เรื่อง : ชลธร วงศ์รัศมี ภาพ : นิดา สังขปรีชา
ประเทศไทยมีทองคำอยู่ใต้ดินกว่า ๗๐๐ ตัน และมีเหมืองทองคำสองแห่ง คือ เหมืองของบริษัททุ่งคำ จำกัด จังหวัดเลย และของบริษัทอัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) จังหวัดพิจิตร ทั้งสองแห่งมีบริษัทแม่อยู่ที่ประเทศออสเตรเลียและดำเนินกิจการมาไม่ต่ำกว่า ๑๐ ปี ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์หลายด้าน ทั้งสิ่งแวดล้อม สุขภาพของผู้คนรอบเหมือง ฯลฯ แต่มุมมองหนึ่งที่ยังไม่ปรากฏกว้างขวางนักคือด้านเศรษฐศาสตร์ กับคำถามใหญ่ ๆ ว่า “ประเทศไทยได้หรือเสียจากการมีเหมืองทอง ?” เวทีเสวนา “เศรษฐศาสตร์ทองคำ คุ้ม ไม่คุ้ม เหมืองทองไทย” จึงได้ระดมผู้ทรงคุณวุฒิหลายฝ่ายร่วมถกประเด็นนี้เมื่อวันที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๕๙
ดร. อดิศร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา นักเศรษฐศาสตร์และที่ปรึกษาด้านการวิจัยทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวถึงวิธีการวัดความคุ้ม-ไม่คุ้มของการขุดทองว่า
“หลักการคือดูราคาในอนาคต เพราะฉะนั้นความยากของการอนุมัติสัมปทานทองคำอยู่ที่ความสามารถในการคาดการณ์ราคาทองคำในอนาคต คือดูแนวโน้มราคาทองคำเทียบกับอัตราการโตของดอกเบี้ยเงินฝากว่าอะไรโตเร็วกว่ากัน คำถามสำคัญคือถ้าแร่อยู่ในดิน ราคาของแร่จะโตขึ้นในอัตราเท่าไร ถ้าอัตราราคาแร่ขึ้นช้า เราต้องรีบขุดออกมา เปลี่ยนแร่เป็นเงินแล้วเอาเงินไปฝากธนาคาร แต่ถ้าราคาแร่โตเร็วก็ทิ้งไว้ในดิน ให้โตอยู่ในดิน นี่คือหลักตรรกะที่จะมองว่าคุ้ม-ไม่คุ้ม
“ราคาทองคำเมื่อ ๓๐-๔๐ ปีก่อน บาทละ ๔๐๐ เมื่อเทียบกับปัจจุบันบาทละ ๒ หมื่นกว่า ถ้าขุดออกมาขายแล้วเอาเงิน ๔๐๐ บาทฝากธนาคารตลอด ๓๐-๔๐ ปีมานี้ เงินที่ท่านจะได้ไม่ถึงหมื่นบาท เพราะดอกเบี้ยโตแค่ ๒-๓ เปอร์เซ็นต์ แต่ราคาทองวันนี้ ๒ หมื่นบาท เพราะฉะนั้นพูดง่าย ๆ เวลาอยู่ในดินมูลค่ามันโตเร็วกว่าที่เราขุดขึ้นมาเปลี่ยนเป็นเงิน”
แต่ใช่เพียงว่าผลตอบแทนด้านตัวเงินเป็นปัจจัยเดียวที่ใช้วัดความคุ้มค่าเพราะมีต้นทุนอีกหลายด้านซึ่งไม่เคยนำมาคิดคำนวณ
“อีกวิธีจะดูว่าคุ้ม-ไม่คุ้ม เราต้องนำต้นทุนด้านการป้องกันผลกระทบสิ่งแวดล้อม ปัญหาสุขภาพ มาหักออกด้วย ซึ่งเรายังไม่ได้ทำเลย เพราะมันเป็นธุรกิจที่มีผลต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพ หรือชีวิตของคน เราคงไม่อาจมองว่าถ้าโครงการนี้คุ้ม จ่ายเงินค่าภาคหลวงไปแล้วก็ยอมให้ประชาชนเสียชีวิตได้ สังคมที่พัฒนาแล้วควรจะดูแลสุขภาพและฐานะความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนโดยไม่เอาชีวิตคนไปแลกกับตัวเงิน”
ด้านอาจารย์สัญชัย สูติพันธ์วิหาร คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า “ทองคำ ๑ บาทหรือ ๑๕ กรัม ได้จากการระเบิดและย่อยหินประมาณ ๗ ตัน หรือ ๗,๐๐๐ กิโลกรัม เป็นกายภาพภูมิประเทศที่หายไปจากยอดเขา อีก ๓๐-๕๐ ปี เขาจะด้วนเหมือนปล่องภูเขาไฟ ภูมิอากาศก็เปลี่ยนแปลง ธรรมชาติเป็นทั้งปัจจัยการผลิต แหล่งรองรับชีวิต แหล่งรองรับพลังงาน ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และระบบนิเวศ หกตันกว่า ๆ ที่หายไปเป็นส่วนหนึ่งของธรณีชีวิต เราคิดถึงตรงนั้นมากน้อยแค่ไหน
“เราต้องพิจารณาการทำเหมืองเป็นสี่ระยะ ขั้นก่อนเปิดเหมืองต้องมีการทำ EIA, EHIA ทำประชาคม วางแผนการตัดสินใจ การทำ EHIA เล่มหนึ่งค่าใช้จ่ายเป็นล้าน ทำประชาคมครั้งหนึ่งก็เป็นแสน ระยะก่อสร้าง ระหว่างที่ผลิต แล้วพอปิดเหมืองไปก็เป็นขั้นตอนของการฟื้นฟู คุ้ม-ไม่คุ้มต้องดูทั้งวงจร ไม่ใช่จะตัดตอนดูเฉพาะขั้นที่ ๓ คือที่เขาผลิตอยู่ตอนนี้ แล้วไม่สนใจว่าก่อนหน้านี้เป็นอย่างไร และเมื่อปิดเหมืองจะทิ้งอะไรไว้ไม่ได้
“การระเบิดหินทุกครั้งย่อมใช้สารเคมี ผลตรวจหาไซยาไนด์บอกว่ายังไม่เกินค่ามาตรฐาน เพราะมันปนเปื้อน ตกค้างยาวนาน และจะส่งผลกระทบเรื้อรัง มีคนบอกว่าไม่เป็นไรหรอก ง่าย ใช้เงินโปะ ร่างกายอ่อนเพลียเดี๋ยวกินน้ำเกลือแร่ก็หาย แต่มันไม่เป็นอย่างนั้น ต้องใช้ทั้งเงินและเวลา ถ้ามีปัญหาจบลงด้วยบรรทัดสุดท้าย ‘ไปฟ้องร้องเอาเอง’ แล้วการฟ้องคดีนานไหม เป็นสิบปีขึ้นไป ลองประเมินดู กว่าจะถึงบรรทัดสุดท้ายมีอีกหลายอย่างที่เราต้องคำนึงถึงอย่างมาก”
ด้าน ดร. สมิทธิ์ ตุงคะสมิต นักวิชาการด้านวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม รองคณบดีฝ่ายวิชาการ วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ผู้ลงพื้นที่เหมืองทองจังหวัดพิจิตรพร้อมทีมแพทย์หลายครั้ง ได้กล่าวว่า
“ถ้าเรามาชั่งง่าย ๆ ในเรื่องเศรษฐศาสตร์ เราเปิดเหมืองทองคำมา ๑๕ ปีแล้ว เก็บค่าภาคหลวง ๖.๖ เปอร์เซ็นต์ เขาขุดทองได้ร้อย เราเก็บค่าต๋ง ๖.๖ บาท ผมว่าถ้าเป็นบ่อนการพนันก็อาจจะเจ๊งนะครับ เราปล่อยให้เขาส่งออกทองคำทั้งหมดไปทำให้บริสุทธิ์ เนื่องจากในประเทศไทยไม่มีโรงงานทำทองคำให้บริสุทธิ์ เราขายถูก แต่ไปซื้อทองคำรูปพรรณกลับมาแพง
“ในปี ๒๕๕๒ มีรายงานจากสภาพัฒน์เขียนถึงนโยบายเหมืองทองคำชัดเจนมากว่า ‘ถ้าประเทศไทยยังไม่มีโรงงานถลุงทองให้บริสุทธิ์ ตราบนั้นการขุดทองคำขึ้นมาก็ไม่คุ้มเพราะมีต้นทุนค่าใช้จ่ายที่มาก และขณะเดียวกันการส่งออกมีมูลค่าน้อยกว่าการนำเข้าทองคำ’ นี่เป็นบทสรุปของสภาพัฒน์
“หมดยุคการหากินโดยการขายของเก่าแล้ว เศรษฐกิจไทยต้องขับเคลื่อนด้วยเศรษฐกิจสมัยใหม่ นั่นคือการเพิ่มมูลค่าของสินค้าในภาพรวมให้สะอาดขึ้น ทันสมัยขึ้น การดึงทรัพยากรเก่า ๆ ไม่ว่าจะเป็นสัมปทานป่าไม้ เหมืองแร่ ไม่น่าจะเป็นวิธีการทำมาหากินของประเทศ ถ้าเก็บไว้จนกว่าจะมีเทคโนโลยีที่ดี เราก็ควรจะเก็บไว้ก่อน การระเบิดหินเกิดฝุ่นฟุ้งกระจาย แล้วเอาหินไปย่อยบดแยกสกัดทองคำออกมาโดยใช้ไซยาไนด์ กากของมันไม่ใช่ดินธรรมดา แต่เป็นผงละเอียดซึ่งประกอบด้วยแมงกานีส มีผลร้ายแรงต่อระบบประสาท ผมได้เรียนถามคุณหมอด้านพิษวิทยาโดยตรง ท่านตกใจมาก บอกว่าการเอาแมงกานีสมาบดละเอียดแล้วกองไว้บนพื้นดิน ในทางปฏิบัติไม่ควรทำ แต่ที่นี่ทำแล้ว”
ด้านสำนักนโยบายส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน หรือ BOI ซึ่งได้ยกเว้นภาษีนิติบุคคลให้เหมืองทองคำพิจิตรมา ๑๖ ปีนับตั้งแต่เปิดเหมืองเพื่อส่งเสริมการลงทุน ก็เล็งเห็นถึงประเด็นที่นำไปสู่การปรับเปลี่ยนนโยบาย กฤษฎา เวชวิทยาขลัง นักวิชาการส่งเสริมการลงทุนระดับชำนาญการพิเศษจาก BOI ชี้แจงว่า
“ที่ผ่านมาเรามองว่าทรัพย์ในดินควรจะดึงมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด แต่เมื่อมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า ทางสำนักงานเลยเปลี่ยนแปลงนโยบายส่งเสริมการลงทุน เราได้ยกเลิกการสนับสนุนกิจการการทำเหมืองทองคำแล้ว มีผลตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม ๒๕๕๘ โดยจะไม่ให้การส่งเสริมการลงทุนการทำเหมืองทองคำรวมถึงกิจการการแต่งแร่ทองคำด้วย ปัจจุบันนโยบายของ BOI เน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มทางการเกษตร ยกระดับการผลิตทางการเกษตร การรักษาสิ่งแวดล้อม การใช้พลังงานทดแทน การประหยัดพลังงาน รวมถึงการใช้เทคโนโลยีในระดับสูง เช่นการวิจัยพัฒนา
“ผมก็เป็นคนไทยคนหนึ่งนะครับ ผมมองว่ากิจการใดที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมก็ไม่มีใครเขาอยากได้ เหมืองทองคำก็เช่นเดียวกัน”
เป็นเวลาหลายทศวรรษที่ไทยขายทรัพยากรโดยทิ้งผลกระทบไว้ให้ประเทศและประชาชนไทยแบกรับ ไม่ว่าจะเป็นความเสื่อมโทรมของธรรมชาติ การล้มป่วย ความเสียเปรียบทางเศรษฐกิจ ฯลฯ วันนี้โลกกำลังก้าวไปสู่ทิศทางใหม่ และไทยจะไม่ตกขบวนหากใช้องค์ความรู้ หลักฐานในอดีตที่ประจักษ์ชัด และความมีเหตุมีผลนำทาง