เรื่อง : รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์
ภาพ : นัฐพงษ์ แสงทองล้วน
“ความสุขคือเราได้ออกไปเที่ยว ได้อยู่กับธรรมชาติ เวลาอยู่กับธรรมชาติทำให้เราใช้ชีวิตละเอียดขึ้น ได้สังเกตตัวเองพร้อม ๆ กับสังเกตธรรมชาติ”
ท้องฟ้ามืดสนิท มีเพียงแสงไฟประดิษฐ์ที่ส่องสว่างใจกลางกรุงเทพมหานคร เด็กหนุ่มตรงหน้าใช้เวลาหัวค่ำหยิบสมุดปกหนังสีดำ ค้นหาไฟล์ภาพนกหลายชนิดที่บันทึกไว้ด้วยกล้องถ่ายรูปคู่กาย เขาหยุดที่ภาพนกตัวกระจิริดในเงาไม้สีเขียวครึ้ม ก่อนจะลากเส้นดินสอบนหน้ากระดาษอย่างใจเย็น ถ่ายทอดรายละเอียดทั้งปลายปีก ขนหาง จะงอยปาก และท่าทางการเกาะจับกิ่งก้านอย่างทะมัดทะแมง
ไม่ถึง ๑๐ นาที เจ้านกตัวน้อยจากหน้าจอก็มีคู่แฝดลายเส้นขยุกขยิกแบบภาพสเกตช์ เด็กหนุ่มวางดินสอลงข้างกาย สลับเป็นพู่กันหลากขนาดกับจานสีน้ำที่ผ่านการใช้งานอย่างโชกโชน แตะน้ำบาง ๆ ละลายสีที่จับเป็นก้อน ผสมอย่างเชี่ยวชาญ แล้วระบายอย่างเชื่องช้าเช่นเดียวกับทำนองเพลงที่ลอยอ้อยอิ่งในอากาศ
เจ้านกน้อยผลัดขนจากสีขาวสะอาดเป็นน้ำตาลอ่อนก่อนจะถูกถมทับเป็นริ้วน้ำตาลเข้ม รูปหน้าจากเส้นดินสอถูกแต่งแต้มด้วยสีดำจากปลายพู่กันเบอร์เล็ก เสร็จสิ้นเป็นนัยน์ตาใสจ้องมองมาราวกับมีชีวิต เขาตวัดปลายพู่กันอย่างเพลิดเพลิน เสริมสร้างแสงเงา ขัดเกลารายละเอียดของปลายหางและริ้วปีก ขีดเส้นเล็ก ๆ จนเจ้านกน้อยดูนุ่มเนียนน่าสัมผัส ปิดท้ายด้วยการระบายสีเขียวเข้มลงบนก้านที่เจ้านกเกาะ เป็นอันเสร็จกระบวนการ
ผมหันไปมองนาฬิกา เข็มยาวบอกผมว่า ต้น-อายุวัต เจียรวัฒนกนก ใช้เวลาเพียง ๔๐ นาที เปลี่ยนกระดาษว่างเปล่าเป็นนกกระจ้อยเหลืองไพรที่ลายเส้นราวกับมีชีวิต
วันกะเทาะเปลือก
“เราเป็นโรคขี้เบื่อ เวลาวาดอะไรจะวาดไปเรื่อย ๆ เบื่อก็เปลี่ยน แต่พอได้วาดรูปนก เราไม่รู้สึกเบื่อ เพราะยิ่งวาดรูปนก ก็เหมือนว่ามีนกให้เราต้องออกไปตามหามากขึ้นเรื่อย ๆ”
อายุวัตเล่าว่า เขาเกิดและเติบโตมาในอ้อมกอดของหุบเขาจังหวัดเชียงใหม่ คนในครอบครัวไม่มีใครสนใจดูนก แต่พอเขาเริ่มหัดดูนก ก็ได้รับของขวัญเป็นกล้องสองตาตัวเล็กที่พ่อซื้อมาฝากจากญี่ปุ่น
“เราเริ่มดูนกเพราะหมอหม่อง* ที่บ้านไม่เคยว่าที่เราทุ่มเทเวลาให้การดูนกหรือวาดรูปนก เพราะการเรียนเราไม่มีปัญหา ช่วงเรียนเราตั้งใจในห้อง สอบออกมาก็คะแนนดี”
นอกจากดูนกในธรรมชาติ เขายังชื่นชอบการอ่านคู่มือดูนกทั้งไทยและต่างประเทศขนาดที่เจ้าตัวใช้คำว่า “เข้าขั้นบ้า” และมีฝีมือเทียบชั้นนักดูนกรุ่นใหญ่ ถึงกับเคยชนะในเวทีประกวดแฟนพันธุ์แท้นักดูนกตั้งแต่ยังเรียนมัธยมฯ ปลาย
พื้นที่ชั้นหนังสือในห้องที่ส่วนใหญ่ถูกยึดครองโดยคู่มือดูนกบอกผมว่า อายุวัตยังคงหลงใหลการดูนกไม่ต่างจากครั้งเยาว์วัย
“สำหรับเรา ดูนกก็เหมือนงานอดิเรกอื่น ๆ เหมือนนักสะสมแสตมป์ สะสมผีเสื้อ สำหรับคนดูนก เราต้องได้เห็น ได้ถ่ายรูปเก็บเอาไว้ ความสุขคือเราได้ออกไปเที่ยว ได้อยู่กับธรรมชาติ เวลาอยู่กับธรรมชาติทำให้เราใช้ชีวิตละเอียดขึ้น ได้สังเกตตัวเองพร้อม ๆ กับสังเกตธรรมชาติ”
ชั่วโมงหัดบิน
อายุวัตไม่ได้เรียนศิลปะมาโดยตรง เพียงมีพื้นฐานจากการวาดสีน้ำในวัยเด็ก และไม่เคยคิดจะยึดการวาดรูปนกเป็นอาชีพ แต่เขายังวาดรูปนกอย่างสม่ำเสมอ จนวันหนึ่งขณะเรียนระดับปริญญาตรีมีคนติดต่อขอซื้อภาพวาดสี่ภาพ ภาพละราว ๆ ๔,๐๐๐ บาท ตัวเลขที่ชวนให้ผมสงสัยว่าเขามีเทคนิคในการวาดรูปอย่างไร
“การวาดนกจะไม่ใช้ไม้บรรทัดมาวัดเทียบอย่างการวาดภาพพวกต้นไม้ ดอกไม้ หรือหอย เพราะนอกจากความถูกต้อง สิ่งสำคัญอีกอย่างคือภาพที่ได้ต้องมีชีวิตชีวาเหมือนที่เราเห็นในธรรมชาติ
“ความยากของการวาดรูปนกไม่ใช่การลงสี แต่อยู่ที่การวาดให้ได้รูปทรงที่คนดูนกเห็นแล้วรู้สึกว่าใช่ เวลาเราดูปฏิทินที่ไม่ใช่นักดูนกวาด จะรู้สึกขัด ๆ เพราะรูปทรง วิธีการเกาะ ไม่ถูกต้อง คือก่อนวาดรูปเราต้องศึกษาคร่าว ๆ ว่านกมีกระดูก มีอวัยวะส่วนไหนบ้าง ที่ขาดไม่ได้สำหรับนักวาดภาพนกคือต้องดูนกอย่างสม่ำเสมอเพื่อศึกษาท่าทางของนกในธรรมชาติ”
เขาเล่าถึงประสบการณ์การดูนกทั้งในประเทศไทยโดยเฉพาะภาคเหนือที่ตนคุ้นเคย ไปจนถึงการดูนกในต่างประเทศ อย่างอินเดีย เยอรมนี ญี่ปุ่น และหลายประเทศในภูมิภาคอาเซียน รวมถึงเป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขันดูนกที่บอร์เนียว (Borneo Bird Race) เมื่อปี ๒๕๕๗
ระหว่างเล่าเรื่องเจ้าตัวหยิบภาพนกขนาด A3 ออกมาเรียงทีละภาพ ผมไล่สายตาผ่านภาพส่วนใหญ่ที่เป็นภาพวาดแบบวิทยาศาสตร์ คือเน้นสัดส่วนและรายละเอียดสมจริง ก่อนจะสะดุดกับภาพนกนางนวลแกลบท้องดำที่เขาบอกว่าเป็นงาน “ทดลอง” โดยเลือกใช้พื้นดำสนิทของผืนน้ำและผืนฟ้าตัดกับเจ้านางนวลแกลบท้องดำกางปีกขาวสะอาด
ผมมองภาพเบื้องหน้าอย่างเพลิดเพลิน ไม่อยากจะเชื่อว่านี่คือผลงานของเด็กหนุ่มวัยเพียง ๒๕ ปี
เวลาจากรัง
หลังจบการศึกษาทั้งปริญญาตรีและปริญญาโทจากต่างประเทศ อายุวัตกลับมาอยู่บ้านเกิดไม่นานก่อนจะพาตัวเองเข้าสู่กรุงเทพฯ ในฐานะนักวิจัย เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา เขาตัดสินใจบินออกจาก “ความมั่นคง” โดยลาออกจากงานประจำมาทำงานในฐานะ “นักดูนก” เต็มเวลา
“เราอายุแค่ ๒๕ ถ้ามันจะเฟลก็เฟลตอนนี้ดีกว่า เลยออกมาลอง ช่วงแรก ๆ ยอมรับว่าเครียด รู้เลยว่าเงินในกระเป๋ามันหายไป แต่เราก็ได้รายได้จากการสอนวาดรูป มีทั้งเปิดคอร์สเอง ไปบรรยายที่สตูดิโอและที่มหาวิทยาลัยมหิดล กาญจนบุรี ตอนหลังได้ไปจัดนิทรรศการภาพที่ร้านเฮือนอีแหม่ ก็มีคนติดต่อซื้อภาพมากขึ้น”
ผมฟังราคาขายภาพของเขาแล้วอดเสียดายที่ตอนเด็ก ๆ ตัวเองไม่ได้หัดวาดสีน้ำ เพราะภาพนกเหล่านี้ราคาเริ่มต้นที่ ๘,๐๐๐ บาท เขากระซิบว่าบางภาพซึ่งขนาดใหญ่กว่าขายได้ในราคาสูงถึง ๒ หมื่นบาท ยังไม่นับโครงการวาดรูปประกอบหนังสือคู่มือนกนํ้า The New Shorebirds : A Handbook of Shorebird of the World ที่รวบรวมนกน้ำกว่า ๒๐๐ สปีชีส์ ด้วยค่าตัวที่หากตีเป็นเงินไทยคิดเป็นตัวเลขเจ็ดหลัก !
“ตอนนี้เรามีความสุขมาก ที่บ้านก็พอใจเพราะเห็นว่าเราอยู่ได้ แต่มีปัญหาอยู่เหมือนกัน เพราะเราใช้เวลาดูนกมากกว่าทำงาน พอไม่มีภาระต้องเข้าออฟฟิศ เวลาได้ข่าวนกในโซเชียลมีเดีย เราก็ไปเลย พอเที่ยวเยอะ ๆ เราก็รู้สึกผิด”
เขาหัวเราะเบา ๆ พลางหยิบสมาร์ตโฟนมาไล่เรียงเหตุการณ์ผ่านภาพถ่ายบนเฟซบุ๊ก ทริปตะลุยดูนกจากภาคเหนือจดอีสาน ที่ทำให้เกือบทั้งเดือนมกราคมแทบไม่ได้จับพู่กัน
“ส่วนเรื่องอนาคต บอกตามตรงว่าเรายังไม่รู้ ไหลไปเรื่อย ๆ ไม่มีแผน แต่สักวันถ้ารูปขายได้ราคากว่านี้ ก็อยากจะกลับบ้าน ไปอยู่เชียงใหม่”
เชิงอรรถ
* นายแพทย์รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์