ค่ายสารคดีเป็นการอบรมแบบมีภาคปฏิบัติ และห้องเรียนนี้ไม่ได้มีแค่ครูหน้าชั้น แต่เป็นครูจากสายงานสารคดีและครูที่สร้างแรงบันดาลใจผ่านชั่วโมงเรียนสั้นๆ ที่ได้พบเจอกัน
ตลอด 4 เดือนที่ผ่านมาของค่ายสารคดีครั้งที่ 12 นักเขียนและช่างภาพได้เรียนรู้จากครูประจำ ทั้งการเขียนและถ่ายภาพ รวมถึงครูพิเศษที่มาคอยสร้างแรงบันดาลใจ เราขอรวบรวม 5 บทเรียนบันดาลใจในค่ายสารคดีครั้งที่ 12 ที่อยากจะส่งต่อถึงผู้อ่านนิตยสารสารคดี และผู้รักการเรียนรู้ทุกท่าน
1/ หัวใจของนักสื่อสารสารคดี
ย้อนกลับไปเมื่อวันเปิดโครงการค่ายสารคดีครั้งที่ 12 เมื่อ 28 พฤษภาคมที่ผ่านมา คุณสุดใจ พรหมเกิด ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. ได้ต้อนรับชาวค่ายสารคดีด้วย 5 หัวใจสำคัญของการเป็นนักสื่อสารสารคดี 1) ต้องรู้จักเรียนรู้คน เข้าใจ และเรียนรู้ที่จะเชื่อมโยงสิ่งต่างๆ ได้ 2) ต้องตั้งคำถาม “คำถาม” ที่ดีมักจะนำไปสู่คำตอบที่งดงาม 3) ต้องอ่านสถานการณ์ให้ออก “อ่าน” ด้วยมุมมองของคนที่ใกล้ชิดและเกาะติด 4) กล้าที่จะดิ่งไปให้ถึงต้นตอของเรื่องราวที่จะศึกษาและสนใจ 5) เราจะถ่ายทอดอย่างมีสุนทรียะได้อย่างไรทั้งเรื่องและภาพ เพราะการสื่อสารที่ทรงพลังมากที่สุดก็คือการสื่อสารด้วยความงาม ความงามเท่านั้นที่จะไปสัมผัสจิตที่ลึกของผู้คน
2/ “ยิ่งเรารู้เยอะขึ้น มันจะทำให้ภาพเราดีขึ้น สตอรีเราหนักขึ้น สตรองยิ่งขึ้น”
อธิษฐ์ พีระวงษ์เมธา กลับมาเป็นวิทยากรบันดาลใจในค่ายสารคดีอีกครั้ง คราวนี้มาพร้อมกับประสบการณ์ของช่างภาพข่าวไทยประจำสำนักข่าวรอยเตอร์ ด้วยบทบาทที่เพิ่มขึ้นนอกเหนือจากช่างภาพสารคดี พี่ชุมสอนให้เรารู้จักการทำการบ้านอย่างหนักก่อนลงพื้นที่ การทำงานด้วยความรวดเร็ว รอบคอบ และเคารพต่อผู้คนรอบตัวตั้งแต่แหล่งข้อมูล ไปจนถึงคู่แข่งในการทำงาน
3/ “…เพชรในหัวคางคก ใครหาพบ เบาสบาย…”
เป็นห้องเรียนสร้างสรรค์อีกคลาสหนึ่ง เมื่อ ธีรภาพ โลหิตกุล ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์(สารคดี) ปี 2558 นำคำสอนของท่านพุทธทาสภิกขุมาถ่ายทอดไปพร้อมกับการสอนเรื่อง #หัวใจสารคดีที่มีชีวิต ที่ไม่ใช่ผลผลิตของการนำข้อมูลมาเขียนอย่างทื่อๆ แต่จำเป็นต้องใส่อรรถรสในงานสารคดีด้วย
4/ “ความรู้สึกมันถ่ายติดไม่ได้” งานเขียนสารคดีก็เช่นกัน
แม้สารคดีกับการทำหนังดูเหมือนจะอยู่คนละโลกกัน แต่นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ ไอดอลของหลายๆ คนก็เป็นผู้กำกับที่ได้รับรางวัลในสาขาภาพพยนตร์สารคดีมาแล้ว (จากผลงานเรื่อง TheMaster) พี่เต๋อให้แง่คิดของการทำสารคดีในแบบคนทำหนังและคนเขียนบทภาพยนตร์ว่าความรู้เป็นสิ่งที่กล้องถ่ายติดไม่ได้ เช่นเดียวกับการถ่ายทอดในงานสารคดี นักเขียนจะเขียนอย่างไรให้คนอ่านสัมผัสถึงอารมณ์ ช่างภาพต้องนำเสนอภาพแบบไหนถึงจะสื่อเรื่องราวได้ครบถ้วนสมบูรณ์
5/ บทเรียนที่ยิ่งใหญ่ มาจากการลงมือ “ทำ” จริง
เพราะนอกเหนือจากการบรรยายแล้ว สิ่งที่ค่ายสารคดีแตกต่างจากค่ายอื่นๆ คือการได้ลงมือทำงาน จากโจทย์งานสารคดีทั้ง 3 ชิ้นงาน นักเขียนและช่างภาพจะได้บทเรียนที่ต่างกันออกไป เมื่อมานำเสนอในห้องเรียนค่ายสารคดีก็ได้ความเห็นจากครูเขียนและครูภาพช่วยชี้จุดอ่อนจุดแข็งของงานแต่ละชิ้นให้นักสารคดีฝึกหัดได้สั่งสมประสบการณ์และพร้อมสำหรับบทเรียนต่อๆ ไป
บทเรียนดีๆ เหล่านี้เกิดขึ้นจากภาคีแห่งความร่วมมืออย่าง บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ โดยแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน และนิตยสารสารคดี พร้อมพิสูจน์ผลงานจากเหล่านักเขียนและช่างภาพจากค่ายสารคดีครั้งที่ 12 ได้ในนิตยสารสารคดีฉบับพฤศจิกายน 2559