ผลงานจากค่ายสารคดีครั้งที่ 12
งานเขียนและถ่ายภาพดีเด่น
กรรทิชา เหลืองสอาด เขียน
โศภิษาฐ์ สู่ทรัพย์ ภาพ
แววตาแห่งประวัติศาสตร์
พลายเพทาย ช้างเพศผู้ตัวน้อย อายุยังไม่ถึง 2 ขวบ เดินโบกหู ส่ายงวงไปมา ทักทายผู้คนที่เข้ามาเยี่ยมเยียนพี่น้องช้าง ณ หมู่บ้านช้างเพนียดหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา
รูปร่างของช้างน้อยเพทาย ก็เหมือนกับช้างตัวอื่นๆ จะต่างก็ตรงที่เจ้าพลายเพทายยังไม่มีงาเหมือนช้างหนุ่มๆแถวนี้ก็เท่านั้น
ฉันนั่งสังเกตช้างน้อยตัวนี้อยู่นาน ต้องยอมรับว่าช้างเป็นสัตว์ที่น่ารักและน่าเอ็นดู ถึงแม้ว่าตอนนี้พลายเพทายจะตัวเล็ก ใช้งวงหยิบจับสิ่งต่างๆยังไม่คล่อง ยังไม่ได้เติบโตเป็นช้างวัยรุ่นรูปร่างกำยำเหมือนเชือกอื่น มองคล้ายกับช้างตัวเล็กๆในการ์ตูนพวกนั้นเสียมากกว่า แต่หากมองลึกลงไปในดวงตาคู่นั้น จะพบกับประกายอันคมกล้าไม่ต่างจากทุกเชือก นั่นคือ ความยิ่งใหญ่ที่สืบทอดกันมาทางพันธุกรรม จากบรรพชนของช้างไทย
แววตาแบบเจ้าพลายเพทาย เป็นแววตาแบบเดียวกันกับช้างสำคัญเชือกอื่นๆ ที่มีส่วนในการร่วมทำศึก ร่วมเสียเลือดเสียเนื้อไปพร้อมๆกับบรรพบุรุษของเราในประวัติศาสตร์ เพื่อปกป้องรักษาแผ่นดินผืนนี้ไว้ให้เราชาวไทย
สงครามยุทธหัตถี ศึกครั้งสำคัญระหว่างอาณาจักรอยุธยากับอาณาจักรหงสาวดี สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงเป็นผู้นำศึกและทำศึกโดยประทับบนหลังช้าง ศึกครั้งนั้นฝ่ายหงสาวดีพ่ายแก่อยุธยา
กระทั่งในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงมีพระราชดำริให้ใช้ธงชาติพื้นหลังสีแดงที่มีรูปช้างเผือกอยู่กึ่งกลาง เป็นธงชาติสยาม เหตุการณ์สำคัญดังกล่าว ล้วนแต่เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงความสำคัญและความผูกพันระหว่างชาวไทยกับช้าง
แม้ว่าทุกวันนี้ช้างไทยจะไม่ได้มีหน้าที่ในการออกรบเช่นก่อน แต่ที่หมู่บ้านช้างเพนียดหลวง ใน จ.พระนครศรีอยุธยาแห่งนี้ ยังคงดูแลและฝึกช้าง ตามตำราแบบโบราณที่ชื่อว่า “ตำราคชสาร” ซึ่งเป็นตำราที่ในอดีตเคยใช้ฝึกช้างเพื่อออกรบ
หมู่บ้านช้างเพนียดหลวง จึงเป็นแหล่งเลี้ยงช้างที่สำคัญของไทย นอกจากจะมีจำนวนช้างที่มากถึง 100 กว่าเชือก ยังเป็นแหล่งเลี้ยงช้างที่ดำรงไว้ซึ่งวัฒนธรรมการเลี้ยงช้างตามวิถีชาวไทยในอดีตด้วย
ยุคหนึ่งช้างยังเคยเป็นสัตว์ใช้แรงงานแบกหามไม้ซุงท่อนใหญ่ เวลานี้ลูกหลานของมัน ได้อาศัยอยู่ในหมู่บ้านแห่งนี้ เพื่อรับการฝึกจากควาญช้าง จนสามารถแสดงโชว์อันงดงาม อวดสายตานักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติ ประกาศศักดาความยิ่งใหญ่ของช้างไทยให้ทุกคนได้เห็น เพื่อพลิกฟื้นตำนานช้างของไทย ให้กลับมามีชีวิต เป็นที่รู้จักอีกครั้ง
ช้างไทย ชีวิตในปัจจุบัน
แม่น้ำลพบุรียามเช้า กลายเป็นห้องน้ำอันกว้างใหญ่สำหรับช้างที่นี่ ควาญช้างและอาสาสมัครชาวต่างชาติ 5-6 คน พาช้าง 2 เชือกไปอาบน้ำ ชาวต่างชาติ1 คน กับ ควาญช้างอีก 1 คน ต่อช้าง 1 เชือก
พี่แอ๋ม ควาญช้าง หยิบดินโคลนบนหลังช้างปาใส่ควาญช้างอีกคน พูดคุยหยอกล้อกันอย่างสนุกสนาน ทั้งยังชวนให้พวกเราอยู่ดูช้างเชือกอื่นอาบน้ำต่อ “จะกลับหรือยังน้อง อยู่ดูก่อนสิ วันนี้ยังต้องอาบน้ำอีกหลายเชือกเลยล่ะ” ส่วนชาวต่างชาติก็พากันหัวเราะชอบใจ ทุกครั้งที่ช้างพ่นน้ำออกมาจากงวง บ้างก็หยิบกล้องขึ้นมาถ่ายรูปกันไม่หยุด
เมื่ออาบน้ำขัดตัวจนสะอาด ช้างบางเชือกก็ออกไปทำงานที่ วังช้าง อยุธยา แลเพนียด “ช้างก็เหมือนคน มีเวลาตื่น เวลาทำงาน แล้วก็เวลาพักผ่อน” พี่นุก ผู้ดูแลหมู่บ้านช้างบอกกับเราถึงชีวิตในแต่ละวันของช้างที่นี่ “ช้างจะตื่นประมาณตี 4 ส่วนควาญช้างจะตื่น 6 โมง พอเกือบ 8 โมงเช้า ก็นั่งรถออกไปทำงานกันแล้ว”
งานของช้างที่นี่ คือการแสดงความสามารถของช้าง เป็นงานเรียกรอยยิ้มและเสียงหัวเราะของผู้ชม เช่น สวัสดี เต้นตามจังหวะเพลง เดิน 2 ขา เล่นฮูล่าฮูป ยิ้มกว้างถ่ายรูป นั่งไขว่ห้าง เป็นต้น นอกจากนั้นที่วังช้าง อยุธยา แลเพนียด ยังมีบริการแท็กซี่ช้างชมโบราณสถานอีกด้วย
เวลา 11.00 น. นักท่องเที่ยวเริ่มทยอยกันเดินทางเข้ามาชมการแสดง ช้างที่ร่วมแสดงเริ่มเต้นตามจังหวะเพลง…
มิสเตอร์จอร์จ ชาวต่างชาติเดินเป่าทรัมเป็ตเข้ามาร่วมแสดงด้วย หลังจากทำนองเพลงพระราชนิพนธ์ “ชะตาชีวิต” จบลง เสียงปรบมือจากทั่วทิศก็ดังขึ้น ไม่นานก็มีเสียงผู้หญิงอ่านกลอนดังมาจากลำโพงตัวใหญ่
“คนกับช้างเคยก่อร่างเคยสร้างไทย มาบัดนี้เหตุไฉนทอดทิ้งเรา”
เมื่อสิ้นเสียงกลอนเหล่าช้างไทยก็เริ่มบรรเลงการแสดงต่อ
ผู้พากย์การแสดงแนะนำช้างที่ใช้โชว์ในวันนี้ “หมายเลขหนึ่งนะครับ น้องปีเตอร์ ช้างเพศผู้ มีงา ภาษาทางราชการเรียกว่า ช้างพลายนะครับ พลายปีเตอร์ อายุอานาม 13 ปี” พลายปีเตอร์ทักทายผู้ชมด้วยเสียงแปร๊น…แปร๊น… ก่อนจะเดินกึ่งวิ่งมาสวัสดีทุกคนอย่างน่าเอ็นดู ไม่นาน พลายสีมงคลกับพังฟ้ารุ่งก็ออกมาวาดลวดลายส่ายเอวส่ายงวงไปมาไม่น้อยหน้ากันสักเชือก
ทุกครั้งที่ช้างแต่ละเชือกออกมาโชว์ ผู้ที่เป็นเหมือนเงาของช้าง ก็คือ ควาญช้าง คนที่สวมชุดสีแดงลายทอง เมื่อเสียงดนตรีดังขึ้น ควาญช้างส่ายเอว ช้างก็ส่ายเอวตามด้วย ควาญช้างเดิน ช้างก็เดินด้วย เป็นแบบนี้ไปจนจบเพลง ที่นี่ จึงเป็นที่ที่รวบรวมเสียงหัวเราะของทุกคน ไม่ว่าจะเป็นผู้ชม ชาวไทย ชาวต่างชาติ เด็ก ผู้ใหญ่ พ่อ แม่ ลูก รวมถึงควาญช้างทุกคนด้วย
การแสดงจบลง เสียงปรบมือดังกึกก้องขึ้นอีกครั้ง ผู้ชมทั้งไทยและต่างชาติเดินเข้าไปหานักแสดงช้าง ขอถ่ายรูปเป็นที่ระลึก รอยยิ้มที่มุมปาก ถูกตรึงไว้ในความทรงจำ และหยุดนิ่งอยู่ในภาพถ่ายภาพนั้นตราบนานเท่านาน…
แท็กซี่ช้าง พานักท่องเที่ยวชมโบราณสถานต่างๆ ใน จ.พระนครศรีอยุธยา ช้างทุกเชือกจึงเป็นเสมือนTime machine พาหนะย้อนเวลา พาทุกคนกลับสู่ห้วงอดีต
เจดีย์วัดพระราม สะท้อนเงาลงบนผิวน้ำ ช้างสองเชือกหยุดอยู่ตรงริมฝั่งคลอง นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่นั่งอยู่บนสัปคับบนหลังของช้าง มองทิวทัศน์เบื้องหน้าด้วยความตื่นเต้น ก่อนจะผลัดกันถ่ายรูปนับครั้งไม่ถ้วน
หากช้างมีความคิดเช่นเดียวกับมนุษย์ บรรพชนของช้างคงภูมิใจ เพราะเลือดเนื้อของพวกมันที่สละไว้ในครั้งกรุงเก่า ไม่ได้ไหลรินร่วงโรยไปโดยไร้ประโยชน์ แต่กลับกลายเป็นแผ่นดินผืนนี้ ให้ลูกหลานได้พาผู้คนทุกเชื้อชาติ เข้ามารู้จักกับประวัติศาสตร์อันรุ่งเรืองและยิ่งใหญ่ของชาวไทย
เสียงสำคัญจากหัวใจคนใกล้ช้าง
เมื่อถึงเวลา 17.00 น. ควาญช้างและช้าง นั่งรถจากวังช้างอยุธยา แล เพนียด อำเภอเมือง ตำบลประตูชัยกลับมายังบ้านหลังใหญ่ หมู่บ้านช้างเพนียดหลวง ตำบลสวนพริก
ควาญช้างไม่ได้ไปทำงานทุกคน ช้างก็เช่นกัน “เชือกนี้ชื่อพลายคชราช วันนี้มันไม่ได้ไปทำงาน เพราะว่ามันเจ็บขาไม่ค่อยสบาย เลยต้องอยู่เฝ้าที่นี่” พี่ควาญช้างที่กำลังอาบน้ำและเอาต้นสับปะรดมาให้พลายคชราชกินกล่าว
ควาญช้างหลายคนอาศัยอยู่ที่นี่ หมู่บ้านช้างเพนียดหลวงจึงไม่ได้เป็นบ้านของช้างอย่างเดียว แต่ยังเป็นบ้านของควาญช้างกว่า 40 ชีวิตด้วย
“ช้างกินอาหารประมาณ 10% ของน้ำหนักตัวของมัน เฉลี่ยก็กินตัวละประมาณ 300 กิโลกรัมต่อวัน เราให้มันกินต้นสับปะรด แล้วก็จะมีนักท่องเที่ยวแวะมาให้อย่างอื่นด้วย มีแตงกวาบ้าง แคร์รอตบ้าง ถั่วฝักยาวบ้าง” พี่นุกอธิบายขณะกำลังเอาต้นสับปะรดมาเพิ่มให้เจ้าพลายคชราช
งานของช้างจบลงตั้งแต่ 17.00 น. แต่ควาญช้างที่นี่เลิกงานเวลาประมาณ 21.00 น. ดังนั้นควาญช้างจึงทำงานประมาณ 15 ชั่วโมง ต่อวัน
เรามีโอกาสได้พูดคุยกับน้าวัน ควาญช้างอีกคน น้าวันบอกเล่าให้ฟังถึงชีวิตของควาญช้างว่าเป็นคนที่มีความผูกพันและใกล้ชิดกับช้างมากที่สุด รู้นิสัยใจคอ แยกหน้าตาของช้างแต่ละเชือกได้ “ช้างแต่ละเชือกมันหน้าตาไม่เหมือนกันหรอกนะครับ แล้วคนที่มาเป็นควาญช้างน่ะ ต้องฝึกช้างให้เป็น ช้างที่นี่พออายุได้ 2 ปี ก็จะต้องจับแยกกับแม่ ช้างมันจะได้หย่านม แล้วจึงจะเอาไปฝึกได้”
น้าวันยังเล่าถึงตำราการฝึกช้างที่ชื่อตำราคชสาร ว่าเป็นตำราเดียวกับที่ใช้ฝึกช้างออกรบสมัยก่อน และยังสอนภาษาส่วยบางคำที่ใช้พูดกับช้างให้เราด้วย “ช้างมันจะฝึกเป็นเร็วหรือช้า ไม่ได้ขึ้นอยู่ที่ช้างหรอกนะ มันขึ้นอยู่ที่ควาญช้าง ถ้าฝึกเก่งๆ เดือนสองเดือนช้างก็เชื่องแล้ว เอาไปโชว์เอาไปแสดงหนังได้แล้ว อย่างเรื่องสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ก็มาเอาช้างจากที่นี่แหละ ตำราคชสารก็เอาไว้ฝึกช้างให้เชื่อง ให้มันเชื่อฟังเรา แล้วเราก็ใช้ภาษาส่วยคุยกับมัน อย่างเช่นถ้าเราจะไล่ให้ช้างเดิน เราก็ต้องพูดว่า เฮือก ”
หลังจากที่นั่งคุยกับน้าวันเรื่องเจ้าบิ๊ก นักแสดงช้างที่โด่งดังจากภาพยนตร์เรื่องสมเด็จพระนเรศวรมหาราชได้สักพัก ทำให้เราได้รู้ว่า เจ้าพลายคชราชที่เจ็บขาวันนี้ก็เป็นนักแสดงนำในเรื่องอีกเชือกเช่นกัน
พลายคชราชเจ็บขา วันสองวันก็หาย แต่มองไปอีกฝั่งคือที่อยู่ของ ยอดเยี่ยม ช้างที่เคยหกล้มตั้งแต่เด็ก จนตอนนี้อายุ 18 ปี แต่ขาหน้าข้างซ้ายก็ยังใช้การไม่ได้ เจ้ายอดเยี่ยมจึงไม่เคยได้ไปแสดงที่วังช้างเหมือนกับช้างเชือกอื่นๆ ควาญช้างแต่ละคนต่างสลับสับเปลี่ยนกันมาให้อาหาร อาบน้ำขัดตัว ดูแลอย่างใกล้ชิดอยู่เสมอยอดเยี่ยมจึงสนิทสนมกับช้างสูงอายุเชือกอื่นๆที่ปลดระวาง(อายุเกิน45ปีแล้วไม่ได้ไปแสดง)แล้วมากกว่าช้างวัยรุ่นด้วยกัน
แม้จะพิการ แต่เจ้ายอดเยี่ยมก็ทักทายเราได้ “ลองพูดกับมันว่าเก็บสิ” พี่ควาญช้างที่ดูแลยอดเยี่ยมวันนี้บอก “เก็บ” ทันใดนั้น เจ้ายอดเยี่ยมก็เอางวงของมันมาแตะที่มือเราทันที
ขนส่งอาหาร ให้อาหาร อาบน้ำ ฝึกฝน ควบคุมดูแลการแสดงของช้าง เก็บกวาดมูลช้าง หน้าที่เหล่านี้คือหน้าที่ของควาญช้างที่นี่ ทุกคนล้วนต้องช่วยกันดูแลช้างของตัวเองให้ดีที่สุด ไม่ว่าช้างเชือกนั้นจะเป็นช้างเด็ก ช้างหนุ่ม ช้างแก่ ช้างตกมัน หรือช้างพิการก็ตาม
สายใยแห่งความผูกพัน จึงร้อยเรียงช้างกับควาญช้าง ให้เป็นเสมือนเงาของกันและกัน ถ้าช้างมีกิน ควาญช้างก็มีกิน ถ้าช้างไม่สบาย ควาญช้างก็เหมือนคนป่วยอีกคนที่ออกไปไหนไม่ได้ ต้องคอยดูแลกันแบบนี้เสมอ
ลึกลงไปภายใต้หน้าที่ มือขวาที่ถือตะขอ กับสองมือที่ใช้ผูกโซ่ที่เท้าของช้าง ย่อมมีบางอย่างที่ซ่อนอยู่ในจิตใจของควาญช้าง สิ่งที่ผู้คนภายนอกอาจตัดสินพวกเขาว่าเป็นผู้ทรมานสัตว์มีงวงเหล่านั้น
อย่าแล้งล้าง ในหว่างวิถี
อาขาว หรือคุณอิทธิพันธ์ ขาวละมัย ผู้จัดการทั่วไปของวังช้างอยุธยา กำลังทำงานอยู่ในห้องทำงานเล็กๆภายในหมู่บ้านช้าง ด้วยคอมพิวเตอร์จำนวน 4 เครื่อง “สังคมตอนนี้หลายคนมองว่าการล่ามโซ่ การใช้ตะขอเป็นการทรมานช้าง แต่ลืมนึกไปว่า เวลาช้างตกมัน มันจะดุ แล้วถ้ามันไปทำร้ายคนจะทำยังไง”
อาขาวยังถ่ายทอดความลำบากของควาญช้างให้เราฟัง “บางวัน ตั้งแต่เช้าจนถึงเย็นควาญช้างไม่ได้ลงจากหลังช้างเลย เพราะถ้าลงก็ต้องผูก ถ้าไม่ผูก แค่ช้างมันตวัดงวงไปโดนมอเตอร์ไซค์คนอื่นล้มก็เป็นเรื่อง”
ควาญช้าง คือผู้ที่ดูแลและใกล้ชิดกับช้างตลอดเวลา เปรียบเหมือนผู้ปกครองของช้าง ความจริงแล้ว คงไม่มีผู้ปกครองคนไหน อยากเห็นเด็กในปกครองของตนเองไปทำร้ายคนอื่น
ชายวัยกลางคนที่เมื่อครู่นั่งทำงานอยู่ที่หน้าจอคอมพิวเตอร์ ทอดสายตามองออกไปนอกหน้าต่าง “เวลาอยู่กับช้าง มองนั่นมองนี่ไปเรื่อยๆ แล้วก็มานึกท้อแท้ เด็กรุ่นใหม่อย่างพวกเรา มันจะเข้าใจเรื่องของช้างไหม บางคน ระหว่างช้างป่า กับ ช้างบ้าน เขายังไม่รู้จักเลย”
ช้างทุกตัวที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านช้างเพนียดหลวงเป็นช้างบ้าน พ่อแม่ของมันอาศัยอยู่ที่นี่ สืบพันธุ์และให้กำเนิดช้างเชือกใหม่ ช้างของที่นี่จึงเป็นช้างบ้าน ที่มีความคุ้นเคยและใกล้ชิดกับมนุษย์ แตกต่างจากช้างป่า ที่อาศัยอยู่ในป่าและไม่คุ้นเคยกับมนุษย์
รอบๆ ห้องทำงาน มีภาพถ่ายของพระบรมวงศานุวงศ์ที่เคยเสด็จมาทอดพระเนตรช้างแขวนอยู่ทุกทิศ “สงสัยใช่ไหม ก็เพราะว่าท่านรักช้าง ท่านเป็นห่วงอนาคตของช้างไทย” ย้อนกลับไปในปีพ.ศ.2540 บริเวณเพนียดช้างเป็นโบราณสถาน ภายใต้การดูแลของกรมศิลปากร และได้นำกลับมาใช้งานอีกครั้ง โดยกรมศิลปากรได้อนุญาตให้ใช้เป็นที่พักช้าง ช้างและควาญช้างหลายคนจึงได้เดินทางมาอาศัยอยู่ที่นี่ หลังจากทำงานเสร็จในแต่ละวัน ช้างและควาญช้างก็จะกลับมาอาศัยอยู่ในบ้านหลังใหญ่นี้ด้วยกัน รวมถึงยังเป็นที่อยู่ของช้างแม่ลูกอ่อน อนุบาลช้าง ช้างชรา และช้างที่เจ็บป่วยด้วย
หมู่บ้านช้างแห่งนี้ดำเนินการโดยภาคเอกชน งบประมาณในการดูแลภายในหมู่บ้านจึงต้องแลกมาด้วยหยาดเหงื่อทั้งจากคนและช้าง “อาทำงานอยู่ที่นี่ทุกวัน ต้องคิดว่าช้างมันกินวันนึงเท่าไหร่ ค่าเงินเดือนของควาญช้างเท่าไหร่ แต่ยังไงวันนี้ช้างที่นี่ต้องอยู่ แล้วก็เป็นแบบอย่างให้กับประเทศไทย”
“ที่นี่เป็นที่ที่ดำรงวัฒนธรรมในการเลี้ยงช้างไว้ ตอนนี้โลกมันเปลี่ยนไป แล้วทุกคนก็ลืมประวัติศาสตร์” เมื่ออาขาวพูดถึงประวัติศาสตร์ ก็อดนึกถึงกลอนที่ได้ฟังตอนชมการแสดงของช้างไม่ได้ อาจารย์ไพศาล วงศ์ศิริ ได้ประพันธ์ไว้อย่างลึกซึ้ง ยิ่งเมื่อได้พูดคุยกับผู้ที่อยู่ดูแลช้างอย่างใกล้ชิดแล้ว ยิ่งเข้าใจในคำประพันธ์เหล่านั้นมากขึ้น
มาดูเรารักเราประด๋าวประเดี๋ยว พอหันหลังก็ลืมเหลียวลืมแลหา ลืมหูหางลืมงวงลืมงา ไม่มีแม้คำลาก่อนจากไกล มาดูเราโปรดอย่าเพียงดูเรา มาคิดถึงความเก่ากันดีไหม คนกับช้างเคยก่อร่างเคยสร้างไทย มาบัดนี้เหตุไฉนทอดทิ้งเรา |
ช้าง เป็นสัตว์ที่มีสำคัญในประวัติศาสตร์ของไทย แต่แล้ววันนี้ กลับมีคนเพียงกลุ่มหนึ่งเท่านั้นที่นึกถึงและให้ความสำคัญกับประวัติศาสตร์ ทั้งที่ความจริงแล้ว เราชาวไทยล้วนแต่เดินทางอยู่ในประวัติศาสตร์เดียวกัน การชมการแสดงของช้าง จึงไม่ใช่เพียงการมองหาเสียงหัวเราะและรอยยิ้ม แต่เป็นการแสดงที่มากด้วยคุณค่า เป็นการพาเราให้หวนนึกถึงความสำคัญและความสามารถของช้างไทย ที่ครั้งหนึ่งเคยมีส่วนในการรักษาแผ่นดินที่เรายืนอยู่ด้วย
“ไม่ว่าใครก็ต้องทำมาหากินกันทั้งนั้น ไม่ว่าช้างหรือคน และเราหากินอย่างมีวัฒนธรรม” เมื่อมองออกไปนอกหน้าต่างบานเดียวกับที่อาขาวมอง เราจึงเห็นภาพการส่งต่อทางวัฒนธรรม ที่ทั้งผู้รับและผู้ให้ กำลังนั่งอยู่บนหลังช้างงานของทุกคนที่นี่ คืองานช้างสมชื่อ เพราะไม่ใช่เพียงการเลี้ยงช้าง แต่มันคืองานที่เกี่ยวข้องกับการบอกต่อ ถ่ายทอดวัฒนธรรมของชาติอันยิ่งใหญ่ให้ผู้อื่นเข้าใจ
เพียงเปิดใจ ก็ไปถึง
รถยนต์ของนักท่องเที่ยวจอดอยู่ 5 คัน หนึ่งในนั้นคือรถยนต์ของน้าครอง เช้านี้น้าครองพาครอบครัวมาให้อาหารช้าง “ผมมาที่นี่ปีละ 1-2ครั้ง พาลูกมาดูช้าง” ทุกคนต่างผลัดกันป้อนแตงกวากับถั่วฝักยาวให้ช้างการเข้าถึงและเรียนรู้วัฒนธรรมการเลี้ยงช้างของไทย ได้รับการถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น ผ่านมือใหญ่ของพ่อที่จับมือน้อยๆของลูกเพื่อป้อนแตงกวาให้ช้าง
แนท หรือ ธนาภรณ์ บุพนิมิตร นักศึกษาที่ครั้งหนึ่งเคยเข้าร่วมโครงการเกี่ยวกับอาสาสมัครควาญช้าง เป็นโครงการที่มีชาวต่างชาติหลายสิบคนเข้าร่วมด้วย แนทบอกกับเราถึงเหตุผลที่ชาวต่างชาติให้ความสนใจช้างไทย “ต่างชาติหลายคนที่มาเที่ยวประเทศไทย เขาไม่ได้อยากมาเที่ยวอย่างเดียว แต่อยากมาเรียนรู้วิถีชีวิตของคนไทยด้วย ในโลกนี้ สถานที่ที่จะได้ใกล้ชิดกับช้างก็ไม่ได้มีเยอะ ประเทศไทยจึงเป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับพวกเขา”
“คนไทยหลายคนพอพูดถึงขี้ช้างก็จะไม่ชอบเท่าไหร่หรอก แต่ต่างชาติหลายคนอยากทำ เพราะนี่คือการเรียนรู้วิถีชีวิตแบบที่คนไทยในอดีตเคยเป็นโครงการนี้สอนให้แนทและเพื่อนๆชาวต่างชาติทำหลายอย่าง ทั้งเก็บขี้ช้าง อาบน้ำช้าง ให้อาหารช้าง ทุกคนตั้งใจที่จะเรียนรู้สิ่งเหล่านี้”
ช้างไทย อาจกลายเป็นเรื่องใกล้ตา แต่ไกลใจสำหรับคนไทยหลายคน ต่างจากชาวต่างชาติที่เดินทางหลายหมื่นหลายพันไมล์เพื่อมาเรียนรู้วิถีชีวิตของเรา แต่หัวใจของใครหลายคนอาจไกลเกินกว่าที่จะลองเดินทางมาเรียนรู้ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของชนชาติตัวเอง
อดีตคือสิ่งที่ผ่านมาแล้ว อนาคตคือสิ่งที่ยังมาไม่ถึง ปัจจุบันสำคัญที่สุด อาจเป็นวลีที่ใครหลายคนเคยได้ยิน คำว่าประวัติศาสตร์คืออดีตก็จริง แต่ก็เป็นมากกว่าเรื่องที่ผ่านมาแล้ว เพราะประวัติศาสตร์ทำให้เราทุกคนเห็นคุณค่าของปัจจุบัน เข้าใจในเหตุและผลของการดำรงอยู่ซึ่งเอกลักษณ์ของตัวเอง ช้างไทยเป็นหนึ่งในประวัติศาสตร์หน้าสำคัญของแผ่นดินนี้ เป็นประวัติศาสตร์ใกล้ตัวที่หลายคนสัมผัสได้ แต่หลายคนยังไม่เคยคิดที่จะเรียนรู้
ถ้าเปรียบประวัติศาสตร์ของช้างไทย เหมือนเส้นทางสายหนึ่ง คงเป็นเส้นทางที่ทอดยาวไกลสุดลูกหูลูกตา ในอนาคต อาจมีหลายคนที่เคยเดินผ่านเส้นทางนี้ และหลายคนที่ไม่เคยย่างกรายเข้ามา เส้นทางก็จะดำรงอยู่เช่นนั้น ขึ้นอยู่ที่ว่าจะเงียบเหงาหรือคับคั่งไปด้วยผู้คนก็เท่านั้นเอง
เพียงหวังว่าใครสักคนจะได้ชมการแสดงของเจ้าพลายเพทายในวันที่มันหย่านมแม่ ณ วังช้างอยุธยา แลเพนียดส่วนเจ้าพลายเพทาย คงหวังเพียงได้สร้างรอยยิ้ม เรียกเสียงหัวเราะของใครสักคน
ท้องฟ้ามืดแล้ว เจดีย์วัดพระรามยังคงสะท้อนภาพอยู่ในผิวน้ำเช่นเคย แต่เมื่อฟ้าไร้แสงอาทิตย์ ภาพนั้นจึงไม่ปรากฎ ประวัติศาสตร์ช้างไทยยังคงอยู่เช่นเดิม แต่หากไร้คนสนใจที่จะเรียนรู้ ประวัติศาสตร์ก็อาจไม่ปรากฎอีกแล้ว