สิทธา เลิศไพบูลย์ศิริ*
ปลาย ค.ศ. ๒๐๑๕ ผมเดินทางกลับมาเลเซียเพื่อพบปะเพื่อนสมัยเรียนมหาวิทยาลัย ช่วงนั้นตรงกับวันหยุดยาว “ฮารีรายอ” ถนนทุกสายและรถไฟทุกขบวนจึงแน่นถนัดตา สถานี KL Sentral ศูนย์กลางคมนาคมทางรางของกัวลาลัมเปอร์แทบไม่มีที่เดินเพราะผู้คนต่างรอรถไฟเดินทางกลับภูมิลำเนา
“Balik Kampung oh oh…Hati girang” [กลับบ้านเกิด โอ้ หัวใจ (ฉัน) เบิกบาน] บางท่อนบางตอนของ “Balik Kampung” เพลงดังที่จะได้ยินตลอดเวลาในพื้นที่สาธารณะช่วงวันหยุดยาว เนื้อหาเพลงกล่าวถึงความสุขที่บ้านเกิด ซึ่งผู้ร้องรอคอยจะได้กลับไปพบอีกครั้ง เพลงนี้ทำให้หลายคนคิดถึงบ้าน คิดถึงเจ้าของเสียงผู้ล่วงลับ สุดีร์มาน อาร์ชัด (Sudirman bin Arshad)
สุดีร์มานเป็นนักร้องในตำนานของมาเลเซียผู้โด่งดังระดับทอปของประเทศ กล่าวได้ว่านอกจาก P.Ramlee ศิลปินชื่อดังของมาเลเซีย สุดีร์มานเป็นอีกชื่อที่ผู้คนพูดถึงรองลงมา ซึ่งมีทั้งสีสันและเป็นปรากฏการณ์ของสังคมมาเลเซีย
สุดีร์มานเกิดวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๑๙๕๔ สามปีก่อนมาเลเซียได้รับเอกราชจากอังกฤษ เขาจบการศึกษาด้านนิติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยมาลายา (University of Malaya) เริ่มต้นเส้นทางนักร้องช่วงกลางทศวรรษ ๑๙๗๐ โดยคว้ารางวัลประกวดร้องเพลงระดับท้องถิ่นและระดับชาติจากเวทีประกวดที่จัดโดยช่อง RTM และ TV3 สถานีโทรทัศน์หลักของประเทศ
สุดีร์มานเป็นทั้งนักร้อง นักแต่งเพลง นักแสดง คอลัมนิสต์ และผู้ประกอบการ ไม่ว่าบทบาทใดเขามีวิญญาณเอนเตอร์เทนเนอร์ที่ยากจะหาใครเทียบ ต่างประเทศรู้จักเขาในฐานะนักร้องชั้นนำมาเลเซียที่ชนะการประกวด Asia Music Awards 1989 ณ Royal Albert Hall กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ การแข่งขันนี้มีนักร้องชั้นนำจากเอเชียเข้าร่วม เช่น Leslie Cheung (ฮ่องกง) Kuh Ledesma นักร้องสาวราชินีเพลงป็อป (ฟิลิปปินส์) อัญชลี จงคดีกิจ (ไทย) ฯลฯ ความสำเร็จดังกล่าวทำให้เส้นทางนักร้องของเขาขึ้นสู่จุดสูงสุดเมื่อออกอัลบัมร่วมกับ Stock Aitken Waterman กลุ่มโปรดิวเซอร์ชื่อดังของอังกฤษ
ด้วยบุคลิกแห่งคนบันเทิงทำให้โชว์ของเขาโดดเด่นทั้งอุปกรณ์ ฉาก พลอตการแสดง มีคนเปรียบว่าเขาคือ Elvis Presley บ้างก็ว่าคือ Michael Jackson แห่งมาเลเซีย สิ่งที่พิเศษกว่านักร้องคนอื่นในมาเลเซียคือเขาเข้าถึงแฟนเพลงทุกชาติพันธุ์ในประเทศ สุดีร์มานร้องเพลงและพูดได้หลายภาษา ทั้งมลายู จีน และทมิฬ การหยอกล้อ การเชื้อเชิญแฟนเพลงขึ้นมาร่วมสนุกบนเวทีเป็นภาพจำเมื่อนึกถึงสุดีร์มานในฐานะศิลปินที่เข้าถึงความหลากหลายของแฟนเพลงมาเลเซีย
ค.ศ. ๑๙๘๖ สุดีร์มานทำสิ่งที่คนมาเลเซียตื่นตะลึงโดยเนรมิต Chow Kit ถนนในกรุงกัวลาลัมเปอร์เป็นที่แสดงคอนเสิร์ต ผู้ชมกว่า ๑ แสนคน เป็นจำนวนที่ไม่เคยปรากฏในคอนเสิร์ตมาเลเซีย มองในมิติสังคมและเศรษฐกิจ ถนนสายนี้คือที่อยู่ของผู้ใช้แรงงานหลากเชื้อชาติ (กระทั่งปัจจุบันก็เป็นย่านที่อยู่อาศัยของแรงงานจำนวนมากจากอินโดนีเซียและแอฟริกา)
คอนเสิร์ตนี้เป็นจุดเปลี่ยนชีวิตศิลปินของเขา หนึ่งในเพลงโด่งดังที่สุดชื่อว่า “Chow Kit Road” เป็นที่จดจำและนำเสนอภาพความหลากหลายของผู้คน ที่ไม่ว่ามาจากไหนต่างก็ตามหาฝัน หาอนาคตที่ดีกว่าในเมืองหลวง ดังเพลงท่อนหนึ่งว่า “Kita tiada beza : sama mengejar cita-cita, dahaga belai kasih sayang cinta” หรือ “เราไม่ต่างกัน เราต่างตามล่าหาฝัน เราต่างปรารถนาซึ่งความรัก”
สังคมมาเลเซียช่วงทศวรรษ ๑๙๘๐ และ ๑๙๙๐ ใช้ประเด็นชาติพันธุ์เพื่อเป้าหมายทางการเมืองหลังนโยบายเศรษฐกิจใหม่ (new economic policy – NEP) ที่ดำเนินมาตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๗๐ นั้นส่งผลเป็นรูปธรรม ตามนโยบายอันเกิดจากข้อสรุปหลังเหตุการณ์จลาจลทางเชื้อชาติ ค.ศ. ๑๙๖๙ ซึ่งรัฐบาลต้องการสร้างความเท่าเทียมและลดความยากจนในมาเลเซีย
การขับเคลื่อนนโยบายโดยให้สิทธิพิเศษแก่คนพื้นถิ่นหรือ “ภูมิบุตร” (ส่วนใหญ่เป็นชาวมาเลย์) เพื่อยกระดับความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจระหว่างชาติพันธุ์ ก่อให้เกิดผลข้างเคียงคือรอยปริแยกทางความรู้สึกระหว่างชาติพันธุ์ ศาสนา การแยกกันอยู่ แยกกันดู แยกกันกิน แยกกันฟัง ฯลฯ กลายเป็น “เรื่องปรกติ” ในมาเลเซีย นอกจากนี้ยังมีนโยบายอื่น ๆ ที่ทำให้การแยกส่วนระหว่างผู้คนต่างเชื้อชาติเด่นชัดขึ้น
สุดีร์มานคือนักร้องคนสุดท้ายที่เป็นขวัญใจคนทุกชาติพันธุ์อย่างแท้จริง หลังยุคของเขา ตลาดเพลงข้ามภาษาชาติพันธุ์ต่าง ๆ ในมาเลเซียขยายตัวน้อย กลุ่มคนฟังจะสังกัดชาติพันธุ์เดียวกับศิลปิน เช่น เพลงภาษามาเลย์กลุ่มคนฟังก็จำกัดอยู่ในแฟนเพลงมาเลย์ ขณะที่ตลาดเพลงภาษาจีนมีลักษณะข้ามพรมแดน ขยายไปถึงจีน ไต้หวัน ฮ่องกง และสิงคโปร์ ตลาดเพลงภาษาทมิฬและฮินดียึดโยงอยู่กับบอลลีวูดและอุตสาหกรรมเพลงในอินเดีย
ที่น่าสนใจคือตัวตนทางเพศของสุดีร์มาน เขาเคยแต่งงานกับหญิงสาวคนหนึ่ง แต่ก็เลิกรากันไป ด้วยลักษณะที่เข้าถึงคนทุกเพศ เขาจึงมีแม่ยกมาก มีข่าวลือว่าเขารักเพศเดียวกัน เป็นเหตุให้มักถูกกลุ่มอิสลามอนุรักษนิยมต่อต้านอยู่เนือง ๆ แม้เขาจะไม่เคยประกาศเรื่องรสนิยมทางเพศ ถึงแม้สังคมมาเลเซียไม่เปิดพื้นที่ให้ความหลากหลายทางเพศมากนัก ทว่าโดยรวมกลับมองข้ามตัวตนทางเพศของสุดีร์มาน
สุดีร์มานเสียชีวิตในวัย ๓๗ ปี หากยังมีชีวิตอยู่ วันนี้เขาจะมีอายุ ๖๑ ปี ช่วงครบรอบ ๒๐ ปีของการเสียชีวิต ในมาเลเซียมีการรำลึกถึงเขาโดยนักร้องรุ่นหลังนำเพลงของสุดีร์มานมาร้องใหม่ หลายเพลงยังเป็นอมตะ เพลงของเขายังคงดังก้องอยู่ในใจคนจำนวนมาก สิ่งหนึ่งที่เปลี่ยนไปคือ แฟนเพลงรุ่นหลังที่ฟังเพลงของเขาอาจจำกัดเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์ ไม่ครอบคลุมทุกกลุ่มเหมือนครั้งที่เขายังมีชีวิต สาเหตุการเสียชีวิตอันคลุมเครือจากโรคร้ายยังคงทำให้ตัวตนทางเพศของสุดีร์มานเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง
ณ ชานชาลา KL Sentral รถไฟใกล้ออกแล้ว ผมนึกถึงเรื่องของสุดีร์มานอยู่คนเดียว เสียบหูฟังใส่หู แล้วกด play จู่ ๆ ลุงคนหนึ่งก็มองมา ถามเป็นภาษามลายูว่า “ฟังเพลงอะไร” ผมตอบไปว่า “เพลงของสุดีร์ (มาน)” ลุงทำหน้างงแล้วพูดว่า “หน้าจีน ๆ อย่างคุณฟังเพลงสุดีร์ (มาน) ด้วย ??”
ผมยิ้มเจื่อน ๆ แล้วเดินจากลุงเข้าประตูรถไฟ
“สุดีร์มานยังเหมือนเดิม แต่มาเลเซียของเขาเปลี่ยนไป”
เชิงอรรถ
*จบการศึกษาปริญญาตรีจากโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และปริญญาโทจาก Asia-Europe Institute, University of Malaya เป็นผู้ก่อตั้งกลุ่มศึกษาภาพยนตร์อาเซียน ที่รู้จักกันดีในเมืองไทยว่า “Film Kawan”