เกษร สิทธิหนิ้ว : รายงาน, ภาพ
คงไม่มีเหตุการณ์คนเมายาบ้าจับตัวประกันครั้งใด “ช็อกความรู้สึก” คนทั่วไปได้เท่ากรณีที่เกิดขึ้นกับนักศึกษามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งต้องเสียชีวิตลงอย่างน่าสลดใจ หลังจากถูกจับเป็นตัวประกันนานหลายชั่วโมง
แม้เหตุการณ์จะจบลงที่คนร้ายถูกฝูงชนพร้อมใจรุมประชาทัณฑ์จนเสียชีวิต แต่เรื่องทั้งหมดก็ไม่ได้ยุติเพียงเท่านั้น นอกเหนือจากความรู้สึกสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของครอบครัวเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายแล้ว ข้อเรียกร้องให้มีการแก้กฎหมายอันเกี่ยวเนื่องกับการวิสามัญฆาตกรรมเพื่อให้ตำรวจสามารถ “จัดการ” ขั้นเด็ดขาดกับคนร้ายที่ “เมายาบ้าจับตัวประกัน” ได้ทันท่วงที ก็เป็นผลสืบเนื่องอีกประการหนึ่งจากกรณีสะเทือนขวัญครั้งนี้
ปัจจุบัน กฎหมายที่ให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่รัฐในการใช้อาวุธปืนจัดการกับคนร้าย ได้แก่ พระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. ๒๔๗๙ ซึ่งให้อำนาจแก่เจ้าพนักงานเรือนจำในการใช้อาวุธปืนเพื่อป้องกันเหตุร้าย
– มาตรา ๑๗ บัญญัติว่า
“เจ้าพนักงานเรือนจำอาจใช้อาวุธปืนแก่ผู้ต้องขังได้ในกรณีดังต่อไปนี้
(๑) ผู้ต้องขังไม่ยอมวางอาวุธ เมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้วาง
(๒) ผู้ต้องขังที่กำลังหลบหนีไม่หยุด ในเมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้หยุด และไม่มีทางเลือกอื่นที่จะจับกุมได้
(๓) ผู้ต้องขังตั้งแต่ ๓ คนขึ้นไป ก่อความวุ่นวายหรือพยายามใช้กำลังเปิดหรือทำลายประตูรั้วหรือกำแพงเรือนจำ หรือใช้กำลังทำร้ายเจ้าพนักงานหรือผู้อื่น และไม่ยอมหยุดในเมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้หยุด
การที่เจ้าพนักงานเรือนจำผู้มีอำนาจเหนือตนอยู่ในที่นั้นด้วย จะใช้อาวุธปืนได้ก็ต่อเมื่อได้รับคำสั่งจากเจ้าพนักงานผู้นั้นแล้วเท่านั้น”
– มาตรา ๒๑ บัญญัติว่า
“เจ้าพนักงานเรือนจำผู้ใช้อำนาจที่ได้ให้ไว้ในหมวดนี้โดยสุจริตและตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ ไม่ต้องรับผิดชอบทั้งทางแพ่งและทางอาญาในผลแห่งการกระทำของกฎหมาย”
และ ประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งเป็นการใช้อาวุธปืนเพื่อป้องกันตนเองหรือผู้อื่นตามหลักป้องกันของบุคคลทั่วไป มาตรา ๖๘ บัญญัติว่า
“ผู้ใดต้องกระทำการใดเพื่อป้องกันสิทธิของตนเองหรือผู้อื่นให้พ้นจากภยันตราย ซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง ถ้าได้กระทำพอสมควรแก่เหตุ การกระทำนั้นเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้นั้นไม่มีความผิด”
หลักการป้องกันตามมาตรา ๖๘ นี้ใช้ได้กับประชาชนทั่วไปและเจ้าหน้าที่รัฐ เช่น ตำรวจ เจ้าหน้าที่ป่าไม้ ศุลกากร ฯลฯ
ทั้งหมดนี้คือกฎหมายที่ให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ในการใช้อาวุธปืนในการจัดการกับเหตุการณ์ร้ายต่าง ๆ ตลอดมา ทว่าหลังเหตุการณ์คนเมายาบ้าจับตัวประกันในครั้งนั้น มาตรการดังกล่าวดูจะไม่เพียงพออีกต่อไป
“ผู้ใหญ่” หลายท่าน รวมถึงประชาชนจำนวนมาก แสดงความเห็นว่าควรแก้ไขกฎหมายเพื่อให้ตำรวจมีอำนาจเพิ่มขึ้นในการใช้อาวุธปืนจัดการกับคนร้ายเพื่อช่วยเหลือตัวประกัน ด้วยเห็นว่ากฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบันทำให้ตำรวจไม่กล้าตัดสินใจใช้วิธีเด็ดขาด จนส่งผลให้เกิดโศกนาฏกรรมตามมา
ขณะเดียวกันก็ยังมีอีกหลายฝ่าย อาทิ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นักวิชาการ ที่ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าว โดยมองเรื่องความเสมอภาคของบุคคลตามกฎหมายเป็นหลัก
อย่างไรก็ตาม เรื่องหนึ่งที่ควรพิจารณาก็คือ ก่อนหน้าเหตุการณ์สะเทือนขวัญครั้งนี้ เคยมีเหตุการณ์คนร้ายเมายาบ้าจับตัวประกันปรากฏตามหน้าหนังสือพิมพ์อยู่เป็นระยะ หากก็ไม่ได้มีการออกมาเรียกร้องให้แก้กฎหมายหรือเพิ่มกฎหมายอันเกี่ยวเนื่องกับการวิสามัญฆาตกรรมแต่อย่างใด
ถ้าเช่นนั้นแล้ว กฎหมายใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการวิสามัญฆาตกรรมนั้นบกพร่อง สมควรจะมีการแก้ไขจริงหรือไม่ ? หรือแท้จริงแล้ว ยังมีอะไรบางอย่างซ่อนอยู่ภายใต้ข้อเรียกร้องเหล่านั้น ?
มันอาจจะเป็นการดีที่เราจะกลับมาทบทวนความคิดของเราอีกครั้ง หลังจากที่อารมณ์คุกรุ่นและความเศร้าสลดทุเลาลง แม้ว่าการทบทวนถึงกระแสเรียกร้องเหล่านี้จะไม่ได้มุ่งหมายไปที่การแก้หรือไม่แก้กฎหมาย แต่อย่างน้อยมันคงทำให้เรา “เห็น” อะไรบางอย่างในสังคมของเราได้ชัดเจนขึ้น
สนับสนุน
จตุพล ชมภูนิช “ผมเห็นด้วยที่ว่า ก่อนจะวิสามัญฆาตกรรมต้องผ่านกระบวนการขั้นตอนต่าง ๆ ไม่ใช่พอเห็นคนร้ายจับตัวประกันแล้วจะให้ยิงคนร้ายทันที ต้องดูว่าสามารถพูดคุยกันรู้เรื่องหรือเปล่า ต่อรองกันได้หรือเปล่า และเท่าที่ผ่านมา ผมก็มองว่าเจ้าหน้าที่ก็พยายามทำอย่างนั้น อย่างกรณีนักศึกษามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มันก็ผ่านขั้นตอนต่าง ๆ จนอาจเรียกได้ว่าสายเกินไป แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีกระแสข่าวว่าทำเกินกว่าเหตุ ในความเห็นของผม เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่จำเป็นจะต้องใช้มาตรการเด็ดขาดในการช่วยเหลือตัวประกัน เราก็ต้องทำ เช่นถ้าเขาโวยวายและทำอะไรกับเหยื่อที่เป็นตัวประกันโดยไม่ฟังใครเลย ไม่สามารถต่อรองอะไรได้ ก็น่าจะจัดการขั้นเด็ดขาดไปเลย “การเรียกร้องว่าคนร้ายก็มีสิทธิในการมีชีวิตอยู่ มีสิทธิในความเป็นคนเหมือนกัน ผมไม่เห็นด้วย เพราะในสภาพการณ์อย่างนั้นคนร้ายไม่อยู่ในอาการที่เราจะต่อรองได้ มันน่าจะมีใครสักคนที่ตัดสินใจใช้มาตรการขั้นเด็ดขาดเพื่อรักษาชีวิตพลเมืองดี ๆ เอาไว้ บางคนอาจจะมองว่าทั้งคนร้ายและคนดีก็มีสิทธิมนุษยชนเท่าเทียมกัน แต่ถ้าคนที่ถูกจับเป็นตัวประกันเป็นลูกเป็นเมีย เป็นพ่อเป็นแม่ของเขา แล้วถูกทำร้ายหรือเสียชีวิตขึ้นมา ผมคิดว่าคนเหล่านั้นอาจจะมองเรื่องสิทธิมนุษยชนได้น้อยลง “คนที่เมายาบ้านั้นตั้งใจเสพต้วยตัวของตัวเอง ไม่มีใครบังคับให้เขาเสพ เขารู้อยู่แล้วว่าถ้าเสพเกินขนาดแล้วควบคุมสติสัมปชัญญะไม่ได้ มันจะเกิดเหตุอะไรขึ้น เพราะฉะนั้นเมื่อเขาเสพเข้าไปแล้วไปทำอะไรที่มันมีปัญหา เขาก็ต้องรับผิดชอบในสิ่งที่เขาทำ “ผมไม่เคยเห็นคนเมายาบ้าจับชายฉกรรจ์ไปเป็นตัวประกัน ไปจับแต่เด็ก ผู้หญิง คนแก่ หรือคนที่อ่อนแอกว่า ผมไม่ทราบว่าเป็นเพราะเขายังพอมีสติสัมปชัญญะอยู่หรือเปล่าถึงได้เลือกจับแต่คนที่อ่อนแอกว่า จะได้รู้สึกปลอดภัย แต่ก็ไม่ใช่ว่าเราแข็งแรงแล้วจะหมดห่วง เพราะยังมีคนอีกหลายคนที่เรารู้จักอยู่ในข่ายที่คนเมายาบ้าจะเลือกเป็นเป้าหมาย ซึ่งเราก็คงปกป้องเขาได้ยากตราบใดที่ยังมีคนเมายาบ้าอยู่ “การที่เราเห็นฝูงชนรุมประชาทัณฑ์คนร้ายต่อหน้าเจ้าหน้าที่ตำรวจ แล้วกล่าวหาว่าเป็นความผิดของตำรวจที่ไม่ปกป้องผู้ต้องหาให้แน่นหนาพอ อาจจะไม่ถูกต้องนัก บางกรณีมันพูดยาก เพราะเราเองไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์นั้น เราไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร ตำรวจ ๒๐-๓๐ คนจะมากันคนเป็นร้อย มันก็ลำบาก เพราะถ้าตำรวจกันไว้ไม่อยู่ คนร้ายถูกถีบแค่ครั้งสองครั้ง พอล้มลงก็ตกอยู่ในวงล้อมฝ่าเท้าของประชาชนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ตำรวจเองก็คงไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ เพราะเขาก็คงไม่อยากให้มันบานปลายเป็นเรื่องใหญ่โต แต่ในสถานการณ์ที่อยู่ในวงล้อมของฝูงชนจำนวนมาก เป็นใครก็ควบคุมสถานการณ์ลำบาก “ตามกฎหมายคนที่รุมประชาทัณฑ์ก็ผิด แต่เราไม่ได้อยู่ในสถานการณ์นั้น ๆ จะเอาอารมณ์ปรกติของเราไปตัดสินอารมณ์ของคนที่อยู่ร่วมในเหตุการณ์คงไม่ได้ โดยอารมณ์ของฝูงชนที่บ้าคลั่ง มันสามารถทำอะไรได้หลายอย่าง บางครั้งก็ทำตามกัน เมื่อเห็นคนอื่นนำด้วยเท้า ก็ร่วมยำด้วย เป็นต้น เรียกว่าจิตวิทยามวลชนที่ทำให้คนทำตามกัน ถามว่าผิดไหม ก็ต้องผิดอยู่แล้ว แต่ว่าในสถานการณ์อย่างนั้นก็ต้องดูด้วยว่าเขาทำเพราะอะไร มันเกิดแรงกดดันมากขนาดไหน “กรณีนักศึกษามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มันไม่เกี่ยวกับอคติเรื่องชนชั้นแต่อย่างใด แต่เป็นเพราะจุดที่เกิดเหตุนั้นเป็นที่ที่มีคนผ่านไปผ่านมาเยอะ ท่าทีของคนร้ายเองก็เต็มไปด้วยความโหดร้าย ผู้หญิงตัวประกันร้องขอความช่วยเหลือ ขอร้องให้หยุด คนร้ายก็ไม่ฟัง สิ่งเหล่านี้เมื่อมารวมกันเยอะๆ แล้วประชาชนเขาเห็น เขาก็คงอดจะคิดไม่ได้ว่าเด็กคนนี้เขาเป็นคนบริสุทธิ์คนหนึ่ง ถ้าเป็นลูกเขาที่ไปเรียนหนังสือ แล้วต้องมากลายเป็นร่างไร้วิญญาณเพราะคนเมายาบ้าคนหนึ่ง เขาคงทนไม่ได้ รับไม่ได้ ก็เลยรู้สึกอย่างรุนแรง ซึ่งผมว่ามันไม่น่าจะเกี่ยวกับชนชั้น แต่อยู่ที่ว่าสิ่งที่คนร้ายทำกับเหยื่อมันโหดร้ายขนาดไหน ตำรวจกล่อมเขาฟังหรือเปล่า หรือบ้าจนกระทั่งหูอื้อตาลายไม่ฟังใครแล้วหรือเปล่า สิ่งเหล่านี้ต่างหากที่เป็นตัวเร่งเร้าฝูงชนว่าจะประชาทัณฑ์รุนแรงแค่ไหน อย่างไร “สื่อแสดงบทบาทได้ดีแล้ว เพราะสื่อก็ได้ทำหน้าที่รายงานว่าเกิดอะไรขึ้น ส่วนจะถูกจะผิดคนอ่านเป็นคนตัดสิน ไม่ถือว่าเป็นการนำเสนอเพื่อโหมกระแสเพื่อเบี่ยงเบนข้อผิดพลาดในการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจแต่อย่างใด ถ้าตำรวจเองไม่มีความสามารถในการระงับเหตุ ข่าวมันก็ต้องออกมาเป็นตามนั้น นับครั้งไม่ถ้วนที่ตำรวจสามารถเจรจาได้ สามารถพาตัวประกันออกมาได้อย่างปลอดภัย และนำตัวคนร้ายมาลงโทษได้ตามกฎหมายโดยไม่ถูกประชาชนรุมประชาทัณฑ์ “ผมไม่ได้เรียกร้องให้วิสามัญฆาตกรรมคนร้ายทันที แต่เรียกร้องให้มีการจัดการขั้นเด็ดขาดในการที่จะปกป้องตัวประกัน ไม่ใช่ยื้อ ๆ ยุด ๆ จนกระทั่งสายเกินไปเหมือนกับหลาย ๆ รายที่เกิดขึ้น” |
คัดค้าน
สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล “ข้อเสนอให้แก้กฎหมายวิสามัญฆาตกรรมนั้นไม่จำเป็นเลย เพราะกฎหมายที่มีอยู่มีเนื้อหาครบถ้วนสมบูรณ์อยู่แล้ว ไม่ต้องมีกฎหมายพิเศษหรือแก้ไขกฎหมายอะไรอีก ในความเป็นจริงตำรวจสามารถใช้กำลังตอบโต้คนร้ายถึงขั้นวิสามัญฆาตกรรมได้อยู่แล้วไม่ว่ากรณีใด ๆ ทั้งสิ้น ถ้าหากคนร้ายใช้อาวุธกับเจ้าหน้าที่หรือทำร้ายคนรอบข้าง และที่เรียกร้องให้ร่างเป็นกฎหมายสำหรับจัดการกับคนเมายาบ้านั้น โดยตัวกฎหมายเองมันก็ร่างไม่ได้ เพราะต้องมานิยามกันว่าคนติดยาบ้าคืออะไร คนเมายาบ้าคืออะไร ถ้าเกิดเรื่องขึ้นมาเราต้องไปถามเขาก่อนไหมว่าคุณติดยาบ้าหรือเปล่า ถึงจะยิงได้ หรือถ้าหากเขาจี้ปุ๊บ ตำรวจพูดสองคำแล้วเขาวางมีด จะทำยังไง จะให้ยิงทิ้งก่อนที่จะมีการเจรจาหรือ กฎหมายอย่างนี้มันไม่สามารถเขียนได้ มันเป็นเรื่องที่เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องใช้วิจารณญาณแก้ไขเหตุการณ์เฉพาะหน้าเป็นคราว ๆ ไป “การเรียกร้องและปฏิกิริยาต่าง ๆ ของคนในสังคมอันเนื่องมาจากกรณีนักศึกษาเกษตรฯ นี้ มันสะท้อนถึงอคติที่อยู่เบื้องลึกของสังคม อคติเรื่องความไม่เท่าเทียมกันในสังคม เราจะเห็นได้ว่า คนที่ติดยาบ้ามักจะเป็นคนชั้นล่างที่ไม่มีการศึกษา หรือเป็นคนงานที่ดูไม่มีคุณค่าอะไรในสังคม พอมาลงมือทำร้ายนักศึกษา ลูกหลานชนชั้นกลางที่กำลังจะมีอนาคต ความรู้สึกมันเลยพุ่งขึ้นมา ที่พูดอย่างนี้ไม่ได้หมายความว่าคนที่จี้ไม่ผิด เขาผิดอยู่แล้ว แต่ปฏิกิริยาจากคนในสังคมที่รุนแรงขนาดนี้มันควรจะมีคำอธิบาย “สิ่งที่อยู่ภายใต้การถกเถียงหรือที่เรียกว่า under tone มันสะท้อนความรู้สึกที่เป็นอคติของคนชั้นกลางที่มีการศึกษา ต่อชนชั้นล่างที่ไม่มีการศึกษา ความรู้สึกที่ไม่ปลอดภัยของชนชั้นกลางที่อยู่ ๆ วันดีคืนดีอาจจะถูกพวกกรรมกร จับกัง ที่กินยาบ้า มาทำร้ายตัวเองหรือทำร้ายลูกหลาน มันจึงมีปฏิกิริยารุนแรงอย่างนี้ออกมา เมื่อก่อนก็มีคนเมายาบ้าจับตัวประกันอยู่แล้ว แต่คนที่ถูกจี้ไม่ได้เป็นลูกหลานของคนชั้นกลางที่มีการศึกษา มีอนาคต เป็นคนกลุ่มเดียวระดับเดียวกับคนที่เมายาบ้า คนทั่วไปจึงไม่มีปฏิกิริยาใดๆ กับเหตุการณ์เหล่านั้น เช่นเดียวกันถ้าลูกหลานคนชั้นกลางหรือลูกหลานผู้มีการศึกษาติดยา เราก็จะอธิบายว่าเป็นปัญหาสังคม เป็นคนที่ทำผิดไป ต้องให้อภัย มองในแง่ที่พยายามจะเข้าใจ แต่พอเป็นพวกคนยากคนจน เป็นเด็กขายพวงมาลัย ซึ่งติดยาเพราะมีปัจจัยในแง่เศรษฐกิจบังคับ ลักษณะการประณามก็จะเป็นอีกอย่างหนึ่ง เป็นความรู้สึกทางชนชั้นที่อยู่เบื้องหลังปฏิกิริยาที่ฮือขึ้นมา มันคลาสสิกมาก ความรู้สึกแบ่งชนชั้นระหว่างลูกจับกัง คนจนหน้าดำ ๆ กับลูกคนรวย หน้าขาว ๆ เรียนมหาวิทยาลัย กำลังมีอนาคต ผมว่าเรื่องนี้มันสะท้อนความรู้สึกไม่ปลอดภัยของชนชั้นกลางชัดเจนทีเดียว ไม่เช่นนั้นมันอธิบายความรุนแรงของปฏิกิริยาไม่ได้ “นอกจากนี้มันยังสะท้อนให้เห็นความไม่มีวุฒิภาวะของสังคมโดยทั่วไปที่จะยอมรับว่า ทุกคนต่อให้แย่ยังไง เลวยังไง ทำอะไรที่แย่ยังไง เขาก็มีสิทธิที่จะผ่านกระบวนการยุติธรรม ไม่ควรจะมีใครไปตัดสินโทษเขาโดยพลการอย่างนั้น การที่ปล่อยให้มีการประชาทัณฑ์คนถึงตาย ทั้ง ๆ ที่คนคนนั้นอยู่ในมือตำรวจแล้ว มันเป็นเรื่องใหญ่มาก อย่างกรณียิงตำรวจตายในผับ คนที่ยิงเป็นลูกนักการเมืองที่คนทั้งเมืองหมั่นไส้ แม้ว่าในความเป็นจริงผมจะไม่ชอบหน้าหมอนี่ขนาดไหน แต่มันก็เป็นสิทธิของเขาที่จะได้ผ่านกระบวนการยุติธรรมตามกฎหมาย ไม่ใช่ปล่อยให้สื่อมวลชนหรือใครมาตัดสินว่าเขาเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ แนวคิดทำนองนี้จะถูกทดสอบเมื่ออาชญากรรมนั้นเป็นอาชญากรรมที่รุนแรงมาก ๆ ถ้าเกิดวันดีคืนดีมีใครบางคนถูกกล่าวหาในคดีที่ดูเหมือนจะรุนแรงมาก ๆ เช่น คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ คดี ๖ ตุลา หรือเคสอะไรที่รุนแรงประมาณนี้ เราจะรู้ได้อย่างไรว่าคนที่ถูกกล่าวหาในคดีอย่างนี้จะถูกประชาทัณฑ์ก่อนที่จะผ่านกระบวนการยุติธรรมหรือไม่ “คนที่บอกว่าทำไมนักสิทธิมนุษยชนไม่คำนึงถึงสิทธิมนุษยชนของคนที่ถูกจี้บ้าง เขาไม่เข้าใจประเด็นอย่างสิ้นเชิง สิ่งที่นักสิทธิมนุษยชนเรียกร้อง คือ เมื่อคนที่ทำผิดถูกจับแล้ว เขาก็มีสิทธิเหมือนผู้ต้องหาทั่วไป คือสิทธิในการแต่งตั้งทนาย สิทธิที่จะผ่านกระบวนการยุติธรรม แต่ในระหว่างที่มีการต่อสู้กันนั้น ไม่มีนักสิทธิมนุษยชนคนไหนหรอกที่จะออกมาเรียกร้องไม่ให้ยิงคนร้าย แต่เขาเรียกร้องสิทธิมนุษยชนตรงจุดที่ว่า เมื่อคนร้ายถูกจับกุมแล้ว เขาย่อมมีสิทธิในฐานะผู้ต้องหา ผู้ถูกกล่าวหา มีสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาว่าเขาทำผิดเพราะอยู่ภายใต้อิทธิพลของยาเสพย์ติดหรือเปล่า หรือเพราะเขาบ้าหรือเปล่า คนต่อให้ทำผิดยังไงเมื่อเขามาอยู่ในความดูแลของเจ้าหน้าที่บ้านเมืองแล้ว เขาก็มีสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาความผิดตามกฎหมาย นี่คือสิ่งที่นักสิทธิมนุษยชนเรียกร้อง “ผมไม่ได้ปฏิเสธความรุนแรงอย่างสิ้นเชิง ถ้ามีความจำเป็นก็สามารถใช้ได้ แต่สังคมไทยมีแนวโน้มว่าจะใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหามากขึ้น แก้ง่าย ๆ โดยไม่คำนึงถึงว่าผลที่เกิดขึ้นจะมีอะไรบ้าง กรณีคนร้ายบุกยึดโรงพยาบาลศูนย์ราชบุรี มันจบตรงที่คนที่จี้ตัวประกันถูกฆ่าตายทั้งหมด แต่ว่ามันเกิดคำถามตามมาอีกมากมาย เช่น วิธีการในแง่เทคนิค ถูกต้องหรือมีความจำเป็นหรือไม่ที่ต้องทำอย่างนั้น อย่างกรณีนักศึกษาเกษตรศาสตร์ สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นความผิดพลาดหรือเป็นเหตุสุดวิสัย การฆ่านั้นเกิดขึ้นตอนไหน ตอนที่ไทยมุงรุมหรือเปล่า เรื่องพวกนี้ต้องการการสอบสวนอย่างมีสติ ผมก็เห็นใจเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่ถ้าสอบสวนแล้วพบว่ามันเป็นความบกพร่องก็ต้องยอมรับและแก้ไข “เป็นเรื่องน่าเศร้าที่เรื่องนี้เรื่องเดียวกลับสะท้อนอะไรหลาย ๆ อย่างของสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นอคติที่มีต่อชนชั้น อคติที่มีต่อฐานะทางสังคม ปัญหาเรื่องความรุนแรง การไม่เข้าใจกฎหมาย เป็นการรวมศูนย์ด้านที่น่าเกลียดของสังคมไทยไว้ทั้งหมด”
|