เรื่อง : วิวัฒน์ พันธวุฒิยานนท์
ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช
ผลไม้ป่า ผลไม้พื้นเมืองของไทยนั้น มีอยู่หลายร้อยชนิด แต่คนในเมือง พบเห็นตามตลาด ตามซูเปอร์มาเก็ตทุกวันนี้ก็แต่ ชมพู่ มะม่วง ทุเรียน มะละกอ ฝรั่ง องุ่น แอปเปิ้ล สาลี่ ซึ่งถ้าไม่ใช่ผลไม้พันธุ์ ก็เป็นพืชไร่ หรือผลไม้นำเข้า จากต่างประเทศทั้งนั้น จะหาผลไม้พื้นบ้านแท้ๆ อย่างสมอไทย มะขามเทศ มะเฟือง ลูกหว้า มะยม มะไฟ ละไม ตะขบ มะกอกน้ำ นั้นยากเต็มทน (อาจหาไม่ได้เลย) ด้วยว่าไม่เป็นที่นิยม ของผู้บริโภค หรืออีกแง่หนึ่ง ระบบธุรกิจ การตลาด ของผลไม้พันธุ์ ได้กำหนด “ทางเลือก” ในการบริโภคไว้แล้ว… อย่างเห็นได้ชัด สิ่งนี้ อาจเป็นดัชนีบ่งชี้ ความเปลี่ยนแปลง ของวิถีชีวิตไทย อีกข้อหนึ่ง ว่าเราทั้งหลาย ห่างไกลจาก วิถีดำรงชีพ แบบพึ่งตนเอง… ผสานสัมพันธ์กับธรรมชาติ วิถีแห่งการเรียนรู้ ที่จะอยู่อย่างกลมกลืน กับทุ่งนาป่าเขา ไปมากทีเดียว
ผลไม้พื้นเมือง… อาจทำความเข้าใจเบื้องต้น ว่าเป็น “ผลไม้ที่หาได้ ในท้องถิ่น นั้นๆ ตามฤดูกาล ซึ่งชาวพื้นถิ่น นำมาบริโภค” โดยอาจเป็นผลไม้ป่า ผลไม้บ้าน หรือผลไม้ต่างแดน ที่นำเข้ามาปลูก และปรับตัวเข้ากับ สภาพแวดล้อม บ้านเมืองเรา เนิ่นนานแล้วก็ตาม ซึ่ง ผลไม้พื้นเมืองนั้น จะหาเก็บหากินง่าย ไม่ว่าจะ จากสวนหลังบ้าน หัวไร่ปลายนา หรือแหล่งธรรมชาติทั่วไป เช่น ริมทาง ริมห้วย ชายคลอง ธารน้ำตก ตลอดจน ในป่า ในเขา ทุกสภาพป่า สภาพแวดล้อม และส่วนหนึ่งของผลไม้เหล่านี้ ก็ถูกนำมาขาย ตามตลาด ในท้องถิ่นด้วย ความจริง ผลไม้พันธุ์ ส่วนหนึ่ง ก็เป็นผลไม้พื้นเมือง ทว่าเป็นไม้ผลที่คัดสรรแล้วว่า รสชาติดี เนื้อเยอะ เมล็ดน้อย คนนิยม รวมถึงขายได้ราคา และน้ำหนักดีด้วย จึงมีการบำรุงพันธุ์ ผสมข้ามพันธุ์ จนได้ผลลัพธ์ ตามความต้องการ เงาะบ้าน (NGoa Baan) ชับพลา, พับพลา (ChabPla, PabPla)
ผลไม้พื้นบ้าน พื้นเมือง เมื่อเทียบกับ ผลไม้พันธุ์ พืชไร่ ตลอดจน ผลไม้นำเข้า จากต่างประเทศ จะเห็นข้อต่าง ได้อย่างชัดเจน ว่าผลไม้พื้นเมืองนั้น เราแน่ใจว่า ปราศจากสารพิษ จากยาฆ่าแมลง และเคมีอื่นๆ ให้ประโยชน์ แก่ร่างกาย หาง่าย ราคาไม่แพง (หากซื้อจากตลาด) แม้รสชาติบางครั้ง จะสุดขั้ว ชนิดเปรี้ยวก็เปรี้ยวจี๊ด หวานก็หวานแหลม และบางครั้ง ก็ฝาดเฝื่อนอย่างมากก็ตาม
ขนบ “การกิน” ผลไม้พื้นเมืองนั้นมีอยู่ แต่ก็ไม่ได้เคร่งครัด ตายตัว สามารถกินได้ ทุกกาละโอกาส ทั้งเด็ก และผู้ใหญ่ จะกินจริงจัง แบบเอาให้อิ่ม กินเล่น พอสนุกเฮฮา กินเป็นยา หรือกินเป็นอาหาร ก็เหมาะ ตัวอย่างจาก ขนุน ที่เรากินยวงของมัน ตอนสุก คนใต้ เขาจะนำมากินได้ ทุกช่วงเวลา ผลอ่อน ขนาดเท่าข้อมือ นำมาผ่าทั้งเปลือก จิ้มแกงไตปลา และน้ำพริก ลูกใหญ่ พอจะมีเมล็ดอ่อน เอาเนื้อใน รวมทั้งเมล็ดอ่อน ต้มจิ้มน้ำพริก ต้มกะทิ หรือใส่แกงเผ็ด ผลโตขึ้นมาอีกหน่อย แต่ยังไม่สุกเต็มที่ ใช้ทำ แกงบวด และสุดท้าย คือ ขนุนสุก ที่กินยวง และเม็ดของมัน ผลของไม้ เช่น ขนุน มะปริง มะเดื่อ มะละกอ ตะลิงปลิง กล้วย ฯลฯ คนพื้นถิ่น บริโภคทั้งในรูปของ ผลไม้ และผัก
นอกจากนี้ ผลไม้พื้นเมือง หลากหลายชนิด กอปรด้วย สรรพคุณทางยา ซึ่งคนโบราณ นำมาใช้ประโยชน์แพร่หลาย อาทิ…
- ผลสมอไทย – ผลอ่อน ช่วยขับถ่าย ผลแก่ ช่วยฝาดสมาน รักษาอาการ ท้องเดิน ลมจุกเสียด ร้อนใน กระหายน้ำ
- มะเฟือง – ขับเสมหะ แก้คออักเสบ แก้โรคนิ่วในไต หรือในกระเพาะปัสสาวะ
- มะดัน – บำรุงโลหิต ขับเสมหะ ระบายอ่อน ๆ สรรพคุณใกล้เคียง มะเฟือง
- ตะลิงปลิง – ช่วยเจริญอาหาร บำรุงกระเพาะอาหาร ลดไข้
- มะกอกป่า – ดูแลธาตุในร่างกาย แก้โรคธาตุพิการเพราะน้ำดีไม่ปรกติ แก้บิด ผลสุกแก้เลือดออกตามไรฟัน
- จำปาดะ – สรรพคุณเสมอ ขนุน คือ ผลอ่อน ช่วยฝาดสมาน แก้ท้องเสีย เนื้อผลสุก บำรุงกำลัง ระบายอ่อน เม็ด ช่วยขับน้ำนม ในสตรีหลังคลอด บำรุงร่างกาย
- มะม่วงหิมพานต์ – ผลมีฤทธิ์แก้ กลากเกลื้อน โรคผิวหนัง เนื้อในเมล็ด มีส่วนประกอบของ โปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน และวิตามิน สูงกว่าผลไม้อื่นใด นอกจากนี้ ส่วนต่างๆ ของ มะม่วงหิมพานต์ ตั้งแต่ราก ลำต้น เปลือกลำต้น ใบ ผล เนื้อในเมล็ด เปลือกหุ้มเมล็ดใน และ เยื่อหุ้มเมล็ดใน ล้วนมีประโยชน์ทั้งสิ้น
ในเชิงวัฒนธรรมประเพณี ผลไม้เหล่านี้ แสดงบทบาท โดดเด่นที่สุด ใน “พิธีกรรม แห่งเดือนสิบ” ตามชนบท หรือหัวเมือง ทั่วทุกภาค ของไทย ซึ่งเรียกชื่อแตกต่างกัน ว่า “บุญข้าวสาก” (อีสาน) “ตานก๋วยสลาก” (เหนือ) “สารทเดือนสิบ” (ใต้) ผลไม้พื้นบ้าน จะถูกใช้เป็น องค์ประกอบหลักหนึ่ง ในงานบุญครั้งนี้ โดยเฉพาะ ชาวปักษ์ใต้ แต่ละครัวเรือน จะนำข้าวปลาอาหาร และผลไม้ ที่หาได้ ในท้องถิ่น เช่น ทุเรียนบ้าน ลองกอง มังคุด มะมุด ลูกเนียง สะตอ จัดเป็นสำรับ สวยงาม ทำบุญ อุทิศส่วนกุศล ให้แก่บรรพบุรุษ ที่ล่วงลับไปแล้ว ที่เน้นย้ำว่า ต้องผลไม้พื้นบ้าน บางคนอธิบายว่า เป็นรสชาติที่ บรรพบุรุษคุ้นเคยนั่นเอง แต่อย่างไรก็ตาม มันก็ปรากฏ ภาพความสัมพันธ์ ที่มีต่อธรรมชาติ และอำนาจ นอกเหนือธรรมชาติ ของชาวชนบท อยู่ชัดเจน
ในแง่ปัจเจกชน… ใครบางคน เมื่อไดักลืนกิน ลูกหว้า ตะขบ มะไฟ ลูกหวาย หรือ สมอไทย เขามิได้กลืนกิน ความหรูหรา หรือรสนิยมเข้าไป หากเป็นวัยเด็ก ความสนุก ชีวิตเรียบง่าย ภายใน สวนหลังบ้าน จนกระทั่ง… วิถีชีวิตที่ผ่านเลย เป็นการกินอย่าง มีความสุข ซึ่งบัดนี้ มีแต่จะห่างหายไป…
สำหรับฤดูกาล ที่จะเสาะหา ผลไม้พื้นเมือง สามารถกำหนด คร่าวๆ ดังนี้
- ฤดูร้อน เดือนมีนาคม – พฤษภาคม: มะม่วง ลูกหว้า ระกำ มะปริง มะม่วงหิมพานต์ มะมุด (ภาคใต้)
- ฤดูฝน เดือนมิถุนายน – ตุลาคม: สมอไทย กระท้อน มังคุด ลางสาด ระกำ มะไฟ ตะขบ กะทกรก มะขาม มะเดื่อ มะกอกป่า มะกอกน้ำ มะกอกฝรั่ง มะม่าว (ข้าวเม่า) นมควาย กล้วย
มูสัง ชับพลา จาก ทุเรียนเทศ ลูกหวาย สำหรับในภาคใต้ หน้านี้ ลองกอง ทุเรียนบ้าน เงาะบ้าน จำปาดะ หลุมพี ละไม กำไร ลูกเตียน ลูกหยี ลูกประ ลูกแกว็ด จะออกผล - ฤดูหนาว เดือนพฤศจิกายน – กุมภาพันธ์: มะขาม มะขามเทศ มะขวิด มะตาด จาก มะม่วงหิมพานต์ ดูกู (ภาคใต้)
- ผลไม้ที่ให้ผล ตลอดทั้งปี คือ ฝรั่งบ้าน มะยม มะขามป้อม มะดัน กล้วยต่างๆ