สุเจน กรรพฤทธิ์ : เรื่อง
* ผู้เขียนจำเป็นต้องใช้นามสมมุติเพื่อความปลอดภัยของผู้ให้สัมภาษณ์ที่ยังทำงานในพื้นที่ โดยเอ็นจีโอผู้นี้ติดตามประเด็นเกี่ยวกับสังคมใน สปป. ลาวมานานหลายทศวรรษ
ถ้าจะพูดถึงประวัติศาสตร์การทำงานขององค์กรไม่แสวงกำไรใน สปป. ลาว อาจเริ่มต้นในทศวรรษที่ ๑๙๘๐ เวลานั้นรัฐบาลลาวต้องการให้องค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) เข้าไปทำงานเพื่อพัฒนาประเทศ แต่ก็ไม่มีงบประมาณ พอเวลาผ่านไป รายได้มีมากขึ้น รัฐบาลก็กังวลเรื่องที่เอ็นจีโอทำ ว่าอาจนำพาสิ่งที่ตนไม่ชอบเข้าไปด้วย เช่น ประชาธิปไตย ศาสนาคริสต์
“ผมเริ่มเข้ามาทำงานในปลายทศวรรษ ๑๙๘๐ ก่อนหน้านั้นทำเรื่องผู้ลี้ภัยชาวกัมพูชาและเวียดนามที่กรุงเทพฯ พนมเปญ เคยทำงานกับชาวม้ง สมัยนั้นมีเอ็นจีโอทำงานอยู่ใน สปป. ลาว ๕ คน ตอนนี้ (ค.ศ. ๒๐๑๕) มี ๑๕๐ คน และคนลาวไม่ค่อยออกไปนอกประเทศ มีนักเรียนไปเรียนต่อต่างประเทศบ้าง แต่จำนวนน้อยมาก หลายประเด็นน่าสนใจศึกษา ไม่ว่าจะเรื่องสถาบันครอบครัว ประเพณีวัฒนธรรม หลายคนก็พยายามทำเรื่องสิทธิมนุษยชน พออยู่นานผมเห็นเอ็นจีโอหลายคนมาแล้วไป น้อยที่จะอยู่จนเห็นความเปลี่ยนแปลง องค์กรของผมมีอาสาสมัครมาทำงานด้วย แต่ก็มีปัญหาเรื่องคนต่างชาติที่ไม่เข้าใจสังคมลาว
“ถ้าคุณจะทำงานเอ็นจีโอที่นี่ ต้องเข้าใจว่าในลาวเปลี่ยนแปลงรัฐบาลไม่ได้ เปลี่ยนโครงการพัฒนาไม่ได้ ทำได้แค่ภารกิจที่รัฐบาลต้องรับรู้ นั่นเป็นเหตุผลที่หลายคนตั้งออฟฟิศนอกเมืองหลวงเพื่อจะทำงานกับภาคเอกชนและชุมชนโดยตรง งานเอ็นจีโอในลาวละเอียดอ่อนและสุ่มเสี่ยง ตัวอย่างชัดเจนคือ กรณีการอุ้ม สมบัด สมพอน นักพัฒนาชาวลาว ทั้งที่เขาระมัดระวังตัวและตั้งใจทำงานมาก เขาแข็งขืนเพียงนิดก็ถูกทำให้หายตัวไป ผลคือเอ็นจีโอในลาวก็ยิ่งทำงานยากขึ้น หลายคนเลิกทำงานที่นี่ เปลี่ยนชื่อองค์กรก็มี เพื่อป้องกันตัว ทุกอย่างต้องระวังมากขึ้น
“เอ็นจีโอทุกแห่งในลาวมีวิธีการทำงานคล้ายกัน คือจะติดต่อกับคนในพื้นที่โดยตรง หรือจ้างคนมาทำงานให้ จริง ๆ รัฐบาล สปป. ลาวต้องการเงินจากพวกเรามากกว่าจะให้ลงพื้นที่ทำงาน โดยรัฐบาลมักจะเสนอสัญญา เลือกสถานที่และจำนวนเงินที่จะนำไปพัฒนาให้เสร็จสรรพ งานที่เราทำได้จึงมักเป็นเรื่องพื้นฐานอย่างการสร้างโรงเรียน สร้างห้องสมุด ซึ่งส่งผลโดยตรง
ต่อชุมชน และเราพยายามตัดขั้นตอนทางการเมืองออกไปให้มากที่สุด อย่างไรก็ตามผมพยายามใช้วิธีพบปะกับผู้คนธรรมดามากกว่าเจ้าหน้าที่รัฐ เพราะต้องเข้าใจว่าการทำเอกสารและติดต่อราชการนั้นมีการจ่ายเงินนอกระบบ บางทีขอกันตรง ๆ ก็มี
“ผมพูดได้ว่าเรื่องคอร์รัปชันเกิดขึ้นเป็นปรกติในระบบรัฐของลาว ผมคิดว่าเราต้องเปลี่ยนวัฒนธรรมนี้ด้วยการให้การศึกษาขั้นพื้นฐานแก่คนทั่วไป เพราะเดิมวัฒนธรรมของคนลาวนั้นไม่นิยมการถกเถียง ยอมรับโชคชะตา มีพื้นที่ของตัวเอง ไม่กังวล ไม่หวังสูง ไม่มีแผน การทำงานทางความคิดยังมีน้อย ต่างจากสังคมตะวันตกที่จะมองไปถึงอนาคต ปัญหาใหญ่ของสังคมลาวตอนนี้คือการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะพื้นที่ติดชายแดนไทยเพราะมีถนนเข้าถึงจากฝั่งไทย แม้หลายหมู่บ้านในลาวจะห่างไกล แต่รถบรรทุกสินค้าจำนวนมากที่เดินทางระหว่างจีน ลาว ไทย และเวียดนาม ก็ผ่านหมู่บ้านเหล่านั้น ตอนนี้ยังเกิดชุมชนชาวจีนหลายแห่งในลาว มีเม็ดเงินจำนวนมากไหลเข้าประเทศ แต่กลับไม่มีงานสำหรับคนลาว และผู้ที่ได้เงินคือรัฐบาล
“ทุกวันนี้มีนักท่องเที่ยวในลาวจำนวนมาก คนลาวส่วนใหญ่ยังคงทำงานในท้องถิ่น บางพื้นที่ห่างไกลความเจริญ ไม่มีไฟฟ้า แม้พวกเขาจะมีทีวีก็ตาม หลายคนไม่เคยออกนอกประเทศ สิ่งที่เปลี่ยนไปคือพวกเขารับประวัติศาสตร์แห่งชาติเข้าสู่วิธีคิด ที่น่าสนใจคือมีเรื่องเจ้าและชนชั้นสูงปะปนอยู่ด้วย ถ้าเราไปหลวงพระบางจะเห็นบรรยากาศของอดีตอาณานิคมฝรั่งเศสมากกว่าวิถีแบบลาว คนลาวรุ่นใหม่มีการศึกษาสูงขึ้น แต่คนที่มีโอกาสก็อยู่ในเมืองใหญ่ ในชนบทยังขาดโรงเรียน หลายครอบครัวโดยเฉพาะชนกลุ่มน้อย (ลาวเทิง ลาวสูง) เข้าใจแล้วว่าการเรียนภาษาลาวจะทำให้เข้าถึงโอกาสมากขึ้น พวกเขาจึงจากชนบทเดินทางเข้าเมือง มาทำงาน มาเรียน ในอนาคตประชาคมอาเซียน (ASEAN Community) อาจก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงมากขึ้นอีกจากการเคลื่อนย้ายผู้คน”