[Best_Wordpress_Gallery id=”17″ gal_title=”closecamp12″]
จบหลักสูตร “สร้างคนบันทึกสังคม” ไปอีกหนึ่งรุ่น กับโครงการค่ายสารคดี ครั้งที่ 12 ซึ่งในปีนี้จัดขึ้นโดยความร่วมมือของนิตยสารสารคดี และภาคีสร้างคนบันทึกสังคม บริษัทวิริยะประกันภัย จำกัด(มหาชน) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน) บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
หลังจากเหล่านักเขียนและช่างภาพได้ผ่านการเรียนและแบบฝึกหัดสุดโหดตลอดเวลา 4 เดือนในห้องเรียนค่ายสารคดี เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2559 ก็เป็นวันสำเร็จการศึกษาและเป็นชั่วโมงเรียนสุดท้ายของค่ายสารคดี ครั้งที่ 12
ช่วงเช้าเป็นการสรุปบทเรียนจากครูเขียนและครูภาพ เริ่มจาก “วิชาสุดท้ายที่ค่ายไม่ได้สอน” โดยครูฝ่ายเขียน อรสม สุทธิสาคร วิวัฒน์ พันธวุฒิญานนท์ และวีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง ส่วนฝ่ายภาพทิ้งท้ายด้วย “สำนึกก่อน Share” โดยบุญกิจ สุทธิญาณานนท์ ประเวช ตันตราภิรมย์ และวิจิตต์ แซ่เฮ้ง ก่อนปิดท้ายกับบทเรียน “สู่โลกของความจริงและโลกของสารคดี” ข้อคิดจากนักสารคดีมืออาชีพ วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ บรรณาธิการที่ปรึกษานิตยสารสารคดี และผู้อำนวยการฝ่ายข่าว สถานีโทรทัศน์ PPTV
ในช่วงบ่ายผู้ผ่านการอบรม แบ่งเป็นนักเขียน 24 คน ช่างภาพ 25 คน เข้ารับประกาศนียบัตร โดยมีคุณสุดใจ พรหมเกิด ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) คุณกานดา วัฒนายิ่งสมสุข ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารองค์กรบริษัทวิริยะประกันภัย จำกัด(มหาชน) คุณสิริน สุวรรณเจษฎา ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายการตลาดองค์กร บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด และคุณสุวัฒน์ อัศวไชยชาญ บรรณาธิการบริหารนิตยสารสารคดี ให้เกียรติมอบใบประกาศฯ
จากนั้นเป็นการประกาศรางวัลงานเขียนและชุดภาพสารคดีดีเด่น โดยมีผลรางวัลดังต่อไปนี้
ประเภทชุดภาพสารคดี ได้แก่
รางวัลอันดับ 1
สารคดีเรื่อง การเดินทางของอาหารที่ไม่ได้กิน
โดย สิริพงศ์ ลี้วุฒิกุล
ความเห็นจากคณะกรรมการ
การเลือกเรื่องส่งผลกระทบในเชิงลึกกับสังคม ให้สังคมตระหนักถึงปัญญาของอาหารที่เหลือ ด้วยมุมกล้องที่ถ่ายอย่างพิถีพิถัน.
รางวัลอันดับ 2
สารคดีเรื่อง ซุปเปอร์มาเก็ตชาวอาข่า
โดย เอื้อการย์ เบ็ญจคุ้ม
ความเห็นจากคณะกรรมการ
สะท้อนให้เห็นถึงการใช้ทรัพยากรรอบตัว ในสังคมที่ใช้ดำรงอยู่ร่วมกับธรรมชาติ
รางวัลอันดับ 3
สารคดีเรื่อง ตลาดวัวควาย : โลกที่อยู่บนเกวียน
โดย ณัฐพล ศิลปชัย
ความเห็นจากคณะกรรมการ
เลือกใช้เทคนิคภาพถ่ายขาว-ดำ ได้เหมาะสมกับการเล่าเรื่อง และสื่ออารมณ์ได้ดี
รางวัลชมเชย
สารคดีเรื่อง น้ำแข็ง สิ่งมหัศจรรย์ของคนเมืองร้อน
โดย ภาณุรุจ พงษ์วะสา
ความเห็นจากคณะกรรมการ
เลือกสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวและนำเสนอมุมมองที่น่าสนใจ
รางวัลชมเชย
สารคดีเรื่อง เด็ดปีกแมลงสะเทือนถึงดวงดาว
โดย พีรพัฒน์ จารุสมบัติ
ความเห็นจากคณะกรรมการ
จับประเด็นเล่าเรื่องได้ดี น่าสนใจ
ประเภทงานเขียนสารคดี ได้แก่
รางวัลอันดับ 1
สารคดีเรื่อง การเดินทางของอาหารที่ไม่ได้กิน
โดย สุภัชญา เตชะชูเชิด
ความเห็นจากคณะกรรมการ
เป็นประเด็นที่สามารถกระตุ้นเตือนจิตสำนึกของผู้คนร่วมสมัย นำคนอ่านไปพบสิ่งที่ไม่เคยรู้ ผ่านการเล่าเรื่องแบบเป็นกันเอง สะท้อนความรู้ จากการเสาะหาข้อมูลของผู้เขียน มีการวางลำดับโครงเรื่องที่ชวนติดตาม
รางวัลอันดับ 2
สารคดีเรื่อง บุกครัวโรงพยาบาล จากต้น (วัตถุดิบ) จนเสิร์ฟ : สุขภาพดีเริ่มที่จานข้าว
โดย ธิรินทร นันทโรจนาพร
ความเห็นจากคณะกรรมการ
งานสารคดีที่ถือเป็นคุณูปการต่อสังคมอย่างยิ่ง ในการนำเสนอถึงความพยายามจัดหาหุงปรุงอาหารที่ดีและปลอดภัยให้กับผู้ป่วยในโรงพยาบาลเชียงรายฯ ที่อาจเป็นแรงดาลใจและและควรเป็นต้นแบบให้กับโรงพยาบาลอื่นทุกแห่ง ด้วยการเล่าเรื่องที่ครอบคลุม เห็นที่มาที่ไป แนวคิด ต้นทุน ความตั้งใจของคนทำ ที่หลอมรวมกันอยู่อย่างกลมกล่อมหอมหวานในผลงานชิ้นนี้
รางวัลอันดับ 3
สารคดีเรื่อง แม่ปลากับคน ชุมชนชีวิตช่วงฤดูน้ำแดง
โดย รัศมิ์ลภัส กวีวัจน์
ความเห็นจากคณะกรรมการ
ผลงานที่ให้ความรู้สึกถึงความสมบุกบันของการลงไปคลุกคลีพื้นที่ภาคสนาม ได้กลิ่นดินกลิ่นน้ำกลิ่นฝน และนำเสนอแบบดิบๆ ตรงไปตรงมาไม่ประดิดประดอย ได้น้ำเนื้อและอารมณ์ที่สดใหม่ไม่ปรุงแต่ง โดยมีจุดเด่นอันหนักแน่นที่ประเด็นหลักของเรื่อง คือการอยู่รอดของปลาในแม่น้ำตะวันตกที่หมายถึงความมั่นคงทางอาหารโปรตีนของคนท้องถิ่นตรง
รางวัลชมเชย
สารคดีเรื่อง สารคดีเรื่องภาพอาหาร…เมื่อมองผ่านสมอง
โดย วรัญญา เชาว์สุโข
ความเห็นจากคณะกรรมการ
สารคดีทันสมัยนำเสนอเรื่องที่คนส่วนใหญ่อาจไม่เคยคิดไม่เคยรู้ วัฒนธรรมอาหารการกินแห่งยุคสมัยไม่ใช่แค่การประทังความหิวหรือหล่อเลี้ยงร่างกายอีกต่อไปแล้ว แต่ยังมีอีกหลากหลายปัจจัย-ตัวแปรเป็นสิ่งเร่งเร้า และการจูงใจผ่าน “ภาพ” ก็ถือเป็นอีกกลยุทธ์สำคัญอย่างหนึ่ง ดังที่ผู้เขียนได้นำมาเปิดเปลือยไว้ในงานเขียนเรื่องนี้
รางวัลชมเชย
สารคดีเรื่อง ภัตตาคารคนจน และการดิ้นรนของชีวิต
โดย นิราวัฒน์ นารอด
ความเห็นจากคณะกรรมการ
สารคดีที่มีจุดเด่นด้านวรรณศิลป์ เล่าเรื่องราวของร้านอาหารอีสานริมทางได้อย่างได้รส กลิ่น เสียง(อึงอลขอบงรถราบนท้องถนน) และเห็นน้ำเนื้อของชีวิตแม่ค้าที่จากท้องนามาแสวงหาที่ชีวิตที่ดีกว่าในเมืองหลวง ร้านของเธอเป็นที่ฝากท้องราคาย่อมเยาว์และเป็นแหล่งพบปะของบรรดาเสี่ยวอีสานคนบ้านเดียวกัน
โดยผลงานสารคดีชุดสุดท้ายนี้จะถูกคัดสรรและพิจารณาเพื่อตีพิมพ์และเผยแพร่ต่อไป สามารถติดตามและร่วมพิสูจน์ผลงานของนักเขียนและช่างภาพจากค่ายสารคดี ครั้งที่ 12 ได้ใน นิตยสารสารคดี ฉบับเดือนตุลาคม 2559