เรื่อง : ไอโอลา วีล ทองสะอาด
แปล : วิลาวัณย์ ฤดีศานต์
ภาพ : ปิยะวิทย์ ทองสะอาด
โลมาอิรวดีตัวหนึ่งโผล่ขึ้นมาหายใจเหนือผิวน้ำ การปรากฏตัวของมัน ทำให้ผิวน้ำที่ใสดั่งกระจกกระเพื่อมไหว เสียงพ่นน้ำของมันดังขึ้นท่ามกลางบรรยากาศอันสงัด แหล่งน้ำที่สงบเงียบแห่งนี้คือบ้านของมัน ไอหมอกจาง ๆ ที่เกิดจากน้ำที่มันพ่นออกมา ยังคงลอยฟุ้งอยู่ในอากาศอีกชั่วขณะ ก่อนที่จะถูกสายลมอ่อนๆพัดจางไป ครีบหลังโค้งมนสง่างามตัดผ่านผิวน้ำ ขณะที่ปลายจมูกสั้นเชิดเป็นกระเปาะมุดลงใต้คลื่น หลังจากที่ได้ขึ้นมาสัมผัสโลกเบื้องบนเป็นเวลาสั้น ๆ สัตว์ที่สุภาพ และปราดเปรียวนี้ ก็กลับลงสู่อาณาจักรใต้น้ำของมันอีกครั้ง
เราเดินทางมา ๗๐๐ กิโลเมตร ผ่านถนนหนทางขรุขระ เป็นหลุมเป็นบ่อราวกับผิวโลกพระจันทร์ มาจนถึงจุดที่มีโลมาอิรวดี ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ถนนทางใต้ของแขวงสุวรรณเขต (สวันนะเขต) แทบไม่เคยได้รับการซ่อมแซมเลย นับแต่ประเทศนี้ยังอยู่ใต้อาณานิคม และถ้ารถเรา เกิดเสียขึ้นมาบนถนนที่ทรุดโทรมขนาดนี้ ก็จะไม่มีอู่ซ่อมรถ หรือที่ที่จะซ่อมอะไรได้สักอย่างเลย แม้แต่แห่งเดียว เราขับรถผ่านลุ่มแม่น้ำโขง มองเห็นทุ่งราบที่อุดมสมบูรณ์ เห็นทุ่งกว้างที่มีต้นไม้ขึ้นแต่ก็มีฝุ่นจับหนา ก่อนจะมาถึงแม่น้ำตอนหนึ่งที่ไหลเป็นเส้นตรง อันนับเป็นช่วงสุดท้ายทางใต้สุดของเขตประเทศลาว สภาพทางภูมิศาสตร์ของแม่น้ำโขงในบริเวณนี้มีการเปลี่ยนแปลง กล่าวคือ สายน้ำที่เคยไหลอย่างสงบนิ่ง กลับเปลี่ยนเป็นสายน้ำเชี่ยว มีโขดหินและเกาะแก่งมากมาย แม่น้ำโขงช่วงนี้มีระยะทางยาวถึง ๔๐ กิโลเมตร มีสภาพภูมิประเทศที่โดดเด่นและมีลักษณะพิเศษ ได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในทัศนียภาพที่งดงามที่สุด ในภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นแผ่นดินที่อารยธรรมเขมรเคยเจริญรุ่งเรือง ดังจะเห็นได้จากซากปราสาทหิน ที่มีอยู่หลายแห่ง เป็นแผ่นดินที่เคยเป็นอาณานิคมฝรั่งเศส และเป็นแผ่นดินที่เคยเป็นสนามรบของสงครามอเมริกัน มีหมู่เกาะเขียวขจี ที่มีต้นมะพร้าวขึ้นอยู่เป็นแนวขอบรอบเกาะ มีเขาวงกตที่เกิดจากแนวหินที่โผล่ยื่นขึ้นมาจากสายน้ำเชี่ยว ที่ดารดาษไปด้วยเครื่องมือจับปลาไม้ไผ่หลายรูปแบบ
บริเวณนี้มีชื่อว่าแขวงสี่พันดอน หรือที่รู้จักกันในชื่อแขวงสี่พันเกาะ แม่น้ำโขงที่นี่มีความกว้างถึง ๑๔ กิโลเมตร เป็นช่วงที่กว้างที่สุดของแม่น้ำโขงที่มีความยาวทั้งสิ้น ๔,๓๕๐ กิโลเมตร นับจากแหล่งกำเนิดต้นน้ำในที่ราบสูงทิเบต จนถึงทะเลจีนใต้ เป็นแม่น้ำที่ยาวเป็นอันดับที่ ๑๒ ของโลกและเป็นอันดับที่ ๗ ในทวีปเอเชีย ลำน้ำช่วงที่ติดกับทางเหนือของชายแดนกัมพูชานี้ เป็นช่วงที่แม่น้ำนิ่งสงบเป็นบ่อลึก และมีการประมง ก่อนที่แม่น้ำโขงในเขตประเทศลาวจะไปสิ้นสุดที่แก่งคอน ณ ที่แห่งนี้คือบ้านของโลมาผู้งดงามแต่กลับไม่เป็นที่รู้จักมากนัก ชาวพื้นเมืองเรียกโลมานี้ว่า ปคา หรือ ปัก หรือ
โลมาอิรวดี พวกเราต้องการค้นหาสัตว์โลกที่หายากนี้ และศึกษาความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนระหว่างสิ่งแวดล้อม กับการประมงซึ่งทั้งชาวพื้นเมือง และโลมาต่างก็ต้องพึ่งพาอาศัยความสัมพันธ์นี้ เพื่อความอยู่รอด และประการสุดท้ายคือ เรามาที่นี่เพื่อเล่าเรื่องราวของสัตว์ชนิดหนึ่ง ที่ใกล้จะสูญพันธุ์เต็มทีให้โลกได้รับฟัง
แขวงสี่พันดอนมีลักษณะภูมิประเทศที่มีเสน่ห์ สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวมาเป็นเวลาช้านาน นับแต่นักบุกเบิกชาวฝรั่งเศสสองคนแรก คือ ร้อยโท ฟรานซิส การ์นิเยร์ และ ดอดาร์ท เดอ ลากรี ได้พยายามสำรวจเส้นทางเดินเรือ ในแม่น้ำโขงเป็นครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. ๑๘๖๐ แต่พวกเขาถูกแก่งคอนกีดขวาง ทำให้ต้องเลิกล้มความพยายามไป แต่ฟรานซิส การ์นิเยร์ ก็ประทับใจน้ำตกแห่งนี้มาก เขาบันทึกไว้ว่า “ณ ที่แห่งนั้นท่ามกลางโขดหินในสายหมอก และหมู่เกาะเขียวชอุ่ม ผืนน้ำกว้างใหญ่ได้โจนลงจากความสูง ๗๐ ฟุต เป็นสายสีขาวกระแทกหินผาครั้งแล้วครั้งเล่า ก่อนที่จะไหลลับสายตาไปท่ามกลางป่าเขียวขจี”” เป็นเพราะว่าที่จุดนี้แม่น้ำมีความกว้างถึง ๑,๐๐๐ เมตร จึงทำให้เกิดทัศนียภาพที่น่าตื่นตาตื่นใจเป็นที่สุด
ที่จริงมีแก่งหรือน้ำตกสองแห่งที่นี่ ที่น่าประทับใจ คือน้ำตกโสมพะมิด (แก่งหลี่ผี) และน้ำตกคอนพะเพ็ง น้ำตกคอนพะเพ็ง เป็นน้ำตกที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และกล่าวกันว่าเป็นน้ำตก ที่มีความกว้างมากที่สุดในโลก แต่เพียง ๒๐๐ เมตร ก่อนถึงน้ำตก สายน้ำกลับนิ่งสงบเหมือนแกล้ง ที่จริงแม่น้ำกำลังสะสมแรงโมเมนตัม ก่อนที่จะไหลโจนลงหน้าผา ผ่านช่องเขาหินแคบเบื้องล่าง เมื่อคุณเห็นน้ำปริมาณมาก ๆ พวยพุ่งเป็นไอและซัดกับโขดหิน คุณคงไม่อยากเชื่อว่า ไม่ไกลออกไปข้างหน้า ในแม่น้ำสายเดียวกันนี้ยังมีช่วงที่มีความกว้างถึง ๑๐ กิโลเมตร ที่จะถูกเกาะเล็กเกาะน้อย แบ่งแยกแม่น้ำสายใหญ่นี้ออกเป็นแควน้ำเล็ก ๆ หลายสิบสาย จากจุดชมวิว เราเดินลงไปตามทางเดินที่อันตรายไปที่ริมน้ำ ทางเส้นนี้เป็นทางเดียวกับที่นักสำรวจกลุ่มแรกใช้เมื่อ ๑๔๐ ปีก่อน เมื่อครั้งสำรวจแม่น้ำโขงที่นี่ เพื่อที่จะข้ามแก่งคอน ชาวฝรั่งเศสได้สร้างทางรถไฟแคบ ๆ ยาวถึง ๑๔ กิโลเมตรข้ามดอน (เกาะ) เดชและดอนคอน เชื่อมต่อกันด้วยสะพานสวยงามสายหนึ่ง ที่ยังคงยืนตระหง่านอยู่มาจนถึงทุกวันนี้ และมีท่าเรือคอนกรีตขนาดใหญ่ที่ปลายทั้งสองข้าง เรือที่เดินทางไปมาระหว่างเวียตนามกับกัมพูชา โดยผ่านทางแม่น้ำโขง จะมีการขนถ่ายสินค้าลงจากเรือ ไปขึ้นรถไฟที่ปลายด้านใต้ของดอนคอน ซึ่งจากตรงนี้ไป รถไฟจะทำหน้าที่ขนส่งสินค้าไปลงเรืออีกลำหนึ่ง ที่คอยอยู่ที่ปลายทางเหนือของดอนเดช เพื่อเดินทางทวนน้ำขึ้นไปจนถึงปากเซ (เมืองหลวงภายใต้การปกครองของฝรั่งเศสในยุคนั้น) แขวงสุวรรณเขต และไปสุดที่เวียงจันทน์ บางครั้งจะมีการยกเรือทั้งลำขึ้นบนตู้รถไฟที่มีแต่ส่วนพื้น จากนั้นก็ไปทางรถไฟ และยกลงแม่น้ำอีกครั้งที่อีกด้านหนึ่ง รถไฟสายนี้หยุดให้บริการ เมื่อญี่ปุ่นบุกเข้าโจมตีในปี ค.ศ.๑๙๔๕ แต่ที่แห่งนี้ยังคงเป็นสถานที่ที่น่าสนใจ ในฐานะที่เป็นเส้นทางรถไฟสายเดียว ที่ฝรั่งเศสเคยสร้างในลาว หรือถ้าจะกล่าวให้ถูกก็คือ เป็นทางรถไฟสายเดียว เท่าที่เคยมีการสร้างในประเทศลาว
อาคารบ้านเรือนแบบอาณานิคม ยืนอยู่ใต้ร่มเงาของสะพานรถไฟสายนี้ ทางด้านใต้ของสะพานมีซากสนิมเกรอะของรถไฟ และหัวรถจักรไอน้ำ สถาปัตยกรรมแบบอาณานิคมให้บรรยากาศเก่า ๆ และเหมือนกับจะคอยประกาศให้รู้ว่า ครั้งหนึ่งลัทธิอาณานิคมเคยรุ่งเรืองที่นี่ ผู้คนที่เคยตกอยู่ใต้อาณานิคม เป็นเสมือนทาสของระบบฝรั่งเศส เคยต้องทำงานในไร่ แต่มาบัดนี้ได้กลับคืนสู่วิถีชีวิตแบบเก่า ๆ ย่างก้าวของชีวิตผ่านไปอย่างเชื่องช้า แต่ผู้คนที่นี่ยังมีนิสัยโอบอ้อมอารี
ในการไปเยือนบ้านของโลมา จุดพักแห่งแรกของเราคือบ้านหานคอน ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่อยู่ใต้สุดของดอนคอน หรือที่รู้จักกันว่าหมู่บ้านโลมา ถ้าจะไปให้ถึงจุดหมายที่ไกล ๆ ในฤดูที่อากาศร้อนเช่นนี้ จะต้องเอาชนะอาการปวดข้อเท้า และอาการสูญเสียน้ำให้ได้ พวกเราต้องเดินผ่านทุ่งนาที่ไถคราดไว้ ควายหลายตัวกำลังจดจ่ออยู่กับธุระของมันเอง บางตัวเดินเอื่อย ๆ พลางกินหญ้า บางตัวก็กำลังดูแลลูกน้อย ในเวลาที่แดดร้อนมากเช่นนี้ การได้เดินตัดเข้าใต้ร่มไม้ในป่า ทำให้รู้สึกสบายขึ้นมาก ได้ยินเสียงนกเล็ก ๆ ร้องคุยกันมาจากยอดไม้ไกลออกไป ได้ยินเสียงสายน้ำไหลดังอยู่ไม่ไกล ได้เห็นกล้วยไม้ เฟิน และกาฝากเกาะอยู่บนลำต้นของไม้ยืนต้น ที่สูงตระหง่านดังรูปปั้น ภาพที่เห็นทำให้เรารู้สึกว่า สถานที่แห่งนี้เป็นเสมือนวิหารของธรรมชาติ
สะพานริกเกตี้ทอดข้ามหุบเขา ที่ครั้งหนึ่งแม่น้ำโขง และลำน้ำสายย่อยอีกหลายสาย เคยไหลผ่าน เราเดินผ่านทุ่งหญ้าไป จนถึงบ้านหานขอนในที่สุด ใต้ร่มเงาของทิวมะพร้าว และดงไผ่มีบ้านปลูกอยู่ห่าง ๆ กัน ตรงกลางเป็นอาคารสร้างด้วยไม้ ที่ในอดีตเคยเป็นสำนักงานใหญ่ ของการประมงชุมชน และโครงการโลมาแห่งประเทศลาว (Community Fisheries & Dolphins Projects) สำนักงานนี้เคยเปิดทำการในปี ค.ศ. ๑๙๙๓ และปิดไปในปี ค.ศ. ๑๙๙๙ ยังมีอีกทางหนึ่ง ที่จะมาถึงหมู่บ้านแห่งนี้ได้ก็คือ ทางเรือหางยาว แต่เส้นทางนี้จะใช้ได้เฉพาะช่วงฤดูมรสุมเท่านั้น นอกจากนี้ตามทางจะต้องผ่านแก่งน้ำเชี่ยว ที่มีโขดหินอันตรายหลายแห่ง เส้นทางวกวนคดเคี้ยวเช่นนี้ ต้องใช้คนนำทางที่ชำนาญเท่านั้น ในช่วงน้ำเชี่ยวซึ่งเป็นฤดูที่ปลาอพยพ ชาวบ้านจะออกมาจับปลากัน แสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตของชาวพื้นเมืองในสี่พันดอนที่ได้รับการสั่งสมมานานหลายศตวรรษ และมีการปรับเปลี่ยนให้เข้ากับวงจรฤดูกาลของแม่น้ำ และให้เข้ากับความหลากหลายของปลาในลำน้ำโขง
ณ ที่แห่งนี้มีท่าเรือคอนกรีตขนาดใหญ่เทอะทะ ที่ในอดีตเคยใช้เป็นที่ส่งสินค้า ระหว่างเวียตนามกับลาว สิ่งนี้เป็นเสมือนเครื่องเตือนให้รู้ว่า เวลานั้นได้ล่วงเลยมาไกลโข น้ำตรงนี้เป็นบ่อรูปร่างเหมือนปลา มีทิวทัศน์งดงาม และเป็นที่อาศัยของโลมาน้ำจืด เป็นช่วงก่อนที่แม่น้ำ จะไหลเข้าเขตประเทศกัมพูชา ในเขตประเทศกัมพูชา แม่น้ำโขงจะไหลแรงและเชี่ยว แม่น้ำโขงช่วงที่บรรจบกับแม่น้ำเซโขง ซเรโพล และแม่น้ำเกรียงมีความกว้างถึง ๒-๓ ไมล์ แม่น้ำทั้งสามสายนี้ ไหลมาจากตอนกลางของประเทศเวียตนาม และมีปริมาณเป็น ๑๐ เปอร์เซ็นต์ ของน้ำโขงที่ไหลผ่านกัมพูชา และกล่าวกันว่าโลมา อาศัยในแม่น้ำสามสายนี้ในช่วงหนึ่งของปี เราได้ปักหลักที่นี่ ใช้กล้องสองตาส่องดูผืนน้ำนิ่งสงบ คอยมองหาสิ่งมีชีวิต ที่เราดั้นด้นมาไกลเพื่อให้ได้เห็น หลังจากที่เฝ้าคอยอยู่อย่างอดทน เราก็เห็นครีบสีดำสี่ครีบโผล่ขึ้นมาจากน้ำ ในประเทศลาวและกัมพูชา โลมาอิรวดีถูกกำหนดอย่างเป็นทางการว่า เป็นปลาชนิด (species) หนึ่ง ทั้งที่โลมาไม่ใช่ปลา แต่เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เป็นญาติตัวเล็กของวาฬ อยู่ในลำดับ (order) Cetacea ซึ่งประกอบด้วยวาฬ โลมา และพอร์พอยส์ (เป็นโลมาชนิดที่ไม่มีจะงอยปาก) บนโลกนี้มีโลมาอยู่ ๓๒ ชนิด (species) กระจายอยู่ตามมหาสมุทร และแหล่งน้ำในพื้นทวีป มีขนาดต่าง ๆ กันตั้งแต่ตัวเท่าวาฬเพชฌฆาต อันผ่าเผยที่มีความยาวถึง ๓๐ ฟุต ไปจนถึงโลมาสีดำในประเทศชิลี ที่มีความยาวเพียง ๕ ฟุต แม้ว่าจะจัดอยู่ในจำพวกโลมาน้ำจืด แต่โลมาอิรวดีก็ไม่ได้อยู่ในวงศ์ใหญ่ (super-family)
โลมาน้ำจืด (Plastanistoidea) แต่เป็นจำพวกเดียวกับวงศ์ (family) โลมาในทะเลเปิด (Delphinidae) มันมีลำตัวยาว ๒.๕ เมตร และมีรูปร่างไม่เหมือนกับโลมาน้ำจืดแม้แต่น้อย ปรกติโลมาน้ำจืดทั่ว ๆ ไปจะดูละม้ายคล้ายวาฬในยุคโบราณ โลมาน้ำจืดมีชีวิตอยู่บนโลกมากว่า ๒๐ ล้านปี โครงกระดูกของมัน ก็มีลักษณะเหมือนกับฟอสซิลโลมาบางชนิดที่ขุดค้นพบ โลมาน้ำจืดถูกตัดขาดจากทะเลเปิดมานานมาก และมีการปรับตัวให้เข้ากับน้ำในแม่น้ำ ที่เต็มไปด้วยตะกอนและโคลนเลน ตาของมันมีขนาดเล็กลง มีความสามารถในการมองเห็นเพียงแค่แยกออก ระหว่างแสงสว่างกับความมืดเท่านั้น กรามบนและล่างของมันยาวเรียว มีฟันแหลม ดังนั้นเมื่อเปรียบเทียบโลมาน้ำจืด กับโลมาอิรวดีแล้ว โลมาอิรวดีจึงมีพัฒนาการที่สูงกว่า และโลมาอิรวดีก็มีลักษณะคล้ายคลึงกับเบลูกา (Beluga) หรือวาฬสีขาว เพราะมันมีสายตาดี มีดวงตาโตใสซึ้ง จมูกสั้นปลายจมูกเชิดขึ้น มีฟันรูปกรวย และมีรอยยิ้มที่อ่อนโยนเหมือนกับโลมาในทะเลเปิด ซึ่งลักษณะเหล่านี้ แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับโลมาน้ำจืด ดังนั้นจะกล่าวได้อีกอย่างหนึ่งก็คือ โลมาอิรวดีถูกตัดขาดจากทะเลเปิด สั้นกว่าโลมาน้ำจืดมาก เมื่อคำนวณตามเวลาของการวิวัฒนาการ
โลมาอิรวดีมีกระจายอยู่ในแถบอ่าวเบงกอล ไปทางตะวันออก จนถึงเกาะนิวกินี และจากทะเลจีนใต้ จนถึงทางเหนือของออสเตรเลีย มีหลายชนิด (species) ในหลายถิ่นที่อยู่ รวมถึงที่อาศัยในระบบนิเวศชายฝั่ง ปากแม่น้ำและน้ำจืด ปัจจุบันคาดว่ามีเหลืออยู่ในโลกเพียง ๓๐๐ ตัว ครั้งหนึ่งโลมาชนิดนี้ เคยมีอยู่ชุกชุมในแม่น้ำโขง และแม่น้ำเซโขง แต่กลับถูกสังหารเป็นจำนวนมาก ทั้งในลาวและกัมพูชา เพิ่งจะมีการยืนยันเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า ยังมีโลมาอิรวดีเหลืออยู่ในลาว (Baird et al,๑๙๙๔) อย่างมากที่สุดไม่เกิน ๑๐ ตัว ส่วนจำนวนที่มีเหลืออยู่ในกัมพูชานั้น ยังไม่มีการสำรวจแน่ชัด แต่หากสถานการณ์ยังคงเป็นเช่นนี้ต่อไป โลมาก็คงสูญพันธุ์หมดไปจากโลกภายในเวลาไม่เกิน ๑๐ ปี ชาวบ้านที่เราคุยด้วยกล่าวด้วยความเสียใจ และเสียดายว่า ลูกหลานของพวกเขา อาจไม่มีโอกาสได้เห็นโลมาน้ำจืด ในหมู่บ้านของเขา ในประเทศของเขา ทั้งที่มันเป็นมรดกของพวกเขาเอง
โลมาที่ชาวพื้นเมืองเรียกกันว่า ปคา นี้ชาวบ้านและคนพื้นเมือง จะไม่ล่าหรือฆ่าเป็นอาหาร กลุ่มชนมอญ-เขมรที่อาศัยอยู่ในที่ราบสูง หรือที่เรียกกันว่าชาวบราโอ (หรือที่ชาวลาวลุ่มเรียกคนกลุ่มนี้ว่าละวี) ก็รายงานว่าพวกเขาไม่เคยล่า ทำอันตราย หรือกินโลมาชนิดนี้เช่นกัน ชาวลาวและกัมพูชา เชื่อกันว่าโลมาเป็นบรรพบุรุษของพวกเขา ที่กลับชาติมาเกิด มีเรื่องเล่าในหมู่ชาวบราโอว่า โลมาตัวแรกเกิดขึ้นนานมาแล้ว เมื่อพระมเหสีของพระราชาองค์หนึ่งจมน้ำ และได้กลายร่างเป็นโลมา แต่แม้จะมีความเชื่อเช่นนี้ โลมาอิรวดีก็ยังต้องประสบกับชะตากรรมที่ลำเค็ญ และโหดร้ายอยู่นั่นเอง
ในช่วงทศวรรษ ๑๙๗๐ เขมรแดงพยายามจะทำลายความเชื่อ ของคนท้องถิ่นที่เกี่ยวกับโลมา และต้องการน้ำมันที่สกัดจากโลมา ไปใช้กับเครื่องจักรสงคราม ในช่วงเวลาที่โหดเหี้ยมนี้ มีโลมาถูกยิงตายไปราว ๑,๐๐๐ ตัว สาเหตุอีกประการหนึ่ง ที่เชื่อกันว่าทำให้โลมา และปลาตายเป็นจำนวนมากก็คือ การที่ฝ่ายอเมริกันทิ้งระเบิดที่ลุ่มแม่น้ำเซโขง ในช่วงสงครามเวียตนาม ผลก็คือทำให้ชีวิตต่าง ๆ ในเขตนี้ถูกทำลายแทบย่อยยับ ที่จริงมีการตั้งข้อสังเกตว่า ลาวเป็นประเทศที่ถูกทิ้งระเบิดมากที่สุดในโลก ในช่วงระหว่างปี ค.ศ. ๑๙๖๔-๑๙๗๓ เป็นเวลานานถึงเก้าปีที่สหรัฐอเมริกา ได้ถล่มลาวด้วยอาวุธสงคราม ที่มีปริมาณเท่ากับน้ำหนักบรรทุกของ เครื่องบิน B-52 หนึ่งลำทุก ๆ ๘ นาที ไม่เพียงเท่านี้ ลาวยังเป็นสนามทดสอบระเบิดทิ้งจากอากาศรุ่นใหม่ ที่พัฒนาขึ้นในสหรัฐฯ อย่างคลัสเตอร์บอมบ์ ที่ภายในบรรจุด้วยระเบิดลูกเล็ก ๆ ถึง ๖๗๐ ลูก
เมื่อเร็ว ๆ นี้ ตาข่ายจับปลา–สิ่งประดิษฐ์ง่ายๆ ที่ได้จากการถักและมัดปม ก็ได้กลายมาเป็นอีกสาเหตุหนึ่ง ที่ทำให้ประชากรโลมาลดลงอย่างรวดเร็ว เพราะตาข่ายในปัจจุบันทำจากเส้นใยไนลอน ที่ใสจนแทบจะมองไม่เห็น และมีความเหนียวทนเหมือนเหล็ก เมื่อตาข่ายนี้ถูกนำไปวางดักปลาอยู่ในน้ำ ก็เหมือนกับเป็นกำแพงล่องหน สิ่งมีชีวิตใดก็ตามที่ว่ายเข้าไปติด ก็เหมือนกับหลงเข้าไปในเขาวงกตมรณะที่ไร้ทางออก และต้องตายไปในที่สุด โลมาน้ำจืดที่ไม่เคยพบสิ่งกีดขวางเช่นนี้มาก่อนก็เช่นกัน มันจะพยายามว่ายหาทางออกจากคุกแห่งนี้ จนกว่าจะสิ้นลม
คุณบุญเพ็งเจ้าหน้าที่ของการประมงชุนชน และโครงการโลมาแห่งประเทศลาว ได้เล่าประสบการณ์ที่น่าสลดใจของโลมาแม่ลูกคู่หนึ่งให้ฟังว่า “ลูกโลมายังไม่ได้เรียนรู้ว่าควรจะหลบตาข่าย จึงว่ายเข้าไปติดและดิ้นทุรนทุรายอย่างน่าสงสาร ด้วยความรักลูก แม่โลมารีบว่ายเข้าไปช่วยลูกน้อย แต่ก็ต้องตกเป็นเหยื่อของฆาตกรล่องหนนี้ด้วย ทั้งสองแม่ลูกสิ้นใจตายด้วยกันในตาข่ายนั้นเอง”
จากรายงานการตายของโลมาที่เกิดขึ้นในแม่น้ำโขงตอนล่าง ในระยะหลายปีหลังมานี้ระบุว่า
มีโลมาอย่างน้อย ๑๘ ตัวที่ตายในช่วง ๓๓ เดือนระหว่างปี ค.ศ. ๑๙๙๐-๑๙๙๕ และมีเจ็ดตัวตายในช่วง ๒๗ เดือน คือระหว่างปีค.ศ.๑๙๙๔-๑๙๙๖ สาเหตุการตาย คือการติดในตาข่ายดักปลา และตายเพราะการใช้ระเบิดจับปลา (Baird & Mounsouphom, ๑๙๙๔, ๑๙๙๗) มีโลมาสามตัวที่รอดชีวิต เพราะชาวประมงตัดแหปล่อยโลมา ตามข้อตกลงในโครงการชดใช้ค่าแห / ปล่อยโลมา โครงการนี้จัดตั้งขึ้นด้วยความร่วมมือ ระหว่างโครงการโลมากับชาวบ้าน ปัจจุบันชาวบ้านของลาว ตระหนักถึงความสำคัญของโครงการนี้ และให้ความช่วยเหลือสนับสนุนอย่างเต็มที่ นับแต่ปีค.ศ.๑๙๙๗ เป็นต้นมาไม่มีโลมาติดตาข่ายในลำน้ำอีกเลย ราวกับว่าโลมาเองก็ได้เรียนรู้จากประสบการณ์ว่า จะเกิดอะไรกับชีวิตมัน ถ้ามันเข้าไปติดในตาข่ายเหล่านั้น นี่คงเป็นตัวอย่างหนึ่ง ที่แสดงให้เห็นถึงการเรียนรู้ในหมู่โลมา เพราะจากรายงานการศึกษาโลมาในทะเลเปิด พบว่าโลมาเป็นสัตว์สังคม และต้องพึ่งพาสังคมโดยผ่านการเรียนรู้ ซึ่งความรู้เหล่านี้สามารถถ่ายทอด จากโลมารุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่งได้ กล่าวอีกอย่างหนึ่งคือ โลมาดำเนินชีวิตอยู่ในวัฒนธรรม และมีความคิดที่มีนัยยะลึกซึ้งของมันเอง ส่วนการตายด้วยสาเหตุอื่นก็มีรายงานว่าในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๙๔ ที่บริเวณใกล้กับชายแดนลาว ชาวกัมพูชาได้พบโลมาที่ยังไม่โตเต็มวัยตัวหนึ่งเกยตื้น อยู่บนโขดหินกลางลำน้ำโขง ชาวบ้านจึงจับมันมาขังไว้ แต่หลังจากนั้นสามวันมันก็ตาย และที่ปากแม่น้ำห้วยตาลัดมีโลมาอีกตัวเข้าติดในอวนจับปลา อุปกรณ์จับปลาที่ทำด้วยไม้ไผ่เหล่านี้ ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้โลมาต้องตายชีวิต เพราะไม่เพียงแต่มีอยู่มากมายในแม่น้ำ แต่จากการศึกษายังพบว่าอุปกรณ์เช่นนี้มีแตกต่างกันถึง ๘๗ แบบในแขวงสี่พันดอน
ทุกวันนี้สาเหตุสำคัญที่สุดที่ทำให้จำนวนโลมาอิรวดี ลดลงอย่างต่อเนื่อง คือการใช้ระเบิดจับปลาในแถบลุ่มน้ำเซโขง ที่นี่ระเบิดมือ และอาวุธสงครามขนาดเล็ก หาซื้อง่ายและราคาไม่แพง วัตถุระเบิดที่ใช้มีหลายแบบ บางชนิดก็ได้จากการนำไส้ในของกับระเบิด มาใส่ลงในกระป๋องน้ำอัดลม แต่วิธีนี้ทั้งล้างผลาญและสูญเปล่า เพราะปลาที่ถูกระเบิดตายจะจมลงสู่ก้นแม่น้ำ และลอยขึ้นมาก็ต่อเมื่อมันเน่าแล้วเท่านั้น แม้ว่ารัฐบาลกัมพูชาจะสั่งห้ามอย่างเป็นทางการ มิให้จับปลาโดยใช้วัตถุระเบิด และมีการต่อต้านวิธีที่อาจเป็นอันตรายต่อผู้ใช้เองนี้อย่างรุนแรง แต่ก็ยังคงมีทำกันอยู่ทั่วไป ทั้งนี้เพราะการบังคับใช้กฎหมายขาดประสิทธิภาพ ตรงข้ามกับในประเทศลาว ที่เรื่องดังกล่าวถูกห้ามอย่างเด็ดขาด นอกจากนี้การประมงชุมชน และโครงการโลมาแห่งประเทศลาว ได้มีการกำหนดเขตอนุรักษ์น้ำลึกขึ้น จุดมุ่งหมายของโครงการนี้คือ การก่อตั้งหมู่บ้าน ที่มีระบบการจัดการการประมง และจัดการทรัพยากรน้ำ โดยประสานความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่เขต และภูมิภาค โครงการนี้มีหมู่บ้านเข้าร่วม ๔๐ หมู่บ้าน ทั้งหมดอยู่ในเขตพื้นที่ชุ่มน้ำของแขวงสี่พันดอน และหมู่บ้านเหล่านี้ มีการตั้งกฎข้อบังคับเพิ่มขึ้นมา เพื่อควบคุมการเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ จากทรัพยากรน้ำด้วยวิธีการที่ไม่ยั่งยืน
อาชีพที่สำคัญที่สุดอาชีพหนึ่ง ของชาวบ้านในแขวงสี่พันดอนคือการประมง แต่ทุกวันนี้สถานที่แห่งนี้ ซึ่งเป็นแหล่งอาหารของโลมา และขณะเดียวกันก็เป็นทั้งแหล่งอาหาร และรายได้ของชาวบ้าน กำลังหมดความอุดมสมบูรณ์ไปอย่างรวดเร็ว ชาวประมงกล่าวว่า ในแต่ละปีพวกเขาจับปลาได้ลดลงถึง ๒๐-๒๕ เปอร์เซ็นต์ เป็นไปได้ว่า การที่ความอุดมสมบูรณ์ของปลาลดลง มีส่วนทำให้จำนวนโลมาลดลงตามไปด้วย ประเทศลาวมีอัตราการเติบโตของประชากร สูงถึง ๒.๕ เปอร์เซ็นต์ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราที่สูงที่สุดแห่งหนึ่งในทวีปเอเชีย ประกอบกับความต้องการปลาน้ำจืด ในตลาดต่างประเทศ ก็มีเพิ่มมากขึ้น และตลาดส่งออกที่สำคัญแห่งหนึ่งของลาว ก็คือไทย พ่อค้าคนกลางชาวไทยอาจจ่ายเงินให้ถึง ๓ หมื่นกีบ แลกกับปลาที่มีน้ำหนักราว ๓ กิโลกรัม ขณะที่อัตราค่าแรงสูงสุดของอาชีพชาวประมงลาว อยู่ที่แค่ ๒ หมื่นกีบต่อวันเท่านั้น ด้วยจำนวนเงินที่มากขนาดนี้ ทำให้ชาวบ้านต้องยอมจำนนต่อตลาด ที่ใช้เงินและความโลภมาเป็นเครื่องจูงใจ ทำให้ชาวบ้านเอง ก็ไม่กล้าจะบริโภคปลาที่มีมูลค่ามากขนาดนั้น
เพื่อจะให้รู้ว่าการประมงลาว กำลังประสบกับความยากลำบากเช่นไร เราได้ไปที่ตลาดปลาของชาวบ้าน หกโมงเช้าวันนั้น พวกเราเดินหลุดเข้าไปในตลาดเช้าที่วุ่นวายจอแจ หลักฐานที่ชี้ให้เห็นว่า การประมงทางตอนใต้ของลุ่มน้ำโขงในลาว กำลังประสบปัญหาย่ำแย่ก็คือ ปลาที่นำมาขายมีแต่ปลาตัวเล็ก ๆ ไม่ได้ขนาด เป็นปลาที่ยังไม่โตเต็มวัยทั้งสิ้น
ปัญหาใหญ่ก็คือระบบเศรษฐกิจของลาว ยังเป็นแบบดั้งเดิม ขาดความหลากหลาย และมุ่งเน้นที่การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ จำพวกที่ดิน ป่าไม้ เหมืองแร่ และน้ำ กระนั้นก็ตาม สินค้าออกทั้งหมดที่เป็นทรัพยากรธรรมชาติ ก็มีมูลค่าน้อยนิด เมื่อเทียบกับเงินช่วยเหลือจากต่างประเทศ จำนวน ๔๑๖.๓ ล้านเหรียญสหรัฐฯ ที่ส่วนมากจะได้มาในรูปของเงินกู้ มากกว่าจะเป็นเงินบริจาค (UNDP, ๑๙๙๘) ผู้เชี่ยวชาญทางเศรษฐกิจส่วนมาก คิดว่าสิ่งที่ลาวควรผลิตเป็นสินค้าออกขายให้ต่างประเทศ ก็คือไฟฟ้าพลังน้ำ ทั้งนี้เพราะความเป็นไปได้ ที่จะผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแม่น้ำโขงมีมาก จึงมีการเสนอโครงการไฟฟ้าพลังน้ำทั้งสิ้นถึง ๑๙ โครงการ ในจำนวนนี้เสนอให้สร้างทั้งในแควน้ำสาขา และลำน้ำสายหลัก เมื่อมีการเสนอโครงการไฟฟ้าพลังน้ำ ก็มีคำถามเกิดขึ้นตามมามากมาย และก็เช่นเคย ที่คำถามที่เกี่ยวกับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ มักมาเป็นอันดับแรก ทั้งที่คำถามที่เกี่ยวกับการสูญเสียสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ ตลอดจนความสูญเสียของสังคม ก็ควรได้รับการพิจารณาอย่างจริงจัง ทัดเทียมกันด้วยเช่นกัน เมื่อไม่นานมานี้องค์การสหประชาชาติ ได้ออกเงินให้หน่วยงานที่ชื่อ คณะกรรมการแม่น้ำโขง นำแผนการสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำขนาดยักษ์ ทางตอนใต้ของลำน้ำโขงสี่โครงการขึ้นมาทำใหม่ หนึ่งในสี่โครงการยักษ์นี้ มีการสร้างเขื่อนที่แก่งคอนรวมอยู่ด้วย ซึ่งโครงการเช่นนี้จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง ต่อภูมิประเทศ และสิ่งมีชีวิตจำนวนมาก
ผลกระทบรุนแรงที่สุดที่เกิดจากโครงการไฟฟ้าพลังน้ำก็คือ การทำลายเส้นทางอพยพของปลา ถ้าโครงการที่คิดขึ้นเหล่านี้ ต้องการลดผลกระทบที่จะเกิดแก่ชาวประมงจริง ต้องมีการวางระบบเส้นทางอพยพของปลาอย่างมีประสิทธิภาพ ปลาคาร์ป (Cyprinnid) และปลาแมว (Silurid) ชนิด (species) สำคัญ ๆ ในลำน้ำโขง และลำน้ำเซโขงจำนวนมาก เป็นปลาที่อพยพย้ายถิ่น และมีช่วงเวลาเฉพาะที่จะต้องเดินทางไปวางไข่ และฟักเป็นลูกปลา ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนที่สำคัญมาก ในวงจรชีวิตของปลา และการที่จะมาสร้างเขื่อนตรงนั้น ก็จะเป็นการทำลายวงจรนี้ให้เสียไป
ทุกปีเมื่อมรสุมพัดผ่านมาจากมหาสมุทรอินเดีย จะเป็นเสมือนระฆังตีบอกเวลา ให้ปลาในลำน้ำโขงเริ่มการอพยพประจำปีขึ้นไปทางเหนือ ในช่วงเวลาเดียวกันนี้เอง ชาวบ้านทั้งชายและหญิงจะลุยลงไปในน้ำ และใช้สวิงจับปลาที่อพยพผ่านมา พร้อมกับพูดคุยกันด้วยความสนุกสนาน โลมาเองก็มีพฤติกรรมเหมือนมนุษย์ มันจะว่ายตามปลามาในช่วงฤดูน้ำหลาก ไปยังแควสาขาทั้งหลายของลำน้ำโขง เพื่อเฉลิมฉลองความอุดมสมบูรณ์ของปลาด้วยเช่นกัน แต่ถ้าเขื่อนถูกสร้างขึ้น สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ก็จะหมดไป ภาพเช่นนี้ก็คงจะไม่มีให้เราได้เห็นอีก
วงจรของธรรมชาติจะถูกเปลี่ยนแปลงไปตลอดกาล เพราะสายน้ำตอนล่างของเขื่อนเปลี่ยนไป อัตราการไหลของน้ำจะลดลง ปริมาณน้ำลดลง และน้ำไหลช้าลง มีการวางแผนที่จะลดพื้นที่เกษตรกรรม และพื้นที่ชุ่มน้ำลง ทั้ง ๆ ที่พื้นที่แห่งนี้เป็นแหล่งอาศัยสำคัญของลูกปลา เพราะมีอิกทิโอแพลงก์ตอน (Ichthioplankton) ซึ่งเป็นอาหารของลูกปลาอยู่มาก เมื่อพื้นที่ที่เป็นสถานอนุบาลลูกปลา เป็นส่วนที่แยกจากลำน้ำสายหลัก และมีความสัมพันธ์กับฤดูน้ำหลากในธรรมชาติ และการผลิตทางชีวภาพตามวัฏจักรข้างขึ้นข้างแรม มีผลกับการให้กำเนิดลูกหลานของสัตว์ การสร้างเขื่อนจะทำให้จำนวนปลาลดลง เพราะปลาวางไข่ผิดที่และผิดเวลา สิ่งเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่า ปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมทั่วไป ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อการอยู่รอดของลูกปลา จะเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง และคงไม่ใช่เป็นการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นอย่างแน่นอน และไม่ว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้ จะเล็กน้อยเพียงใดก็ตาม จำนวนโลมาที่มีเหลือน้อยอยู่แล้ว ก็จะได้รับผลกระทบ จากการที่ระบบนิเวศเปลี่ยนแปลงไปในทางที่เลวลง นอกจากนี้การสร้างสิ่งกีดขวาง ยังเป็นการแบ่งโลมาออกเป็นกลุ่มเล็ก ๆ ซึ่งจะนำไปสู่ ปัญหาการขาดความหลากหลายทางพันธุกรรม และมีผลต่อการขยายพันธุ์ ก่อให้เกิดความบกพร่องทางพันธุกรรม และทำให้โลมาสูญพันธุ์ไปจากพื้นที่นั้นในที่สุด เมื่อพิจารณาถึงสภาพการณ์ที่ล่อแหลม อันตรายของโลมา และปลาในลำน้ำโขง และลุ่มน้ำเซโขง รวมถึงผลกระทบทางสังคม และสิ่งแวดล้อมที่รุนแรงอื่น ๆ อีกมากมายที่จะเกิดจากโครงการเขื่อนนี้ จึงสมควรมีการพิจารณาให้ยกเลิกโครงการบางโครงการหรือทั้งหมด
เขื่อนนั้นแม้จะสูงใหญ่และอลังการเพียงใด ก็ไม่สามารถดึงดูดความสนใจจากสายตามนุษย์ ได้เท่าน้ำตกในธรรมชาติ ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยว ที่ไปเยือนสี่พันดอนกำลังเพิ่มมากขึ้น การรักษาสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติเช่นนี้เอาไว้ให้คงสภาพเดิม จึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้เพื่อรักษาที่มาของรายได้พิเศษ ของคนในท้องถิ่นที่จะได้มา จากการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ อย่างไรก็ตามถึงแม้การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ จะนำประโยชน์มาให้มากมายเพียงใด แต่ขณะเดียวกันมันก็ก่อให้เกิดปัญหาตามมาด้วย คนจำนวนมากจะอยากมาดูโลมา และมีอีกไม่น้อยที่รู้สึกผูกพันกับสัตว์ชนิดนี้ ดังนั้นเมื่อมีเรื่อติดเครื่องยนต์ บรรทุกนักท่องเที่ยวสัญจรไปมาในน้ำมากขึ้น ก็เป็นการรบกวนโลมามากขึ้นเช่นกัน ชาวประมงที่ขาดความรู้และความเข้าใจ จะพยายามพานักท่องเที่ยวเข้าไปใกล้ ๆ เพื่อให้เห็นโลมาได้ชัดขึ้น แต่ก็แน่นอนว่าการทำเช่นนั้น ก็จะทำให้โลมาเครียดได้ง่าย โลมาจะหันกลับ และว่ายไปอีกทางก่อนที่จะโผล่ขึ้นมาหายใจที่ไหนสักแห่งที่ไกลออกไป เราพยายามให้คนถือท้ายเรือระวังตามที่เราบอก มีโลมาสีเผือดหกตัว กำลังเข้ามาใกล้มาก ห่างออกไปในแค่ ๑๐-๑๕ เมตรเท่านั้น จำนวนหกตัวนี้ นับว่ามากกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนที่มีอยู่ในปัจจุบันเสียอีก เพราะมีรายงานว่า ที่นี่มีโลมาเหลืออยู่เพียง ๑๐ ตัวเท่านั้น ชายชราคนหนึ่งเล่าให้เราฟังถึงอดีต เมื่อครั้งที่แม่น้ำโขงเคยมีโลมาอยู่มากมาย เขากล่าวว่าโลมาเหล่านี้ไม่กลัวคน และมักจะเข้ามาใกล้เรือมาก ห่างเพียง ๒-๓ เมตรเท่านั้น “พวกคุณโชคดีมากที่ได้เห็นพวกมัน” ชายชรากล่าว
ควรมีการค้นคว้าวิจัยทางวิทยาศาสตร์เพื่อหาว่าการบุกรุกเช่นนี้ จะมีผลอย่างไรต่อโลมาน้ำจืด เพราะโลมาเป็นสัตว์ที่ใช้โซนาร์ เป็นเครื่องนำทาง หาอาหารและสื่อสารถึงกัน ซึ่งโซนาร์ของมันอาจถูกรบกวนจากเสียงต่างๆ ที่เพิ่มมากขึ้นรวมทั้งเสียงเรือ การศึกษาโลมาน้ำจืดนั้น ยังล้าหลังกว่าการศึกษาโลมาในทะเลเปิดถึง ๒๕ ปี และยังมีเรื่องที่เราควรต้องรู้อีกมาก ก่อนที่จะสูญเสียสัตว์ที่เราดั้นด้นมาทำความรู้จักนี้ไป
ความหวังปรากฏขึ้นเบื้องหน้า เมื่อเราเห็นลูกโลมาสีเทาอ่อนตัวหนึ่ง โผล่ขึ้นเบื้องหน้าฉากหลังที่เป็นขวดพลาสติกที่ชาวประมงใช้บอกตำแหน่งของตาข่ายจับปลา เห็นจะต้องขอบคุณโครงการนำวัสดุกลับมาใช้ใหม่ ที่ทำให้เราได้เห็นภาพสวย ๆ เช่นนี้ แต่แม้จะมีจำนวนเหลือเพียงหยิบมือแค่นี้แล้วก็ตาม ดูเหมือนว่าเคราะห์กรรมของโลมาเหล่านี้ก็ยังไม่จบสิ้น เพราะเมื่อความหลากหลายทางพันธุกรรมลดลง โอกาสที่ยีนจะกลายมาเป็นอันตรายต่อตัวมันเองก็เพิ่มมากขึ้น และก่อให้เกิดปัญหาตามมาหลายประการ ตั้งแต่ปัญหาอัตราการเพิ่มของประชากรลดลง ความอ่อนแอต่อโรคภัยไข้เจ็บมีมากขึ้น นี่เป็นปรากฏการณ์ที่ศึกษาได้จากการเฝ้าสังเกตคนกลุ่มเล็ก ๆ ที่แยกตัวอยู่โดดเดี่ยว และทำให้โรคทางพันธุกรรมอย่างเนื้องอกสามารถเกิดขึ้นในอัตราที่สูงผิดปรกติ
การได้มาเห็นขนาดที่อยู่อาศัยของโลมาแห่งนี้ ทำให้เกิดความรู้สึกประหลาดใจ ระคนตกใจ เพราะสำหรับสัตว์ที่ชอบเดินทางไปไหนมาไหนไกล ๆ อย่างอิสระแล้ว ที่นี่ถือว่าเล็กมาก เล็กเกินไป พวกมันต้องกลายมาเป็นนักโทษในบ้านของตัวเอง ไม่สามารถเดินทางขึ้นไปทางต้นน้ำได้ เพราะมีตาข่ายดักปลาอยู่มากมาย ครั้นจะลงไปทางใต้ ก็เป็นแก่งคอน พวกมันจึงไม่มีที่ไหนให้ไป และไม่มีที่ไหนให้หลบซ่อน ช่างน่าละอายจริง ๆ เมื่อคิดถึงว่าคำว่าแม่โขง ชื่อของลำน้ำสายนี้มีความหมายว่า “แม่ของแม่น้ำ” หรือบางคนอาจตีความว่าเป็น “ผู้ให้ชีวิต” แต่แม่น้ำสายเดียวกันนี้ ที่เคยให้ทุกอย่างที่โลมาต้องการ ที่เดียวกันนี้ที่เคยมีโลมาอยู่มากมาย มาบัดนี้กลับกลายเป็นกับดักมรณะ ที่คอยแต่จะสังหารพวกมัน ทั้งที่มีเหลืออยู่เพียงไม่กี่ชีวิต
เมื่อพระอาทิตย์ใกล้ตก แสงแดดยามเย็นส่องสะท้อน ทำให้สายน้ำกลายเป็นสีแดงฉาน เหมือนสีเลือด เราหันเรือออกห่างจากบรรดาเจ้าชาย และเจ้าหญิงแห่งสายน้ำ ความรู้สึกขัดแย้งบังเกิดขึ้นในใจ ความรู้สึกผิดที่ว่าเราก็เป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่เข้ามารบกวนสัตว์โลก ที่บอบบางเหล่านี้ไม่มากก็น้อย ความตื่นเต้น และความสงบนิ่งแล่นผ่านสายเลือด และแผ่ซ่านไปทั่วร่างกาย บางทีนี่อาจจะเป็นโอกาสที่จะเกิดความคิดอันลึกซึ้ง แต่กลับไม่มีความคิดใดเกิดขึ้น
ชะตาของโลมา ได้กลายมาเป็นมาตรวัดว่าโลกของเรากำลังยืนอยู่ ณ จุดใด ถ้าพิจารณาถึงเรื่องโลมาอิรวดี โอกาสของเราก็ไม่ใช่เรื่องน่ายินดี แต่ก็พอจะมองในด้านดีได้บ้างว่า อย่างน้อยเราก็ได้สัมผัสกับสัตว์ที่น่าอัศจรรย์เหล่านี้ และยังมีอะไรให้ทำอีกมาก ก่อนที่ปคาจะสูญพันธุ์ไป วิธีหนึ่งที่พอจะทำได้ และควรทำก็คือ การให้ความรู้แก่ชาวบ้าน รวมทั้งให้ชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น
โครงการอนุรักษ์จะประสบความสำเร็จไม่ได้เลย ถ้าปราศจากความช่วยเหลือของชาวบ้าน เพราะชาวบ้านคือแหล่งที่มาของข้อมูลที่มีค่า ในการค้นหาว่า อะไรคือสิ่งที่คุกคามชีวิตของโลมา การอนุรักษ์จะประสบสำเร็จอย่างต่อเนื่องได้ ก็ต่อเมื่อคนในท้องถิ่นได้รับแบ่งปันผลประโยชน์ ทั้งในด้านสังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ การท่องเที่ยวอาจเป็นทางเลือกทางเศรษฐกิจอีกทางหนึ่ง ของประชาชนในเขตพื้นที่ชุ่มน้ำ ของสี่พันดอนที่น่าจะเติบโตได้ และน่าจะเป็นวิธีที่ยั่งยืนกว่า หากต้องการจะปกป้องโลมาเหล่านี้ ให้เป็นทรัพยากรธรรมชาติต่อไป สำหรับลูกหลานในอนาคตแล้ว นี่เป็นการสร้างโอกาส และแหล่งรายได้ใหม่ เพราะไม่เพียงแต่จะเป็นการช่วยตัวพวกเขาเอง แต่ยังเป็นการช่วยเหลือครอบครัว และสามารถถ่ายทอดทักษะ ให้ลูกหลานได้ต่อไปในอนาคต ด้วยวิธีการอนุรักษ์ที่เกิดจากชุมชน และความร่วมมือของชาวบ้านเช่นนี้ จึงจะสามารถใช้เป็นต้นแบบของการมีวิถีชีวิตที่ยั่งยืน และเป็นการอยู่ร่วมกันกับโลกใบนี้ แต่การที่การประมงชุมชน และโครงการโลมาแห่งประเทศลาว ต้องหยุดดำเนินการไป ตั้งแต่ต้นปีค.ศ.๑๙๙๙ เพราะขาดแคลนเงินทุนจาก EU ทำให้อนาคตของโลมาอิรวดีมืดมนไปทันที เพราะถ้าปราศจากองค์กร หรือเงินทุนสนับสนุนจากแหล่งอื่น โครงการเช่นนี้ก็ไม่มีวันจะเป็นจริงไปได้
ทุกวันนี้แม้ความสัมพันธ์ระหว่างคนในพื้นที่กับสิ่งแวดล้อม และโลมา จะซับซ้อนแต่ก็เป็นสิ่งที่เป็นรูปธรรมชัดเจน คนที่นี่เข้าใจว่า โลมาสามารถเป็นที่มาของรายได้มหาศาล แต่เพราะการที่ชาวบ้านแถบนี้ เป็นชาวนา และชาวประมง ที่ยังชีพอยู่กับน้ำ และนา ทำให้พวกเขาไม่มีทักษะ และความรู้ที่จะนำไปใช้ในการจัดการโลมา ด้วยวิธีที่ชัดเจน และให้บังเกิดผลงอกเงย ถ้าในอนาคตอันใกล้นี้ไม่มีการทำอะไรเพื่อช่วยโลมา และคนที่นี่ ทั้งคนและโลมาก็จะถูกทอดทิ้ง และถ้าโลมาสูญพันธุ์ไป ชาวบ้านที่นี่ ก็ต้องสูญเสียสมบัติที่มีค่ามากที่สุดชิ้นหนึ่งไป ซึ่งเป็นสมบัติที่มีมูลค่าทางด้านเศรษฐกิจ และล้ำค่าในด้านสิ่งแวดล้อม
เมื่อเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นในประเทศอย่างลาว มันจึงเป็นกลายเป็นภาระอันยิ่งใหญ่ เพราะที่นี่ทรัพยากร และความรู้ยังคงจำกัดอยู่มาก บางคนอาจคิดว่าสถานการณ์ในขณะนี้ ได้มาถึงจุดที่สิ้นหวังแล้ว เพราะถึงแม้จะมีการช่วยเหลือใดใด แต่จำนวนโลมาที่มีอยู่เพียงน้อยนิด ก็จะไม่สามารถเพิ่มขึ้นได้ เพราะขาดความหลากหลายทางพันธุกรรม กระนั้นก็ตาม
ความงดงาม และความมหัศจรรย์ที่สิ่งมีชีวิตชนิดนี้นำมาสู่โลก ก็ดูเหมือนจะเป็นราคาที่สูง เกินกว่าจะยอมเสียไปง่ายๆ เรายังคงต้องรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ ให้โลกใบนี้เพื่อให้โลกของเรา เป็นสถานที่ที่มีสีสัน และเป็นที่ที่วิเศษน่าอยู่ และโลมาก็เป็นสีสันหนึ่งของโลกเราเช่นกัน การที่ต้องสูญเสียโลมาไป ก็เหมือนกับเป็นการทำลายสีสัน และความมหัศจรรย์ของโลกไปด้วย เพราะการสูญพันธุ์นั้นหมายถึงตลอดกาล