ผืนป่าไทยถึงเวลาทำไม้เศรษฐกิจ ?
ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล : รายงาน
สงบ ๑๐๕๑ : ภาพ
“เรามีเจตนาอย่างชัดเจนที่จะใช้ไม้สักในอาคารรัฐสภา เนื่องจากต้นสักสามารถปลูกได้ดีที่สุดที่ประเทศไทย เป็นดีเอ็นเอของประเทศไทย เราต้องการให้รัฐสภาแห่งใหม่เป็นโชว์รูมระดับโลกของไม้สัก”
ธีรพล นิยม
พื้นที่สวนป่าแม่หอพระ จังหวัดเชียงใหม่ กลายเป็นพื้นที่ป่าไม้ที่ได้รับการพูดถึงอย่างกว้างขวางเมื่อทีมผู้สร้างอาคารรัฐสภาแสดงความจำนงใช้ไม้สัก ๕,๐๐๐ ท่อนในการก่อสร้าง พร้อมยื่นเรื่องขอซื้อไม้จากองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) เมื่อออกสำรวจก็พบไม้สักที่มีขนาดและจำนวนตามต้องการในเขตสวนป่าแม่หอพระ ขณะชาวบ้านออกมาคัดค้านการตัดต้นสักในพื้นที่
นับตั้งแต่ปี ๒๕๒๑ แล้วที่องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้เริ่มปลูกต้นสัก ปี ๒๕๒๘ ก็ได้รับอนุญาตจากกรมป่าไม้ให้ใช้พื้นที่เป็นสวนป่าเศรษฐกิจ ตามมาตรา ๒๐ ของพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ ๒๕๐๗ สวนป่าแห่งนี้จึงติดป้าย “พื้นที่สวนป่าเศรษฐกิจ ปลูกและบำรุงรักษาโดยสวนป่าแม่หอพระ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้”
ยาวนานกว่า ๓๐ ปีแล้วที่ต้นสักแต่ละต้นค่อย ๆ เติบโตไม่เคยถูกตัดจนกลายเป็นสวนป่าสักที่สมบูรณ์ ขณะชาวบ้านที่อาศัยอยู่ใกล้เคียงก็ได้ใช้ประโยชน์เก็บหาของป่า และมีส่วนร่วมดูแลรักษาจนเกิดความรู้สึกหวงแหน
ธีรพล นิยม ประธานคณะผู้ออกแบบอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ให้เหตุผลของความตั้งใจนำไม้สักมาเป็นวัสดุก่อสร้างรัฐสภาว่า “ทีมออกแบบมีเจตนาชัดเจนที่จะใช้ไม้สัก หลายคนเคยบอกว่าไม้สักมีค่าเหมือนทองคำ เราจึงต้องการนำทองคำมาอยู่ในรัฐสภา เป้าหมายของการสร้างสถาปัตยกรรมนี้ยังต้องการสร้างความเข้าใจ ให้เกิดเวทีเพื่อการเรียนรู้ว่า เราจะมีความรักในทรัพยากรธรรมชาติก็เมื่อเราได้ใช้ทรัพยากรนั้นสืบทอดกันมา ที่ผ่านมาไม้สักไม่ได้มีความสำคัญเฉพาะด้านเศรษฐกิจ แต่อยู่ในวิถีชีวิตและจิตวิญญาณของคนไทย”
ธีรพลชี้ว่างานไม้เป็นต้นน้ำของการสร้างงานศิลปวัฒนธรรม สถาปัตยกรรม รวมถึงอารยธรรม ความเป็นอยู่ในอดีตเราเคยใช้ไม้สร้างวัด มัสยิด ศาลากลางจังหวัด พระที่นั่งวิมานเมฆก็เป็นปราสาทไม้สักขนาดใหญ่ที่สุดของโลก แต่ตอนนี้เรากลับไม่ใช้ไม้สร้างงานสถาปัตยกรรม ผู้คนไม่อาจตัดไม้มาใช้ประโยชน์ได้ สิ่งเหล่านี้เพิ่งแปรเปลี่ยนไปเมื่อ ๔๐-๕๐ ปีก่อนจากทัศนคติห้ามใช้ไม้ เราต้องการใช้โอกาสในการสร้างรัฐสภาแห่งใหม่พลิกฟื้นความเข้าใจของสังคม ลองดูอาคารรัฐสภาในทุกภูมิภาคของโลกต่างก็ใช้ไม้ของประเทศเขา เพราะไม้เป็นวัสดุธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับดีเอ็นเอของตัวเรามากที่สุด
พิพัฒน์ ชนินทยุทธวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ หน่วยงานของรัฐซึ่งมีหน้าที่จัดหาไม้กล่าวข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันทางองค์การฯ มีพื้นที่สวนป่าประมาณ ๑ ล้านกว่าไร่ แบ่งเป็นป่าเศรษฐกิจที่ปลูกต้นไม้เช่น สัก ยางนา สามารถตัดไม้มาใช้ประโยชน์ได้ ๑ แสนกว่าไร่ โดยมีการศึกษากำลังการผลิตของเนื้อไม้ที่เพิ่มพูนขึ้นในแต่ละปี รวมแล้วต่อปีประมาณ ๗ หมื่นลูกบาศก์เมตร นับว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับความต้องการใช้ไม้ในประเทศ ทำให้ต้องมีการนำเข้า
คำถามคือทำไมเราต้องนำเข้าไม้จากต่างประเทศ ทั้ง ๆ ที่ต้นไม้สามารถเจริญเติบโตได้ดี ทำไมเราไม่ดิ้นรนใช้ไม้ในการก่อสร้าง
ทุกวันนี้มีความพยายามเพิ่มพื้นที่ป่าให้ได้ ๔๐ เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ประเทศไทย แบ่งเป็นป่าอนุรักษ์ ๒๕ เปอร์เซ็นต์ และป่าเศรษฐกิจ ๑๕ เปอร์เซ็นต์
ในส่วนป่าอนุรักษ์ เช่น เขตอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ที่มีระบบนิเวศสมบูรณ์นั้นมีอยู่เกือบ ๒๐ เปอร์เซ็นต์ เมื่อรวมกับแหล่งน้ำ พื้นที่อนุรักษ์ทางทะเล จะคิดเป็นประมาณ ๒๒ เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ยังมีพื้นที่ในการดูแลของกรมป่าไม้ผนวกเข้ามาเพื่อเพิ่มพื้นที่ป่าในอนาคต ขณะพื้นที่ป่าเศรษฐกิจมีประมาณ ๒ เปอร์เซ็นต์เท่านั้น การจัดการเพิ่มพื้นที่ป่าเศรษฐกิจจึงมีความสำคัญหากต้องการเพิ่มพื้นที่ป่า
ผอ. บพิตร เกียรติวุฒินันท์ สำนักส่งเสริมการปลูกป่า กรมป่าไม้ หน่วยงานรัฐซึ่งให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมในการปลูกต้นไม้ของภาคเอกชนแสดงความเห็นว่า กำลังหลักที่จะทำให้การบริหารจัดการป่าอยู่ได้อย่างยั่งยืนคือภาคเอกชน จึงให้ความสำคัญกับภาคเอกชนในการมีส่วนร่วมปลูกต้นไม้ เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม การเพิ่มพื้นที่ป่าส่วนหนึ่งจึงมองไปยังที่ดินกรรมสิทธิ์ เมื่อใดการปลูกต้นไม้ให้ผลผลิต เกษตรกรก็จะหันมาปลูกต้นไม้ ยกตัวอย่างภาคเอกชนที่สนับสนุนให้เกษตรกรปลูกไม้โตเร็วคือยูคาลิปตัสเพื่อผลิตกระดาษ ทำให้เกษตรกรโดยรอบพื้นที่โรงงานเริ่มปลูกต้นไม้ตามคันนา เป็นการใช้ประโยชน์ที่ดินที่ไม่เคยใช้มาก่อน
ระวี ถาวร กรรมการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ผู้ประสานงานภาคีความร่วมมือวนศาสตร์ชุมชน ศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า เห็นสอดคล้องว่า หน้าที่หนึ่งของป่าที่ต้องตอบสนองคือเรื่องเศรษฐกิจ รูปแบบของป่าชุมชนในวันนี้มีสองแบบ หนึ่งคือป่าธรรมชาติซึ่งส่วนใหญ่ขึ้นกับกฎหมายป่าสงวนแห่งชาติ ปัจจุบันกรมป่าไม้มอบสิทธินี้ให้ชุมชนแล้วราว ๙,๐๐๐ แห่ง เนื้อที่ประมาณ ๓ ล้านไร่
การจัดการป่าชุมชนของชาวบ้านจะแบ่งเป็นส่วนอนุรักษ์ ส่วนฟื้นฟู รวมถึงส่วนใช้สอยภายในชุมชนหรือหมู่บ้านที่ไม่ใช่เพื่อการค้า สองคือป่าชุมชนที่เป็นพื้นที่สาธารณประโยชน์ ซึ่งชาวบ้านต้องการปลูกต้นไม้เป็นสวนป่า มีศักยภาพแต่ยังขาดข้อมูล
พื้นที่อีกส่วนที่ระวีเชื่อว่ามีศักยภาพในการปลูกต้นไม้ เมื่อถึงเวลาก็ตัดมาใช้คือพื้นที่กรรมสิทธิ์ พื้นที่เกษตรกรรม ของกลุ่มเครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่อการจัดการป่าอย่างยั่งยืนและเป็นธรรม เช่น เครือข่ายธนาคารต้นไม้ เครือข่ายชนเผ่า เครือข่ายวิสาหกิจชุมชน ฯลฯ ที่มีอยู่ราว ๕.๓ ล้านไร่ การตัดไม้ไม่ใช่การทำลายป่าเสมอไป เพราะเมื่อต้นไม้มีอายุถึงระดับหนึ่งก็จะหยุดเจริญเติบโต การตัดมาใช้ประโยชน์คือการเก็บคาร์บอนไว้ในเนื้อไม้อยู่ในบ้านในเรือนนาน ๒๐๐-๓๐๐ ปี ฉะนั้นต้องเปลี่ยนแนวคิดเรื่องการจัดการป่าไม้ เมื่อมีทองอยู่บนดินแล้วเหตุใดจึงไม่ใช้ทองในการสร้างรัฐสภา
อย่างไรก็ดีมีความเห็นคัดค้านถึงการเปิดป่าเศรษฐกิจในตอนนี้
สันติ โอภาสปกรณ์กิจ ผู้ประสานงานกลุ่ม Big Trees เพจเฟซบุ๊กกลุ่มอนุรักษ์ต้นไม้ใหญ่และสิ่งแวดล้อมในเมือง ให้ความเห็นว่ากลุ่มคนชั้นกลางมีมุมมองไม่ไว้วางใจระบบการจัดการป่าไม้ในประเทศไทยสูง
ดังนั้นปฏิกิริยาของเขาคือปลอดภัยไว้ก่อน เมื่อวันนี้รัฐบาลยังรักษาป่าต้นน้ำสำคัญไม่ได้ อย่างป่าต้นน้ำแม่ปิงกับอีกหลายพื้นที่ป่าต้นน้ำกลายเป็นไร่ข้าวโพดหรือไร่พริก ก็ไม่ต้องคุยหรอกว่าจะนำป่ามาใช้ประโยชน์อะไรอีก เหมือนกับว่ายน้ำไม่เป็นแล้วอยากไปทำอย่างอื่นต่อ ถ้าข้อสอบแรกยังตก ประชาชนคงไม่อนุญาตให้คุณนำป่ามาใช้
…
จุดเริ่มต้นของการออกแบบรัฐสภาแห่งใหม่ที่จะนำไม้สักมาเป็นวัสดุน่าจะมาจากความหวังดีที่ต้องการให้งานสถาปัตยกรรมชิ้นนี้เป็นตัวอย่างของการใช้ทรัพยากรไม้
เมื่อองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้มีความจำเป็นต้องหาไม้สัก ๕,๐๐๐ ท่อน จึงเลือกพื้นที่สวนป่าในความรับผิดชอบ สามารถตัดและนำไปใช้งานได้ แต่อุปสรรคใหญ่คือความไว้วางใจของผู้คนในสังคม รวมถึงชาวบ้านที่อาศัยอยู่ใกล้สวนป่า
ทำอย่างไรถึงจะทะลุทะลวงปัญหาเพื่อหาทางออกในการใช้ทรัพยากรป่าไม้อย่างยั่งยืน
ขอขอบคุณ เสวนาโต๊ะกลม “ทางออกในการใช้ทรัพยากรไม้ของประเทศไทยอย่างยั่งยืน” – ๘ สิงหาคม ๒๕๕๙