อนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (Convention on International Trade in Endangered Species of Wild Fauna and Flora-CITES) หรือที่รู้จักกันในชื่อย่อว่าไซเตส เป็นอนุสัญญาระหว่างประเทศที่มีเป้าหมายเพื่อควบคุมไม่ให้การค้าสัตว์ป่าและพืชป่าระหว่างประเทศ เป็นภัยคุกคามความอยู่รอดของชนิดพันธุ์ในธรรมชาติ โดยเฉพาะสัตว์ป่าและพืชป่าที่มีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ อนุสัญญาฉบับนี้มีผลบังคับใช้เมื่อเดือนกรกฎาคม ปี ๒๕๑๘ ตลอดระยะเวลาเกือบ ๓๐ ปีที่ผ่านมา ไซเตสนับเป็นอนุสัญญาด้านการอนุรักษ์สัตว์ป่านานาชาติที่ถูกพูดถึง และมีประสิทธิภาพมากที่สุดฉบับหนึ่ง โดยมีการให้ความคุ้มครองแก่สัตว์และพืชแล้วกว่า ๓ หมื่นชนิด ตั้งแต่เสือโคร่ง ช้างป่า ไปจนถึงไม้มะฮอกกานีและกล้วยไม้ ด้วยการกำหนดรายชื่อสัตว์และพืชเหล่านี้ในบัญชีของไซเตส
กลไกสำคัญของอนุสัญญาไซเตสคือการกำหนดให้ประเทศภาคีจะต้องมีมาตรการภายในที่เหมาะสมในการบังคับใช้กฎหมายให้เป็นไปตามอนุสัญญาฯ โดยจะต้องมีการควบคุมการนำเข้า ส่งออก หรือส่งผ่านตัวอย่างชนิดพันธุ์ที่ระบุไว้ในบัญชีของไซเตส และมีบทลงโทษผู้กระทำการฝ่าฝืน ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันแก่อนุสัญญาไซเตส และเข้าเป็นภาคีสมาชิกลำดับที่ ๗๘ เมื่อปี ๒๕๒๖ ปัจจุบันอนุสัญญาไซเตสมีภาคีสมาชิกกว่า ๑๖๐ ประเทศทั่วโลก โดยมีประเทศลาวเข้าเป็นสมาชิกลำดับที่ ๑๖๕ เมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๔๗ ส่งผลให้ประเทศสมาชิกในกลุ่มอาเซียนทั้ง ๑๐ ประเทศได้เข้าร่วมเป็นภาคีต่ออนุสัญญาฉบับนี้อย่างสมบูรณ์
การประชุมอนุสัญญาไซเตส CoP-13 ที่กรุงเทพฯ มีความหมายอย่างไร การประชุมประเทศภาคีของอนุสัญญาไซเตส (Conference of the Parties) จะจัดให้มีขึ้นทุก ๒ หรือ ๓ ปี เพื่อเปิดโอกาสให้ประเทศสมาชิกได้มีโอกาสประชุมเพื่อพิจารณาเนื้อหาสาระ และเปลี่ยนแปลงข้อกำหนดในอนุสัญญาตามรายละเอียดที่มีผู้เสนอขอให้พิจารณา ประเทศสมาชิกมีสิทธิ์ออกเสียงได้เท่าเทียมกัน โดยข้อเสนอที่จะได้รับการยอมรับให้มีการแก้ไขจะต้องได้เสียงรับรองไม่น้อยกว่าสองในสาม นอกจากภาคีสมาชิกกว่า ๑๖๐ ประเทศจะส่งตัวแทนเข้าร่วมประชุมแล้ว ที่ประชุมยังเปิดโอกาสให้ตัวแทนองค์กรอนุรักษ์ธรรมชาติภาคเอกชนเข้าร่วมประชุมและเสนอความคิดเห็นได้อย่างเต็มที่
การประชุมประเทศภาคีอนุสัญญาไซเตสครั้งที่ ๑๓ (CoP-13) จะจัดให้มีขึ้นระหว่างวันที่ ๒-๑๔ ตุลาคม ๒๕๔๗ ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพฯ นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมนานาชาติครั้งใหญ่เกี่ยวกับอนุสัญญาระหว่างประเทศด้านการอนุรักษ์ฉบับนี้ เป็นที่แน่นอนว่าในช่วงเวลาดังกล่าว วงการอนุรักษ์ธรรมชาติทั่วโลกจะพุ่งความสนใจมาที่สถานการณ์การค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายในภูมิภาคนี้เป็นพิเศษ ในขณะเดียวกันก็เป็นโอกาสสำคัญของประเทศไทยและเพื่อนบ้านในภูมิภาค ที่จะได้แสดงออกถึงความตั้งใจในการแก้วิกฤตปัญหาการค้าสัตว์ป่าและพืชป่าผิดกฎหมายอย่างจริงจัง
หัวข้อซึ่งเป็นที่สนใจของวงการอนุรักษ์สัตว์ป่าทั่วโลกเป็นพิเศษในครั้งนี้คือ การพิจารณาห้ามไม่ให้มีการค้าสัตว์ป่าระหว่างประเทศบางชนิดอย่างเด็ดขาดเช่น โลมาอิรวดี (นำเสนอโดยประเทศไทย) ฉลามขาว (นำเสนอโดยมาดากัสการ์และออสเตรเลีย) นกกระตั้วหงอนเหลือง (Sulphur-crested Cockatoo นำเสนอโดยอินโดนีเซีย) นกแก้วแอมะซอนท้ายทอยม่วง (Lilac-crowned Amazon Parrot นำเสนอโดยเม็กซิโก) สิงโตแอฟริกา (นำเสนอโดยเคนยา) และการควบคุมการค้าปลานกแก้วหัวโหนก (นำเสนอโดยฟิจิ ไอร์แลนด์ และสหรัฐอเมริกา) รวมไปถึงการพิจารณาเรื่องการควบคุมตลาดค้างาช้างภายในประเทศ และการอนุรักษ์กวางไซกา