียกว่าแช่แข็งเลย
อาจารย์เคยรับตำแหน่งเลขานุการคณะกรรมการปฏิรูป พ.ศ. ๒๕๕๓-๒๕๕๔ การศึกษาเรื่องการปฏิรูปครั้งนั้นแตกต่างจากการปฏิรูปที่กลุ่ม กปปส. เคยเรียกร้องก่อนยึดอำนาจอย่างไร
ผมคิดว่าสิ่งที่ กปปส. เรียกร้องไม่ได้มีอะไรตายตัว ดูเรื่องพลังงานจะเห็นชัด มีเวทีหนึ่งที่ตัวแทน กปปส. เสนออย่างหนึ่ง อีกเวทีเสนออีกอย่าง คนสองคนขึ้นไปพูดในนาม กปปส. เหมือนกัน แต่ข้อเสนอต่างกัน ข้อเสนอของ กปปส. จึงไม่ชัดเจนและไม่ตายตัว สิ่งที่น่าเสียดายคือผมไม่ได้หมายความว่า กปปส. ทำถูกต้อง แต่หาก กปปส. เชื่อในความคิดเช่นนั้น หลังรัฐประหารแล้ว กปปส. ต้องติดตามสิ่งที่ตัวเองเคยเรียกร้องเคยผลักดัน แต่เราก็ไม่เห็นสิ่งเหล่านั้น ไม่ว่าสิ่งที่พระพุทธอิสระบอกว่าต้องมีธนาคารข้าว หรือมีอะไรก็ตามที่เกี่ยวกับการแก้ปัญหาของชาวนา ผมไม่เห็นว่าจะมีการดำเนินการในระดับใหญ่ หรือไม่มีอะไรเป็นรูปธรรมอย่างที่เคยเสนอ อาจเพราะสุดท้าย กปปส. ไม่ได้เสนอสิ่งที่ชัดเจน
ไม่เหมือนถามว่าคณะกรรมการปฏิรูปเสนออะไร จะตอบว่าเรื่องกระจายอำนาจเราเสนออะไร เรื่องปฏิรูปที่ดินเสนออะไร จะเห็นด้วยหรือไม่ ในสังคมประชาธิปไตยเราถกเถียงกันได้ แต่อย่างน้อยจับต้องได้ชัดเจนว่าเราเสนออะไรบ้าง ถ้าพูดในแง่สถานะก็มีหนังสือเล่มหนึ่งที่เป็นข้อเสนอของคณะกรรมการปฏิรูปต่อพรรคการเมืองและผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง คือข้อเสนอที่เรารวบรวมไว้ เรื่องสำคัญที่สุดคือการปรับโครงสร้างอำนาจ ไม่ใช้คำว่ากระจายอำนาจ เพราะอยากให้มองว่าสมดุลอำนาจของประเทศเอียงมาที่ศูนย์กลาง การที่สมดุลอำนาจเอียงมาก ๆ ทำให้เกิดความเสี่ยงและความแตกแยก เพราะเมื่อใดที่รัฐส่วนกลางได้ตกลงหรือดำเนินการผิดพลาดไป มันจะเสียหายทั้งประเทศ ที่แตกแยกเพราะทุกคนจะชิงเข้ามาเป็นรัฐส่วนกลางเนื่องจากกำหนดกติกาได้ทั่วประเทศ เราคิดว่าต้องมีการปรับโครงสร้าง คือทำให้ท้องถิ่นมีความสำคัญขึ้น จัดการตัวเองได้มากขึ้น กระจายอำนาจจากท้องถิ่นที่เรารู้จักกันในนามองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไปสู่ประชาชนอีกขั้นหนึ่ง ที่ผ่านมาเวลาบอกว่ากระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น เราไปละว่าคือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ความจริงไม่ใช่ ท้องถิ่นประกอบด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชุมชน และอื่น ๆ อีกมากมาย เราต้องกระจายอำนาจไปสู่คนอื่น ๆ ที่อยู่ในท้องถิ่นด้วย
อาจารย์แสดงความเห็นสวนทางกับนโยบายของคณะรัฐประหารบ่อย ๆ ถูกคุกคามบ้างหรือเปล่า
ถูกคุกคามจาก คสช. ยังไม่มี ถ้าเป็นการแสดงความเห็นในเฟซบุ๊กแล้วถูกคุกคามจากคนทั่วไปก็มีบ้างเป็นธรรมดา แต่ไม่ถึงกับเป็นปัญหา ยังแสดงความเห็นได้ ไม่ได้หมายความว่าในช่วงนี้ผมมีเสรีภาพอย่างเต็มที่ พูดอย่างนั้นก็คงไม่ใช่ เราก็พยายามเซนเซอร์ตัวเองด้วย ซึ่งก็ดีเหมือนกันที่ต้องระมัดระวัง ตั้งหลักว่าอะไรคือสิ่งที่ควรพูดเราก็พูด เพียงแต่ต้องหาวิธีพูดวิธีเขียนที่ปลอดภัย ความปลอดภัยที่สุดนี่แหละอาจจะกลายเป็นวิธีที่สร้างสรรค์ไปโดยปริยาย คือทำให้คนอ่านเข้าใจได้มากขึ้นในแง่มุมที่แม้แต่คนเขียนก็ไม่เคยคิดมาก่อน
เรื่องเศรษฐศาสตร์เกี่ยวข้องกับการเมืองอย่างไร
การตัดสินใจทางเศรษฐศาสตร์มีเรื่องของจำนวนหนึ่งซึ่งเราไม่สามารถเทียบกันได้โดยตรง เช่น เราจะเติบโตทางเศรษฐกิจหรือจะอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม คนกลุ่มหนึ่งได้ประโยชน์ แต่คนอีกกลุ่มเสียประโยชน์ คนรุ่นเราได้ แต่คนรุ่นหน้าเสีย คนรุ่นเรากู้ แต่คนรุ่นหน้าจ่าย ในบรรดาของสามสี่อย่างนี้มันจับคู่เปรียบเทียบกันได้ยาก เราจะเอาสิ่งแวดล้อมมาเทียบกับเงินตราอย่างไร คนที่ได้ประโยชน์กับคนที่เสียประโยชน์จะเทียบกันในแง่ไหน จำนวน ความเดือดร้อนเหรอ มันไม่ได้มีสมการตายตัว ทั้งหมดนี้เราไม่สามารถนำหลักเศรษฐศาสตร์ทั่วไปมาตอบ จึงต้องผ่านวิถีทางการเมือง คือการตัดสินใจที่เป็นส่วนร่วม การเมืองตอบโจทย์เหล่านี้ด้วยความพิถีพิถัน จากการเปิดให้ทุกเสียงได้เสนอความเห็น ด้วยการแสวงหาทางเลือกใหม่ ๆ คุณภาพของการเมืองจะช่วยให้การหาคำตอบของเศรษฐศาสตร์ดีขึ้น การเมืองยังเกี่ยวกับความเชื่อมั่นและไว้วางใจซึ่งกันและกัน การเมืองที่ไม่มีความเชื่อมั่น ไม่มีความไว้วางใจ สุดท้ายสังคมก็แตกแยก เรื่องที่น่าจะคุยกันได้ก็ยังคุยไม่ได้ ความร่วมมือร่วมใจที่จะแก้ไขอะไรบางอย่างก็ยากขึ้น
ในทางกลับกันการเข้าถึงอำนาจทางการเมืองยังต้องพึ่งพาทรัพยากร รวมถึงทรัพยากรทางเศรษฐกิจ บางคนบอกว่าเป็นเรื่องเงิน แต่จริง ๆ แล้วไม่ใช่เรื่องนี้อย่างเดียว เพราะฉะนั้นเวลาออกแบบการเมืองเราต้องเข้าใจว่ากำลังออกแบบให้คนบางกลุ่มที่มีทรัพยากรบางอย่างสามารถเข้าถึงอำนาจทางการเมืองได้ใช่หรือไม่ ถ้าจะออกแบบให้ดีเราก็ต้องพยายามอย่าให้มีเงื่อนไขมาก อย่าให้คนมีทรัพยากรต่างกันมากนัก ถ้าเราป้องกันได้ไม่หมดก็ต้องป้องกันการใช้อำนาจรัฐ เพื่อให้คนทุกคนได้รับความเป็นธรรม
อธิบายอย่างนี้เศรษฐศาสตร์ก็กลับไปตอบโจทย์ทางการเมือง ในทางเดียวกันถ้าสามารถทำให้ระบบเศรษฐกิจไม่มีความเหลื่อมล้ำในการใช้ทรัพยากรนัก เราก็หวังว่าคนจะเข้าถึงอำนาจทางการเมืองได้ใกล้เคียงกันมากขึ้น
อาจารย์เป็นหัวหน้าภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร เนื้อหาหลักในการเรียนการสอนภาควิชานี้คืออะไร
การใช้เศรษฐศาสตร์ตอบโจทย์การเกษตรและการจัดการทรัพยากร การบริหารเรื่องทรัพยากรการเกษตรและเรื่องการผลิต อาจเรียกย่อ ๆ ว่าเป็นศาสตร์การรักษาและเพิ่มพูนคุณค่าและมูลค่าของภาคเกษตรและแผ่นดินไทย คือเรารักษาคุณค่าไว้ ด้วยวิธีไหน ความคิดหรือทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ชุดไหนที่จะช่วยรักษาคุณค่าหรือเพิ่มพูนคุณค่านั้นให้เป็นมูลค่าของภาคการเกษตร มันท้าทายตรงที่เราเริ่มต้นจากคุณค่าก่อนจะเน้นมูลค่า แนวทางนี้ไปได้กับหลักการทางเศรษฐศาสตร์แน่ แต่กับสิ่งที่เรียกว่าเศรษฐศาสตร์กระแสหลักซึ่งเป้าหมายคือทำอย่างไรให้ได้กำไรมากที่สุด ทำอย่างไรเศรษฐกิจถึงจะขยายตัวมากที่สุด ทำอย่างไรจึงจะเพิ่มรายได้ประชาชาติมากที่สุด ก็อาจจะไปกันได้และไม่ได้บางส่วน
อย่างไรก็ตามภาควิชานี้ไม่ได้ตั้งใจว่าจะเป็นเศรษฐศาสตร์กระแสหลักหรือกระแสรอง เราเพียงแต่ตั้งคำถามเรื่องคุณค่า ยกตัวอย่างว่าพื้นที่บางกะเจ้ามีคุณค่าอย่างไร คุณค่าอะไรบ้างที่เศรษฐศาสตร์กระแสหลักอาจจะมองไม่เห็น เศรษฐศาสตร์กระแสหลักอาจบอกว่าบางกะเจ้าอยู่ใกล้บางนา สร้างคอนโดฯ ต้องขายดี แต่สิ่งที่เศรษฐศาสตร์กระแสหลักมองไม่เห็นคือที่นี่เป็นไตหรือเป็นพื้นที่ปรับปรุงคุณภาพน้ำ และเป็นปอดหรือเป็นพื้นที่ดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เศรษฐศาสตร์กระแสหลักส่วนใหญ่มองไม่เห็นคุณค่าเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้ คุณค่าที่ต้องอาศัยโอกาสที่ต้องสัมผัสสัมพันธ์ มาดูสิว่าคุณค่าเหล่านี้เราจะรักษาไว้ได้อย่างไร บางส่วนของบางกะเจ้าเราอาจจะต้องเติมมูลค่าเข้าไป บางส่วนเติมมูลค่าไม่ได้ แต่ต้องรักษาไว้ เช่นในกรณีของหิ่งห้อย เราเติมมูลค่าลงไปมากไม่ได้ เพราะถ้ามากไปหิ่งห้อยก็ไม่เหลือ เราต้องหาทางจัดการให้สมดุล
บ่อยครั้งอาจารย์นำเกมมาให้นิสิตเล่นในห้องเรียน การเล่นเกมช่วยให้เด็ก ๆ เข้าใจสิ่งที่ต้องการนำเสนออย่างไร
สิ่งหนึ่งที่ไม่ถูกต้องในเศรษฐศาสตร์กระแสหลักและเราต้องต่อสู้ คือเขาเชื่อเรื่อง “value free” คือปลอดจากคุณค่า เขาตัดสินใจด้วยมูลค่าตัวเงินหรือข้อมูลเชิงประจักษ์ที่เห็นกันจะจะล้วน ๆ แล้วมองว่าคุณค่าเป็นเรื่องส่วนตัว ขึ้นอยู่กับคนแต่ละคน ไม่อยากเอามาคิดให้ปวดหัว
ซึ่งจริง ๆ แล้วไม่ใช่ เพราะการตัดสินใจทางเศรษฐศาสตร์ทั้งหลายหรือเกือบทั้งหมดเป็นเรื่องของคุณค่า ทำไมเราถึงซื้อน้ำขวดนั้นทั้งที่อีกขวดราคาถูกกว่า ทำไมเราซื้อรถคันนั้นทั้งที่อีกคันก็น่าจะใช้ได้ ทำไมรัฐบาลของเราจึงยอมให้เขาขุดภูเขาทั้งลูก อพยพคนทั้งหมู่บ้าน เพื่อให้ได้ทองซึ่งอยู่ในมือของบริษัทที่ได้รับสัมปทาน แล้วรัฐจะได้ค่าภาคหลวงนิดหน่อย ดังนั้นไม่มีอะไรเป็น “value free” ในทางเศรษฐศาสตร์ ทุกอย่างล้วนมีคุณค่าอยู่เบื้องหลังการตัดสินใจเหล่านั้น
สิ่งที่เราต้องทำความเข้าใจกับนิสิตคือ value หรือคุณค่าคืออะไร เป็นคุณค่าที่สร้างประโยชน์เฉพาะตนหรือคุณค่าที่ทุกคนต้องใช้เพื่ออยู่ร่วมกัน การเล่นเกมจะสร้างภาวะกดดันที่นิสิตต้องแสดงคุณค่าเหล่านั้นออกมา เพื่อบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ในเกม ว่าฉันหรือเธอที่จะได้ประโยชน์ หรือเราแบ่งประโยชน์ซึ่งกันและกัน
ผมยกตัวอย่างเกมหนึ่งซึ่งกำหนดให้นักศึกษาทั้งห้องประมาณ ๔๐๐ คนเป็นลูกบ้าน จะต้องช่วยกันจัดการเรื่องน้ำในยามหมู่บ้านขาดแคลน แต่ละกลุ่มเป็นครอบครัว มี อบต. เข้ามาจัดการ อบต.ทีมนี้เก่งมาก เมื่อเห็นกติกาก็ใช้วิธีเพิ่มเงินให้คนที่ไปเป็นแรงงานโดยไม่ต้องปลูกพืช มีคนมาเป็นแรงงานจำนวนหนึ่ง แต่ก็ไม่พอ น้ำยังลดลง อบต. จึงเพิ่มเงินให้คนเป็นแรงงานอีกในรอบเดือนถัดมา คราวนี้เริ่มได้ผล แต่ก็มีเกษตรกรบางคนยังทำเกษตร กลุ่มนี้เริ่มตั้งคำถามว่า อบต. ไม่ช่วยเขาบ้างเหรอ หรือ อบต. มองเฉพาะการลดใช้น้ำอย่างเดียวเท่านั้น กลุ่มนี้คำนวณเลยนะว่าจริง ๆ แล้วเขาใช้น้ำน้อยมาก นอกจากนั้นยังมีเกษตรกรอีกกลุ่มบอกว่าถ้า อบต. ช่วยเฉพาะคนปลูกข้าว คนปลูกแตงโมไม่ช่วย แล้วนิสิตก็ตั้งคำถามว่า คนเป็นเกษตรกรยังควรทำเกษตรต่อไปหรือไม่ถ้าไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลบ้าง
สิ่งที่น่าสนใจในเกมนี้คือตอนจบเกม ผมตั้งเงื่อนไขว่า อบต.จะทำภารกิจสำเร็จ ชาวบ้านต้องมีน้ำพอใช้ และ อบต. ต้องได้รับความไว้วางใจจากสมาชิกทุกคน ดังนั้นเมื่อสมาชิกพูด อบต. ก็ต้องฟัง ไม่อย่างนั้นชาวบ้านจะไม่ไว้วางใจ แต่เมื่อฟังแล้วก็ต้องชั่งใจ และประสานประโยชน์ซึ่งกันและกันระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียแต่ละกลุ่ม เรียกว่าทั้งเครียด ทั้งสนุก ทั้งเถียง ทั้งหัวเราะกันตลอดชั่วโมงการเล่นเกมแสดงให้เห็นว่าการตัดสินใจด้านเศรษฐศาสตร์เกี่ยวกับคุณค่า และไม่ใช่คุณค่าของเราอย่างเดียว เป็นคุณค่าของฝ่ายอื่น ๆ เพราะฉะนั้นเราจะไม่คิดถึงความสามารถในการแข่งขันหรือผลประโยชน์ของเราเท่านั้น ต้องคิดถึงประโยชน์ที่จะเกิดแก่คนอื่น ๆ ในระยะยาวด้วย
สิ่งที่น่าดีใจคือตอนจบเกม นิสิตสะท้อนว่า รู้สึกเข้าใจและรักระบอบประชาธิปไตยมากขึ้น คิดว่าถ้าทุกคนได้มีโอกาสพูดคุยกัน เราย่อมหาทางออกได้แน่นอน น้อง ๆ เลยตั้งชื่อเกมนี้ว่า เกมประชาธิปไตย
นอกจากนี้ก็มีเกม The Yellow Card ฝ่าวิกฤตประมงไทย ที่ครอบครัวของผมช่วยกันพัฒนาขึ้น เพื่อให้ผู้เรียนได้เห็นว่า ถ้าเร่งจับปลาหรือทรัพยากร สัตว์น้ำจะลดลงอย่างไร และจะทำอย่างไรให้ทรัพยากรประมงฟื้นคืนกลับมา เช่น การลงทุนเพื่อสร้างบ้านปลา การจำกัดจำนวนเรือประมง การเปลี่ยนประเภทเครื่องมือประมง เป็นต้น ซึ่งตรงนี้ผู้เล่นหรือนักศึกษาก็ต้องต่อรองกันเพราะต่างคนต่างก็ต้องการผลประโยชน์ส่วนตัวไปพร้อม ๆ กับการสานผลประโยชน์ร่วมกัน
สิ่งที่น่าสนใจคือ ผู้เล่นที่ได้คะแนนสูงสุดมักเป็นผู้เล่นในกลุ่มที่ได้คะแนนสูงด้วย หมายความว่า ถ้าชุมชนจัดการดีและได้ประโยชน์ บุคคลย่อมได้ประโยชน์ตามไปด้วยนั่นเอง
หลายครั้งที่เราเล่นเกมในห้องเรียนแล้วผู้เรียนก็เกิดคำถามว่า ความจริงเราควรจัดการทรัพยากรที่มีจำกัดเพื่อตอบสนองความต้องการอันไม่จำกัดตามนิยามทั่วไปของวิชาเศรษฐศาสตร์ หรือเราควรจะจัดการกับความต้องการอันไม่จำกัดของเราเพื่อรักษาทรัพยากรอันมีจำกัดยิ่งกันแน่
ซึ่งแน่นอนที่สุดว่า กลไกการจัดการกับความต้องการของผู้คนในเกมเหล่านี้คือประชาธิปไตย เพราะทางออกที่ดีที่สุดจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการหารือ สร้างความเข้าใจ และหาทางออกร่วมกัน นิสิตจึงเข้าใจว่าประชาธิปไตยนั้นดีกว่าจะปล่อยให้คนคณะเดียวตัดสิน และระบอบประชาธิปไตยไม่ใช่การเลือกสิ่งที่ตนชอบโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดแก่คนอื่น ๆ ซึ่งก็จะกระทบกับตนเองในที่สุดเช่นกัน
งานอนุรักษ์มีความเกี่ยวพันกับการเมืองอย่างไร
งานอนุรักษ์เป็นเรื่องส่วนร่วมที่คาบเกี่ยว คือส่วนร่วมของคนรุ่นเราที่เรามองเห็น กับส่วนร่วมของคนรุ่นหน้าที่เรายังมองไม่เห็น ประโยชน์ของวันนี้กับประโยชน์ของวันหน้า เราจะมองถึงประโยชน์ในมิติไหน การอนุรักษ์ต้องการคำตอบจากการเมือง การเมืองต้องตอบคำถามว่าเราจะอนุรักษ์อย่างไร เพื่อให้ได้คำตอบว่าจะตัดสินใจเดินซ้าย ขวา รักษา พัฒนา หรือทำให้หายไป การเมืองช่วยให้คำถามเรื่องการอนุรักษ์ถูกตอบด้วยความเป็นธรรมที่สุด
นักอนุรักษ์ต้องเชื่อมโยงเรื่องอนุรักษ์กับประชาธิปไตย ถ้าไม่เชื่อมโยงกับประชาธิปไตยเขาไปผิดทางแน่นอน ที่ว่าไปผิดทางอาจไม่เกี่ยวกับหลักการประชาธิปไตยเลย แต่ตอบในมุมอนุรักษ์คือการอนุรักษ์จะดำรงอยู่ได้ก็ต่อเมื่อคนส่วนใหญ่เข้าใจ เห็นด้วย และอยากจะรักษาทรัพยากรไว้ ซึ่งสิ่งนี้เป็นวิธีคิดของความเป็นประชาธิปไตย ความเชื่อที่ว่าเราต้องคุยกับคนส่วนใหญ่จึงเป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับนักอนุรักษ์
ทีนี้ถ้าความคิดเกิดแวบขึ้นมาว่า ถ้าเราคุยกับคนมีอำนาจแค่ไม่กี่คนแล้วสามารถอนุรักษ์… สิ่งนี้เป็นความคิดที่อันตราย ผมไม่เรียกว่าเขาไม่หวังดี เขาอาจจะหวังดี แต่ไม่อยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง เพราะการตัดสินใจสุดท้ายของคนไม่กี่คนมันอาจจะเปลี่ยนแปลงได้ การอนุรักษ์กับประชาธิปไตยจึงต้องเป็นเรื่องคู่กัน และไม่ใช่แค่เรื่องอนุรักษ์ ทุกเรื่องที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมด้วย เราจะยอมรับได้เมื่อคนส่วนใหญ่ยอมรับหรือสมัครใจ หรือเป็นผู้ที่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลง ในที่สุดแล้วเราต้องเข้าไปเป็นอะไรบางอย่างที่เกี่ยวกับกระแสหลัก ขณะเดียวกันก็ต้องกล้าท้าทายความคิดของเรื่องที่เป็นกระแสหลักด้วย
ผมคิดว่านักอนุรักษ์บางคนกังวลเรื่องกระแสหลักของสังคม ก็เลยคิดว่าไปหากระแสรองที่มีอำนาจและเข้าใจตนเองจะดีกว่า แต่นั่นคือการอนุรักษ์ที่ไม่ยั่งยืน การอนุรักษ์ที่ยั่งยืนต้องอยู่บนฐานกระแสหลัก ไม่ว่ายากแค่ไหนก็ตาม
มีการตั้งข้อสังเกตว่าหลายคนที่เชียร์รัฐบาลชุดนี้เป็นชนชั้นกลาง
การออกมาต้านผู้มีอำนาจไม่ใช่วัฒนธรรมพื้นฐานของสังคมไทย จนกว่าจะถึงจุดหนึ่งซึ่งเราไม่รู้เลยว่ามันอยู่ตรงไหน เหมือนที่เขาไม่ชอบรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ก็ไม่ได้ออกมาจนกว่าจะมีนิรโทษกรรม นี่คือสิ่งที่เราต้องเตือนรัฐบาลทุกรัฐบาลว่าคนไทยมีความรู้สึกนี้ ความรู้สึกไม่พอใจจะสะสมไปเรื่อย ๆ จนถึงวันหนึ่ง ต้องเข้าใจว่ามันกำลังสะสมอยู่หรือเปล่า แล้วสะสมด้วยเรื่องอะไร การที่เขายังเงียบอยู่ไม่ใช่หมายความว่าหนุนรัฐบาล แต่จุดที่บอกว่าฉันจะออกมาแล้วยังมาไม่ถึง คำถามนี้อาจหมายถึงเขาเอนเอียงเข้ารัฐบาล ผมคิดว่าความเอนเอียงนั้นเคยมีและยังมีอยู่ แต่ถ้าถามเขาว่ารัฐบาลทำอย่างนี้ถูกมั้ย เขารู้แล้วว่าไม่ถูก ความเอนเอียงทำให้จุดเปลี่ยนใจยังมาไม่ถึง แต่ตาของเขาไม่บอดหรอก
การมีใจเอนเอียงเกิดจากเหตุผลสองอย่าง อย่างแรกคือความผิดหวังในรัฐบาลประชาธิปไตย คนกลุ่มนี้รู้ว่าต้องกลับไปหาแนวทางประชาธิปไตย เพียงแต่ที่ผ่านมาเขาผิดหวัง แล้วเชื่อว่าถ้ามีระบอบอื่นเข้ามามันคงง่าย อย่างสองเป็นกลุ่มที่เอนเอียงเพราะไม่ต้องการประชาธิปไตย ไม่ต้องการให้มีนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง กลุ่มนี้มาไกลเกินคำว่าผิดหวัง ฝั่งไหนก็ไม่เอาทั้งนั้น ไม่ว่าประชาธิปัตย์หรือเพื่อไทย ยังไงกลุ่มหลังนี้ก็คงไม่เปลี่ยนความคิด ซึ่งผมมองว่ามีอยู่เยอะเหมือนกัน
ต่อไปคนไทยจะปฏิเสธการรัฐประหารไหม
ยังครับ แต่คนจะเข็ด รู้ว่าการที่เราหวังว่าจะมีคนมาใช้อำนาจเด็ดขาดและตอบโจทย์มันไม่ได้ง่ายแบบนั้น เราต้องเข้าใจว่าคนที่คล้ายนักการเมืองที่เราไม่ชอบ หรือไม่ดีใกล้เคียงกัน เมื่อถืออำนาจพิเศษ ความไม่ดีที่ใกล้เคียงกันกลับไม่ดีมากยิ่งขึ้น ผมคิดว่าคนไทยเริ่มเข้าใจว่ามันไม่ใช่การเลือกคนดีหรือไม่ดีให้มาปกครองระบอบใดก็ได้ แต่ก่อนบางคนเชียร์รัฐประหารเพราะคิดว่าถ้าเป็นคนดีใช้ระบอบไหนก็ได้ แต่ความจริงไม่ได้ และคนที่ได้ก็อาจจะไม่ใช่คนดีด้วย
อย่างไรก็ตามผมคิดว่าสุดท้ายแล้วคนไทยยังต้องการให้มีคนใช้อำนาจแทน วันก่อนเพิ่งมีนักศึกษาปริญญาเอกมาสัมภาษณ์ผมเกี่ยวกับการจัดระเบียบชายหาดหัวหิน เขาถามว่าทำไมคนไทยรู้สึกว่านายกฯ ต้องใช้อำนาจ และทำไมอำนาจนั้นต้องเป็นมาตรา ๔๔ คือถ้าเราอยู่ในสังคมที่ไม่จำเป็นต้องใช้อำนาจ ใช้แค่หลักการที่เป็นบรรทัดฐานของสังคม สมมุติผมเดินไปที่ชายหาด เห็นคนตั้งร้านล้ำหาด ผมจะพูดเลยว่าคุณทำอย่างนี้ไม่ได้ เจ้าของร้านจะเข้าใจระดับหนึ่ง สมมุติเจ้าของร้านยังไม่ยอมย้าย คนถัดมาเห็นเขาจะพูดเลยทันที ถึงจุดหนึ่งเจ้าของร้านจะรู้ว่าทำอย่างนี้ไม่ได้นะ นี่คือสังคมที่พัฒนาแล้ว แต่สังคมไทยโดยพื้นฐานไม่ใช่แบบนั้น เมื่อเห็นคนทำผิดถ้าไม่เฉยไว้ ก็คิดว่าจะไปหาใคร จะร้องเรียนคนที่มีอำนาจเพื่อจัดการในสิ่งที่เราต้องการ แม้กระทั่งเป็นสิ่งที่เราเห็นซึ่งหน้าและชัดเจนอยู่แล้วว่าไม่ถูกต้อง
เหมือนเด็กไทยพูดว่าจะไปฟ้องครู เพราะเราไม่คุ้นกับการวางกติกา ในชีวิตจริงเมื่อเราไปแจ้งเทศบาล แล้วเทศบาลดันสนิทกับคนที่บุกรุก เรารู้สึกว่าใช้อำนาจเทศบาลไม่ได้ เมื่อฟ้องครูไม่ได้ก็ไปฟ้องครูใหญ่ ไม่ก็อำนาจนายกฯ ที่พิเศษขึ้น เรื่องทุกเรื่องเราจึงใช้อำนาจพิเศษมากขึ้น ๆ คนที่มีอำนาจก็รู้สึกว่าเมื่อยึดอำนาจมาก็ขอจัดระเบียบ ความจริงการจัดระเบียบอนุสาวรีย์ชัยฯ อาจจะทำได้ตั้งแต่ระดับผู้ว่าฯ กทม. หรือไม่ต้องทำอะไรเลยถ้าประชาชนเข้าใจระเบียบซึ่งกันและกัน
ระบอบประชาธิปไตยไทยบ้านเราจะพัฒนาขึ้นอย่างไร
ฝ่ายเรียกร้องประชาธิปไตยต้องตั้งคำถาม ว่าจะทำอย่างไรให้ประชาธิปไตยตอบโจทย์ประชาชนมากขึ้นและเร็วขึ้น ขอย้ำคำว่าเร็วขึ้น เพราะสิ่งที่มากับวิวัฒนาการของสังคมไทยขณะนี้คือมีเรื่องใหม่เข้ามาเร็วมาก แค่แชร์ โพสต์ก็ขึ้นมาหมด เกิดความรู้สึกไม่พอใจในหมู่ประชาชน แล้วระบอบประชาธิปไตยจะให้เขาแสดงออกทางไหน คนจะพัฒนาระบอบประชาธิปไตยต้องคิดโจทย์ให้เร็วขึ้น เรื่องที่พูดนี่ไม่เฉพาะประเทศไทย ในต่างประเทศก็เหมือนกัน
คนที่รักประชาธิปไตยต้องพยายามอธิบายหรือพัฒนาประชาธิปไตยให้อยู่ในรูปแบบที่ตรงใจหรือตรงกับที่ประชาชนต้องการให้มีการใช้อำนาจ คนรักประชาธิปไตยไม่ควรหยุดอยู่แค่ว่า ประชาธิปไตยดีกว่าเผด็จการ อย่างที่ผมอธิบายว่าประชาธิปไตยมีการตรวจสอบ ถึงอย่างไรก็ดีกว่าเผด็จการ แต่เราไม่ควรหยุดอยู่แค่นั้น ปัจจุบันผมคิดว่าหลายคนหยุดอยู่แค่นั้น คนจำนวนไม่น้อยที่รักประชาธิปไตยไม่รู้สึกว่าเขาต้องพูดอะไรเกี่ยวกับประชาธิปไตยจนกว่าจะได้ประชาธิปไตยกลับมา ผมคิดว่าไม่ใช่ เพราะประชาธิปไตยมีอยู่อย่างน้อยสองสถานะ คือ สถานะระบอบการปกครอง กับสถานะที่เป็นวัฒนธรรมการตัดสินใจ เราสามารถมีเครื่องมือหรือรูปแบบที่จะเป็นวัฒนธรรมการตัดสินใจได้ตั้งหลายแบบ แต่เราไม่ค่อยสนใจจะพัฒนา คนที่ไม่ชอบรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารมาก ๆ ควรเตรียมพร้อมกลับสู่ระบอบประชาธิปไตย ไม่ได้หมายความว่าไม่ควรค้านรัฐบาลรัฐประหาร สิ่งใดทำไม่ถูกก็ค้าน แต่สิ่งที่เราควรคิดควบคู่กันไปด้วยคือประชาธิปไตยที่จะกลับมาหน้าตาเป็นอย่างไร
คืบหน้าจาก “มาตรา ๔๔”ตามมาตรา ๔๔ ของรัฐธรรมนูญฯ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. ๒๕๕๗ บัญญัติไว้ว่า
“ในกรณีที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติเห็นเป็นการจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปในด้านต่าง ๆ การส่งเสริมความสามัคคีและความสมานฉันท์ของประชาชนในชาติ หรือเพื่อป้องกัน ระงับ หรือปราบปรามการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลายความสงบเรียบร้อยหรือความมั่นคงของชาติ ราชบัลลังก์ เศรษฐกิจของประเทศ หรือราชการแผ่นดิน ไม่ว่าจะเกิดขึ้นภายใน โดยที่ผ่านมาหัวหน้า คสช. ใช้อำนาจมาตรา ๔๔ ประกาศเป็นคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เช่น วันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๕๘ - คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๑๗/๒๕๕๙ เรื่อง การจัดหาที่ดินเพื่อใช้ประโยชน์ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งมีเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษที่จังหวัดตาก มุกดาหาร สระแก้ว สงขลา และตราด ที่ทำให้เกิดการเพิกถอนป่าสงวนแห่งชาติ พื้นที่ป่าไม้ถาวร ที่ดินสาธารณสมบัติที่ประชาชนเคยใช้ประโยชน์มาก่อน ให้ตกเป็นที่ราชพัสดุ วันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๕๙ - คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๓/๒๕๕๙ เรื่อง การยกเว้นการใช้บังคับกฎหมายว่าด้วยการผังเมือง และกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ และ คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๔/๒๕๕๗ เรื่อง การยกเว้นการใช้บังคับกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมสําหรับการประกอบกิจการบางประเภท โดยอ้างถึงความจำเป็นในการดำเนินการและบริหารจัดการพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ ความจำเป็นในการสำรวจปิโตรเลียม การก่อสร้างโรงไฟฟ้า การแก้ปัญหาขยะล้นเมือง เป็นต้น ซึ่งติดอุปสรรคทางกฎหมายบางประการ อันเป็นที่มาของการประกาศยกเว้นผังเมืองในกิจการต่าง ๆ วันที่ ๘ มีนาคม ๒๕๕๙ - คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๙/๒๕๕๙ เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ โดยอ้างถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการดำเนินโครงการด้านคมนาคมขนส่ง ชลประทาน การป้องกันสาธารณภัย เป็นต้น ให้หน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจสามารถดำเนินการจัดหาเอกชนที่จะเป็น ผลจากการประกาศคำสั่งดังกล่าว ล่าสุด วันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๕๙ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติได้ออกประกาศหลักเกณฑ์และรายละเอียดของโครงการหรือกิจการที่ได้รับการยกเว้นการใช้บังคับผังเมือง ประกอบด้วย โครงการโรงไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ๒๒ โครงการ โครงการโรงไฟฟ้าผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ ๗ โครงการ โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก ๕ โครงการ และโครงการโรงไฟฟ้า คลังน้ำมัน อื่น ๆ อีกหลายโครงการ ทั้งนี้ตามบัญชีแนบท้ายมีชื่อของโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จังหวัดสงขลา โรงไฟฟ้าถ่านหินอำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่ ซึ่งถูกชาวบ้านในพื้นที่ต่อต้านอย่างหนักมาตลอด |
ตีพิมพ์ใน นิตยสาร สารคดี ฉบับที่ 376 เมษายน 2559