สุเจน กรรพฤทธิ์ : สัมภาษณ์
บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช : ถ่ายภาพ

krittikorn01

เสียงระเบิดในย่านการค้าและสถานที่ท่องเที่ยวในเจ็ดจังหวัดภาคใต้ตั้งแต่เย็นวันที่ ๑๑ สิงหาคมต่อเนื่องถึงวันที่ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๕๙ รวมทั้งตัวเลขจำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตตามที่สื่อนำเสนอนั้นสร้างความตื่นตระหนกแก่สังคมไทยอีกครั้ง

แต่เพียงไม่นานทุกอย่างก็กลับสู่ภาวะปรกติ เช่นเดียวกับที่เคยเกิดเหตุการณ์ทำนองนี้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ดูเหมือนรัฐไทยทำได้เพียง “ไล่ล่าคนร้าย” “โทษฝ่ายตรงข้าม” โดยที่การสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น สุดท้ายคนไทยก็ทำได้เพียง “รอเวลา” ที่เหตุการณ์ดังกล่าวจะเกิดขึ้นอีกโดยภาวนาว่าเราจะไม่ตกเป็น “เหยื่อ”

น่าสังเกตว่า ระหว่างที่หลายคนยังสองจิตสองใจ ไม่แน่ใจว่านี่เป็นเหตุการณ์ “ก่อการร้าย” หรือไม่ เราเห็นความพยายามวิเคราะห์สถานการณ์จากคนจำนวนมาก

หนึ่งในบรรดานักวิเคราะห์ ชื่อ กฤดิกร วงศ์สว่างพานิช ปรากฏอย่างโดดเด่น เขาโพสต์บทวิเคราะห์ที่น่าสนใจบนเครือข่ายสังคมออนไลน์อย่างเฟซบุ๊กอย่างสม่ำเสมอ ด้วยภูมิหลังที่เรียน “ก่อการร้ายศึกษา” ทำวิทยานิพนธ์ปริญญาโทเรื่อง The Delegitimation of (Non-State) Violence : Constructing Terror in Modernity ที่ University of Wales

กฤดิกรจึงมีแนววิเคราะห์ปัญหาน่าสนใจ หลายครั้งเขาถอดรื้อ “ปรัชญา” การก่อการร้าย และนำเสนอ “ทางเลือก” ที่ไม่ค่อยปรากฏในสื่อกระแสหลักของโลก กฤดิกรบอกสารคดี ว่า สังคมไทยอยู่กับการก่อการร้ายมานาน อย่างน้อยตลอดช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เพียงแต่เรา “ไม่แยแส” เหตุที่เราตกอยู่ในสภาพเช่นนี้เนื่องจากสังคมไทยยังไม่เป็น “สมัยใหม่” เต็มตัว และปัญหาก็เข้ามาเคาะประตูบ้านเราอย่างหนักหน่วง

เหตุระเบิดและวางเพลิงในพื้นที่เจ็ดจังหวัดภาคใต้ช่วงต้นเดือนสิงหาคมและความสับสนที่เกิดขึ้นจึงเป็นดัชนีชี้วัดได้ดีว่า คนไทยจำนวนมากยังสับสนและขาดความรู้เกี่ยวกับสิ่งที่
เรียกว่า “ก่อการร้าย”

สารคดี ชวนกฤดิกรวิเคราะห์สถานการณ์หลังเหตุการณ์ระเบิดในพื้นที่เจ็ดจังหวัดภาคใต้อีกครั้ง เพื่อคนไทยทุกคนจะได้ก้าวสู่ “โลกยุคก่อการร้าย” และรับมือกับความท้าทายนี้อย่างรู้เท่าทันมากขึ้น

ทำไมสนใจศาสตร์ด้านการก่อการร้าย
จุดเริ่มต้นของความสนใจประเด็นนี้เพราะผมเกิดวันที่ ๑๑ กันยายน ตรงกับวันคล้ายวันเกิดเหตุการณ์ ๙/๑๑ (ผู้ก่อการร้ายจี้เครื่องบินชนตึกเวิลด์เทรดเซนเตอร์ในสหรัฐอเมริกาเมื่อ ค.ศ. ๒๐๐๑) เป็นเหตุผลเล็ก ๆ เหตุผลต่อมาคือตอนปริญญาตรีผมเรียนคณะรัฐศาสตร์ สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ที่จุฬาฯ เรียนแล้วสนใจ “ปรัชญาการเมืองสมัยใหม่และหลังสมัยใหม่” กับ “ความมั่นคงศึกษา” พอจะเรียนปริญญาโทก็คิดว่าเรียนปรัชญาทำมาหากินลำบาก ถ้าด้านความมั่นคงยังพอทำอะไรได้บ้าง จนอาจารย์ท่านหนึ่งบอกว่าสายก่อการร้ายศึกษากำลังได้รับความนิยม

พอผมไปหาดูก็พบว่ามีมหาวิทยาลัยในโลกตะวันตกหลายแห่งเปิดสอน University of Wales, Aberystwyth (ปัจจุบันคือ Aberystwyth University) ประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นแห่งแรกของโลกที่สอนเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มีชื่อเสียงด้านความมั่นคงศึกษาแนววิพากษ์ ผมชอบแนวนี้และอยากเรียนที่นี่อยู่แล้วจึงตัดสินใจไป พอเรียนจบกลับมาพบว่าไม่มีใครจบด้านนี้ คิดว่าโอกาสในการนำเสนอแนวคิดมีมาก เพราะที่อื่นคนที่เรียนจบการก่อการร้ายศึกษาแบบกระแสหลักครอบงำวิธีคิดคนในสังคมจนกระแสรองแทบไม่ได้มีโอกาสส่งเสียง คิดดูว่านักวิชาการชื่อดังอย่าง นอม ชอมสกี (Noam Chomsky) พอพูดเรื่องก่อการร้ายแนววิพากษ์ ฝรั่งด้วยกันยังไม่ค่อยฟัง ขนาดชอมสกียังไม่มีใครสนใจ เพราะในโลกตะวันตกการก่อการร้ายเป็น “ข้อห้าม” (taboo) ร้ายแรง เห็นใจกันไม่ได้ เป็นการละเมิดข้อห้ามสังคม คล้ายการร่วมเพศกับเด็กหรือระหว่างพี่น้อง

ก่อการร้ายศึกษาสอนวิชาอะไรบ้างและในบ้านเรามีคนเรียนจบด้านนี้กี่คน
กี่คนนี่ไม่แน่ใจ เข้าใจว่าผมน่าจะเป็นคนไทยคนที่ ๒ ที่เรียนด้านนี้ ที่รู้คือคนอื่นเรียนแบบกระแสหลัก ส่วนวิชาเรียนนั้นบางคนคิดว่าเราไปเรียนเรื่องวางระเบิด (หัวเราะ) มีคนคิดอย่างนั้นจริง แต่ไม่ใช่นะครับ เราเรียนเพื่อดูว่าผู้ก่อการร้ายคิดอย่างไร รูปแบบก่อการร้ายมีลักษณะเฉพาะและลักษณะร่วมอย่างไร หาวิธีจัดการปัญหา หาทางออกที่เป็นไปได้มากที่สุด ก่อการร้ายศึกษายังมีหลายสำนัก คือมีทั้งกระแสหลักและทวนกระแสกระแสหลัก มองว่าเป็นภัยร้าย ต้องจัดการเด็ดขาด ไม่มันตายเราก็ตาย ใช้นโยบายยกทหารไปปราบ เรียกว่า military containment policy (นโยบายจำกัดขอบเขตด้วยกำลังทหาร) คือจะฆ่ามันยังไงก่อนมันฆ่าเรา ชาติตะวันตกเกือบทั้งหมดใช้วิธีนี้ ส่วนกระแสวิพากษ์ ตั้งคำถามว่านี่เป็นภัยใหญ่จริงหรือ หรือเราหลง “ความจริงล้นเกิน” หาวิธีอื่นที่น่าจะเหมาะกว่าการใช้กำลังดีไหม ซึ่งที่ผ่านมาวิธีการทางทหารเจอแต่ผลเลวร้าย

การศึกษาเรื่องนี้ยังแยกเป็นจุลภาค (Micro Terrorism) ศึกษาประเด็นเฉพาะ เช่น ก่อการร้ายกับศาสนา หาลักษณะเฉพาะของกลุ่มก่อการร้าย แบบที่ผมเรียนคือมหภาค (Macro Terrorism) ดูภาพรวม เช่น หาจุดร่วมพื้นฐาน (universal minimum) ของการก่อการร้าย พูดง่าย ๆ สมมุติสิ่งที่เราศึกษามีตู้กับเตียง แบบจุลภาคบอกว่านี่คนละอย่าง จัดการคนละแบบ แบบมหภาคบอกมันคือเฟอร์นิเจอร์ทั้งคู่ ดูภาพรวมเพื่อหาทางจัดการในภาพกว้าง ตอบคำถามหลัก ถ้าถูกร้อยละ ๗๐ ก็ดีใจแล้ว แต่ไม่ใช่มโนคิดไปเองว่าทุกอย่างอเมริกาอยู่เบื้องหลัง

จริง ๆ ยังมีสาขาที่เกี่ยวข้องอีกมาก เช่นมานุษยวิทยาว่าด้วยการก่อการร้าย ส่วนในบ้านเรายังไม่มีการสอนเรื่องนี้ นักวิชาการไทยแทบทั้งหมดศึกษาแบบ micro terrorism เช่นกลุ่มนักวิชาการในภาคใต้ คนที่เน้นการศึกษาภาพรวมน่าจะมีผมคนเดียว

การก่อการร้ายมี “ประวัติศาสตร์” หรือไม่
คำว่า “ก่อการร้าย” ต้องแยกสองเรื่อง คือ “แนวคิด” และ “เนื้อหาการกระทำ” ที่ไม่มีใครรู้ว่าเริ่มเมื่อใด เช่น “โรบินฮูด” ในนิทานพื้นบ้านอังกฤษที่ปล้นเจ้าครองนคร เอาเงินมาช่วยคนจน ถ้านำเนื้อหาการกระทำนี้มาวางในยุคปัจจุบัน นี่คือการก่อการร้าย มีการฆ่าคน ทำตามอุดมการณ์ แต่อังกฤษยุคโบราณไม่มีแนวคิดเรื่องก่อการร้าย โรบินฮูดจึงเป็นวีรบุรุษ จะเห็นว่าพอถามถึง “เนื้อหา” จึงยากมาก เพราะการกระทำนี้มีมานานมากแล้ว แต่ “แนวคิด” มาผุดขึ้นทีหลังเกิดในฝรั่งเศสใน ค.ศ. ๑๗๙๕ คือ ๖ ปีหลังปฏิวัติฝรั่งเศส ทำไมแนวคิดเรื่อง “ก่อการร้าย” เกิดตอนนี้ เพื่อใช้อธิบายความน่ากลัวของการไล่กิโยตีนคนกลางเมือง จุดนี้เองที่ทำให้ผมเริ่มต้นคำถามงานวิจัยของตัวเองว่าทำไมแนวคิดนี้ถึงเพิ่งมาเกิดขึ้นทั้งที่ฝรั่งเศสผ่านอะไรมามาก ศตวรรษที่ ๑๓ จับคนเผาทั้งเป็น มีกษัตริย์ที่ขูดรีดประชาชนจนตายบนถนน

ผมพบว่าการปฏิวัติฝรั่งเศสได้นำมาซึ่ง “ภาวะความเป็นสมัยใหม่” (modernity) และ “ระบอบประชาธิปไตย” ที่ทำให้เกิดความตระหนักเรื่อง “สิทธิมนุษยชน” มันสำคัญมากเพราะทำให้เกิดนวัตกรรมทางการเมืองที่สำคัญที่สุดของยุคสมัยใหม่ คือ ๑. การที่ประชาชนทุกคนเป็นเจ้าของรัฐ และ ๒. มนุษย์เป็นเจ้าของชีวิตตัวเอง ทั้งสองไม่ใช่สมบัติของเจ้าผู้ปกครองอีกต่อไป เกิดความแตกต่างจากยุคก่อนสมัยใหม่ (pre-modern) ผมเปรียบเทียบง่าย ๆ คุณเป็นคนใช้ในคฤหาสน์ มีโจรมาขโมยของ คุณไม่รู้สึกว่าของที่หายเป็นของคุณ คนที่โดนท้าทายคือเจ้านาย อย่างมากคุณกลัวเจ้านายบ่น แต่พอเปลี่ยนเป็นทุกคนถือหุ้นคฤหาสน์ ของโดนขโมย ทุกคนเสียหายด้วย ความรุนแรงที่เกิดแก่รัฐสมัยใหม่ก็เหมือนกัน เมื่อเกิดมันจึงท้าทายประชากรทุกคน อีกสิ่งที่เปลี่ยนคือ จากเดิมพระเจ้าหลุยส์ให้ยืมชีวิต สั่งไปตายต้องไป ไม่ไปก็เท่ากับขโมยทรัพย์สินพระเจ้าหลุยส์ ถูกลงโทษ ใครจะฆ่าคุณก็ได้ แต่ในรัฐสมัยใหม่ไม่ใช่ แนวคิด “ก่อการร้าย” จึงเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อคนตระหนัก ในยุคที่คนตระหนักถึงสองสิ่งนี้ ก่อนการปฏิวัติฝรั่งเศส “การก่อการร้ายในฐานะแนวคิด” จึงไม่สามารถเกิดขึ้นมาได้

สถานะของแนวคิดด้านการก่อการร้ายในไทยเป็นอย่างไร
เมื่อเรียนจบกลับมา ผมคิดผิดที่จะคานแนวคิดเรื่องก่อการร้ายกระแสหลักในบ้านเรา กลับกันประเทศนี้ไม่มีอะไรให้ต้องคานเพราะเลือก “ไม่แยแสไม่สนใจ” ไม่ว่าแนวคิดกระแสหลักหรือรอง เรายังอยู่แบบ “กึ่งสมัยใหม่” (semi-modernity) มีทุกอย่างในแง่โครงสร้าง มีห้างสรรพสินค้า ถนน แต่เราขาด “ความคิดการเมืองสมัยใหม่” วิธีคิดบางอย่างย้อนกลับไปก่อนสมัยใหม่ อาจถึงยุคบรรพกาล เช่น เชื่อว่าระบอบเผด็จการจะให้สิทธิมากกว่าระบอบประชาธิปไตย เชื่อหมอดูมากกว่านักวิทยาศาสตร์

จิตวิญญาณของเราที่ตกค้างอยู่ในโลกก่อนสมัยใหม่เช่นนี้จะเข้ากับที่อาจารย์ท่านหนึ่งพูดว่า ให้คุณทำมาหากินไป มีเงินเที่ยวเอาชีวิตรอดไปวัน ๆ ไม่ต้องคิดอะไร นี่เป็นแนวคิดเดียวกับการเป็นคนใช้ในคฤหาสน์ เราแค่อยู่ในคฤหาสน์สมัยใหม่ แนวคิดบรรพกาลยังคงถูกผลิตจนวันนี้ มันไม่อนุญาตให้เกิดแนวคิดเรื่องก่อการร้ายที่นี่ แม้เราจะอยู่กับมันมา ๑๐ กว่าปีในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ นอกจากเราไม่ยอมรับ ยังเล่นโวหารเปลี่ยนเป็น “ก่อความไม่สงบ” พอเกิดระเบิดที่ศาลพระพรหมบริเวณสี่แยกราชประสงค์ก็บอกว่าเป็นฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองทำ พวกค้ายาเสพติด พวกค้ามนุษย์ทำ

krittikorn03

“การก่อการร้ายทุกที่ในโลกผู้ก่อการต้องการ ‘สื่อสาร’ กับสังคม แต่สังคมไทยไม่แยแส ซุกไว้ใต้พรม ลืมแล้วก็เดินต่อไป”

ผู้ก่อการร้ายไม่ปวดหัวหรือ ถ้าปฏิบัติการที่นี่แล้วไม่มีใครเข้าใจ
นี่เป็นปัญหาซ้อนปัญหา การก่อการร้ายทุกที่ในโลกผู้ก่อการต้องการ “สื่อสาร” กับสังคม แต่สังคมไทยไม่แยแส ซุกไว้ใต้พรม ลืมแล้วก็เดินต่อไป ทำมาแล้วกับทุกเรื่องตั้งแต่ ๖ ตุลาฯ ๒๕๑๙ เราไม่เคยทำความเข้าใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ๆ การซุกปัญหาอาจทำให้สงบจริง แต่มันจะไปคุกรุ่นอยู่ข้างล่าง ขยะใต้พรมไม่ได้หายไป ยังเน่าต่อและส่งกลิ่น ทีนี้เมื่อผู้ก่อการส่งสารไม่ได้ คิดว่าเขาจะยอมหรือ ถึงขั้นระเบิดพลีชีพสละชีวิตแก่สิ่งที่เขาคิดว่ามีคุณค่ายิ่งกว่าชีวิตมาแล้ว ถ้าส่งสารไม่ได้ เขาก็ยกระดับการปฏิบัติการให้เราสนใจให้ได้ การซุกปัญหาไว้มีแต่จะนำไปสู่ปัญหาที่ใหญ่กว่าในระยะต่อไป

เหตุการณ์ระเบิดในพื้นที่เจ็ดจังหวัดภาคใต้ เจ้าหน้าที่รัฐพยายามอธิบายว่าเป็นการ “ก่อวินาศกรรม” ไม่ใช่ “ก่อการร้าย”
เป็นการใช้โวหารเลี่ยงความจริง พูดถึงคำว่า “ก่อวินาศกรรม” (sabotage) มีสองสำนักคิดใหญ่ที่พูดถึงเรื่องนี้ ในแง่ความหมาย สำนักหนึ่งมองว่า sabotage คือความรุนแรงในเขตสงครามที่ก่อโดยเจ้าหน้าที่รัฐ เช่นหน่วยซีลระเบิดสะพาน ถ้าทางการไทยใช้คำอธิบายนี้จะประหลาดมาก อีกสำนักอธิบายว่าเป็นวิธีทำลายสิ่งปลูกสร้างอย่างเดียว โดยรากศัพท์ sabotage คือการก่อความรุนแรงทางการเมืองโดยไม่พุ่งเป้าต่อมนุษย์ ถ้ายึดตามความหมายของศัพท์คำนี้ นี่เป็นลักษณะการก่อการร้ายยุคเก่าช่วงทศวรรษ ๑๙๖๐-๑๙๙๐ ที่ก่อการร้ายแบบนี้ได้เครดิตเพราะต่อต้านอำนาจกดขี่ เช่น กลุ่มปาเลสไตน์ที่โดนปล้นดินแดน กลุ่มไออาร์เอ (IRA) ที่พยายามแยกไอร์แลนด์เหนือออกจากอังกฤษ ลงมือทำเรื่องนี้เพราะกลุ่มเหล่านี้ทำสงครามแบบไหนก็แพ้

เหตุการณ์ในภาคใต้ของเราจึงไม่สมเหตุผลที่ใช้คำว่า sabotage นอกจากในแง่วิธีการยังมีรายละเอียดเรื่องเจตนาที่ต้องพิจารณาด้วย พูดง่าย ๆ ว่าถ้าผมจี้คุณเรียกค่าไถ่เป็น “อาชญากรรม” แต่เมื่อไรเรียกร้องกับรัฐ นี่เป็น “ก่อการร้าย” วิธีจึงซ้ำกันได้ ต้องดู “เจตนา” มากกว่า เหตุการณ์ ๙/๑๑ ก็เรียก “วินาศกรรม” ได้ “วินาศกรรม” กับ “ก่อการร้าย” จึงเป็นของที่อยู่ด้วยกัน ผมมองตรงกับนักวิเคราะห์แทบทั้งโลก ยกเว้นรัฐไทย ว่าน่าจะเป็นฝีมือบีอาร์เอ็น (BRN) แต่ต้องถกกันว่าบีอาร์เอ็นลงมือฝ่ายเดียวหรือมีอิทธิพลของกลุ่มไอซิส (ISIS) ด้วย ต้องยอมรับว่าไอซิสมาตั้งสาขาในภูมิภาคนี้แล้ว ถ้าวิเคราะห์ถูก นี่คือการยกระดับปฏิบัติการ ซึ่งน่ากลัวเพราะต่างจากการก่อเหตุแบบเดิมที่ไม่สนใจเหยื่อ แต่ครั้งนี้เน้นก่อเหตุโดยต้องการเหยื่อจำนวนมาก (massive casualty) การก่อเหตุเชิงสัญลักษณ์ยังมีอยู่ แต่เปลี่ยนมาทำในตลาด สถานที่ที่มีคนมาก ในภาคใต้บ้านเราน่ากลัวตรงที่เป็นการผสมผสานการก่อการร้ายแบบเก่ากับใหม่ และครั้งนี้มีความแยบคายวางแผนการ

คือไม่ได้คิดจะทำก็ทำได้ในเวลาอันสั้น
ดูจุดเกิดเหตุ ที่อำเภอหัวหินเกิดในย่านร้านอาหาร ระเบิดในช่วงมีคน สามจุดแรกมีลักษณะนี้ ชัดเจนว่าต้องการเหยื่อ เมื่อคนตายก็สร้างความสนใจได้ การวางเพลิงในโลตัส นครศรีธรรมราช ถ้าคิดจะทำให้มีคนตายก็ทำได้ คิดดูว่าเขาเอาระเบิดไปติดตั้งแล้วออกไป ห้างปิด ไม่มีใครทราบว่ามีระเบิด ถ้ารอห้างเปิดทำการอีกวันแล้วกดระเบิดก็ได้ แต่นี่จุดระเบิดตอนตี ๒ เขากำลังบอกว่าถ้าคิดจะทำเขาก็ทำได้ วิธีนี้เรียกว่าจำกัดเหยื่อ (limited victim) คือจงใจให้มีเหยื่อ แต่ไม่ได้กะให้ตายเยอะ วิธีการลูกผสมแบบเก่ากับใหม่ นี่ส่งผลต่อการสร้างเครดิต เมื่อใดเครดิตของผู้ก่อการร้ายมีคนฟังมากกว่ารัฐ ภาวะรัฐล้มเหลวจะเกิดขึ้น ไม่ใช่ทุกคนจะพูดได้ว่าฉันจะวางระเบิด อย่างผมบอกว่าจะระเบิดหอไอเฟลที่ปารีส คนคงหาว่าผมบ้า แต่ถ้าไอซิสพูดจะเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

มีข้อสันนิษฐานกี่ทฤษฎีกรณีระเบิดในเจ็ดจังหวัด
หนึ่ง BRN ทำ ไอซิสจะมีอิทธิพลด้วยมั้ยนั้นแล้วแต่มอง สอง ตรงไปตรงมา คิดว่ากลุ่มเสื้อแดงทำ แยกย่อยเป็นเสื้อแดงในพื้นที่ กับคุณทักษิณ ชินวัตร สั่งการโดยตรง สาม รัฐทำ แยกเป็นทำโดยทหารที่ไม่พอใจการโยกย้ายประจำปี กับรัฐบาลทหารทำเพื่อให้ตัวเองมีอำนาจต่อไป

เริ่มจากข้อสันนิษฐานเรื่องเสื้อแดง ทุกอย่างโยงกับผลประชามติเมื่อ ๗ สิงหาคม ๒๕๕๙ คิดดูว่าระเบิดลูกแรกวางวันที่ ๑๐ สิงหาคม หลังประชามติ ๓ วัน ดูจากเวลา การก่อเหตุระดับนี้เป็นไปไม่ได้ที่กลุ่มเสื้อแดงจะทำ ต่อให้ไอซิสลงมือเองก็ต้องวางแผนเป็นเดือน นี่คือ co-ordinated bomb ระเบิดห่างกันทุกครึ่งชั่วโมง แต่ละจุด เลือกทำเลอย่างดี บางจุดวางล่วงหน้า บางจุดวางก่อนเกิดเหตุ หรือต่อให้คุณทักษิณสั่งก็เป็นไปไม่ได้ นอกจากรู้ผลประชามติล่วงหน้า ในแง่ยุทธศาสตร์ถ้าผมมีเงินเท่าคุณทักษิณ มีวิธีที่ดีกว่าวิธีแบบนี้มาก

ส่วนข้อสันนิษฐานว่าทหารที่ไม่พอใจการโยกย้ายทำ ผมประเมินว่ารัฐบาลทหารชุดนี้คุมกำลังพลตัวเองไม่ให้แตกแถวได้ดี ถ้าจะก่อเหตุจริง ๆ ทำใน กทม. ง่ายกว่า ไม่ต้องวางหลายจุด แต่ความจริงคือตอนนี้ (สิงหาคม ๒๕๕๙) โผทหารก็ยังไม่เสร็จ สุดท้าย ข้อสันนิษฐานที่รัฐทำเอง ถ้ามีระเบิดสักสองลูกพอฟังขึ้น แต่นี่ระเบิดมีหลายลูก ต่อให้ลงมือทำผลเสียก็มากกว่าผลดี ไม่มีประเทศนอกเขตสงครามที่ไหนปล่อยให้มีระเบิดจุดติดมากกว่าสองลูกในวันเดียว นี่แสดงถึงการรับมือสถานการณ์ไม่ได้ ทั้งที่รัฐบาลทหารมาด้วยความคาดหวังเรื่องความมั่นคง บอกไม่ได้เลยว่ารัฐบาลทำ ที่น่าแปลกคือ คนไทยจำนวนมากเชื่อบางทฤษฎีโดยไม่คิด ปรกติเรากลัวว่าคนจะเชื่อผู้ก่อการร้ายมากกว่ารัฐ แต่ตอนนี้บ้านเรากลับกัน คนเชื่อคำพูดรัฐล้นเกิน การเชื่อแบบนี้อาจบีบให้ผู้ก่อเหตุยกระดับก่อเหตุขึ้นไปอีก

ทำไม BRN ไม่คิดก่อเหตุที่ กทม. ทั้งที่ส่งผลสะเทือนสูงกว่า
ผมทำได้แค่คาดการณ์ สิ่งที่เขาต้องการมากกว่าความรุนแรงคือสร้างแนวร่วม รักษาพื้นที่ การจะมาก่อเหตุใน กทม. ไม่มีผลในการสร้างแนวร่วม ไม่มีผลต่อการขยายพื้นที่ ถ้าลงจุดบนแผนที่เหตุครั้งนี้เว้นสามจังหวัดภาคใต้ไว้เลย ลักษณะนี้อาจบ่งว่า “พวกข้างบนไม่ใช่พวกเรา” สิ่งที่บีอาร์เอ็นทำได้ แต่รัฐบาลไทยทำไม่ได้ คือเขาสร้างแนวร่วมกับคนในพื้นที่ได้ บีอาร์เอ็นไม่ได้อยากสร้างแนวร่วมกับทุกคน เขาเน้นกลุ่มเป้าหมาย พอหันมาดูมาตรการภาครัฐส่งทหารลงไปฝึกยิงปืน ๑ วัน สอนภาษายาวี ๓ ชั่วโมง แล้วทำงาน ผมมองว่าไม่มีประโยชน์ เหมือนส่งไปเพื่อ “สังหาร” อย่างเดียว การเข้าหาประชาชนก็เป็นในลักษณะหาข่าว ไม่ได้สร้างแนวร่วม

การก่อความรุนแรงเพื่อสร้างแนวร่วม ทำไมได้ผลกับกลุ่มเป้าหมายทั้งที่คนปรกติส่วนมากไม่ยอมรับการกระทำแบบนี้
ในตะวันออกกลางไอซิสได้แนวร่วมจำนวนมากเป็นวัยรุ่นมุสลิมที่เติบโตนอกซีเรีย อายุระหว่าง ๒๐-๓๐ ปี เคยใช้ชีวิตเหลวแหลก ไม่เคร่งศาสนา คนพวกนี้พอมาก่อการร้ายก็มาตัดคอคน ต้องเข้าใจว่าเขาต้องการคนที่เห็นความเหลวแหลกในชีวิต ถวิลหาการมีตัวตน มีพื้นที่ในสังคม คนเหล่านี้แสดงสิ่งนี้ผ่านการตีความศาสนาแบบของเขา ไอซิสตีความศาสนาถูกหรือผิดเป็นอีกเรื่อง สิ่งที่เกิดขึ้นคือมีคนเชื่อ ภายใต้ภาวะที่ย้อนแย้งของโลก การทำแบบนี้กลับระดมคนได้ในแบบของมัน ซึ่งอยู่ในเงื่อนไขที่เราไม่เข้าใจ สมมุติ ผู้ก่อการร้ายรู้ว่ากลุ่มบีเอาเปรียบคนกลุ่มเออยู่ เขาก็จัดการกลุ่มบี แล้วดึงคนจากกลุ่มเอ นี่เป็นเงื่อนไขที่ผู้ก่อการร้ายเข้าใจเรามากกว่าเราเข้าใจเขา

คุณเคยกล่าวว่าเราต้องช่วยมุสลิมสายกลางด้วย
หลังเหตุการณ์ ๙/๑๑ มีการสร้างภาพให้ชาวมุสลิมไม่ใช่มนุษย์ในสื่อ สร้างภาพคนก่อการร้ายหนวดเคราครึ้ม พันฮิญาบ ทั้งที่จริง ๆ เขาอาจไล่จับโปเกมอนเหมือนเรา เวลาเกิดเหตุคนมักโทษชาวมุสลิมและอิสลาม แต่อีกด้านก็มีกลุ่มที่มองไปอีกทาง คือไม่โทษอิสลามเลย มุสลิมบางกลุ่มก็พูดว่าคนทำไม่ใช่มุสลิม ผมไม่ถกเรื่องนี้ในรายละเอียด แต่อยากให้ดูว่าอะไรคือเหตุผลที่กลุ่มก่อการร้ายดึงคนจำนวนหนึ่งมาก่อเหตุได้

อะไรเกี่ยวก็ต้องบอกว่าเกี่ยว อะไรไม่เกี่ยวผมจะบอกไม่เกี่ยว กรณีชาวปาเลสไตน์ที่มักไปก่อเหตุในอิสราเอล แทบทั้งหมดเป็นมุสลิม แต่ถ้าใครกล่าวหาว่าศาสนาผลักดันพวกเขา ผมเถียงกลับเสมอว่าการก่อการของพวกเขาแทบไม่มีแรงผลักดันจากศาสนาเลย แรงผลักดันความรู้สึกชาตินิยม ต้องการดินแดนคืน ไม่ต่างจากกลุ่มไออาร์เอที่พยายามแยกไอร์แลนด์เหนือออกจากอังกฤษ ซึ่งไม่มีใครไปโทษว่าเพราะศาสนาคริสต์

แต่ถ้ากลุ่มก่อการร้ายกลุ่มไหนขับดันคนด้วยศาสนา เราต้องไม่ละเลยการวิพากษ์ศาสนา สิ่งที่ขับดัน ISIS คือคำอธิบายทางศาสนา เป้าหมายของไอซิสคือสร้างรัฐเคาะลีฟะฮ์ ใช้ศาสนาเป็นกฎหมาย เป็นรัฐแบบก่อนสมัยใหม่ คุณจะมองว่าไอซิสตีความผิดหรืออะไรก็เรื่องของคุณ แต่ข้อเท็จจริงคือมีคนเห็นด้วยกับการตีความศาสนาแบบไอซิส เราก็ต้องมาดูว่า เออ ศาสนาอาจจะมีช่องโหว่ในคำสอนนะ ต้องชำระ ตีความใหม่ให้เข้ายุคสมัยขึ้นไหม ให้ตีความในทางรุนแรงไม่ได้ไหม ระบบการจัดการทางศาสนาและการสั่งสอนมีปัญหาไหม ก็ต้องไล่ดูกัน พวกอิสลามศึกษาต้องยอมรับข้อเท็จจริงนี้และแก้ไข เพราะสิ่งนี้นำมาสู่ความพยายามทำสงครามยึดซีเรีย ก่อการร้ายในยุโรป ล้วนเป็นไปเพื่อสร้างรัฐอิสลาม เหยื่อหลักคือชาวมุสลิมที่บ่อยครั้งไม่ได้เอาด้วยกับพวกเขา โอเคกับรัฐฆราวาส นี่เป็นปัญหาระหว่างมุสลิมแบบสายกลางกับมุสลิมแบบสุดขั้ว คล้ายสมัยสงครามศาสนา ๓๐ ปีในยุโรประหว่างคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์ที่มองหาการปรับปรุงศาสนาให้เข้ากับโลกสมัยใหม่ กับคริสต์แบบคาทอลิกที่ยืนยันคำสอนดั้งเดิม โป๊ปต้องใหญ่กว่ากษัตริย์ แต่งตั้งกษัตริย์ได้

รัฐเสรีนิยมแบบตะวันตกแม้เป็นประชาธิปไตยแต่กลับใช้กำลังทหารแก้ รัฐแบบไทยก็เป็นรัฐกึ่งสมัยใหม่ที่ยังไม่มีแนวคิดเรื่องก่อการร้าย ภาวะนี้ควรทำอย่างไร
ความขัดแย้งแทบทุกที่ในโลกเกิดจากความต่าง ไม่ว่าความเชื่อ อุดมการณ์ ฯลฯ ผมเรียก “ความต่างในความเชื่อ” สมมุติผมเชื่อต่างจากคุณ ถ้าการคุยกันวางอยู่บนข้อเท็จจริงบางประการก็เจรจากันได้ เช่นคุณติดเงินผม ๑,๐๐๐ บาท ไม่คืนมีเรื่องนะ คืนก็จบ นี่คือวางบนข้อเท็จจริงบางประการ แต่เมื่อใดที่การเจรจาอยู่บนการเชื่อความจริงล้นเกิน จะหาข้อสรุปไม่ได้ สมมุติคุณไม่เคยกินแกงเขียวหวาน แต่คิดไปเองว่าเหม็นเขียว ไม่อร่อย นี่คือ “รสชาติจากการคิดไปเอง” คุณมาเถียงกับผมที่เคยกิน เถียงอย่างไรก็ไม่จบ จะกลับสู่ความจริงได้ก็ต่อเมื่อคุณลองชิมแล้วเอาข้อเท็จจริงมาคุยกัน ปัญหาความขัดแย้งในโลกเกือบทั้งหมดมีลักษณะแบบนี้

ดังนั้นเราต้องดึงกลับมาหาข้อเท็จจริง สิ่งที่ทำให้โลกตกอยู่ในภาวะนี้คือ “อิทธิพลสื่อ” คนทำสื่อเป็นส่วนหนึ่งของสังคม สังคมเลือกสื่อ สื่อผลิตสิ่งที่สังคมต้องการ เสพกันไปมา ละครทีวีสุภาพบุรุษจุฑาเทพก็ทำให้สาว ๆ กรี๊ดเมื่อนึกถึงคุณชาย เพราะนึกถึงเจมส์ จิรายุ แม้คุณชายในโลกความจริงจะไม่หล่อแบบนั้น ปัญหาคือเราเชื่อ “ความจริงในมโน” มากกว่า “ความจริงแท้” อาการนี้แสดงออกมาเมื่อรัฐบาลบอกขั้วตรงข้ามก่อเหตุ คนจำนวนหนึ่งเชื่อทันทีเพราะตรงกับที่คิด “ความจริงที่แท้” จึงไม่สำคัญอีกต่อไปเพราะมี “ความจริงปลอม” ที่ตรงกับการมโน

ยิ่งหลังเหตุการณ์ ๙/๑๑ พลังของสื่อ ภาพยนตร์ นิยาย พร้อมใจกันฉายภาพการล่มสลายของโลกโดยกลุ่มก่อการร้าย เหตุการณ์อยู่ในระดับเมืองพินาศโลกถล่ม ทำให้เห็นว่าการก่อการร้ายรุนแรง คนเรียนสายวิพากษ์แบบผมจะถามว่าจริงเหรอ สาร (message) จริง ๆ ของสื่อพวกนี้กำลังบอกว่าการแก้ปัญหาด้วยวิธีทางทหารจะสำเร็จถ้าทุกคนสนับสนุน มายาคติต่อมาคือการสร้างภาพว่ามุสลิมหัวรุนแรง บ้าคลั่ง ไม่ใช่มนุษย์ สารแบบนี้ยังอยู่ในคำปราศรัยอดีตประธานาธิบดีบุชหลังเหตุการณ์ ๙/๑๑ ด้วย อีกอย่างที่คนไม่ค่อยพูดถึงคือมายาคติที่มองคนซึ่งไปทำสงครามต่อต้านการก่อการร้าย ทหารอเมริกันผู้ไปรบกลายเป็นวีรบุรุษสงครามทันทีโดยไม่ต้องมีการสงสัย

มีภาพที่เรามองไม่เห็น
เหตุการณ์ ๙/๑๑ มีคนเสียชีวิตราว ๓,๐๐๐ คน สงครามต่อต้านการก่อการร้ายในอิรัก อัฟกานิสถาน มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย ๓ แสนถึง ๒ ล้านคน ยังมีเหตุการณ์สะเทือนอารมณ์ เช่นอิรักมี “ค่ายคุ้มครองสตรี” หลายค่ายเพื่อป้องกันสตรีจากกลุ่มก่อการร้าย ค่ายหนึ่งมีผู้หญิงอายุตั้งแต่ ๗-๗๐ ปีอยู่ ทุกคนถูกทหารอเมริกันข่มขืน สตรีคนหนึ่งถูกข่มขืนจนเสียชีวิตคาที่ อีกกรณีหนึ่งคือการลาดตระเวนในห้างสรรพสินค้าในกรุงแบกแดด ครั้งหนึ่งทหารไปข่มขืนคนกลางห้าง พอพวกนี้กลับบ้านกลายเป็นวีรบุรุษสงคราม

คำถามคือ “ใคร” คือผู้ก่อการร้าย สังคมตะวันตกมองว่าใครไปปราบผู้ก่อการร้ายจะเป็น “คนดี” แบบไม่ต้องพิสูจน์ ยิ่งในรัฐสมัยใหม่คนในสังคมอยู่กับสื่อก็หลุดจากวังวนนี้ลำบาก ในเมื่อจริง ๆ มันไม่สำคัญมากขนาดนั้น แต่ก็ให้ความสำคัญ มาตรการใหญ่โตเพื่อจัดการจึงเกิดขึ้น ก็ตอบโต้ตั้งแต่ทำสงคราม ตั้งหน่วยงานรับมือ ไปจนถึงใช้อุปกรณ์เฝ้าระวัง สหรัฐฯ ลงทุนเรื่องนี้มากที่สุดในโลก ประชาชนก็ยินยอม

ถ้าเรากลับไปดูสถิติในสหรัฐฯ โอกาสที่จะตายจากภัยก่อการร้ายมีพอ ๆ กันกับถูกฟ้าฝ่า กวางขวิด อุกกาบาตตกใส่ “คุณค่าในฐานะภัย” ต่ำมาก ขณะที่คน ๔ หมื่นคนตายทุกวันทั่วโลกจากความยากจน งบประมาณเพื่อแก้ปัญหาก่อการร้ายสูงกว่างบจัดการความยากจนสี่เท่า นี่ไม่สมเหตุสมผล ถ้าใช้มาตรฐานเดียวกันอาจต้องมี “สงครามต่อต้านกวาง” ด้วย ถ้าบุชประกาศสงครามนี้คงตลก แต่ทำไมเวลาประกาศสงครามต่อต้านการก่อการร้าย คนรู้สึกแตกต่างไป ทั้งที่มันประหลาดพอกัน นี่เกิดจากเราไม่มอง “ความจริงแท้” และสงครามนี้นำมาสู่การเติมเต็มสิ่งล้นเกินที่เราเชื่อและทำให้ภัยก่อการร้ายขยายตัวมากขึ้น

หลังเหตุการณ์ ๙/๑๑ สหรัฐฯ ทำสงครามต้านการก่อการร้ายมา ๒ ปี กลุ่มก่อการร้ายเพิ่มขึ้น ๒๕-๓๐ เท่า ผมพูดเสมอว่า ผู้ก่อการร้ายเข้าใจเรา แต่เราไม่เข้าใจเขา คนทำระเบิดพลีชีพรู้ว่าต้องตาย แต่ไม่กลัว เราเอาระเบิดไปบอมบ์ เขาไม่กลัว แต่เขาจะไม่ยอมตายโดยไม่สู้ แถมได้รับการอบรม หาทางตอบโต้ได้ด้วย คนที่ตายจำนวนมากเป็นประชาชนอิรัก ซีเรีย ที่ไม่เห็นด้วยกับกลุ่มไหน จริง ๆ เหยื่อกลุ่มก่อการร้ายคือคนมุสลิมด้วยกันที่มีชีวิตปากกัดตีนถีบในตะวันออกกลาง ไม่มีเวลาประท้วงอัลกออิดะฮ์หรือไอซิส แต่วันดีคืนดีสหรัฐฯ มาทิ้งระเบิด เมียตาย ลูกตาย เขาก็ต้องร่วมกับกลุ่มที่ต่อต้านสหรัฐฯ นี่คือต้นเหตุที่ผู้ก่อการร้ายเพิ่มจำนวนขึ้น

สื่อไม่ได้ปรากฏแค่ในจอหรือในหนังสือ กับสิ่งรอบตัวก็ด้วย เวลาเราเห็นกล้องวงจรปิด คุณรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม แต่จะเห็นการเฝ้าระวังพร้อม ๆ กันกับเห็นว่า “ภัย” อยู่ใกล้ตัวด้วย เราอยู่กับอุปกรณ์เหล่านี้ตลอดมาซึ่งเสริมความหวาดกลัวให้มากขึ้น

ถ้าเหยื่อส่วนมากคือชาวมุสลิม ทำไม ISIS ไปก่อเรื่องในส่วนอื่นของโลกโดยเฉพาะยุโรป
วิธีคิดของผมคือการก่อเหตุในยุโรปมีผลอย่างไรต่อแผนใหญ่ของไอซิส เวลาเกิดเหตุร้ายในปารีส สื่อทุกสำนักพูดถึงสังคมตะวันตก รับมืออย่างไร ตื่นกลัวแค่ไหน สูญเสียแค่ไหน ใครอพยพเข้าไป ไม่มากกว่านี้ จุดหมายสำคัญของไอซิสคือสร้างรัฐอิสลามในซีเรียและอิรัก เหยื่อส่วนมากคือชาวมุสลิมในตะวันออกกลาง เหยื่อจากการก่อเหตุส่วนอื่นของโลกไม่ใช่เป้าหมายหลัก ที่อ้างว่าทำเพราะแก้แค้นที่ทิ้งระเบิดในซีเรีย ก็มียุโรปไม่กี่ประเทศไปทิ้งระเบิดจริงจัง เบลเยียมก็แทบไม่เกี่ยว จะสร้างความกลัว แก้แค้น พอฟังได้ แต่ผมไม่คิดว่าพวกที่อ้างนี้ส่งผลต่อเป้าหมายหลักจริง ๆ ของไอซิส และเขาย่อมรู้ว่าเปลี่ยนยุโรปเป็นรัฐอิสลามไม่ได้

ผมมองว่าไอซิสน่าจะต้องการสื่อสารกับคนมุสลิมในตะวันออกกลางที่ยังต่อต้านเขา คนพวกนี้มองยุโรปเป็นสถานที่สุดท้ายในการหลบหนี โดยสภาพภูมิศาสตร์ของตะวันออกกลาง ด้านตะวันออกกลุ่มประเทศที่ชื่อลงท้ายด้วย “สถาน” ทั้งหลายไม่มีนโยบายรับผู้อพยพ แถมเส้นทางอพยพผ่านเทือกเขาคอเคซัสลำบากมาก ทางเดียวคือไปยุโรปภาคพื้นทวีป ที่นั่นจึงเกิดเหตุร้ายก่อนส่วนที่เป็นเกาะอย่างอังกฤษ ไอซิสทำแบบนี้เพื่อบอกคนที่พยายามหนีว่า หนีก็ไม่พ้น เราตามไปได้ แถมสร้างเงื่อนไขให้ฝ่ายขวามีอำนาจมากขึ้นในประเทศที่รับผู้อพยพ ทำให้ประเทศนั้นเลิกต้อนรับผู้อพยพ ชาวมุสลิมจะไม่มีทางอื่นนอกจากยอมจำนน จะเห็นว่าการจุดกระแสฝ่ายขวาในเยอรมนียากมากเพราะเขามีบทเรียนที่ชอกช้ำสมัยนาซี แต่ตอนนี้เริ่มจุดติด นี่เป็นสัญญาณที่น่ากลัวมาก

ความเชื่อว่าวิธีทางทหารจะแก้ปัญหาได้นั้นแย่มาก กลุ่มก่อการร้ายขยับ คุณปิดตรงนี้ เขาไปอีกจุด ทิ้งระเบิดในซีเรีย เขาก็ก่อเหตุในยุโรป วิธีคิดนี้ติดอยู่ในสมัยสงครามเย็น ทำให้สถานการณ์แย่ลง สิบกว่าปีที่ผ่านมาการก่อการร้ายเพิ่มขนาดไหน สัปดาห์สุดท้ายของเดือนเราะมะฎอน (เดือนถือศีลอด) เราแทบต้องดูรายวัน ย้อนดูอีกจะพบว่ากลุ่มอัลกออิดะฮ์เกิดขึ้นไม่ได้ถ้าไม่มีสงครามต่อต้านรัสเซียในยุคสงครามเย็น กลุ่มไอซิสก็เกิดขึ้นจากความพยายามปราบอัลกออิดะฮ์ ผลออกแบบนี้ ทำไมเรายังแก้ด้วยวิธีเดิม การก่อการร้ายนั้น “เริ่มที่มนุษย์” ต้องแก้ตรงนั้น

หลายคนแย้งว่า ถ้าไม่เด็ดขาด มัวไล่แก้เรื่องคนที่ซับซ้อนมาก ๆ อาจรับมือสถานการณ์ไม่ทัน
ผมไม่ได้เสนอว่าเราจะไม่ลงโทษผู้ก่อการร้าย ในโลกตะวันตกถ้าคุณถูกจับในอเมริกาข้อหาก่อการร้าย จะถูกส่งไปคุกที่อ่าวกวนตานาโมซึ่งเป็น “อัซคาบัน” (คุกในนิยายเรื่องแฮร์รี่ พอตเตอร์) ในโลกความจริงที่โหดมาก ถูกจับฟรีก็มี ในอังกฤษคดีก่อการร้ายเป็นคดีประเภทเดียวที่พิจารณาแบบลับ ทั้งที่ปรกติควรเปิดเผย แต่อย่าเทียบกับบ้านเราตอนนี้ที่พิจารณาคดีปิดลับเยอะกว่านะครับ จริงอยู่การแก้ปัญหาด้วยสันติวิธีดูเพ้อฝัน ถามกลับว่าไม่เพ้อกว่าหรือที่จะยุติความรุนแรงด้วย “ความรุนแรงที่มากกว่า” โลกลองแก้ปัญหาด้วยวิธีนี้มานานแล้ว ความเสียหายทวีคูณ ถ้าทนกับโลกแบบนี้ได้ทำไมมาบ่นเรื่องนี้

เราต้องการให้ผู้ต้องหาคดีก่อการร้ายผ่านกระบวนการยุติธรรมปรกติในฐานะที่เป็นมนุษย์โดยสมบูรณ์ ในนอร์เวย์คดี Anders Behring Breivik ที่สังหารคนจำนวนมากระหว่าง ค.ศ. ๒๐๑๑-๒๐๑๒ ถูกดำเนินคดีตามปรกติ ศาลตัดสินให้จำคุก ๒๑ ปี คุกที่เขาอยู่ดีกว่าโรงแรมสามดาวบ้านเรา ได้สิทธิ์เหมือนนักโทษปรกติ ปีที่แล้วมีข่าวว่าผู้คุมกลั่นแกล้งเขา มาเคาะห้องทุกครึ่งชั่วโมงตอนเขานอน เครื่องอำนวยความสะดวกไม่ถูกใจ เขาจึงฟ้องศาลยุโรปและชนะ รัฐบาลนอร์เวย์จ่ายชดเชย หาเครื่องเพลย์สเตชัน ๔ ให้เล่น วิธีลงโทษแบบให้สิทธิ์เต็มที่เช่นนี้ต้องการสังคมที่มีวุฒิภาวะสูงมาก ในโลกตะวันตกก็ยังยาก นี่เป็นสิ่งที่ไม่มีทางเกิดในบ้านเราที่มองว่านักโทษไม่ใช่คน เอาแค่เปลี่ยนจากข้าวแดงเป็นข้าวสวยก็ยากแล้ว การทำแบบนี้คือการเชื่อในความเป็นคนของผู้ก่อเหตุมากยิ่งกว่าตัวผู้ก่อเหตุเอง คือการเปลี่ยนเขาจากคนซึ่งไม่รักชีวิตตัวเองให้หันมาให้คุณค่าแก่ชีวิตตนเองเสียเหมือน ๆ กับเรา มนุษย์สมัยใหม่ทุกคน เมื่อนั้นจึงจะคุยภาษาเดียวกันได้

ฝ่ายหนึ่งอาจบอกว่าก่อเรื่องขนาดนี้ สบายไปไหม
ต้องถามว่าคุณเอานักโทษเข้าคุกเพื่อจุดประสงค์อะไร

ในเชิงอุดมคติ คือทำให้เขากลับสู่สังคมปรกติได้หลังรับโทษ
ในโลกสมัยใหม่ การลงโทษคนพวกนี้คือการลดทอนสิทธิทั้งหมดจนเหลือแต่ชีวิตและปัจจัย ๔ ในคุก เป็นการลงโทษระดับสูงสุดอยู่แล้ว เราไม่ต้องการให้นักโทษเจอความพินาศในชีวิต วิธีแก้แบบที่คนไทยคิดคือลงโทษให้สาสมจะนำไปสู่ปัญหาสองแบบ

หนึ่ง ทำให้เขาทรมานและกลัว ผลคือกลับมาใช้ชีวิตกับสังคมปรกติไม่ได้ จริงครับ มีคนที่ติดคุกระยะสั้น ออกมาแล้วไม่อยากกลับเข้าไป แต่ก็มีนักโทษที่ติดคุกนานจำนวนมาก ออกมาแล้วเข้ากับสังคมไม่ได้ ก่อเหตุซ้ำ ก่อคดีใหญ่เพื่อกลับไปติดคุกอีก เพราะสังคมที่เขาอยู่ได้คือคุก เราต้องการแบบนี้จริงหรือ

เราต้องเริ่มจากหยุดคิดว่าทำไม่ได้ นอร์เวย์ลงมือแล้ว และสังคมนอร์เวย์มีวุฒิภาวะมากพอ ลองสมมุติดูว่ารัฐบาลไทยเกิดมีวุฒิภาวะทำแบบเดียวกัน สังคมไทยจะร้องเลยว่าไม่ยอม ก้อนอิฐปลิวว่อน คนที่โวยวายหนักสุดจะเป็นญาติเหยื่อ แต่ในนอร์เวย์ พี่สาวของเหยื่อคนหนึ่งที่ถูก Breivik ฆ่า ออกมาชื่นชมศาล ขอบคุณที่ยืนยันหลักการประชาธิปไตยและกฎหมาย เราอย่าเพิ่งคิดไปเอง ต้องเริ่มต้น ไม่มีประเทศไหนเจริญทันที นอร์เวย์ไม่ได้ทำได้ในวันเดียว ทุกประเทศเคยผ่านจุดที่แย่มาแล้วทั้งนั้น แต่เขาเลิกคิดว่าทำไม่ได้ ปรับเปลี่ยนตัวเอง คนไทยไม่ทำ เราถึงคาราคาซังกับปัญหาแบบนี้

krittikorn02

“บางทีคนรู้สึกไปเองว่าสถานการณ์มันไม่รอ เราเลยพร้อมมักง่าย มีแนวโน้มกลับไปแก้ปัญหาแบบใจร้อน ต้องการความสงบและบางอย่างที่จับต้องได้ทันที จึงใช้วิธีแบบอำนาจนิยม ผลคือฝ่ายขวามีอำนาจมากขึ้น”

คุณกำลังพูดในประเทศที่มีคนเสนอว่า “ข่มขืนต้องประหาร”
คือบางทีคนรู้สึกไปเองว่าสถานการณ์มันไม่รอ เราเลยพร้อมมักง่าย มีแนวโน้มกลับไปแก้ปัญหาแบบใจร้อน ต้องการความสงบและบางอย่างที่จับต้องได้ทันที จึงใช้วิธีแบบอำนาจนิยม ผลคือฝ่ายขวามีอำนาจมากขึ้น แต่มันจะสงบวูบหนึ่งแล้วตามมาด้วยสิ่งที่แรงกว่าและกลับไปหากับดักเดิม กลายเป็นต้องเพิ่มความคุ้มครองมากขึ้นเรื่อย ๆ และเราก็ต้องจ่ายค่าคุ้มครองที่เรียกว่าเสรีภาพให้รัฐมากขึ้นเรื่อย ๆ เช่นกัน

ยิ่งสังคมไทย เรามักแก้ปัญหาเป็นครั้ง ๆ ไป เวลาผมเสนอแบบการแก้ปัญหาระยะยาวก็โดนด่า แต่ตอนนี้ผมมองว่าเป็นช่วงปลายแล้วด้วยซ้ำที่จะยังพอมีโอกาสแก้ไขปัญหาได้ ที่จะเปลี่ยนวิธีคิดเพื่อคลี่คลายสถานการณ์ เราต้องการเวลาหลายสิบปีในการจัดการปัญหา ไม่ใช่ถามว่าเมื่อไรจะจับคนร้ายได้ เรื่องนี้ยากมาก ต้องใช้เวลานาน หรือจับไม่ได้เลย เช่นกรณีลัทธิโอมชินริเกียวที่ปล่อยก๊าซพิษในสถานีรถไฟใต้ดินของญี่ปุ่นเมื่อหลายปีก่อน เขาตั้งกองกำลังพิเศษทำงานกับสหรัฐฯ ใช้เวลานานมากเพราะต้องการจับเฉพาะคนทำ ไม่ใช่หว่านแหจับไปหมดเพื่อให้ดูมีผลงานจนไปจับแพะแบบในบางประเทศ

อย่างกรณีระเบิดในเจ็ดจังหวัดภาคใต้ ผมไม่โทษมาตรการป้องกันของไทย เพราะสหรัฐฯ ป้องกันมากกว่าและข่าวกรองดีกว่าไม่รู้กี่เท่าก็ทำได้ไม่ทั้งหมด สมัยนี้มีมีดทำครัวเล่มเดียวก็ก่อการร้ายได้แล้ว ที่ดีที่สุดคือต้องมีมาตรการรับมือที่ดีที่ถูกต้อง

คุณเคยให้สัมภาษณ์ว่าการก่อการร้ายคือปัญหาท้าทายระบอบประชาธิปไตยและภาวะสมัยใหม่ ความท้าทายนี้จะจบลงแบบไหน
ตอนนี้ปัญหาก่อการร้ายขยายตัวรุนแรง ในแง่ระบอบปกครองทุกอย่างไม่จีรัง ตัวระบอบนั้นเองที่สร้างความท้าทายขึ้นมา สมัยโรมัน ระบบจักรพรรดิล่มสลายเพราะคนคิดว่าถ้าจักรพรรดิไม่ดีก็มีปัญหา จึงเกิดระบอบฟิวดัล (Feudalism) มีการกระจายอำนาจให้ขุนนาง ที่เห็นได้ชัดคือช่วงศตวรรษที่ ๕-๑๕ สุดท้ายขุนนางมีอำนาจมาก ยกทัพมาตีเมืองหลวงจนไม่มีเสถียรภาพ ก็เกิดการรวมอำนาจกลับมาที่กษัตริย์อีกรอบ พอถึงยุคพระเจ้าหลุยส์ก็กลายเป็นรวบอำนาจมากเกินไป เกิดการปฏิวัติฝรั่งเศส ทีนี้กระจายอำนาจไปหาประชาชน เกิดประชาธิปไตย

มาถึงตอนนี้การก่อการร้ายกำลังท้าทายประชาธิปไตย และเมื่อใดที่เครดิตกลุ่มก่อการร้ายมากกว่ารัฐ จะเกิดภาวะรัฐล้มเหลว มากเข้าระบอบประชาธิปไตยก็ล่มได้ ถ้าเราอยากให้ประชาธิปไตยมั่นคง ต้องยืนยันการแก้ปัญหาแบบนอร์เวย์ ทำให้เกิดเครื่องมือแก้ปัญหาอย่างเป็นประชาธิปไตย ให้โอกาสระบอบนี้แก้ปัญหาด้วยวิธีการของมัน ถ้าหันไปหาอำนาจนิยม วิธีทางทหาร ระบอบจะอ่อนแอ สุดท้ายจะแพ้ภัยตัวเอง

ทุกวันนี้เราเหมือนคนในยุคกลาง ไม่เห็นว่าหลังยุคกระจายอำนาจสู่ประชาชน (ประชาธิปไตย) จะเกิดอะไรขึ้น แต่แนวโน้มยุคต่อไปอาจเป็นยุคกระจุกอำนาจก็ได้ เพราะเวลาเกิดภัยมันนำความตื่นกลัวมา ทำให้เรายอมรับสิ่งที่เคยคิดว่าบ้าได้ คิดดูว่าไอซิสโหดขนาดนั้นทำไมถึงมีคนเห็นด้วย ศัตรูอีกขั้วของไอซิสอย่าง โดนัลด์ ทรัมป์ ก็ขึ้นมา นี่คนละด้านกับไอซิส แต่มันคือสิ่งเดียวกัน มองดี ๆ ก็บ้าล้วน ๆ (หัวเราะ)

ทุกวันนี้ประชาชนจะมองรัฐสมัยใหม่คล้ายพระเจ้าองค์ใหม่ ในยุคโบราณเวลาคุณเดินทางต้องภาวนาให้พระเจ้าคุ้มครอง เมื่อเกิดรัฐสมัยใหม่แม้ยังภาวนา แต่คุณคาดหวังว่ารัฐต้องมีตำรวจ มีระบบคมนาคม ฯลฯ รัฐทำหน้าที่แทนพระเจ้า สร้างความมั่นคงตามพันธสัญญา (promised security) การก่อการร้ายจึงเกิดขึ้นและท้าทายรัฐสมัยใหม่

ส่วนแนวโน้มของการก่อการร้ายของทั้งโลกในระยะต่อไป ผมทำนายตั้งแต่ต้น ค.ศ. ๒๐๑๖ ว่าจะเกิดเหตุการณ์ย่อย ๆ เยอะ เพราะการก่อเหตุขนาดใหญ่ทำยาก หาอาวุธยากขึ้น ตลาดมืดถูกติดตามมาก แต่ไม่คิดว่าเหตุการณ์ก่อการร้ายจะถี่ขนาดนี้ ผมคิดว่าเราอาจเห็นการเปลี่ยนผ่านของลักษณะการก่อการร้ายในแง่ลักษณะการกระทำและกลุ่มเป้าหมายอีกครั้งเร็ว ๆ นี้

รัฐไทยไม่เคยมีภาวะ “สมัยใหม่” เลยหรือ
สิ่งที่พิสูจน์ความเป็นรัฐสมัยใหม่ได้ระดับหนึ่งคือตัวบทกฎหมาย ย้อนไปถึงรัฐธรรมนูญปี ๒๔๘๙ คือหมุดหมายที่พิสูจน์ว่าเราพอมีความเป็นสมัยใหม่บ้างก่อนจะสิ้นสุดลงในยุคจอมพลสฤษดิ์ เรามีจังหวะนั้นสั้น ๆ นั่นเป็นยุคที่เราวิพากษ์ถกเถียงถึงทุกสถาบันได้ในรัฐสภา ผมอยากให้เกิดเงื่อนไขแบบนั้นขึ้นมาในตอนนี้ที่แนวคิดจะกระจายไปได้กว้าง และมีโอกาสทำให้อะไรดีขึ้น แต่คงยากมาก

สำหรับไทยที่อยู่ในสถานะ “กึ่งสมัยใหม่” ควรเริ่มรับมือการก่อการร้ายอย่างไร
กลับเป็นประชาธิปไตยก่อน ทำให้สังคมมี “วุฒิภาวะ” สำคัญที่สุดคือมาตรการรับมือ การยอมรับความจริงสำคัญที่สุด สำหรับภาครัฐ ที่ผ่านมาไม่ยอมรับความจริงว่าไทยเสี่ยงต่อภัยนี้ เราเป็นประเทศที่เกิดการก่อการร้ายมานับ ๑๐ ปี แต่ไม่เรียกก่อการร้าย คิดว่าการเปลี่ยนคำ ทำลืม จะแก้ปัญหาได้ ระเบิดในเจ็ดจังหวัด เจ้าหน้าที่รัฐบางท่านบอกว่าได้ข่าวระแคะระคายมาก่อน ถามว่าทำไมไม่เตือน เขาตอบว่าประชาชนจะวิตก ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ต้องเตือน ผมถามง่าย ๆ ว่าถ้ามีแผ่นดินไหวนอกชายฝั่งไม่ว่าจะมีโอกาสเกิดสึนามิเพียงใด ต้องเตือนแม้จะเกิดความวิตก นี่เป็นการเตือนเบื้องต้นที่จำเป็น สื่อมวลชนย่อมทราบดีว่ารัฐไทยไม่เคยขอความร่วมมือสื่อเรื่องการเตือนอะไรแบบนี้

ญี่ปุ่นไม่เคยใช้โวหารบอกว่าแผ่นดินไหวคือ “การสั่นสะเทือนของแผ่นดิน” เขาอยู่กับสิ่งเหล่านี้ หาทางรับมือ ทำความเข้าใจว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร ต้องทำอย่างไร ทำคู่มือ เวิร์กช็อป ฝึกซ้อมหลบภัย รับอาหาร ภาพคนต่อแถวรับอาหารเป็นระเบียบไม่ได้เกิดทันที เขาใช้เวลา คุณเชิดชูพวกเขา แต่ที่จริงถ้าไม่ทำจะว่าคนอื่นไม่ได้ จริง ๆ รัฐบาลไทยพิมพ์ “คู่มือรับมือการก่อการร้าย” มาแล้ว แต่คนไทยไม่ทราบ ถึงทราบก็ไม่อ่านเพราะยังไม่ยอมรับความจริง คิดดูว่ามีการยิงกันในภาคใต้ถี่กว่าเกิดแผ่นดินไหวในญี่ปุ่น คนไทยจำนวนมากยังคิดว่าไกลตัว แม้เรามีอุปกรณ์สนับสนุนมากมาย ยกเว้น GT200 นะครับ (หัวเราะ) แต่เจ้าหน้าที่ยังไม่จริงจัง ซดบะหมี่ตอนดูจอเครื่องเอกซเรย์ ดูกระเป๋าไม่ถึงครึ่งวินาทีที่สถานีรถไฟฟ้า มีเครื่องมือดีอย่างไรก็ไม่มีประโยชน์

สำหรับประชาชน เราต้องอยู่กับมันอย่างเข้าใจ ตื่นรู้ ยอมรับความจริง การไม่แยแสรังแต่จะนำไปสู่เหตุการณ์รุนแรงยิ่งกว่า เพราะผู้ก่อการต้องทำให้คุณแยแสให้ได้

สิ่งที่คุณพูดต้องแก้ไขระดับโครงสร้าง สมมุติใกล้จุดที่เรานั่งคุยกันมีระเบิดเกิดขึ้น เราไม่บาดเจ็บ แต่เหตุการณ์วุ่นวาย ประชาชนตัวเล็ก ๆ จะทำอะไรได้บ้าง
อย่างแรก ทำใจ (หัวเราะ) ถ้าเข้าใจจะไม่ตื่นตระหนก คุณต้องกลัวการก่อการร้ายระดับเดียวกับกลัวฟ้าผ่า ผึ้งต่อย ไม่ผิดที่กลัว เพราะทำคุณเจ็บและตายได้ แต่คุณยังใช้ชีวิตปรกติได้ จงกลัว แต่อย่าตื่นตระหนก เวลาเดินสังเกตว่ามีอะไรน่าสงสัย เหมือนเห็นรังผึ้งก็อย่าเข้าใกล้ ส่วนคนที่ยอมรับว่านี่คือภัยใกล้ตัว แต่ยังตื่นตระหนก คือตระหนักแต่ไม่เข้าใจ คนตะวันตกส่วนมากเป็นแบบนี้

ตอบคำถาม สมมุติเกิดระเบิดตอนนี้ คนบ้านเรามีสองแบบ คือไปมุงเป็นไทยมุง อีกแบบไปออกัน ทิศไหนที่คนไปมากไม่ควรไป ออกห่างจากจุดเกิดเหตุมากที่สุด หาป้ายทางออกฉุกเฉิน ค่อย ๆ ไปทางนั้น ในกรณีอยู่ใกล้ผู้ก่อการร้าย ทำตัวให้เด่นน้อยที่สุด ไม่มีสูตรตายตัวในการรอดหรอกครับ

ผมคาดการณ์ไม่ได้ว่าจุดใดใน กทม. เสี่ยง แต่วิเคราะห์ได้ว่าการก่อการร้ายยุคใหม่ต้องการเหยื่อกับสัญลักษณ์ ที่ที่ต้องระวังคือที่สาธารณะซึ่งมีคนมาก มีการระวังภัยต่ำ เช่น สวนสาธารณะ สถานีรถไฟฟ้าที่ตรวจสัมภาระแบบขอไปที พื้นที่ต่อมาคือพื้นที่ที่การระวังภัยสูง คนมาก เช่นสนามบิน เทียบกันระหว่างการก่อเหตุในสวนสาธารณะกับสนามบิน คนสนใจสนามบินมากกว่า มันจึงท้าทายคนร้ายว่าถ้าทำได้ก็ได้เครดิต จะเห็นว่ากรณี ๙/๑๑ ที่มีการจี้เครื่องบินพุ่งชนสถานที่สำคัญจึงเป็นการก่อการร้ายในอุดมคติของผู้ก่อการ ดูตามนี้พื้นที่ที่มีการเฝ้าระวังปานกลางอาจมีความเสี่ยงเรื่องก่อการร้ายต่ำที่สุด

ถ้าเกิดเหตุ ทำอย่างไรรัฐจะเรียกความเชื่อมั่นกลับมาได้เร็วที่สุด
สิ่งแรกที่ต้องทำคือยอมรับความจริง สร้างความตระหนักรู้และอบรมประชาชน คนที่ควรเข้าใจเรื่องนี้เป็นพิเศษคือเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ สมมุติเกิดระเบิดในห้าง คนแรกที่จะมาถึงคือ รปภ. กับพนักงานห้าง ตำรวจ ทหารไม่ได้อยู่ในทุกพื้นที่ ถามว่าตอนนี้คนเหล่านี้ (รปภ./พนักงาน) สักกี่คนที่ปฐมพยาบาลเบื้องต้นเป็น แทบไม่มี ถ้าบอกว่ายากมากที่จะอบรมพวกเขา ทำไมเราอบรมแอร์โฮสเตสเรื่องลักษณะนี้ได้

เพราะเป็นกฎนิรภัยการบิน
ต้องทำให้มี “กฎ” ขึ้นมา เรายังต้องการคนที่มีความรู้ด้านการจัดการภาวะวิกฤต เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของอาคารสถานที่ต่าง ๆ ต้องรู้จักการจัดการกับมวลชนในภาวะวิกฤตไม่ให้เขาบ้าบอคอแตก มีระบบติดต่อเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง กันคนไม่ให้ยุ่งกับหลักฐาน ฯลฯ เรายังต้องการทรัพยากรบุคคลที่จบด้านจัดการวิกฤต ตอนนี้เรามีคนแบบนี้ไม่เกิน ๑๐ คนในประเทศ ส่วนมากทำงานกับเอกชน แต่มาตรการที่ผมบอกมาทั้งหมดนี้จะทำได้ สิ่งแรกที่สังคมไทยต้องทำคือยอมรับความจริงก่อนนะครับว่าเราเสี่ยงกับการก่อการร้าย ไม่อย่างนั้นมาตรการเหล่านี้จะไม่มีวันเกิดขึ้น

กลับมากรณีสามจังหวัดชายแดนใต้ที่เกิดเหตุรายวัน รัฐควรทำอย่างไร
ปัญหาในภาคใต้คือความต้องการปกครองตนเอง แต่รัฐไทยไม่เคยยอมรับ กฎหมายไทยไม่อนุญาตให้แยกรัฐ ทว่ามีวิธีการมากมายที่จะแก้ปัญหา สมัยพลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายกฯ เคยมีการเสนอทางออกทำนองนี้ แต่ก็หายวับไปอย่างรวดเร็ว ซ้ำรัฐไทยไม่คิดว่าคนที่นั่นเป็นคนเหมือนกัน คิดดูว่า พัทยา กทม. ก็เป็นเขตพิเศษ แต่พอเป็นสามจังหวัดชายแดนปุ๊บ เลิกพูดกันทันที (ทำไมวะ ?)

ผมอยากเสนอให้ทำคล้ายเขตปกครองพิเศษฮ่องกง กรณีฮ่องกง คนจีนจะไปต้องทำวีซ่า เราลองวิธีนี้ ไปลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ไว้ให้ดี ให้สิทธิพวกเขา น่าจะแก้ปัญหาระยะยาวได้ แต่ทุกรัฐบาลที่ผ่านมาคิดแบบทหาร เหตุรุนแรงมีมา ๑๓ ปี มีเจรจาสันติภาพแค่สามสี่ครั้ง ไม่มีที่ไหนในโลกทำแบบนี้ หนำซ้ำฝ่ายที่เสนอเจรจาคือบีอาร์เอ็น รัฐไทยไม่เคยเสนอ ส่งคนไปก็ไม่ได้พร้อมจะฟังหรือต่อรองกับเขา ถ้ายังทำแบบนี้ก็จะแก้ปัญหาไม่ได้

ช่วยประเมินสถานการณ์การก่อการร้ายในบ้านเราระยะต่อไป
ผู้ก่อการร้ายจะยกระดับการปฏิบัติการและเพิ่มความถี่มากขึ้น ถ้าเรายังเป็นรัฐทหารและยังใช้วิธีการแก้ปัญหาแบบเดิม

สื่อมวลชนไทยควรทำอย่างไรเมื่อเกิดสถานการณ์การก่อการร้าย
สื่อต้องหาเงิน ต้องเลี้ยงปากท้อง เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ แต่การสร้างเนื้อหาสามารถนำเสนอบนข้อเท็จจริงได้ ถ้าทำไม่ได้ไม่ควรเป็นสื่อ ในต่างประเทศสื่อเขาแยกชัดเจนระหว่างการนำเสนอข่าวที่เป็น “ข้อเท็จจริง” กับ “วิเคราะห์ข่าว” แต่บ้านเราเอาสองอย่างนี้มาผสมกัน กลายเป็น “เล่าข่าว”

ผมเคยเห็นนักเล่าข่าวแสดงความรู้สึกกับข่าว แต่ผมคิดว่าคนดูตัดสินเองได้ไม่ต้องให้นักข่าวบอก บีบีซีทำได้ ทำไมสื่อไทยทำไม่ได้ เอาละบ้านเรามีเงื่อนไขที่ผมเห็นใจสื่อ นักข่าวเป็นคน กลัวตาย กลัวถูกปิดสำนักงาน ปิดหนังสือพิมพ์ บางอย่างวิจารณ์ไม่ได้ แต่สิ่งที่สื่อไทยทำได้เวลาที่ถูกห้ามนำเสนอคือ “วิจารณ์ตัวเอง” ที่ไม่สามารถวิจารณ์หรือนำเสนอบางอย่าง พูดได้กระทั่งว่า “เราละอายที่พูดเรื่องนี้ไม่ได้” คนดูจะรู้เองว่ามีบางอย่างผิดปรกติ สิ่งนี้แหละที่สื่อไทยไม่มีความสามารถที่จะทำ และอาจถึงเวลาที่ต้องทำแล้ว