สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ : สัมภาษณ์
ประเวช ตันตราภิรมย์ : ถ่ายภาพ
ตั้งแต่ต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาหลายคนคงได้รับการเชิญชวนจากบรรดาธนาคารให้ใช้บริการใหม่เอี่ยม “พร้อมเพย์” (PromptPay) ที่ประชาสัมพันธ์ไว้ว่าเป็นการโอนเงินและชำระเงินที่สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย โดยใช้เลขบัตรประจำตัวประชาชน ๑๓ หลัก หรือหมายเลขโทรศัพท์มือถือ ๑๐ หลัก แทนการระบุหมายเลขบัญชีธนาคาร
สิ่งที่ผู้สนใจใช้บริการนี้ต้องทำ คือการลงทะเบียนกับธนาคารต่าง ๆ เพื่อผูกเลขบัตรประชาชน หรือเบอร์โทรศัพท์มือถือ กับเลขบัญชีธนาคารของผู้ใช้บริการ โดยลงทะเบียนได้หลายช่องทาง ทั้งการไปที่ธนาคารสาขา ทำผ่านตู้เอทีเอ็ม (ATM) และระบบออนไลน์อย่าง internet banking หรือ mobile banking ที่ตนใช้บริการอยู่แล้ว ตามแต่ใครจะสะดวก
ตั้งแต่วันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๕๙ การลงทะเบียนผูกบัญชีจึงจะเกิดขึ้นจริงในระบบคอมพิวเตอร์ของธนาคาร
แต่กว่าระบบให้บริการพร้อมเพย์ โอนเงิน ชำระเงิน โดยใช้เลขบัตรประชาชนหรือเบอร์โทรศัพท์มือถือที่เรียกกันว่า Any ID (นานานาม) แทนการระบุเลขที่บัญชีธนาคาร จะเริ่มเปิดการใช้งานจริงก็เดือนตุลาคม ๒๕๕๙
นอกจากนี้ยังมีการประชาสัมพันธ์ว่าประชาชนที่รับเงินสวัสดิการจากรัฐ ไม่ว่าจะเป็นเบี้ยคนชรา เงินช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ฯลฯ ต้องมาลงทะเบียนผูกบัญชีกับเลขบัตรประชาชนตั้งแต่วันที่ ๑๕ กรกฎาคมเช่นกัน เพื่อให้รัฐจ่ายเงินสวัสดิการเข้าบัญชีของผู้รับสวัสดิการโดยตรง ซึ่งตามแผนงานจะเริ่มเปิดระบบนี้ในเดือนกันยายน ๒๕๕๙
ความจริงทั้งพร้อมเพย์ Any ID หรือการจ่ายเงินสวัสดิการเข้าบัญชีผ่านเลขบัตรประชาชน เป็นเพียงส่วนหนึ่งของแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของ “ระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ” (National e-Payment) ซึ่งยังมีระบบงานอีกหลายส่วนกำลังทยอยเปิดตัวสู่สังคมไทยในอนาคตอันใกล้
ทว่าการเปิดตัวครั้งแรกของพร้อมเพย์กลับเรียกกระแสด้านลบในโลกโซเชียลมีเดียไม่น้อย มีการตั้งคำถามถึงความปลอดภัยของการเปิดเผยเลขบัตรประชาชน หรือเบอร์โทรศัพท์มือถือให้คนอื่นรู้ ไปจนถึงความปลอดภัยจากการถูกแฮ็กหรือโจรกรรมในโลกไซเบอร์ ขณะที่ข้อความของธนาคารบางแห่งประกาศเงื่อนไขข้อตกลงการใช้บริการพร้อมเพย์ ว่าจะไม่รับผิดชอบต่อความเสียหายใด ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในระบบ ยิ่งสร้างกระแสวิพากษ์วิจารณ์ต่อความไม่พร้อมไม่ปลอดภัยของพร้อมเพย์ ซึ่งภายหลังธนาคารแห่งนั้นก็ออกมายอมรับในความผิดพลาดของข้อความดังกล่าว
ยังไม่นับความสับสนและข้อสงสัยอีกมาก ตั้งแต่หากบัตรประชาชนหาย หรือโทรศัพท์มือถือหายจะเป็นอย่างไร ? ทุกคนต้องผูกบัญชีธนาคารหรือไม่ ? ถ้าใครรู้เลขบัตรประชาชนของเราก็สามารถโอนเงินจากบัญชีของเราไปให้คนอื่น ? ฯลฯ
สารคดี ถือโอกาสนี้คุยกับ ดร. อนุชิต อนุชิตานุกูล ที่ปรึกษาคณะทำงานพัฒนาระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National e-Payment System) ผู้เป็นทั้งมันสมองและผู้ลงแรงอยู่เบื้องหลังการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานที่จะเปลี่ยนระบบการชำระเงินของประเทศ จากการใช้เงินสดเป็นการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อพยายามทำความเข้าใจกับภาพรวมของ National e-Payment และการมาถึงของสังคมไร้เงินสด ดร. อนุชิตย้ำว่า เลขไอดี (ID – identification number) ใช้สำหรับการ “รับเงิน” เป็นหลัก และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานครั้งนี้เปรียบได้กับการตัดทางด่วน superhighway ของการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ของชาติ ส่วนรถที่จะไปวิ่งบนทางด่วนขึ้นอยู่กับผู้ให้บริการทั้งภาครัฐ ธนาคาร และบริษัทเอกชนที่จะพัฒนาบริการธุรกรรมออนไลน์อื่น ๆ ให้ประชาชนใช้อย่างสะดวกและปลอดภัยในอนาคต
ไม่ว่าขณะนี้จะมีข้อวิจารณ์วิตกกังวลอย่างไร สังคมที่ผู้คนชำระเงินโดยการกดส่งตัวเลขอิเล็กทรอนิกส์ให้กันผ่านโทรศัพท์มือถือหรืออุปกรณ์ดิจิทัลอื่น ๆ กำลังจะเป็นอนาคตที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ และคงอยู่ที่สังคมไทยว่าจะก้าวไปพร้อมกับความเปลี่ยนแปลงนี้อย่างไร
PromptPay หรือ Any ID คืออะไร
เดิมเรียกกันว่า Any ID แต่ตอนหลังเปลี่ยนมาเป็น PromptPay ต้องอธิบายให้เข้าใจตรงกันก่อนว่า นี่ไม่ใช่การสร้างแอปฯ ใหม่ และไม่มีเว็บไซต์ใหม่ แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างพื้นฐานของการโอนเงินชำระเงิน ซึ่งอยู่ในระบบเครือข่ายที่เชื่อมโยงธนาคารต่าง ๆ ไว้ด้วยกันซึ่งทุกธนาคารใช้ร่วมกันทุกวันมา ๒๐ ปีแล้ว ระบบที่ใช้อยู่เหมือนเป็นเวอร์ชัน ๑ ตอนนี้เราอัปเกรดเป็นเวอร์ชัน ๒ โดยแทนที่การโอนเงินชำระเงินจะบอกเลขที่บัญชีธนาคาร ก็ให้ใช้ไอดีซึ่งเป็นการระบุสำหรับขารับเงิน คือเวลาจะให้ใครโอนเงินมาให้เรา แทนที่จะบอกเลขที่บัญชีของเราให้เขา ก็บอกไอดีนี้แทน ขณะที่ปัจจุบันการบอกเลขที่บัญชีให้คนอื่นรู้ ไม่ปลอดภัยกว่า มีความเสี่ยงกว่าการบอกไอดีเสียอีก
ทำไมถึงเลือกใช้ ID เป็นเลขบัตรประจำตัวประชาชน กับหมายเลขโทรศัพท์มือถือ
จริง ๆ แล้วระบบโครงสร้างพื้นฐานที่วางไว้ไม่ได้เกี่ยวกับว่าต้องเป็นเลขบัตรประจำตัวประชาชน หรือเบอร์โทรศัพท์มือถือ จะใช้เลขอะไรก็ได้ เราถึงเรียกว่า Any ID
สมมุติถ้าอยากให้ใครโอนเงินให้ผม โดยผมจะใช้ชื่อไอดีว่า spiderman ระบบนี้ก็รองรับ แต่ที่ผ่านมาเราเคยชินกับเลขบัญชี ถ้าเมื่อก่อนตอนลูกค้ามาเปิดบัญชีกับธนาคารแล้วให้ลูกค้าเลือกหมายเลขเองได้ ก็จะเป็นระบบนี้ได้เหมือนกัน เหมือนกับทะเบียนรถยนต์เมืองไทย เราเลือกเลขทะเบียนเองไม่ได้ แต่ต่างประเทศเขาเลือกได้ เพราะฉะนั้นหลักการพื้นฐานในระบบนี้ คือให้เราเลือกไอดีเองได้ ใครจะโอนเงินให้ผม ถ้าผมตั้งไอดีว่า spiderman เขาแค่โอนมาที่ชื่อ spiderman เงินก็เข้าที่บัญชีของผมได้ถูกต้อง
แต่คำถามต่อมาคือถ้าทุกคนเลือกไอดีเองได้ แล้วใครจะมีสิทธิ์เลือกชื่ออะไร เช่นผมอยากได้ spiderman แต่อีกคนก็อาจอยากได้ spiderman เหมือนกัน แล้วใครจะได้ชื่อนี้ไป ก็คงต้องมีกฎกติกาในการจองชื่อ อาจเป็นแบบใครมาจองก่อนได้ก่อน แต่ถ้าเราเปิดให้เลือกไอดีอะไรก็ได้แบบนี้ เชื่อว่าประชาชนจะยิ่งสับสนเพราะยังตามแนวคิดนี้ไม่ทัน สมาคมธนาคารไทยจึงขอใช้ไอดีเป็นเลขบัตรประชาชนกับเบอร์โทรศัพท์มือถือแค่นี้ก่อน ความจริงตัวระบบไม่ได้สนใจเลยว่ามันคือเลขบัตรประชาชน แต่เพราะเลขนี้ของแต่ละคนไม่ซ้ำกัน เช่นเดียวกับเบอร์โทรศัพท์มือถือ มันเลยสะดวก ส่วนเลขที่บัญชีธนาคารเป็นไอดีโดยตัวเองอยู่แล้ว ก็ยังใช้อยู่เหมือนเดิม ใครอยากใช้เลขบัญชีธนาคารก็ใช้ไปเหมือนเดิม ไม่ต้องปรับเปลี่ยนอะไรไม่ต้องไปลงทะเบียนผูกไอดี
การใช้เลขที่บัตรประจำตัวประชาชน เหมือนกับทุกคนเกิดมามีบัญชีติดตัว มีกระเป๋าเงินติดตัวแล้ว ไว้สำหรับให้คนเอาเงินมาใส่ ส่วนเราจะเอากระเป๋าไปฝากที่ธนาคารไหน หรือจะฝากกับกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ e-Money ก็ได้ แต่สุดท้ายต้องให้ใครสักคนทำหน้าที่รักษาเงินนั้นให้เรา เวลาเราจะเอาเงินจะได้รู้ว่าไปเอาที่ใคร
คนกังวลเรื่องการลงทะเบียนผูกบัญชีว่าจะถูกล้วงเงินออกไป จากการเปิดเผยเลขบัตรประชาชน หรือเบอร์มือถือ
ต้องย้ำว่าเราใช้ไอดีสำหรับการรับเงิน การโอนเงินออกจากบัญชียังต้องไปถอนที่ธนาคารสาขา จากตู้เอทีเอ็ม หรือใช้บริการ internet banking เหมือนเดิม คนมักเข้าใจผิดว่าพร้อมเพย์เป็นการออกแอปพลิเคชันใหม่ คิดว่าเราไปสร้างบริการไว้บนอินเทอร์เน็ต คล้ายกับ PayPal, Apple Pay ซึ่งไม่ใช่เลย เพราะฉะนั้นการไปลงทะเบียนผูกหมายเลขบัญชี ไม่ได้เปิดโอกาสให้ใครมาถอนเงินของเรา
ถ้ายังกังวลเรื่องให้ใครรู้หมายเลขบัตรประชาชนก็ใช้เบอร์โทรศัพท์มือถือ แต่ถ้ายังกังวลเรื่องเบอร์โทรศัพท์มือถืออีก คงต้องคิดว่าทุกวันนี้เราก็บอกเบอร์มือถือให้ใครติดต่อได้เป็นปรกติอยู่แล้ว ถึงที่สุดถ้าจะให้ใครโอนเงินมาให้ เราต้องใช้ไอดีอะไรสักอย่างแน่นอน เพื่อบอกเขาว่านี่เป็นกระเป๋าเงินของเรา ความจริงเลขที่บัญชีเป็นข้อมูลที่เราควรเก็บเป็นความลับมากกว่าเสียอีก เพราะต้องบอกทั้งเลขที่บัญชี ชื่อธนาคาร สาขา เขายิ่งได้ข้อมูลเข้าถึงเงินของเรามากกว่าไอดีซึ่งบอกแค่เบอร์โทรศัพท์มือถือ
ใครซื้อของโดยใช้ Apple Store หรือ PayPal จะรู้ว่าเขาใช้อีเมลของเราเป็นตัวผูก ซึ่งการใช้ไอดีน่าจะปลอดภัยกว่าตั้งเยอะ เวลาใช้บริการของต่างประเทศ เขาถามอะไรทำไมเราไว้ใจ ให้กรอกวันเดือนปีเกิดก็แจกแจงให้หมด ไม่กลัวว่าข้อมูลส่วนตัวของเราจะถูกใครเอาไปใช้ประโยชน์
การสั่งโอนเงินแบบพร้อมเพย์ระบบจะส่งไอดีและเลขที่บัญชีไปด้วยกันหรือเปล่า
ต้องเข้าใจว่าปัจจุบันเวลาเราทำคำสั่งโอนเงินผ่าน internet banking เราต้องใส่เลขที่บัญชีธนาคารปลายทางที่เราจะโอนเงินไปให้ เลขที่บัญชีนี้จะวิ่งไปที่ธนาคารซึ่งเรากำลังใช้ internet banking แล้วธนาคารจะส่งข้อมูลไปยังโครงสร้างพื้นฐานที่อยู่เบื้องหลังทุกธนาคาร คือระบบ switch/clearing house ซึ่งจะส่งข้อมูลไปที่ธนาคารปลายทาง เขาก็เอาเงินเข้าบัญชีนั้นให้ จะเห็นว่าระบบปัจจุบันเป็นการบอกหมายเลขบัญชีปลายทาง แต่การเปลี่ยนเป็น Any ID คือเราใส่ไอดีอะไรก็ได้ ซึ่งปลอดภัยกว่าการใส่เลขที่บัญชี เพราะฉะนั้นถ้าใครต้องการแฮ็กเลขที่บัญชีธนาคาร ตอนนี้แฮ็กง่ายกว่าเพราะส่งกันในระบบอยู่แล้ว ไม่ต้องรอไปแฮ็กไอดีเพื่อหาเลขที่บัญชีอีกต่อหนึ่ง
ส่วนการจะสั่งโอนเงินออกจากบัญชีของเรายังเหมือนเดิม ต้องไปที่ธนาคารสาขา ใช้สมุดบัญชีและลายเซ็น หรือถ้าใช้ internet banking ก็ต้องมีล็อกอินยูสเซอร์ (login user) และพาสเวิร์ด (password) เพื่อเข้าระบบก่อน ซึ่งเป็นระบบเดิมที่ใช้กันเป็นปรกติ เราไม่ได้สร้างแอปฯ ใหม่สำหรับการโอนเงิน
สรุปว่าไอดีมีไว้สำหรับรับเงิน คนจ่ายเงินไม่ต้องใช้ไอดี และคนรับเงินก็ไม่จำเป็นต้องมี internet banking แค่บอกให้เขาโอนเงินเข้าตามไอดีของเรา จะเป็นเบอร์โทรศัพท์มือถือ หรือเลขบัตรประชาชน เงินก็จะวิ่งเข้าบัญชีที่ผูกไว้เอง พอต้องการใช้เงินสดก็ต้องไปเบิกถอนเงินสดที่ธนาคารสาขา หรือกดตู้เอทีเอ็ม ไม่มีช่องทางไหนให้ใครมาเอาเงินจากบัญชีของเราออกไปได้จากการรู้ไอดี
สิ่งที่เราทำคือการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานเบื้องหลังธนาคาร คือระบบ switch/clearing house ให้รองรับ Any ID จากเดิมที่ระบบยังเป็นช่องทางแคบ ๆ เราขยายถนนให้กว้างขึ้น รับข้อมูลได้หลายรูปแบบ และแม้แต่ในระบบเบื้องหลังธนาคารนี้ เราก็ไม่ได้เก็บไอดีไว้เลย ข้อมูลจะถูกแปลงเป็นรหัสซึ่งธนาคารปลายทางจะเป็นผู้รับรหัสและแปลงรหัสเป็นเลขที่บัญชีอีกที เพราะฉะนั้นคำสั่งโอนเงินทั้งหมดที่เข้ามาในระบบจะไม่ปรากฏเลขที่บัญชีของใครเลย ยกเว้นที่ธนาคารปลายทาง เรียกได้ว่าซ่อนกันไว้ถึงสามชั้น
ความจริงการโอนเงินด้วยไอดีมีมาก่อนเกิดโครงการนี้ หลายธนาคารก็ให้โอนเงินรับเงินด้วยเบอร์โทรศัพท์มือถือมาหลายปีแล้วโดยผูกกับบัญชีของธนาคารนั้น แต่โครงสร้างพื้นฐานเบื้องหลังที่มียังไม่รองรับการโอนข้ามธนาคาร เลยไม่เอื้อต่อการชำระเงินกันอย่างกว้างขวาง ธนาคารโอนกันได้แต่บัญชีภายในธนาคารตัวเอง ก่อนจะชำระเงินก็ต้องถามกันก่อนว่าเธอใช้ระบบไหนเพราะต้องเป็นของธนาคารเดียวกัน หรือ e-Money อันเดียวกัน ถึงจะจ่ายเงินกันได้ เมื่อเราปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานนี้ การโอนเงินชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์จะสามารถข้ามธนาคารถึงกันได้ทั้งหมด และไม่เกิดความสับสนด้วย
ต่อไปในส่วนผู้ใช้บริการ e-Money, e-Wallet หรือกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งตอนนี้ยังไม่มีไอดี เราก็จะกำหนดให้ต้องมีไอดีที่ไม่ซ้ำกันเลยสักอัน เพื่อให้ชำระเงินข้ามถึงกันได้ไม่ว่าจะเป็นบัญชีธนาคารหรือกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์
ระบบโครงสร้างพื้นฐานเบื้องหลังธนาคารนี้ใครดูแล และถูกเจาะถูกแฮ็กเข้าไปได้ไหม
ระบบ switch/clearing house ดูแลโดยบริษัทเนชั่นแนล ไอทีเอ็มเอ๊กซ์ (National ITMX) ซึ่งเป็นหน่วยงานกลางที่ธนาคารต่าง ๆ ร่วมกันจัดตั้งขึ้นมานานแล้ว แต่เดิมธนาคารแห่งประเทศไทยดูแล ต่อมาโอนให้ธนาคารช่วยกันดูแล เพราะในระบบโครงสร้างการชำระเงิน ต้องทำให้เงินไหลไปไหลมาระหว่างคนที่มีเงิน แล้วเงินอยู่ที่ไหน ก็อยู่ที่ธนาคาร จึงต้องมีระบบเบื้องหลังธนาคารที่ทำให้เงินไหลไปถึงระหว่างธนาคารได้ ซึ่งเราใช้กันมา ๒๐ ปีแล้ว ระบบนี้เชื่อมต่อกับธนาคารโดยตรง ไม่เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตหรือโลกภายนอก การจะเจาะเข้าระบบนี้ต้องเจาะเข้าทางธนาคารก่อนเท่านั้น ซึ่งถ้าเจาะเข้าธนาคารได้ก็ปล้นธนาคารเลยดีกว่า
มีความจำเป็นอะไรที่ต้องส่งเสริมการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แทนการใช้เงินสดจุดประสงค์ของ National e-Payment คือต้องการเปลี่ยนสังคมไทยให้เลิกใช้เงินสด เลิกใช้ธนบัตร เพราะการใช้เงินสดมีต้นทุนมหาศาล จีดีพี (GDP) ของประเทศไทยอยู่ที่ประมาณ ๑๓ ล้านล้านบาท แต่ทราบไหมว่าคนไทยใช้บัตรเอทีเอ็มกดเงินสดมาใช้จ่ายปีหนึ่ง ๆ ๗.๕ ล้านล้านบาท จากจีดีพี ๑๓ ล้านล้านบาท นี่เฉพาะที่กดจากตู้ ยังไม่นับที่จ่ายวนไปเวียนมา หรือที่เบิกถอนกันที่หน้าสาขา
ประเทศไทยมีตู้เอทีเอ็มมากที่สุดในโลก ๗ หมื่นตู้ เราวางตู้ยืนเข้าแถวเคารพธงชาติกันเลย ถ้าจะมีใครมีตู้เอทีเอ็มมากกว่าเราก็คงมีแค่ประเทศบราซิล ลองคิดดูง่าย ๆ ว่าเรามีเงินค้างอยู่ตู้ละ ๒ ล้านบาท ทุกวัน ๆ จึงมีเงินแสนกว่าล้านบาทนอนนิ่งอยู่ในตู้ แต่ถ้าเงินนี้อยู่ในรูปอิเล็กทรอนิกส์เราสามารถนำมาปล่อยกู้หรือไฟแนนซ์เศรษฐกิจได้ ทุกคนจะได้ประโยชน์มากกว่านี้
ตู้เอทีเอ็มยังมีต้นทุนซ่อนไว้เป็น hidden cost ค่าวางตู้หนึ่งตู้ตามห้าง ตู้เล็กนิดเดียวที่เท่าแมวดิ้นตาย ต้องเสียค่าเช่าเดือนหนึ่ง ๓-๔ หมื่นบาท ต้องกดเท่าไรถึงจะคุ้มค่าเช่าตู้ หรือการตั้งตู้เอทีเอ็มบนยอดดอยให้นักท่องเที่ยวกดเงินได้สะดวก แต่คิดดูว่าค่าน้ำมันรถยนต์ที่ต้องวิ่งเอาเงินไปเติมในตู้เอทีเอ็มหลายหมื่นตู้นั้นเราต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศ เป็นต้นทุนทางเศรษฐกิจ ซึ่งไม่ใช่ต้นทุนของธนาคารแห่งประเทศไทย หรือธนาคารพาณิชย์ แต่เป็นต้นทุนของทุกคนในระบบเศรษฐกิจ เพราะสุดท้ายธนาคารก็เอาต้นทุนนั้นมาให้ประชาชนเป็นคนตอบ
ถ้าเราลดการใช้เงินสดตรงนี้ลงไปได้ ค่าใช้จ่ายที่เป็น hidden cost จะหายไป และจะตอบโจทย์การทำให้ระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ถูกลงด้วย
อีกประการหนึ่ง ทุกวันนี้จะเห็นว่าธนาคารไม่ได้ตั้งตู้ยืนเข้าแถวอย่างเดียว แต่ยังเปิดสาขาเรียงกันอยู่ในห้าง ผมเชื่อว่าหลายคนต้องมีประสบการณ์เดินเข้าธนาคารหนึ่งแล้วหอบเงินเพื่อย้ายไปเข้าอีกธนาคารหนึ่ง หอบกันไปหอบกันมา ธนาคารหนึ่งนับเงินออก อีกธนาคารนับเงินเข้า นับเสร็จเปลี่ยนแถบรัดเงินให้เป็นของเรา รัดไปรัดมา มีแต่ต้นทุน ไม่มีใครได้ประโยชน์อะไรเลย แล้วยังมีข่าวปล้นเงินกันเป็นประจำ เพราะเราต้องขนส่งเงินสดกันเยอะมาก
แล้วถ้าเราไม่ทำจะเกิดอะไรขึ้น
ทุกวันนี้จะหาคนไม่มีโทรศัพท์มือถือนี่ยากแล้ว แม่ค้าถือแท็บเลต คนไปซื้อถือสมาร์ตโฟน เรื่อง e-Payment มาแน่นอน ถ้าประเทศเราไม่มีระบบรองรับก็จะมีคนอื่นมาทำให้แทน แต่ธุรกรรมในการชำระเงินทั้งหมดจะไม่อยู่ในไทยแล้ว ไปอยู่ที่ต่างประเทศ
ต้นเดือน (กรกฎาคม) ที่ผ่านมามีบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านไอทีแห่งหนึ่งบอกว่าต่อไปบัญชีของเขาจะเก็บเงินบาทไว้ โดยที่เขาไม่ต้องขออนุญาตธนาคารแห่งประเทศไทยเลย เขาสามารถสร้างบัญชีเก็บเงินสกุลบาทอยู่ที่ต่างประเทศ ตอนนี้ใครกดเงินซื้อของอะไรในร้านค้าออนไลน์ของต่างประเทศ เงินจะไม่อยู่ในประเทศไทย ตัวเลขโอนไปอยู่ในบัญชีที่ต่างประเทศ เปรียบเสมือนบริษัทต่างประเทศกำลังจะกลายเป็นธนาคารกลางอีกแห่งหนึ่ง มีเงินบาทที่สามารถแลกเป็นดอลลาร์ได้ ถ้าเป็นแบบนี้แล้วต่อไปในอนาคตประเทศไทยจะกำหนดนโยบายการเงินที่เหมาะสมได้อย่างไร
รัฐบาลจีนฉลาด เขารู้ว่าการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์จะมา เขาก็บล็อกบริการของต่างประเทศ พอบล็อกเสร็จก็ทำให้ธุรกิจในประเทศโตขึ้น มี Baidu WeChat ขึ้นมาให้คนจีนใช้แทน ควบคุมได้ว่าธุรกิจในประเทศต้องปฏิบัติตามกฎหมาย และทำให้เงินยังอยู่ในประเทศจีน แล้วก็ขยายบริการของเขาไปต่างประเทศ นักท่องเที่ยวจีนบินมาเที่ยวประเทศไทย เขาจ่ายค่าทัวร์ของจีน ร้านอาหารของจีน โรงแรมของจีน กินใช้จ่ายผ่านกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศเขาเอง
ส่วนประเทศเราปิดบริการของต่างประเทศไม่ได้ สักวันถ้าสถานการณ์หนักขึ้น แต่ละประเทศอาจตั้งกำแพงขึ้นมาบล็อก เหมือนก่อนมีองค์การการค้าโลก (WTO) ซึ่งต้องตั้งขึ้นมาเพื่อตกลงเกี่ยวกับกำแพงด้านภาษี นำเข้า ส่งออก แต่นี่จะเป็นกำแพงไซเบอร์ และอาจเกิดการเจรจา WTO กันรอบใหม่ก็เป็นได้
เพราะฉะนั้นที่รัฐเริ่มทำวันนี้ยังเป็นแค่การวางโครงสร้างพื้นฐานให้บริษัทเอกชนของเราพอจะแข่งขันกับต่างประเทศ ถ้าบริษัทเอกชนของไทยแข่งขันไม่ได้ก็แพ้เขาอยู่ดี แต่ประเทศไหนที่ปรับปรุงระบบ e-Payment ของตัวเองจนคนใช้ระบบนี้อยู่ในประเทศก็จะช่วยรับมือกับปัญหาได้
เปรียบเทียบว่าเราอยากให้อุตสาหกรรมผลิตน้ำอยู่ในประเทศ แต่โครงสร้างพื้นฐานของเราผลิตได้แค่น้ำบาดาล น้ำกร่อย บริษัทเอกชนที่ผลิตน้ำใส่ขวดใส่กระป๋องขายจึงได้แต่น้ำคุณภาพไม่ดีไปใส่ขวด ถ้าเกิดมีน้ำขวดของต่างประเทศที่คุณภาพดีกว่าเข้ามา คนก็ต้องซื้อของต่างประเทศเพราะของเราไม่ดีจริง ๆ สิ่งที่รัฐต้องทำคือปรับปรุงระบบส่งน้ำให้มีคุณภาพเพื่อให้บริษัทเอกชนผลิตน้ำที่ดีให้คนใช้ และแข่งขันกับต่างประเทศได้
แต่ประเด็นที่สำคัญกว่าคือเรื่องเสถียรภาพ ความมั่นคงของชาติ เพราะถ้าเราต้องพึ่งการนำเข้าน้ำจากต่างชาติ เราจะเป็นอย่างไร ถ้าเรายังไม่มีทางเลือกให้คนไทย ต่อไปทุกวันตื่นขึ้นมาใช้มือถือทำธุรกรรม การชำระเงินของเราไปอยู่ต่างประเทศ แบบนี้น่ากลัวว่าเราจะบริหารเศรษฐกิจเพื่อประโยชน์ของคนในประเทศได้มากน้อยแค่ไหน
นอกจาก Any ID ที่ช่วยให้การชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์สะดวกขึ้น ยังมีระบบอะไรอีกที่ต้องทำ
เราเชื่อว่าต่อไปจะเหลือคนอยู่สองประเภท คือคนที่ทำเอง กับคนที่ให้คนอื่นทำให้ คนที่ทำเองก็ยกโทรศัพท์มือถือขึ้นมาแล้วสั่งจ่ายให้คนอื่น หรือในอนาคตอุปกรณ์อาจไม่ใช่มือถือ จะเป็นนาฬิกาหรือทีวีก็ได้ โครงสร้างพื้นฐานที่เราวางไว้ไม่ขึ้นอยู่กับอุปกรณ์ที่ใช้ เบอร์โทรศัพท์มือถือที่ใช้เป็นไอดีจึงไม่ได้เกี่ยวกับตัวเครื่องมือถือว่าเป็นเครื่อง 2G หรือ 3G โครงสร้างพื้นฐานนี้จึงรองรับอุปกรณ์ใหม่ ๆ นวัตกรรมใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นต่อไปได้
ส่วนอีกกลุ่มคือคนที่ให้คนอื่นทำ คือการใช้บัตร ไม่ว่าจะเป็นบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิต เขาก็ยื่นบัตรให้ร้านค้า ซึ่งต้องมีเครื่องอ่านบัตร เพราะฉะนั้นจะเหลือคนอยู่แค่สองประเภท คือลงมือทำเอง หรือให้คนอื่นทำให้ ถ้าทำเองก็กดมือถือ ถ้าให้คนอื่นทำให้ก็ยื่นบัตรให้เขา คิดว่ายังไม่มีวิธีที่ ๓ ที่ทั้งคนซื้อกับคนขายไม่ต้องทำอะไร ต้องมีใครลงมือสักคน
แต่ปัญหาตอนนี้คือเรายังมีจุดรับบัตรน้อย ต้องเพิ่มจุดรับบัตรให้พอเพียง จากการคำนวณพบว่าต้องมีประมาณ ๒ ล้านจุด โดยดูจากธุรกิจที่จดทะเบียน หน่วยงานราชการ วิสาหกิจชุมชน ร้านค้า ร้านอาหาร ทั่วประเทศ ต้องให้จุดพวกนี้มีเครื่องรับบัตร เพื่อให้คนใช้บัตรชำระเงินได้
เรื่องนี้เป็นปัญหาเหมือนปัญหาสายโทรศัพท์ที่พาดวางระโยง-ระยางกันยุ่งเหยิงแบบไม่สามัคคี จะเห็นว่าบางร้านวางเครื่องรับบัตรตั้งกันเป็นคอนโดฯ มีห้าเครื่องของห้าธนาคาร ทั้งที่ความจริงใช้เครื่องเดียวก็ไปได้ทุกธนาคาร เรามีเครื่องเยอะ แต่มีจุดรับน้อย ต้องกระจายออกไปให้กว้างขวางที่สุด คือ ๒ ล้านจุด ถ้าจุดละเครื่องก็ใช้ ๒ ล้านเครื่อง ซึ่งจะประหยัดทรัพยากรที่สุด เสียเงินนำเข้าอุปกรณ์น้อยที่สุด หรือต้องผลิตอุปกรณ์ขึ้นมาเอง บางประเทศมีถึง ๑๐ ล้านจุด
แล้วพวกบัตรพรีเพด (prepaid) ล่ะ
บัตรเงินสดมีสองประเภท คือบัตรพรีเพดแบบออนไลน์ซึ่งเหมือนบัตรเดบิตเพราะต้องเปิดบัญชีอยู่ในออนไลน์ แต่เรียกเป็นพรีเพด สามารถเติมเงินเข้าไปได้ด้วยไอดีเช่นกัน อีกอย่างคือบัตรแตะ เป็นแบบออฟไลน์ เงินอยู่ในบัตร ซึ่งก็คือระบบตั๋วร่วมของกระทรวงคมนาคมที่กำลังดำเนินการ ระบบนี้เราไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยว
ต่อไปบัตรประชาชนก็อาจนำมาใช้เหมือนเป็นบัตรเดบิตของธนาคารที่เราผูกบัญชีไว้ได้ ถ้าเราจะจ่ายเงินร้านค้าก็เอาบัตรประชาชนให้ร้าน ร้านจะเสียบบัตรประชาชนเข้าเครื่องอ่านบัตรจากนั้นระบบจะถามรหัส PIN ให้เจ้าของบัตรใส่ตัวเลขรหัสเพื่อยืนยันการจ่าย รหัส PIN นี่จำอยู่ในหัวเรา ใครจะขโมยไปไม่ได้ แล้วถ้าพิมพ์รหัสผิดก็โดนล็อก ซึ่งเป็นการรักษาความปลอดภัยที่น่าจะมั่นใจได้มากพอ หรือถ้าคิดว่ายังไม่พอ ต่อไปอาจพัฒนาใช้ลายนิ้วมือร่วมก็ได้ โครงสร้างพื้นฐานที่เราวางไว้สามารถรองรับ
รัฐมีหน้าที่ทำให้ราคาเครื่องรับบัตรต่ำลง ออกมาตรการจูงใจทางภาษีให้คนใช้บัตร เช่นเอาไปหักลดหย่อนภาษี กระตุ้นคนใช้บัตรกับร้านค้าที่ออกใบกำกับภาษี เพราะเราต้องการให้คนเข้าระบบภาษี แต่คนไทย ๖๐ กว่าล้านคน มีคนยื่นเสียภาษีเงินได้แค่ ๑๐ ล้านคน ร้านที่ออกใบกำกับภาษียังมีไม่มาก สำหรับคนจำนวนมากในประเทศที่ไม่ได้จ่ายภาษีเงินได้ เขาคงไม่ตื่นเต้นกับการลดหย่อนภาษี เพราะฉะนั้นถ้าจะส่งเสริมการใช้บัตร รัฐอาจต้องจัดชิงโชคแทน ทั้งหมดนี้ก็เพื่อสนับสนุนให้เกิดการลดการใช้เงินสด
การทำธุรกรรมของบริษัทหรือนิติบุคคลจะเป็นอย่างไรในระบบ e-Payment
e-Payment จะช่วยบริษัทลดการส่งเอกสารมากมายซึ่งเป็นต้นทุนของการทำธุรกิจทั้งนั้น ทุกวันนี้เอกสาร เช่นใบกำกับภาษี ถึงอยู่ในระบบคอมพิวเตอร์ แต่ต้องพิมพ์ออกมา สแกนแฟกซ์ส่งให้ลูกค้า แล้วยังต้องให้มอเตอร์ไซค์วิ่งไปส่งเอกสาร เราเป็นประเทศเดียวที่ทุกบริษัทต้องมีการนัดวางบิล นัดรับเช็ค ทุกวันพฤหัสฯ ในสัปดาห์ที่ ๒ ไม่เกินบ่าย ๒ โมงของแต่ละเดือน พอได้รับเอกสาร ฝ่ายบัญชีต้องมาจับคู่ใบรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ว่าเป็นของเอกสารไหน เอาตัวเลขมาชนกัน เกิดตัวเลขขาดไปสองสตางค์ ต้องวิ่งส่งเอกสารกันใหม่ ทุกอย่างนี้เป็นต้นทุนของภาคธุรกิจและมีค่าใช้จ่ายมหาศาล คิดดูว่าถ้าเปิด AEC เราอาจต้องวิ่งส่งเอกสารกันไปถึงกัวลาลัมเปอร์ หรือพนมเปญ เพราะฉะนั้นประเทศไทยจะไม่มีทางเป็นพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ หรือเกิดประสิทธิภาพไม่ได้ ถ้ายังไม่ปรับปรุงระบบโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้ ส่วนในแง่กฎหมาย เราต้องแก้ไขกฎหมายให้รองรับเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งขณะนี้มีการร่าง ๒๐ กว่ามาตรา ส่งเข้า สนช. ไปแล้ว
ต่อไปบริษัทจะใช้เลขทะเบียนนิติบุคคล ๑๓ หลักเป็นไอดี สามารถรับเงินกันข้ามธนาคาร บริษัทบอกให้เขาโอนเงินมาโดยใช้ไอดีซึ่งปลอดภัยกว่าการบอกเลขที่บัญชีของบริษัท เรามีระบบการเรียกเก็บเงินโดยไม่ต้องไปวางบิล แต่เดิมถ้าใครจ่ายเงินซื้อของแล้วต้องแฟกซ์สลิปหลักฐานการโอนเงินมาให้ ต่อไปก็ไม่ต้องแล้ว ข้อมูลจะวิ่งมาด้วยกัน ระบบโครงสร้างพื้นฐานเราทำให้รองรับทั้งธุรกรรมแบบ B2B (Business to Business บริษัทกับบริษัท) หรือ B2C (Business to Customer บริษัทกับลูกค้า) ส่วนเรื่องใบกำกับภาษีก็ส่งเป็นไฟล์อิเล็กทรอนิกส์ไปทางอีเมลได้
เรื่องยุ่งยากที่สุดคือ ใบรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามมาตรา ๕๐ ทวิ เวลาบริษัทค้าขายกัน จะจ่ายเงินให้ ๑๐๐ บาท จ่ายจริงแค่ ๙๗ บาท และต้องหักภาษีไว้ ๓ บาท ภาษี ๓ บาทนี้ต้องทำเอกสารใบหนึ่งที่เรียกว่าใบรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย วิ่งมอเตอร์ไซค์ส่งไปให้ผู้รับ ถึงค่าขนส่งจะเกิน ๓ บาทก็ต้องส่ง แต่ต่อไป ๙๗ บาท และ ๓ บาทจะอยู่ในระบบโอนเงินอิเล็กทรอนิกส์ ส่งไปพร้อมกัน ไม่ต้องส่งเอกสารกระดาษ และบริษัทไม่ต้องส่งเงินภาษี ๓ บาทให้สรรพากร ระบบจะส่งให้สรรพากรด้วยเลย ทุกอย่างจบในการชำระเงินครั้งเดียว ไม่ต้องมีเมสเซนเจอร์ส่งเอกสาร ไม่มีเอกสารต้องเก็บ ไม่ต้องไปส่งสรรพากรอีกรอบ
ระบบการชำระเงินทั้งประเทศจะเปลี่ยนเป็นแบบนี้ ซึ่งต่อไปสรรพากรจะเลิกรับเอกสารกระดาษจากบริษัทแล้ว ต้องเป็น e-Filing ทั้งหมด
ในระบบของสรรพากร เขาจะเห็นข้อมูลการค้า ข้อมูลการชำระเงินของบริษัท สามารถตรวจสอบว่าการค้าขายกับการชำระเงินรับเงินสอดคล้องกันไหม บริษัทที่ตั้งใจเลี่ยงภาษีก็ต้องเหนื่อยหน่อย หน้าจอการชำระเงินซึ่งเดิมมีแค่โอนเงิน ต่อไปจะมีการโอนพร้อมกับใบรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย และยังมีช่องให้บอกว่าในเงินที่จ่ายมี VAT เท่าไร ถ้าบริษัทจะขอคืนภาษีซื้อ สรรพากรก็จะตรวจสอบว่าคุณมีภาษีซื้ออยู่เท่านี้ ตรงกับที่คุณจะขอคืนหรือไม่ ใครที่ใช้ใบ VAT ปลอม สรรพากรจะรู้ว่าทำไมถึงมีภาษีซื้อซึ่งไม่ตรงกับการจ่ายเงินจริง เพราะระบบจะบันทึกเป็นภาษีขายของคนขายด้วย ตัวเลขจะยันกันไปยันกันมาโดยอัตโนมัติ
บริษัทที่ตั้งใจเลี่ยงภาษีคงไม่ชอบ
ถ้าไม่ชอบที่คนอื่นคอร์รัปชัน แต่ขอคอร์รัปชันเสียเอง ก็ต้องถามว่าเราจะอยู่กันอย่างไร จะอยู่ในสังคมแบบไหน เราขอให้การบริหารบ้านเมืองโปร่งใส แต่ถ้าบริษัทยังหลบอยู่ แล้วจะบ่นได้อย่างไรว่าถูกใครไถเงิน ระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์นี้จะช่วยให้เกิดความโปร่งใส คงเป็นทางเลือกของคนในประเทศว่าจะอยู่กับระบบที่ดีขึ้นหรือเปล่า
เคยมีการศึกษาว่าการใช้เงินสดเกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชันอย่างชัดเจน เพราะฉะนั้นการลดการใช้เงินสดจะช่วยลดการคอร์รัปชัน การเลี่ยงภาษี เศรษฐกิจใต้ดิน การค้ายาเสพติด หรือของเถื่อน เกี่ยวข้องกับเงินสดทั้งนั้น ต่อไปคงทำได้ยากหน่อยถ้าสังคมส่วนใหญ่เปลี่ยนเป็นระบบชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ นี่ไม่ได้หมายความว่าคนจะไม่โกง จะไม่ยัดเงินหรืออะไร แต่การชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์จะมีร่องรอยให้เราติดตามได้ ยกตัวอย่างประเทศสวีเดนเลิกใช้เงินสดเกือบหมดแล้ว ถ้ามีใครหอบเงินสดไปที่ธนาคารเขาจะสงสัยและตั้งคำถามว่าเงินสดนี้ท่านได้แต่ใดมา เวลาใครใช้เงินสดก็จะถูกเพ่งเล็งมากขึ้น
ประเด็นที่น่าคิดอีกอย่างคือหากมีคนหนีภาษีเลี่ยงภาษีกลุ่มหนึ่ง กับคนเสียภาษีเต็มอีกกลุ่ม คนที่เสียภาษีก็เหมือนกับต้องแบกภาระชดเชยให้คนที่ไม่เสีย และยังเกิดความได้เปรียบเสียเปรียบในการทำธุรกิจด้วย แต่ถ้าทุกคนเสียภาษีเท่าเทียมกันอย่างยุติธรรม ไม่มีการเลี่ยงภาษี เราจะมีอัตราภาษีที่ต่ำมากเพราะจะเก็บภาษีได้มากเท่าเดิมจากฐานจำนวนผู้เสียภาษีที่เพิ่มขึ้น คือถ้าทุกคนเสียภาษี รายได้รัฐจะมากขึ้นโดยทุกคนจ่ายภาษีน้อยลง
ในการทำระบบ e-Payment นี้เราหวังว่าจะทำให้เกิดการขยายตัวของฐานภาษี และช่วยลดอัตราภาษีลง เพราะรัฐต้องแข่งขันกับต่างประเทศ เราเคยเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ ๒๕ จากกำไรสุทธิ ตอนนี้ลดลงมาที่ร้อยละ ๒๐ ส่วนสิงคโปร์เก็บร้อยละ ๑๗ ต่อไปเราก็อาจต้องลดลงมาที่ร้อยละ ๑๕ เพื่อให้บริษัทต่าง ๆ อยากมาดำเนินธุรกิจในประเทศเรา
e-Payment จะมาสนับสนุน e-commerce อย่างไร
ปัจจุบันใครจะชำระเงินในอีคอมเมิร์ซ (e-commerce) ต้องมีบัตรเครดิตเท่านั้น แต่ต่อไปใครจะชำระเงินในอีคอมเมิร์ซก็ได้โดยผ่านระบบการเรียกเก็บเงิน หรือ Request-to-Pay เวลาสั่งซื้อของในอินเทอร์เน็ตก็ใส่ไอดีของเราเข้าไป เช่นเบอร์โทรศัพท์มือถือ เพื่อบอกให้ร้านค้าเรียกเก็บเงินมา คำสั่งจะผ่าน payment gateway แล้วมีการเรียกเก็บเงินมาที่มือถือ แต่ไม่ใช่การตัดเงินจากบัญชีของเราทันที เราต้องจ่ายเงินโดยใช้แอปพลิเคชัน เช่น mobile banking หรือ internet banking ที่เราใช้อยู่แล้ว ซึ่งต้องใส่ user และ password เข้าแอปพลิเคชันก่อน แล้วค่อยกดโอนเงินชำระไปตามที่เขาเรียกเก็บเงินมา เรายังเลือกได้ว่าจะกดจ่ายเมื่อไร การควบคุมการจ่ายเงินยังอยู่กับเราเสมอ การบอกไอดีไม่ได้ให้ใครมาล้วงเงินเรา ทำไม่ได้ ต้องเน้นว่าไว้รับเงินอย่างเดียว
ระบบนี้ทำให้การทำธุรกรรมง่ายขึ้นโดยการเรียกเก็บเงินและให้ยืนยันการจ่ายเงินกลับไป ซึ่งระบบเดิมทำไม่ได้ ต้องใส่แต่เลขบัตรเครดิต น่าคิดว่าการใส่หมายเลขบัตรเครดิต เราสบายใจกว่าการใส่ไอดีหรือเปล่า ระบบใหม่นี้จะเปิดโอกาสการชำระเงินเพิ่มขึ้นถึงกันทั่วประเทศ คนที่ทำอีคอมเมิร์ซต่าง ๆ เรียกเก็บเงินได้โดยไม่ต้องชำระด้วยบัตรเครดิตเท่านั้น และก็ไม่ต้องเปิดบัญชีกับทุกธนาคาร
ปัญหาสำคัญอีกอย่างของอีคอมเมิร์ซ คือจะจ่ายเงินก่อน หรือจะส่งของก่อน ถ้าจ่ายเงินก่อนก็เสี่ยงว่าจะไม่ได้รับของ ถ้าส่งของก่อนก็เสี่ยงว่าจะไม่ได้รับเงิน ขณะที่ระบบการชำระเงินปัจจุบันมีแต่การโอนเงินไปอย่างเดียว ไม่มีทางเลือกอื่น โอนเงินแล้วก็แก้ไขอะไรไม่ได้ สิ่งที่เราปรับปรุงระบบขึ้นใหม่เรียกว่า Escrow ทำให้มีคำสั่งโอนเงินแล้ว แต่เงินยังไม่ไปจริง คำสั่งจะบอกทางคนขายของว่ามีเงินมารออยู่ คนขายจะส่งของให้ก็มั่นใจว่ามีเงินมารอ ไม่ถูกหลอกแน่ ก็ส่งของให้ลูกค้า พอส่งของแล้วจะได้รับรหัสกลับมาชุดหนึ่งเป็น one time key คล้าย ๆ กับปัจจุบันที่เราต้องใช้เลข OTP (One Time Password) ในการยืนยันการชำระเงินผ่านบัตรเครดิตในเว็บไซต์ คนขายก็เอารหัสนี่มาใส่ปลดล็อกให้เงินโอนเข้าบัญชีของเขา
ระบบนี้ช่วยป้องกันให้แก่ทั้งสองฝ่าย คนซื้อรู้ว่าถ้าของไม่ส่งมาก็สามารถยกเลิกการโอนเงินได้ คนขายรู้ว่าถ้าส่งของไปจะได้รหัสกลับมา ไม่โดนเบี้ยว นี่เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่เราวางให้อีคอมเมิร์ซเกิดขึ้น ถ้าไม่ทำระบบนี้ไว้ ต่อไปก็จะมีบริษัทเอกชนทำ แต่ระบบของเขาจะอยู่ในเว็บไซต์ซึ่งมีโอกาสถูกแฮ็ก ของเราสร้างไว้ในโครงสร้างพื้นฐานเบื้องหลังธนาคารเลย จึงปลอดภัยกว่ามาก เพียงแต่รอธนาคารพัฒนาบริการนี้ขึ้นมาเชื่อมให้ลูกค้าใช้งาน เราวางโครงสร้างพื้นฐานไว้ให้แล้ว เหมือนเป็น FinTech ระดับประเทศ
ในการวางแผนจัดทำระบบ e-Payment มีตัวแทนของสภาอุตสาหกรรมฯ มาร่วมประชุมด้วย เขาเห็นประโยชน์อย่างมาก อยากให้เกิดขึ้น ส่วนการปรับตัวของสังคมไทยคงต้องหาทางเดินกันต่อ เพราะความเปลี่ยนแปลงนั้นมาถึงแน่นอน คนสมัยก่อนโน้นคงไม่นึกว่าวันนี้เราจะมีรถไฟฟ้า หรือบัตรเอทีเอ็ม คนสมัยต่อมาก็นึกไม่ถึงว่าจะมีแท็บเลต หรือโทรศัพท์มือถือ ประเทศเราต้องพัฒนาไปเรื่อย ๆ ขณะที่อนาคตของโลกวิ่งไปทางนี้แล้ว
ประเทศอื่น ๆ เขาทำอะไรไปถึงไหนกันบ้างแล้ว
สวีเดน นิวซีแลนด์ เป็นสังคมไม่มีเงินสดแล้ว จีน เกาหลี ใช้เงินอิเล็กทรอนิกส์กันอย่างมาก เกาหลีก็มี e-Payment ของเขาเอง ทำให้เงินยังอยู่ในประเทศ หลายประเทศกำลังพยายามจับเรื่องนี้ให้ทัน คนจีนทิปบ๋อยโดยใช้โทรศัพท์มือถือ ปากีสถานก็ใช้โทรศัพท์มือถือชำระเงิน แต่บางสังคมยังเคยชินกับเงินสด เช่นญี่ปุ่นยังใช้เงินสดเยอะ อาจเพราะเป็นสังคมคนสูงวัย
ประเทศในทวีปแอฟริกาชำระเงินกันด้วยโทรศัพท์มือถือมานานแล้ว เช่นเคนยา เพราะระบบธนาคารของเขาพัฒนาช้า สาขาธนาคารกระจายไม่ทั่วประเทศ โทรศัพท์มือถือแพร่กระจายไปก่อน แต่ความต้องการการชำระเงินของคนมี ก็เลยเกิดการพัฒนาการชำระเงินด้วยโทรศัพท์มือถือตั้งแต่ก่อนสมาร์ตโฟนจะดีด้วยซ้ำ เขากดกันยิกเลย ทำกันถนัดกับโทรศัพท์มือถือรุ่นเก่า เพราะฉะนั้นคงอยู่ที่ปัจจัยของแต่ละประเทศว่าจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร
ตอนศึกษาวางแผนงานก็ศึกษาข้อมูลของสวีเดนอยู่ไม่น้อย เราเทเลคอนเฟอเรนซ์คุยกับทางสวีเดนแล้วให้หน่วยงานต่าง ๆ ของเรามานั่งฟังและซักถามประสบการณ์กับเขา มีหลายคนถามว่าถ้าโกงแบบนั้นจะทำอย่างไร ถ้าโกงแบบนี้จะทำอย่างไร คนสวีเดนนั่งหน้างงเลย คงทึ่งในความคิดเรื่องการโกงของคนไทย ในต่างประเทศคนขายหนังสือพิมพ์เอากระป๋องตั้ง คนหยิบหนังสือพิมพ์แล้วก็ใส่เงินในกระป๋องให้เอง แต่ถ้าตั้งกระป๋องแบบนี้ในเมืองไทยจะเกิดอะไรขึ้น คนสวีเดนไม่เคยชินกับการโกง เขาเลยไม่ต้องกังวลปัญหาการโกงมากนัก
ธนาคารคงได้รับผลกระทบจากระบบชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์
ความจริงการให้บริการทำธุรกรรมของธนาคารเป็นอิเล็กทรอนิกส์ไปแล้วกว่าร้อยละ ๘๐ เหลือการมาทำธุรกรรมที่สาขาแค่ร้อยละ ๑๑ ถามว่าคนยังมาใช้บริการสาขาเยอะไหม ก็มีจำนวนเยอะอยู่ แต่โดยกระแสจะเห็นว่าคนรุ่นใหม่ไม่เข้ามาที่ธนาคารสาขาเลย เขาใช้ mobile banking กันหมด เพราะคุ้นเคยและเชื่อมั่นในเทคโนโลยีมากกว่าคนรุ่นก่อน
ลูกน้องของผมไปซื้อของที่ตลาดโก้งโค้งที่อยุธยา อยู่กลางทุ่งเลย แต่ไปถึงเขาไม่มีเงินสด ถามแม่ค้าว่าตู้เอทีเอ็มอยู่ไหน เพราะเราจะคิดถึงตู้เอทีเอ็มกันก่อน แม่ค้าบอกว่าต้องขับรถไปอีกหลายกิโล เขาเลยหมดอารมณ์ซื้อของ แม่ค้าถามว่าเขาใช้ mobile banking ของธนาคารไหน สุดท้ายเลยโอนเงินกันผ่านระบบนี้ได้ เพราะฉะนั้นแม้แต่แม่ค้าที่อยุธยาตอนนี้ก็ใช้ mobile banking แล้ว
ธนาคารต้องปรับตัว ต้องสร้างนวัตกรรม ไม่ได้แข่งกับธนาคารด้วยกันเท่านั้น ต่อไปยังจะเกิดพวก non bank, FinTech ต่าง ๆ ด้วย ธนาคารยิ่งต้องพยายามเข้าใจลูกค้า เพิ่มความสะดวกเข้าไปเรื่อย ๆ เพราะการแข่งขันจะยิ่งสูงขึ้น อย่างไรก็ตามการแข่งขันจะให้สิ่งที่ดีกว่าแก่ลูกค้าและประชาชน
เคยมีคนบอกว่าจริง ๆ แล้วสิ่งที่คนต้องการคือ banking service ไม่ได้ต้องการ bank
ภาครัฐของไทยก็ต้องเปลี่ยนมาใช้ e-Payment
รัฐถือเป็นยูสเซอร์คนหนึ่ง การรับจ่ายเงินของรัฐต้องเปลี่ยนเป็นแบบอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมดเหมือนกัน โดยเฉพาะเรื่องที่ต้องทำคือการจ่ายเงินสวัสดิการให้ประชาชน แต่ละปีรัฐจ่ายเงินสวัสดิการ ๗ หมื่นล้านบาทให้คนที่อยู่ในระบบสวัสดิการมากกว่า ๑๐ ล้านคน แต่การจ่ายเป็นเงินสดอาจมีปัญหาว่าจะมั่นใจได้อย่างไรว่าเงินไปถึงผู้ได้รับสวัสดิการจริงเพราะมีโอกาสเกิดการฉ้อฉลระหว่างทาง ซึ่งถ้าเราใช้ Any ID เป็นเลขบัตรประชาชนผูกกับบัญชีธนาคาร เงินจากกรมบัญชีกลางจะเข้ากระเป๋าประชาชนโดยตรงเลย ถามว่าถ้าเอาเข้าตามเลขบัญชีก็ได้ไม่ใช่หรือ ก็ไม่ได้อีกเพราะอาจมีคนกำหนดเลขบัญชีมหัศจรรย์มารับเงินแทน เช่นเดียวกับตั้งแต่ปีหน้าถ้าจะมีการคืนเงินภาษี สรรพากรสามารถคืนเงินภาษีเข้าบัญชีตามเลขบัตรประชาชนได้เลย
ปัญหาสำคัญของการจะช่วยเหลือด้านสวัสดิการ คือรัฐไม่เคยมีข้อมูลของประชาชนเลย อาจรู้ทะเบียนบ้าน แต่ไม่รู้อาชีพ หรือรายได้ รัฐมีข้อมูลของคนที่อยู่ในฐานภาษี ๑๐ ล้านคน แต่คนอีก ๖๐ ล้านที่ไม่อยู่ในฐานภาษี และเป็นคนที่ต้องการสวัสดิการ รัฐไม่มีข้อมูลว่าจะให้ใคร ให้ไม่ถูก เหมือนที่รัฐจัดบริการรถเมล์ฟรีก็ต้องเป็นแบบเหมารวม ใครรวยใครจนขึ้นได้ฟรีหมดแสดงว่าเราชดเชยทั้งคนรวย คนจน และนักท่องเที่ยว เช่นเดียวกับเบี้ยคนชรา บางคนที่รวยมากคงไม่อยากได้รับเบี้ยนี้หรอก และจริง ๆ รัฐก็ไม่จำเป็นต้องให้เขา ถ้าเราให้เฉพาะคนที่สมควรได้รับ ด้วยเงินก้อนเดียวกันถ้าเฉลี่ยแล้วแต่ละคนน่าจะได้รับมากขึ้นกว่าเดิม
ฐานข้อมูลของประชาชนที่ต้องการรับสวัสดิการนี้ รัฐจึงต้องสร้างขึ้นใหม่ ให้คนมาลงทะเบียนแจ้งข้อมูลส่วนตัว แจ้งรายได้ จะได้ช่วยถูกคน แล้วค่อยมาดูสวัสดิการแต่ละอย่างว่ามีเงื่อนไขอะไร เช่นมีรายได้มากน้อยแค่ไหนถึงจะได้รับสวัสดิการแบบนี้ อายุเท่าไร หรืออาชีพอะไร ต้องตรวจสอบว่ายากจนจริงหรือเปล่า แต่ถ้าไม่มาลงทะเบียน รัฐก็ให้ความช่วยเหลืออะไรไม่ได้เลย
ข้อมูลของประชาชนหรือธุรกรรมต่าง ๆ ในระบบอิเล็กทรอนิกส์ ต่อไปจะกลายเป็น big data
ถ้าใครสังเกตการทำนายตัวเลขเศรษฐกิจของไทย บางปีผิดไปถึงร้อยละ ๒ ของจีดีพี ซึ่งถ้าผิดขนาดนี้ไม่รู้จะทำนายทำไม เพราะถือว่าผิดเยอะมาก คำถามคือทำไมเป็นอย่างนั้น เพราะการศึกษาติดตามเก็บตัวเลขเศรษฐกิจของเรายังเป็นแค่ตัวเลขจากการสำรวจ ไม่ใช่ตัวเลขจริง เป็นข้อมูลที่ยังมีความน่าเชื่อถือน้อย แต่ถ้าทุกอย่างเป็น e-Payment อยู่ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ จะสามารถนำข้อมูลมารวบรวมเพื่อวิเคราะห์ แล้วเราจะแตะชีพจรของเศรษฐกิจได้แม่นยำขึ้น ยกตัวอย่างถ้าจะดูการจ้างงานของเมืองไทย เราสามารถเอาข้อมูลการจ่ายเงินเดือนจากธนาคารมาวิเคราะห์ได้เลย ถ้าอยากจะรู้ว่านักท่องเที่ยวใช้จ่ายเงินเท่าไร ไม่ต้องสุ่มตัวอย่าง เราดูการชำระเงินจากบัตรเครดิตมาแยกประเภทก็จะรู้ทันที แต่ข้อมูลเหล่านี้ไม่เคยเก็บไว้ในระบบ ต่อไปเมื่อข้อมูลในระบบอิเล็กทรอนิกส์มีมากขึ้น เราอาจรู้ได้ชัดเจนว่าเงินไหลจากภาคส่วนไหนไปไหน ซึ่งเป็นข้อมูลปริมาณมหาศาลที่เรียกว่า big data สามารถนำมาช่วยให้วางแผนนโยบายทางเศรษฐกิจได้ดีขึ้น
ในอนาคตการมีข้อมูลเพื่อใช้บริหารประเทศดีกว่าการบริหารที่ไม่มีข้อมูลอย่างแน่นอน สิงคโปร์เป็นประเทศที่หลายคนชื่นชมเรื่องการใช้ข้อมูลบริหารประเทศ คนเดินเข้าห้องน้ำ เขายังนับจำนวน เครื่องบินลง เขารู้หมดว่าใครมาจากประเทศไหน ต้องเตรียมอะไรไว้ให้บ้าง จะทำเส้นทางเก็บขยะก็เป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์ ใส่ข้อมูลเข้ามาปรับเส้นทาง เขามีข้อมูลของนักเรียนทุกคน คนไหนลงเรียนวิชาไหน ใครเหมาะสมจะเรียนต่อด้านไหน สามารถวางแผนบุคลากร วางแผนจัดการเศรษฐกิจได้ทั้งหมด
ในฐานะคนวางแผนระบบ e-Payment ทั้งหมดนี้ คิดว่าโครงการจะประสบความสำเร็จไหม
ทีมที่ทำงานรู้สึกเหมือนคนที่ต้องวิ่งเร็ว ๆ แบบสปรินต์ระยะสั้นให้ทันก่อนหมดอายุรัฐบาลนี้ แต่ระยะทางที่วิ่งกลับไกลขนาดวิ่งมาราธอนเลย เพราะการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานของระบบการชำระเงินนี้มีงานเยอะมาก พวกเราวิ่งแทบตาย นึกว่าคนอื่นจะมาวิ่งด้วย ส่วนใหญ่กลับเป็นกองเชียร์ สักพักก็มีคนเอารั้วมาวางกั้นให้เรากระโดดวิ่งข้ามรั้วด้วย
อย่างที่เราบอกว่าถ้าลดเงินสดได้จริง คอร์รัปชันจะน้อยลง เพราะการคอร์รัปชันด้วยเงินสดจะลำบากขึ้น ก็จะมีคนที่คิดต่อได้ทันทีว่าถ้าไม่เก็บเป็นเงินสดก็เก็บเป็นเพชรเป็นทองสิ หรือใบกำกับภาษีที่ส่งเป็นไฟล์อิเล็กทรอนิกส์ก็มีคำถามว่าทำใบกำกับภาษีปลอมส่งก็ได้ ผมตอบว่าใช่ ทำได้ เพราะการจะรู้ว่าค้าขายจริงหรือไม่ ต้องตรวจสอบกันอีกที
ผมเปลี่ยนการส่งเอกสารกระดาษเป็นอิเล็กทรอนิกส์ได้ แต่เปลี่ยนจริยธรรมของคนที่คิดจะโกงไม่ได้
การมาถึงของสังคมไร้เงินสด ความจริงเราจะทิ้งปัญหาไว้ให้คนรุ่นต่อไปก็ได้ แต่ผมและทีมงานคิดว่าได้ทำหน้าที่ของตัวเองเต็มที่แล้ว ที่เหลือขึ้นอยู่กับคนในประเทศจริง ๆ หรือต่อไปหลังเลือกตั้งใหม่ นักการเมืองใหม่มาก็อาจยกเลิกทุกอย่าง เราก็กลับไปอยู่กันแบบเดิม ๆ