เรื่อง : ภัสน์วจี ศรีสุวรรณ์
ภาพประกอบ : zembe

ppp.tif

 

นับวันคนทั่วโลกยิ่งใช้ชีวิตห่างไกลจากต้นไม้ โดยเฉพาะคนเมืองที่ตัดต้นไม้ทิ้งเพราะคิดว่ารก หรือนำที่ดินไปใช้ประโยชน์อื่น ดังนั้นเมื่อการก่อสร้างหรือความเจริญไปถึงที่ใด สิ่งที่จะถูกกำจัดเป็นอันดับแรก ๆ ก็คือต้นไม้นั่นเอง

ที่เป็นเช่นนี้อาจเป็นเพราะมนุษย์เราเชื่อว่าต้นไม้ให้ประโยชน์เฉพาะทางกายภาพเท่าที่ตามองเห็น เช่น ใช้สร้างบ้าน ทำกระดาษ และที่สำคัญส่วนใหญ่เชื่อว่าต้นไม้มีชีวิต แต่ไม่มีจิตใจ ทว่ามีคนส่วนน้อยที่ทั้งในอดีตและปัจจุบันยืนยันว่าต้นไม้มีชีวิตและจิตใจ และพวกเขาสามารถสื่อสารกับต้นไม้ได้

ปาโบล อามาริงโก (Pablo Amaringo) ศิลปินและพระหมอยาชาวเปรู ผู้มีชื่อเสียงด้านการปรุงยาจากพืชเพื่อเชื่อมโยงกับจิตวิญญาณเบื้องบนตามแบบฉบับของชาวอเมริกาใต้ และเป็นผู้เขียนบทนำหนังสือ จิตวิญญาณของพืชแบบลัทธิพระหมอยา : กลวิธีดั้งเดิมเพื่อเยียวยาจิตวิญญาณ (Plant spirit Shamanism : traditional techniques for healing the soul) บอกว่า ผู้คนอาจจะพูดว่าต้นไม้ไม่มีจิตใจ ต้นไม้อาจไม่พูด แต่พืชมีชีวิต ความรู้สึกนึกคิด และจิตวิญญาณ

หากต้นไม้พูดได้ คุณคิดว่าพวกมันบอกอะไรมนุษย์ เมื่อเร็ว ๆ นี้มูลนิธิโลกสีเขียวได้จัดเสวนา “จะเป็นอย่างไรถ้าเรามีเพื่อนร่วมงานเป็นต้นไม้” โดยเชิญ จูดี แมกอัลลิสเตอร์ (Judy McAllister) นักสื่อสารกับธรรมชาติจากชุมชนฟินด์ฮอร์น (Findhorn community) แห่งสกอตแลนด์ มาเล่าประสบการณ์การสื่อสารกับต้นไม้น้อยใหญ่ทั่วโลก เรื่องนี้ฟังดูลี้ลับและยากพิสูจน์ด้วยเครื่องไม้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ แต่กว่าครึ่งศตวรรษแล้วที่ชาวชุมชนฟินด์ฮอร์นปลูกกะหล่ำปลีดอกใหญ่ยักษ์บนผืนทรายแห้งแล้งลมแรงได้ และทุกวันนี้ที่ดินผืนนั้นกลายเป็นป่าผืนใหญ่และชุมชนทางเลือกที่เป็นจุดหมายปลายทางของนักปฏิบัติการและนักแสวงหาทางจิตวิญญาณทั่วโลก

คุณจูดีเล่าว่า เมื่อ ๑๐ ปีที่แล้วเคยเดินทางมาประเทศไทยและได้สื่อสารกับเทพแห่งข้าวในบ้านเรา ซึ่งมีความแตกต่างจากเทพแห่งพืชพรรณอื่น ๆ ที่เธอเคยสัมผัสมาทั่วโลก คือมีความเก่าแก่ แต่มีชีวิตชีวา และมีความผูกพันใกล้ชิดกับมนุษย์อย่างลึกซึ้ง

เธอบอกว่า ในบางช่วงตอนเทพแห่งข้าวร้องขอให้มนุษย์ไว้วางใจและเชื่อมั่น ว่าการสั่งสมคุณสมบัติเชิงพฤกษศาสตร์และพันธุศาสตร์มานับพันปีนั้นทำให้ข้าวมีศักยภาพที่จะปรับเปลี่ยนและข้ามสายพันธุ์โดยธรรมชาติเพื่อให้ได้ผลผลิตที่รุ่มรวยเกินกว่ามนุษย์จะจินตนาการ และสามารถเลี้ยงดูมนุษย์อย่างพอเพียง พูดอีกนัยหนึ่งก็คือเทพแห่งข้าวบอกว่า มนุษย์เราอยู่รอดโดยไม่จำเป็นต้องอาศัยเทคโนโลยีดัดแปรพันธุกรรมหรือจีเอ็มโอ

คุณผู้อ่านอาจรู้สึกแปลก ๆ เรื่องการสื่อสารกับต้นไม้ข้างต้น เพราะเราเติบโตมาในโลกที่ถูกวางรากฐานด้วยวิทยาศาสตร์ซึ่งเชื่อหลักเหตุและผลที่จับต้องและชั่งตวงวัดหรือมองเห็นด้วยตาเท่านั้น หากต้องการเหตุผลที่จับต้องได้ก็มีคนกลุ่มหนึ่งทำงานเพื่อพิสูจน์คุณประโยชน์ของต้นไม้ซึ่งมากกว่าราคาค่างวดของเนื้อไม้ชนิดที่คำนวณเป็นตัวเงินเลยทีเดียว

ล่าสุดทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยชิคาโกนำโดยนักจิตวิทยา โอมิด คาร์ดัน (Omid Kardan) ได้ทำงานกับข้อมูลชุดใหญ่ซึ่งประกอบด้วยชนิดและขนาดของต้นไม้ในเมืองโทรอนโต ประเทศแคนาดา จำนวน ๕.๓ แสนต้น เปรียบเทียบกับชุดข้อมูลสุขภาพโรคเกี่ยวกับหัวใจและโรคร้ายแรงอื่น ๆ เช่น ความดัน เบาหวาน โรคอ้วน มะเร็ง และข้อมูลเกี่ยวกับสภาพจิตใจของชาวโทรอนโตรวม ๓ หมื่นราย

ประเด็นที่น่าสนใจคือนักวิจัยสามารถเปรียบเทียบปริมาณต้นไม้กับสุขภาพ ความมั่งคั่ง และอายุขัยของคนที่อยู่อาศัยโดยรอบ ผลการศึกษาพบว่า ผู้อาศัยอยู่ในชุมชนที่มีต้นไม้หนาแน่นจะเป็นโรคเกี่ยวกับหัวใจน้อยกว่าผู้อยู่อาศัยในบริเวณต้นไม้เบาบาง ซึ่งจุดที่มีต้นไม้ริมถนนมากกว่า ๑๐ ต้นต่อบล็อกถนน คนที่อยู่รอบ ๆ จะมีสุขภาพดี เปรียบเทียบกับการเพิ่มรายได้ประจำปีของแต่ละคนได้ถึง ๑ หมื่นดอลลาร์สหรัฐ และทำให้ชุมชนโดยรอบมีรายได้เฉลี่ยเพิ่มขึ้น ๑ หมื่นดอลลาร์สหรัฐต่อปี หรืออ่อนกว่าวัย ๗ ปี และยังพบว่า หากเพิ่มต้นไม้อีก ๑๑ ต้นต่อบล็อกถนน จะทำให้คนที่อยู่รอบ ๆ มีรายได้เฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า ๒ หมื่นดอลลาร์สหรัฐต่อปี และมีอายุอ่อนกว่าวัยยิ่งขึ้นอีก ๑.๔ ปี

ppp.tifนักวิจัยบอกว่า เรื่องสุขภาพดูเป็นนามธรรมแตะต้องยาก เมื่อนำมาแปลงเป็นรูปธรรมจะเห็นภาพชัดเจนขึ้น และด้วยการศึกษาขนาดใหญ่ งานวิจัยนี้จึงมีพลังมาก แม้จะมีข้อสังเกตว่าโทรอนโตเป็นเมืองที่มีระบบสุขภาพดีอยู่แล้วก็ตาม แต่ก็มีเหตุผลรองรับว่าต้นไม้จะช่วยป้องกันการเจ็บป่วยและลดภาระค่ารักษาพยาบาล เพราะต้นไม้ช่วยปรับปรุงคุณภาพอากาศในเมืองด้วยการดึงโอโซน ฝุ่นละอองขนาดเล็ก และมลพิษอื่น ๆ จากอากาศไปสะสมไว้ที่ใบและลำต้น อีกทั้งการเดินเล่นภายใต้ร่มเงาต้นไม้ใหญ่ยังลดความเครียดและปัญหาทางจิตใจซึ่งจะส่งผลดีต่อร่างกายด้วย

“ผู้คนมักจะละเลยผลประโยชน์ทางจิตใจที่ได้จากสิ่งแวดล้อม แต่ผมคิดว่าการวิจัยแบบนี้ทำให้เราหันกลับมาฟื้นฟูมันอีกครั้ง”

เมื่อพูดถึงอิทธิพลที่ต้นไม้มีต่ออารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์ ในการวิจัยของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด สหรัฐอเมริกา โดยเก็บตัวอย่างคนที่อยู่ในเมืองและไม่เคยมีประวัติความผิดปรกติทางจิต แล้วแบ่งกลุ่มทดลองเป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งให้เดินในพื้นที่ธรรม-ชาติในเขตมหาวิทยาลัย อีกกลุ่มให้เดินตามถนนในเมืองที่รถราวิ่งวุ่นวาย หลังการเดินกลุ่มตัวอย่างทั้งสองจะตอบแบบสอบถามชุดเดียวกันซึ่งออกแบบมาให้ใช้ความคิดเกี่ยวกับเรื่องที่มักจะนำไปสู่การถูกกดดันและซึมเศร้า จากนั้นนำพวกเขาเข้าเครื่องสแกนสมอง พบว่ากลุ่มตัวอย่างที่เดินในสภาพธรรมชาติ สมองส่วนหน้าที่ทำงานเกี่ยวกับการใคร่ครวญจะทำงานน้อยลง ส่วนคนที่เดินริมถนนในเมือง สมองส่วนดังกล่าวทำงานเพิ่มขึ้นซึ่งทำให้เครียดมากขึ้น

นักวิจัยสรุปว่า เพียงแค่การเดินระยะสั้น ๆ ในธรรมชาติก็ช่วยลดรูปแบบความคิดที่เกี่ยวข้องกับความผิดปรกติทางจิตได้ พูดอีกอย่างคือ หากคุณอยากเป็นคนมีสุขภาพกายและใจดีก็ควรใช้ชีวิตใกล้ชิดกับต้นไม้ใบหญ้าให้มากขึ้น โดยหาโอกาสเดินเล่นในธรรมชาติวันละประมาณ ๙๐ นาที

ด้วยหลักฐานเชิงนามธรรมเรื่องการสื่อสารกับต้นไม้และหลักฐานเชิงรูปธรรมเรื่องการเปรียบเทียบคุณภาพชีวิตของคนที่อยู่แวดล้อมด้วยต้นไม้ น่าจะทำให้เราประจักษ์ยิ่งขึ้นว่าต้นไม้มีคุณประโยชน์ต่อมนุษย์มากกว่าที่คิด

…มาปลูกต้นไม้และใช้ชีวิตใกล้ชิดกับต้นไม้กันเถอะค่ะ