วันดี สันติวุฒิเมธี : เรื่อง
หนังสือพิมพ์ ไทยรัฐ : ภาพ

“รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี”

สุภาษิตนี้อยู่คู่กับสังคมไทยมานาน จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีการเลี้ยงดูเด็ก ทั้งในบ้าน และโรงเรียน คนรุ่นก่อนเชื่อกันว่า “ไม้เรียวสร้างคนให้เป็นคนดี” จึงยินยอมให้ครูซึ่งถือเสมือนพ่อแม่คนที่สอง ตีบุตรหลานของตนได้ แต่เมื่อกาลเวลาผ่าน สังคมเปลี่ยน ครูจำนวนไม่น้อยละทิ้งจริยธรรมสำนึกของความเป็นครู และใช้ไม้เรียว (รวมถึงอุปกรณ์อื่น ๆ) เป็นเครื่องระบายอารมณ์ ผู้ปกครองส่วนใหญ่ จึงไม่ต้องการที่จะให้ครู ใช้ไม้เรียวคุมประพฤติบุตรหลานของตนอีกต่อไป

ด้วยเหตุนี้เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล ลงนามแก้ไขระเบียบการลงโทษนักเรียน หรือนักศึกษาใหม่ โดยยกเลิกการใช้ไม้เรียว จึงมีผู้ปกครองจำนวนไม่น้อยที่เห็นด้วยกับแนวคิดนี้

ระเบียบการลงโทษเดิมที่วางไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๑๕ นั้น กำหนดให้ครูทำโทษนักเรียนด้วยการตีเด็กได้ โดยใช้ไม้เรียวขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางไม่เกิน ๐.๗ เซนติเมตร และตีไม่เกิน ๖ ทีติดต่อกัน ส่วนระเบียบการลงโทษใหม่ ที่ยกเลิกการลงโทษเด็ก โดยการใช้ไม้เรียวนั้น แบ่งประเภทการลงโทษออกเป็น ๕ ประเภท คือ ว่ากล่าวตักเตือน ทำกิจกรรม ทำทัณฑ์บน พักการเรียน และให้ออก โดยบังคับใช้กับนักเรียนและนักศึกษาแตกต่างกันไปตามระดับชั้น กล่าวคือ ระดับประถมศึกษาและระดับมัธยมศึกษาตอนต้น กำหนดโทษไว้เพียง ๓ ประเภท คือ ว่ากล่าวตักเตือน ทำกิจกรรม และทำทัณฑ์บน ไม่มีการพักการเรียนและให้ออก ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายสายสามัญและสายอาชีพ กำหนดโทษไว้ ๔ ประเภท คือ ว่ากล่าวตักเตือน ทำกิจกรรม ทำทัณฑ์บน และพักการเรียน ส่วนระดับอุดมศึกษาต่ำกว่าระดับปริญญาตรี กำหนดโทษไว้ทุกประเภท

สำหรับโทษว่ากล่าวตักเตือน ครูอาจารย์จะเป็นผู้ตัดสินทำโทษเอง ในกรณีที่นักเรียนนักศึกษาทำความผิดไม่ร้ายแรง ส่วนโทษตั้งแต่ทำกิจกรรมจนถึงให้ออก จะต้องผ่านกระบวนการพิจารณาของโรงเรียนก่อน ว่ามีความผิดจริง โดยผู้บริหารโรงเรียน จะต้องตั้งคณะทำงานพิจารณาโทษเด็ก เพื่อป้องกันการใช้อารมณ์ของครู ทั้งนี้ระเบียบลงโทษใหม่ จะเริ่มบังคับใช้ในภาคเรียนที่ ๒ คือตั้งแต่วันที่ ๑ พฤศจิกายนที่จะถึงนี้

แม้ว่าประชาชนส่วนใหญ่ จะเห็นด้วยกับระเบียบใหม่ดังกล่าว เนื่องจากเชื่อว่าจะช่วยลดการใช้ความรุนแรงในโรงเรียนลง ทว่าครูอาจารย์ และผู้ที่ทำงานด้านเด็กหลายท่าน กลับออกมาแสดงความเห็นในทางตรงกันข้ามว่า มาตรการดังกล่าว อาจกลายเป็นจุดเริ่มต้นของความรุนแรง รูปแบบใหม่ที่ซับซ้อนกว่าเดิม

มาตรการยึดไม้เรียวครู จะช่วยยุติความรุนแรง หรือจะกลายเป็นจุดเริ่มต้นของความรุนแรงรูปแบบใหม่ ? นี่เป็นเรื่องที่สังคมไทยควรจะต้องนำมาขบคิดพิจารณาให้ถี่ถ้วนอีกครั้ง เพื่อหาแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุด ให้แก่ลูกหลานของเรา