นพพร ประชากุล
“ข้าพเจ้าไม่เห็นด้วยเลยกับสิ่งที่ท่านพูด แต่ข้าพเจ้าขอปกป้องสิทธิ ในการพูดของท่านด้วยชีวิต”
คริสต์ศตวรรษที่ ๑๘ เป็นศตวรรษสุดท้าย ของสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในฝรั่งเศส ระบอบศักดินา ซึ่งมีเจ้าและพระเป็นอภิสิทธิ์ชน ในสังคมมานานหลายร้อยปี กำลังถูกท้าทายด้วยแนวคิดใหม่ ที่เสนอโดยปัญญาชนของกลุ่มคนสามัญ อันเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ
ปัญญาชนเหล่านี้เรียกตนเองว่า “นักปรัชญา” (les Philosophes) ทว่าสิ่งที่นักคิดนักเขียนกลุ่มดังกล่าวสนใจนั้น มิใช่เพียงความคิดนามธรรม หากแต่เน้นการนำเอาหลักเหตุผลนิยม ตามแบบวิทยาศาสตร์ มาใช้วิเคราะห์วิจารณ์การปกครอง สถาบันศาสนา ระบบเศรษฐกิจ และขนบธรรมเนียมประเพณีที่มีมาช้านาน อีกทั้งยังเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ ให้แก่ประชาชน พวกเขาภาคภูมิใจในแนวคิดก้าวหน้าของตน จนเรียกขานมันว่า “ความรู้แจ้ง” หรือ “แสงสว่าง” (les Lumieres) เลยทีเดียว
วอลแตร์ (Voltaire) เป็นผู้หนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในความเคลื่อนไหวดังกล่าว ร่วมไปกับมงแตสกิเยอ รุสโซ ดิดโรต์ และคนอื่น ๆ อีกมาก อันที่จริงแล้ว บุคคลเหล่านี้โดยส่วนใหญ่ สังกัดอยู่ในชนชั้นกระฎุมพี (la bourgeoisie) หรือชนชั้นกลาง ซึ่งเป็นสามัญชนในระดับผู้มีอันจะกิน เป็นชนชั้นที่เติบโตขึ้นมาจากการค้าขาย และบรรดาอาชีพอิสระต่าง ๆ (เช่น แพทย์ หมอความ ครู ฯลฯ) ตัววอลแตร์เองนั้นก็มีฐานะเข้าขั้นคหบดีคนหนึ่ง ด้วยอาศัยการลงทุนในกิจการค้าทางทะเล ชนชั้นกระฎุมพีนี้ แม้จะมีพลังทางเศรษฐกิจอันมหาศาลอยู่ในมือ แต่ก็ดำรงสถานภาพอันต่ำต้อย ในโครงสร้างของสังคมแบบเก่า เมื่อมองย้อนกลับไปจากปัจจุบัน เราก็อาจตีความประวัติศาสตร์ในช่วงนั้นได้ว่า การต่อสู้เรียกร้องของปัญญาชนนักคิดนักเขียน เป็นการปูทางให้กระฎุมพีได้ก้าวขึ้นสู่อำนาจทางการเมือง หลังการปฏิวัติครั้งใหญ่ในปลายศตวรรษที่ ๑๘ นั้นเอง และเมื่อยึดครองอำนาจได้แล้ว ชนชั้นนี้จึงได้สถาปนาระบบทุนนิยมอุตสาหกรรม และสังคมในแบบสมัยใหม่ (modern) ขึ้นตามอุดมการณ์ของตน
วอลแตร์มีคุณสมบัติเพียบพร้อม ที่จะเป็นนักเขียนขวัญใจของชาวกระฎุมพีโดยแท้ ผลงานของเขาซึ่งเป็นที่นิยม มักเป็นเรื่องเล่าประเภทนิยายผจญภัยที่สนุกโลดโผน ด้วยอาศัยฝีมือการเล่าเรื่องอันเก่งฉกาจ แทรกการเสียดสีสังคม ด้วยคารมอันเผ็ดร้อน และเปี่ยมด้วยอารมณ์ขัน ทั้งยังแฝงข้อคิดทางปรัชญาพื้น ๆ เอาไว้ให้แลดูมีสาระ ส่วนผลงานในอีกด้านหนึ่ง ซึ่งเป็นงานกึ่งวิชาการ และใช้ลีลาขึงขังหนักแน่น จะเป็นงานเขียนประเภทประวัติศาสตร์ ซึ่งแม้ในปัจจุบัน นักประวัติศาสตร์ก็ยังอ้างอิงถึง ในฐานะผลงานบุกเบิกประวัติศาสตร์นิพนธ์สมัยใหม่ (modern historiography)
วอลแตร์เกิดเมื่อปี ค.ศ. ๑๖๙๔ มีชื่อจริงว่า ฟร็องซัวส์-มารี อารูเอต์ (Francois-Marie Arouet) เมื่อถึงวัยอันสมควร บิดาซึ่งประกอบอาชีพเป็นหมอความ ได้ส่งเขาเข้าเรียน ในโรงเรียนหลุยส์-เลอ-กร็องด์ (Louis-le-Grand) เพื่อให้เขาได้สัมผัสกับแวดวงของผู้ดีมีสกุล ต่อมา วอลแตร์ก็ได้เข้าเรียนต่อ ในโรงเรียนกฎหมาย แต่ก็มิได้เล่าเรียนจนจบ ในวัยหนุ่ม เขาคบหาสมาคมกับปัญญาชนในกรุงปารีส มีทั้งที่เป็นพวกเจ้าสำราญ และพวกที่เป็นนักคิดนักเขียน ช่วงนี้ เขาเริ่มประพันธ์งานประเภทบทละคร และโคลงกลอนเสียดสีผู้มีอำนาจ และความงมงายทางศาสนา จึงถูกทางการจับไปจองจำในคุกบาสตีย์ระยะหนึ่ง เมื่อพ้นโทษออกมา เขาเขียนบทละครถวายพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๕ เป็นที่ถูกพระทัย จึงได้รับอุปถัมภ์เข้าเป็นกวีประจำราชสำนัก แต่ในภายหลัง เขาก็ไปมีเรื่องวิวาทกับขุนนางผู้มีอิทธิพลคนหนึ่ง จึงต้องลี้ภัยไปพำนักในอังกฤษอยู่สองปี
ดูเหมือนวอลแตร์จะตื่นเต้นประทับใจกับสังคมอังกฤษ ที่เขาพบเห็นอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะในเรื่องที่มีการคานอำนาจกันอย่างดี ระหว่างสถาบันกษัตริย์กับรัฐสภา ส่งผลให้บ้านเมืองมีบรรยากาศของเสรีภาพ มากกว่าในฝรั่งเศส เมื่อกลับมายังบ้านเกิดเมืองนอน เขาจึงได้เขียนผลงานสำคัญเล่มแรก คือ Lettres Anglaises (จดหมายจากอังกฤษ, พิมพ์ปี ๑๗๓๔) ซึ่งเป็นความเรียงในรูปจดหมายสมมุติ หนังสือเล่มนี้ส่งให้วอลแตร์มีชื่อเสียงโด่งดัง ในวงการนักเขียนและปัญญาชน ถึงกับมีแฟนนักอ่านผู้เป็นขุนนางสูงศักดิ์ เชื่อเชิญเขาไปเป็นอาคันตุกะถาวร ณ ปราสาทแห่งหนึ่ง ติดพรมแดนสวิตเซอร์แลนด์ ตลอดช่วงสิบปีที่พำนักอยู่ที่นั่น เขาทำการศึกษาค้นคว้าอย่างขะมักเขม้น เพื่อเขียนตำราประวัติศาสตร์ขนาดใหญ่สองเล่ม คือ Le Siecle de Louis XIV (ศตวรรษรัชกาลพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔, พิมพ์ที่เบอร์ลิน ปี ๑๗๕๑) และ L’ Essai sur les moeurs (ความเรียงว่าด้วยขนบประเพณี, ๑๗๕๖)
ในปี ๑๗๔๔ วอลแตร์ในวัย ๕๐ ปีได้รับการเรียกตัวสู่ราชสำนักแวร์ซายส์อีกคำรบหนึ่ง ในฐานะอาลักษณ์ประจำพระองค์ และเขายังได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิก ของราชบัณฑิตยสภาอีกด้วย อย่างไรก็ตาม การแก่งแย่งชิงดีกัน ประจบสอพลอเจ้านาย ก็ได้สร้างปัญหาให้แก่วอลแตร์ จนทำให้เขาต้องอำลาราชสำนักฝรั่งเศส ไปสู่ราชสำนักของปรัสเซีย ตามคำเชิญจากพระเจ้าเฟรเดริกมหาราช ผู้ซึ่งวอลแตร์คาดหวังว่าจะทรงเป็น “ราชาผู้รู้แจ้ง” เนื่องจากทรงโปรดปรานเหล่านักปราชญ์ แต่นั้นก็เป็นเพียงภาพหน้าฉาก ที่แท้แล้ว เฟรเดริกใฝ่พระทัยใน “อำนาจ” มากกว่า “ปรัชญา” เป็นล้นพ้น ประสบการณ์ฝันสลายจากราชสำนักต่าง ๆ ได้บันดาลใจให้วอลแตร์ประพันธ์นิยายผจญภัย แนวเสียดสีสังคมที่โด่งดังสองเล่ม คือ Zadig (ซาดิก, ๑๗๔๗) และ Candide (ก็องดิด, ๑๗๕๙) เล่มหลังนี้ได้รับการตีพิมพ์ซ้ำถึง ๔๐ ครั้งในช่วงชีวิตที่เหลือของผู้ประพันธ์
ในบั้นปลายชีวิต วอลแตร์ได้ซื้อปราสาทหลังหนึ่ง พร้อมที่ดินผืนใหญ่ ใกล้พรมแดนสวิตเซอร์แลนด์ และปักหลักอยู่ที่นั่นนานถึง ๒๐ ปีเศษ เขามีความสุขกับบทบาท “พ่อเลี้ยง” ผู้ทำนุบำรุงหมู่บ้านแถบนั้นจนเจริญขึ้น ในปี ๑๗๗๘ วอลแตร์ในวัย ๘๔ ปี เดินทางกลับมาเยือนกรุงปารีส ตามคำเชิญของราชบัณฑิตยสภา เขาได้รับการต้อนรับอย่างเอิกเกริก ท่ามกลางเสียงไชโยโห่ร้องของฝูงชน และได้จากโลกไปอย่างสุขใจในปีนั้นเอง
ความเรียงและนิยายผจญภัยเสียดสีสังคม
จดหมายจากอังกฤษ (หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า จดหมายปรัชญา) ซึ่งเป็นผลงานชิ้นแรกที่สร้างชื่อให้วอลแตร์นั้น เขียนในรูปจดหมายสมมุติ ๒๕ ฉบับ เนื้อหาเล่าถึงสังคมอังกฤษผ่านสายตาของผู้เขียน โดยที่วอลแตร์ใช้สังคมดังกล่าว เป็นเครื่องกระตุ้นให้ผู้อ่านคิดเปรียบเทียบกับสังคมฝรั่งเศส จึงเป็นธรรมดาที่ดินแดนอังกฤษ ตามบทพรรณนาในจดหมาย จะเลอเลิศไปด้วยเสรีภาพในการนับถือศาสนา ความสมดุลย์ของอำนาจทางการเมือง สภาพปลอดอภิสิทธิในที่ดิน ความเสมอภาคในการเสียภาษี ฯลฯ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนตรงกันข้ามกับสภาวะที่เป็นอยู่ในฝรั่งเศส (และแน่นอนว่า ผู้เขียนจดหมายย่อมมองข้ามข้อบกพร่องทั้งหลาย ของสังคมอังกฤษ เพื่อขับเน้นแต่ด้านที่เป็นอุดมคติ) วอลแตร์ได้สอดแทรกการโจมตีการเอารัดเอาเปรียบประชาชน ในระบอบศักดินาเอาไว้ไม่น้อย เราลองมาฟังตัวอย่างคารมของเขาดังต่อไปนี้
“สามัญชนอันเป็นคนจำนวนมากที่สุด มีคุณธรรมที่สุด และควรแก่การเคารพยกย่องที่สุด อันประกอบไปด้วยผู้ศึกษากฎหมาย และวิทยาศาสตร์ พ่อค้า ช่างฝีมือ และชาวนา ผู้ประกอบอาชีพอันสูงส่งแต่ไร้เกียรติ สามัญชนเหล่านี้ เคยได้รับการเหยียดหยามจากเจ้า และพระราวกับว่าเป็นสัตว์ (…) ต้องใช้เวลานับเป็นศตวรรษทีเดียว ที่จะสร้างความยุติธรรมให้แก่มนุษยชาติ ในอันที่จะทำให้ประจักษ์ว่า เป็นความสยดสยองยิ่ง ที่คนส่วนใหญ่เป็นผู้หว่านไถ แต่คนส่วนน้อย เป็นผู้ชุบมือเปิบเอาพืชผลนั้นไป”
จากตัวอย่างนี้ เราคงไม่ประหลาดใจนัก ที่ทราบว่า เมื่อหนังสือดังกล่าวได้รับการตีพิมพ์แผยแพร่ วอลแตร์ก็ถูกหมายจับทันที (แต่เขาไหวตัวหนีไปได้เสียก่อน) ศาลสูงฝรั่งเศส สั่งให้เผาหนังสือทั้งหมดด้วยข้อหา “ยุยงให้เสื่อมศีลธรรม เป็นอันตรายต่อศาสนา และสังคมอันเป็นระเบียบ”
จดหมายจากอังกฤษ เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของงานเขียนเสียดสีสังคม ต่อมา วอลแตร์ได้ลับปากกาให้คมขึ้นอีก เมื่อเขาหันมาใช้รูปแบบนิยาย ที่ให้ตัวละครเอก ผจญวิบากกรรมในดินแดนไกลโพ้น ซึ่งนิยายรูปแบบนี้เรียกว่า ไพรัชนิทาน (exotic tale) แน่นอนว่า ประเทศไกลตัวทั้งหลาย ถูกใช้เป็นเครื่องบังหน้า สำหรับวิพากษ์วิจารณืฝรั่งเศสนั่นเอง นอกจากนี้ วอลแตร์ยังได้ผสมผสานแนวผจญภัยลุ่ม ๆ ดอน ๆ เข้ากับแนวเรียนรู้ชีวิตไว้ในนิยายของเขาได้อย่างน่าทึ่ง
ซาดิก เป็นเรื่องราวของชายหนุ่มชาวเมืองบาบิลอนในสมัยโบราณ ผู้พรั่งพร้อมด้วยรูปสมบัติ ทรัพย์สมบัติ และคุณธรรมความดี แต่ชีวิตของเขากลับต้องผจญกับความทุกข์ยากนานาประการ หญิงคนรักทิ้งเขาไปหาชายอื่น เพราะเขาดีเกินไป เมื่อได้เป็นเสนาบดีของกษัตริย์องค์หนึ่ง ราชินีก็มาเกิดปฏิพัทธในตัวเขา ซาดิกต้องระหกระเหินหนีออกจากวัง โดยคร่ำครวญว่า
“คุณธรรมเจ้าเอ๋ย เจ้าเคยช่วยอะไรข้าได้บ้าง ความดีทั้งหลายที่ข้าอุตส่าห์สั่งสมไว้ ล้วนกลายเป็นบ่อเกิดแห่งคำสาปแช่ง (…) นี่หากข้าเป็นคนชั่ว เหมือนเขาอื่นบ้าง ชีวิตก็คงจะสุขกว่านี้ดอกกระมัง”
ซาดิกถูกขายเป็นทาสแก่พ่อค้าอาหรับ และผ่านวิบากกรรมอีกมาก กว่าจะได้หวนคืนสู่บาบิลอนเพื่อเสวยราชสมบัติในที่สุด
ใน “นิทาน” เรื่องนี้ วอลแตร์ขยายการวิจารณ์สังคม ไปสู่การวิจารณ์มนุษย์ ตัวละครแทบทุกตัว เป็นแบบฉบับของความเลวทรามอย่างใดอย่างหนึ่ง สตรีมีแต่ใจรวนเร บุรุษล้วนละโมบและริษยากัน พระก็คลั่งศาสนาไม่ลืมหูลืมตา ประชาชนก็เอาแต่งมงาย วอลแตร์ได้สอดแทรกแนวคิดทางศาสนา ว่าด้วยเทพลิบิต (providence) และนับถือพระเจ้าอย่างเงียบ ๆ อยู่ในใจเอาไว้อีกด้วย
ส่วนนิยายเรื่อง ก็องดิด นั้นเป็นเรื่องราวของชายหนุ่มใจซื่อ ที่หลงเชื่อครูของตนว่า สรรพสิ่งทั้งหลายที่ดำเนินไปในโลกนี้ ล้วนเป็นไปอย่างดีที่สุดแล้ว แต่ประสบการณ์จะพิสูจน์ให้เห็นตรงข้าม ก็องดิดถูกขับออกจากปราสาท ที่เคยอยู่อย่างมีความสุข ถูกจับไปรบในสงคราม ประสบภัยจากแผ่นดินไหว จนเกือบเอาชีวิตไม่รอด ถูกศาลศาสนาจับตัวไปไต่สวน ฯลฯ ในที่สุด ก็องดิดเร่ร่อนมาถึงตุรกี จนได้พบครูของเขาในสภาพเป็นทาส และพบกับอดีตหญิงคนรัก ในสภาพทุเรศอัปลักษณ์ พวกเขาตกลงใจตั้งรกรากกันที่นั่น โดยทำไร่ทำสวนกัน ไปตามมีตามเกิด ตอนจบ ครูขอบเขายังคงพล่ามเรื่องปรัชญา ว่าด้วยสายไซ่อันต่อเนื่อง เป็นเหตุเป็นผลของเหตุการณ์ในชีวิต แต่คราวนี้ก็องดิดได้ตัดบทว่า “ที่ท่านกล่าวมามก็ดีอยู่ดอก แต่เรามาทำสวนของเรากันเถิด” ประโยคสุดท้ายนี้ ได้รับการตีความกันไปต่าง ๆ นานา บ้างก็ว่างานเป็นเครื่องปลอบใจ ผู้ถูกพระเจ้าทอดทิ้ง บ้างก็ว่า นี่เป็นโลกทัศน์แบบกระฏุมพี ที่มุ่งเน้นแต่การผลิต โดยไม่ใส่ใจต่อการขบคิดทางปรัชญา หรือปัญหาสังคม จะอย่างไรก็ตามที การที่วอลแตร์เน้นย้ำถึงความไร้เหตุผลของชีวิต และโลกในนิยายเรื่องนี้ ต้องนับว่าเป็นความแปลกใหม่ ที่ล้ำยุกแห่งความรู้แจ้งอยู่ไม่น้อย
ประวัติศาสตร์นิพนธ์
ศตวรรษรัชกาลพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ จัดได้ว่าเป็นก้าวใหม่ของแนวการเขียนประวัติศาสตร์ ในโลกตะวันตก ก่อนหน้านั้น งานเขียนเกี่ยวกับอดีต เป็นเพียงพงศาวดารบันทึกเหตุการณ์ โดยปราศจากการตรวจสอบ และวิเคราะห์วิจารณ์ หรือไม่ก็เป็นประวัติศาสตร์ ที่มุ่งสาธิตของลิขิตของพระผู้เป็นเจ้า แต่งานของวอลแตร์นั้น ให้ความสำคัญกับการตรวจสอบข้อเท็จจริง เคร่งครัดกับลำดับเหตุการณ์ มีการตีความข้อมูลอย่างรอบคอบ นอกจากนี้ เนือ้หาประวัติศาตร์ ในทัศนะของวอลแตร์ ก็มิได้จำกัดกับสงครามและชีวิตของมหาบุรุษ อย่างที่เคยเป็ฯมา แต่ครอบคลุมนโยบายการปกครอง ระบบตุลาการ กฏหมาย ศาสนา การค้า และศิลปวิทยาการทั้งปวง วอลแตร์กล่าวในคำนำของหนังสือไว้ว่า
“ข้าพเจ้ามิได้คิดที่จะบรรยายถึงชีวิตของพระเจ้าหลุยที่ ๑๔ เท่านั้น หากแต่มีวัตถุประสงค์ที่กว้างกว่า กล่าวคือ จะพยายามวาดภาพให้เห็นความนึกคิด จิตใจของมนุษย์ในศตวรรษที่สว่างทางปัญญาที่สุดศตรวรรษหนึ่ง”
โดยรวมแล้ว บททั้ง ๓๙ บทในหนังสือมีแนวโน้มที่จะเสนอภาพในทางบวก ของศตวรรษที่ ๑๗ ซึ่งเป็นสมัยที่หลุยที่ ๑๔ ครองราชย์อยู่ ยกเว้นในช่วงท้ายรัชกาล ที่เกิดความขัดแย้งทางลัทธิศาสนา เชื่อกันว่าผู้แต่งจงใจใช้ความรุ่งโรจน์ ในรัชกาลของหลุยส์ที่๑๔ เป็นเครือ่งมือโจมตีรัชกาลของหลุยส์ที่ ๑๕ วอลแตร์เชื่อว่า “ราชาผู้รู้แจ้ง” เท่านั้นจะนำมาซึ่งความสงบสุข ความผลิบานทางเศรษฐกิจ และความุร่งเรืองของศิลปวิทยาการ
ใน ความเรียงว่าด้วยขนบประเพณี วอลแตร์ได้ขยายขอบเขตการศึกษา ไปสู่ประวัติศาสตร์โลก ได้แก่ จีนโบราณถึงญี่ปุ่นในคริสต์สตวรรษที่ ๑๗ อารยธรรมอิสลาม และยุโรปสมัยกลาง สิ่งที่แปลกใหม่เมื่อเทียบกับตำราประวัติศาสตร์เล่มแรกคือ วอลแตร์หันมาพิจารณาบทบาทของมหาบุรุษ ต่ออารยธรรมมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเจงกิสข่าน หรือชาร์ลมาญ อีกทั้งยังเน้นว่าความบังเอิญ ก็เป็นปัจจัยสำคัญ ในการคลี่คลายเหตุการณ์ทางประวัติศาตร์ด้วยเช่นกัน นักวิจารณ์ชื่อ เรมงด์ นาฟส์ (Raymond Naves) ได้กล่าวว่า “แนวคิดที่เด่นชัดในหนังสือเล่มนี้คือ มนุษย์แต่ละคนนั้น ไร้เหตุผลและโหดเหี้ยม แต่มนุษยชาติโดยรวม มีแนวโน้มที่จะก้าวไปสู่อารยธรรม”
วรรณกรรมในยุคแห่งความรู้แจ้ง ได้มีบทบาทมากน้อยเพียงใด ในเหตุการณ์พลิกแผ่นดินฝรั่งเศศ ในปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๘ นั้น เป็นเรื่องยากที่ผู้ใดจะประเมินได้อย่างแท้จริง แต่กรณีของวอลแตร์นี้ ก็ชี้ให้เห็นว่า วรรณกรรมจะมีพลังอำนาจ ก็เฉพาะยามเมื่อผู้คน “รู้สึก” ว่า เสรีภาพถูกปราบปรามกดขี่ ส่วนในยามอื่นนั้น วรรรณกรามเป็นได้อย่างมากเพียงเครื่องประเทืองปัญญา และอารมณ์ หรือเครื่องประดับสังคมให้แลดูศิวิไลซ์ เพียงเท่านี้ก็นับว่าบุญโขแล้ว
หมายเหตุท้ายบท :
๑. ข้อความแปลในบท แปลโดยผู้เขียนบทความ
๒. ผลงานด้าน “นิทาน” ของวอลแตร์ได้รับการถ่ายทอดเป็นภาษาไทยแล้วหลายเรื่อง เช่น ก็องดิดด์ แปลโดยวัลยา วิวัฒน์ศร นิทานปรัชญาของวอลแตร์ แปลโดยดารณีเมืองมา