เรื่อง : วันชัย ตัน
ภาพประกอบ : Din-Hin
แก้ไขข้อมูลบางส่วนใหม่ : ธัชชัย วงศ์กิจรุ่งเรือง
รายการทีวีบ้านเราที่ฮิตติดอันดับในเวลานี้ คงหนีไม่พ้นรายการประเภทควิซโชว์ อย่างเกมเศรษฐี ซึ่งเป็นรายการที่เราเลียนแบบมาจากฝรั่ง
แต่ที่ประเทศอังกฤษ รายการทีวีที่กำลังได้รับความนิยมสูงสุด มีชื่อว่า Big Brother เป็นรายการที่แอบถ่ายภาพพฤติกรรมของผู้เข้าแข่งขันแล้วนำมาฉายให้ชมกัน
ทว่าในชีวิตจริงของชาวอังกฤษ ๖๐ ล้านคน ก็กำลังใกล้เคียงกับสิ่งที่เกิดขึ้นในทีวีเข้าไปทุกที เพราะตามท้องถนน และสถานที่ต่าง ๆ จะมีกล้องโทรทัศน์วงจรปิด มากถึง ๑.๕ ล้านกล้อง จับตาดูผู้คน เพื่อความปลอดภัยของชีวิต และทรัพย์สิน รัฐบาลอังกฤษทุ่มงบประมาณมหาศาลในการนี้ เพื่อแบ่งเบาภาระการทำงานของตำรวจ และเจ้าหน้าที่รักษาความสงบในท้องถิ่น
และล่าสุดคือรถ “supervan” รถของทางการ ที่แอบซ่อนกล้องโทรทัศน์วงจรปิดรุ่นล่าสุด จำนวนเก้ากล้องมูลค่าเกือบ ๘ ล้านบาท คอยตระเวนสอดส่ายสายตา ดูแลความสงบเรียบร้อย ไปตามย่านโซโห และเวสต์เอนด์ กลางกรุงลอนดอน
“ถ้าเราได้รับรายงานว่าเกิดเหตุด่วนเหตุร้ายที่ใด เจ้ารถแวนก็จะไปถึงที่นั่น” ซูซานนา ไวท์ โฆษกเทศบาลเมืองเวสต์มินสเตอร์แถลง
จุดประสงค์ของเจ้ากล้องพวกนี้ก็คือ เพื่อยับยั้งการเกิดอาชญากรรม และช่วยเจ้าพนักงาน ในการสืบสวนคดีความ ผลงานชิ้นโบแดงของกล้องที่ว่านี้ก็คือ ครั้งที่สามารถจับภาพนายเดวิด โคปแลนด์ มือระเบิดที่ตั้งใจจะสังหารคนผิวดำ ชาวเอเชียและชาวเกย์ ที่อยู่ในย่านนั้นเมื่อปีที่แล้ว
แต่ดูเหมือนการรักษาความสงบเรียบร้อยในอังกฤษ ชักจะจริงจังมากขึ้นทุกที อาทิ บรรดานักชอปปิงย่านถนนอ็อกซฟอร์ด ในกรุงลอนดอนถูกสะกดรอยด้วยกล้อง
จำนวน ๑๖ กล้องที่เชื่อมโยงสัญญาณภาพไปที่สถานีตำรวจบริเวณนั้น
แอลแลน ทอมสัน นายตำรวจผู้รับผิดชอบคนหนึ่ง รายงานว่า ในช่วงหกเดือนแรกนับตั้งแต่ใช้ระบบนี้ การล้วงกระเป๋าลดลงถึง ๔๔ เปอร์เซ็นต์ อาชญากรรมบนท้องถนนลดลง ๒๐ เปอร์เซ็นต์ ส่วนนักย่องเบาหายหัวไปราว ๆ ๑๑ เปอร์เซ็นต์
แต่ในอีกด้านหนึ่ง ก็มีผู้ไม่เห็นด้วยกับการรุกล้ำเรื่องส่วนตัวของชาวบ้าน
“มันชักจะบ้ากันใหญ่แล้ว” ไซมอน เดวีส์ แห่งชมรมพิทักษ์ความเป็นส่วนตัว ผู้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับกล้องจำนวน ๑.๕ ล้านกล้องกล่าว “กล้องมันระบาดไปทั่ว จนเกินจะควบคุมแล้ว”
เดวีส์เล่าถึงความเป็นมา ของความบ้าโทรทัศน์วงจรปิด ในอังกฤษว่า เริ่มขึ้นในช่วงทศวรรษ ๑๙๘๐ เมื่อกล้องวงจรปิดถูกนำไปติดตั้งทั่วสนามฟุตบอล ในวันที่มีแมตช์ใหญ่ ๆ เพื่อคอยระแวดระวังเหตุรุนแรง ที่พวกฮูลิแกนอาจก่อขึ้น นับแต่นั้นมาเจ้ากล้องที่ว่านี้ ก็แพร่ะบาดไปทั่ว โดยเฉพาะบริเวณที่เป็นศูนย์กลางของเมือง
เดวีส์เถียงว่า กล้องวงจรปิดไม่ได้ช่วยลดการเกิดอาชญากรรม มันเพียงแค่ไล่ให้ไปเกิดที่อื่น แถมยังทำอะไรพวกนักค้ายา หรืออาชญากรชั้นเซียนไม่ได้อีกด้วย มิหนำซ้ำเราไม่ทราบเลยว่า มีพวกโรคจิตในคราบบุคคลในเครื่องแบบ แอบมองพวกเราอยู่หรือไม่
พ.ร.บ. ว่าด้วยการปกป้องข้อมูลข่าวสารปี ๑๙๙๘ ก็ระบุว่า ประชาชนจะต้องได้รับการบอกกล่าว หากว่าพวกเขากำลังถูกบันทึกภาพ โดยกล้องโทรทัศน์วงจรปิด แต่กฎหมายนี้ก็ไม่มีผลบังคับในทางปฏิบัติ
ทางด้านประเทศสหรัฐอเมริกา รัฐบาลท้องถิ่นประมาณ ๕๐ แห่ง กำลังเตรียมการนำระบบรักษาความปลอดภัยแบบนี้ มาใช้ตามย่านดาวน์ทาวน์
กล้องวงจรปิดกำลังเป็นที่นิยมมาก ตามทางด่วน และสี่แยกไฟแดง ในเขตเมืองใหญ่ ห้างสรรพสินค้า ธนาคาร และที่ทำงาน
อ้อ ที่เมืองไทยหากจะคิดติดกล้องวงจรปิด เพื่อลดอาชญากรรม ขอเสนอให้ไปติดเพิ่มเติมในผับด้วย เผื่อลูกผู้มีอิทธิพลทั้งหลาย จะลดความกร่างลงบ้าง