จาก Bike Route สิบเส้นทางสุดฮิป
เรื่อง : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล
ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช, วิจิตต์ แซ่เฮ้ง
เขาหินเหล็กไฟ ประจวบคีรีขันธ์
พิกัด 12.565279, 99.935357 – 12.570682, 99.939780
ระยะทาง 1.2 km
ว่ากันว่าการขี่จักรยานขึ้นภูเขาเป็นเรื่องยากเย็นแสนเข็ญ แต่สิ่งที่ยากยิ่งกว่าและท้าทายสุด ๆ คือการขี่ลงจากเขา
เพราะการคุมจังหวะเบรกล้อหน้าและล้อหลัง การเอาชนะหัวโค้งที่หักมุม ๙๐ องศา การปล่อยตัวตามแรงดึงดูดของโลกโดยต้องคุมจักรยานไว้ไม่ให้พยศนั้นสุดจะท้าทาย
งานนี้คนคุมจักรยานหรือจักรยานคุมคน ยังพูดได้ไม่เต็มปาก
แล้วจะยิ่งยากขึ้นสักเท่าใด ถ้าทางลงจากเขาเป็นทางชัน ไม่ใช่ถนนลาดยาง เต็มไปด้วยกรวดหิน ต้นไม้จริง ๆ ผาหินแข็ง ไม่ได้ถูกปรุงแต่งขึ้นหรือปรุงแต่งน้อยสุดเท่าที่ทำได้
เส้นทางที่คนทั่วไปแค่ได้ยินก็คิดว่าโหด บ่ายหน้าหนี แต่คนกลุ่มหนึ่งบอกว่านี่แหละคือสิ่งที่ใช่ !
คนกลุ่มนั้นมีความสุขกับการขี่จักรยานลงจากเขาสูงชัน ทิ้งดิ่งด้วยความเร็วไม่จำกัด หลังจากบรรทุกจักรยานท้ายรถกระบะไต่ขึ้นเขาไม่ต่ำกว่า ๒๐-๓๐ นาที
แต่ขากลับใช้เวลาบนจักรยานเพียง ๒-๓ นาทีเท่านั้น !
ฐากูร เลาก่อสกุล เจ้าของร้านจักรยานเวโลหัวหิน (Velo Hua Hin) ติด Cicada Market อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบ-คีรีขันธ์ กล่าวถึงการบุกเบิกเส้นทางจักรยานดาวน์ฮิลล์ว่า “บนเขาหินเหล็กไฟมีเส้นทางที่เจ้าถิ่นทำไว้อยู่แล้ว แต่ไม่สูงนัก เพราะอุปสรรคของที่นี่คือไม่มีรถขับเคลื่อนสี่ล้อขึ้นไป พอเราย้ายบ้านจากกรุงเทพฯ มาเปิดร้านจักรยานที่หัวหิน ก็เริ่มชวนเพื่อนฝูงออกสำรวจเส้นทางใหม่ ขนจอบ มีด เสียม เครื่องไม้เครื่องมือขึ้นไปทำทางจักรยานวันละเล็กวันละน้อย พาพรรคพวกสองสามคนขึ้นไปช่วยกันบุกเบิก”
ฐากูรเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในรอบ ๔ ปีที่ผ่านมา ก่อนหน้านี้เขาเปิดร้านจักรยานที่ถนนสามเสน กรุงเทพฯ และสนใจจักรยาน
ดาวน์ฮิลล์ซึ่งแปลความหมายตรงตัวว่า “ลงเขา” มานาน
เมื่อมีเวลาว่างก็นำจักรยานขึ้นรถยนต์ไปขี่กับเพื่อนที่ชอบเหมือนกันตามต่างจังหวัด โดยเฉพาะเชียงใหม่ที่มีป่าเขามาก ให้รถขึ้นไปส่งบนยอดเขาแล้วขี่ลงมา
จนวันหนึ่งเขากลายเป็นผู้บุกเบิกทางจักรยานดาวน์ฮิลล์ที่หัวหิน
หนึ่งในเส้นทางที่ได้รับความนิยมของเขาหินเหล็กไฟ มีชื่อเรียกเล่น ๆ ว่าเส้น “ธารา” เริ่มต้นจากยอดเขาใกล้สถานีส่งสัญญาณของสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง ๗ ลัดเลาะผ่านดงหิน ป่าไผ่ แมกหมู่พรรณไม้ ถึงสำนักสงฆ์ภูธาราวาส คิดเป็นระยะทางตั้งแต่ยอดเขาสูง ๒๓๐ เมตรซิกแซกลงมาเกือบถึงตีนเขาประมาณ ๑.๒ กิโลเมตร
คนนอกอาจมองว่าเส้นทางสายนี้โหด เพราะมีจุดดรอป (drop) ทิ้งตัวเกือบ ๙๐ องศาอยู่ติดๆ กัน แต่ตามสายตาคนแบกเครื่องไม้เครื่องมือขึ้นมาทำทางยืนยันว่า “เราพยายามทำทางให้ขี่ได้ ทางที่เราเลือกพยายามให้มันง่าย ไม่ใช่ตั้งใจทำให้ยาก แต่ด้วยภูมิประเทศบางแห่งชันเหลือเกิน แล้วก้อนหินก็มาก”
ใครมาพบสภาพตามธรรมชาติของเขาหินเหล็กไฟคงเชื่อได้เลยว่าชื่ออำเภอหัวหินนั้นไม่ได้มาด้วยความบังเอิญเป็นแน่
นอกจากตำแหน่งดรอปและจัมป์ (jump) ชื่อเรียกตำแหน่งต่าง ๆ ยังสื่อความถึงลักษณะภูมิประเทศได้อย่างดี เช่น “หินลอย” ตรงนี้เหมือนมีก้อนหินเคลื่อนเข้าเพิ่มอยู่เรื่อย ส่วน “ดงหิน” นั้นก็มีหินมาก ขณะที่ “หินยักษ์” ก็เป็นหน้าผาหินลาดชันขนาดใหญ่
จักรยานที่ขี่บนดาวน์ฮิลล์นั้นมีลักษณะเฉพาะตัว มองดูภายนอกว่าล้อบึก แฮนด์กว้าง โช้กติดตั้งอยู่ทั้งตำแหน่งล้อหน้าและตัวถัง ที่สำคัญคือตะเกียบคู่หน้าออกแบบให้ลาดเอียง ๖๓-๖๔ องศา ต่างจากจักรยานประเภทอื่นที่เอียง ๗๒-๗๔ องศาเท่านั้น เพื่อ “ชดเชย” ส่วนต่าง หรือ “ทด” มุมคว่ำให้คนกับจักรยานขณะขี่บนทางลงเขาที่ลาดเท
คล้ายท่าเดินคนลงเขาที่ต้องจิกเท้าและพยายามขืนตัวไปข้างหลังไม่ให้หน้าทิ่ม
เจ้าสำนักเวโลหัวหินเล่าต่ออีกว่า เมื่อครั้งอาศัยอยู่กรุงเทพฯ เขาซ้อมขี่จักรยานดาวน์ฮิลล์โดยขี่จักรยานลงบันได สะพานลอยแห่งไหนได้ชื่อว่าชัน เดินลงบันไดยาก เขาต้องไปหา ไปพิสูจน์
ฐากูรบอกว่า “ที่กรุงเทพฯ ไม่มีภูเขา เราก็ต้องเล่นสไตล์นี้”
สิ่งสำคัญสำหรับการขี่จักรยานดาวน์ฮิลล์คือการวางตำแหน่งเพื่อรักษาสมดุลของร่างกาย
การทรงตัวบนจักรยานคือสิ่งสำคัญ
ทนงศักดิ์ จันทร์ตัง สิงห์ดาวน์ฮิลล์แห่งเขาหินเหล็กไฟอธิบายว่า “เพราะเรากำลังอยู่บนจักรยานที่ไม่ได้มั่นคงกับพื้น จึงต้องรู้จักทรงตัวเพื่อถ่วงมัน ตามปรกติความยากไล่ตามองศาความชัน สำหรับดาวน์ฮิลล์ไม่ได้ชันแล้วเรียบ ผ่านช่วงชันไปยังมีอุปสรรคอื่น ๆ ตามมาอีก ไม่ได้เรียบเหมือนขี่รถบนสะพาน ดังนั้นต้องเริ่มต้นฝึกจากง่าย ๆ ก่อน คือการลงที่ชันแค่ไม่กี่องศา แล้วก็ลงที่ชันซึ่งมีการกระแทกตามมา ให้รู้ว่าลงแล้วกระแทกนะ ไม่ใช่ไหลนิ่ม ๆ”
แม้จะมีช่วงพื้นราบ แต่คนขี่จักรยานดาวน์ฮิลล์เน้นยืนบนบันได ให้ก้นยื่นไปทางหลังอาน แอ่นตัวเชิดหน้าจักรยานไว้
“พอมีแรงกระแทกเราจะนั่งไม่ได้ ต้องยืน รู้จักการผ่อนแขนผ่อนขา สายตาก็ต้องมองไลน์ข้างหน้า มองทิศทางที่เราจะไป”
ทนงศักดิ์ ชายวัยทำงานที่ปรกติอาศัยฝากจักรยานไว้ที่ร้านแล้วนั่งรถตู้ตัวเปล่ามาขี่ดาวน์ฮิลล์ที่หัวหิน บอกว่าความยากที่สุดของการขี่จักรยานดาวน์ฮิลล์อยู่ที่ใจ
“ใจนี่อยู่ที่ความคุ้นเคยด้วยไง อย่างตอนเริ่มขี่จักรยานใหม่ ๆ ลงทางลาด ลงสะพาน เราก็รู้สึกไม่มั่นใจแล้ว ว่าเบรกจะต้องใช้แค่ไหน ล้อหน้าล้อหลังใช้เบรกยังไง แต่พอเราคุ้นกับการลงเนินธรรมดา ต่อไปลงเขาเราจะมั่นใจขึ้น ถึงบางจุดดูน่ากลัว แต่พอเราทำใจได้ว่า เฮ้ย ไปเว้ย โดด พอเราเริ่มมั่นใจมันก็ไปได้ ไม่ได้ยากอย่างที่คิด หลาย ๆ ครั้งอุปสรรคอยู่ที่ใจ”
ทนงศักดิ์สะท้อนรสชาติชีวิตของการขี่ดาวน์ฮิลล์จากประสบการณ์ของตัวเอง
“แล้วการขี่จักรยานดาวน์ฮิลล์นี่มันประหลาด เหมือนใช้ใจหรือตาเป็นตัวบังคับรถ คงเพราะจักรยานลงมาเร็ว ถ้าตาเรามองอะไร รถก็จะพุ่งไปหาสิ่งนั้น ตาเรามองต้นไม้รถก็พุ่งไปหาต้นไม้ทันที ตาเรามองก้อนหิน เฮ้ย ก้อนหินนี่น่ากลัว รถก็จะวิ่งไปหา ฉะนั้นต้องมองอะไรในด้านดี แล้วก็มองไปทางที่ไปได้ รถจักรยานของเราก็จะวิ่งไปตามนั้น”
ถ้ามองให้ลึกซึ้งกว่านั้น เขาว่าการขี่ดาวน์ฮิลล์ลงจากยอดเขานั้นยิ่งกว่าการนั่งสมาธิ
“เวลาเราขี่ลง ใจจะไม่คิดถึงอย่างอื่นเลย มีสมาธิกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า ลงมาถึงข้างล่างหัวเหอจะโล่งหมด คุณออกจากกรุงเทพฯ มีเรื่องงานเต็มหัว ลงจากเขาแล้วสบาย ไม่รู้สึกเมื่อยด้วยเพราะขยับตลอดเวลา อะดรีนาลีนที่หลั่งออกมาคงจะทำให้คนขี่ดาวน์ฮิลล์มีความสุข”
อึดใจเดียวเท่านั้นที่คุณมีโอกาสอยู่บนทางจักรยานดาวน์ฮิลล์ พ้นไปแล้วต้องเสียเวลาขนจักรยานใส่ท้ายรถ ขับขึ้นไปบนยอดเขา เพราะหัวใจของดาวน์ฮิลล์คือการขี่ลง ไม่ใช่ขี่ขึ้น
ทางจักรยานดาวน์ฮิลล์ไม่ได้ออกแบบให้ขี่ขึ้นหรือขี่บนพื้นราบ
ก็คงเหมือนความจริงบางด้านของชีวิต เมื่อขึ้นสู่จุดสูงสุด สิ่งที่ยากกว่าคือทำอย่างไรจะประคับประคองตัวลงมาโดยไม่บาดเจ็บมากนัก
รสชาติชีวิตเป็นอย่างไร ?
ความรู้สึกที่ต้องปล่อยวาง คิดเรื่องอื่นอีกไม่ได้ นอกจากไลน์หรือทางที่อยู่ตรงหน้า
นั่นอาจทำให้การขี่จักรยานดาวน์ฮิลล์นั้นน่าพิสูจน์
ติดต่อร้านเวโลหัวหิน ๐-๓๒๙๐-๐๓๙๒, ๐๘-๙๒๐๑-๗๗๘๒