สัมภาษณ์ : ศรัณย์ ทองปาน
ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช
“อาจารย์ธงทอง” ศ. ธงทอง จันทรางศุ เป็นอดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ท่านเคยดำรงตำแหน่งสูงสุดในชีวิตราชการถึงปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ทั้งยังเป็นนักเขียนที่มีผลงานหนังสือด้านศิลปวัฒนธรรมและตำรากฎหมายมากมาย หากแต่สิ่งที่ทำให้อาจารย์เป็นที่รู้จักมากที่สุด คือการบรรยายการถ่ายทอดพระราชพิธีต่าง ๆ ทางโทรทัศน์ตลอดระยะเวลากว่า ๓๐ ปีที่ผ่านมา ล่าสุด ศ. ธงทอง จันทรางศุ ได้รับหน้าที่ผู้บรรยายการถ่ายทอดพระราชพิธีพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และได้รับคำชื่นชมยกย่องว่าเป็นผู้ที่มีความรู้และความสามารถในการอธิบายขนบธรรมเนียมราชสำนักและการพระราชพิธีต่าง ๆ อย่างลุ่มลึกกว้างขวาง เพื่อให้สังคมไทยข้ามผ่านช่วงเวลาวิปโยคแห่งแผ่นดินไปด้วยสติและความรู้ สารคดี จึงเรียนรบกวนขอความรู้จากอาจารย์ในประเด็นว่าด้วยความคลี่คลายเปลี่ยนแปลงของงานพระราชพิธีพระบรมศพ
การพระราชพิธีพระบรมศพในครั้งนี้ มีความเปลี่ยนแปลงไปจากการพระราชพิธีพระบรมศพครั้งก่อน ๆ อย่างไรหรือไม่
ผมจะลองยกตัวอย่างให้ฟัง อาจเป็นประเด็นปลีกย่อยแต่น่าสังเกตสำหรับผม ที่จริงแล้วงานพระบรมศพโดยหลักก็คือการบำเพ็ญพระราชกุศลอุทิศถวาย เป็นประเพณีทางพระพุทธศาสนาที่มิได้แตกต่างจากการบำเพ็ญกุศลในงานศพอื่น ๆ แต่แน่นอนว่าต้องมีความประณีต มีความงดงาม สมพระเกียรติยศ ตัวอย่างเช่นถ้าเป็นงานศพทั่วไป การสวดพระอภิธรรมก็ใช้เวลาไม่นานนัก แต่ถ้าเป็นงานพระศพเจ้านายหรืองานพระบรมศพเจ้านาย การสวดพระอภิธรรมก็มีธรรมเนียมซึ่งผมเชื่อว่าเป็นธรรมเนียมเก่าน่าจะตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาแล้วด้วยซ้ำไปที่จะใช้เวลายาวนาน
อย่างในงานพระบรมศพ เราจะได้ยินประกาศของทางราชการว่ามีการสวดพระอภิธรรมเวลากลางวันกลางคืน ๑๐๐ วัน เท่าที่ในชีวิตผมได้ทันเห็น เมื่อครั้งงานพระบรมศพสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๗ เมื่อปี ๒๕๒๗ ใน ๑๐๐ วันแรกนั้นมีการสวดพระอภิธรรมทั้งกลางวันกลางคืน เต็มตามความหมายของคำจริง ๆ คือมีทุก ๓ ชั่วโมงตลอด ๒๔ ชั่วโมง แม้กระทั่งตี ๓ (๓ นาฬิกา) พระท่านก็ยังสวดอยู่ แล้วก็ต้องมีวงดนตรีประโคมย่ำยามตามไปด้วย
ต่อมาพอถึงงานพระบรมศพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เมื่อปี ๒๕๓๘ ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ มีพระราชปรารภว่า การสวดหลังเที่ยงคืนไปแล้วจนอรุณรุ่ง คือ ๖ โมงเช้า (๖ นาฬิกา) เป็นการเหน็ดเหนื่อยแก่ทั้งพระภิกษุสงฆ์ ทั้งเจ้าหน้าที่ที่ต้องอยู่ปฏิบัติหน้าที่ ในโอกาสนั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปรับธรรมเนียมในเรื่องนี้ คือยังสวดทั้งกลางวันกลางคืนอยู่ แต่ให้หยุดอยู่เพียงเวลาเที่ยงคืน คือสวดและประโคมย่ำยามครั้งสุดท้ายเวลา ๒๔ นาฬิกา งานพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ในปี ๒๕๕๑ กับงานพระศพสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี เมื่อปี ๒๕๕๔ ก็ยังยึดถือแบบนั้นอยู่
มาในคราวงานพระบรมศพครั้งนี้ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ว่า การสวดพระอภิธรรมและประโคมย่ำยามรอบค่ำจนถึง ๓ ทุ่มก็เป็นการเหน็ดเหนื่อยสำหรับเจ้าหน้าที่แล้ว เพราะยังมีเรื่องอื่น ๆ ที่ต้องดูแลอีกมาก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปรับการสวดพระอภิธรรมและประโคมครั้งสุดท้ายเพียงเวลา ๓ ทุ่ม (๒๑ นาฬิกา) เราจึงพบการประกาศของทางราชการว่า ประชาชนสามารถเข้าไปถวายบังคมพระบรมศพได้จนถึงเวลาประมาณ ๓ ทุ่ม
แต่ในการปฏิบัติจริงก็จะพบว่ามีความผ่อนปรนและเอื้อเฟื้อให้ประชาชนที่ยังค้างจำนวนอยู่ที่บริเวณด้านหน้าพระบรมมหาราชวัง โดยทางสำนักพระราชวังก็อำนวยความสะดวกให้ได้ทยอยกันขึ้นถวายบังคมพระบรมศพจนหมด นี่คือพระมหากรุณาธิคุณในแต่ละยุคแต่ละสมัยที่ปรับเปลี่ยนไปในเรื่องการปฏิบัติ ในธรรมเนียมประเพณีบางอย่าง แต่ไม่ได้ทำให้หลักการที่มีมาแต่เดิมนั้นต้องล้มเลิกสูญหายไป
ดูเหมือนว่าในงานพระบรมศพครั้งนี้ ประชาชนจะมีส่วนร่วมมากขึ้น
ในงานพระบรมศพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ การมีส่วนร่วมของประชาชนชัดเจนทุกขั้นตอน ตั้งแต่ถวายน้ำสรงพระบรมศพ ที่เปิดให้ประชาชนมาร่วมถวายน้ำสรงพระบรมศพที่หน้าพระบรมฉายาลักษณ์ที่ศาลาสหทัยสมาคมในพระบรมมหาราชวัง และตามศาลากลางจังหวัดต่าง ๆ
ถ้าผมจำไม่ผิด ธรรมเนียมนี้เกิดขึ้นในงานพระบรมศพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเมื่อปี ๒๕๓๘ เป็นคราวแรก แน่นอนว่าแต่เดิมนั้นการถวายน้ำสรงพระศพเป็นการในพระราชฐาน เป็นการภายในพระราชวงศ์ ส่วนประชาชนทั่วไปก็ย่อมเป็นการพ้นวิสัยอยู่เองที่จะได้ถวายน้ำสรงพระบรมศพจนถึงเขตพระราชฐานชั้นใน แต่ด้วยพระมหากรุณาธิคุณฯ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ทรงพระราชดำริว่าการสวรรคตของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเป็นความสูญเสียครั้งสำคัญ และประชาชนก็อยากจะมีโอกาสได้สนองพระเดชพระคุณตั้งแต่วันแรกที่ประดิษฐานพระบรมศพ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประดิษฐานพระฉายาลักษณ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ที่ศาลาสหทัยสมาคมในพระบรม-มหาราชวัง เพื่อให้ประชาชนมาร่วมถวายน้ำสรงพระบรมศพ นอกจากนั้นยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ศาลากลางจังหวัดต่าง ๆ จัดตั้งพระฉายาลักษณ์ และปฏิบัติในแนวทางเดียวกับที่สำนักพระราชวังจัดที่ศาลาสหทัยสมาคมด้วย แล้วจึงเป็นธรรมเนียมที่ปฏิบัติสืบเนื่องมาในงานพระศพและงานพระบรมศพชั้นหลัง
ช่วงแรก ๆ งานพระบรมศพมีการปฏิบัติที่ฉุกละหุกอยู่มาก เพราะเหตุว่าการตระเตรียมงานพระราชพิธีอย่างนี้ไว้ก่อนนั้นทำไม่ได้ เป็นเรื่องที่เมื่อเกิดเหตุจำเป็นให้ต้องปฏิบัติแล้วจึงลงมือทำกัน ดังนั้นในครั้งนี้เมื่อพ้นการบำเพ็ญพระราชกุศลปัณรสมวาร (๑๕ วัน) ไปแล้ว จึงเปิดให้ประชาชนเข้าถวายบังคมพระบรมศพได้ตั้งแต่วันที่ ๒๙ ตุลาคมที่ผ่านมา
ระหว่างที่ยังไม่ได้เปิดให้ขึ้นถวายสักการะที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ช่วงก่อนหน้านั้นประชาชนก็ไปลงนามในสมุดหลวงได้ ไปถวายบังคมหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ได้ คนต่อแถวกันที่ศาลาสหทัยสมาคมไม่รู้ว่ากี่หมื่นคน อย่างเวลานี้คนไปถวายบังคมพระบรมศพ เฉลี่ยวันละ ๓ หมื่นคน และเมื่อถึงเวลาอันสมควรแล้ว หลัง ๕๐ วัน ก็ยังเปิดให้ประชาชนได้ร่วมเป็นเจ้าภาพโดยเสด็จพระราชกุศลอีก
ผมว่ายิ่งวันเวลาผ่านไปเรื่อย ๆ ความผูกพันใกล้ชิดระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับประชาชนอย่างนี้ ทำให้แบบแผนประเพณีบางอย่างมีการปรับเปลี่ยน สิ่งที่เพิ่มขึ้นก็คือการมีส่วนร่วมของประชาชนที่จะได้สนองพระเดชพระคุณในงานพระบรมศพ ตั้งแต่วาระแรกจนถึงวาระสุดท้ายของงาน