ผลงานจากค่ายสารคดีครั้งที่ 12
งานเขียนดีเด่น
เรื่อง : ดุสิต ระเบียบนาวีนุรักษ์
ภาพ : พีรพัฒน์ จารุสมบัติ

A Life of Guitar Maker : วิรุฬ ทรงบัณฑิต

ประตูสู่สถานที่แห่งนึง ที่เป็นจุดกำเนิดเครื่องดนตรียอดนิยมชนิดนึง

น่าลำบากใจสักนิดหากจะจัดอันดับกีฬาหรืออาหารที่ได้รับความนิยมสูงสุด

แต่สำหรับโลกดนตรีแล้ว เครื่องไม้สายเหล็กนามว่า “กีตาร์” ถือเป็นราชาครองใจคนทุกชนชาติ เข้าถึงคนทุกชนชั้น

เจ้าแห่งไม้ส่งเสียงชนิดนี้อาจเด่นพราวอยู่ในตู้โชว์ของศักดินาผู้สูงส่ง หรือมอมซอมซ่อเป็นคู่ชีวิตศิลปินข้างถนนผู้หาเช้ากินค่ำ

เป็นสำเนียงภาษาดนตรีที่รับฟังเข้าถึงความรู้สึกได้ทุกผู้คน

ร่วมหลายรอบศตวรรษหากย้อนไปยังยุคที่กีตาร์ได้รับการรังสรรค์ แต่เพียงไม่กี่สิบปีเท่านั้นที่กีตาร์ได้ถูกเหล่าช่างไม้ฝีมือดีคนไทย ใช้ทักษะประกอบสร้างเป็นชิ้นงานเลี้ยงชีพ

“ครูรักษ์ ชิงสกล คือครูคนแรกของผม”

วิรุฬ ทรงบัณฑิต หรือช่างนิด บอกด้วยใบหน้าฉีกยิ้ม มือทั้งสองยังง่วนอยู่กับอุปกรณ์พ่นสีเตรียมเคลือบเงาให้ชิ้นงานที่ประกอบเสร็จ

ด้วยความเป็นคริสเตียน ต้องเข้าโบสถ์ร้องเพลงเล่นกีตาร์ เสียงดนตรีจึงไหลเวียนเป็นเส้นเลือดหล่อเลี้ยงกายของเขามาตั้งแต่เด็ก จนกระทั่งเส้นทางชีวิตพลิกผันจากผู้เล่นมาเป็นผู้สร้างกีตาร์ให้กับนักดนตรีตัวน้อย ลูกชายของเขาเอง ที่เริ่มส่อแววเปล่งแสงทางดนตรี ด้วยเหตุผลว่ากีตาร์ตามท้องตลาดขนาดใหญ่เกินไปสำหรับลูกชาย

แม้สู้ชิ้นงานอุตสาหกรรมมีตราโลโก้ไม่ได้ แต่นับเป็นก้าวสำคัญที่ทำให้ช่างไม้ฝึกหัดรู้ว่ารายละเอียดเล็กน้อยที่ต้องใช้ทักษะขั้นสูงนั้นคือหัวใจสำคัญที่สุดของงาน

“เราไม่รู้รายละเอียดอะไรเลย ไม่รู้แม้กระทั่งว่าอาชีพทำกีตาร์นั้นมีมาก่อนแล้ว แต่เป็นวงแคบจำกัด จึงเริ่มหาวิชาเพื่อเรียน ก็พบกับครูรักษ์ ซึ่งเป็นครูคนแรกของผม”

แม้ฝีมือช่างของคนไทยนั้นจะได้รับการยอมรับจากทั่วโลก แต่อาชีพคนทำกีตาร์ก็มีช่างที่แทบนับนิ้วได้

“แค่หาไม้ก็ยากแล้ว เพราะบ้านเราถือว่าผิดกฎหมาย ต้องสั่งจากต่างประเทศและมีความเฉพาะเจาะจง เช่น ไม้สน เราเลือกใช้ไม้เมืองหนาวจากสวิตเซอร์แลนด์ ส่วนประกอบด้านข้างใช้อินเดียนโรสวูดจากอินเดีย”
นายช่างใหญ่สาธยายชื่อและคุณสมบัติของเนื้อไม้อีกหลายประเภท บ่งบอกทักษะและประสบการณ์อันเจนจัดที่สั่งสมมาทั้งชีวิต

ทั้งนี้โรงงานในต่างประเทศอันเป็นแหล่งแปรรูปและส่งออกไม้ แยกเกรดไม้เพื่อเป็นวัสดุทำเครื่องดนตรีโดยเฉพาะ ต่างจากไม้ใช้ทำเฟอร์นิเจอร์หรืองานประกอบอื่นๆ

ไม้คุณภาพดีไม่ได้บ่งบอกว่าเสียงดี ขึ้นอยู่กับฝีมือของช่างและเคล็ดลับ ดั่งสูตรอาหารซ่อนความเฉพาะตัวของพ่อครัวไว้

……………….

ช่างนิด กับหนึ่งในผลงานที่ภูมิใจ กีต้าร์ตัวงามที่ผ่านการกลั่นกรองมาจากประสบการณ์ของเค้า

บรรดาใบประกาศต่างๆ รูปภาพในอดีต สามารถบอกเล่าเรื่องราวของชายผู้นี้ได้เป็นอย่างดี

กลิ่นของเนื้อไม้ที่ถูกตัด ขัด เหลา ฟุ้งอบอวลในห้องทำงานเล็กๆ

ช่างทำกีตาร์ห้าหกคนกำลังหยิบฉวยเครื่องมืออย่างคล่องแคล่ว พวกเขาล้วนเป็นลูกศิษย์หรือนักเรียนของ วิรุฬ ทรงบัณฑิต

วิรุฬบอกว่าปัจจุบันเริ่มมีคนหันมาสนใจมากขึ้น ทั้งซื้อขาย กระทั่งอยากเป็นผู้ผลิตประดิษฐ์ชิ้นงาน ซึ่งต้องใช้เวลาเรียนถึง ๓ เดือน จึงได้กีตาร์ผลงานตัวแรก

ก่อนจะมาเป็นผู้สอนและมีทักษะขนาดนี้ นอกจากร่ำเรียนกับครูไทย ยังเดินทางไปเรียนถึงต่างประเทศ ญี่ปุ่น เยอรมนี และสเปน อันเป็นเชื้อชาติของ José L. Romanillos ปรมาจารย์กีตาร์แฮนด์เมดระดับโลก ซึ่งเปิดรับศิษย์เพียง ๒๐ คนต่อปีเท่านั้น

“อาชีพนี้ไม่ง่าย ไม่มีการเรียนลัด ผมเองทำอยู่ทุกวัน ฝีมือก็พัฒนาขึ้นทุกวัน และต้องมีใจรัก เพราะหลายคนมองเห็นเพียงเม็ดเงินที่ได้รับ แต่กลับไม่ใส่ใจเข้าใจในดนตรี สุดท้ายก็ต้องเลิกไป”

ระยะเวลาสำหรับเรียนทำกีตาร์ประมาณ ๓ เดือนนั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ใครก็เข้ามาเรียนได้ เพราะห้องเรียนมีจำกัด หากนักเรียนเต็มจะต้องรอจนใครคนหนึ่งจบการศึกษาจึงมีสิทธิ์ต่อคิวเรียน ลูกศิษย์ก็มีเข้ามาตั้งแต่ระดับเริ่มต้นจนถึงช่างฝีมือ

การเลาไม้เพื่อให้กลายมาเป็นกีต้าร์สักตัว

ช่างนิดกำลังสอนและแนะนำการเลื่อยไม้ที่ถูกต้องให้กับลูกศิษย์อย่างใกล้ชิด

นักเรียนกีต้าร์กำลังเลื่อยไม้ด้วยความมุ่งมั่น เพราะจะพลาดไม่ได้เลยแม้แต่นิดเดียว

ปริณทร์ นวชาตโฆษิต เด็กหนุ่มอายุ ๑๖ ปี จากโรงเรียนนานาชาติ นักเรียนใหม่กำลังรับฟังคำแนะนำจากช่างนิดเรื่องการตัดและตะไบไม้ให้แม่นยำตามสเกล

“ผมสนใจการทำกีตาร์มานานแล้วครับ เราหลงใหลและอยากทำด้วย แต่ต้องรอให้ปิดเทอมถึงจะได้มีเวลามาเรียน”

ปริณทร์โต้ตอบด้วยแววตามุ่งมั่น เขาใช้เวลาร่วม ๒ ชั่วโมงเดินทางจากสมุทรปราการด้วยรถไฟฟ้า BTS มาถึงสถานีพญาไท อันเป็นตำแหน่งของห้องเรียน เมื่อถามถึงค่าใช้จ่าย ก็ได้รับคำตอบว่าคุณพ่อเป็นผู้สนับสนุน

“พ่อชื่นชอบกีตาร์อยู่ก่อนแล้ว ตัวผมก็ฝึกเล่นกับเพื่อนๆ และให้คุณพ่อสอนทักษะให้บ้าง จากนั้นก็เรียนระดับสูงขึ้น จนกระทั่งพ่ออยากให้ผมมีทักษะช่างด้วยจึงสนับสนุนอย่างเต็มที่ และถือเป็นโอกาสดีเพราะได้มาเรียนกับครูนิด”

นับเป็นเรื่องน่าชื่นชมที่เด็กรุ่นใหม่ให้ความสำคัญและสนใจกับงานไม้ทำมือ ท่ามกลางสังคมที่เสพงานสำเร็จรูปจนชินชา

นอกจากห้องทำงานแบ่งโต๊ะเฉพาะของช่างแต่ละคนแล้ว ยังมีห้องสำหรับเครื่องจักรหนักบางประเภท เช่น เครื่องขัด เครื่องตัด มุมห้องมีชั้นกล่องไม้เรียงเป็นตู้ ไม่มีฝาปิด ทำหน้าที่เก็บเศษไม้นับพันชิ้น

“นอกจากขี้เลื่อย แม้เป็นแค่เศษไม้เราก็ไม่ทิ้งทั้งสิ้น เพราะสามารถใช้งานได้หมด และเราก็ซ่อมกีตาร์ด้วย”

วิรุฬไม่ใช่คนประกอบแผ่นไม้เสร็จแล้วรับเงิน แต่มองเห็นถึงคุณค่า การใส่ใจและให้ความสำคัญกับรายละเอียดเล็กๆ อย่างไม่เคยทิ้งขว้าง ทำให้ช่างทำกีตาร์หรือครูคนนี้เป็นที่ยอมรับนับถือในวงการ

“ช่างครับ รบกวนดูให้หน่อย” นิทัศน์ แซ่ล้อ ขอความช่วยเหลือ

หลังจากครูแก้ไขปัญหาให้เรียบร้อยแล้ว เขาก็ใช้กระดาษทรายเบอร์ละเอียดลูบไล้ชิ้นงานต่อไปอย่างบรรจง

“ด้วยชื่อเสียงและความเชื่อมั่น เราคิดว่าหากได้ครูสอนดี เราก็มีวิชาติดตัวดี” นิทัศน์เดินทางจากเชียงใหม่เพื่อขอเป็นศิษย์ร่ำเรียนเคล็ดลับวิชาทำกีตาร์ ต้องเช่าห้องอยู่ในย่านนี้จนกว่าจะเรียนจบหลักสูตร หากว่ากันตามปีเกิดแล้วดูเหมือนเขาจะแก่กว่าช่างนิดด้วยซ้ำ

เหตุผลที่หนุ่มใหญ่ต้องมาไกลถึงเพียงนี้เพราะตัวเขาเองก็ประกอบอาชีพซ่อมกีตาร์ แต่ลองผิดลองถูกทำด้วยตัวเองได้ผลไม่น่าพอใจนัก

“เราซ่อมเฉพาะบางจุดแบบเล็กๆ น้อยๆ อย่างมีลูกค้าเอากีตาร์แพงๆ มาให้ซ่อมเราก็ไม่กล้ารับ แต่พอมาเรียนก็เกิดความมั่นใจ ในเมื่อวิชานี้สามารถสร้างกีตาร์ราคาเป็นแสนบาทได้ หากเราเรียนจบไป แม้สินค้ามีราคาหลายหมื่นเราก็กล้าซ่อม เพราะมั่นใจในฝีมือ”

หากพูดถึงจุดเริ่มต้นสนใจดนตรีของนิทัศน์ก็ค่อนข้างแปลก เพราะเริ่มจากความพยายามผลักดันลูกชายลูกสาวให้ได้เรียนวิชาดนตรี แต่ก็ผิดหวัง เขาจึงเริ่มทดลองศึกษาเองจนกลายเป็นผู้หลงรักในมนตร์เสน่ห์ของกีตาร์ไปแทน

เส้นอายุที่คั่นพรมแดนดนตรีจึงไม่เคยมีอยู่จริง

………………

เมื่อมองจากด้านนอกเข้าไปในห้องนี้ ทำให้แปลกใจว่า กีต้าร์ที่ดีหนึ่งตัวไม่จำเป็นต้องมาจากโรงงานใหญ่ๆ

บรรยากาศของสถานที่สร้างเครื่องดนตรี ที่เรียกว่ากีต้าร์

ตลอดเวลาที่ห้องทำงานเปิด มักมีอาคันตุกะเข้ามาเสมอ

กระเป๋าทรงสูงที่แบกอยู่บนหลังคือลูกรักที่กำลังป่วย พวกเขาถึงที่นี่ด้วยความไว้วางใจ รู้ฝีมือและราคาค่างวด แต่บางครั้งตัวเลขก็ไม่ใช่สิ่งสำคัญ เพราะไม่น้อยเลยที่ลูกค้านำกีตาร์ราคาไม่กี่พันบาทมาให้เขาซ่อม

“กีตาร์บางตัวยังสามารถหาซื้อได้ตามท้องตลาดทั่วไป แต่ลูกค้าไม่เอา อยากได้ตัวเดิมที่แม้จะพังจนไม่มีชิ้นดี บางกรณีเป็นกีตาร์ตัวแรก บางทีเป็นตัวที่รักมาก แพงเท่าไรเขาก็ยอมจ่าย”

เมื่อถามถึงราคาค่าซ่อมของกีตาร์ที่มีมูลค่าสูง ช่างคิดราคาอย่างไร

ช่างนิดบอกว่า “เราไม่ตีราคาซ่อมจากราคาเดิมของกีตาร์ การที่เขาเลือกให้เราซ่อมแม้ราคาเดิมจะไม่กี่สตางค์ แสดงว่ามันต้องมีคุณค่ากับเขาทางจิตใจมากกว่าค่างวด อย่างคอกีตาร์หัก ต่อให้กีตาร์ตัวละเป็นแสน ผมก็ซ่อมแค่ ๒,๕๐๐ บาท หรือกีตาร์ตัวละ ๓,๐๐๐ ผมก็ซ่อม ๒,๕๐๐ บาท เราไม่แบ่งระดับสิ่งที่เรารักจากราคา

“หากมีจุดผิดพลาดเกิดขึ้นจากสินค้าของเรา โดยลูกค้าไม่สามารถรับได้ เราจะไม่แก้ไข แต่ทำใหม่ให้เลย เพราะนี่ถือเป็นความรับผิดชอบของเรา แต่ตลอดชีวิตการทำงานนั้นยังไม่เคยเกิดกรณีนี้ขึ้นแม้แต่ครั้งเดียว”
นอกจากงานซ่อม ยังมีงานออร์เดอร์ตั้งแต่ออกแบบจนกระทั่งขึ้นสายส่งมอบงานใช้เวลาราว ๑ เดือน กีตาร์บางตัวมีความพิเศษ รายละเอียดค่อนข้างเยอะ ก็อาจใช้เวลาถึง ๕ เดือน ราคาอยู่ในระดับหลักแสนบาทขึ้นไป แต่ในมุมมองของคนส่วนใหญ่ยังมองว่างานของคนไทยทำควรมีราคาต่ำกว่าต่างประเทศ และบางครั้งตัดสินก่อนแล้วว่าไม่มีคุณภาพสู้กับแบรนด์ดังๆ ทั้งที่ยังไม่ได้ลองสัมผัส

“เป็นเรื่องปรกติ สินค้ามีราคาสูง เพราะเราเลือกวัสดุที่ดี ฝีมือประณีต หากทำแล้วให้เสียงไม่ต่างจากท้องตลาดก็อย่าทำเสียดีกว่า เพราะนี่คืออาชีพเรา กีตาร์ดี ชื่อเสียงก็ดี”

มุมหนึ่งของห้องทำงานมีสังคมเล็กๆ ของวัยรุ่นอายุราว ๒๕-๓๐ ปี จับกลุ่มคุยกันอย่างเป็นกันเองแบบออกรสออกชาติ หัวข้อสนทนาหนีไม่พ้นเรื่องของดนตรี หนึ่งในนั้นคือ อัครินทร์ ปูรี หนุ่มลูกครึ่งรูปงาม กำลังทำ kerfed lining หรือกระดูกงู ด้านชั่วโมงบินการทำกีตาร์ของเขาพอจะเรียกราคาได้ถึงครึ่งแสน แต่สิ่งที่น่าสนใจไม่ใช่จำนวนเงินที่เขาได้รับ กลับเป็นเบื้องหลังชีวิตแบบพลิกไปมาราวกับเสียงสูงต่ำของกีตาร์

“ตอนเด็กเราเป็นลูกครึ่ง สมัยก่อนเราโดนล้อ แต่เราไม่ยอมก็เริ่มชกต่อย พอโตขึ้นเลยติดนิสัยกลายเป็นอันธพาล มีพรรคมีพวก สุดท้ายก็ติดยาต้องเข้าออกสถานพินิจฯ เป็นว่าเล่น แล้วก็ร้ายแรงจนถึงเข้าเรือนจำ”
น้ำเสียงและแววตาเป็นมิตรดูแล้วช่างไม่มีเค้านักเลงเจือปนอยู่เลยแม้แต่น้อย

เมื่อพ้นโทษ สิ่งหนึ่งที่เขาต้องการคือโอกาสและการยอมรับจากสังคม

“พอผมพ้นโทษพี่แหลมที่เป็นญาติกันเขาก็สอนทำกีตาร์ เขาเป็นลูกศิษย์ครูนิด พอได้เรียนรู้เบื้องต้น ผมจึงขอมารับทักษะเพิ่มจากครูนิด”

สถานะของคนสองวัยขณะนี้ไม่ใช่ลูกศิษย์กับครูแล้ว แต่กลายเป็นเสมือนคนในครอบครัว และทั้งคู่ยังเป็นคริสเตียนเหมือนกัน ความมีน้ำใสใจจริงชอบช่วยเหลือผู้อื่นของวิรุฬ ปูโต๊ะยื่นเครื่องมือ เปิดโอกาสให้อดีตหนุ่มนักเลงได้มีอาชีพ และที่สำคัญเขารักและหลงใหลมันมาก

ด้านฝีมือของอัครินทร์นั้นเป็นที่รู้จักพอสมควร แต่เขาบอกว่าลูกค้ามักเป็นคนกำหนดราคา ลูกค้าคนหนึ่งของเขาก็คือพี่ปุ๊ อัญชลี

แม้เป็นความไม่ตั้งใจที่ชีวิตได้มาวิ่งอยู่บนเส้นทางสายสร้างเครื่องดนตรี แต่มันคือสิ่งที่เขารักมากที่สุด

“ระยะเวลาหลายปีนี้จริงๆ แล้วชีวิตผมมีหลายลู่ทาง แต่เราทำด้วยใจรักศิลปะ เพราะที่ผ่านมาชีวิตผมแย่ การทำงานโดยใช้ฝีมือแบบนี้ทำให้เราจดจ่ออยู่กับมัน เรามีสมาธิ และสุดท้ายเมื่องานออกมาแล้วคือความภูมิใจที่ได้เห็นคนอื่นชื่นชอบผลงานและพวกเขาก็รักมัน”

น้ำเสียงนั้นดูห้าวสมกับวัย ไม่เพียงตัวเขาเองเท่านั้น แต่ทุกคนในห้องนี้ก็ล้วนมีที่มาแตกต่างกัน คงไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่คนต่างวัย ต่างสถานภาพ จะสละเวลาทั้งหมดให้กับสิ่งนี้

………………….

พี่นิเทศ ชายผู้มุ่งมั่น กำลังเล่าประสบการณ์เกี่ยวกับอาชีพคนทำกีต้าร์ของเค้า

พี่หรั่งหรือช่างหรั่ง ผู้ที่มีประสบการณ์ชีวิตที่ไม่ธรรมดา กำลังถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตของเค้า

เสียงตอกตามจังหวะของค้อนยางดูจะเงียบหายไป กบไสไม้อยู่ในมือช่างดังครืดๆ กลับไร้ตัวตน แม้แต่สรรพสำเนียงของมนุษย์ก็อันตรธานไปตามแผ่นไม้ ดั่งฝูงชนแตกฮือแหวกทางให้วีรบุรุษผู้เลอโฉม

แว่วเสียงดนตรีซ่านหวานกังวานใส ประดุจเพชรอาบน้ำผึ้งเดือนห้า ลอยละลิ่วจับกับผงธุลีที่ปลิวคลุ้งอยู่ทั่วห้อง

ไม่มีโสตประสาทของสิ่งมีชีวิตชนิดใดบนโลกที่ได้ยินแล้วจะไม่หลงใหล ต่อให้ดอกไม้เฉาตายยังฟื้น

เมื่อกวีตัวโน้ตจบลง เสียงปรบมือและความฮือฮาครางอยู่ในลำคอของผู้สดับรับฟังก็สวนตอบกลับมา

การลองกีตาร์เพื่อวิเคราะห์สุ้มเสียงของช่างผู้รังสรรค์เกิดขึ้นครั้งแรกจากพรมนิ้วของบุคคลในห้องทำงานเล็กๆ ที่กรีดกรายขับลำนำ ก่อนที่เพชรน้ำเอกชิ้นแล้วชิ้นเล่าจะไปโลดแล่นอยู่บนเวทีหรือบันทึกลงแผ่นเสียง

วิรุฬบอกว่า “นอกจากช่างต้องชำนาญด้านงานไม้แล้ว หนึ่งสิ่งที่คู่ขนานไม่แพ้กันคือทักษะการเล่นกีตาร์ขั้นสูง เพราะต้องฟังเสียงเป็น เทียบเสียงได้ รู้โน้ตและคาแร็กเตอร์ของกีตาร์แต่ละตัวเป็นอย่างดี”
เบื่อกับมันบ้างไหม เราถามช่างนิดก่อนห้องทำงานนี้จะลงกลอนปิดประตู

“ไม่เลยแม้สักครั้งเดียว ผมสดใหม่กับมันทุกวันเหมือนเพิ่งจับกีตาร์ครั้งแรก นั่งจิบกาแฟตอนเช้ายังคิดเสมอว่าวันนี้เราจะทำอะไร จะสอนอะไรนักเรียนต่อ เพราะเราสนุกกับมัน เหมือนไม่ได้ทำงาน แต่ละวันมีนักเล่นทั้งหน้าใหม่หน้าเก่า ทั้งเก๋า หรือเพิ่งหัดเล่น เข้ามาพูดคุยตลอดเวลา ทำให้เราสนุกและพยายามพัฒนาฝีมือตัวเองให้เทียบเท่าระดับโลก”

……………….

น่าแปลกใจหรือปรกตินั้นสุดจะกล่าว เมื่อเราขอชื่นชมกีตาร์ของเขา

ความคาดหวังของเราคือต้องงามระยับระดับสินค้าประมูล หรืออยู่ในตู้กระจกเก็บรักษาไว้อย่างดี

แม้ช่างผู้มากด้วยฝีมือจะมีลูกศิษย์จากทั่วประเทศ ชิ้นงานของเขาตกไปอยู่ในมือศิลปินระดับโลกมากมาย

แต่คำตอบคือ วิรุฬ ทรงบัณฑิต ไม่มีกีตาร์เป็นของตัวเองแม้แต่ตัวเดียว

banner-camp-12-for-web