เรื่อง : โสรญา อะทาโส
ภาพ : สุดภูไพร หวังภูกลาง และธัญจิรา เทพรส

????????????????????????????????????


“คนทำงานศิลปะทั่วไป พอเจอเรื่องเศร้าแบบนี้ แล้วเรารู้สึก lost เราเป็นคนเขียนรูป ตอนนั้นรู้สึกว่าถึงอย่างไร เราก็จะเขียน ถ้าไม่ได้ทำตรงนี้ ก็คงจะขึ้นเฟรมผ้าใบที่บ้าน”

ผศ. มรกต เกศเกล้า หรือ “อาจารย์อ้อม” แห่งคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ บอกเล่าความรู้สึกหลังทราบข่าวสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

เช้าวันที่ ๑๔ ตุลาคม ระหว่างอาจารย์อ้อมนั่งกินข้าวกับเพื่อนอาจารย์อีกท่านหนึ่ง ได้เล่าความรู้สึกในใจว่าอยากเขียนภาพบนผนังอาคารเพื่อถวายความอาลัย อาจารย์ท่านนั้นเห็นดีด้วย จึงนำเรื่องไปปรึกษากับรองคณบดีและอาจารย์หัวหน้าสาขาวิชาจิตรกรรม ตลอดจนถามความคิดเห็นจากนักศึกษาที่เคยรังสรรค์ผลงานบนผนังอาคารมาก่อน

เมื่อทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกัน ผนังด้านติดถนนของอาคารสตูดิโอ โรงประลองจิตรกรรม A1 จึงถูกทาทับด้วยสีขาวเพื่อเตรียมพื้นที่ถวายความอาลัย ผนังคอนกรีตตรงนี้ถือเป็นจุดถ่ายรูปยอดนิยมแห่งหนึ่งในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพราะจะมีผลงานจิตรกรรมของนักศึกษาที่ผลัดเปลี่ยนกันมาแสดงฝีมือวาดภาพซ้อนทับกันภาพแล้วภาพเล่า

“วันนั้น ครม. ประกาศให้เป็นวันหยุด เราขอให้นักการภารโรงมาช่วยทาสีขาวที่กำแพง ซึ่งเขาจะไม่มาก็ได้ แต่ปรากฎว่าทุกคนมา”

ขณะที่คนกลุ่มหนึ่งกำลังตระเตรียม “ผืนผ้าใบคอนกรีต” บนผนังที่สูงถึง ๕ เมตร และยาวกว่า ๑๐ เมตร อีกด้านหนึ่ง อาจารย์กับลูกศิษย์ก็ช่วยกันสเก็ตช์ภาพ ก่อน “ขึ้นงาน” บนผนังอาคาร

ในแบบร่างแรก องค์ประกอบหลักในภาพจะเป็นพระราชดำรัสที่พระราชทานแก่คนทำงานศิลปะ โดยมีภาพพระอัจฉริยภาพด้านศิลปะของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ รัชกาลที่ ๙ อยู่ด้านล่าง แต่ระเบียบการวาดพระบรมสาทิสลักษณ์ ห้ามมีตัวหนังสืออยู่เหนือภาพพระเจ้าอยู่หัว จึงต้องแก้ไขแบบ

แบบพร้อม คนพร้อม โปรเจ็กเตอร์ฉายภาพที่ออกแบบไว้ฉาบลงผนังคอนกรีตมหึมา เหล่านักศึกษาด้านศิลปะก็ลงมือแต้มแต่งผนังขาวนั้นด้วยเฉดสีเทา ดำ

respect-work02

“ตอนอยู่บนนั่งร้าน กำลังวาดภาพอยู่ พอหันหลังกลับมาก็ตกใจกับจำนวนคน อย่างกับมาดูหนังกลางแปลงกัน หลายคนมาให้กำลังใจ เอาน้ำเอาขนมมาให้ นักศึกษาคณะอื่นก็มาด้วยนะ คณะพยาบาลเอาน้ำมาแจก คณะเกษตรศาสตร์เอานมมาแจกแถมเดินเสิร์ฟเองเลย”

ผลงานที่ก่อเกิดจากความรู้สึกร่วมของคนทำงานศิลปะเริ่มตั้งแต่สี่โมงเย็น วันที่ ๑๔ จวบจนตีสอง วันที่ ๑๕ หากรวมเวลาเก็บล้างอุปกรณ์ด้วยแล้ว ตีสี่คือเวลาที่ทุกคนแยกย้ายกันไปพักผ่อน แม้จะเป็นช่วงเวลาที่ยาวนานแต่ทุกคนก็ทำจนสำเร็จ

อาจารย์อ้อมเสริมว่า งานนี้สำเร็จลุล่วงได้เพราะทุกคนมีความรู้สึกเช่นเดียวกัน ต้องการแสดงออกซึ่งสิ่งเดียวกัน ตั้งแต่นั่งร้าน สีที่ใช้ อุปกรณ์ต่างๆ อาจารย์และนักศึกษาช่วยกันหาและหยิบยืมมาจากหน่วยงานอื่น ๆ หรือเรื่องอาหารก็ได้ความช่วยเหลือจากร้านกาแฟในคณะ

ผลงานชิ้นนี้ทำให้อาจารย์อ้อมได้เห็นพลังของลูกศิษย์ ทุกคนล้วนมีภาระงานของตัวเองล้นมือ การรวมคนจำนวนมากจึงไม่ใช่เรื่องปรกติ ทว่าครั้งนี้ ธนพล ปันทะนาน อดีตนายกสโมสรนักศึกษา ปี ๒๕๕๘ ได้ช่วยรวมตัวเพื่อน ๆ น้อง ๆ และศิษย์เก่า ทุกคนมาด้วยใจ แม้ผลงานอาจมิได้วิจิตรเลิศเลอ แต่อย่างน้อยก็เป็นส่วนหนึ่งที่เอาไว้เตือนใจคนทำงานศิลปะ ดังพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ในพิธีเปิดนิทรรศการศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ ๒๑ วันที่ ๘ กันยายน ๒๕๑๕ ที่อัญเชิญมาไว้บนผนัง ที่ว่า

“การสร้างงานศิลปะทุกอย่างทุกประเภท นอกจากจะต้องใช้ความฝึกหัดชัดเจนในการปฏิบัติ ประกอบกับวิธีการที่ดีอย่างเหมาะสมแล้ว ศิลปินจำต้องมีความจริงใจและความบริสุทธิ์ใจในงานที่ทำด้วย จึงจะได้ผลงานที่มีค่าควรแก่การยอมรับนับถือ”