ผลงานจากค่ายสารคดีครั้งที่ 12
งานเขียนและถ่ายภาพดีเด่น
เรื่อง : พรรณผกา แก้วติน
ภาพ : ปัญญ์ บุญชู

เบื้องหน้านายช่างผู้สูงวัย...๕๐ ปี สุพรรณยนต์

สัมผัสพิเศษที่สร้างและซ่อมได้ทุกสรรพสิ่ง

สุพรรณยนต์อยู่คู่สุพรรณบุรีมาตั้งแต่ พ.ศ.2508

ครืดๆ แกร๊งๆ

เสียงเหล็กกระทบพื้นซีเมนต์เป็นระยะๆ เราแอบมอง “เขา” ผ่านง่ามนิ้ว

เหตุเพราะแสงแปลบปลาบจากการเชื่อมเหล็กทำให้เราหวาดกลัวราวกับกำลังจ้องดวงอาทิตย์ด้วยตาเปล่า

เขานั่งอยู่ตรงนั้นบนเก้าอี้เหล็กสีสนิม ตรงหน้ามีตู้พัดลมตั้งบนโครงเหล็กสีเขียว มือทั้งสองข้างถืออาวุธครบพร้อม มือขวากระชับคีมหนีบลวดเชื่อม มือซ้ายถือหน้ากากป้องกันแสงจ้าสีส้มซีดๆ

เมื่อเขากำลังจะลงมือ เมื่อนั้นแหละนิ้วเราจึงขยับชิด แต่ก็ไม่วายชะโงกหน้าเมียงมองอย่างกล้าๆ กลัวๆ

สะเก็ดไฟสีส้มออกแดงกระเด้งกระดอนเหมือนพลุขนาดย่อมยิ่งทำให้เรายืดหลังตรงด้วยความผวา ไม่อยากคิดภาพว่าถ้าเราโดนเจ้าสะเก็ดไฟเข้าไปจะแสบร้อนขนาดไหน ต่างจากชายที่นั่งอยู่ท่ามกลางพลุจิ๋วอย่างไม่หวาดเกรง คล้ายว่าเขาเห็นสะเก็ดไฟเป็นเพื่อนรักสุดซี้

เรามองเขาอย่างละเอียดอีกครั้ง เขาดูเท่ไม่หยอกทีเดียว

เสียงของเหล็กต่อเหล็กสร้างความเข็ดฟันให้เราเล็กๆ แต่ไม่นานแสงจ้าก็ค่อยๆ หายไปทีละน้อย เขาวางอาวุธลงพร้อมกับเสียงแกร๊งๆ ที่เงียบไป

ทันทีที่ภารกิจเชื่อมเหล็กเสร็จสมบูรณ์ ใบหน้าที่ไร้อุปกรณ์กั้นแสงก็เผยขึ้น

ผู้ชายสุดเท่คนนั้นแหละ…นายช่างแห่งสุพรรณยนต์

กระจกใบหมองกับนายช่างใหญ่

กระจกใบหมองกับนายช่างใหญ่

ยามเช้าของนายช่าง

ยามเช้าของนายช่าง

นายช่าง ณ สุพรรณยนต์

ถ้าจะพูดถึงนายช่างใหญ่บนถนนเณรแก้วแล้วละก็ คงไม่มีใครไม่รู้จักอากงกิม หรือนายสุจินต์ ชุติแพทย์วิภา นายช่างเชื้อสายจีนอายุ ๗๐ ปลาย ยังคงแข็งแรงและรับซ่อม กลึง เชื่อม ทำทุกอย่างเกี่ยวกับเหล็กทั่วอาณาจักรสุพรรณบุรี

อากงกิมแต่งตัวหล่อเหลาออกมารับลูกค้าที่ต้องการจะทำพ่วงข้างรถมอเตอร์ไซค์ เขาพยักหน้ารับรู้ก่อนจะเริ่มทำงานเพราะภาพจำลองในหัวปรากฏขึ้นราวกับภาพสามมิติ ใบหน้าเหี่ยวย่นตามอายุยิ่งชัดเวลาเขาแย้มรอยยิ้ม เห็นฟันกระต่ายคู่หน้าชัดเจน ลดความขึงขังและจริงจังตอนทำงานช่างได้อยู่โข ผมสีดำผสมขาวปาดเรียบแปล้ไปทางเดียวกัน

แผลรอยไหม้สีน้ำตาลเข้มยาวพาดตั้งแต่ปลายคิ้วลงมาถึงหางตาขวา ใต้ตาขวายังมีรอยไหม้สีดำอีกหนึ่งจุด

ส่วนกางเกงนั้นมีรอยไหม้เล็กๆ หลายจุดกระจายตัวอยู่บริเวณหน้าขา

“เป็นอย่างนี้ทุกตัวแหละ” เขาชี้รูไหม้เล็กๆ ตรงกางเกง “แล้วดูสิ มันกระเด็นเข้านี่ด้วยเหมือนกัน เป็นรอยมาถึงทุกวันนี้” อากงแตะรอยแผลเป็นบนหน้า คิ้วขาวขมวดเข้าหากันเล็กน้อย

แน่นอนนายช่างทุกคนย่อมต้องมีแผลฝากความทรงจำไว้ เขาเปรียบเปรยว่า

“ถ้าทำอาชีพสูบส้วม เขาก็ต้องกล้าโกยมูล เหมือนกับเรานั่นแหละ ซ่อมรถก็ต้องกล้าคลุกฝุ่น เปื้อนน้ำมัน”

หากรอยแผลทำให้คนชำนาญเช่นใด ร่องรอยแห่งประสบการณ์ก็ทำให้คนประสบความสำเร็จได้เช่นนั้น

อากงกิมเป็นลูกคนที่ ๒ ของครอบครัวชุติแพทย์วิภา พ่อเดินทางด้วยเรือสำเภาจากเมืองจีนมาตั้งรกรากที่สุพรรณบุรีทำอาชีพค้าขายเปิดร้านโชห่วย ส่วนแม่เสียไปตั้งแต่อากงอายุเพียง ๖ ขวบ เนื่องจากไม่ได้มีฐานะร่ำรวย ในวัยหนุ่มอากงก็ต้องเริ่มทำงาน

“เตี่ยไม่ได้สอนอะไรมาก บอกแค่ว่าให้เป็นคนดี” เขาทำงานทุกอย่างตั้งแต่ขายไอศกรีมริมแม่น้ำท่าจีนบ้าง เสิร์ฟโต๊ะอาหารบ้าง หรือเป็นเด็กฉายหนัง จากนั้นก็ขับรถเมล์ที่ซื้อได้จากเงินที่เก็บหอมรอมริบมาทั้งหมด
“ตอนอายุยังไม่ถึง ๒๕ ก็เก็บเงินซื้อรถได้คันนึง” เขาหยิบผ้าเช็ดหน้าผืนบางที่พกติดตัวออกมาเช็ดเหงื่อที่ไหลลงมาระหว่างคิ้ว “เราประหยัด ไม่เที่ยวเตร่ ตอนนั้นเขามีคอนเสิร์ต โอ๊ย…ค่าบัตรหลายตังค์ เราทำตั้งหลายวันกว่าจะได้เท่านั้น คิดแล้วก็ไม่ไปดีกว่า”

ความประหยัดนั้นทำให้เขามีร้านเป็นของตัวเองในเวลาต่อมา

หลังจากขับรถเมล์สักระยะเขาซื้อที่ดินตรงถนนเณรแก้วเพื่อเปิดร้านสุพรรณยนต์ เพราะคิดว่าเป็นอาชีพที่จะมีรายได้เข้ามาเรื่อยๆ ประกอบกับได้แอบเรียนรู้เรื่องงานช่างจากช่างในโรงสี ทั้งการบัดกรี การกลึง การสกัด ฯลฯ พอเป็นจุดเริ่มต้นและสะสมประสบการณ์มาจนเพิ่มพูน

ไก่สองไม้ ตับหนึ่งไม้ เหมือนเดิมนะ

ไก่สองไม้ ตับหนึ่งไม้ เหมือนเดิมนะ

ประกายไฟสีฟ้า ที่สว่างวาบไปทั่วอู่ ทุกครั้งที่นายช่างใหญ่เริ่มทำงาน

ประกายไฟสีฟ้า ที่สว่างวาบไปทั่วอู่ ทุกครั้งที่นายช่างใหญ่เริ่มทำงาน

เหล็กและไฟ…ที่นี่มีเรื่องราว

ถนนเณรแก้วในตัวเมืองต้นกำเนิดขุนช้างขุนแผน…สุพรรณบุรี เป็นที่ตั้งของร้านสุพรรณยนต์ โรงกลึงโรงซ่อมเครื่องยนต์ที่เก่าแก่กว่า ๕๐ ปี หน้าร้านมีต้นไม้ใหญ่อายุหลายสิบปีสองต้น คือ ต้นพิกุล และต้นมะยม มองเผินๆ อาจไม่รู้เลยว่าหลังใบไม้เขียวชอุ่มหนาทึบมีร้านสุพรรณยนต์ซ่อนตัวอยู่

ร้านที่เป็นบ้านด้วยของอากงและอาม่านิภา ชุติแพทย์วิภา นี้มีสองชั้น ชั้นแรกเพดานสูงกว่า ๘ เมตร เนื่องจากสมัยก่อนมีรถเมล์หรือรถแทรกเตอร์มาซ่อม ภายในร้านกองเหล็กนอตและเครื่องมืออุปกรณ์เครื่องกลึง เครื่องเจาะ เครื่องตัดเหล็ก ตู้เชื่อมแบบไฟฟ้า ตู้เชื่อมแบบแก๊ส สายไฟและแผ่นเหล็กขนาดต่างๆ วางซ้อนกันบนพื้น มีโต๊ะทำงานและโซฟาที่ประจำของอากงและอาม่าไว้สำหรับดูทีวี ลึกเข้าไปข้างในเป็นห้องนอนและห้องครัว

เขาไม่ได้กั้นห้องแยกร้านกับตัวบ้าน เมื่ออาม่าเปิดทีวีก็จะได้ยินเครื่องเหล็กกระทบพื้นคลอไปกับเสียงเพลงลูกทุ่งในรายการโทรทัศน์ ข้างๆ กันมีโต๊ะตั้งรูปปั้นเทพเจ้าจีน และตี่จู้เอี๊ยะสีแดงบนพื้นหันหน้าออกหน้าร้าน

ร้านสุพรรณยนต์เติบโตมาพร้อมๆ กับความเจริญของจังหวัดสุพรรณฯ ร้านแห่งนี้ร่วมเป็นพยานให้กับการพัฒนาความทันสมัยตั้งแต่ ๕๐ ปีที่แล้วจวบจนปัจจุบัน

ตอนเปิดร้านใหม่ๆ นั้น เขาต้องสร้างชื่อเสียงให้คนรู้จักอยู่นานแรมปี แต่ไม่นานลูกน้องก็มีมากถึง ๑๐ คน ความคึกคักของการขนส่งที่เริ่มมีมากขึ้น รวมถึงเทคโนโลยีการเกษตรที่ชาวเกษตรกรเริ่มหันมาสนใจอุปกรณ์ เช่น เครื่องไถนา หรือเครื่องบดเหยื่อปลา ที่ชาวเรือมักใช้จับปลาเวลาน้ำขึ้น

“ตอนนี้มันเงียบ แต่ก่อนมาเยอะพวกสิงห์บุรีเอาเครื่องมาทำใช้หาปลา นี่หายไปเป็นเดือนๆ แล้ว…น้ำไม่มี” อากงเอ่ยด้วยเสียงเหน่ออันมีเสน่ห์

นอกจากนั้นแล้วเขายังรับทำใบขึ้นทะเบียนรถนับจำนวนไม่ถ้วน เพราะที่สุพรรณบุรีมีรถหลากหลายประเภท ไม่ว่าสามล้อ สามล้อเครื่อง สกายแล็บ และรถตุ๊กตุ๊ก ดังนั้นจึงต้องออกใบรับรองเพื่อไปขึ้นต่อกรมการขนส่งทางบกว่าถูกกฎหมาย มีหมายเลขเครื่องยนต์ชัดเจน ไม่ใช่รถเถื่อน

“ตอนนั้นเขาเปิดให้ต่อทะเบียนแค่ ๓ เดือน พวกรถสามล้อเครื่องมาจองกันวันละ ๒๐-๓๐”

อากงยังเป็นคนแรกที่ต่อสามล้อเครื่องในเมืองขุนแผน เขาเล่าว่าต้องจ้างรถสิบล้อไปขนเครื่องยนต์จากโรงงานมาต่อสามล้อเครื่อง วันหนึ่งๆ ต่อสามล้อเครื่องกว่าสามคัน โดยกระจายงานและรายได้ให้ร้านอื่นๆ ด้วย เป็นต้นว่าร้านผ้าใบทำหลังคา ร้านเบาะ และร้านท่อไอเสีย ตลอด ๒๐ ปีเขาต่อสามล้อเครื่องไปกว่า 4,000 คันเลยทีเดียว

“อู่ไหนๆ ก็สู้ที่นี่ไม่ได้หรอก ดูสิ คนทำหนุ่มขึ้นทุกวัน” อารีรัตน์ คำสอน เจ้าของร้านราดหน้าที่มาดูความคืบหน้าของพ่วงข้างที่เธอทำเป็นคันที่ ๔ แล้ว เธอบอกว่าคนสุพรรณฯ ชอบทำพ่วงข้างกับรถมอเตอร์ไซค์มาก เพราะสะดวกกว่าซาเล้ง แถมยังถอดออกได้ง่ายถ้าหากอยากใช้มอเตอร์ไซค์ ข้อดีของร้านสุพรรณยนต์คือใช้เหล็กมีคุณภาพดี รถสามคันของเธอไม่ได้เสียหายอะไร แต่มาทำเพิ่มคันที่ ๔

ก่อนที่อากงจะสวมแว่นสายตาเพื่อตัดเหล็ก เขาเสริมว่า

“อยู่บ้านนอกต้องทำได้ทุกอย่าง ถ้ารับแต่งานใหญ่เราจะอยู่ไม่ได้ ไม่เหมือนในกรุงเทพฯ”

เราอาจเห็นชาวบ้านเอากระทะมาให้ซ่อม หรือแม้กระทั่งอุปกรณ์ดามกระดูก หรืออะไรเล็กๆ น้อยๆ ก็ตาม แต่อากงไม่เคยปริปากบ่น เพราะขอให้สิ่งที่นำมาเป็นเหล็ก เขาสามารถบันดาลให้บรรลุประสงค์ได้ทุกอย่าง
เวลาปิดร้านประมาณ ๔ โมงเย็น อากงจะเก็บร้านกวาดลานหน้าบ้านที่อาจมีเศษเหล็กหรือเศษนอตตกอยู่ ส่วนของหนักๆ จำพวกเรื่องตัดเหล็ก พัดลม ลูกน้องเพียงคนเดียวของเขาจะเป็นฝ่ายยกเข้าไปในตัวร้าน ส่วนอากงจะชอบนั่งโซฟาสีดำตัวเก่า มือขวากดรีโมตดูรายการแข่งขันร้องเพลงลูกทุ่ง

หรือไม่ก็นั่งม้าหินอ่อนหน้าบ้าน มองความเป็นไปต่างๆ ตรงหน้า

รถแล่นฉิวผ่านถนนเส้นหลัก ดอกพิกุลร่วงลงตามแรงโน้มถ่วง เจ้าเสือแมวตัวโปรดกระโดดขึ้นตัก

เขาละสายตามามองมันแล้วลูบหัวเบาๆ

กำลังใจนายช่าง

กำลังใจนายช่าง

สายตา ความแม่นยำ และพละกำลังเป็นสิ่งสำคัญของงานสายนี้

สายตา ความแม่นยำ และพละกำลังเป็นสิ่งสำคัญของงานสายนี้

ใจเรียบง่าย กายไม่ลำบาก

“เครียดทำไมอายุปูนนี้แล้ว” อาม่านิภาพยักเพยิดหน้าไปทางอากง

เธอเล่าว่าเคล็ดลับที่ทำให้ชายวัยเกือบ ๘๐ คนนี้ยังแข็งแรงคือการมองโลกในแง่ดี การกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ และที่สำคัญคืออย่าคิดอะไรมาก

เพราะการปล่อยวางคือสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับทุกชีวิต

การจะทำให้ชีวิตเรียบง่ายต้องเริ่มจากตัวเราก่อน เริ่มด้วยการคิด เพราะจุดเริ่มต้นของการกระทำคือความคิด หากคิดดีการกระทำย่อมดี ส่งผลให้เราใช้ชีวิตอย่างมีความสุข แม้สิ่งที่เข้ามาอาจไม่ราบรื่นเสมอไป

อาม่าเล่าต่อว่าลูกค้าบางคนเราลงทุนทำไปแล้ว ใช้เงินมากกว่าครึ่งแสน แต่ลูกค้าไม่พอใจและยังขอเงินคืนอีก ทิ้งงานที่สามีเธอทำไว้อย่างไร้เยื่อใย แรกทีเดียวเธอโกรธ แต่ไม่นานด้วยคำสอนของอากงเธอจึงผ่อนโทสะนั้นลง

“อากงเขาสอนว่าคนเรานะ ถ้าไม่โง่ก็จะไม่ฉลาด เราเสียท่าเขาไปแล้ว ไม่ต้องคิดมาก เมื่อเขาไม่เอา เราก็เอาเงินคืนเขาไป ชื่อเสียงเราสร้างมานานมาก อย่าให้มันเสียเพราะเรื่องนี้เลย”

เธอเล่าว่าหลังจากนั้นอากงจะรอบคอบมากกว่าเดิม เพราะเรื่องนี้สาเหตุมาจากความไว้ใจสนิทสนมเห็นว่าเป็นคนเก่าคนแก่ งานต่อมาอากงต้องทำหลักฐานเรื่องการวางมัดจำ พูดคุยกับลูกค้าถึงข้อตกลงให้ตรงกันทั้งสองฝ่าย

“ให้อยู่รอดก็พอแล้ว อย่าหยุดเป็นคนดีแค่นี้ก็ใช้ได้ อย่าไปโลภมาก อย่าประมาท ทำอะไรเสมอต้นเสมอปลาย” อากงเสริมด้วยเสียงไม่ดังนัก

ถ้าถามว่าอะไรคือสิ่งที่ร้านนี้ยังครองใจลูกค้าเก่าๆ หลายคนอาจตอบว่าฝีมือ แต่สำหรับเราแล้วคิดว่าหัวใจของอากงคือคำตอบที่ดีที่สุด

ผ่อนคลายกับเจ้าเสือ

ผ่อนคลายกับเจ้าเสือ

คำบอกเล่าจากลูกศิษย์

เกียรติ หรือ ชูเกียรติ เหล็กดี ลูกศิษย์คนสุดท้ายของอากง หลังจากเขาจบ ป.6 ปู่นำเขามาฝากฝังไว้ให้เรียนรู้วิชากับอากง แต่นายช่างไม่มีคำสอนเป็นตำรา เขาต้องจำ ดู เข้าใจ และเป็นลูกมืออยู่ระยะหนึ่ง

เมื่อลูกศิษย์วัยหนุ่มบอกนายช่างว่าอยากทำงานเป็น พอมีลูกค้ามาที่ร้านอากงก็ให้เริ่มรับงานทันที
“ถ้าเราไม่เริ่ม เราก็ไม่เป็น”

น้าเกียรติกล่าวถึงอากงหรือที่เขาเรียกว่าลุงกิมอย่างอารมณ์ดี ขณะกำลังวัดขนาดเหล็กเพื่อจะเชื่อมซี่เหล็กให้กับพ่วงข้างรถมอเตอร์ไซค์

เขายิ้มเขินๆ เมื่อได้ยินอากงบอกว่าเขาเป็นคนที่เชื่อมเหล็กเก่งที่สุด น้าเกียรติเสริมว่าอากงกิมเป็นคนใจเย็น ไม่ว่าร้ายใคร

ทุกวันนี้เขาทำได้ทุกอย่างเพราะการฝึกฝนและเริ่มต้นด้วยความกล้า

“แต่บางคนก็ไม่เอา ได้แต่นั่งมองรอให้เขาเรียกใช้งาน ตอนแรกเจ็บตามาก เจ็บเป็นวันสองวัน ใช้แว่นไม่เป็น จับลูกตายังไม่ได้เลย

“เคยมีงานวิจัยพวกโครงงานของเด็กช่างที่อาจารย์ให้ส่งเยอะแยะ อย่างเครื่องคั้นน้ำส้มเราเป็นคนคิดนะ จดสิทธิบัตรด้วย แต่ไม่มีชื่อเรา”

พอได้ยินเรื่องโครงงานของพวกนักเรียน อากงก็เอ่ยขึ้นมาว่า “มันต้องมาคลุกคลี ไม่ใช่เรียนอย่างเดียว ต้องภาคปฏิบัติด้วย พวกนี้ถ้าโดนแสงจ้า ๒-๓ วันก็ไม่เอาแล้ว”

อันที่จริงอากงมีลูกศิษย์อยู่หลายคนทีเดียว พวกเขาเคยกินนอนด้วยกันตรงหลังร้านที่ปัจจุบันกลายเป็นห้องครัวของอาม่า แต่ส่วนใหญ่ก็นำวิชาความรู้ที่อากงเรียกว่าหลักสูตร “ฟิต กลึง อ๊อก” จากการทำงานที่สุพรรณยนต์ไปเปิดร้านเอง พวกเขากระจัดกระจายไปตามเส้นทางชีวิตของแต่ละคน เหลือเพียงน้าเกียรติที่ยังทำงานกับอากงเกือบ ๓๐ ปี

อากงไม่เคยรั้งลูกศิษย์ไว้ เพราะเขาคิดว่า “เกิดเป็นคนต้องสู้ เพราะชีวิตคือการต่อสู้ ศัตรูคือยากำลัง”

เมื่อเวลามาถึง สุพรรณยนต์ คงต้องปิดตัวลง

เมื่อเวลามาถึง สุพรรณยนต์ คงต้องปิดตัวลง

เมื่อถึงวันปิดร้าน

“เสียดายอะไร ซักวันมันก็ต้องจบ มันก็มีเท่านี้ ของมันมีเวลาหมด เราต้องเจียมไว้ ถ้าเราไม่เจียมเราจะลำบาก เราจะทุกข์”

นายช่างหัวเราะเสียงใสขณะนั่งอยู่หน้าบ้าน แมวที่เขาเลี้ยงทั้งหมด ๑๑ ตัวหมอบคุดคู้อยู่ตามกองเหล็กบ้าง เดินเล่นผ่านขาอากงบ้าง

เพราะสุพรรณยนต์ตั้งอยู่บนถนนเณรแก้วกว่า ๕๐ ปี และความจริงที่ว่าไม่มีอะไรคงทนตลอดไป

อากงในวัยย่าง ๘๐ ต้องถึงเวลาพักผ่อน เขาบอกว่าอีกไม่กี่ปีข้างหน้า เขาจะหยุดกิจการและไม่เคยเสียดายที่ไม่มีใครสานต่อ

ในครอบครัวชุติแพทย์วิภานั้นมีสมาชิกทั้งหมดสี่คน เขาและภรรยาคนแรกมีลูกสาวด้วยกันสองคน เมื่อภรรยาคนแรกเสียไป อาม่านิภาหรือภรรยาคนปัจจุบันก็ได้ดูแลและทำหน้าที่แม่ด้วยความรักและเอาใจใส่

ครอบครัวนี้มีอากงคนเดียวทำงานด้วยความหมั่นเพียรเลี้ยงส่งลูกสาวทั้งสองด้วยมือเปื้อนน้ำมันและกลิ่นสนิม

แม้เคยฝันอยากให้ลูกสาวเรียนสูงๆ เพื่อเป็นนักวิชาการคิดค้นเครื่องมือต่างๆ แล้วเตี่ยอย่างเขาจะเป็นคนผลิต แต่ในใจก็แย้งว่าไม่ว่าลูกจะทำอาชีพอะไร ก็ขอแค่ให้ลูกเป็นคนดีเหมือนกับที่เตี่ยเขาเคยสอนไว้ อากงจึงไม่เคยขีดกรอบให้กับลูกสาวทั้งสอง แต่เขาหารู้ไม่ว่ามือคู่ที่ขยันของเขาคู่นั้นเป็นแรงผลักดันให้ลูกสาวประสบความสำเร็จในการเรียนและการทำงาน

“เคยรู้สึกอายนะ ทำไมเตี่ยเนื้อตัวเปื้อนน้ำมัน ต้องนอนกับพื้นแล้วซ่อมรถ สตาร์ตเครื่องรถเสียงดังเหม็นกลิ่นน้ำมันมาก เราก็บ่นว่าเหม็นเมื่อไหร่จะเลิกทำนี่…แม่ได้ยินก็ตอบกลับว่ากลิ่นเหม็นน้ำมันนี่ละทำให้เรามีเงินกินใช้ ทำให้ลูกได้เรียนหนังสือ”

ครูพลอย หรือ ชมพลอย ชุติแพทย์วิภา ลูกสาวคนที่ ๒ ของอากงเล่าความหลัง ปัจจุบันเธอเป็นคุณครูสอนวิชาสังคมศึกษาของโรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดสุรินทร์

เธอเล่าว่าคำพูดของแม่จุดแสงสว่างในใจ

ด้วยคำพูดนี้ทำให้เธอยิ่งเห็นใจพ่อ เพราะรักจึงไม่อยากให้พ่อต้องลำบาก สิ่งที่เธอทำได้คือตั้งใจเรียนเพื่อให้พ่อแม่ได้ภาคภูมิใจ เธอบอกว่าการสานงานอู่ต่อนั้นเป็นเรื่องยากมากสำหรับลูกผู้หญิง
อากงภูมิใจกับลูกสาวทั้งสองคนมากยามเราถามถึง

เขาภูมิใจที่ครูผู้สอนวิชาภูมิศาสตร์คนนี้ทำประโยชน์ให้กับสังคม เป็นแม่พิมพ์ของประเทศชาติ

…..

“หากินกันจนหนังหน้าเหี่ยว กว่าจะได้ขบเขี้ยวก็ย่างวัยชรา ฟันฟางจนจะหักหมดปาก ตามัวจนจะมองไม่เห็น ริ้วรอยของความลำเค็ญ ดูเส้นเอ็นปูดโปน”

อากงและอาม่าร้องเพลงนี้หยอกล้อกันที่หน้าบ้าน

แสงยามเย็นค่อยหมดลงอย่างช้าๆ ประตูเหล็กม้วนด้านซ้ายปิดสนิทแล้วด้านหนึ่ง รอให้เจ้าของร้านสุพรรณยนต์ดึงประตูอีกข้างลง

ประตูที่เมื่อปิดแล้วอาจทำให้ร้านมืดสนิทชวนให้อารมณ์เหงาเข้ามาแทรกซึม

แต่เราเชื่อว่าเช้าวันรุ่งขึ้นมันจะเปิดออกแล้วทุกอย่างจะดำเนินไปอย่างที่เป็นมา

คำพูดของอากงลอยแว่วเข้ามาในโสตประสาท

“ชีวิตมันก็เท่านี้”…อย่าไปคิดมากเลย

banner-camp-12-for-web