เกษร สิทธิหนิ้ว : รายงาน / ฝ่ายภาพ สารคดี : ภาพ
เมื่อหนทางการปั้นอิฐมอญถึงทางตัน แต่จินตนาการไม่ได้ตีบตันไปด้วย
ดินเหนียวที่เคยนำมาปั้นอิญมอญจึงถุกเสกสรรค์ให้เป็น ช้าง วัว ควาย และสัตว์เลี้ยงชนิดต่างๆ โดยเฉพาะหมู เรียกได้ว่าเป็นพระเอกของที่นี่เลยทีเดียว
อันที่จริงเครื่องปั้นดินเผารุปสัตว์ต่างๆ มีให้เห็นอยู่ทุกที่ แต่…..
เคยเห็นหมูนอนยิ้มร่าเอามือเกาพุงสบายใจเฉิบใหม ?
แล้วหมูตัวเล็กยืนเอียงคอทำตาปริบๆ เหมือนขอความรักเล่า
หมูจั๊กกะจี้ล่ะ เคยเห็นหรือไม่ ?
บรรดาหมูๆ ในอากับกิริยาผิดธรรมชาติเหล่านี้อาจจะไม่ประทับใจหมู (ที่เป็นหมูจริงๆ แล้ว บังเอิญผ่านมาเห็น เพราะมันคงรู้สึกเสียชาติหมู) แต่ว่าถูกใจคนนัก
“ใครๆ ก็ชอบความร่าเริงแจ่มใส อะไรที่ดูแล้วทำให้อารมณ์ดีคนก็ชอบกัน เวลาที่คนมายืนดูงานของเรา เขาก็ยิ้มๆ แล้วก็พากันซื้อไป” ผล ปัญญาวงศ์ หรือ “อ้ายผล” เจ้าของผลงานพูดถึงสิ่งที่ทำให้บรรดาเครื่องปั้นดินเผารูปหมูและเพื่อนพ้องของกลุ่มเครื่องปั้นดินเผาหางดง เป็นที่ถูกใจลุกค้าหน้าใหม่และยังคงเป็นที่ต้องการของลูกค้าหน้าเก่าที่เคยซื้อไปชื่นชม
“ไม่ได้เรียนทางศิลปการปั้นอะไรมาเลย แต่อาศัยว่าใจรักและเคยจับดินช่วยพ่อแม่ปั้นน้ำต้นมาตั้งแต่เด็ก มันก็เลยพอมีพื้นฐานอยู่บ้าง”
ก่อนที่จะหันมาปั้นตุ๊กตารูปสัตว์ต่างๆ ต.สันผักหวาน อ.หางดง จ.เชียงใหม่ ขึ้นชื่อในการปั้นน้ำต้นมาก่อน เมื่อตู้เย็นบุกเข้ามาในหมู่บ้านราว ๒๐ กว่าปีที่แล้ว น้ำต้นที่เคยใช้ใส่น้ำดื่มเย็นชื่นใจเริ่มขายไม่ออก การปั้นอิฐมอญเป็นทางออกที่ดี ทว่ามันก็ทำให้อยู่รอดเพียงช่วงหนึ่งเท่านั้น เมื่อฟองสบู่แตก ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ล้มระเนระนาด การขายอิฐมอญก็มาถึงทางตัน อ้ายผลจึงริเริ่มหันมาปั้นรูปสัตว์ต่างๆ โดยเริ่มจากปั้นสิ่งที่ใกล้ตัว ง่ายๆ ขายไม่แพง อย่างเช่น ตุ๊กตารูปสัตว์ต่างๆ
การบุกเบิกตลาดของกลุ่มเครื่องปั้นดินเผาหางดงคือการนำเอาผลงานไปเปิดตัวในงานแสดงสินค้าต่างๆ ในกรุงเทพฯ
การเข้ากรุงเทพฯ ช่วงแรก ๆ สำหรับอ้ายผลแล้วเป็นสิ่งที่ “คิดหนัก” เอาการอยุ่
“เมื่อก่อนไม่อยากใป จะไป ๓ วัน คิด ๔ วัน ขับรถไปเองเพราะอยากรู้ทางกรุงเทพฯ ไม่รู้ทางก็จ้างแท๊กซี่นำ หลงประจำ ตอนนี้ก็ถือว่าคุ้มเหนื่อยเพราะการเอาของไปแสดงทำให้มีลูกค้ารู้จักเยอะขึ้น ตอนหลังลูกค้าทั้งคนไทยและคนต่างประเทศก็ตามมาซื้อกันถึงบ้านเอง”
สินค้าใดๆ เมื่อได้เปิดตัวในตลาดและเป็นที่ยอมรับแล้วการลอกเลียนแบบก็เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก สิ่งที่จะทำให้สินค้าอยู่รอดได้คือการคิดสร้างสรรค์อยู่ตลอดเวลา
นอกจากตุ๊กตาดินเผารูปสัตว์ต่างๆ แล้ว ช่วง๓-๔ ปีที่ผ่านมาก็เริ่มปั้นงานชิ้นใหญ่ขึ้น เช่น รูปเด็กผู้หญิง เด็กผู้ชาย เณร และเริ่มเอาตุ๊กตาสัตว์ต่างๆ ที่มีมาประกอบเป็นอ่างน้ำพุด้วย เขาให้เหตุผลว่านอกจากจะสร้างความเคลื่อนไหวไม่ให้งานหยุดนิ่งอยู่กับที่แล้ว ยังตอบสนองความต้องการของลูกค้า ให้ลุกค้ามีทางเลือกมากขึ้น เช่น บางคนต้องการซื้อไปประดับตกแต่งสถานที่เช่น โรงแรม ร้านอาหาร เป็นต้น
ระหว่างที่คิดค้นรูปแบบและลักษณะการใช้งานแบบใหม่ เขาเชื่อว่าอีกหลายๆ คนก็กำลังเดินตามรอยทางที่เขาได้บุกเบิกไว้เมื่อ ๒-๓ ปีก่อน บางคนถึงกับถ่ายรูปเอาไปทำตาม
“การลอกเลียนแบบมันเป็นธรรมดาสากล สินค้าอะไรก็ตามถ้าคนสนใจแล้วสักวันหนึ่งมันก็จะต้องล้นตลาด เป็นไปตามวงจรผลิตภัณฑ์ สิ่งที่เราทำได้ก็คือต้องคิดสร้างสรรค์ไปเรื่อยๆ หาเอกลักษณ์ให้กับงานตัวเอง ผมจะเน้นให้งานออกมาดูร่าเริง แจ่มใส หลักการปั้นและรูปแบบมันเป็นสิ่งที่ใครๆ ก็เรียนรู้ได้ แต่ว่าฝีมือและจินตนาการที่จะสะท้อนออกมาในงานเหล่านี้มันลอกกันไม่ได้ สิ่งที่ทำได้อีกอย่างคือเราจะทำของยากด้วยวิธีที่ง่ายที่สุด เช่น อ่างน้ำพุ ส่วนใหญ่พอทำแล้วจะแตก เราก็ต้องหาวิธีที่ง่ายที่สุดมาทำให้ได้”
คงจะจริงอย่างว่า เพราะ หมู ช้าง วัว ควาย สุนัข ฯลฯ ของบ้านอื่น ๆ ก็มีรายละเอียดของรูปร่าง หน้าตา ลักษณะท่าทาง ที่แตกต่างกันออกไป แต่ทุกที่ให้ความรู้สึก “ดี” เหมือนกัน ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเป็นเพราะงานปั้นรูปสัตว์น่ารัก ทะเล้นๆ หรือเป็นเพราะอากับกิริยาสบายๆ ระหว่างทำงานของเหล่าศิลปินพื้นบ้านเหล่านี้
เคล็ดลับที่ทุกคนบอกเหมือนกันคืออย่าคาดคั้นให้มันออกมาเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ปั้นง่ายๆ สบายๆ แล้วงานมันจะสร้างสรรค์ออกมาเอง
“บางทีตั้งใจจะปั้นช้าง ปั้นไปปั้นมา ออกมาเป็นหมา”
ขั้นตอนการทำง่ายๆ คือ โม่ดินเหนียวให้ละเอียด ผสมน้ำแล้วนวดให้เหนียวพอดีปั้นได้ จากนั้นก็ปั้นไปตามจินตนาการ พอเนื้อดินหมาดๆ เอาน้ำลุบผิวดินให้เกลี้ยงเสร็จแล้วตากแดดให้แห้ง จึงค่อยเข้าเตาเผาเป็นเวลาหนึ่งวันหนึ่งคืน ก็เป็นอันเสร็จสรรพ
ในวันหยุด อ้ายผลจะเกณฑ์เด็กในหมู่บ้านจะมาช่วยปั้น ช่วยเผาด้วย โดยเฉพาะช่วงเทศกาลของขวัญ นอกจากค่าจ้างที่เด็กๆ จะได้เป็นเงินวันละประมาณ ๑๐๐ – ๑๕๐ บาทแล้ว การได้มีวิชาชีพติดตัวคือสิ่งที่หวังว่าเด็กๆ จะได้รับติดตัวไป
“เรียนจบกันแล้ว ใครที่อยากเอาดีทางนี้จะได้ไม่ต้องเข้าไปทำงานในเมือง”
นอกจากการพยายามถ่ายทอดวิชาการปั้นให้กับเด็กๆ ในหมู่บ้านแล้ว อ้ายผลเล่าว่าเคยไปสอนชาวบ้านในจังหวัดลำปางด้วย แต่ก็พบอุปสรรคคือลักษณะดินของแต่ละพื้นที่จะให้คุณสมบัติของเนื้องานต่างกัน แต่นั่นก็ไม่ใช่อุปสรรคใหญ่คือความเคยชินกับการปั้นรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง เช่น ปั้นหม้อก็ปั้นได้แต่หม้ออย่างเดียว หรือบางคนอาจปั้นรูปสัตว์ให้ได้หน้าตาเหมือนที่เราทำ หรือไม่ก็ไปยิดติดกับอากับกิริยาจริงของสัตว์ชนิดนั้นๆ จนไปปิดกั้นจินตนาการที่จะสร้างสรรค์งานออกมาได้
ดุเหมือนศิลปินผุ้นี้จะให้ความสำคัญกับจินตนาการและความรู้สึกสบาย ๆ ในการทำงานเป็นอย่างมาก เขาบอกว่าถ้าอารมณ์บูดบี้งก็อย่าเพิ่งทำดีกว่า เพราะมันจะแสดงออกมาในงานปั้นด้วย
บางช่วงที่มีลูกค้าสั่งซื้อเป็นจำนวนมาก เช่น ช่วงเทศกาลของขวัญ การต้องเร่งผลิตงานอย่างมาก ด้วยความบีบคั้นจนเกินไปเพื่อจะได้เงินมากๆ เขาก็เลี่ยงเสีย
“ถ้ารุ้สึกเครียดจะขึ้นหน้าตาไม่ได้ อารณ์คนปั้นเป็นอย่างไร รูปที่ออกมาก็เป็นอย่างนั้นแหละ อยากให้สัตว์พวกนี้มีหน้าตาตลก น่ารัก แจ่มใส เวลาคนซื้อไปก็จะได้รู้สึกสนุกด้วย ถ้าทำแล้วออกมามันไม่ได้อารมณ์อย่างที่ต้องการก็ไม่เอา บางคนท้อใจเวลาปั้นแล้วยังไม่ได้ขาย แต่อ้ายเชื่อว่างานแต่ละชิ้นมันมีเจ้าของของมันอยู่ บางทีเหมือนว่าจะไม่ได้ขาย แต่วันหนึ่งเจ้าของเขาจะมาเจอเอง”
คงเป็นเช่นนั้นจริงๆ เพราะแต่ละคนที่แวะเข้ามาชม ก็ถูกชะตาซื้อติดไม้ติดมือไปคนละตัวสองตัว ด้วยสนนราคาตั้งแต่ชิ้นละ ๑๐ บาทไปจนถึงชิ้นใหญ่ราคา ๓,๐๐๐ – ๔,๐๐๐ บาท
หากสนใจจะไปชมหมูดินและเพื่อนพ้องเหล่านี้ถึงถิ่น ก็มุ่งหน้าไปที่ ต.สันผักหวาน อ.หางดง จ.เชียงใหม่ แล้วถามหาบ้านอ้ายผล ปัญญาวงศ์ หรือมองหาบ้านของสมาชิกกลุ่มประติมากรรมเครื่องปั้นดินเผา ด้วยวิธีง่ายๆ คือ เมื่อเข้าไปในหมู่บ้านแล้วลองชำเลืองดูว่าบ้านไหนมีตุ๊กตารูปสัตว์วางเรียงรายตั้งแต่ประตูบ้านเป็นต้นไป แสดงว่าถึงที่แล้ว
อย่าเพิ่งด่วนซื้อ ลองสำรวจให้ทั่วหมู่บ้านก่อน ผีมือการปั้นของแต่ละคน ผลงานของแต่ละครอบครัวล้วนมีรายละเอียดที่แตกต่างกัน
แต่ที่เหมือนกันอย่างหนึ่งก็คือ มันเป็นผลงานที่ออกมาจากจินตนาการ และอารมณ์ของศิลปินผู้นั้นเหมือน ๆ กัน