ผลงานคัดสรรจากค่ายสารคดีครั้งที่ 12
เรื่อง: นางสาวศรัณยา ศรีวราสาสน์
ภาพ: นางสาววรรณิตา จิระสถิตย์วรกุล

ohelw01

โอ้เอ๋ว วุ้นขนมชื่อดังของภูเก็ต ที่มีแต่คนแนะนำให้ไปกินให้ได้หากได้มีโอกาสไปจังหวัดนี้

ohelw03

แม้จะเป็นเพียงแค่ร้านรถเข็น แต่ก็มีลูกค้ารอซื้อขนมมากมาย เนื่องจากชื่อเสียงที่ได้รับการบอกเล่ากันอย่างกว้างขวาง

“สมัยเด็กๆ สิบกว่าปีที่แล้ว เราเคยกินน้ำแข็งไสใส่วุ้นที่ภูเก็ต มีถั่วแดง มีเฉาก๊วย เราจำชื่อไม่ได้ แต่เรายังจำมันได้อยู่จนถึงทุกวันนี้”

“โอ้วเอ๋ว” ฉันตอบแทบจะทันทีหลังจากที่เพื่อนคนหนึ่งพูดลอยๆ ขึ้นมาทำลายความเงียบระหว่างกัน พลางคิดถึงน้ำแข็งไสใส่วุ้นนิ่มแบบพิเศษราดด้วยน้ำเชื่อมอายุกว่าร้อยปีที่มีขายเพียงจังหวัดเดียวในประเทศไทย คนต่างถิ่นอาจจะสงสัยว่า โอ้วเอ๋วคืออะไร แต่สำหรับชาวภูเก็ตแล้วโอ้วเอ๋วคือขนมหวานรากแก้วที่ยังคงฝังรากลึกอยู่คู่บ้านคู่เมืองมาแต่อดีต

ohelw04

วุ้นโอ้เอ๋วจะถูกเสิร์ฟกับถั่วแดงหรือเฉาก๊วย หรืออาจจะทั้งคู่ แล้วแต่ความชอบของผู้ซื้อ พร้อมน้ำแข็งไสราดน้ำเชื่อมและน้ำแดง

ohelw02

ร้านที่ดังสุดคงหนีไม่พ้น ร้านแป๊ะหลี่ ซึ่งเป็นร้านรถเข็นอยู่ในซอยสุ่นอุทิศ ขายโดยทายาทรุ่นที่ 3 แล้ว

ohelw08

แม้ว่าที่ไทย จะสามารถพบขนมชนิดนี้ได้เพียงแค่ในจังหวัดภูเก็ตเท่านั้น แต่ประเทศอื่นๆ เช่นไต้หวัน ก็สามารถหากินได้เช่นกัน เป็นขนมที่ได้รับความนิยมจากคนทุ

น้ำแข็งไสกลิ่นอายอดีต

อากาศร้อนของตัวเมืองภูเก็ตยามคล้อยบ่ายกล่าวทักทายผู้มาเยือนต่างถิ่นแทรกแฝงความชื้นจากชายทะเลพัดมาพอให้ชื่นใจเนื่องด้วยเป็นเกาะขนาดเล็กที่มีพื้นที่เพียง 500 ตารางกิโลเมตรล้อมรอบด้วยทะเลอันดามัน ส่วนผังเมืองเก่าของภูเก็ตแบบชิโนโปรตุกิสนั้นตัดกันเป็นจัตุรัสทำให้การเดินเท้าเพื่อตะลุยร้านของกินพื้นเมืองเป็นเรื่องง่าย

เราเดินย่ำต๊อกตามถนนเยาวราชเพื่อตามหาร้านโอ้วเอ้วร้านแรกจนกระทั่งเราเจอป้ายซอยสุ่นอุทิศพร้อมคำว่า “ซอยตัน” แขวนด้านล่างเพื่อทำให้ผู้มาเยือนหน้าใหม่อย่างเราชะงัก มองเพียงผิวเผินซอยนี้อาจมีเพียงด้านหลังของตึกแถวสีซีดสีสดมาประชันกัน เมื่อเดินทะลุซอยจะพบกับบ้านหลวงนรารักษ์ หากแต่เมื่อวกกลับมาบริเวณต้นซอย สายตาของเราก็สะดุดกับกลุ่มไทยมุงที่รอซื้อโอ้วเอ๋วเจ้าแรกของภูเก็ต เมื่อแหวกฝูงชนเข้าไปเราก็จะพบกับสาวใต้กำลังมือเป็นระวิงกับการตักวุ้นโอ้วเอ๋ว ใส่วุ้นดำ (หรือที่ภาษากลางเรียกว่าเฉาก๊วย) ใส่ถั่วแดง ก่อนราดน้ำเชื่อมแดงเพื่อส่งให้ลูกค้าที่กำลังต้องการน้ำแข็งไสหวานเย็นดับกระหาย ธนบัตรยี่สิบบาทหนึ่งใบส่งกลับสู่มือแม่ค้า แต่ก่อนที่เขาจะรีบรุดไปยังตึกร้างด้านตรงข้ามเพื่อจับจองโต๊ะว่างที่เริ่มเหลือน้อยลงทุกขณะ แม่ค้าหน้าไทยเสี้ยวจีน ผิวแทนน้ำผึ้งแบบฉบับคนใต้ หรือที่คนภูเก็ตเรียกเธอว่าน้ายา อายุ 43 ปี รีบตะโกนเรียกเพื่อทอนเหรียญห้าบาทก่อนจะสายเกินไป ผู้หญิงที่ยืนขายอยู่หลังรถเข็นปราศจากล้อผู้นี้คือทายาทรุ่นที่สามของ “โอ้วเอ๋วแป๊ะหลี” ซึ่งเปิดขายมากว่าร้อยปี น้ายาเล่าให้ฟังด้วยน้ำเสียงสดใสถึงที่มาที่ไปของร้าน

“สมัยก่อนนั้นตึกร้างนี้เคยเป็นโรงภาพยนตร์เก่าชื่อว่า “เริงจิต” อากงแกก็เลยเข็นโอ้วเอ๋วมาขายตรงจุดขายตั๋วใต้โรงหนังเพราะว่ามีผู้คนพลุกพล่าน พอโรงหนังเปลี่ยนมือไปเป็นสุ้ยยิ้น เฉลิมตัน หรือสยามจนเลิกกิจการไป เราก็ยังขายได้อยู่เพราะมีลูกค้าอุดหนุน พอไม่มีที่จะขายเลยตัดสินใจขายมันข้างนอกตึกร้างนี่แหละ”

น้ายายังเล่าย้อนไปในความทรงจำสมัยยังเล็กของเธอว่า หลังจากเลิกกิจการเหมืองแร่ อากงของเธอกลายเป็นคนตกงานจึงตัดสินใจมาลองมาขายน้ำแข็งไสสูตรพิเศษจากแผ่นดินเกิดที่บริเวณหน้าโรงหนัง ปรากฎว่าน้ำแข็งไสของอากงเป็นที่ถูกใจของชาวภูเก็ตอย่างมาก ต่อมากิจการโอ้วเอ๋วจึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวเธอโดยปริยาย

“ตอนแรกก๊งกับอาม่าช่วยกันขาย ขายได้ขายดี พอป๊าโตขึ้นมาหน่อยก็เลยเป็นป๊าที่ขายคู่กับก๊ง แล้วอาม่ากับน้าก็เป็นคนช่วยเตรียมวุ้น เตรียมถั่วแดง พอก๊งเสียแล้ว ป๊าก็ขายคู่กับพี่ชายน้าแทน ตอนนี้ก็เหลือแค่น้ากับพี่ชายเท่านั้น ป๊าแกแก่แล้วขายไม่ไหว” ถึงแม้ว่าบรรพบุรุษผู้คิดค้นสูตรทั้งสองของเธอจะเสียชีวิตไปแล้วแต่โอ้วเอ๋วก็ได้ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นได้อย่างไม่เปลี่ยนแปลง จะว่าไปแล้วจีนฮกเกี้ยนเริ่มทยอยเข้ามาในสยามประเทศตั้งแต่บริษัทอินเดียตะวันออกที่ตั้งอยู่บนเกาะปีนังต้องการแร่ดีบุก ผลักดันให้เกิดอุตสาหกรรมเหมืองแร่ขึ้นในหัวเมืองใหญ่ทางภาคใต้เช่น ระนอง ภูเก็ต เมื่อการค้าเจริญรุ่งเรือง ตลาดแรงงานจึงเปิดกว้างสำหรับกรรมกรจากจีนแผ่นดินใหญ่ที่หลั่งใหลเข้ามาเป็นแรงงานในเหมืองแร่หวังเพียงชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีกว่าเก่า อากงของน้ายาก็เช่นกัน ตอนแรกยังคงยึดอาชีพแรงงานในเหมืองแร่แต่เมื่อทุกอย่างจบลง การค้าขายโอ้วเอ๋วจึงเกิดขึ้นมาแทน

โอ้วเอ๋วนั้นเป็นของหวานที่คู่กับชาวจีนฮกเกี้ยนจึงพบของหวานที่มีลักษณะคล้ายกันตามบริเวณที่มีชาวฮกเกี้ยนอาศัยอยู่เช่นปีนัง หรือไต้หวัน แต่โอ้วเอ๋วนั้นจะมีลักษณะคล้ายน้ำแข็งไสแบบไทยคือใส่เครื่องลงไปที่ก้นถ้วยก่อนแล้วตามด้วยน้ำแข็งที่ไสเป็นฝอยละเอียดก่อนจะราดน้ำเชื่อมหรือที่เรียกกันว่า “น้ำนมแมว” ปิดท้าย แต่เอกลักษณ์ของโอ้วเอ๋วคือ ตัววุ้นนิ่มใส วุ้นโอ้วเอ๋วนั้นทำมาจากผลไม้ตระกูลเดียวกับมะเดื่อ เรียกชื่อภาษาจีนว่า “อ้ายหวี้” ลักษณะคล้ายลูกแพร์หัวเรียวท้ายป้านมนออก ผิวภายนอกสีเขียวดูขรุขระคล้ายตัวกบ แต่เมื่อนำเมล็ดภายในไปแช่น้ำจะทำให้เมล็ดพองออกคล้ายไข่กบ ชาวไต้หวันจึงเรียกน้ำคั้นจากอ้ายหวี้ว่า น้ำวุ้นไข่กบ มีความเชื่อว่าน้ำวุ้นไข่กบมีสรรพคุณทางยาในการดับกระหายและแก้ร้อนใน

เจ้าของร้านแปะหลียังเล่าให้ฟังต่อว่า หลังจากเมล็ดพองเต็มที่แล้วบีบน้ำออกจนได้ “น้ำวุ้นไข่กบ” ซึ่งมีลักษณะเป็นเมือกออกมาแล้ว ให้นำกล้วยน้ำว้าสุกขยำจนเละแล้วกรองด้วยผ้าขาวบางเพื่อให้ได้น้ำคั้นกล้วยน้ำว้าสุก จากนั้นนำน้ำวุ้นที่คั้นได้นี้ไปผสมกับน้ำคั้นจากกล้วยน้ำว้าจนเป็นเนื้อเดียวกันแล้วก็ผึ่งไว้หนึ่งคืนเพื่อให้ก้อนโอ้วเอ๋วจับกันเป็นแผ่นที่นุ่มลิ้น

“กว่าจะขายได้เราต้องทิ้งวุ้นหนึ่งคืนให้อยู่ตัว ระหว่างนี้ก็ต้องคัดเลือกเมล็ดถั่วแดงที่เน่าออก พอเช้าก็ต้องตื่นมาต้มถั่วแดงแล้วนำไปเชื่อม ของทุกอย่างต้องเสร็จก่อนเที่ยงเพราะบ่ายสองเราต้องพร้อมขาย”

เส้นทางกว่าจะได้น้ำแข็งไสหนึ่งถ้วยไม่ใช่เรื่องง่าย วัตถุดิบที่พอจะซื้อสำเร็จได้มีเพียงวุ้นดำ น้ำเชื่อมแดง และน้ำแข็งไสเท่านั้น โอ้วเอ๋วจึงเป็นสิ่งที่บอกความอดทนและความสัตย์ซื่อของผู้ให้ก็ไม่ปาน

“วันไหนขายไม่ดี วุ้นเก่ากว่าสองวัน น้าก็โยนทิ้ง เราต้องซื่อสัตย์กับลูกค้านะน้าว่า”

ohelw07

เมล็ดโอ้เอ๋วที่ทำการปอกเปลือก นำไปตากแดด กรีดด้านในพลิกกลับออกมาแล้ว เพื่อรอนำไปทำเป็นวุ้นโอ้เอ๋ว

ohelw05

ลกเที้ยนเป็นศูนย์รวมอาหารชื่อเสียงของจังหวัดภูเก็ต เช่น หมี่ฮกเกี้ยน ป่อเปี๊ยะ และวุ้นโอ้เอ๋ว

โอ้วเอ๋ว…ปัญหาที่กำลังเผชิญ

เช่นเดียวกับคุณห้องเส่ง แซ่ลิ้มวัย 76 ปี หรือ “แป๊ะเนี๊ยวสยาม” อดีตร้านโอ้วเอ๋วรถเข็นแห่งที่สองที่เริ่มเปิดขายบริเวณโรงหนังสยาม ปัจจุบันเป็นหนึ่งในร้าน “ศูนย์รวมอาหารพื้นเมืองลกเที้ยน” ซึ่งเป็นตึกแถวขนาด 2 ห้องตั้งอยู่ตรงหัวถนนจุดตัดระหว่างถนนดีบุกและถนนเยาวราช ทุกคนจึงเรียกกันติดปากว่า “โอ้วเอ๋วลกเที้ยน” ทั้งๆที่จริงแล้วลกเที้ยนนั้นเป็นชื่อร้านก๋วยเตี๋ยวที่เคยขายที่เรือนไม้แห่งนี้

“พอเขาชวนให้มาลงทุนที่ลกเที้ยนนี่นะ พวกเราก็ลงขันกันคนละ 50000 บาทเพื่อแปลงเรือนไม้ให้กลายเป็นศูนย์อาหารอย่างทุกวันนี้ แถมค่าเช่า 9500 บาทต่อเดือน นี่ยังไม่รวมค่าน้ำค่าไฟนะ อย่างหน้าแล้งนี่ก็กำไรอยู่นะแต่หน้าฝนนี่ควักเนื้อตัวเองตลอดเลย” เสียงยายเปี๊ยก คู่ชีวิตของแป๊ะเนี๊ยวเล่าเจื้อยแจ้วก่อนอธิบายถึงที่มาที่ไปเกี่ยวกับธุรกิจครอบครัวของสามี

เตี่ยของแป๊ะเนี๊ยวเป็นแพทย์แผนจีนชาวไหหลำที่นั่งสำเภาข้ามน้ำข้ามทะเลมาที่ภูเก็ต พอเห็นว่าคนที่นี่ชอบกินโอ้วเอ๋วกันมากก็เลยเกิดความคิดพัฒนาโอ้วเอ๋วจนกลายเป็นสูตรของตัวเองและเป็นผู้สร้างบรรทัดฐานของโอ้วเอี๋ยวฉบับประเทศไทย

“จริงๆ ขนมหวานโอ้วเอ๋วมีมาเป็นร้อยๆปีแล้ว ไม่มีใครรู้จุดกำเนิดหรอก ที่ไต้หวันหรือปีนังเขาก็ขายกัน ดั้งเดิมนั้นโอ้วเอ๋วจะใส่แค่ตัววุ้นโป๊ะด้วยน้ำแข็งไสและราดน้ำเชื่อมหรือน้ำนมแมวเป็นอันเสร็จ พอเราไปเห็นว่าฝั่งปีนังใส่ถั่วแดงด้วย เราก็เห็นว่าดีเหมือนกันที่เราจะใส่ของหลายๆอย่างเพิ่มเข้าไปด้วย”

แป๊ะเนี๊ยวสยามจึงคิดค้นการใส่ถั่วแดงและวุ้นดำเพิ่มลงไปในโอ้วเอ๋ว ซึ่งทำให้ปัจจุบันโอ้วเอ๋วจะมีวัตถุดิบ 3 อย่างนี้เป็นตัวยืนพื้นโดยใช้รหัสว่า ขาว-แดง-ดำ ตามสีของวัตถุดิบ วุ้นโอ้วเอ๋ว ถั่วแดง และวุ้นดำ หากใครไม่อยากกินอะไรก็แค่ไม่ต้องบอกสีนั้น

“เคยมีคนมาถามป้าเหมือนกัน อยากได้สูตร ถามมาเลยว่าต้องใช้กล้วยน้ำว้ากับเมล็ดโอ้วเอ๋วอย่างละเท่าไหร่ ตื๊อป้าเหลือเกิน จริงๆแล้วป้าก็อยากสวนเขากลับไปนะว่าป้าไม่ต้องชั่งตวงวัดอะไรขนาดนั้นหรอก ก็เราทำมันทุกวัน ถ้าเอาถ้วยตวงป้าไป ป้าก็ยังทำได้เหมือนเดิม”

ป้าเปี๊ยกยังสำทับอีกว่า วุ้นโอ้วเอ๋วไม่มีรสชาติใดเลยนอกจากสัมผัสที่ละมุนลิ้นต่างจากวุ้นทั่วไป ส่วนรสชาติความอร่อยวัดกันที่ส่วนผสมในถ้วยโอ้วเอ๋วมากกว่า

“เดี๋ยวนี้อะไรๆก็แพง เมล็ดพันธุ์โอ้วเอ๋วเราก็ต้องรับต่อจากปีนังอีกทีหนึ่ง ที่ปีนังเขาก็ไม่มีเหมือนเรานี่แหละ ต้องไปนำเข้าจากจีน จากไต้หวัน ส่วนถั่วแดงที่บ้านเราเคยผลิตได้เองตอนนี้ป้าก็ต้องไปรับมาจากสิงคโปร์เพราะเมล็ดมันใหญ่กว่า แต่จะให้ป้าขึ้นราคาจาก 15 บาท ป้าก็สองจิตสองใจนะ เราขายให้คนที่นี่ด้วยราคานี้มานานแล้ว” ป้าเปี๊ยกถอนหายใจเบาๆขณะคิดถึงต้นทุนที่สูงขึ้น

เช่นเดียวกับน้ายาที่มีปัญหาวัตถุดิบหายากและแพงกว่าเก่า

“สมัยก่อนเราจะใช้แต่น้ำโอ้วเอ๋วและน้ำกล้วย แต่สมัยนี้ผลโอ้วเอ๋วมันหายาก (ลากเสียงยาว) เราจึงต้องใส่วุ้นผสมไปด้วย”

เมื่อมีผงวุ้นผสมอยู่ด้วยก็จะทำให้แผ่นโอ้วเอ๋วจับตัวเป็นก้อน แต่โดยส่วนตัวแล้วน้ายาชอบกินแบบเดิมมากกว่าเพราะเธอมีความทรงจำเกี่ยวกับแผ่นโอ้วเอ๋วที่อาม่าและอากงทำให้กินอยู่ด้วย
“ตอนนั้นก็ไม่ได้คิดเลยว่าพอโตมาแล้วโอ้วเอ๋วจะหายากขนาดนี้ ตอนเด็กๆน้าไม่ชอบโอ้วเอ๋วเพราะมันจืด ก็เคยเอาไปเททิ้งเหมือนกัน” น้ายากล่าวติดตลก

ohelw06

บางร้านได้นำวุ้นโอ้เอ๋วมาเสิร์ฟกับส่วนประกอบอื่นๆให้มีความทันสมัยมากขึ้น พร้อมเรียกให้น่าสนใจว่า โอ้เอ๋วฮันนี่เลม่อน ซึ่งมีส่วนประกอบต่างๆตามชื่อ และลิ้นจี่

โอ้วเอ๋วรุ่นใหม่

ขณะที่ร้านโอ้วเอ๋วดั่งเดิมกำลังเผชิญวิกฤต แต่คุณหวาน อายุ 59 ปี คุณแม่ของคุณแจ้ เจ้าของร้าน “กิมแจ้” ร้านขายของแดนใต้สารพัดชนิดที่มีคำว่า แกงไตปลา ตัวใหญ่เป็นจุดสนใจของร้าน กลับมีมุมมองต่อขนมหวานชนิดนี้ต่างออกไป

“จริงๆ โอ้วเอ๋วเขาทำกันมาเป็นธุรกิจในครอบครัว ไม่ค่อยมีใครรู้สูตรของแต่ละบ้านหรอก ใครชอบร้านไหนก็กินร้านนั้น หลายสิบปีที่แล้วใครมีสูตรก็ทำแล้วส่งต่อกันในครอบครัว จะให้คนต่างถิ่นมาเริ่มทำโอ้วเอ๋วเองคงยาก”

เมื่อสี่สิบปีที่แล้ว อาม่าของคุณแจ้เคยทำโอ้วเอ๋วขายพร้อมปาท่องโก๋และนมสังขยาหน้าบ้านซึ่งปัจจุบันคือตึกแถวแนวชิโนโปรตุกิสบนถนนกระบี่ห่างจากพิพิธภัณฑ์ไทยหัว 4 ห้อง ภายในร้านมีโอ้วเอ๋วขายอยู่มุมเล็กๆ มุมหนึ่งด้านซ้าย เมื่อเทียบกับปริมาณของฝากที่ตั้งขายอยู่ในร้านแล้ว เราแทบจะเดินเลี้ยวผ่านไปโดยไม่ได้สนใจ ถ้าไม่ได้ยินน้ำเสียงใสแจ๋วของคุณหวานที่กำลังเรียกลูกค้าอยู่

“พอเราตัดสินใจหันหัวเรือไปทำขนมพื้นเมืองอื่น เราไม่เคยมีความคิดอยากจะทำโอ้วเอ๋วอีกเลยเพราะมันจะไม่คุ้มเอา ตอนนี้ร้านเราก็ยังจับฉ่ายขายของเยอะไปหมด โอ้วเอ๋วเป็นขนมที่เราแค่อยากทำติดร้านไว้เฉยๆ แต่เห็นอย่างนี้เราก็ขายหมดทุกวันนะ”

สิ่งที่พลิกฟื้นน้ำแข็งไสเกิดจากคุณแจ้ ลูกชายหัวแก้วหัวแหวนของคุณหวานที่อยากทำร้านโอ้วเอ๋วที่เหมาะสำหรับคนยุคใหม่ ด้วยวัยเพียง 29 ปีแต่คุณแจ้สามารถคิดสูตร “ฮันนี่เลม่อน” เพื่อเพิ่มมูลค่าจากโอ้วเอ๋วธรรมดาราคา 20 บาทให้กลายเป็น “โอ้วเอ๋วฮันนี่เลม่อนราดน้ำลิ้นจี่” ราคา 55 บาท

“ตอนนั้นแจ้เขาไปปีนัง เห็นว่าที่นู่นมีโอ้วเอ๋วเหมือนกันแต่ใส่เลม่อนลงไปด้วย แจ้ซื้อมาลองชิมก็เห็นว่าอร่อยดี เลยคิดกลับมาพัฒนาใส่เลม่อนแล้วเติมน้ำผึ้งรวงเพื่อให้รสกลมกล่อมยิ่งขึ้น”
โอ้วเอ๋วน้ำผึ้งมะนาวตอบโจทย์กลุ่มเด็กยุคใหม่และนักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดีเนื่องจากรสชาติที่แตกต่างและวัตถุดิบที่สรรหามาอย่างดีไม่ว่าจะเป็นผลลิ้นจี่สด หรือน้ำผึ้งรวงซึ่งต้องรอช่วงเดือนที่น้ำผึ้งมีรสหวานที่สุด แต่ถึงกระนั้นคนพื้นเมืองก็ยังคงนิยมกินโอ้วเอ๋วรูปแบบเก่ามากกว่า

“พวกเราคงกลัวของแปลกนะพี่ว่า” เจ้าของร้านกิมแจ้กลั้วหัวเราะ

ทุกวันนี้กระแสนิยมน้ำแข็งไสเกาหลีถาโถมเข้ามาสู่ประเทศเราอย่างมาก น่าประหวั่นว่าสักวันหนึ่งโอ้วเอ๋วจะเหลือเพียงตำนานต่อกลุ่มคนรุ่นหลัง แต่คุณหวานกลับคิดต่างออกไป
“โอ้วเอ๋วคือของคู่บ้าน คนต่างบ้านต่างเมืองอย่างนักท่องเที่ยว เวลาเขามาบ้านเรา เขาก็อยากกินของบ้านเรา แถมชาวภูเก็ตเราก็ยังซื้อกินกันอยู่”

“มันไม่มีทางหายไปไหนหรอกลูก เดี๋ยวรุ่นลูกรุ่นหลานก็ต้องสืบต่อ อย่างแจ้นี่ก็จะเป็นรุ่นที่สามแล้วนะ แจ้เขาอยากเปิดเป็นร้านโอ้วเอ๋วติดแอร์เลยด้วยซ้ำ ให้คนที่มาภูเก็ตได้มานั่งกินโอ้วเอ๋วในแบบที่เขาชอบ ส่วนตัวเขาเองก็พัฒนาสูตรโอ้วเอ๋วไปเรื่อยๆ”

ขณะที่สองมังกรโอ้วเอ๋วแห่งโรงหนังสยามคิดนานก่อนแสดงความเห็น
“ก็ไม่รู้เหมือนกัน คงทำไปเรื่อยๆ เรื่องลงทุนระยะยาวยังห่างไกลเพราะตอนนี้ติดภาระหลายอย่าง” น้ายากล่าวทิ้งท้าย

“เรื่องทำต่อนี่ก็พูดยากเนอะ ลูกป้าก็โตไปตามสายงานตัวเอง ไม่ได้มีใครสนใจธุรกิจนี้เลยสักคน ก็เมื่อไหร่ที่ป้ากับแป๊ะไม่อยู่แล้วก็คงเลิกทำ” ป้าเปี๊ยกยังคงยืนหยัดจะสานต่อธุรกิจที่เธอกับคู่ชีวิตฟูมฟักมาเข้าปีที่สี่สิบจนกว่าที่ใครสักคนจะหมดลมหายใจจากกันไป

บางคนอาจมองว่าโอ้วเอ๋วเป็นเพียงน้ำแข็งไสธรรมดา แต่สำหรับคนที่นี่แล้วโอ้วเอ๋วคือขนมหวานที่สะท้อนภูมิปัญญาชาวฮกเกี๊ยนผสานแนวคิดขนมหวานแบบไทยอย่างลงตัว ซึ่งน่าจะอุ่นใจได้ว่าแม้เวลาจะเปลี่ยนไปเท่าไหร่ โอ้วเอ๋วก็ยังจะเป็นของหวานอันดับหนึ่งในใจคนภูเก็ตตลอดกาล

banner-camp-12-for-web