เรื่อง : สุเจน กรรพฤทธิ์
ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง
ตั้งแต่มีข่าวพระสงฆ์จำนวน ๘๐๐-๙๐๐ รูปชุมนุมบริเวณพุทธมณฑลและเกิดการกระทบกระทั่งกับทหารที่ป้องกันไม่ให้พระสงฆ์เข้าพื้นที่ในวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙ ประเด็น “พระ” ก็เป็นเรื่องที่สังคมไทยจับจ้องอีกครั้ง
ต่อมากลุ่มพระสงฆ์ดังกล่าวยื่นข้อเรียกร้องสี่ข้อต่อรัฐบาลทหาร คือ หนึ่ง ให้บรรจุพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ สอง ให้รัฐบาลและผู้เกี่ยวข้องเร่งสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ ๒๐ ทันที โดยให้เป็นไปตามวาระที่เหมาะสม สาม แสดงพลังให้พระบางรูปประจักษ์ สี่ แสดงออกถึงการปกป้องพระพุทธศาสนาจากภัยความมั่นคงและการคุกคามทางความเชื่อ การชุมนุมนี้สลายตัวลงในช่วงค่ำหลังจากพระเมธีธรรมาจารย์ เลขาธิการศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย เดินทางไปยื่นหนังสือและรัฐบาลทหารรับเรื่องไป และภาพที่ออกมาคือการปะทะกันระหว่างพระสงฆ์กับทหาร ซึ่งค่อนข้างก่อความสะเทือนใจแก่พุทธศาสนิกชน
ในความเป็นจริงประเด็นการบรรจุศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับที่กำลังร่างขณะนี้ (ต้นเดือนมีนาคม ๒๕๕๙) นั้นเคยมีการเสนอแล้วในช่วงร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๕๐ แต่ก็ตกไป มีเพียงการยกระดับจาก “กรมการศาสนา” เป็น “สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ”
ลองฟังทรรศนะต่อประเด็นนี้ของ สมฤทธิ์ ลือชัย นักวิชาการอิสระผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์พุทธศาสนา
คิดอย่างไรกับข้อเสนอบรรจุศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติโดยบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ
ผมไม่เห็นด้วย ข้อเสนอนี้ครั้งแรกเกิดขึ้นในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๕๐ ก่อนหน้านี้ไม่มี แต่แนวความคิดเรื่องนี้ก็มิใช่เรื่องใหม่ ราวปี ๒๔๙๐ พม่าเขียนในรัฐธรรมนูญว่าพุทธคือศาสนาประจำชาติ คณะสงฆ์ไทยทราบเรื่องนี้ดี ตอนนั้นยังใฝ่ทางธรรมกว่าทางโลก แต่วันนี้ไม่ใช่จึงออกมาเสนอให้พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ และวิธีที่ง่ายคือเข้าหาอำนาจที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ไทยมีพระสงฆ์ราว ๒ แสนรูป มีประชากร ๖๐ กว่าล้านคน นับถือพุทธร้อยละ ๙๐ แต่แกนนำกลับเป็นแค่พระสงฆ์กลุ่มหนึ่งที่มีสมณศักดิ์อยู่ในเมืองหลวงฯ ทั้ง ๆ ที่ชาวพุทธนั้นมีทั้งภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก และอุบาสิกา เหตุใดกลุ่มที่ผลักดันเรื่องนี้จึงมีแค่สงฆ์ที่ส่วนใหญ่เป็นมหานิกายและมาจากวัดธรรมกาย นี่แสดงว่าต้องเกิดอะไรบางอย่างขึ้น
ทำไมภาวะหลังรัฐประหารจึงง่ายต่อการบรรจุศาสนาพุทธไว้ในรัฐธรรมนูญ
ถ้าใช้วิถีประชาธิปไตยผลักดันเรื่องนี้จะยาก สังคมไทยมีความหลากหลาย ประชาชนส่วนมากก็ไม่ได้คลั่งจนถึงกับผลักดันวาระนี้ อย่างไรก็ตามผมคิดว่านี่จะไม่สำเร็จ เพราะรัฐบาลทหารคงไม่อยากสร้างศัตรูเพิ่ม ปัญหายังมีอีกมาก ถ้ายอมก็เท่ากับเอาใจพระกลุ่มหนึ่ง การเคลื่อนไหวครั้งนี้จะเป็นฐานการเรียกร้องในอนาคต แต่ถ้าสำเร็จผมคิดว่ากลุ่มคลั่งศาสนาจะอาศัยรัฐธรรมนูญสร้างอำนาจให้ตัวเอง จะมีกฎหมายลูกที่ปกป้องผลประโยชน์คนกลุ่มนี้ ไม่นานมานี้เคยมีการผลักดันกฎหมายห้ามวิจารณ์ศาสนามาแล้ว ส่วนความขัดแย้งกับศาสนาอื่นผมไม่ห่วงนัก ห่วงแต่พุทธด้วยกัน อย่าลืมว่าอายุพุทธศาสนากว่า ๒,๐๐๐ ปี มีสำนักคิดมากมาย ถ้ากลุ่มหนึ่งขึ้นมามีอำนาจ มีกฎหมายในมือ จะอ้างว่าวิธีของเขาถูก คนอื่นผิด ปัญหาจะตามมามากมายซึ่งปัญหาใหญ่จะเกิดแก่ชาวพุทธเอง
ช่วงนี้ยังมีกระแสการโจมตีศาสนาอิสลามของพระสงฆ์บางรูป
การโจมตีศาสนาอิสลามคือการเกลื่อน “ช่องโหว่” จุดด้อยของคณะสงฆ์ไทยที่ปัจจุบันบทบาททางสังคมแทบไม่มี เป็นการสร้างความสำคัญให้ตัวเองของสงฆ์กลุ่มหนึ่ง ไม่ใช่ประโยชน์ต่อพุทธศาสนา ไม่เช่นนั้นชาวพุทธโดยรวมควรผลักดันเรื่องนี้ พุทธสอนเรื่องเมตตา ใจกว้าง จารึกพระเจ้าอโศกระบุว่า “ถ้าท่านทำร้ายศาสนาอื่นก็เท่ากับทำร้ายศาสนาตน”
ข้อเสนอเพื่อออกจากสถานการณ์นี้
กราบนิมนต์พระคุณเจ้าทุกรูปด้วยความเคารพ โปรดแยกศาสนาออกจากรัฐ โดยยุบมหาเถรสมาคม ยกเลิกสมณศักดิ์ทั้งหมด นี่คือหนทางที่จะรักษาพระธรรมวินัยและเป็นประโยชน์ต่อพุทธศาสนา หากทำได้จะเป็นกุศลยิ่งกว่าที่พวกท่านบวชมาตลอดทั้งชีวิต ถ้าทำลายโครงสร้างนี้เสีย ให้ศาสนาเป็นเรื่องของชาวบ้าน ให้วัดเป็นของชุมชนเหมือนในอดีต ถามว่าจะแก้ปัญหาสงฆ์มากมายได้ไหม แน่นอนว่าปัญหาพระไม่ดี ปัญหาอื่น ๆ ไม่ได้หมดไป แต่ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาพิสูจน์แล้วว่าชาวบ้านรักษาศาสนาได้ดีกว่ารัฐ
ศาสนากับชุมชนดูแลกันเอง คำถามที่คนมักถามคือจะปกครองคณะสงฆ์อย่างไร
พระพุทธศาสนามีมา ๒,๐๐๐ กว่าปี เจริญบางที่ เสื่อมสลายบางที่ เป็นอนิจจัง ยกตัวอย่างเรื่องการบิณฑบาตเป็นพุทธวิธีสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างชาวบ้านกับพระ ถ้าพระประพฤติไม่ดี ชาวบ้านก็ไม่ใส่บาตร กลับกันชาวบ้านไม่ดี พระคว่ำบาตร นี่คือการเกื้อหนุนควบคุมกัน ที่สำคัญสงฆ์มีพระธรรมวินัยซึ่งใช้ปกครองมาแต่อดีต พระวินัยกำหนดให้สงฆ์เป็นผู้ขอ ชาวบ้านเป็นผู้ให้ ขอโดยไม่ต้องเอ่ยปาก แต่ทุกวันนี้พระวัดใหญ่ ๆ ในเมืองไม่บิณฑบาต ไม่สนใจชาวบ้าน ไปเอ่ยปากขอเศรษฐี ฯลฯ ทั้งที่คนที่ดูแลพระได้ดีที่สุดคือชาวบ้าน สังเกตดูการจับกุมพระที่ไม่ดีทุกครั้งเกิดจากชาวบ้านจัดการ
สายสัมพันธ์นี้ยังเหลือตามวัดเล็ก ๆ วันก่อนผมเห็นหลวงตาบิณฑบาตรูปเดียว วัตรปฏิบัติงดงามมาก ท่านไม่ได้มาเป็นพันเป็นหมื่นรูป ท่านขอและดำรงชีพแบบนักบวช พระดีแบบนี้ไม่ดัง สังคมไทยเวลาเห็นพระดัง มีสมณศักดิ์ก็เห่อ ที่ผ่านมาเราทำลายศาสนามามาก ตอนนี้ที่ควรทำคือเห็นพระปฏิบัติดีปฏิบัติชอบก็อนุโมทนาและเกื้อหนุนตามควร ไม่ควรถวายเฟอรารีจนวุ่นวายแบบทุกวันนี้ ที่พระมีรถยนต์มากแล้วอาจพลาดตำแหน่งสังฆราช หรืออย่างกรณีที่พระมานำประท้วง นี่เป็นภาพที่ไม่ดี สมควรที่เราต้องประณาม ส่วนคำถามว่าศาสนาพุทธจะสูญไหม คุณต้องยอมรับว่า วันหนึ่งศาสนาพุทธก็ไม่พ้นจากกฎอนิจจัง แต่ไม่ใช่ว่าเราไม่ทำอะไรเลย ทุกคนมีหน้าที่จะต้องช่วยกันดูแลรักษา ไม่ใช่ปล่อยเป็นหน้าที่ของพระ