ภัควดี วีระภาสพงษ์
แม้จะเป็นประเทศโลกที่ ๓ แต่เม็กซิโกก็เช่นเดียวกับประเทศประชาธิปไตยส่วนใหญ่ที่มีการกระจายอำนาจการปกครองท้องถิ่นอย่างมาก ทว่ากรุงเม็กซิโกซิตีกลับตรงกันข้าม เนื่องจากรัฐธรรมนูญกำหนดให้เมืองหลวงต้องอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลกลางซึ่งก้าวก่ายการปกครองท้องถิ่นของเม็กซิโกซิตีได้มากกว่า เช่น เป็นผู้ตัดสินใจขั้นสุดท้ายในการคัดเลือกผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ขณะตำรวจรัฐอื่น ๆ อยู่ภายใต้การกำกับโดยตรงของผู้ว่าการรัฐซึ่งมาจากการเลือกตั้ง
ชาวเม็กซิโกซิตีใช้เวลาหลายทศวรรษเรียกร้องความเป็นอิสระจากรัฐบาลกลาง เพิ่งปีนี้เองที่มีการผ่านกฎหมายให้อิสระในระดับหนึ่งแก่นครหลวงที่มีประชากร ๙ ล้านคน และมีผู้อยู่อาศัยประมาณ ๒๐ ล้านคน รัฐบาลกลางและรัฐสภาของเม็กซิโกยังคงอำนาจควบคุมไว้ด้วยการกำหนดให้ผู้แทนสภาเมืองเม็กซิโกซิตีมาจากการเลือกตั้งแค่ร้อยละ ๖๐ ส่วนที่เหลือจะแต่งตั้งโดยประธานาธิบดี รัฐสภา และนายกเทศมนตรี
ขณะที่รัฐต่าง ๆ ในประเทศมีสภาและธรรมนูญของตัวเองมานานแล้ว แต่เม็กซิโกซิตีเพิ่งมีโอกาสได้ร่างธรรมนูญเป็นครั้งแรก นายกเทศมนตรี มีเกล อันเคล มันเซรา เอสปีโนซา (Miguel Ángel Mancera Espinosa) ไม่ปล่อยให้โอกาสนี้ผ่านไป เขาประกาศให้มีการทดลองร่างธรรมนูญออนไลน์เพื่อให้ชาวกรุงมีส่วนร่วมมากที่สุด นายกเทศมนตรีมันเซราเป็นผู้เดียวที่มีอำนาจเสนอร่างธรรมนูญต่อสภา แต่สภาก็ไม่มีข้อผูกมัดว่าจำเป็นต้องมีมติรับรองร่างธรรมนูญเมืองหลวง กระนั้นมันเซราก็ไม่ท้อถอยที่จะทดลองทางการเมืองและเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมร่างกฎหมาย เขามองว่าอย่างน้อยนี่ก็เป็นการริเริ่มแนวทางประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือที่พยายามดึงประชาชนให้มีส่วนร่วมมากที่สุด
การมีส่วนร่วมในระบอบประชาธิปไตยเป็นข้อกังวลที่มีมาตั้งแต่สมัยกรีก ชาวกรีกโบราณเคยวิตกว่าถ้าประชากรขยายตัวมากเกินไปจนพลเมืองร่วมตัดสินใจโดยตรงไม่ได้ การปกครองนครรัฐจะกลายเป็นการปกครองที่ไม่ดี ยิ่งสมัยนี้เขตการปกครองขยายใหญ่ขึ้น วิถีชีวิตซับซ้อนขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อประชาชนมีส่วนร่วมโดยตรงไม่ได้ก็จะเกิดความเบื่อหน่ายต่อระบอบประชาธิปไตย
ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสารสนเทศในปัจจุบัน จึงเริ่มนำมาใช้ปรับปรุงระบอบประชาธิปไตยตัวแทนให้ดียิ่งขึ้น แต่ความพยายามนี้ก็อยู่ในขั้นเริ่มต้น ประเทศไอซ์แลนด์ซึ่งมีประชากรน้อยกว่าเมืองเม็กซิโกซิตีประมาณ ๒๗ เท่า เคยทดลองใช้วิธี crowdsourcing ในการร่างรัฐธรรมนูญ แต่ล้มเหลวเพราะรัฐสภาไม่ยอมรับ ประเทศที่ประสบความสำเร็จก็มีเช่นฟินแลนด์ ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งเสนอกฎหมาย รวมทั้งตั้งเงื่อนไขว่ารัฐสภาต้องปฏิบัติต่อข้อเสนอกฎหมายของพลเมืองเท่าเทียมกับนักการเมือง โดยการล่ารายชื่อออนไลน์ทำผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่รัฐบาลให้การรับรอง นับตั้งแต่เริ่มใช้โครงการนี้ในปี ๒๕๕๕ มีการผ่านกฎหมายที่เสนอด้วยวิธีนี้แล้วหนึ่งฉบับ นอกจากนี้ชุมชนเล็ก ๆ ในสหรัฐอเมริกาหลายแห่งก็ใช้วิธีการนี้สำเร็จเช่นกัน
กระบวนการร่างธรรมนูญ ๒.๐
คำว่า crowdsourcing ยังไม่มีศัพท์บัญญัติในภาษาไทยอย่างเป็นทางการ บ้างแปลว่า “ปัญญารวมหมู่” บ้างแปลว่า “การถ่ายโอนงานให้มวลชน” (โดยแปลเทียบกับ outsourcing) ผู้เขียนคิดว่าคำแรกแปลตรงความกว่า เพราะกระบวนการนี้เชื่อว่ามวลชนทุกระดับการศึกษาเป็นผู้มีความรู้และภูมิปัญญา เมื่อนำความรู้ของมวลชนมารวมกัน จะก่อให้เกิดภูมิปัญญาระดับเหนือกว่าผู้เชี่ยวชาญ อีกทั้งมีความเป็นประชาธิปไตยในการสร้างภูมิความรู้ด้วย กระบวนการ crowdsourcing คือการสั่งสมข้อมูลความรู้จากคนกลุ่มใหญ่โดยเฉพาะชุมชนออนไลน์ ผลลัพธ์จากวิธีนี้ที่ประสบความสำเร็จซึ่งเราแทบทุกคนรู้จักกันดีคือเว็บไซต์วิกิพีเดีย นอกจากนี้เฟซบุ๊กก็อาศัยวิธีดังกล่าวสร้างเว็บไซต์ในภาษาต่าง ๆ หรือโครงการ OpenStreetMap ก็ได้แรงบันดาลใจจากวิกิพีเดียในการสร้างแผนที่โลกที่มีข้อมูลลึกหลายชั้น
เม็กซิโกซิตีระดมความคิดเห็นของประชาชนในการร่างธรรมนูญโดยผสมผสานหลายรูปแบบ ช่องทางแรกคือทำแบบสอบถามออนไลน์ ๒๐ คำถาม เพื่อเปิดโอกาสให้ชาวเมืองและผู้มาเยือนแสดงความคิดเห็นว่า อะไรคือปัญหา ความท้าทาย โอกาสและวิสัยทัศน์สำหรับอนาคตของเมืองหลวงนี้ ช่องทางที่ ๒ คือการใช้เว็บไซต์ Change.org ให้ประชาชนเขียนข้อเสนอที่ตนต้องการในธรรมนูญฉบับใหม่ และเปิดให้ผู้เห็นด้วยลงคะแนนเสียงสนับสนุน ช่องทางที่ ๓ สำหรับประชาชนที่ไม่ได้ใช้อินเทอร์เน็ต เทศบาลจัดตั้งหน่วยเคลื่อนที่ ๓๐๐ หน่วยทั่วเมือง สำหรับให้ชาวเมืองทุกคนทำแบบสอบถามหรือเขียนข้อเสนอโดยมีเจ้าหน้าที่ให้คำแนะนำ
การโน้มน้าวให้ชาวเมืองเม็กซิโกซิตีสนใจโครงการและเต็มใจมีส่วนร่วมนี้เป็นแค่ก้าวแรกเท่านั้น ภารกิจต่อจากนั้นเริ่มซับซ้อนมากขึ้น กล่าวคือการจัดหมวดหมู่ความคิดเห็นและข้อเสนอร้อยแปดให้เข้าใจง่ายและมีเหตุผล ข้อมูลจากแบบสำรวจความคิดเห็นนั้นจัดการง่าย ทำเป็นกราฟและแผนภูมิได้ทันที รวมทั้งแสดงการเปลี่ยนแปลงตามข้อมูลที่รับเข้ามาใหม่ ส่วนที่ยากคือข้อเสนอและความคิดเห็นหลายพันชิ้นในเว็บไซต์ Change.org ที่ต้องนำมาประมวลอีกที
นายกเทศมนตรีมันเซราก่อตั้งคณะกรรมการร่างธรรมนูญที่มีสมาชิก ๒๗ คน ประกอบด้วยกลุ่มคนหลากหลายสาขาอาชีพ เช่น นักการเมือง นักสิทธิมนุษยชน นักข่าว นักวิชาการ มีแม้กระทั่งนักกีฬาเหรียญทองจากพาราลิมปิกเกมส์ ข้อเสนอและความคิดเห็นจะจัดแบ่งเป็น ๑๘ หมวดหมู่ เช่น ประชาธิปไตยทางตรง ความโปร่งใส สิทธิทางเศรษฐกิจ สิทธิสัตว์ สิ่งแวดล้อม ฯลฯ แล้วจัดลำดับตามจำนวนคะแนนเสียง คณะร่างธรรมนูญจะได้รับรายงานสรุปข้อเสนอของพลเมืองทุกสัปดาห์ พลเมืองที่เขียนข้อเสนอบนเว็บไซต์ Change.org และได้รายชื่อสนับสนุนเกิน ๑ หมื่นรายชื่อจะได้เข้าพบและนำเสนอต่อคณะกรรมการร่างธรรมนูญสามคน หากใครได้รายชื่อสนับสนุนเกิน ๕ หมื่นรายชื่อจะได้เข้าประชุมกับคณะกรรมการทั้งคณะ
กลไกที่ซับซ้อนขึ้นอีกขั้นคือการใช้ PubPub ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มเผยแพร่เอกสารคล้าย Google Docs คณะร่างธรรมนูญจะแปะบทความที่อธิบายประเด็นต่าง ๆ ในธรรมนูญ และขั้นสุดท้ายคือแปะร่างธรรมนูญทั้งฉบับเมื่อร่างเสร็จ คณะกรรมการหรือผู้ได้รับมอบหมายเท่านั้นที่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงเอกสารต้นฉบับ ประชาชนที่เข้ามาอ่านจะแสดงความคิดเห็นและแก้ไขข้อความในธรรมนูญได้บนบานหน้าต่างด้านข้างซึ่งจะมีลิงก์เชื่อมโยงไปถึงข้อความส่วนที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้จะมีการบันทึกการแก้ไขร่างเพื่อให้ทุกคนติดตามได้ว่าข้อเสนอแนะใดที่ได้รับความเห็นชอบบรรจุในร่าง อีกทั้งประชาชนยังลงคะแนนเสียงสนับสนุนหรือคัดค้านความคิดเห็นต่าง ๆ หรือแปะบทความของตัวเองได้ด้วย
กระบวนการข้างต้นเริ่มดำเนินการเมื่อปลายเดือนมีนาคมและจะเก็บรวบรวมข้อเสนอจนถึงวันที่ ๑ กันยายน คณะกรรมการร่างธรรมนูญจะมีเวลาถึงกลางเดือนสิงหาคมเพื่อเสนอร่างที่เสร็จสมบูรณ์แก่สภาซึ่งจะลงคะแนนเสียงเห็นชอบในปลายเดือนมกราคม ๒๕๖๐
ชาวเมืองเม็กซิโกซิตีต้องการอะไรในร่างธรรมนูญฉบับใหม่ ?
แม้อยู่ในช่วงต้นของการรวบรวมความคิดเห็นและยังเร็วเกินไปที่จะสรุปว่าข้อเสนอใดบ้างที่ได้รับความเห็นชอบมากที่สุด แต่เราก็น่าจะดูตัวอย่างสักเล็กน้อยว่าชาวเมืองเม็กซิโกซิตีสนใจประเด็นอะไรบ้าง
เพียงช่วง ๓ สัปดาห์หลังเปิดโครงการ เว็บไซต์ Change.org รวบรวมคำร้องที่มีคะแนนเสียงสนับสนุนเกิน ๑ หมื่นรายชื่อได้ ๒๐๐ คำร้อง ประเด็นที่ได้รับการสนับสนุนมาก เช่น ลดเงินเดือนข้าราชการจัดประเภทข้าราชการเป็นผู้ให้บริการประชาชน ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ ประเด็นสิทธิสัตว์ คุ้มครองสัตว์เลี้ยงที่ถูกทอดทิ้ง สั่งห้ามการมีสวนสัตว์และการแข่งขันวัวชน ประเด็นพื้นที่สีเขียวก็ได้รับความสนใจมาก ข้อเสนอที่ได้รับเสียงสนับสนุนเกินหมื่นคือเมืองเม็กซิโกซิตีต้องจัดสรรพื้นที่สีเขียวอย่างน้อย ๙.๒ ตารางเมตรต่อประชากรหนึ่งคน กลุ่มคนชายขอบ
จำนวนมาก เช่น LGBT ผู้พิการ ชาวพื้นเมือง ผู้หญิง ต่างก็ใช้โอกาสนี้ยื่นข้อเสนอให้มีบทบัญญัติรับประกันสิทธิของตนเอง นอกจากนี้ก็มีประเด็นอื่น ๆ เช่น การสั่งห้ามขายอาหารขยะในโรงเรียน ลดอายุผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้ง เพิ่มจำนวนวันพักร้อนโดยได้รับค่าจ้าง
ใน PubPub ก็มีความเคลื่อนไหว สมาชิกคณะกรรมการร่างธรรมนูญคนหนึ่งเผยแพร่เอกสารวิชาการเกี่ยวกับกรอบกฎหมายที่เมืองเม็กซิโกซิตีควรนำมาใช้เพื่อคุ้มครองสิทธิมนุษยชน นักศึกษามหาวิทยาลัยนำเสนอบทความและเอกสารอีกประมาณ ๒๐ ชิ้นที่ยังรอการแก้ไขขัดเกลา
การทดลองให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างกว้างขวางของเม็กซิโกซิตีอาจล้มเหลวเช่นเดียวกับไอซ์แลนด์ แต่ความสำเร็จในโลกนี้ต้องมีความล้มเหลวนำทางมาก่อน ผู้สันทัดกรณีบางคนวิจารณ์ว่าโครงการนี้เป็นแค่ปาหี่เท่านั้น แต่บ้างก็มองเห็นข้อดีว่าทำให้ประชาชนตื่นตัว พูดคุยอภิปรายกัน และฝ่ายการเมืองต้องฟังเสียงประชาชนมากขึ้น อย่างน้อยที่สุดนายกเทศมนตรี มีเกล อันเคล มันเซรา ก็มีแนวคิดอยากจะ “ทำให้โครงการร่างธรรมนูญมีความเป็นประชาธิปไตย ก้าวหน้า เปิดกว้าง เป็นของประชาชน และมีความหลากหลาย”